ระบบวรรณะในอเมริกามาได้อย่างไร?

ผมเดินทางมาอเมริกาก่อนวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกต่างๆ แต่ในสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลโ​จ ไบเดนที่เอาจริงเอาจังกับการควบคุมไวรัสโควิดให้ได้ด้วยการระดมฉีดวัคซีนทั่วประเทศอย่างรวดเร็วแบบปูพรม ทำให้เราตัดสินใจเดินทางไปอเมริกด้วยการบินเพราะเชื่อว่าเขาคงไม่กักตัวไว้สองสัปดาห์ โชคดีเพราะหลังจากที่เราผ่านเข้าประเทศอย่างสะดวกรวดเร็วและไม่มีการตรวจเช็กอย่างละเอียดเหมือนในอดีต เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่าโอไมครอนก็ประกาศเปิดตัวจากแอฟริกาใต้ไปสู่ยุโรปและในที่สุดก็ถึงสหรัฐฯ ซึ่งตอนนี้ปิดการเข้าประเทศอย่างเสรีอีกต่อไป

ตอนนี้จำนวนคนอเมริกันติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มขึ้นนับหลายแสนคนต่อวัน สร้างแรงกระเพื่อมไม่เบาให้แก่รัฐบาลไบเดน อาทิตย์ที่แล้วก่อนวันฉลองคริสต์มาส ไบเดนแถลงแนวทางการจัดการเจ้าโควิดพันธุ์โอไมครอนอย่างหนักแน่นและเกาะติด ประเด็นสำคัญคือเขาเรียกร้องให้ทุกคนฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอเมริกันที่ไม่ยอมฉีดนั้น ขอให้คิดถึงคนอื่นที่อาจเป็นพ่อแม่ลูกและเพี่อนบ้านที่อาจติดไวรัสและอาจตายได้ โควิด-19 จึงยังเป็นหนามยอกอกไบเดน แต่ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เขาได้มีโอกาสออกมาพูดคุยกับชาวบ้านในสไตล์และท่วงทีที่เขาถนัดและคุ้นเคย คือแบบเป็นกันเอง ไม่มีการเมืองหนักๆ และศัพท์เข้าใจยากๆ ไบเดนไม่เหมือนโอบามาที่ทั้งพูดและคิดแบบปัญญาชนมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง ไม่ใช่แบบชาวบ้านเลย

ปีที่เพิ่งผ่านพ้นไป การเมืองอเมริกันค่อนข้างสงบและคลายความตึงเครียดจากพฤติกรรมที่คาดไม่ถึงของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่การปฏิเสธผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี ไปถึงการปลุกระดมมวลชนเอียงขวา ลัทธิคนขาวเป็นเจ้า เหยียดหยามคนผิวสีทั้งหลาย ให้ยกกำลังหลายร้อยเข้ามาล้อมและบุกเข้ายึดรัฐสภาคองเกรสเพื่อล้มมติการรับรองประธานาธิบดีคนใหม่คือโจ ไบเดน ในวันที่ 6มกราคม ซึ่งจะได้รับการจารึกในจดหมายเหตุสหรัฐฯ ต่อไป

ผมนั่งคิดว่าหากจะสรุปภาพของสังคมอเมริกันปัจจุบันนี้ เราจะพูดถึงมันอย่างไรดี แน่นอน สำหรับผมซึ่งสนใจและศึกษามาทางด้านประวัติศาสตร์การเมืองเป็นหลัก ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องให้น้ำหนักไปทางผลกระเทือนทางประวัติศาสตร์และการเมืองที่มีต่อคนทั่วไป

ภาพแรกๆ ที่คนมักพูดถึงเมื่อต้องการเสนอภาพสังคมอเมริกาคือประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องและรับรองทางสังคมว่าเป็นความจริงและถูกต้อง คำหลักที่ใช้คือเสรีภาพ สิทธิของปัจเจกชน ประชาธิปไตยและความเท่าเทียมในโอกาส ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นความฝัน ไม่แต่เฉพาะคนอเมริกันเท่านั้น หากเป็นความฝันและจินตนาการของคนทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่ระบบการเมืองไม่พัฒนา หรือล้าหลัง

