fbpx

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วย new year resolution ป้ายเสื้อผ้า และเรื่องราวของคัลแลน-พี่จอง

สวัสดีปีใหม่ค่ะลุง ปีใหม่แล้วเห็นทุกคนต่างตั้ง new year resolution กันหมดเลย แพรวเองก็มี แต่ไม่เคยทำได้เลยสักปี ลุงมองอย่างไรกับการตั้ง new year resolution ที่ตั้งทุกปีแต่ไม่เคยทำได้สักทีเลยคะ – แพรว

ตอบคุณแพรว

สวัสดีปีใหม่ครับ 

บางทีเราอาจเคยตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีการตั้ง new year resolution หรือปณิธานปีใหม่ เพราะหากคิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีกว่าเก่า ทำไมจะต้องรอวาระ ทำไมต้องรอถึงปีใหม่ มนุษย์เรามันอ่อนแอขนาดนั้นเชียวหรือ

วารสาร Journal of Clinical Psychology ของอเมริกาเคยทำวิจัยไว้เกี่ยวกับการตั้งปณิธานปีใหม่ ผลการวิจัยบอกว่าจากบรรดาผู้ที่ตั้งปณิธานปีใหม่ มีอยู่ 46% ที่ทำได้ตามที่ตั้งใจ เขายังศึกษาบรรดาคนที่ตั้งปณิธานว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งวาระดิถีขึ้นปีใหม่ และพบว่ามีแค่ 4% ที่บรรลุได้ตามที่ตั้งใจ 

ดังนั้นอย่าได้ประมาทปณิธานปีใหม่เชียว เพราะผลต่างนั้นมากกว่าคนที่ไม่อาศัยวาระถึงสิบเท่า

ถามว่าตัวลุงเองเคยมีปณิธานปีใหม่อะไรกับเขาไหม ตอบว่าไม่เคย เพราะเป็นคนขี้เกียจ

มีคนเขียนคำแนะนำเพื่อผลักดันให้ปณิธานปีใหม่บรรลุผลไว้มากมาย คำแนะนำก็หนีไม่พ้น อย่าตั้งเป้าสูงเกินไป พอไม่เห็นวี่แววความสำเร็จแล้วมันจะท้อ – ตั้งเป้าให้เจาะจง อย่าพูดลอยๆ ว่าอยากให้น้ำหนักลด ให้บอกว่าไปเลยว่าอยากให้น้ำหนักลดเดือนละเท่านั้นเท่านี้กิโลกรัม – ให้เขียนเป้าหมายไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือให้แชร์ให้เพื่อนๆ หรือหาคนร่วมอุดมการณ์ เพื่อหากำลังใจ – ให้เตือนตัวเองบ่อยๆ เพราะปล่อยทิ้งไว้นานมันอาจลืม อะไรประมาณนี้

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราควรเริ่มจากการทบทวนตัวเอง ว่าที่ผ่านมามีอะไรบกพร่อง หรือยังไม่น่าพอใจบ้าง

สังเกตว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมามีปรากฎการณ์น่าสนใจ คือ โพสต์ประเภทรีวิวตนเองในปีที่ผ่านมา ว่าทำอะไร ไม่ได้ทำอะไรที่ตั้งใจ ภูมิใจ เสียใจ งงใจเรื่องอะไร ก็เขียนเล่าสู่กันฟัง ซึ่งก็เป็นก้าวแรกของการตั้งปณิธานปีใหม่ (เมื่อเราเห็นข้อบกพร่อง ย่อมนึกอยากแก้ไข จริงหรือไม่) ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่เราจะได้คุยโม้ให้ชาวบ้านฟังว่าฉันประสบความสำเร็จเรื่องอะไรบ้าง หรือยอมรับความพ่ายแพ้ได้อย่างแมนๆ ซึ่งค่อนข้างผิดวัตถุประสงค์ของการวิจารณ์ตัวเอง ซึ่งถ้าเจ้าตัวเขาอยากจะอวด แบบถ่อมๆ เราคงไปทำอะไรเขาไม่ได้)

