fbpx

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วยชายดู Barbie แล้วทนไม่ได้ และสรรพนามบุรุษที่หนึ่งของสตรีดีๆ น่าใช้ มีไหม

สองเดือนที่ผ่านมา มีหนังที่คนพูดถึงเยอะ คือ Barbie กับ Oppenheimer แต่ดูเหมือนว่าหนังที่แบ่งเป็นสองเสียงอย่างชัดเจนคือ Barbie โดยเฉพาะความไม่พอใจของผู้ชายบางคนเกี่ยวกับเนื้อหาใน Barbie ลุงได้ดูเรื่องนี้หรือยังคะ คิดเห็นยังไงบ้าง – ฝน

ตอบคุณฝน

เคยได้ยินแต่เรื่องที่หนุ่มสาวฝรั่งไปดูหนัง กลับมาแล้วทะเลาะกัน คิดว่าผู้ชายคงไม่พอใจ เพราะปิตาธิปไตยถูกลบหลู่ในหนัง ตั้งแต่พวกเคนๆ ไม่มีปากมีเสียงกับเรื่องใดๆ โดยต้องงอมืองอเท้า ปล่อยให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้ปกครองอย่างค่อนข้างจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผู้ชายฝรั่งที่ยังไม่ได้ woke ส่วนใหญ่จะเป็นปิตาบุรุษแบบทื่อๆ ทื่อกว่าผู้ชายไทยเยอะ

หนัง Barbie พยายามวิจารณ์ปิตาธิปไตยอยู่ตลอดเรื่อง แต่ไม่ได้วิจารณ์อย่างแสบเหมือนตอนเราดู (หรืออ่าน) A Handmaid’s Tale เขาวิจารณ์อย่างหนังเทพนิยาย วิจารณ์ไปตามตำรา ทุกเรื่องที่พูดคือเรื่องที่เราก็รู้อยู่แล้ว และการดูหนังไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเรารู้อะไรเพิ่มขึ้นมา สิ่งที่ชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้คือคุณมาร์โก ร็อบบี ซึ่งก็อย่างว่าแหละ มันคงไม่มีใครในโลกจะสวยดั่ง ‘บาร์บี้’ เท่าเธออีกแล้ว สิ่งที่ชอบอันดับสองคือกล้ามของเคน หรือไรอัน กอสลิง (ที่ปั้นออกมาเหมือนกล้ามตุ๊กตาพลาสติกเป๊ะๆ จะเป็นซีจีหรือปั้นเองอย่างที่ให้สัมภาษณ์ก็ตามแต่) 

#ลุงเป็นคนผิวเผิน

ลุงว่ามันผิดตั้งแต่คุณผู้ชายคนนั้นไปดูหนังเรื่องนี้กับแฟนแล้วล่ะ 

ขณะที่คน (หรือจะมีแต่สื่อก็ไม่แน่ใจ) ฮือฮากับฉากโป๊ควบภัควัตคีตาใน Oppenhiemer ลุงกลับสนใจคุณภรรยา ซึ่งแสดงโดยเอมิลี บลันต์ มากกว่า (เวลาเธอเหยียดตอนเป็นเอมิลี ใน A Devil Wears Prada นั้นเหยียดขำ แต่ในเรื่องนี้คือเหยียดแรง) เด็ดขาดมากตอนที่เธอชักมือกลับ ไม่ยอมจับมือเพื่อนสามีที่มันทรยศให้การใส่ร้าย สีหน้าดูแล้วอยากปรบมือสนั่นโรง แต่ยั้งมือไว้ได้