แต่ที่น่าประหลาดคือ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ในโลกที่สามพากันลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องอุดมการณ์และความฝันอเมริกัน ในอเมริกาเองขณะนี้กำลังมีคลื่นของการรื้อสร้างประชาธิปไตยใหม่ แต่คราวนี้กลุ่มคนและอุดมการณ์ของพวกเขา ไม่ใช่เป็นฝ่ายก้าวหน้าหรือราดิคัลแบบแต่ก่อน หากกลับเป็นกลุ่มคนและความคิดอนุรักษนิยมและไม่มองไปข้างหน้า หากแต่ต้องการมองกลับไปข้างหลัง และเป็นอดีตที่สร้างโดยคนกลุ่มเดียวคือคนผิวขาวที่เป็นคริสเตียนโปรเตสแตนต์แองโกลแซกซอนหรือ WASP (White- Anglo-Saxon-Protestant) ซึ่งก่อนนี้หลายปี คนผิวขาวกลุ่มดังกล่าวมีความหมายเฉพาะคนขาวที่สืบทอดมาจากพวกพิวริตันที่ตั้งรกรากและสร้างชุมชนในจินตนาการของพวกเขาในแถบภาคเหนือของสหรัฐฯ ปัจจุบันคือมลรัฐแมสซาชูเซตส์ โรดไอร์แลนด์ คอนเนคติกัตและเมน แต่ตอนนี้คนขาวที่ชูความเป็นเจ้าของพวกตนกลายมาเป็นคนขาวแถบตะวันตกและใต้ที่ในอดีตไม่เคยมีฐานะทางสังคมและภูมิปัญญาที่สามารถชี้นำและสร้างผลกระทบทางการเมืองได้เลย กระทั่งเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์และพ่อมดผู้สร้างน้ำเป็นตัวได้ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีและให้การสนับสนุนอย่างไม่ปิดบังต่อการสานฝันของขวาตกขอบและเชื้อชาตินิยมจัด อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของทำเนียบขาว นี่คือประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างของพลังปฏิกิริยาอเมริกัน

หากถามว่าสังคมอเมริกันมีความ ‘มั่งคั่ง ยั่งยืนและมั่นคง’ มายาวนานนับแต่สร้างประเทศที่เป็นเอกราชและประชาธิปไตยแล้วทำไมคนอเมริกันทุกสีผิวและเชื้อชาติศาสนาถึงยังทะเลาะขัดแย้งและประท้วงต่อต้านกันอยู่อย่างไม่เลิกรา บางครั้งก็สันติ หลายครั้งเต็มไปด้วยความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตและทรัพย์สินมากมาย

ถ้าตอบทางการเมืองก็คงได้คำตอบซ้ำๆ แบบที่เคยได้ยินกันมาก่อนแล้วไม่มากก็น้อย เช่นมันเป็นปัญหาของความขัดแย้งทางเชื้อชาติสีผิว ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ความไม่ยุติธรรมทางสังคมและ ฯลฯ อาจมีประเด็นแตกเพิ่มเล็กๆ น้อยๆ ให้ฟังแปลกใหม่บ้างตามการเข้าถึงข้อมูลขั้นต้นที่มากหลากหลายขึ้น คราวนี้ผมลองตอบจากการพูดคุยและสังเกตในประสบการณ์ชีวิตของคนอเมริกันต่างๆ ที่พอเข้าถึงได้ หลักๆ คงได้แก่เรื่องราวจากชีวิตการทำงาน ครอบครัวและกิจกรรมสังคมต่างๆ ที่จำเป็นของผู้คนเหล่านั้น

สำหรับสหรัฐฯ ผมคิดว่าเรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ หนีไม่พ้นเรื่องงานและการทำงาน ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดความเป็นความตายของคนอเมริกันมากที่สุด ต่อเรื่องนี้อาจมองในประเด็นนี้ต่างกันไป ที่สำคัญคือการให้น้ำหนักแก่งานและการทำงานที่ต่างกัน บางคนคิดถึงว่าเงินเดือนที่ให้มากพอความต้องการไหม ถ้าไม่ได้ก็ไม่เอา ไปหาใหม่ การเลือกและเปลี่ยนงานเป็นเรื่องปกติธรรมดา สำหรับคนอเมริกัน งานและการทำงานเป็นคุณธรรมและความดีงามในตัวเองที่นิยามความเป็นอเมริกัน ที่สำคัญคือการให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคือรายได้ในการดำรงชีพอย่างเหมาะสมได้ในสังคมที่ค่าครองชีพสูง ไม่ว่าอาหาร บ้านเช่า และค่าโดยสารรถทั้งหลาย ล้วนแพงหรือสูงไม่เบา  

