fbpx

‘เวลา – ANATOMY OF TIME’ ชำแหละซากนาฬิกา คุ้ยหาสัจธรรมชีวิต

เคยมีวาทกรรมทักษะความสามารถร่วมสมัยทำนองว่า ยุคนี้สมัยนี้ไม่จำเป็นต้องมีความสามารถมากมายหลายทาง สู้หมั่นฝึกฝนฝึกปรือทักษะอะไรสักอย่างให้เชี่ยวชาญจนเข้ามือไว้สักด้านก็เพียงพอจะเป็นสะพานไปสู่ความสำเร็จแล้ว ความคิดนี้อาจจะจริงสำหรับบางบทบาทโดยเฉพาะในแวดวงการทำหนัง เช่น ตากล้องถ่ายภาพ นักแสดง ฝ่ายแสง ช่างแต่งหน้า soundman มือตัดต่อ ฯลฯ 

แต่สำหรับตำแหน่งการเป็น ‘ผู้กำกับ’ แล้วการมุ่งลับฝีมือเอาดีแค่บางด้านอาจไม่เพียงพอสำหรับการมีที่ยืนในแวดวงที่มีการแข่งขันกันสูงเช่นนี้ ยิ่งเป็นหนัง narrative ที่มุ่งเน้นการเล่าเรื่อง ผู้กำกับ ยิ่งต้องปราดเปรื่องรอบรู้และเข้าอกเข้าใจในทุกๆ ภาคส่วนองค์ประกอบที่กอปรก่อกันเป็นหนังสักเรื่อง ประหนึ่ง วาทยกร ที่แม้จะดีดสีบรรเลงไม่เป็น แต่ก็ต้องเห็นถึงธรรมชาติแห่งสุ้มเสียงของเครื่องดนตรีทุกๆ ชิ้นในวงดุริยางค์ จึงจะสามารถควบคุมการบรรเลงออกมาเป็นคีตลีลาที่น่าฟังได้ ไม่ต่างจากการเป็นผู้กำกับที่จำเป็นต้องรู้และเข้าใจในทุกๆ ทักษะกระบวนการของการทำหนังตั้งแต่บรรทัดแรกของบทภาพยนตร์จนถึงบรรทัดสุดท้ายของ End Credit เลยทีเดียว

ภาพยนตร์อิสระสัญชาติไทยเรื่อง ‘เวลา’ หรือ Anatomy of Time ของผู้กำกับ จักรวาล นิลธำรงค์ ซึ่งได้ออกฉายรอบปฐมทัศน์ในสายรอง Orizzonti ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิส เมื่อเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างผลงานสร้างสรรค์ของผู้กำกับหนังอิสระไทยที่โดดเด่นในบางมุมด้านจนเป็นที่ถูกอกถูกใจ programmer เทศกาลหนังขนาดใหญ่ แต่ก็อ่อนด้อยในบางจุดจนทำให้ตัวหนังไม่สามารถไปได้ไกลตามศักยภาพเริ่มต้นของมันในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็ดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังของวงการหนังนอกกระแสร่วมสมัยของไทยที่สุดท้ายก็ยังมองไม่เห็นใครจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งผู้กำกับระดับตำนานที่ยังคงทำงานอยู่อย่าง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้สักที หนังไทยได้เดินสายเดินทางไปเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลายแห่งก็จริงในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่เกือบทั้งหมดก็จะเป็นการประกวดในสายเล็กๆ รองๆ หรือในเทศกาลชั้นรองที่แทบไม่ได้สร้างกระแสกล่าวขวัญฮือฮาอันใดในวงการภาพยนตร์โลกระดับภาพรวม กลายเป็นความสำเร็จที่เหมือนเป็นการตบบ่าปลอบใจ มิได้ยิ่งใหญ่เกรียงไกรในระดับที่อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลได้กรุยทางเอาไว้อย่างโดดเดี่ยวลำพัง