ความจริงปณิธานปีใหม่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทาง History Channel เล่าว่ามนุษย์เราตั้งปณิธานปีใหม่มาตั้งแต่ครั้งบาบิโลน อาณาจักรโบราณเมื่อสี่พันปีก่อน ตั้งอยู่บริเวณเมโสโปเตเมีย ว่ากันว่าพอเข้าช่วงปีใหม่ (ซึ่งจะตกราวกลางเดือนมีนาคม) ชาวบาลิโลนจะมีธรรมเนียมชำระไม่ให้มีอะไรติดค้างก่อนจะเข้าสู่ปีใหม่ ยืมของยืมเงินใครมาก็รีบคืนเขาเสียก่อนจะข้ามปี นอกจากนั้นยังบนบานกับพระเจ้าไว้ว่าปีที่จะถึงนี้อยากได้อะไรบ้าง โดยเชื่อว่าพระเจ้าท่านจะให้พรสมปรารถนา 

อันนี้ลุงว่าน่าสนใจ เพราะชาวบาบิโลนมีตัวช่วยสองเด้ง มิติแรกคือพลังของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวาระใหม่ และพลังของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมันน่าจะเข้าทางคนไทยนะครับ

ถ้าเราดัดแปลงมาตั้งปณิธานปีใหม่ตามสไตล์ของชาวบาบิโลน คือควบ new year resolution กับการบนบานกับท้าวเวสสุวรรณหรือท่านใดก็ได้ที่เราเลื่อมใสศรัทธา เช่น ข้าพเจ้าขอตั้งปณิธานว่าจะเลิกเป็นคนปากเสีย หรือจะตั้งเป้าเงินออมให้ได้ปีละสองแสน ผลลัพธ์น่าจะออกมาน่าสนใจกว่าการตั้งปณิธานปีใหม่เฉยๆ นะ

คือถ้าเกิดทำไม่สำเร็จ นอกจากจะเสียความศรัทธาในตัวเองเอง เผลออาจโดนพระท่านลงโทษ มีความซวยสอดแทรกเข้ามาเป็นเดิมพัน

ปณิธานปีใหม่น่าจะเร้าใจกว่าเดิมมาก


ช่วงเดือนที่ผ่านมามีแต่คนพูดถึงช่องยูทูบ ‘คัลแลน-พี่จอง’ ที่เป็นคนเกาหลีพาเที่ยวไทย จนกรมอุทยานฯ จะทาบทามให้มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อชวนคนไทยเที่ยวไทย ลุงได้ดูหรือยังครับ คิดเห็นยังไงบ้าง – ก้อง

ตอบคุณก้อง

พิ่งมาตามดูได้เดือนสองเดือนนี้เหมือนกันครับ และพอมีข้อสรุปสามสี่ข้อได้คราวๆ ประมาณนี้

1. ช่องนี้น่ารักน่าดูเพราะทั้งสองหน้าตาดี แต่ไม่ได้หล่อมาก ขณะเดียวกันเราๆ ท่านๆ ก็รู้อยู่ว่าเสน่ห์ของคนเราไม่ได้อยู่แค่ที่หน้าตา ยังมีเรื่องอื่นอีก

2. ความน่ารักของคนต่างชาติพูดไทย เรื่องนี้เป็นความจริงในชีวิตเลย ต่างชาติที่พอพูดไทยได้นั้นชนะใจคนไทยตั้งแต่อ้าปากแล้ว อันนี้ยังวัดได้จากยอดวิวและความสนุกของคลิปที่แตกต่างกันลิบลับ ระหว่างเมื่อคัลแลนทำคลิปโดยพูดเกาหลี (มีซับไทย) ก็คงตั้งใจให้เกาหลีด้วยกันดู หรือยังอยู่ในช่วงลองผิดลองถูก เทียบกับยอดวิวเมื่อคัลแลนพูดไทยในคลิปแล้ว

