fbpx

ด้วยรักถึง อานเญส วาร์ดา คุณย่าคนทำหนังแห่ง French New Wave และ ‘ภาพยนตร์นิเวศ’ ในหนังของเธอ: ไกรวุฒิ จุลพงศธร

กลางศตวรรษที่ 19 ฌ็อง-ฟร็องซัว มีแลต์ (Jean-François Millet) จิตรกรชาวฝรั่งเศสวาดภาพสีน้ำมัน The Gleaners ประกอบไปด้วยหญิงสามคนกำลังก้มหน้าเก็บรวงข้าวที่เหลือทิ้งไว้หลังฤดูเก็บเกี่ยว และมันได้กลายเป็นภาพที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเวลานั้น เมื่อฝรั่งเศสเพิ่งผ่านคลื่นการปฏิวัติปี 1848 อันเป็นการปฏิวัติที่เน้นสิทธิและเสรีภาพของชนชั้นแรงงานเป็นหลัก ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นแรงงานและรัฐบาลฝรั่งเศสจึงยังคุกรุ่น บวกกันกับกระแสการก่อตัวของแนวคิดแบบสังคมนิยม ภาพของมีแลต์จึงถูกพิจารณาว่าเป็นภาพที่ ‘เชิดชู’ แรงงานและเอนเอียงไปในทางสนับสนุนสังคมนิยม

The Gleaners โดย ฌ็อง-ฟร็องซัว มีแลต์ (ที่มาภาพ)

อย่างไรก็ดี อีกกว่าร้อยปีให้หลัง ในขวบปีสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 ภาพเขียนของมีแลต์เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ อานเญส วาร์ดา (Agnes Varda) คนทำหนังสารคดีชาวฝรั่งเศส เมื่อเธอในวัยร่วม 70 ปีทำหนัง The Gleaners and I (2000) ว่าด้วยเหล่า ‘นักเก็บตก’ ในสังคม ที่เคลื่อนผ่านจากการเก็บรวงข้าวในทุ่งจากภาพเขียนของมีแลต์ มาสู่การสำรวจเรื่องราวของผู้คนที่ตามเก็บหัวมันฝรั่งหลายตันที่อุตสาหกรรมอาหารในฝรั่งเศสมองว่าไม่ผ่านมาตรฐาน -เพราะมีขนาดใหญ่ไป, เล็กไป หรือรูปทรงไม่ได้สัดส่วนสวยงาม- และกลุ่มคนที่จดจ้องอยู่กับถังขยะหลังร้านอาหาร รอเวลาที่พนักงานจะทิ้งอาหารจำนวนมหาศาลเนื่องจากหมดอายุแม้ว่าจะยังกินได้อยู่ก็ตามที ตลอดจนผู้คนซึ่งตระเวนไปรอบเมืองปารีส เก็บเอาสิ่งของที่ถูกพิจารณาว่าเป็นขยะแล้วกลับมา ไม่ว่าจะนำมาใช้ต่อ (เช่นตัววาร์ดาเองที่หอบเอาเก้าอี้น้อยกลับบ้านมาสองตัว และมันฝรั่งรูปหัวใจอีกกองใหญ่) หรือนำไปขายก็ตามที

ภายหลังการฉายภาพยนตร์ The Gleaners and I เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา Doc Club & Pub. มีการจัดกิจกรรมเสวนาว่าด้วยภาพยนตร์ของวาร์ดาในฐานะ Ecocinema หรือภาพยนตร์นิเวศโดย ดร.ไกรวุฒิ จุลพงศธร ภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจวิธีคิดของภาพยนตร์นิเวศกับโลกภาพยนตร์ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงเรื่องของสิ่งแวดล้อม หากแต่ยังหมายถึง ‘สายตา’ ของตัวหนังต่อประเด็นนี้ด้วย

วาร์ดาและขบวนการ French New Wave

ไกรวุฒิเริ่มจากการไล่เรียงประวัติศาสตร์และภาพยนตร์กับวาร์ดา โดยชี้ว่าตัววาร์ดานั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มคนทำหนังยุค French New Wave หรือกลุ่มคนทำหนังคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศสซึ่งถือกำเนิดขึ้นในยุค 1960s นับเป็นกลุ่มการเคลื่อนไหวที่ส่งอิทธิพลต่อโลกภาพยนตร์มากที่สุดครั้งหนึ่ง รวมทั้งการส่งแรงกระเพื่อมมายังคนทำหนังในฮอลลีวูดซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นยักษ์ใหญ่อย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) , ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola)

