fbpx

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วยศิลปินแสดงจุดยืนทางการเมือง แชตส่วนตัว และใส่ขาสั้นห้ามเข้าโรงแรมห้าดาว

มีศิลปินเกาหลีที่หนูชอบมากๆ เขามีความคิดเห็นเรื่องการเมืองตรงกันข้ามกับหนูอย่างสิ้นเชิง หนูยังสนับสนุนและติดตามผลงานเขาอยู่ เพราะพยายามแยกว่าการเมืองก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเขา ไม่ใช่ผลงาน แต่คนก็วิพากษ์วิจารณ์เขามากๆ เลย ลุงคิดเห็นกับเรื่องนี้ยังไงบ้างคะ เราควรวิพากษ์วิจารณ์ศิลปินต่อเรื่องนี้กันไหม และควรเป็นแบบไหน – เจน

ตอบคุณเจน

ด้วยเหตุนี้ สมัยก่อนดารา ศิลปิน และบุคคลสาธารณะจึงดำรงตนดุจ ‘เตมีย์ใบ้ทางการเมือง’ นี่แปลเล่นๆ จากภาษาอังกฤษว่า political silence เขาจะอยู่ในโซนปลอดภัยเนื่องจากทำตัวเป็นคนไม่มีความเห็นทางการเมือง (แบบเดียวกันกับที่พระเอกนางเอกสมัยก่อนโน้นจะไม่ยอมให้สังคมรู้ว่ามีแฟน) เมื่อก่อนเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าศิลปินที่เราชื่นชอบเป็นซ้ายขวา (ก้าว) หน้าหรือ (ล้า) หลัง เราก็ได้แต่ชื่นชมผลงานและตัวตนของน้องเขาในฐานะแฟนเพลงอย่างสบายใจ แต่ในยุคสมัยแห่งการแสดงออกและทัศนะชนิดกล้าได้กล้าเสีย เราจะเห็นศิลปินออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองบ่อยขึ้น

ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นก็เป็นดาบสองคมแหละครับ เพราะมันมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีทั้งที่ชื่นชอบและแหวะ ทนไม่ได้ ลุงเองออกจะนับถือกึ๋นของศิลปินที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองนะ เพราะเรื่องนี้มันต้องอาศัยความกล้า เรื่องอะไรอยู่เฉยๆ จะแสดงตัวออกมาให้คนด่า ถูกไหม

ไหนๆ น้องเขากล้าออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง คุณเจนก็น่ารักษาจุดยืนต่อไปในฐานะแฟนคนหนึ่ง คือกล้าที่สนับสนุนและติดตามเขา ทั้งที่ทัศนะทางการเมืองของเขามันแย่จริงๆ ในสายตาเรา แต่ถ้าทนไม่ไหวรับไม่ได้จริงๆ ก็ควรไปหาศิลปินคนใหม่ที่ถูกใจทั้งบุคลิกหน้าตาฝีมือและจุดยืนทางการเมืองเถิด 

กลุ่มผมชอบคุยเล่นตลกๆ กับเพื่อนในแชตส่วนตัว บางทีเพื่อนจะแคปภาพหน้าจอไปลงไอจีหรือเฟซบุ๊ก ส่งต่อความตลกให้คนอื่นๆ บ้าง แล้วมีเพื่อนคนหนึ่งเตือนขึ้นในกรุ๊ปว่าต้องถามเพื่อนคนอื่นๆ ก่อนว่าโอเคที่จะลงเรื่องนี้ให้คนอื่นเห็นหรือเปล่า ผมเลยสงสัยว่าเราควรขออนุญาตให้ครบทุกคนก่อนลงเหรอครับ แล้วคนที่ไม่ได้พิมพ์โต้ตอบด้วยต้องขอด้วยเหรอ – พอช

ตอบคุณพอช

ไม่ต้องไปสนใจครับ ไร้สาระ แชตส่วนตัวก็คือเรื่องส่วนตัว

ที่พูดแบบนั้นเพราะไม่เห็นเหตุผลที่มีคนท้วง นอกจากเรื่องขำของคุณไปล่วงละเมิด ดูหมิ่น เหยียดหยาม แสดงความอาฆาตมาดร้ายใคร หรืออ่านแล้วอาจกระทบกระเทือนจิตใจของใคร ถ้าเป็นแบบนั้น (คือลุงเองก็ไม่เคยเห็นเรื่องขำที่คุณโพสต์เนอะ) ก็ไม่ต้องถามคนอื่นหรอกครับ แค่ถามตัวเองว่าตลกของเรามันทำให้ใครขำไม่ออกหรือเปล่า ก็พอแล้ว

และถ้าอยากจะมารยาทงาม ถามกรุ๊ปก่อน การรอไฟเขียวจากทุกคนในกรุ๊ปก่อนนี่ แต่คิดว่าถ้าทำแบบนั้นสักพัก ต่อมตลกของคุณคงจะฝ่อไปเอง

ลุงคิดยังไงกับดราม่าสาวใส่แตะและขาสั้น ถูกห้ามไม่ให้เข้าร้านหรูในโรงแรมห้าดาว – ติ๊ด