จากการที่อเมริกาเป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเต็มรูป พลังขับเคลื่อนในการสร้างและขยายทุนจึงแสดงบทบาทอย่างมหาศาล กระทั่งรัฐยังทำนิ่งเฉยหรือเป็นทองไม่รู้ร้อนในเรื่องดังกล่าวไม่ได้ หากต้องออกมาช่วยผลักดันและกำจัดอุปสรรคขัดขวางการเติบโตของทุนออกไป ด้วยการออกหรือแก้ไขกฎหมายสหพันธ์ (รัฐบาลกลาง) อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาในรอบสองศตวรรษมา จนทำให้ภาพลักษณ์และบุคลิกของพรรคการเมืองต้องจำกัดอยู่แค่สองพรรคใหญ่ คือเดโมแครตเป็นตัวแทนเสรีนิยมทางการเมืองและเศรษฐกิจ ส่วนรีพับลิกันแทนอนุรักษนิยม การต่อสู้และขัดแย้งกันระหว่างสองพรรคจึงวนเวียนอยู่ที่การลดหรือขึ้นภาษีให้แก่คนกลุ่มใด นี่เองที่ทำให้นโยบายประกันสังคมอเมริกา เมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาด้วยกันเช่นยุโรป ยังล้าหลังและไม่เป็นธรรมแก่คนระดับล่างมาก เพราะคนได้เปรียบทางรายได้ไม่ต้องการแบ่งรายได้นั้นไปให้แก่คนชั้นล่างผ่านประกันสุขภาพ ที่ส่วนใหญ่คือคนผิวดำ ดังนั้นการต่อสู้ของคนชั้นล่างเพื่อยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำจึงดำเนินต่อมาอย่างไม่หยุดหย่อน ล่าสุดคือการเรียกร้องให้ค่าแรงเริ่มที่ชั่วโมงละ 15 เหรียญสหรัฐ (ไม่ใช่ต่อวันแบบเมืองไทย) ในระยะยาวปัญหาเรื่องงานคือมันให้หลักประกันต่อความมั่นคงในครอบครัวและสร้างชีวิตที่มีความหมายให้แก่คนๆ นั้นได้หรือไม่

คำตอบต่อปัญหานี้น่าสนใจมากว่า มันโยงใยไปถึงลักษณะและคุณสมบัติทางชาติพันธุ์ของคนในสังคมอเมริกาด้วยอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะไม่ใช่เหตุและผลโดยตรงก็ตาม แต่ปรากฏการณ์ที่พบเห็นในหน้าสื่อมวลชนและในชีวิตจริง มีตัวอย่างทำนองนี้พอสมควร นั่นคือการที่คนผิวดำหรือแอฟริกันอเมริกันเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลสำเร็จในการแย่งขึ้นบันไดความฝันอเมริกาได้น้อยและยากลำบากกว่าคนเชื้อชาติอื่นๆ ทั้งปวงในอเมริกา ทั้งๆ ที่เมื่อนับว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมก่อตั้งสังคมอเมริกาตั้งแต่เริ่มแรกพร้อมๆ กับคนผิวขาวที่มาจากยุโรป และแน่นอนรวมถึงคนอินเดียนเจ้าของพื้นที่อันเป็นคนพื้นถิ่นดั้งเดิมของอเมริกาด้วย ซึ่งแม้มีสัมพันธภาพที่ไม่ราบรื่นกับคนขาวด้วยก็ตาม แต่แรงเหวี่ยงและผลสะเทือนทางการเมืองมีน้อยกว่าและเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปน้อยมากๆ ด้วยเหตุผลที่ผมคิดว่าเพราะคนผิวดำมีความสำคัญในและต่อระบบทุนนิยมมากกว่าคนอินเดียนลูกที่ คือการเป็นแรงงานที่จำเป็นในระบบการผลิต ตั้งแต่ก่อนที่ระบบทุนอุตสาหกรรมจะสถาปนาอำนาจนำในอเมริกาด้วยการเป็นแรงงานทาส แม้ยังไม่เป็นแรงงานเสรี แต่ก็ทำหน้าที่เป็นแรงงานในการผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าส่วนเกินให้ทั้งนายทาสภาคใต้และนายทุนภาคเหนืออย่างเต็มที่