“แนวคิดใหญ่ของการเคลื่อนไหวของ French New Wave นั้น นอกเหนือจากจะมีทฤษฎีทางภาพยนตร์รองรับ ก็ยังถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มีจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยในเวลานั้นอยู่ด้วย กล่าวคือภาพยนตร์ในยุคนี้มักว่าด้วยเรื่องความเป็นวัยรุ่น กลุ่มคนรุ่นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สองและวิธีที่พวกเขามองโลกในเวลานั้น” ไกรวุฒิว่า ขณะเดียวกัน มันยังเป็นช่วงเวลาที่โรงภาพยนตร์ The Cinémathèque Française กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังต้องปิดตัวไปในยุคสงคราม ซึ่งทำให้หนังหลายเรื่องจากฮอลลีวูดในเวลานั้นถูกเก็บเงียบ ไม่ได้นำออกมาฉาย กระทั่งเมื่อโรงภาพยนตร์กลับมาเปิดอีกครั้ง หนังฮอลลีวูดจำนวนมหาศาลก็ทยอยไหลเข้ามายังฝรั่งเศส สร้างกลุ่มคนดูหนังรุ่นใหม่ที่ยกย่องเชิดชูเหล่าผู้กำกับชาวอเมริกัน รวมทั้งเล็งเห็นลักษณะเฉพาะหรือลายเซ็นบางประการของคนทำหนังแต่ละคน และกลายเป็นกลุ่มคนดูหนังเจ้าประจำที่ขยับขึ้นมาเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ของนิตยสาร Cahiers du Cinema หนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้คือ ฌ็อง-ลุก โกดาร์ด (Jean-Luc Godard), ฟร็องซัว ทรุฟโฟต์ (François Truffaut), คล็อด ชาโบรล (Claude Chabrol), เอริก โรห์แมร์ (Éric Rohmer) ซึ่งในเวลาต่อมาคือหัวขบวนสำคัญของการกำเนิด French New Wave

The Gleaners and I

อย่างไรก็ดี พร้อมกันนี้ ยังมีกลุ่มคนทำหนังหน้าใหม่อีกกลุ่มหนึ่งถือกำเนิดขึ้น และมักถูกเรียกอยู่เนืองๆ ว่าเป็นพวก ‘Left Bank’ หรือพวกฝั่งซ้ายเนื่องจากมักรวมตัวกันอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน (ขณะที่กลุ่มนักวิจารณ์ที่กล่าวถึงนั้น มักรวมตัวกันที่ฝั่งขวาของแม่น้ำ) และกลุ่มนี้เองที่วาร์ดามักสุงสิงอยู่ด้วย ร่วมกันกับ อาแลง เรอเนส์ (Alain Resnaise), คริส แมร์เกอร์ (Chris Marker) ซึ่งสนใจภาพยนตร์, งานวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ศิลป์ต่างๆ

ไกรวุฒิขยายให้เห็นภาพถึงขบวนการและอิทธิพลของ French New Wave ว่า กลุ่มนักวิจารณ์หนังเหล่านี้ก็เขียนบทความที่วิพากษ์วิจารณ์คนทำหนังรุ่นก่อนในบ้านเกิดตัวเอง ที่มักทำหนังที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมเป็นหลัก โดยพวกเขาเชื่อว่างานศิลปะที่ดีนั้นต้องประกอบไปด้วยความคิดสร้างสรรค์หรือนำเสนอสิ่งใหม่ๆ และยังผลให้พวกเขาทำหนังที่กลายเป็นเสมือนหมุดหมายของยุคสมัยอย่าง The 400 Blows (1959, ทรุฟโฟต์), Breathless (1960, โกดาร์ด), Hiroshima Mon Amour (1959, เรอเนส์)

