fbpx

ทะเลเพลิง-แสงจันทร์ All the Light We Cannot See

All the Light We Cannot See (ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อ ‘ดั่งแสงสิ้นแรงฉาน’) เป็นนิยายปี 2014 เขียนโดยแอนโทนี ดัวร์

งานเขียนชิ้นนี้ประสบความสำเร็จทั้งยอดขายและเสียงตอบรับ ติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ของ The New York Times นานเกิน 200 สัปดาห์ ได้รับเลือกจากหลายๆ สำนักให้เป็นหนึ่งในหนังสือยอดเยี่ยมประจำปี 2014 รวมถึงคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ประเภทนิยายในปี 2015

ล่าสุด All the Light We Cannot See ก็กำลังจะได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นมินิซีรีส์ 4 ตอนจบ มีกำหนดเผยแพร่ต้นเดือนพฤศจิกายนใน Netflix (ผมได้เห็น teaser แล้ว น่าดูมากๆ ครับ)

ความน่าสนใจประการแรกของ All the Light We Cannot See คือการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ช่วงที่มีความเข้มข้น หม่นเศร้าสะเทือนอารมณ์ และความสูญเสียมากมายเหลือคณานับ ขณะเดียวกัน เรื่องเล่าเหล่านี้อาจถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับการถ่ายทอดเป็นหนังและนิยาย

All the Light We Cannot See ก็เป็นอีกครั้งที่เท่าไรแล้วก็ไม่ทราบ ที่นำพาผู้อ่านย้อนเวลากลับไปสัมผัสกับประสบการณ์ฝันร้ายของมนุษยชาติได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน

จุดเด่นต่อมาคือโครงสร้างในการเล่าเรื่อง ใจความหลักเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 1934 ถึง 1944 (ในบทสรุปตอนท้าย เรื่องราวยังครอบคลุมเวลาอีกนานหลายปีถัดจากนั้น) ซึ่งเล่าสลับไปมา 2 ชั้น ขั้นต้นคือการสลับเวลาระหว่างปัจจุบัน (ปี 1944) และอดีต (ไล่เรียงตั้งแต่ปี 1934 เรื่อยมา) อย่างต่อมาคือการเล่าสลับเรื่องราวของตัวเอก 2 คน ซึ่งอยู่ต่างสถานที่ เคียงคู่กันไป

ตัวเอกรายแรกเป็นเด็กหญิงตาบอดวัยหกขวบ (ในขณะเริ่มเรื่อง) ชาวฝรั่งเศส ชื่อมารี-ลอร์ เลอบลังก์ ส่วนอีกคนเป็นเด็กกำพร้าชาวเยอรมันชื่อแวร์เนอร์ เฟ็นนิก

โครงสร้างที่เล่าเรื่องสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และสลับไปมาระหว่างตัวเอกฝ่ายหญิงกับฝ่ายชาย บอกเล่าแต่ละบทด้วยเหตุการณ์สั้นๆ ไม่กี่หน้า ทำให้ช่วงเริ่มต้นเหมือนร้อยเรียงด้วยชิ้นส่วนเล็กๆ กระจัดกระจาย จับต้องไม่ติดว่าเส้นเรื่องคืออะไร และคาดเดาไม่ได้ว่าจะนำพาผู้อ่านไปพบเจอสิ่งใด

แต่ใช้เวลาไม่นานนัก ผู้อ่านก็จะคุ้นชินปรับอารมณ์ความรู้สึกให้คล้อยตามได้ หลังจากนั้นวิธีเล่าดังกล่าวก็กลายเป็นการสะกดตรึงให้ชวนติดตาม ในแบบที่เรียกว่า ‘หยิบอ่านแล้ววางไม่ลง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผูกปมเร้าความกระหายใคร่รู้ว่า เรื่องเล่าทั้งสองส่วนคืออดีตกับปัจจุบัน เส้นทางชีวิตของเธอกับเขา ซึ่งดำเนินไปเหมือนเส้นขนาน ทั้งหมดนี้จะมาบรรจบพบกันได้อย่างไร และเมื่อขมวดรวมเข้าหากันแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

แง่บวกต่อมา คือโครงสร้างเล่าสลับไปมานี้ส่งผลให้เกิดการเทียบเคียงอยู่ตลอดเวลา ส่วนที่เป็นอดีตกับปัจจุบันนั้นให้ภาพเปรียบระหว่างช่วงเวลาสงบสุขสั้นๆ ก่อนเกิดสงคราม กับความทุกข์ยากขัดสน ความพินาศย่อยยับ ความโหดร้ายทารุณ เมื่อสงครามอุบัติขึ้น

