fbpx

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วยเพลงคนจนมีสิทธิ์ไหมคะ และลุคของชาดา ไทยเศรษฐ์

ลุงได้ฟังเพลงคนจนมีสิทธิ์ไหมคะหรือยังคะ เห็นดาราคนหนึ่งออกมาบอกว่ามีคำหยาบ แต่เราคิดว่าเป็นเพลงสะท้อนชีวิตคนจนได้ดีมากๆ และยังมีความเป็นเฟมินิสต์มากๆ ด้วย ตอนท้ายเพลงนักร้องก็ร้องด้วยความมั่นใจและดูภูมิใจด้วย ลุงคิดว่ายังไงบ้างคะ – ตูน

ตอบคุณตูน

ชอบนะครับ สนุกดีแม้จะได้ฟังแค่ท่อนสั้นๆ ในคลิป (แต่คุณพระเอกละคร และนักอ่านข่าวสองคนนั้นที่ท็อปนิวส์คงไม่เห็นด้วย ฮ่ะๆๆ) เข้าใจว่าหมอลำเดือนเพ็ญ เด่นดวงไปเอาเพลง ‘คนจนมีสิทธิ์ไหมครับ’ ของมืด ไข่มุก มาร้องแปลงเล่นๆ ในคอนเสิร์ตเมื่อปี 2538 เวทีเล็กๆ บ้านๆ ยังนึกอยู่เลยว่ามีคลิปนี้รอดกาลเวลามาได้ยังไง 

เรื่องการที่เพลงพูดถึงการสะท้อนชีวิตคนจนมันอาจไม่มีอะไรใหม่ แต่ที่ใหม่และน่าสนใจคืออารมณ์แบบชาวบ้านที่ขอกระแทกหน้าเจ้านายสักทีสองที ธรรมดาแล้วคนจนในเพลงไทย จะไม่มีอารมณ์แบบนี้นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าไม่ตัดพ้อด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ ก็จะปลอบใจตัวเองว่า เออน่ะ จะว่าไปความจนมันก็ไม่เลวร้ายสักเท่าไหร่

ช่วงที่คุณเขียนมาถาม บังเอิญลุงอ่านเจอเรื่องที่คุณวัฒน์ วรรลยางกูร เขียนถึงเพลง ‘สัจจะคนจน’ ที่สุรพล สมบัติเจริญเขียนไว้ตั้งแต่ราวๆ ปี 2503 เนื้อเพลงท่อนติดหูร้องว่า “พี่มันเป็นคนจน รถยนต์ก็ไม่มีจะขี่ มีแต่เกวียนเทียมควายอย่างดี อยากเอาไปให้ขี่ ก็อายเหลือทน” 

แสดงความน้อยเนื้อต่ำใจตามแบบแผนของเพลงคนจน ซึ่งมีอยู่มากมาย

คนจนในเพลงนี่ ถ้าไม่พรรณนาความน้อยใจ ก็จะทำไก๋ไปหาความงามของความจนเลย อย่างที่เสี่ยแอ๊ด คาราบาว แผดเต็มเสียงว่า “คนจน จนแต่รวยน้ำใจ ใครว่ายากจน คนจนผู้ยิ่งใหญ่” (จากเพลง ‘คนจนผู้ยิ่งใหญ่’) 

หรือที่นุ้ยจ๋าเริ่มเพลง ‘บ้านน้องมันจน’ ว่า “ผู้หญิงตื่นแต่รุ่งสาง ยกขึ้นกรีดยางพี่รับได้หม้าย น้องบอกใครอย่างไม่อาย บ้านน้องมันจน” ประมาณว่าฉันจนแต่มีดีนะ รักจริง รักแล้วไม่ทิ้ง ทำกับข้าวก็เก่ง ชิมแล้วจะติดใจ…ก็ว่ากันไป

