fbpx

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วยการใช้คำในหนังสือยากไปหรือเปล่า และหนทางสู่อภัยทานที่แท้

เห็นคนพูดกันว่าเดี๋ยวนี้อ่านหนังสือ รู้สึกว่านักเขียน/นักแปลใช้ภาษายากเกินไป อ่านแล้วไม่เข้าใจ ลุงคิดเห็นกับเรื่องอย่างไรบ้างครับ – ป๊อป

ตอบคุณป๊อป

ลุงอยากให้มองเรื่องนี้ในมุมของภาษา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับมุมของการเมือง

ลุงว่าภาษาไทยมีกรรมอยู่ตรงที่หน่วยงานซึ่งรับผิดชอบเรื่องการใช้ภาษานั้นต้วมเตี้ยม [ว. อาการที่ค่อยๆ เดินหรือคลานไปอย่างช้าๆ] และเชย [(แสลง) เร่อร่า เด๋อด๋า เปิ่น] คือทำงานแหละครับแต่มักจะช้า ไม่ทันกิน จนหลายครั้งตกเป็นจำเลยสังคม ทั้งที่จริงๆ แล้วควรเป็นผู้พิพากษา คือว่าไม่มีใครเห็นหัว [ก. คำพูดแสดงว่า ผู้อื่นซึ่งตนถือว่าอ่อนอาวุโสกว่า หรือเป็นผู้น้อยกว่า กระทำการข้ามหน้าข้ามตา] บางครั้งประกาศอะไรออกมาก็โดนชาวบ้านเอามาล้อเลียนเหมือนเรื่องตลก เพราะตนสื่อสารไม่เป็น ติดแหงกอยู่ในแบบแผนและวาทกรรม [น. การถกเถียงในประเด็นที่ยกขึ้นมา] ของระบบราชการ จนคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่องแล้ว

กรรมอย่างที่สองของภาษาไทยคือ หน่วยงานเหล่านั้นยังติดในกรอบมาตรฐานของวิจิตรภาษาของวรรณคดี และติดทัศนะสั่งสอนฉันเกิดก่อนย่อมต้องรู้ดีกว่าเธอ อีหรอบเดียวกัน [(สำนวน) ทำนองเดียวกัน แบบเดียวกัน (มักใช้ในทางที่ไม่ดี)] คนเลยติดภาพว่าการใช้ภาษาให้ถูกความหมายกลายเป็นเรื่องล้าสมัย ก็ภาษามันควรจะมีชีวิต มีความวิวัฒน์ [น. ความคลี่คลายไปในทางที่เจริญ] เปลี่ยนแปลงไม่ใช่หรือ ภาษาต้องตามโลกให้ทันสิ

มุมหนึ่งนั้น คุณค่าของภาษาแต่ละภาษาตามมาตรฐานสากล เขาวัดกันที่ความซับซ้อน ทว่าแม่นเป๊ะของหลักไวยากรณ์ (ซึ่งไม่ใช่จุดแข็งของภาษาไทย) และวัดกันที่จำนวนศัพท์ ศัพท์ยิ่งเยอะก็ยิ่งรุ่มรวย ถือว่าคนชาตินั้นมีปัญญาใช้ภาษาของตน สร้างศัพท์ไว้เรียกขานทุกสิ่งในโลกได้โดยไม่ตกหล่น เพราะในที่สุดแล้วภาษานั้นมีไว้สื่อสาร ยิ่งสื่อสารได้มีประสิทธิภาพ ภาษาก็ยิ่งมีราคา

แล้วก็… ถ้าเราแม่นเรื่องความหมายของคำ จะไม่มีการใช้คำอย่าง ‘สวยสะพรึง’ [สะพรึงกลัว ว. พรั่นพรึง รู้สึกหวาดหวั่น] หลุดมาในโฆษณาเครื่องสำอาง (และอื่นๆ) ซึ่งจะว่าไปลุงว่าคำนี้มันก็ตลกดีนะครับ แต่บางคนที่เขาจริงจังอาจตลกไม่ออก 

อีกแง่มุมนะครับ ระนาบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับภาษาก็ไม่น่าจะต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับกฎหมาย สายนิติศาสตร์จะบอกว่า ‘ความไม่รู้กฎหมายไม่ใช่ข้อแก้ตัว’ คือการรู้กฎหมายคือหน้าที่ของพลเมืองไทย ไปทำผิดแล้วจะมาอ้างว่าทำไปเพราะไม่รู้กฎหมายไม่ได้ 