ตอบคุณติ๊ด

ก่อนจะตอบเรื่องคุณถาม ลุงมีเรื่องจะเล่าให้ฟัง

หลายปีก่อนเพื่อนชวนลุงไปนั่งจิบกาแฟที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในย่านอารีย์ ร้านบรรจงแต่งอย่างสวย บรรยากาศงามร่มรื่นให้ความรู้สึกเหมือนเข้าไปในอีกโลกที่สวยงาม เครื่องดื่มขนมดีงาม (สมัยนั้นโลกยังไม่มี ‘มนุดกล้อง’ ที่ถือกล้อง DSLR เที่ยวข้ามหัวข้ามหูชาวบ้าน ถ่ายรูปกันราวกับที่สาธารณะคือสตูดิโอส่วนตัว) ร้านนั้นเขาสบายๆ ไม่ได้หรูอะไร เพียงทางร้านมีกฎง่ายๆ อยู่ว่า “กรุณาถอดรองเท้าก่อนเข้าร้าน”

ตามนั้นครับ ให้ถอดก็ถอด นั่งจิบกาแฟไปได้ครึ่งถ้วย คุยกับเพื่อนอยู่เพลินๆ ตาก็เหลือบไปเห็นดาราเคยดังคนหนึ่ง นั่งที่โต๊ะพร้อมผองเพื่อนและบ่าวไพร่ (คะเนจากความพินอบพิเทาของคนรอบข้าง) เธอคนนั้นลอยหน้าลอยตาสนทนาที่โต๊ะเหมือนลูกค้าคนอื่นๆ ผิดกันอย่างเดียวตรงที่ ถัดจากน่องเรียวๆ ข้อเท้ากลมกลึงของเธอนั้นคือสนีกเกอร์สีขาว กล่าวคือเธอสวมรองเท้าเข้ามาในร้าน ขณะที่ลูกค้าอื่นอีก 20 คนถอดรองเท้าเรียบร้อย

ก็ไม่อะไรครับ ไม่มอง ไม่ด่าลอยๆ ไม่เดินไปตำหนิ ขี้เกียจ เพราะมันไม่มีประโยชน์ (แค่ติงกับพนักงานตอนคิดเงินไปหน่อยหนึ่ง ประมาณว่า “มีดารามาเนอะ” พนักงานก็ได้แต่ยิ้มๆ) แต่ที่จำติดหัวว่าลุงและลูกค้าคนอื่นๆ ต้องเหยียบขี้ตีนดาราในวันนั้น เพราะเธอไม่ยอมถอดรองเท้าเหมือนคนอื่นๆ 

เหมือนเขารู้สึกว่าตนมีอภิสิทธิ์ และไม่ต้องเกรงใจชาวบ้าน

กลับมาที่ปี 2565  เมื่อผู้หญิงคนนั้นถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร้าน ลุงเองยังสงสารและเห็นใจนะที่เธอถูกปฏิเสธ ไม่ให้เข้าร้าน เรื่องแบบนี้ถ้าโดนเข้าไม่ว่าใครก็ต้องทั้งจุกและจ๋อย

แต่เธอทำไม่ถูก

เพราะเธอรู้สึกว่าตนมีอภิสิทธิ์ และไม่ต้องเกรงใจชาวบ้าน

ไม่ใช่เรื่องไม่ให้เกียรติสถานที่อย่างที่เขาเมนต์ๆ กัน คือยังไงที่นั่นมันก็ยังเป็นร้านอาหาร ไม่ใช่ศาสนสถาน

อย่างที่เคยพูดหลายหนในคอลัมน์นี้ว่าการแต่งตัวให้มันดีหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่มันช่วยรักษาบรรยากาศของความหรูหราสวยงาม ไม่ขวางหูขวางตาคนอื่น ซึ่งลูกค้าคนอื่นๆ ก็น่าจะรวยพอจะเข้าไปนั่งสั่งสาเกกับไวน์ชั้นเลิศ แกล้มอาหารญี่ปุ่นแนวฟิวชั่น กลางบรรยากาศดีๆ เคล้าเพลงเก๋ๆ เหมือนอยู่เมืองตากอากาศแถบเมดิเตอร์เรเนียน (จะผิดกันก็ตรงที่ว่า ลูกค้าคนอื่นคงไม่พกเงินสดเป็นฟ่อนไว้ในกระเป๋าถือเมื่อจะนัดผู้ชายไปกินข้าว เหมือนเธอคนนั้น)


Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ในช่วงแรกๆ ลุงเฮม่าจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์ เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่หลังจากเขียนคอลัมน์นี้มาได้ปีสองปีก็เริ่มตาสว่าง และที่สำคัญคือ หลังจากโลกรอบตัวมีแต่กฎเกณฑ์และการใช้อำนาจ (ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ออกกฎ) ลุงเลยเปลี่ยนแนวมาเขียนตอบโดยเริ่มที่กฎเกณฑ์ แล้วตามด้วยวิธีหลอกล่อเล่นสนุกกับกฎนั้นๆ แทน  

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save