โดยเนื้อหาแล้ว ‘เวลา’ เป็นงานในแนว drama ที่เล่าเรื่องราวชีวิตทั้งในอดีตและปัจจุบันของสตรีที่ได้ชื่อว่าเป็นภรรยาของอดีตนายทหารซึ่งปัจจุบันกลายสภาพเป็นผู้ป่วยติดเตียงจนต้องมีคนมาคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา หนังจับเรื่องราวไปที่ ‘แหม่ม’ หญิงชราผู้มอบเวลาทั้งหมดของชีวิตในการปรนนิบัติดูแลสามีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ผู้เคยถูกเรียกว่า เสธฯ ร่วมกลุ่มกบฏยังเติร์กซึ่งปัจจุบันกลายเป็นผู้ป่วยที่รักษาตัวเองอยู่กับบ้าน โดยแหม่มต้องคอยดูแลสุขอนามัยของสามีทุกอย่างด้วยความรักความห่วงใย แม้โดยสภาพแล้วทุกอย่างจะแลดูสิ้นหวังว่าวันหนึ่งอาการของเขาจะดีขึ้น แต่ด้วยจิตวิญญาณของการเป็นภริยา คุณป้าแหม่ม ก็ยังต้องอยู่เคียงข้างเขาไปเช่นนี้ โดยมีเงื่อนปมในอดีตบางประการกับผู้ชายอีกคนที่อาจทำให้ป้าแหม่มพยายามธำรงสถานะการเป็นเนื้อคู่กับชู้ชื่นของเธอให้ยาวนานที่สุด

Anatomy of Time 2 © Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M’GO Films, Mit Out Sound Films

หนังตัดสลับกิจวัตรประจำวันของป้าแหม่มในปัจจุบันกับอดีตแห่งวันชื่นคืนหวานของเธอ ช่วงที่ เสธฯ เข้ามาจีบเธอใหม่ๆ โดยสาวน้อยแหม่มเป็นลูกสาวเจ้าของร้านนาฬิกาในตลาด เปิดโอกาสให้ เสธฯ มาที่ร้านคอยซื้อของฝากมาเอาใจเธอ ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ ดร หนุ่มสารถีรถลากย่านตลาดเดียวกัน ก็ชักชวนเธอไปเดินเที่ยวชมธรรมชาติแห่งป่าเขาลำเนาไพร สร้างทางแยกหัวใจให้แหม่มต้องเลือกว่าจะกุมมือชายคนใดในช่วงเวลาชีวิตที่เหลือของเธอ โดยส่วนอดีตนี้หนังมีการหยอดรายละเอียดการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มทหารยังเติร์กกับรัฐบาลเผด็จการ ซึ่ง เสธฯ มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอยู่เป็นระยะๆ

ดูจากเนื้อหาเรื่องราวแล้ว หลายๆ คนก็อาจรู้สึกเหมือนกันว่าก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่น่าตื่นเต้น แต่ผู้กำกับ จักรวาล นิลธำรงค์ กลับใช้ plot เรื่องแบนๆ บางๆ นี้เป็นเวทีในการแสดงความสามารถด้านการกำกับส่วนที่เขาถนัดจัดเจนที่สุด คือการสร้างสีสันบรรยากาศอันแตกต่างของฉากหลัง ณ สถานที่ต่างๆ โดยอาศัยเทคนิคทางภาพยนตร์ ทั้งการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบศิลป์ แสง สี เสียงประกอบและดนตรี ให้ลีลาเชิงบรรยากาศสำหรับฉากต่างๆ ได้อย่างประณีต ด้วยพื้นเพของการเป็นนักทำหนังทดลองมาก่อน สายตาการจับจ้องเฝ้ามองภาพต่างๆ ของจักรวาล นิลธำรงค์ จึงมีวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถสร้าง visual ที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นความเก่าเขรอะภายในบ้านผู้ป่วย ภาพธรรมชาติหินผาและรังผึ้งกระเพื่อมบนชะง่อนผนังศิลา ไปจนถึงแสงสีเจิดจ้ายามราตรีใน nightclub ซึ่งก็น่าจะเป็นจุดเด่นที่สะดุดตากรรมการคัดเลือกหนังของเทศกาลภาพยนตร์เวนิสที่ขึ้นชื่อในเรื่องการส่งเสริมศิลปะภาพยนตร์โดยเฉพาะในเชิงเทคนิคต่างๆ

แต่ความโดดเด่นทั้งหมดดังกล่าวก็น่าจะสร้างความวิจิตรแพรวพราวให้กับหนังได้อย่างเต็มพิกัดถ้ามันจะเป็น ‘หนังทดลอง’ อีกเรื่องเหมือนที่จักรวาล นิลธำรงค์ เคยทำมา หากทว่าเมื่อเขาหันมาสร้างงานในแนวทาง drama ลีลาเชิงเทคนิคอะไรต่างๆ เหล่านี้ย่อมไม่เพียงพอที่จะมาสร้างอารมณ์ร่วมให้หนังสามารถจับหัวใจคนดูได้สำเร็จอย่างที่ควรเป็น โดยจุดบกพร่องที่หนักหนาและรุนแรงที่สุดใน ‘เวลา’ มีอยู่ด้วยกันสองประการคือ ๑) บทภาพยนตร์ และ ๒) การแสดงของนักแสดง

