fbpx

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วยจากแฟชั่น Y2K สู่รัตตะตะต่า, จากน้ำตามาหาเนื้อเพลง ถูกผิดมีสิทธิ์แค่ไหน

ลุงคะ เห็นเขาฮิตแฟชั่น Y2K กันเต็มเลย มันมาได้ยังไงกันคะ ทำไมอยู่แฟชั่นในอดีตก็ดูเก๋ๆ ขึ้นมาในยุคนี้ – กัส

ตอบคุณกัส

เนื่องจากไม่ค่อยสันทัดเรื่องแฟชั่นปัจจุบัน จึงต้องค้นดู ระหว่างที่หาข้อมูลไปเรื่อยเปื่อยเกี่ยวกับแฟชั่น Y2K นั้น ก็มีแต่คำอย่าง Missy Eliott, Paris Hilton, Rihanna, เอ็มวีเพลง Scream ของพี่น้อง Michael และ Janet Jackson ไปจนถึง The Matrix Reloaded (ปี 2003) ผุดขึ้นมามากมาย เป็นตัวอย่างที่มาของแฟชั่น Y2K

คนเหล่านั้นดังนะ แต่ยังไงก็ยังรู้สึกว่าไกลตัว

เมื่ออ่านรายละเอียดเกี่ยวกับสไตล์ของ Y2K ได้แก่ เสื้อยืดตัวเล็กติ้ว เสื้อสายเดี่ยวเบอร์เล็กเอวลอย ยีนส์หลวมๆ กระโปรงยีนส์สั้นมากๆ สีสันจัดจ้าน ถ้าออริจินัลจะมีเนื้อผ้าสีเงินแวววาวเข้ามาบ้าง มีชุดวอร์มกำมะหยี่ รองเท้าส้นตึกส้นหนา ฯลฯ ลุงยังทันความเครียดด้วยข่าวลือซึ่งดำเนินไปตลอดครึ่งหลังของปี 1999 ว่าคอมพ์ทั้งโลกจะล่มเมื่อขึ้นปี 2000 เนื่องจากคนที่เขียนโปรแกรมไม่ได้ลงปีเผื่อไว้ (ดูเอาเถอะ) สมัยนั้นฮาร์ดไดรฟ์ขายดีครับ (Y2K คือชื่อเล่นของปี 2000โดยที่ K = 1,000 อย่างกิโลกรัมนะ ไม่ใช่เลขโรมันอย่างที่บางคนเข้าใจ)

นึกย้อนไปถึงเมืองไทยสมัยนั้น ลุงนึกไม่ออกจริงๆ ว่าเห็นใครแต่งตัวแฟชั่น Y2K ตามถนนบ้าง เมืองไทยจะมีก็แต่วงไทรอัมพ์คิงดอม (โบกับจ๊อยส์) ซึ่งมีผลงานในช่วงราวๆ ปี 2000 พอดี ทั้งสองแต่งตัวอย่างที่นับเป็นแฟชั่น Y2K นี่แหละ

แต่การแต่งตัวแบบนั้นเป็นภาพพจน์ของศิลปินครับ ไม่ค่อยใกล้เคียงกับผู้คนบนท้องถนนสักเท่าไหร่ แม้วิกิฯ จะบอกว่าพวกเธอเป็นต้นแบบของการแต่งกายของเด็กสยาม แต่ในฐานะที่เคยใช้เวลาอยู่แถวนั้นทุกวันในช่วงนั้น บอกตามตรงว่าไม่เห็นเด็กสยามสมัยนั้นแต่งแบบโบจ๊อยส์เป็นจำนวนมากพอจะเรียกได้ว่าเป็นเทรนด์

ต่อคำถามของคุณ แฟชั่นในอดีตมันย้อนกลับมารีไซเคิลอยู่แบบนี้แหละครับ คอนเทนต์แฟชั่นต่างประเทศชอบอ้างถึงสไตล์สมัยก่อน ซึ่งบางทีก็กลับมามีบทบาทในสมัยนี้ เขามีกระทั่ง ‘กฎ 20 ปี’ ซึ่งบอกว่าแฟชั่นจะหวนกลับมาสู่ความนิยมหลังจากที่มันเคยดังไปแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน

แล้วนี่ก็ 20 ปีพอดีหลัง Y2K นับเป็นวาระดิถีสำหรับแฟชั่น Y2K 

ต่อคำถามที่ว่า ทำไมอยู่ๆ แฟชั่น Y2K จึงกลับมา ลุงก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน ที่ทำได้ก็แค่ชี้ให้เห็นเงื่อนไขเกื้อหนุน ซึ่งเงื่อนไขหนึ่งคือวง BLACKPINK ซึ่งน่าจะดังที่สุดในเวลานี้