แต่การเทียบเคียงที่สำคัญคือเรื่องเล่า 2 ฝั่งของตัวละครคนละฝักฝ่าย ด้านหนึ่งเล่าชีวิตของผู้ถูกกระทำ ขณะที่อีกด้านเล่าเรื่องของฝ่ายรุกราน

ด้วยโครงสร้างการเล่าเรื่องเช่นนี้ All the Light We Cannot See จึงเป็นนิยายสะท้อนภาพเหตุการณ์ใหญ่มหึมา ผ่านเรื่องราวชีวิตของบุคคลเล็กๆ 2 คน จนทำให้เกิดภาพรวมวงกว้างได้อย่างครอบคลุม ละเอียดถี่ถ้วน และมีแง่มุมทางเนื้อหาหลากหลาย (สุดแท้แต่ผู้อ่านจะครุ่นคิดทำความเข้าใจลงลึกไปในแง่ใด)

ถัดจากโครงสร้างและการดำเนินเรื่องที่น่าทึ่งแล้ว ผมคิดว่าความโดดเด่นต่อมาคือ โทน บรรยากาศ และน้ำเสียงในการเล่า ซึ่งมีลีลากลิ่นอายเป็นบทกวี ผสมปนกับจินตนาการอ่อนโยนแบบวรรณกรรมเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นสิ่งต่างๆ ในจินตนาการของเด็กสาวตาบอด, เสียง ข้อความ บทเพลง จากเครื่องรับส่งวิทยุที่เด็กหนุ่มชาวเยอรมันได้ยิน, เพชรเม็ดงามล้ำค่าที่มีตำนานเรื่องเล่าน่ากลัวพ่วงกำกับ ฯลฯ

ระหว่างการอ่าน All the Light We Cannot See มีอยู่บ่อยครั้งที่ผมนึกไปถึงนิยายเรื่อง The Book Thief ของมาร์คัส ซูซาค ซึ่งเป็นเรื่องของตัวละครเด็กหญิงวัยใกล้เคียงกัน กับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 นิยายสองเรื่องนี้มีรายละเอียด เนื้อเรื่อง ประเด็นทางเนื้อหาผิดแผกแตกต่างกันเด่นชัด แต่โทนเรื่อง บรรยากาศ รวมถึงคุณภาพ สามารถนับพี่นับน้องเกี่ยวดองกันได้ไม่ขัดเขิน

พูดอีกอย่างก็คือ All the Light We Cannot See เป็นนิยายที่ใช้ฉากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไม่ได้เล่าในแบบสมจริง หรือนำเสนอข้อมูลความเป็นไปต่างๆ แบบสารคดี แต่เน้นไปยังการปะทะกันระหว่างโลกในความคิดและจินตนาการของตัวละครกับสภาพความเป็นจริงรอบๆ ข้างที่เกิดขึ้นของโลกกว้างภายนอก

ความขัดแย้งระหว่างโลกภายในกับโลกภายนอก ส่งผลให้การสะท้อนสาระสำคัญว่าด้วยความโหดร้ายของสงครามในนิยายเรื่องนี้เกิดเป็นอรรถรสแปลกใหม่ เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร มีลักษณะกึ่งจริงกึ่งฝัน ทั้งงดงาม หมองหม่น หดหู่ โหดร้ายทารุณ เจ็บปวด ขณะเดียวกันก็เปี่ยมไปด้วยความหวัง 

All the Light We Cannot See เปิดฉากเริ่มเรื่องในปี 1944 สงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้ยุติ ฝูงบินอเมริกัน 12 ลำ โจมตีทิ้งระเบิดทำลายแซง-เมโล เมืองติดทะเลทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส

ช่วงเวลาดังกล่าวในเมืองนั้น เด็กสาวตาบอดวัย 16 ปี มารี-ลอร์ เลอบลังก์ อยู่ตามลำพังบนชั้น 6 ของบ้านเลขที่ 4 ถนนโวโบเรล (และถัดลงไปไม่กี่ชั้นในบ้านหลังเดียวกัน ก็มีบางสิ่งบางอย่างเป็นภัยร้ายคุกคามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดกำลังตามไล่ล่าเธออยู่) ถัดไปห้าถนนทางทิศเหนือ พลทหารเยอรมันวัย 18 ปีชื่อแวร์เนอร์ เฟ็นนิก ติดอยู่ในชั้นใต้ดินของโรงแรมซึ่งพังพินาศอิฐปูนถล่ม ปิดกั้นตัดขาดจากเบื้องบน เหลือเสบียงจำกัด และได้รับบาดเจ็บจนหูข้างหนึ่งสูญเสียการได้ยิน ปราศจากวี่แววรอดทุกวิถีทาง