“ขณะที่ตัววาร์ดาเองนั้น มักจะถูกเรียกอยู่เนืองๆ ว่าเป็นคุณย่าแห่ง French New Wave เพราะเธอทำหนังก่อนคนอื่นๆ หนังเรื่องแรกของเธออย่าง La Pointe Courte (1955) ก็กลายเป็นต้นแบบของหนังคลื่นลูกใหม่ในเวลานั้น” ไกรวุฒิว่า “กล่าวคือ เป็นหนังทุนต่ำ, ใช้เงินตัวเองหรือหยิบยืมคนใกล้ตัวมาทำหนัง, การใช้กองถ่ายทำอิสระ, ใช้ทั้งนักแสดงอาชีพและคนที่ไม่ได้เป็นนักแสดงอาชีพ, เล่าเรื่องที่ผสมผสานกับการเป็นเรื่องแต่งและเรื่องจริง โดยเฉพาะการถ่ายทำในสถานที่จริงซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของหนังในยุคนี้มาก เราจะพบว่าหนังของ French New Wave นั้นมักถ่ายถนนหนทาง ถ่ายอาคาร เพื่อบันทึกสภาพการณ์จริงที่เกิดขึ้นในเวลานั้น”

คุณย่าวาร์ดาในยุค 2000

“อย่างไรก็ตาม ยุคหนึ่ง สถานะการเป็นคนทำหนังของวาร์ดาถูกกดลง แม้เวลานี้เราจะรู้สึกว่าเธอเป็นคนทำหนังที่มีชื่อเสียง แต่เอาเข้าจริง นี่เป็นสถานะใหม่ของวาร์ดา เพราะเมื่อก่อนนั้น เวลาเราพูดถึงคนทำหนังจาก French New Wave ก็มักหมายถึงกลุ่มคนฝั่งขวาของแม่น้ำแซนเป็นหลัก” ไกรวุฒิสาธยาย ก่อนจะยกตัวอย่างถึงสถานะเล็กจิ๋วของวาร์ดาในอดีต เช่น หนังสือในยุค 90s ที่บันทึกการเคลื่อนไหวของขบวนการคลื่นลูกใหม่ในฝรั่งเศสเขียนถึงเธอเพียงสองคำ หรือหนังสือ The Pocket Essential French New Wave (2005) เขียนถึงชื่อวาร์ดาเพียงหนึ่งคำ (ทั้งยังบอกว่าเธอเป็นหนึ่งในเมียของผู้กำกับสักคนอีกต่างหาก) กระทั่งโลกเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุค 2000 ที่สถานะของวาร์ดาไต่ขยับขึ้นมาทัดเทียมกับชื่อเสียงของคนทำหนังคลื่นลูกใหม่คนอื่นๆ โดยไกรวุฒิพิจารณาว่า ปัจจัยที่ทำให้วาร์ดากลับมาได้รับความนิยมอย่างมากในระยะหลังนั้น มีเงื่อนไขอยู่ห้าประการด้วยกัน