ดูการแต่งตัวในเอ็มวีและคอนเสิร์ตของพวกน้องๆ ทั้งสี่คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ต้องออกมากระโดดโลดเต้น การแต่งตัวนะครับ สายเดี่ยว กางเกงหลวม กระโปรงสั้น แจ็กเกตเอวลอย สีสันสดใส บางครั้งก็แอบมีสีเงิน 

ลุงไม่ได้บอกว่าวง BLACKPINK แต่ผู้เดียวที่นำแฟชั่น Y2K กลับมา (คือว่าจะกลับมายังไงแค่ไหน ก็ต้องผ่านการตีความของชาวเจ็นซีอยู่ดี) แค่บอกว่าลุคของ BLACKPINK เป็นแค่ตรายางที่อนุมัติแฟชั่น Y2K ว่ามันใช้ได้

เท่านั้นเอง

วันก่อนนั่งฟังเพลงอกหักกับเพื่อนค่ะลุง (สำหรับคนโสดก็ต้องนั่งฟังเพลงอกหักในเดือนแห่งความรักนี่แหละค่ะ555555) ศิลปินหลายคนเขียนเพลงออกมาได้สื่ออารมณ์มากๆ คำคมคายสุดๆ เขาคงเจ็บปวดมากจริงๆ ถึงถ่ายทอดความรู้สึกแบบนี้ออกมาได้ ศิลปินบางคนนี่เรารู้สตอรีชีวิตรักเขาด้วยนะคะ ทำให้จินตนาการถึงความเจ็บปวดของเขาเวลาอยู่กับอดีตคนรักได้เลย เคยได้ยินมาว่าแฟนคลับบางคนอินมากจนเคยตามไปด่าอดีตคนรักของศิลปินที่ชอบด้วย พอนึกถึงตรงนี้ก็สงสัยขึ้นมาทันทีเลยค่ะ เวลาคนเราเอาเรื่องในอดีตที่เกิดกับคนใกล้ชิดมาเล่าในที่สาธารณะแบบนี้ เราควรมีเส้นหรือเกณฑ์อะไรในการเล่าไหม หรือเราควรต้องไปขออนุญาตหรือบอกอีกคนหรือเปล่า ซึ่งหนูไม่แน่ใจอย่างหลังนะคะ เราจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องบอกในเมื่อเราก็เป็นเจ้าของเรื่องนั้นเหมือนกัน ลุงคิดเห็นกับเรื่องนี้ยังไงบ้างคะ – ป๊อป

ตอบคุณป๊อป

เรื่องแฟนคลับตามด่านี่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ยังไงเราก็เป็นคนอื่นนะ เหมือนซีนกากๆ ตามซีรีส์เกาหลี

สำหรับมุมมองของศิลปินตอนที่แต่งเพลงนั้น ‘อีกคน’ ได้กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘แรงบันดาลใจ’ ไปเสียแล้ว

การเขียนและร้องเพลงอกหัก นอกจากจะเป็นวิธีทุเลาและชำระความรู้สึกเจ็บปวดของศิลปินแล้ว ยังเป็นการสื่อถึงแฟนเพลง (อย่างคุณ) ด้วยบทเพลงของความรู้สึกที่ตรงใจ ได้อารมณ์ว่า – เพลงนี้เหมือนกับที่เรารู้สึกเลย – อะไรทำนองนั้น ยิ่งมานั่งฟังกับเพื่อนในวันแห่งความรักนี่ยิ่งได้อารมณ์ ☺

ในบรรดาศิลปินประเภทที่ไม่ลังเลที่จะเอาเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นกับตัวมาใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนเพลง ตัวแม่ในสมัยนี้คงเป็นเทเลอร์ สวิฟต์ ถ้าเป็นสมัยลุง คงเป็นคาร์ลี ไซมอน (Carly Simon) เจ้าของเพลง You are So Vain เพลงฮิตเมื่อปี 1971 ซึ่งมีท่อนฮุกว่า 

You’re so vain (you’re so vain)
I bet you think this song is about you
Don’t you don’t you?