Anatomy of Time 10 © Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M’GO Films, Mit Out Sound Films

เริ่มจากบทภาพยนตร์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสะท้อนทักษะการเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ ของผู้เขียนบท ซึ่งก็คือจักรวาล นิลธำรงค์เอง ถึงแม้ ‘เวลา’ จะเล่าเรื่องราวที่ออกจะเรียบง่าย ตัดสลับเวลาในอดีตกับปัจจุบันอย่างไม่ซับซ้อน แต่ตัวบทก็ได้พยายามหยอดบริบทปูมหลังของตัวละคร โดยเฉพาะกิจกรรมทางการเมืองในอดีตของ เสธฯ เอาไว้อย่างมีนัยยะสำคัญ และได้ขยายมิติเรื่องราวในปัจจุบันด้วยการเพิ่มตัวละครพยาบาลกลางคืนเข้ามา

แต่น่าเสียดายที่จักรวาล นิลธำรงค์ ไม่เคยคิดจะให้ความกระจ่างใดๆ ต่อรายละเอียดเหล่านี้ หลายๆ ส่วนของบทมีความคลุมเครือจนยากจะจับต้นชนปลายมิพักได้หาความหมาย เหมือนจักรวาล นิลธำรงค์ ก็คิดวางแผนเรื่องราวอะไรเอาไว้ในหัวมากมาย แต่สุดท้ายก็ไม่ต้องการให้เนื้อหาส่วนนี้มีพื้นที่ความสำคัญล้ำหน้าส่วนเรื่องราวหลักไป หนังเลยเกิดอาการ ‘เล่าไม่จบ’ ในหลายๆ ส่วนจนชวนให้สงสัยว่าแล้วจะใส่ฉากเหล่านี้เข้ามาทำไม หากมันจะไม่ช่วยให้เราเข้าใจตัวละครรายหนึ่งรายใดเพิ่มขึ้นมาเลย 

กระบวนความคิดที่ยังติดอาการฟุ้งซ่านแบบนี้ทำให้จักรวาล นิลธำรงค์ ดูจะเป็นนักเล่าเรื่องที่เล่าอะไรไม่เห็นจะรู้เรื่อง จนยากจะประเมินว่าบรรดาความงงนี่เป็นเพราะเจตนาจงใจหรือเพียงเพราะเล่าไม่เป็น ซึ่งก็เห็นอาการมาตั้งแต่ตอนที่ผู้กำกับทำเรื่อง Vanishing Point (2015) มาก่อนหน้านี้ แต่ไม่ว่าจะตั้งใจเล่าให้ ‘รู้เรื่อง’ หรือ ‘ไม่รู้เรื่อง’ ‘ศิลปะการเล่า’ มันก็ยังประจักษ์ได้จากวิธีการถ่ายทอด นักเล่าเรื่องหลายๆ คนไม่ว่าจะในแวดวงวรรณกรรมหรือภาพยนตร์ ก็สามารถเล่าเรื่องให้ ‘ไม่รู้เรื่อง’ ได้อย่างมีเสน่ห์ชวนฉงนฉงาย ยิ่งอ่านยิ่งดูยิ่งอยากถลำดำดิ่งลงไปแม้ว่าจะไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลยสักบรรทัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นเลยกับ ‘เวลา’ เรื่องนี้ ยิ่งหนังมีแนวทางในแบบ drama ที่ความเข้าใจในทุกอารมณ์ความรู้สึกของทุกตัวละครเป็นเรื่องสำคัญ back story ทุกๆ ฉาก ทุกๆ เหตุการณ์ จำเป็นจะต้องส่องสะท้อนบุคลิกตัวตนระดับลึกของตัวละคร แต่ถ้าเล่าแล้วกลับไม่รู้เรื่องมันก็จะกลายเป็นส่วนที่เปล่าดาย ไม่รู้ว่าจะใส่มาทำไมให้ ‘เสียเวลา’

Anatomy of Time 12 © Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M’GO Films, Mit Out Sound Films