หากระบบทาสแอฟริกันคือปัจจัยที่สร้างความสำเร็จให้แก่ระบบทุนนิยมในการเป็นระบบโลกในศตวรรษที่ 19 (Eric Williams, Capitalism and Slavery, 1944) ก็กล่าวได้ว่าระบบทาสผิวดำในอาณานิคมอเมริกาเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นพลังผลักดันและขับเคลื่อนระบบทุนนิยมในสหรัฐอเมริกาจากยุคแรกเริ่มถึงปัจจุบัน แรงงานทาสทำหน้าที่ในการผลิตสินค้าเพื่อตลาดมาแต่เริ่มต้นสร้างอาณานิคม เป็นแรงงานที่ถูกทำให้เป็นสินค้าที่เป็นวัตถุ และมีอย่างไม่ขาดตลาด พูดอย่างเปรียบเทียบกับพัฒนาการของระบบทุนนิยมในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ระบบทาสคือระยะสะสมทุนบุพกาลของอเมริกา เหมือนอย่างสยามที่มีระบบชาวนากึ่งไพร่กึ่งทาสในระยะก่อตัวของระบบทุนราชูปถัมภ์นับแต่สมัยปฏิรูปประเทศของรัชกาลที่ห้าเป็นต้นมา

ดังนั้นสิ่งที่ระบบทุนกระทำต่อแรงงานของมันคือการทำให้ค่าแรงนั้นถูกหรือให้ผลตอบแทนแก่นายทุนสูงตลอดเวลา สภาพคนผิวดำตั้งแต่ยุคทาสคือการเป็นคนนอก ไร้รากรองรับในชุมชน ทำให้ขาดโอกาสในการสร้างความมั่นคงในครอบครัว ต้องปากกัดตีนถีบ ทำให้โอกาสในการศึกษาก็น้อยกว่าคนผิวอื่นๆ ตามมา อนาคตก็ยากจะวาดฝันได้จริงๆ แรงงานผิวดำจึงเป็นแรงงานที่ถูกกดขี่มากที่สุดในหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางตรงและอ้อม สิ่งที่คนกลุ่มน้อยอื่นๆ ไม่มีมากเท่าคือโครงสร้างส่วนบนเช่นวัฒนธรรม

ความคิด ค่านิยม อคติต่างๆ ที่รวมศูนย์ในความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสีผิวเชื้อชาติโดยเฉพาะผิวขาวกับผิวดำ ที่ผิวดำเป็นตัวแทนของด้านไม่ดีทั้งหลาย ไม่ว่าในทางกาย ทางสติปัญญา ความคิดอ่าน นิสัยใจคอ ล้วนติดลบหมดเลยในสายตาของคนขาวและสีอื่นๆ ที่ตามมา

ที่หนักหน่วงคือ อคติเหล่านี้ในหลายสังคมมีการเปลี่ยนแปลงลดทอนลงจนไม่ใช่อุปสรรคในชีวิตสังคมอีกต่อไป แต่ในกรณีคนดำในอเมริกา อคติทางเหยียดเชื้อชาติเหล่านี้แทบไม่เคยลดลงจริงๆ เลย มีแต่การรื้อฟื้น สร้างใหม่ เติมสีสันและกลายมาเป็นอาวุธของคนผิวขาวในการรักษาและสร้างความได้เปรียบในชีวิตและการงานของพวกเขากันต่อไป

กระทั่งในปีที่แล้ว ที่ความขัดแย้งระหว่างคนผิวดำกับผิวขาวระเบิดออกมาในขบวนการ Black Lives Matter หรือ ‘ชีวิตคนดำก็มีความหมาย’ มีหนังสือเล่มหนึ่งในหลายเล่มที่เสนอการศึกษาปัญหาประวัติศาสตร์นี้อย่างลึกซึ้งและท้าทายยิ่ง เล่มหนึ่งที่ผมไม่คิดว่าจะมีใครกล้าเสนอก็ออกมาเปิดประเด็นที่คิดไม่ถึงได้ในที่สุด นั่นคือการเสนอว่า ปัญหาขัดแย้งระหว่างผิวดำกับผิวขาวไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปัญหาการเมือง หรือเศรษฐกิจและลัทธิเหยียดเชื้อชาติเท่านั้น มันเป็นทั้งหมดนั้น แต่ที่สำคัญกว่าคือมันยังเป็นระบบที่ผู้เขียนเรียกว่า ‘วรรณะ’ (caste) โดย Isabel Wilkerson ผู้เขียน Caste: The Origins of Our Discontents (2020)[1] เสนอว่าในประวัติศาสตร์โลกนี้มีระบบวรรณะที่ทำงานอยู่สามประเทศ คือ 1) ระบบนาซีในเยอรมนีสมัยฮิตเลอร์ 2) ระบบวรรณะในอินเดีย และ 3) คือระบบวรรณะในสหรัฐอเมริกาผ่านระบบทาสผิวดำ แต่ละประเทศใช้การข่มขู่ทำร้ายคนที่ถูกมองว่าต่ำหรือด้อยกว่าเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การ ‘ทำลายความเป็นมนุษย์’ (dehumanization) กลายเป็นความจำเป็นในการเก็บให้คนข้างล่างติดอยู่ตรงนั้นและให้เหตุผลแก่กลไกของการบังคับใช้กฎหมายและกติกาต่างๆดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นระบบวรรณะที่สามารถอยู่รอดปลอดโปร่งมาได้ยาวนาน เพราะบ่อยครั้งอ้างว่าทำตามคำสอนในคัมภีร์หรือหลักคำสอนทางศาสนา หรืออ้างว่าเป็นไปตามกฎธรรมชาติ หรือตาม ‘ความเป็นชาติ’ ของชาตินั้นๆ ที่กระทำผ่านการอบรมบ่มเพาะทางวัฒนธรรม (การศึกษา) อย่างต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน

แต่แรกที่เห็นชื่อหนังสือและแนวการศึกษาที่อิงความไม่เป็นมนุษย์ของระบบทาสและคิดว่าจะโยงไปสู่ข้อสรุปที่ทำให้ระบบทาสฟังดูเลวร้ายสุดขีดมาถึงผลพวงในปัจจุบัน ด้วยการทำให้มันเท่ากับระบบวรรณะที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งข้อสรุปและหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่าที่ผมได้ศึกษามา ไม่เพียงพอและหนักแน่นที่จะทำให้สรุปไปอย่างนั้นได้ (ดูบทความของผมเรื่อง ‘แนวการศึกษาและวิเคราะห์ระบบทาสในสหรัฐอเมริกา’ วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2532)) ทว่าไม่น่าเชื่อ หลังจากอ่านไปบางบทที่เป็นหลักในการเสนอของผู้เขียน ผมกลับเปลี่ยนใจ ยอมรับวิธีการศึกษาและบทสรุปของเขาได้อย่างไม่ลำบากใจ

สิ่งที่ผู้เขียนเสนอในที่สุดคือการให้เรามี ‘ความสังเวชอย่างรุนแรง’ (radical empathy) ในความเจ็บปวดของคนอื่นอย่างที่เขาประสบมา ไม่เหมือนกับความเห็นอกเห็นใจ (sympathy) ที่เพียงแค่รับรู้แล้วเห็นใจและอาจช่วยอะไรบ้างตามสภาพ แต่ความสังเวชเป็นการเชื่อมต่ออย่างใกล้ชิดของเรากับความเจ็บปวดของคนอื่นตามประสบการณ์ของเขา ผู้เขียนเสนอว่าจะหลุดจากระบบวรรณะนี้ได้ ทุกคนต้องเข้าใจความเป็นจริงในสังคมไม่ใช่เชื่อและทำตามกันต่อๆ มา และปฏิเสธไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนั้น ทุกคนเกิดมาในสังคมอย่างอุบัติเหตุ ไม่มีใครตั้งใจเกิดมาอย่างที่เป็น ดังนั้นทุกคนควรทำหน้าที่และจุดที่อยู่ในสังคมอย่างที่ไม่ได้ถูกกำหนดให้ หากแต่ต้องปฏิเสธระบบและการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมทั้งหลายลงไป เพื่อตัดตอนและนำไปสู่การขจัดระบบไม่ให้แข็งตัวเป็นระบบวรรณะต่อไป

หนังสือเรื่องระบบวรรณะเล่มนี้ ให้คำตอบแก่โจทย์ที่ตั้งไว้แต่ต้นในปัญหาอเมริกาที่แม้วางอยู่บนเรื่องงานและการทำงาน แต่หากระบบบิดเบือนความจริงในสังคมข้างล่างเอาไว้เพื่อรักษาประโยชน์ของคนส่วนที่มีอภิสิทธิ์และความชอบธรรมมากกว่าคนข้างล่างไว้ตลอดเวลา ปัญหาที่ควรจะแก้ไขและปรับเปลี่ยนไปได้ตามกาลเวลาและความมั่งคั่งยั่งยืนของระบบทุนนิยม ก็จะวนเวียนและกลายเป็นวงจรอุบาทว์ไปอย่างที่ได้เกิดและสร้างการประท้วงต่อต้านจากคนผิวดำส่วนใหญ่มาถึงปัจจุบัน และอาจต่อไปในอนาคตกาลอย่างที่ไม่รู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไรและอย่างไร


[1] ขอบคุณ Amanda Robbins ณ ฟิลาเดลเฟีย ที่แนะนำและให้ยืมหนังสือเล่มนี้กับความเห็นประกอบประเด็นของหนังสือที่ทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save