สมัยนั้นคนฟังจะสงสัยว่าเพลงนี้พูดถึงเพื่อนชายของคาร์ลีคนไหนกันแน่ จะเป็นมิก แจกเกอร์ (Mick Jagger) แห่งวงเดอะโรลลิงสโตน หรือวอเรน เบตตี (Warren Beatty) ดาราชายที่ฮอตที่สุดแห่งยุค และประเด็นนี้ช่วยสร้างสีสันให้เพลงได้อย่างยอดเยี่ยม

เท่าที่ทราบคาร์ลี ไซมอนไม่เคยบอกกล่าววอร์เรน เบตตีว่าจะใช้เขาเป็นแรงบันดาลใจเพื่อเขียนเพลงแขวะผู้ชาย แถมกลายเป็นเพลงดัง เธอแค่มาบอกทีหลังว่าเพลงนี้เกี่ยวกับผู้ชายหลายคน หนึ่งในนั้นคือวอร์เรน ผู้ชายซึ่งคิดว่าตัวเองหล่อจน (เขาคิดว่า) หญิงทุกคนต้องมาสยบแทบเท้า

เวอร์ชั่นปัจจุบันของนักร้องนักแต่งเพลงอย่างคาร์ลี ไซมอน คงหนีไม่พ้นเทย์เลอร์ สวิฟต์   

ความที่ผู้ชายในชีวิตของเทย์เลอร์ สวิฟต์มีมากมาย (จนชื่อเธอมีความหมายใหม่ในภาษาไทย) และเธอก็เขียนเพลงเกี่ยวกับแฟนเก่าไว้เยอะ บางเพลงก็เขียนถึงอย่างตรงไปตรงมาในทุกรายละเอียด หลายเพลงก็แค่ยืมความรู้สึกตอนอกหักมาจินตนาการต่อแล้วเขียนออกมาเป็นเพลง (ซึ่งคนก็เอาไปคิดต่อเป็นตุเป็นตะ) เพลงเหล่านี้เป็นเพลงชาติของคนอกหัก ฟังแล้วถอนใจน้ำตาซึม เรียกว่าถึงจะเศร้าเราก็มีเพลงเป็นเพื่อน

ลุงว่าถ้านักร้องนักแต่งเพลงต้องขอบอกกล่าวผู้เป็น ‘แรงบันดาลใจ’ ว่าฉันจะเอาเรื่องเราไปเขียนเพลงนะ ในแง่ของการสร้างสรรค์แล้วมันคงไปไหนไม่ได้ไกล 

ยิ่งถ้า ‘แรงบันดาลใจ’ คนนั้นทำเราเจ็บจริง ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปสื่อสารอะไรกับเขา

เก็บการบอกกล่าวกันอย่างที่คุณว่า ปล่อยให้เป็นเรื่องของคนใจแข็ง และเหตุผลแข็งแรงกว่าความรู้สึกดีกว่า

บอกกล่าวแล้วแต่งเพลง จะว่าไปก็น่าสนใจ เพราะไม่รู้จะได้เพลงเศร้าแบบไหนออกมา

อีกเรื่องซึ่งอาจไม่เกี่ยวกันเท่าไหร่ คือลุงชอบกรอบใหม่ของ ‘วันแห่งความรัก’ ที่ไม่ได้เป็นพื้นที่สงวนของคนมีคู่ แต่ขยายออกมาสู่คนยังโสด เห็นบางร้านเปิดเวทีให้คนโสดมาเจอกัน เผื่อจะมีความรักติดมือกลับบ้านเป็นสิ่งปลอบใจ


Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ในช่วงแรกๆ ลุงเฮม่าจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์ เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่หลังจากเขียนคอลัมน์นี้มาได้ปีสองปีก็เริ่มตาสว่าง และที่สำคัญคือ หลังจากโลกรอบตัวมีแต่กฎเกณฑ์และการใช้อำนาจ (ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ออกกฎ) ลุงเลยเปลี่ยนแนวมาเขียนตอบโดยเริ่มที่กฎเกณฑ์ แล้วตามด้วยวิธีหลอกล่อเล่นสนุกกับกฎนั้นๆ แทน  

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

Life & Culture

8 Sep 2021

คนกระโปกแห่งยุคสมัย 199x ทำไมเด็กเจนวายไม่ยอมโต

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงสาเหตุสำคัญว่าเพราะอะไร ‘ชาวมิลเลนเนียลส์’ ถึงไม่อาจเติบโตได้อย่างที่ใจหวัง

พิมพ์ชนก พุกสุข

8 Sep 2021

Life & Culture

24 Dec 2018

‘สิงโตนอกคอก’ กับมุมมองต่อความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล เขียนถึงเรื่องสั้น ‘สิงโตนอกคอก’ ของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ที่ตั้งคำถามกับประเด็นจริยธรรม เชื่อมโยงกับมุมมองเรื่องความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล

24 Dec 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save