ปัญหาใหญ่อีกประการของบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือ บทสนทนาระหว่างตัวละคร โดยเฉพาะในส่วนอดีตที่ใช้สำนวนภาษาแบบนิยายน้ำเน่า melodrama ที่เชยไปจนถึงเชยมากๆ ซึ่งฟังดูแล้วไม่น่าจะเป็นเจตนาในการสร้างบรรยากาศให้ดูเก่าโบราณ เพราะมันก็ไม่ถึงกับเชยในทุกๆ บรรทัด แต่จะรั่วมาเป็นช่วงๆ เช่น บทสนทนาระหว่างเสธฯ และสหายหัวร้อน ที่คำพูดคำจาดูประดิษฐ์ประดอยหลงยุคหลงสมัย แข็งกระด้างจนชวนงุนงงมากกว่าจะตื่นเต้นไปกับช่วงเวลาแห่งความคอขาดบาดตาย

หรือช่วงที่แหม่มวัยสาว ร้องห่มร้องไห้คร่ำครวญบ่นพ้อกับบิดาถกปัญหาปรัชญาชีวิตท่ามกลางเศษซากนาฬิกาด้วยสำนวนภาษาที่เหมือนจะพยายามเล่นสำบัดสำนวนแต่กลับไม่ได้เข้าใจวิถีวจีวิภาคแห่งยุคสมัยจนกลายเป็นความเปิ่นเด๋อ (แถม เวลา = นาฬิกา ในฉากนี้ก็ช่างเป็นภาษาหนังที่ตรงไปตรงมาเสียนี่กระไร) ส่วนนิทานคนท่องถ้ำ และมุกเล่าเรื่องสนุกขณะขับรถ ก็ประดักประเดิดเถรทื่อประหลาดพิกล แปลกแปร่งอลวนจนปราศจากความคมคาย คนที่ได้ฟังเลยไม่รู้ว่าจะตีสีหน้าอย่างไรในความกระอักกระอ่วนอันไม่ชวนประสงค์นี้

ในขณะที่แวดวงนักเขียนวรรณกรรมไทยร่วมสมัยเขาทะลุทะลวงกลเม็ดกลวิธีการเล่าอย่างวิจิตรแพรวพราวกันไปถึงไหนต่อไหน คนเขียนบทภาพยนตร์อิสระไทยหลายๆ รายยังกระเตาะกระแตะต้วมเตี้ยมกับการเล่าเรื่องราวง่ายๆ ที่สุดท้ายก็ยังทำให้งงได้ จนอยากจะชวนให้ลองหาอ่านวรรณกรรมเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์รอบรวมเรื่องสั้นหรือนวนิยายจะปีไหนก็ได้ ก็น่าจะพอเห็นตัวอย่างว่าพลังสร้างสรรค์แห่ง ‘ศิลปะการเล่าเรื่อง’ ที่แข็งแรงและก้าวล้ำจริงๆ มันควรเป็นเช่นไร

Anatomy of Time 4 © Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M’GO Films, Mit Out Sound Films

มาถึงการแสดงของนักแสดงในหนัง ที่ต่อให้ตัวบทจะอ่อนพร่องสุกๆ ดิบๆ ขาดๆ เกินๆ กันอย่างไร หากนักแสดงจะรู้งานจริงๆ ก็ยังพอช่วยกลบเกลื่อนบาดแผลในส่วนของการเล่าเรื่องได้ แต่อนิจจา สิ่งที่ปรากฏกลับกลายเป็นว่าผู้กำกับ จักรวาล นิลธำรงค์ กำกับนักแสดงไม่เป็นเลย ไม่เป็นแบบไม่เป็นเลยจริงๆ จนทำให้ส่วนการแสดงกลายเป็นส่วนที่ ‘พัง’ มากที่สุดของหนัง ทั้งๆ ที่มันคือองค์ประกอบที่เป็นลมหายใจแสนสำคัญจนไม่รู้ว่าจะสำคัญอย่างไรของงานในแนวทาง drama ที่ต้องอาศัยความละเมียดถึงขนาดนี้

เริ่มตั้งแต่ เทวีรัตน์ ลีลานุช ผู้รับบทนำเป็น แหม่มในวัยชราช่วงเวลาปัจจุบัน ที่ไม่สามารถแสดงอารมณ์ภายในใดๆ ออกมาให้เห็นได้เลย ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นเธอทำหน้านิ่งสลับกับตีหน้าเศร้า แต่พอมองลึกเข้าไปข้างในกลับพบแต่ความเปล่ากลวงไม่รู้ว่าต้องทำตัวอย่างไร กลายเป็นการแสดงที่ดูแข็งกระด้างจนไร้ชีวิตเสียยิ่งกว่าฝ่ายชายที่นอนแผ่ช่วยตัวเองไม่ได้อยู่บนเตียงพยาบาลข้างๆ นั่นเสียอีก 