ความรู้ภาษาก็น่าจะเป็นหน้าที่หนึ่งของเรา อ่านอะไรไม่เข้าใจแล้วก็ต้องค้นคว้า การเอาแต่บ่นว่ายากก็เหมือนฟ้องว่าเราเป็นคนขี้เกียจค้น 

ต้องเปิดหูเปิดตาและอ่านให้มากครับ 

นี่ก็อยากจะเปิดหูเปิดตาอ่านภาษาที่เด็กๆ เขาใช้กันอยู่เหมือนกัน ใครนึกออก ช่วยแนะนำด้วยว่าควรอ่านอะไร จะเป็นพระคุณ 

เพราะลุงยังไม่อยากตกยุค

ลุงคะ ช่วงที่ผ่านมาได้ยินข่าวคนพูดเรื่องดราม่าไลฟ์แม่ค้าออนไลน์ แล้วมีคนเดาว่าเดี๋ยวแม่ค้าจะรวบผม ใส่ชุดสีสุภาพมาขอโทษ (แล้วก็ใส่มาจริงๆ ด้วยสิ) มีคนสังเกตด้วยว่าหลายครั้งที่มีคลิปขอโทษจะมีการแต่งตัวคล้ายกันแบบนี้ เลยแอบสงสัยค่ะว่าเวลาใส่ชุดออกขอโทษต่อหน้าสาธารณะแล้ว เขามีกฎหรือเคล็ดลับอะไรกันหรือเปล่านะ – แก้ม

ตอบคุณแก้ม

กฎเกณฑ์คือเราต้องขอโทษด้วยความจริงใจ แสดงออกว่าเราสำนึกผิด เท่านั้นแหละครับ ถ้าสื่อสารออกไปแบบนั้นได้ ก็ไม่มีใครเขาใจร้ายกับคุณหรอก แต่ถ้าบังเอิญว่าเราขอโทษด้วยความจริงใจไม่ได้ ก็ถึงเวลาที่จะต้องหาตัวช่วย

จากสองสามปีที่เคยทำงานด้านทีวีมาบ้าง ลุงสรุปได้อย่างหนึ่งว่า ‘คุณหลอกใครก็ได้ แต่หลอกกล้องทีวีไม่ได้’ เพราะเวลาพูดนี่กล้อง (ภาพเคลื่อนไหว) มันจะจับสีหน้าแววตาภาษาท่าทางได้อย่างจะๆ เหมือนกล้องมันฟ้องเก่งกว่าที่ตาเราเห็นจริงๆ เสียอีก คือถ้าสื่อสารขอโทษให้เห็นความจริงใจไม่ได้ เราก็ต้องแต่งตัวครับ ก็คงออกแนวรวบผมใส่ชุดเรียบร้อยอย่างที่คุณว่ามานั่นแหละ

บังเอิญเราอยู่ในยุคที่วัฒนธรรมการขอโทษเป็นเรื่องอ่อนแอระดับชาติ บ้านเมืองอย่างเมืองไทยซึ่งมีขนบรายละเอียดเกี่ยวกับการขอขมาอย่างมีความหมายและงดงาม แต่มีนายกฯ ที่ยังให้สัมภาษณ์ว่า “ขอโทษด้วยก็แล้วกัน” (กรณีพูดชื่อวัคซีนผิดเมื่อปีสองปีที่แล้ว) ดังนั้นถ้าแม่ค้าคนนั้นเขาจะขอโทษไม่เป็น ลุงก็ไม่โทษแกหรอกครับ


Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ในช่วงแรกๆ ลุงเฮม่าจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์ เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่หลังจากเขียนคอลัมน์นี้มาได้ปีสองปีก็เริ่มตาสว่าง และที่สำคัญคือ หลังจากโลกรอบตัวมีแต่กฎเกณฑ์และการใช้อำนาจ (ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ออกกฎ) ลุงเลยเปลี่ยนแนวมาเขียนตอบโดยเริ่มที่กฎเกณฑ์ แล้วตามด้วยวิธีหลอกล่อเล่นสนุกกับกฎนั้นๆ แทน  

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save