ก็มีแต่หมอลำเดือนเพ็ญนี่แหละที่ตัวผอมๆ ใส่เกาะอกนุ่งสั้นมาพร้อมบู้ท เรียกร้องคะขา (ร้องกับใครก็ได้ ที่ไม่ใช่คนจน) แล้วจบด้วยของใช้ส่วนตัวอย่างเต็มปากเต็มคำ (อย่างที่คุณตูนบอกว่าด้วยความมั่นใจและภูมิใจ – แต่ลุงขอเห็นต่างว่าเธอมีอาการขัดเขินอยู่นิดๆ ซึ่งก็น่ารักนะ)

อย่างที่บอก ‘คนจนล่ะมีสิทธิ์ไหมคะ’ อาจสะท้อนชีวิตคนจนบ้านอย่างคุณว่า แต่ลุงว่านัยไม่สำคัญเท่าเพลงมันสะท้อนอารมณ์กึ่งสิ้นหวัง (ถึงกับต้องพึ่งพาของในร่มผ้า) กึ่งแดกดัน แบบว่าร้องมันไปเล้ย

คือของมันต้องเสียงดังแบบนี้แหละครับ จึงจะมีคนได้ยิน

ถามลุงเรื่องการแต่งตัวของมท. คนใหม่ ชาดา ไทยเศรษฐ์ มีคนบอกว่าดูแล้วเหมือนจิ้งเหลน แต่ก็เคยได้ยินนักเขียนดังชมว่าเขาแต่งตัวดี ลุงคิดว่าไงครับ – กันต์

ตอบคุณกันต์ 

ดีใจที่มีคนถามถึงคุณชาดาเสียที และถามในประเด็นที่เกี่ยวกับการแต่งตัวเสียด้วย

ส่วนตัวลุงมองว่าแกเฟี้ยวอยู่นะ (คนไทยอายุหกสิบกว่าๆ ยังใส่ใจเรื่องการแต่งตัวขนาดนี้ ถือว่าไม่ธรรมดา) นี่ยังไม่เคยเจอตัวจริง แต่เท่าที่เคยเห็นจากในข่าว แกเป็นคนหนึ่งที่เหมือนจะเอ็นจอยกับการใส่สูท (ขณะที่ ส.ส. ส่วนใหญ่ใส่สูทแล้วดูทรมาน อึดอัด เหมือนโดนบังคับ ส่วน ส.ว. ขั้วขวาที่นัดกันใส่เสื้อทรงไทยๆ ผ้าฝ้าย เหมือนจะไปขึ้นรถทัวร์ไปงานตานก๋วยสลากนั้น ลุงขอไม่ออกความเห็น) เพื่อนลุงคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้บริหารแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายบอกเลยว่า คุณชาดานี่เป็นคนช่างแต่งตัวออกแนว Godfather

ซึ่งลุงเองว่าไม่น่าใช่ แต่ด้วยความที่แกยอมรับว่าตนเป็นผู้มีอิทธิพลในจังหวัดอุทัยธานี เป็นธรรมดาที่กลิ่นอายของ Godfather จะออกมาบ้าง ออกมาในท่าทางและกลิ่นอาย แต่เสื้อผ้านี่ไม่น่าจะใช่

แต่เรื่องคุณชาดาเป็นคนช่างแต่งตัวนั้น เห็นด้วยเลย

ลุงดอดไปไล่ดูเฟซบุ๊กของแก ไล่จากปัจจุบันไปจนถึงปลายปีที่แล้ว คือผ่านทั้งหน้าเทศกาลทั้งปีใหม่ สงกรานต์ ตรุษจีน  ฤดูกาลเลือกตั้ง การประชุมสภาฯ โดยมีงานอื่นแทรกเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่ง งานศพ งานบุญของทั้งพุทธ มุสลิม จีน สิ่งที่เห็นในกาลเทศะอันหลากหลายนี้คืออะไรที่ตรงข้ามกับคนอย่างผู้ว่าฯ ชัชชาติ ซึ่งจะไปไหนจะยังไงก็ขอสแล็กสีดำและเชิ้ตแขนสั้นสีขาวไว้ก่อน ซึ่งรับกับตัวท่านผู้ว่าฯ และเป็นเทรดมาร์กของคุณชัชชาติยิ่งกว่าตอนใส่เสื้อกีฬาแขนกุดหิ้วถุงแกงเสียอีก

