fbpx
สหรัฐในสายตาของคนอิหร่าน

สหรัฐในสายตาของคนอิหร่าน

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ปลายเดือนพฤษภาคม สถานการณ์ในอ่าวเปอร์เซียเริ่มวิกฤติ เมื่อเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐอเมริกาได้เคลื่อนขบวนกองเรือรบมุ่งหน้ามาอ่าวเปอร์เซีย ทำให้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านที่มีมานานได้เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง

ช่วงเวลาเดียวกันนี้ผมออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยสายการบินแห่งชาติของอิหร่าน Mahan Air มุ่งหน้าสู่กรุงเตหะราน ท่ามกลางความห่วงใยของคนรอบข้างที่ไม่รู้ว่าทั้งสองประเทศจะเปิดศึกกันเมื่อใด

ผู้โดยสารเต็มลำ แต่เกือบทั้งหมดเป็นคนอิหร่าน แทบจะไม่มีคนไทยนอกจากกลุ่มของเราสิบกว่าคน

ยามปกติประเทศอิหร่านเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย เพราะค่าครองชีพถูก อาหารอร่อย มีสถานที่เก่าแก่งดงามหลายแห่งระดับโลกที่ไม่ควรพลาด แต่จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยลดจำนวนลง

ตอนแรกผมคิดว่าสายการบิน Mahan Air คงบินแวะมารับผู้โดยสารจากเมืองไทย แต่เป็นความรู้ใหม่ว่า สายการบินแห่งชาติอิหร่าน บินตรงจากประเทศไทยไปอิหร่าน และในทวีปเอเชีย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศที่สายการบินนี้บินตรงจากกรุงเตหะราน

 

 

ผมทราบภายหลังจากเพื่อนชาวอิหร่านว่า คนอิหร่านรู้จักและคุ้นเคยกับเมืองไทยดี เพราะความสัมพันธ์ในอดีตอันยาวนาน สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวอิหร่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสยาม คือ เชค อาหมัด กูมี หรือ เฉก อะหมัด พ่อค้า นักบวชชาวอิหร่านซึ่งเดินทางมาค้าขายในสยามประเทศ ราวศตวรรษที่ 16 ต่อมาได้สร้างความดีความชอบมากมาย พระนารายณ์มหาราชจึงโปรดให้เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ระดับสมุหนายกอัครมหาเสนาบดีและเป็นต้นสกุลหลายนามสกุล รวมถึงตระกูลบุนนาค

ประเทศไทยจึงเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวจากอิหร่าน

แปดชั่วโมงต่อมา เรามาถึงสนามบินTehran Imam Khomeini ตั้งชื่อตาม โคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน

เจ้าหน้าที่ประจำสนามบินทำงานตามปรกติ ไม่มีทหาร ตำรวจ ยืนยามรักษาความปลอดภัยเข้มงวด ออกผ่านสนามบินมาพบไกด์ชาวอิหร่านที่รอรับไปโรงแรม

อาณาจักรเปอร์เซียในอดีตเมื่อสองพันกว่าปีก่อน คือมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ไม่ต่างจากกรีก โรมัน จีน หรืออินเดีย เพียงแต่ต่างยุคต่างสมัยกัน มีกษัตริย์ผู้มีชื่อเสียง อาทิ พระเจ้าไซรัสมหาราช พระเจ้าดาไรอัสมหาราช เคยรบชนะกรีก บุกไปตีกรุงเอเธนส์ แผ่ขยายอาณาจักรไปไกลแสนไกล ตั้งแต่บางส่วนของคาบสมุทรบอลข่าน และยุโรปตะวันออกทางทิศตะวันตก จดลุ่มแม่น้ำสินธุทางทิศตะวันออก ทำให้เป็นจักรวรรดิใหญ่สุดในโลกในขณะนั้น แต่ได้ล่มสลายลงจากชัยชนะของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชต่อกองทัพเปอร์เซีย ประมาณ 330 ปีก่อน ค.ศ.