ฉากเริ่มเรื่องเล่าถึงสถานการณ์วิกฤตคับขันของตัวเอกทั้งคู่ จนถึงจุดที่ดูเหมือนสิ้นหวัง ค่อยตัดสลับไปสู่ปี 1934 เพื่อเล่าถึงความเป็นมาก่อนหน้านั้นของเธอกับเขา

เรื่องของมารี-ลอร์ เลอบลังก์ เริ่มขึ้นเมื่อเธออายุ 6 ขวบ กำลังใกล้จะตาบอดจากการเป็นต้อมาแต่กำเนิด และไม่สามารถรักษาให้หาย ถัดจากนั้นก็เป็นเรื่องของการเรียนรู้ ปรับตัว ใช้ชีวิตในโลกมืดด้วยการช่วยเหลือของพ่อ ซึ่งเป็นพนักงานพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งฝรั่งเศส จนกระทั่งมารี-ลอร์ สามารถเดินทางไปมาในละแวกใกล้บ้านได้ด้วยตนเอง และคุ้นเคยกับถนนหนทางบ้านเรือนร้านค้าต่างๆ ใกล้เคียงกับครั้งที่สายตายังมองเห็น

จนเมื่อพิษสงครามลุกลามมาถึงปารีส สองพ่อลูกจำเป็นต้องหลบหนีลี้ภัยไปยังแซง-เมโล เพื่อไปพำนักกับปู่ (ลุงของพ่อ) ซึ่งมีพฤติกรรมประหลาด เป็นแผลใจเรื้อรังจากประสบการณ์เลวร้ายในสงครามโลกครั้งที่ 1 เต็มไปด้วยความหวาดกลัว เห็นภาพหลอน จนกระทั่งไม่กล้าออกจากบ้าน และบ่อยครั้งอาการก็กำเริบหนักหนาสาหัสถึงขั้นต้องกักขังตนเองอยู่ในห้องด้วยความทุกข์ทรมาน

ที่แซง-เมโล เหตุการณ์ใหญ่ๆ ในชีวิตของมารี-ลอร์ ประกอบไปด้วยการปรับตัวให้เข้ากับบ้านหลังใหม่ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองภายใต้อำนาจยึดครองของเยอรมัน ซึ่งยากลำบากมากขึ้นตามลำดับ ความผูกพันระหว่างเด็กสาวกับปู่ หลังจากที่พ่อมีภารกิจลับต้องเดินทางกลับไปปารีสแล้วถูกเยอรมันจับตัว ไม่รู้ชะตากรรมว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร กระทั่งสิ้นสุดบรรจบลงเชื่อมต่อกับเหตุการณ์บทแรกของนิยาย

ในปี 1934 แวร์เนอร์ ฟินนิก วัย 8 ขวบและน้องสาวชื่อยุททา เติบโตมาในบ้านเด็กกำพร้า ที่ซ็อลเฟไรน์ เป็นนิคมเหมืองถ่านหินขนาดหมื่นไร่เศษนอกเมืองเอ็สเซิน ประเทศเยอรมนี ห่างจากปารีสไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 480 กิโลเมตร

ที่นั่นมีสภาพความเป็นอยู่ขัดสนเลวร้าย เด็กทุกคนถูกกำหนดชีวิตเอาไว้แน่นอน เมื่ออายุครบ 15 จะต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานเหมือง แต่แวร์เนอร์ค้นพบพรสวรรค์จากความชื่นชอบหลงใหลในเครื่องรับส่งวิทยุ กลายเป็นช่างซ่อมช่างประดิษฐ์ผู้เก่งกาจ จนกระทั่งได้โอกาสไปสอบคัดเลือกเข้าสถาบันการศึกษาทางการเมืองแห่งชาติ

แวร์เนอร์สอบผ่าน และก้าวเข้าสู่เบ้าหลอมใหม่ นอกเหนือจากการเรียนวิชาต่างๆ ที่จำเป็นแล้ว เขายังต้องพบการฝึกทหารที่เข้มงวดเอาเป็นเอาตาย คนอ่อนแอถูกกำจัดทิ้งด้วยการลาออกถอนตัวด้วยความสมัครใจ ไม่ก็ต้องเลิกรากลางคันเพราะชำรุดย่อยยับจนสิ้นสภาพความเป็นมนุษย์