The Gleaners and I
  1. การถือกำเนิดขึ้นของวัฒนธรรม DVD และอินเทอร์เน็ต โดยไกรวุฒิกล่าวว่า ก่อนหน้านี้นั้นหาดูหนังของวาร์ดาได้ยาก กระทั่งเมื่อโลกเข้าสู่ยุคของอินเทอร์เน็ตและสตรีมมิง ทำให้คนดูหลายคนเข้าถึงหนังของเธอได้มากขึ้น ประกอบกับการที่เธอเปิดบริษัทหนังเอง ทำให้กระบวนการติดต่อซื้อ-ขายหนังของเธอนั้นเป็นไปได้รวดเร็วและง่ายดาย ยิ่งส่งผลให้หนังของเธอแพร่หลายมากกว่าที่เคย
  2. การขยายตัวของเทศกาลหนังยุค 2000 หากว่าก่อนหน้านี้ เทศกาลหนังมักกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ระยะหลังมันก็ได้แพร่หลายไปยังเมืองอื่นๆ ทำให้พื้นที่ในการจัดฉายหนังอิสระเพิ่มมากขึ้นด้วย (วาร์ดาเองเคยมายังเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ในปี 2003 ด้วย)
  3. ปัจจัยที่ว่าวาร์ดาอายุยืน ทำให้เธอมีภาพยนตร์ใหม่ๆ ออกมาให้ได้ชมกันอยู่เรื่อยๆ “ขณะที่หนังของผู้กำกับยุค French New Wave คนอื่นๆ มักสิ้นสุดแค่ช่วงปี 1980s-1990s แต่หนังของวาร์ดาอยู่ข้ามมาพ้นปี 2000 อันเป็นช่วงที่มีวัฒนธรรมใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นเป็นจำนวนมาก” ไกรวุฒิกล่าว “รวมทั้งตัวเธอเองเดินทางและเดินสายออกงานบ่อย การพบเจอผู้คนมากมายทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ตรงกันข้ามกับโกดาร์ดที่มีลักษณะเก็บเนื้อเก็บตัวมากกว่า” ทั้งนี้ วาร์ดาและโกดาร์ดเป็นคนทำหนังจากยุคคลื่นลูกใหม่ฝรั่งเศสที่อายุยืนที่สุด กล่าวคือวาร์ดาเสียชีวิตในปี 2019 ด้วยวัย 90 ปี ส่วนโกดาร์ดเพิ่งเสียชีวิตในปี 2022 ที่ผ่านมา ด้วยวัย 91 ปี (“มีนักวิจารณ์เทียบวาร์ดากับโกดาร์ดว่า หนังของพวกเขานั้นเล่นกับประวัติศาสตร์ความทรงจำทั้งคู่ แต่หนังของโกดาร์ดมักมีลักษณะของการเป็นซ้ายอกหัก ความหวังหมายถึงการพังทลายหรือเป็นเศษซาก ส่วนวาร์ดามักมองความหวังในแง่ของการเติมเต็มให้ชีวิตมากกว่า” ไกรวุฒิเสริม)
  4. ภาพยนตร์ของวาร์ดามีลักษณะเป็นปลายเปิดและหลากหลายมาก เธอทำทั้งหนังยาว, หนังสั้น, หนังสารคดี, งานภาพถ่าย ทำให้มีลักษณะของการข้าม media หลายชนิด ยังผลให้หนังของเธอสนทนากับสื่ออื่นๆ ที่ข้ามสายกัน รวมทั้งยังสนทนากับกลุ่มคนหลายกลุ่ม ไม่เพียงแต่กลุ่มคนดูหนังอย่างเดียวเท่านั้น
  5. การมาถึงของขบวนการเฟมินิสต์คลื่นลูกที่ 4 “กรณี #MeToo (ขบวนการต่อต้านการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศ กลายเป็นกระแสครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2017 เมื่อคนในฮอลลีวูดออกมาบอกเล่าถึงเหตุประเทศร้ายทางเพศที่เคยเผชิญ) ที่เกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ ทำให้คนทำหนังหลายคนพยายามย้อนรากกลับไปหาผู้บุกเบิกผู้หญิงในวงการซึ่งหนึ่งในนั้นคือวาร์ดา ผู้ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความหวัง โดยจะพบว่าเธอและหนังของเธอนั้นมองโลกอย่างละเอียดอ่อนและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอยู่เสมอ” ไกรวุฒิกล่าว

วาร์ดากับโกดาร์ดจากเรื่อง Cléo from 5 to 7 (1962, วาร์ดา) (ที่มาภาพ)

ภาพยนตร์นิเวศกับวาร์ดา

ไกรวุฒิอธิบายนิยามของ ecocinema หรือภาพยนตร์นิเวศว่า ที่ผ่านมา ภาพยนตร์เคยถูกสำรวจมาแล้วทั้งในแง่ของผู้หญิง, การตกเป็นประเทศอาณานิคม รวมทั้งประเด็นด้านเชื้อชาติ เรื่อยมาจนถึงยุค 2000 ที่โลกพบว่าสิ่งที่สั่นคลอนสังคมมนุษย์อย่างรุนแรงคือประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้วิธีคิดเช่นนี้เป็นหนึ่งใน ‘สายตา’ ที่ใช้อ่านภาพยนตร์ด้วย ดังนั้น โดยฐานคิดของภาพยนตร์นิเวศแล้วจึงไม่ได้เป็นการแบ่งประเภทหรือฌ็อง (genre) ภาพยนตร์ แต่หมายถึงวิธีคิดในการจะมองหนังและหาประเด็นจากหนังแต่ละเรื่อง หนังทุกเรื่องจึงถูกอ่านในประเด็นที่ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมได้ทั้งสิ้น เพราะหนังคือการถ่ายทอดโลกและตัวหนังเองก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกและสิ่งแวดล้อมในตัวเองอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์นิเวศยังหมายถึงกระบวนการทำหนังว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน นับตั้งแต่จุดตั้งต้นไปจนถึงวิธีการฉาย หรือคือการมองการผลิตภาพยนตร์ทั้งกระบวนการนั่นเอง