ประวัติศาสตร์สองพันกว่าปีของเปอร์เซียต่อมา ศาสนาอิสลามได้เข้ามาเผยแพร่และกลายเป็นศาสนาประจำชาติ อาณาจักรแห่งนี้มีทั้งยุครุ่งเรืองและเสื่อมโทรม โดยเฉพาะในช่วงหลังเมื่อมหาอำนาจตะวันตกเริ่มเข้ามาล่าอาณานิคมในเอเชียและแอฟริกา

 

 

หลายวันถัดมา หลังจากคุ้นเคยกับไกด์ชาวอิหร่านผู้นี้ คำถามแรกที่เราถามเพื่อนคนนี้คือ “ทำไมสหรัฐอเมริกากับอิหร่านเป็นศัตรูกันมาช้านาน”

เขาบอกว่า ความขัดแย้งไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มันมีประวัติศาสตร์อันยาวนานย้อนกลับไปนับร้อยปี

ในสมัยล่าอาณานิคมของประเทศชาติตะวันตก แม้อิหร่านจะไม่ได้ถูกยึดครองโดยตรงจากชาติมหาอำนาจ แต่อังกฤษ รัสเซีย เยอรมัน และสหรัฐอเมริกาได้แผ่อิทธิพลและเข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติของอิหร่านที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งต้องยอมเสียดินแดนบางส่วน แทบจะไม่แตกต่างจากสยามประเทศในช่วงรัชกาลที่ 5

เมื่อมีการค้นพบน้ำมันในอิหร่านในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประเทศอังกฤษผูกขาดผลประโยชน์น้ำมัน สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนมาก จนเกิดกระแสต่อต้านที่กว้างขวางของประชาชนชาวเปอร์เซีย เพื่อปกป้องผลประโยชน์และเอกราชของประเทศ

จุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 นายพล เรซา ข่าน ผู้บัญชาการกองพันน้อยคอสแซคได้นำกองทัพบุกเข้าเมืองหลวงทำการรัฐประหาร และต่อมาได้สถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์ เรซา ชาห์ ปาห์เลวี ประกอบพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์ปาห์ลาวี ในปี ค.ศ.1925

พระองค์ประกาศจะพลิกอิหร่านให้กลับมาเป็นชาติมหาอำนาจอีกครั้ง และเชิดชูผู้นำชาตินิยมแบบฮิตเลอร์แห่งเยอรมนี และอตาเติร์กแห่งตุรกี

พอสงครามโลกครั้งที่ 2 ประทุขึ้น ประเทศอิหร่านอยู่ฝ่ายเดียวกับเยอรมนี  ภายหลังกองทัพพันธมิตรจึงได้ตัดสินใจบุกอิหร่าน กองทัพอังกฤษยึดภาคใต้ ขณะที่กองทัพรัสเซียยึดภาคเหนือ ประเทศอิหร่านถูกปกครองโดยกองทัพสัมพันธมิตร กษัตริย์เรซาจึงถูกบีบบังคับให้สละราชสมบัติ พระโอรสองค์ใหญ่คือ โมฮัมหมัด เรซา ข่าน ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน

หลังจากนั้นชนชั้นนำได้นำประเทศอิหร่านให้เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประชาชนเริ่มตื่นตัวในความเป็นชาตินิยมจึงไม่เห็นด้วยกับผู้นำในเวลานั้น

 

 

ในปี ค.ศ. 1951 ดร.มุฮัมหมัด มูซัดเดก ผู้นำคนหนึ่งในขบวนการชาตินิยมอิหร่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี

เขาใช้มาตรการตอบโต้การยึดครองของต่างชาติอย่างรุนแรง ด้วยการยึดบริษัทน้ำมันแองโกล-อิหร่านออยล์ของอังกฤษมาเป็นของชาติ รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอังกฤษ เศรษฐกิจเริ่มปั่นป่วนและเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว จากการบอยคอตของชาติตะวันตก และเกิดความวุ่นวายมากขึ้น

สุดท้ายได้เกิดการรัฐประหาร มูซัดเดกและคณะรัฐบาลถูกจับกุม พระเจ้าชาห์โมฮัมหมัดเรซา ได้เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง และพาประเทศเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่งตั้งรัฐบาลใหม่ มีนโยบายเอาใจตะวันตก มีการเจรจาตกลงกับบริษัทน้ำมันอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และปกครองประเทศท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชน

เพื่อนอิหร่านเล่าให้เราฟังว่า

“มูซัดเดกเป็นนายกรัฐมนตรีหัวก้าวหน้า เขาเสนอให้ทางบริษัทน้ำมันของอังกฤษที่สร้างโรงกลั่นน้ำมันใหญ่สุดในโลก แบ่งผลประโยชน์ให้อิหร่านด้วย แต่ทางอังกฤษไม่ยอม มูซัดเดกจึงยึดโรงกลั่นน้ำมันต่างชาติหมด มหาอำนาจตะวันตกไม่ยอม ใช้ทหารล้มรัฐบาล และกษัตริย์ชาห์ไปเข้าข้างมหาอำนาจ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้เกิดปฏิวัติอิสลามในเวลาต่อมา”

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1963 รัฐบาลได้ทำการจับกุมอยาตุลเลาะห์ โคมัยนี ผู้นำศาสนาอิสลาม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนักศึกษาและประชาชนขณะปราศรัยโจมตีรัฐบาล สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนมากจึงพากันออกมาเดินขบวน เรียกร้องให้ปล่อย โคมัยนี เหตุการณ์ลุกลามรุนแรงถึงขั้นนองเลือด รัฐบาลกษัตริย์ชาห์ แก้ปัญหาด้วยการเนรเทศโคมัยนีออกนอกประเทศเป็นเวลาถึง 13 ปี เพื่อหวังว่าประชาชนจะลืมผู้นำทางจิตวิญญาณท่านนี้

แต่ความไม่พอใจของประชาชนยังไม่จบสิ้น ขณะที่คนในราชวงศ์ใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย แต่ผู้คนอดอยาก เศรษฐกิจตกต่ำ และในปี ค.ศ. 1978 ได้เกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรงในโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง มีคนเสียชีวิตสามร้อยกว่าคน จนกลายเป็นชนวนความขัดแย้ง ตำรวจไม่สามารถหาคนผิดได้ ประชาชนจึงออกมาเดินประท้วงตามท้องถนนอีกครั้ง มีข้อความประท้วงชาห์ เผาธงชาติสหรัฐอเมริกา ผู้อยู่เบื้องหลังการปกครองของชาห์

ขณะเดียวกัน โคมัยนีก็ใช้สื่อเป็นเครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการพูดอัดลงเทปคาสเซ็ทและนำออกมาเผยแพร่ให้คนอิหร่านฟัง กระตุ้นให้เกิดการนัดหยุดงานหลายแสนคนและเดินขบวนกันทั้งประเทศหลายครั้ง เพื่อโค่นล่มกษัตริย์ชาห์ เรียกร้องให้มีรัฐอิสลาม มีการปะทะ เผาบ้านเรือนของชาวอเมริกัน คนตายเพิ่มขึ้นทุกวัน ประเทศกลายเป็นอัมพาต

จนในที่สุดเมื่อสถานการณ์คุมไม่ได้ สหรัฐที่สนับสนุนกษัตริย์มาหลายสิบปีได้แนะนำให้เสด็จออกนอกประเทศ เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1979 เป็นการสิ้นสุดยุคสมัยการปกครองแบบกษัตริย์ที่ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 2,500 ปีของอิหร่าน

1 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน โคมัยนี ได้เดินทางจากกรุงปารีสกลับประเทศ กองทัพยอมวางตัวเป็นกลาง ฝ่ายโคมัยนีจึงเข้ายึดที่ทำการรัฐบาล ประกาศชัยชนะและนำอิหร่านเข้าสู่การปกครองแบบรัฐอิสลามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีผู้นำสูงสุดคือ อิหม่ามโคมัยนี เป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณมีอำนาจครอบคลุมทั้งการเมืองและการปกครองทั้งหมด ประเทศอิหร่านกลายเป็นสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ผู้นำทางศาสนามีสิทธิในการกลั่นกรองกฎหมายทุกอย่าง มีนโยบายขจัดอิทธิพลชาติตะวันตก