แวร์เนอร์เอาตัวรอดผ่านพ้นปลอดภัย ได้รับการบรรจุเป็นพลทหาร เข้าสู่สมรภูมิ ใช้ความสามารถและความรู้ด้านอุปกรณ์วิทยุสื่อสาร ดักจับและทำลายสัญญาณของฝ่ายตรงข้าม คืบเคลื่อนไปตามสมรภูมิหลายแห่ง จนกระทั่งได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติภารกิจที่แซง-เมโล

เรื่องย่อที่ผมเล่ามาข้างต้นนั้น สรุปความคร่าวๆ ต้น กลาง ปลายของตัวนิยายเกือบตลอดทั้งหมด แต่ไม่มีผลบั่นทอนอรรถรสในการอ่านหรอกนะครับ เพราะสิ่งสำคัญจริงๆ อยู่ในรายละเอียดปลีกย่อยเต็มแน่นตลอดทั่วทั้งเรื่อง

All the Light We Cannot See เป็นนิยายที่เต็มไปด้วยความเข้มข้นน่าอ่าน ชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ ประกอบไปด้วยหลากรสหลากอารมณ์ มีลีลาการเขียนพรรณาฉากและความรู้สึกนึกคิดของตัวละครที่งดงาม คมคาย

ที่สำคัญคือ มันมีลักษณะท่วงทีของงานเขียนแบบฉบับนิยายเบสต์เซลเลอร์ เข้าถึงง่าย เต็มไปด้วยการปรุงแต่งประดิดประดอยจนจัดจ้าน (และแน่นอนว่าย่อมต้องมีท่วงทีลีลาในแบบที่เป็นสูตรสำเร็จอยู่ด้วย) แต่สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ งานชิ้นนี้เป็นนิยายประเภทเบสต์เซลเลอร์ที่เขียนดีและเขียนเก่ง จนกระทั่งเกิดความลึก สามารถพิจารณาแง่มุมทางเนื้อหาไปได้ต่างๆ นานา สุดแท้แต่พื้นเพและความเข้าใจของผู้อ่านแต่ละท่าน

หลักใหญ่ใจความที่ปรากฏชัดคือเนื้อหาพูดถึงความโหดร้าย ความน่าสะพรึงกลัว และโศกนาฏกรรมมากมายนับไม่ถ้วนอันเกิดจากสงคราม แต่ภายใต้เนื้อหาดังกล่าว ก็แฝงไปด้วยแง่มุมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโลกใบเล็กในจินตนาการที่ซ้อนซ่อนอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง, พลังอำนาจของความรู้, มรดกตกทอดจากอดีต, ความกล้าและความกลัว (ความเข้มแข็งและความอ่อนแอ), ความหลงใหลในวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ, ความเชื่อตำนานปรัมปรากับเรื่องเล่าลือ

ตามความเข้าใจของผม มี 2 ประเด็นที่เด่นชัดในนิยายเรื่องนี้

แง่มุมแรกสะท้อนผ่านเรื่องเล่าของมารี-ลอร์ ซึ่งต้องเผชิญกับอุปสรรคและสิ่งเลวร้ายต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ตาบอด พลัดพรากจากบ้านเกิดอันแสนสุข เข้าสู่ภาวะความเป็นอยู่ยากแค้นแสนเข็ญท่ามกลางสงคราม พ่อหายสาบสูญ

ตลอดเส้นทางอุดมด้วยขวากหนามดังกล่าว มารี-ลอร์ผ่านข้ามมาได้ด้วยสารพัดสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ของพ่อที่กลายมาเป็นตัวช่วยแทนการมองเห็น, นิยายอักษรเบรลล์ซึ่งเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับจินตนาการของเธอ, การเก็บสะสมเปลือกหอยและเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ, วิทยุและเครื่องส่งคลื่นสัญญาณของปู่ ฯลฯ

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ด้านหนึ่งก็เป็นองค์ประกอบ เป็นรายละเอียดในการดำเนินชีวิต แต่มากไปกว่านั้น ทั้งหมดหล่อหลอมปลูกฝังจนกลายเป็นทัศนคติ ความคิด ความเชื่อประจำตัวเธอ

