fbpx

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วยแต่งตัวไปงานแต่งคนเกาหลี และซอฟต์พาวเวอร์ไทย

ลุงเคยเห็นงานแต่งคนเกาหลีไหมคะ นัทสังเกตว่าเขาใส่ชุดง่ายๆ สบายๆ ไปร่วมงานกันเยอะมาก เพิ่งรู้ว่าเขามีธรรมเนียมไม่ใส่ชุดเกินหน้าเกินตาเจ้าสาว อยากขอคำแนะนำจากลุงเลยค่ะว่าถ้าหากไปร่วมงานแต่งแบบนี้ เราจะใส่ชุดอะไรที่สบายๆ ไม่เกินหน้าเกินตาเจ้าสาว แต่ก็ยังดูดีอยู่คะ – นัท

ตอบคุณนัท

บอกตามตรงว่าไม่เคยไปงานแต่งเกาหลีครับ และไม่ค่อยมีความรู้อะไรเกี่ยวกับประเทศนี้เท่าไหร่ สิ่งที่จะตอบคุณต่อไปนี้ ได้จากการค้นข้อมูลและจากวิธีคิดที่ตนพอมีอยู่

คำตอบแรกคือเรื่อง ‘การใส่ชุดง่ายๆ สบายๆ’ ของแขกที่ไปงาน เท่าที่ทราบ ไม่น่าจะถึงขั้น ‘เสื้อตัวกางเกงตัว’ แต่เหตุหลักๆ น่าจะเป็นเพราะงานส่วนใหญ่เขาจะจัดกันกลางแจ้ง (ถ้าหน้าหนาว ซึ่งมันหนาวมาก จึงค่อยเข้าอาคาร) และที่สำคัญคือ เขาจัดกันช่วงกลางวัน ไม่เหมือนงานไทยเราที่ชอบจัดงานเลี้ยงกันตอนค่ำ

แล้วจัดงานช่วงกลางวัน มันมาเกี่ยวกับการแต่งตัวยังไง

เกี่ยวเพราะ dress code (คำนี้คนสมัยใหม่ได้ยินคงแบะปาก) ของงานช่วงกลางวันนั้นมันสบายกว่าตอนกลางคืน คือจากชนิดจัดเต็ม ใส่ทักซิโด ใส่สูทผูกไท ชุดราตรีมีเครื่องเพชร ก็คลายลงเหลือแค่ ใส่เสื้อนอก ไม่ผูกไท กระโปรงหรือชุดสุภาพอย่างวันที่ไปทำงานแล้วต้องเข้าประชุมจริงจัง 

เขาใส่ชุดง่ายๆ สบายๆ เพราะมันเป็นตอนกลางวันครับ ซึ่งเป็นเรื่องของกาลเทศะอย่างหนึ่ง

วัฒนธรรมไทยเราดูเหมือนจะไม่ค่อยมีเรื่องกาลเทศะ ซึ่งเด็กของเราสมัยก่อนโตมากับการดูละคร ซึ่งตัวละครใส่ชุดราตรีไปออฟฟิศ แถมสวมเครื่องเพชร แต่งหน้าจัด หารู้ไม่ว่าในโลกของฝรั่งนั้น การใส่เครื่องเพชรหรืออะไรที่มันทอประกายวูบวาบ (ตั้งแต่เพชร อัญมณี ยันคริสตัล) นั้นเก็บไว้สำหรับงานกลางคืนเท่านั้น ถ้าใส่มางานกลางวัน ถือว่าไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่ก็ตั้งใจอยากให้คนมอง (แต่เขาอาจไม่ชมก็ได้)

แต่เราเห็นเป็นเรื่องธรรมดา คงเป็นเพราะไม่เคยมีใครมาบอกว่ามันไม่ใช่

ทว่าตอนนี้ราชวงค์คาเดเชียน และการแต่งตัวของนักร้องแรป กำลังแซะข้อตกลงเรื่องกาลเทศะนี้เข้าไปทุกวัน ผิดถูกอาจจะไม่มีแล้ว คุณไม่ต้องเชื่อผมเรื่องนี้ก็ได้นะครับ ที่เขียนไว้ตรงนี้ก็แค่อยากให้รู้ไว้