ส่วนคุณชาดานั้น ดูแกสนุกสนานกับการแต่งตัวเสียเหลือเกิน อาจจะพอๆ กันหรือมากกว่าคุณพิธาเสียด้วยซ้ำ (เราพูดถึงการสนุกกับการแต่งตัวนะครับ คนละเรื่องกับการจะบอกว่าใครดูดีกว่ากัน)

วันเปิดสมัยประชุมสภา คุณชาดาใส่สูทสามชิ้น (หมายถึงมีเสื้อกั๊กเนื้อผ้าเดียวกันกับสูทสวมไว้ข้างใน) ดูเป็นงานเป็นการ ผมเรียบ (เข้าใจว่าน่าจะตัดโพนีเทลเล็กๆ ทิ้งไปแล้ว) ใส่สูทสีน้ำเงินเข้ม (ไม่ใช่สูทดำ ซึ่งตรงนี้ถูกใจลุงผู้รังเกียจสูทดำ) คัตติ้งเข้ารูป เนื้อผ้าดูดี แถมมีหัวเข็มขัดสีขาวเป็นโลโก้รูปหัวใจเด้งดึ๋งของพรรคภูมิใจไทย เข้าใจว่าเป็นอีนาเมล (enamel) และสั่งทำพิเศษ เพราะนอกจากแกแล้วก็ไม่เห็นมีใครใส่ไอ้หัวเข็มขัดนี่

ในเมื่อผู้ชายไทยบ้าใส่เข็มขัดหัวแบรนด์เนม แกเลยเอาโลโก้พรรคมาทำเป็นหัวเข็มขัดซะ ก็สนุกดีครับ สวยไม่สวยมันอีกเรื่อง

ในงานศพ นอกจากจะสวมเสื้อพระราชทานไหมสีดำ (สังเกตว่าเสื้อไหมของแกไม่ได้อบผ้าจนแข็งปั๋งอย่างที่พวกนายพลชอบใส่ และเข้ารูปนิดๆ) และไม่ได้มีชุดดำทั้งตัวอย่างเดียว บางงานคุณชาดาสวมกางเกงขาวเชิ้ตขาวแล้วสวมเสื้อนอกสีดำทับ

ถ้าไปเยี่ยมชาวบ้าน หรือไปเป็นประธานกิจกรรมระดับจังหวัดหรือระดับอำเภอ น่าจะเป็นโอกาสที่สนุกกับสีสันได้ คุณชาดาจะสวมกางเกงสีสวยๆ ลายเก๋ๆ ของแบรนด์เนม ทั้ง Gucci และ Kenzo ไม่ก็กางเกงสีชมพูอ่อนประมาณน้ำยาอุทัย ยังมีสีเขียวแฟนต้า สีเหลืองเทียนพรรษา หลายครั้งแกก็เลือกสีสนีกเกอร์เข้าชุดกัน ฤดูหาเสียง (ระดับคุณชาดานี่ยังต้องหาเสียงในพื้นที่ด้วยหรือครับ ลุงก็งงๆ อยู่) แกสะพายย่ามแดง เดิมท่อมๆ ไปตามถนนฝุ่น โดยมีกล้องตามถ่าย

เมื่อได้รับเชิญไปงานพิธีมงคลสมรส แกก็แต่งตัวประมาณ smart casual (คือเสื้อนอกไม่ต้องสีเดียวกับกางเกงและไม่ต้องผูกไท) ดูแล้วเข้าท่ากว่าผู้มีอิทธิพลระดับท้องถิ่นของจังหวัดอื่น ผู้ไม่เคยใส่ชุดอื่นนอกจากเสื้อบอลกางเกงขาสั้น (เห็นบ่อยมาก) ก็นับว่าคุณชาดายังรู้จักให้เกียรติงานที่เจ้าภาพอุตส่าห์จัด