3. เอ็นดูความใจร่มของคัลแลนและจอง ไม่ว่าจะต้องรอขึ้นพาราไกลดิ้งนานสองชั่วโมงโดยไม่มีคำอธิบายหรือขอโทษที่เกาะล้าน ไม่ว่าจะโดนแม่ค้าโก่งราคาสินค้าที่จังหวัดทางภาคใต้ ไม่ว่าจะถูกเลือกปฏิบัติด้วยนโยบาย ‘ราคาคนไทย vs ราคาต่างชาติ’ ตามทางเข้าอุทยานหรือสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป ทั้งสองไม่เคยบ่น ไม่เคยอารมณ์เสียให้เห็น แต่มองตาก็รู้แหละว่าคัลแลนและจองรู้นะว่าโดนเอาเปรียบ แต่แค่ไม่อยากพูดถึง ตรงนี้เป็นแง่มุมใสๆ ซึ่งหายากในยุคที่คนหันมาดังทางด่ากันทั้งเมือง

4. ความหวานระหว่างทั้งสองมันน่ารักดี เป็นห่วงเป็นใย ป้อนอาหาร เดินระวังนะ เดี๋ยวสะดุด โอเคหรือเปล่า เป็นไวบ์ที่ดีมากๆ ดูแล้วก็เผลอยิ้ม


ลุงครับ เลเบลเสื้อผ้านี่มันอยู่ตรงไหนก็ได้ใช่มั้ย เมื่อเร็วๆ นี้เห็นปกนิตยสารที่ส่งมาให้คุณป้า เป็นเชฟชื่อดัง ใส่เสื้อนอกแบรนด์ดัง ที่รู้เพราะเลเบลอยู่ที่แขนเสื้อด้านใกล้ข้อมือ แปลกตาดี – สุต

ตอบคุณสุต 

แปลกตา แต่ว่าไม่ค่อยดีนะครับ

เลเบลของเสื้อผ้าแต่ละอย่างจะมีที่มีทางของมันอยู่ เพื่อให้หาง่าย เป็นระเบียบนิดนึง เชิ้ตและทีเชิ้ตอยู่ด้านหลังคอเสื้อด้านใน ยกทรงอยู่ทรงอยู่ตรงปลายสายเกี่ยวด้านที่ไม่มีตะขอ กางเกงอยู่ตรงใต้แนวเอวลงมานิดเดียว เสื้อนอกถ้าไม่อยู่ที่เดียวกับเชิ้ต ก็จะอยู่ที่ใต้ขอบกระเป๋าด้านในข้างขวา ที่ทางของเลเบลมีไว้ให้ทั้งคนขายและคนใช้งานมองหาง่าย 

ถ้าคุณไปซื้อเสื้อนอก โดยเฉพาะร้านที่ขายหลายแบรนด์คละกัน คงเคยเห็นเลเบลที่ปลายแขนเสื้อ (ด้านซ้ายนะ ถ้าจำไม่ผิด) ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่าเขาจะเนาไว้หลวมๆ สามารถเลาะออกได้ง่าย ประโยชน์ของเลเบลปลายแขนเสื้อ (น่าจะแบบเดียวกับที่คุณไปเห็นในปกนิตยสารนั่นแหละ) คือ ไว้ให้คนขายจำแนกแบรนด์ได้สะดวก ส่วนใหญ่ถ้าเราซื้อเขาก็จะเลาะเลเบลนั้นออกให้ เพราะไม่มีใครสะเหล่อใส่เสื้อนอกให้แบรนด์อยู่หราด้านนอกแบบนั้นหรอกครับ


Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ในช่วงแรกๆ ลุงเฮม่าจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์ เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่หลังจากเขียนคอลัมน์นี้มาได้ปีสองปีก็เริ่มตาสว่าง และที่สำคัญคือ หลังจากโลกรอบตัวมีแต่กฎเกณฑ์และการใช้อำนาจ (ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ออกกฎ) ลุงเลยเปลี่ยนแนวมาเขียนตอบโดยเริ่มที่กฎเกณฑ์ แล้วตามด้วยวิธีหลอกล่อเล่นสนุกกับกฎนั้นๆ แทน  

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save