อาจขยายความพรรณนาความคิดดังกล่าวของตัวละครได้ยืดยาว แต่เรียกสั้นๆ รวบรัดได้ว่าสิ่งนั้นคือความหวัง

ขณะที่เรื่องของมารี-ลอร์ ซึ่งเป็นเหยื่อ เป็นผู้ถูกกระทำ มุ่งสะท้อนไปยังประเด็นว่าด้วยความหวัง ตัวละครแวร์เนอร์ เฟ็นนิก ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามโดยสถานการณ์ขัดแย้งในสงคราม กลับเล่าอีกแง่มุม ซึ่งเริ่มต้นจากเด็กชายปกติธรรมดา เติบโตใช้ชีวิตมาท่ามกลางการขัดเกลาให้พร้อมสำหรับการทำศึกสงคราม ภารกิจของเขาไม่ได้ข้องแวะกับการเข่นฆ่าประหัตประหารโดยตรง แต่สิ่งต่างๆ ที่เขากระทำลงไป ฆ่าคนทางอ้อมนับชีวิตไม่ถ้วน

เรื่องของแวร์เนอร์ เฟ็นนิก นับตั้งแต่ตระเตรียมตัวออกจากบ้านเลี้ยงดูเด็กกำพร้าไปสู่โรงเรียนทหาร แล้วลงท้ายด้วยการรอนแรมไปตามสมรภูมิต่างๆ ขับเคลื่อนไปด้วยเหตุผลแรงจูงใจเบื้องต้นคือเพื่อให้ตนเองเป็นที่ยอมรับของครูฝึก กองทัพ เพื่อนร่วมรบ และผู้บังคับบัญชา

ตัวละครนี้ได้รับการตอกย้ำความคิดว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของชีวิตตนเอง ทุกคนต้องทำในสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแน่ชัด

แวร์เนอร์บรรลุเป้าหมาย แต่ก็แลกเปลี่ยนชดใช้ด้วยการทำสิ่งที่เหมือนทรยศหักหลังน้องสาว เพิกเฉยดูดายปล่อยให้เพื่อนรักถูกทำร้ายอย่างเหี้ยมโหดต่อหน้าต่อตา เป็นต้นเหตุให้เด็กหญิงวัยน่ารักคนหนึ่งถูกสังหารโหด

ตลอดเรื่องเล่าตั้งแต่ต้น แวร์เนอร์ไม่ได้เป็นผู้ร้ายที่น่ารังเกียจนะครับ ตรงข้ามกลับเป็นตัวละครที่ผู้อ่านรักและเอาใจช่วย เป็นตัวละครที่ทุกข์ทรมานกับความขัดแย้งและความรู้สึกผิดบาปในใจอยู่ทุกชั่วขณะ

ทั้งสองประเด็นคือความหวังและความรู้สึกผิดบาป (รวมถึงการสะสางคลี่คลายปมในใจนี้) เล่าเคียงคู่กันอยู่ตลอดเวลา และมาขมวดรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน พร้อมๆ กับเหตุการณ์เรื่องราวของตัวละครได้อย่างงดงามน่าประทับใจ

ผมอ่านเจอบทความหลายๆ ชิ้นที่พูดถึง All the Light We Cannot See มีการตีความสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในนิยาย แทบว่าจะหยิบจับอะไรขึ้นมาก็เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายได้ทั้งสิ้น (และมีน้ำหนักมากพอให้คิดไปได้เช่นนั้นจริงๆ)

ท่ามกลางสิ่งที่อาจเป็นสัญลักษณ์ได้เยอะแยะบานตะไทนั้น มี 2 สิ่งที่ผมประทับใจมากเป็นพิเศษ โดยไม่ได้คิดที่จะตีความอันใด แค่ชอบการมีอยู่และใส่เข้ามาในนิยาย นั่นคือ ‘ทะเลเพลิงและแสงจันทร์’

อย่างแรกนั้นเป็นความลับที่ต้องไปหาคำเฉลยกันเอาเองว่าคืออะไร และมีความหมายอย่างไร อย่างต่อมาเป็นชื่อบทเพลง ซึ่งเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกันดี นิยายเรื่องนี้ใช้ตัวอักษรผูกสร้างสถานการณ์ให้พูดถึงบทเพลงที่ว่าอยู่เนืองๆ จนทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงเพลงคลอประกอบไปด้วย

และกล่าวได้ว่า เป็นการได้ยินผ่านการอ่านที่ทำให้บทเพลงนี้ไพเราะซาบซึ้งกินใจเป็นที่สุด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save