ต้องแบบนี้สิครับ จึงจะเป็นพลังหญิง

สวัสดีค่ะลุง อยากมาชวนคุยเรื่องสรรพนามแทนตัวค่ะ พอดีเห็นในทวิตเตอร์เขาคุยกันว่า ผู้หญิงเวลาเรียกแทนตัวเองกับคนอายุมากกว่าว่าอะไรดี เพราะไม่อยากใช้คำว่า ‘หนู’ (อันนี้เข้าใจเขาเลยค่ะ ส่วนตัวรู้สึกว่าคำนี้ดูลดทอนความน่าเชื่อถือของตัวเองในบางครั้ง) แต่พอจะใช้คำว่า ‘ดิฉัน’ ก็ดูถือตัวเกินไป ทำให้คิดว่าสังคมไทยมีสรรพนามที่บอกลำดับขั้นเยอะเหมือนกันนะคะ และผู้หญิงก็ดูลำบากในการเลือกใช้คำจริงๆ – แก้ม

สวัสดีครับคุณแก้ม

ก่อนอื่นขอบอกว่าความรุ่มรวยของการใช้สรรพนามในภาษาไทยนี่น่าสนใจมาก ถึงคราวที่ต้องแปลภาษาอังกฤษ อย่างเวลาแปลนิยาย แล้วมีคำว่า f_ck อยู่ด้วย อย่าง “Who the f_ck are you?” ลุงจะไม่แปลคำว่า f_ck ตรงๆ แต่จะถอดระดับของอารมณ์ออกมา (อารมณ์เสีย) แล้วเอามาใช้ในบริบทของภาษาไทย โดยมีสรรพนามเป็นเครื่องมือ โดยแปลไปว่า “แล้วมึงเป็นใคร” 

สรรพนามไม่ใช่เรื่องสัพเพเหระ ใช้สรรพนามให้ถูก มันแบกมาทั้งความหมายและนัยยะอย่างครบ

ขอยกข้อความบางส่วนของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากบทความ ‘สรรพนามบุรุษที่สอง’ ในมติชนสุดสัปดาห์ปี 2551 ซึ่งเคยพูดถึงเรื่องอำนาจของสรรพนามบุรุษที่สองในลำดับขั้นของสังคมไทย 

“เด็กเสิร์ฟผู้หญิงในร้านอาหารทุกคนต่างเป็น “น้อง” เหมือนกันหมด” …คนในสถานะอย่างนั้นย่อมเป็น “เด็ก (เสิร์ฟ)” เสมออยู่แล้ว ไม่ต่างจาก “บ๋อย” หรือ boy ที่ฝรั่งใช้เรียกคนดำในสถานะอย่างนั้นมาก่อน

“ความไม่เท่าเทียมนั้นฝังลึกอยู่ในสำนึกความเป็นไทย สะท้อนออกมาในสรรพนามที่ใช้ในการสนทนากัน หากจำเป็นต้องพบคนแปลกหน้า สิ่งแรกที่ต้องทำคือหยั่งให้ได้ในเวลาอันรวดเร็วว่าเขาอยู่ในสถานภาพใด เพื่อต่างฝ่ายต่างสามารถใช้สรรพนามบุรุษที่สองได้ถูกต้อง

“ครับ ผมกำลังนึกถึงเจ๊กก่อน ภาษาจีนเป็นภาษาที่แปรผันตามสถานภาพทางสังคมระหว่างคู่สนทนาไม่สู้จะมากนัก เมื่อคนชั้นกลางกรุงเทพฯ เรียกรถเจ๊กหรือรถลากที่สารถีเป็นจีน ต่ำต้อยห่างเหินจากผู้โดยสารซึ่งนุ่งผ้านุ่งเนื้อดีและเสื้อราชปะแตน แต่เจ๊กลากรถก็เรียกผู้โดยสารว่า “ลื้อ” เหมือนที่ใช้กับเจ๊กลากรถคันอื่น