ครั้นจะหันมาจ้องมองเพียงอากัปกิริยาแต่เพียงภายนอก posture ท่าทางอะไรต่าง ๆ ของเธอก็จะเห็นแต่ความ poise ความ uptight โฉบเฉี่ยว elegant ในลักษณะนางแบบ ปราศจากเค้ารอยของการเป็นคุณป้าผู้หมดอาลัยตายอยากในชีวิตจนแลดูสวนทาง ซึ่งพอการแสดงของนักแสดงผู้รับบทเป็นศูนย์กลางทุกสิ่งทุกอย่างของหนัง ‘พัง’ ในระดับนี้ ก็คงยากที่จะหวังอารมณ์ความรู้สึกร่วมอันจริงใจจากผู้ชมได้ ร้ายกว่านั้นคือในช่วงท้ายๆ ที่ผู้กำกับจงใจถ่ายทอดสรีระร่างกายผ่านกาลเวลาอันเปล่าเปลือยของเธอในลักษณะ objectify มันยิ่งกลายเป็นการตอกย้ำความหมายระดับเปลือกแต่เพียงภายนอกที่สุดท้ายผู้กำกับเองก็ไม่ได้ใส่ใจกับ ‘ภาวะภายใน’ ของตัวละครของเขาเลยสักนิด

Anatomy of Time 1 © Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M’GO Films, Mit Out Sound Films

ส่วน ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์ ผู้รับบทแหม่มในวัยสาว ก็ไม่เข้าใจในจริตจะก้านของสุภาพสตรีไทยในยุคสมัยนั้นเลย ซึ่งดูเหมือนผู้กำกับเองก็อาจจะอยู่ในตำแหน่งที่ช่วยอะไรเธอไม่ได้ สุดท้ายเธอจึงนำเสนอตัวละครแหม่มในวัยสาวด้วยกิริยาท่าทีมั่นอกมั่นใจเฉี่ยวเปรียวในลักษณะหญิงสาวยุคสหัสวรรษใหม่จนไม่เห็นเค้ารอยของการเป็น ‘หญิงกล้า’ จริงๆ ในช่วงเวลานั้น ต่อให้เธอจะทุ่มเล่นในฉากเปิดเผยเปิดเปลือยร่างกายมันก็ชื่นชมได้เฉพาะส่วน spirit นักแสดงซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับฝีไม้ลายมือ ซึ่งก็น่าเห็นใจที่ความตั้งใจทุ่มเทของเธอน่าจะเฉิดฉายเปล่งประกายถ้ามีโอกาสได้ทำงานกับผู้กำกับที่รู้วิธีกำกับการแสดงมากกว่านี้ เพราะสิ่งที่เห็นจาก ‘เวลา’ มันยังไม่สามารถชี้วัดตัดสินความสามารถที่แท้จริงของเธอได้เลย

ตัวละครฝ่ายชายอาจจะโชคดีหน่อยที่โดยตัวบทไม่จำเป็นต้องรับภาระความละเอียดทางการแสดงมากเท่าฝ่ายหญิง ทั้ง โสระบดี ช้างศิริ ผู้รับบทเป็นสามีวัยชราไร้กำลังวังชาจะทำอะไรได้ของแหม่ม และ วัลลภ รุ่งจำกัด ผู้รับบทเป็น เสธฯ วัยหนุ่ม ที่ต้องอมพะนำทุกๆ อุดมการณ์ความคิดจากหญิงคนรัก จึงพอจะประคับประคองบทผ่านไปได้โดยอาศัยเพียงรูปลักษณ์และท่าทาง

แต่รายที่ด่างพร้อยจนต้องชวนให้นั่งกุมขมับเลยกลับกลายเป็น วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล ผู้รับบทเป็นสหายของ เสธฯ ที่เล่นใหญ่เสียยิ่งกว่าเทือกเขาเบื้องหลังจนอารมณ์พรูพรั่งท่วมล้นไปหมด และ นพชัย ชัยนาม บทบิดาช่างซ่อมนาฬิกาของแหม่ม ที่เล่นไปก็เก๊กไปกลายเป็นความแข็งกระด้าง ไม่เห็นถึงพลังความอบอุ่นห่วงใยในบทบาทของการเป็นบิดาตามที่บทได้เขียนไว้เลย