“ตอนนั้นต้องยอมรับว่า คนอิหร่านจำนวนมากที่ออกมาประท้วงไล่กษัตริย์ชาห์ ก็ยังงงๆ ไม่รู้ว่า อนาคตประเทศจะเดินไปทางใด แนวคิดเรื่องรัฐอิสลามของท่านผู้นำโคมัยนี จึงเป็นทางออกอันเดียวในเวลานั้น แม้รู้ว่าเสรีภาพจะลดน้อยลง แต่ก็เป็นรองจากปัญหาหลักคือเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งเชื่อว่ารัฐอิสลามจะเข้ามาแก้ไขได้” เพื่อนชาวอิหร่านผู้ไม่ประสงค์ออกนามเล่าความเห็น

 

 

ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริการุนแรงขึ้นถึงขีดสุด เมื่อกลุ่มนักศึกษาได้บุกสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะราน และจับชาวอเมริกัน 52 คน เป็นตัวประกันนานถึง 444 วัน

รัฐบาลสหรัฐตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน และความเป็นปฏิปักษ์ระหว่าง 2 ชาติ ยังคงดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้

แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่คนอิหร่านเกลียดชังสหรัฐอเมริกา คือ ในปี ค.ศ. 1980 เมื่อ ซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดีอิรักได้สั่งบุกอิหร่าน หลังจากมีปัญหากระทบกระทั่งกันตามชายแดน จนสงครามอิรัก-อิหร่าน ดำเนินมาถึง 8 ปี มีคนล้มตายหนึ่งล้านคน สร้างความเสียหายกว่า 30 ล้านล้านบาท  สุดท้ายทั้งสองฝ่ายก็เจรจายุติสงครามกัน ไม่มีใครแพ้ชนะ

“คนอิหร่านเชื่อว่า สหรัฐอยู่เบื้องหลังสงคราม สั่งให้อิรักบุกเรา เพื่อต้องการทำลายการปฏิวัติอิสลาม โค่นล้มท่านผู้นำ สงครามครั้งนั้น ชาวอิหร่านตายเยอะมาก ”

หลายวันต่อมาในประเทศอิหร่าน เราเห็นรูปภาพเด็กหนุ่มจำนวนมากตามกำแพง สวนสาธารณะ ริมถนน คนเหล่านี้คือชายหนุ่มที่ถูกเกณฑ์ไปสู้กับทหารอิรัก กล่าวกันว่าแทบทุกบ้านในเวลานั้นจะต้องมีเด็กหนุ่มถูกฆ่าตายในสงครามครั้งนั้น

เหตุการณ์ผ่านไปร่วม 40 ปี ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านยังดำรงอยู่ตลอดเวลา

แต่การทำสงครามกับอิหร่านไม่ง่ายเหมือนการที่สหรัฐบุกอิรักโค่นซัดดัม ฮุสเซน

อิหร่านมีทรัพยากรมหาศาล รวมถึงแร่ยูเรเนียม มีอาวุธป้องกันตัวที่มีประสิทธิภาพ  เป็นพันธมิตรสำคัญกับรัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนีและจีน

“ความขัดแย้งครั้งนี้ที่เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ คนอิหร่านเชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกนิยมกษัตริย์ชาห์ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาคนหนึ่งมีบทบาทสำคัญในคณะที่ปรึกษาของทรัมป์” เพื่อนชาวอิหร่านกล่าวต่อ

“แต่ผมไม่เชื่อว่าสหรัฐจะกล้าทำสงครามกับอิหร่านอย่างเต็มตัว เพราะทรัมป์เป็นพ่อค้า ไม่ใช่ทหาร สิ่งที่เขาอยากได้คือการหาเงินด้วยการขายอาวุธสงครามให้กับประเทศอาหรับ อย่างซาอุดิอาระเบียที่เป็นศัตรูกับเรา”

สิบกว่าวันในประเทศนี้มีแต่ความสงบ คนอิหร่านที่เราพบเห็นอาจจะเชื่อเช่นนี้จึงดำเนินชีวิตปกติ ไม่มีการซ้อมป้องกันภัยทางอากาศ หรือเตรียมความพร้อมอะไร ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ดูกันต่อไปว่า ความเชื่อของคนอิหร่านจะเป็นจริงหรือไม่

 

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save