มันก็คงแล้วแต่งานด้วยมังครับ เพราะถ้าบ่าวสาวอยากต่างด้วยแบบประเพณี มีชุดแบบขุนนางและฮันบกชุดใหญ่ราวกับเป็นเจ้าหญิงอมิดาลาในสตาร์ วอร์ส เราจะใส่ยีนส์กับเสื้อยืดไปก็ดูจะผิดที่ผิดทาง งานแบบนี้ถ้าเป็นญาติสนิทมิตรสหายก็คงนัดกันใส่ชุดโบราณแบบงานไทย ส่วนแขกห่างๆ สุภาพไว้นั้นดีที่สุด

อยากจะแนะนำว่า ถ้าไม่อยากจะแต่งตัวมาก คำว่า ‘สุภาพ’ คือคีย์เวิร์ดครับ

ขอเรียนอีกครั้งว่า การไปงานไม่ใช่เรื่องของตัวเรา แต่เป็นโอกาสที่เราจะได้แต่งตัวออกไปนอกบ้านบ้าง 

คราวนี้ก็มาอีกขั้วของการแต่งตัวสำหรับงานกลางคืนของไทย ที่ว่าอย่าให้เกินหน้าบ่าวสาวนั้นถูกต้องแล้วครับ เพราะวันพิธีมงคลสมรสเป็นวันของเขา แค่แต่งสุภาพตามกาลเทศะ (ก็พอ) หรือ ผู้ชายก็สวมเสื้อนอกซะหน่อย ผู้หญิงสวมชุดราตรี แค่เลี่ยงสีขาว เพราะนั่นคือเป็นสีของเจ้าสาวคนเดียวเท่านั้น

เพราะนี่คืองานแต่งครับ…ไม่ใช่งานคู่

เห็นรัฐบาลกำลังผลักดันเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ มีเปิดชื่อคณะกรรมการออกมาแล้วด้วย (แต่เหมือนจะขาดสาขาการแสดงไป) เห็นคนพูดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์กันมาหลายปี ลุงคิดว่าอะไรที่สำคัญที่สุดในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ในยุคนี้บ้างครับ – กอล์ฟ

ตอบคุณกอล์ฟ

เราต้องรู้ก่อนว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร และมันต้องใช้อะไรบ้าง (ทั้งวิสัยทัศน์ เป้าหมาย เวลาและเงื่อนไขของบ้านเมืองซึ่งเอื้อต่อการเกิดซอฟต์พาวเวอร์)

คุณโจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) ผู้โด่งดัง นิยามซอฟต์พาวเวอร์ไว้ว่า “ความสามารถที่จะบังคับผู้อื่น ทำสิ่งที่เขาเองก็ไม่ต้องการมาก่อน” ฟังดูยังไม่ค่อยเข้ากับสิ่งที่เราคิดเมื่อคิดถึงซอฟต์พาวเวอร์สมัยนี้ แต่คุณไนย์แกคิดคำนี้ไว้ตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น และสมัยนั้น ‘อำนาจ’ ที่บังคับคนอื่นได้มันก็มีแต่อำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางการทหาร 

ฟังดูมันอาจจะงงๆ หน่อย แต่น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีคนพูดถึงอิทธิพลทางวัฒนธรรมซึ่งชาติเราผลิต แต่มีต่อคนชาติอื่น ก็ต้องให้เครดิตแก

หันไปดูประเทศซึ่งโคตรจะซอฟต์พาวเวอร์ อันได้แก่เกาหลี ปฏิเสธไม่ได้แล้ว เมื่อนักร้องวง BTS ขึ้นเวทีสหประชาชาติ (เปล่า ไม่ได้ไปจับไมค์ร้องเพลง) เพื่อกล่าวปราศรัยในงาน UN Climate Change Conference ส่วน BLACKPINK ขึ้นอีกเวทีของสหประชาชาติ เป็นเวที UN Assembly of Sustainable Development แปลว่าหัวหอกของวัฒนธรรมเกาหลีร่วมสมัยมีส่วนขับเคลื่อนโลกจริงๆ