สรุปแล้วรสนิยมของแกค่อนข้างฉูดฉาดนะครับ แต่ด้วยความที่แกรูปร่างผอมสูง บุคลิกมีความมั่นใจสูง ก็เลยรอด

ในบางอารมณ์แกก็จะจุดกล้องยาเส้น (ตัวใหญ่มาก ใหญ่เกินไป๊ น่าจะเป็นไปป์ทรงคาลาแบช (calabash) แบบเดียวกับไปป์ระดับไอคอนของเชอร์ล็อก โฮล์ม) พ่นควันปุ๋ยๆ แม้จะดูเกร็งไปนิดแบบแอบกลัวว่าจะไม่เท่ แต่ลุงก็ว่า เออ กล้าดี

รูปหนึ่งที่บอกเล่าความเอาใจใส่ในการแต่งตัวของคุณชาดาได้ดีมาก น่าจะเป็นภาพถ่ายครั้งไปแสวงบุญที่เมืองมักกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย (คุณชาดาเป็นแขกปาทาน) และเป็นเสื้อผ้าที่เรียบง่ายมาก มีแค่ผ้าสองชิ้น ไม่มีกระดุมไม่มีซิป คือเมื่อถึงจุดหนึ่งของการแสวงบุญ ผู้ชายทุกคนจะต้องเปลี่ยนมาเป็นชุด ‘เอียะห์รอม’ (เขาใช้คำว่า ‘ครอง’ ไม่ใช่สวมใส่นะ ชุดนี้คล้ายจีวรสีขาว) คุณชาดาครองเอียะห์รอมออกมาแล้วดูไม่ประดักประเดิด คือดูแล้วเหมือนครองผ้านี่มาตลอดชีวิตยังงี้

ถ้าจะถามว่า อย่างนี้เรียกว่าแต่งตัวเป็นมั้ย ถ้าคำตอบมาจากบัตเลอร์หรือโค้ชด้านเสื้อผ้า ก็น่าจะเป็นว่าคุณชาดายังเป๊ะไม่พอ สวมเสื้อนอกเบลเซอร์สองกระดุมแล้วยังกลัดกระดุมทุกเม็ดเหมือน รปภ. (คือถ้าปลดเม็ดล่าง กลัดเม็ดบน จะดูหล่อกว่ากันเยอะ) หรือใส่เสื้อกั๊กแต่ลืมปลดกระดุมเม็ดล่างสุดตามแบบแผน pocket square ก็ไม่ชอบพก คือเต็ม 10 น่าจะได้ 8 ส่วนลุงนั้นมองว่าแกสนุกก็ปล่อยเป็นเรื่องของแก นานๆ จะเจอบุคคลสาธารณะที่แต่งตัวเอง ชอบแต่งตัว มีไม่เป๊ะบ้างก็เป็นเรื่องของเขา

แต่ขออนุญาตไม่ให้คะแนนนะครับ

เรื่องหนึ่งที่นึกเสียดายแทนคือหนวดเรียวๆ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่าทรง pencil (เห็นแล้วนึกถึงจอห์น วอเตอร์ส (John Waters) เจ้าพ่อหนังคัลต์) ที่แกมาโกนทิ้งตอนมาเป็นรัฐมนตรี จะเพื่อโหงวเฮ้งหรือลดความเป็นเจ้าพ่อ หรืออะไรก็ตามแต่ มันทำให้หน้าแกจืด ไม่รับกับความฉูดฉาดของการแต่งตัว มันไม่ทันกัน 

แต่คิดว่าไม่ช้าก็คงคุ้น


Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ในช่วงแรกๆ ลุงเฮม่าจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์ เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่หลังจากเขียนคอลัมน์นี้มาได้ปีสองปีก็เริ่มตาสว่าง และที่สำคัญคือ หลังจากโลกรอบตัวมีแต่กฎเกณฑ์และการใช้อำนาจ (ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ออกกฎ) ลุงเลยเปลี่ยนแนวมาเขียนตอบโดยเริ่มที่กฎเกณฑ์ แล้วตามด้วยวิธีหลอกล่อเล่นสนุกกับกฎนั้นๆ แทน  

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save