การแสดงในแบบแกงโฮะปล่อยให้นักแสดงแต่ละรายทำหน้าที่ของตัวเองตามประสบการณ์และลีลาแต้มบุญที่แต่ละคนสั่งสมมาใน ‘เวลา’ โดยที่ผู้กำกับไม่คิดจะตบจะจูนอะไรให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน มันทำให้ส่วนประกอบที่เป็นพื้นฐานแสนสำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราว ‘ชีวิต’ มนุษย์ผู้อยู่กับบาดแผลในอดีตที่ควรจะสร้างความกระทบกระเทือนใจ กลับกลายเป็นความแข็งแห้งด้านชาชวนให้อุเบกขามากกว่าจะซาบซึ้ง เมื่อผู้กำกับไม่สามารถที่จะควบคุมส่วนที่เขาจะต้องละเมียดและละเอียดอ่อนมากที่สุดได้เลย 

Anatomy of Time 21 © Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M’GO Films, Mit Out Sound Films

เพียงเสี้ยววินาทีที่กล้องจับใบหน้านักแสดงอย่างนิ่งๆ โดยที่ยังไม่ได้พูดไม่ได้เอ่ยคำอะไร ทุกๆ อารมณ์ความรู้สึกมันสามารถ resonate ทะลุใบหน้าออกมาได้ หากนักแสดงยังกลวง ยังมึน ยังงง หรือเสแสร้งไม่จริงใจ ทุกสิ่งภายในเหล่านั้นมันจะปรากฏให้เห็นได้อย่างหมดจดเลยจริงๆ โดยเฉพาะเวลาที่ขยายขึ้นจอใหญ่ และมันก็เป็นองค์ประกอบเดียวที่ไม่สามารถใช้เทคนิคมา(ร)ยาหนังอื่นไหนมาช่วยเกลี่ยกลบความบกพร่องนี้ได้ ทำให้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสายใยความผูกพันกลายเป็นงานที่ไม่เห็นกระทั่งเสี้ยวเงาของความรักความห่วงใยจริงๆ จากแม้เพียงสักตัวละคร

จึงอยากจะวิงวอนเหล่าผู้กำกับหนังอิสระไทยทุกๆ ท่าน ไม่เฉพาะ จักรวาล นิลธำรงค์ ว่าถ้าคิดจะทำหนังเล่าเรื่องราวในแบบ drama แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะกำกับนักแสดงได้  กรุณาขวนขวายลองหาที่เรียน ที่ฝึกฝน หลักสูตรการกำกับการแสดง 101 อันพึงทำความเข้าใจ คือทักษะส่วนนี้มันสุดจะสำคัญจนไม่รู้ว่าจะสำคัญอย่างไรที่ไม่อาจเพิกเฉยหรือละเลยได้ จนต้องมาขอร้องกันฉันมิตรเพราะโดยใจจริงแล้วก็เข้าข้างเอาใจช่วยผู้กำกับไทยทั่วถ้วนทุกๆ คน อยากให้ผลงานไปได้ไกลแปะมือสลับกันมีหนังเข้าชิงรางวัลใบทองคำตัวทองคำใดๆ จากเทศกาลใหญ่แบบไม่เว้นปี เพราะเทศกาลเหล่านี้เขามีรสนิยมในเชิงมนุษย์นิยมกันมากมาย ต่อให้เทคนิคจะจัดจ้านแพรวพราวมากฝีมือถึงขนาดไหน หากนักแสดงยังเล่นกันไม่ได้มันก็ยากที่จะไปถึงฝั่งฝัน และยังคงเชื่อมั่นในฝีมือลายไม้ของนักแสดงชาวไทย ซึ่งยังต้องการบทดีๆ และผู้กำกับที่จะช่วยดันส่งพวกเขาได้ อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ได้สักครึ่งหนึ่งของวงการหนังฟิลิปปินส์ที่มาตรฐานทางการแสดงของเขาแข็งแกร่งกว่าบ้านเรามากมาย จนไม่ใช่เรื่องฟลุคเลยที่นักแสดงฟิลิปปินส์จะเคยคว้ารางวัลทางการแสดงจากเทศกาลใหญ่ให้เห็นกันมาหลายรายแล้ว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save