วงดนตรีดังไม่ได้หยุดแค่เงิน ชื่อเสียง หรือความรักความนิยมจากทั้งโลกเท่านั้น  

งานวิจัยของนักวิชาการเกาหลี ชื่อ คิมมินซุง บอกว่าเกาหลีทำนโยบายแบรนด์ดิ้งแห่งชาติ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1997 (ราวสิบปีหลังหลุดจากอำนาจเผด็จการทหาร เข้าสู่ช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย) มีทั้งหมดสามเฟส เฟสแรกคือพัฒนาและสร้างละครโทรทัศน์ เฟสที่สองเน้น K-pop เฟสล่าสุดขายวัฒนธรรมเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ความงาม สินค้าต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเศรษฐกิจ และการทำให้เกาหลีเป็นประเทศประชาธิปไตยจริงๆ

(น่าสังเกตว่าเขาใช้เวลาย่อยวัฒนธรรมตัวเองอยู่เป็นสิบปี อะไรไม่เหมาะก็คัดออก จนได้ความเป็นสากลจริงๆ ระบำเกาหลีใส่หมวกต่อริบบิ้นยาวๆ แล้วคลอนหัวให้ริบบิ้นเป็นริ้วเป็นวง แบบที่เกาหลีชอบโชว์เมื่อสามสิบปีก่อน หายไปหมดแล้ว อาจเป็นวัฒนธรรมโบราณที่ต่อยอดยากในโลกปัจจุบัน)

สองเฟสแรกเน้นตลาดเอเชียก่อน เฟสสามจึงข้ามไปตลาดโลก

นัยว่าหลังหลุดจากการครอบงำของนักการเมืองเผด็จการแล้ว เกาหลีก็เปลี่ยนไปไม่น้อย ลุงเกาหลีนิสัยเสีย ปิตาธิปไตยโคตรๆ เย่อหยิ่ง กวนประสาท อย่างที่ลุงเคยเจอสมัยก่อน จนฝังใจเหม็นหน้าคนชาตินี้เมื่อสามสิบปีก่อน คงหมดรุ่นไปแล้ว มีคนรุ่นใหม่มาแทนที่ ซึ่งพูดจารู้เรื่องกว่าคนรุ่นก่อนมาก

นโยบายของรัฐใช้เงินใช้เวลา ใช้สติปัญญาความมานะอุตสาหะ กว่าจะสร้างวัฒนธรรมร่วมสมัยของชาติจนสามารถส่งออกได้ก็ใช้เวลากว่าสามสิบปี ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับเขา เพราะตลาดของเกาหลีเองนั้นน่าจะเล็กอยู่ ไม่เหมือนจีน

ในบรรยากาศของประชาธิปไตย ซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนต้องมาก่อน (ยกตัวอย่าง ทางเท้าดีเดินสบายต้องมาก่อนซุ้มซึ่งอยู่เหนือหัว) การทำงานศิลปะมันจะเบ่งบานได้ มันต้องมีบรรยากาศของเสรีภาพ และเศรษฐกิจที่เติบโต บ้านเมืองมีความหวังสำหรับทุกคนจริงๆ 

มาถึงตอนนี้แล้วนึกถึงที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกุลพูดไว้เมื่อวันก่อนๆ ทำนองว่า “ถ้ายังมีนักโทษการเมือง ก็ไม่ต้องไปคิดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์”

จบนะครับ

ส่วนเรื่องนักท่องเที่ยวจีนชอบเอาชุดนักเรียนไทยมาใส่ หรือนักเลงฮ่องกงสมัยก่อนแขวนพระเครื่อง หรือมีคนแกล้งแหย่ว่าเราควรเอาดีทางไสยศาสตร์ มันเป็นแค่ปรากฏการณ์เท่านั้น


Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ในช่วงแรกๆ ลุงเฮม่าจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์ เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่หลังจากเขียนคอลัมน์นี้มาได้ปีสองปีก็เริ่มตาสว่าง และที่สำคัญคือ หลังจากโลกรอบตัวมีแต่กฎเกณฑ์และการใช้อำนาจ (ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ออกกฎ) ลุงเลยเปลี่ยนแนวมาเขียนตอบโดยเริ่มที่กฎเกณฑ์ แล้วตามด้วยวิธีหลอกล่อเล่นสนุกกับกฎนั้นๆ แทน  

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save