“ผมคิดว่า “ลื้อ” เป็นสรรพนามบุรุษที่สองคำแรกที่แปร่งหูคนไทยที่สุด เพราะมันใช้กับคนสูงสุดไปจนถึงคนต่ำสุดได้เหมือนกัน มันแปร่งหูเท่ากับคำว่า “ฉัน-ท่าน” ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นำเข้ามาสู่ภาษาไทย ในฐานะสรรพนามที่ไม่แปรผันไปตามสถานภาพของผู้พูด-ผู้ฟังเลย และกลายเป็นเรื่องที่ปัญญาชนไทยสมัยหลังถากถางเยาะเย้ยหรือเอามาเล่นตลก แต่มันเป็นความพยายามที่น่าสนใจยิ่งอันหนึ่งของผู้นำคณะราษฎรในการเปลี่ยนประเทศไทย

“คงไม่มีผู้นำคณะราษฎรคนใดที่ใส่ใจกับอำนาจทางวัฒนธรรมของระบอบเก่ายิ่งไปกว่าท่านจอมพล ป….”

คุณแก้มถามมาเรื่องสรรพนามบุรุษที่หนึ่งของผู้หญิง แต่สิ่งที่อาจารย์นิธิมองนี้นัยว่ายังไงก็เข้าประเด็น ตั้งแต่เรื่องผู้ชายซึ่งอยู่บนระนาบของอำนาจที่เหนือกว่า สามารถใช้คู่สรรพนาม ผม-คุณ ได้อย่างไม่ประดักกระเดิก ความ ‘รุ่มรวย’ ของการใช้สรรพนามในภาษาไทย ซึ่งภาษาอื่นก็น่าจะมีน้อยที่จะเทียบชั้น (ถ้าไม่จริง ใครรู้ก็ช่วยบอกกล่าวด้วยครับ)

สรรพนามบุรุษที่หนึ่งของผู้ชาย นับได้หกเจ็ดคำ (ผม กระผม เกล้าฯ เกล้ากระหม่อม กัน อั๊ว อาตมา ฯลฯ)

สรรพนามบุรุษที่หนึ่งของผู้หญิง นับได้สาม-สี่คำ (ดิฉัน เค้า หนู เกล้ากระหม่อมฉัน ฯลฯ)

สรรพนามบุรุษที่หนึ่งซึ่งใช้ได้ทั้งชายและหญิงก็มี (ฉัน เรา ข้าพเจ้า กู ข้าพระพุทธเจ้า หนู)

เรื่องสรรพนามนี่ดูเหมือนบรรพบุรุษจะคิดไว้ถี่ถ้วน ละเอียดลออ เรามีกระทั่งสรรพนามบุรุษที่หนึ่งไว้ใช้เวลาที่พูดกับเทพารักษ์เสียด้วยซ้ำ (คำว่า ลูกช้าง) แต่น่าแปลกที่พอมาถึงสรรพนามบุรุษที่หนึ่งซึ่งผู้หญิงใช้แล้วเข้าปาก และรู้สึกว่าเท่าเทียมกัน รู้สึกเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่เบี้ยล่าง กลับไม่มีเลย

มันก็คงเป็นเพราะภาษาไทยตอนนี้ไม่ได้มีไว้ใช้เพื่อสะท้อนโครงสร้างที่เท่าเทียม

มิน่าเวลาเดินตามเด็กๆ เขาคุยกัน เขาจึงใช้คู่สรรพนาม “มึง-กู” ตลอด มันเป็นอะไรที่มากกว่าความคันปากอยากพูดหยาบตามประสาวัยรุ่นนะ เขาคงแอบคิดว่าอยากจะออกจากขนบและโครงสร้างแบบนี้

หรือลุงคิดมากไปเองเนี่ย


Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ในช่วงแรกๆ ลุงเฮม่าจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์ เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่หลังจากเขียนคอลัมน์นี้มาได้ปีสองปีก็เริ่มตาสว่าง และที่สำคัญคือ หลังจากโลกรอบตัวมีแต่กฎเกณฑ์และการใช้อำนาจ (ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ออกกฎ) ลุงเลยเปลี่ยนแนวมาเขียนตอบโดยเริ่มที่กฎเกณฑ์ แล้วตามด้วยวิธีหลอกล่อเล่นสนุกกับกฎนั้นๆ แทน  

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save