The Gleaners and I

“The Gleaners and I ของวาร์ดาจึงน่าสนใจตรงที่ตัวหนังเป็นการมองขยะกับสิ่งที่ไม่ได้เป็นขยะ เรามักมองขยะในฐานะเรื่องส่วนตัวว่าเราจะเก็บและไม่เก็บอะไร และเมื่อเรานำขยะนั้นไปทิ้ง เราก็นำมันไปทิ้งข้างนอกคือให้สังคมเป็นผู้จัดการ ขณะเดียวกัน สังคมก็มักซ่อนขยะไว้เพราะมีมุมมองที่ว่า เมืองที่ดีนั้นจะมีขยะไม่ได้ แต่การซ่อนขยะของสังคมนั้นก็ไม่ใช่การซ่อนจริงๆ เพราะขยะไม่ได้หายไปจากสังคม แต่คำถามคือแล้วมันไปอยู่เสียที่ไหน” ไกรวุฒิกล่าว และว่า แม้แต่การกระบวนการสร้างภาพยนตร์ก็ผลิตขยะขึ้นได้ เช่นการทำบรรจุภัณฑ์ (packaging) ของตัวหนัง, การโฆษณาหนังที่ทำให้เกิดขยะมหาศาล ในทางกลับกัน การรีไซเคิลจึงเป็นการนำขยะกลับมาใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์ซ้ำอีกหน หรือสร้างสิ่งใหม่จากสิ่งที่โดนทิ้งไปแล้ว

“ภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกถือกำเนิดขึ้นในปี 1895 เท่ากับว่าทั้งโลก มีฟุตเทจหนังอยู่เพียง 40 นาทีเท่านั้น แต่ตอนนี้ เรามีฟุตเจทหนังนับพันล้านชั่วโมง ดูจบแล้วก็จบเลย ตัวหนังและฟุตเทจเหล่านี้จึงมีอายุขัยที่สั้นมาก ซึ่งก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าฟุตเตจเหล่านี้สามารถนำมาทำอะไรต่อได้หรือไม่” ไกรวุฒิว่า ก่อนจะย้อนกลับมายังตัวภาพยนตร์ The Gleaners and I ของวาร์ดาว่า ตัววาร์ดาพยายามนำเสนอแนวคิดเรื่องของการที่คนที่ทำหน้าที่เก็บตก (หรือที่หนังใช้คำว่า glean) ข้าวของที่ถูกทิ้ง ทั้งในสมัยก่อนมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะในฐานะคนคุ้ยขยะหรือในฐานะนักสะสมเองก็ตาม

The Gleaners and I

ในแง่หนึ่ง กระบวนการทำหนังเรื่องนี้เองก็เป็นการ glean ด้วยเหมือนกัน หากพินิจว่าวาร์ดาใช้กล้องดิจิทัลวิดีโอ (Digital Video -DV) ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ในยุคที่คนทำหนังจำนวนมากยังถ่ายด้วยฟิล์ม โดยเธอไป ‘เก็บ’ งานภาพและแนวคิดที่ตกหล่นอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมาถ่ายใหม่ สัมภาษณ์คนที่ไม่เคยมีใครไปสัมภาษณ์ หรือกล่าวอีกด้านคือเธอไปเก็บ-สัมภาษณ์สิ่งของและผู้คนที่ไม่มีใครให้ความสนใจแล้ว ราวกับขุดคุ้ยหาบางอย่างเพื่อนำมาสร้างสรรค์เป็นงานใหม่ “ขณะที่วิธีทำหนังของวาร์ดานั้น มีแค่ตัวเธอ, เพื่อนและลูกสาว นับเป็นกองถ่ายเล็กๆ ที่ใช้อุปกรณ์ไม่มาก กล่าวคือกล้องดีวีหนึ่งตัว นับเป็น green filmmaking (หมายถึงการผลิตภาพยนตร์ที่ใส่ใจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) กล่าวคือมันเป็นกองถ่ายเล็กๆ ที่สร้างความเป็นไปได้ในแง่ภาพยนตร์มหาศาล”

“หากเรามองว่าขยะคือของที่ถูกทอดทิ้ง คนที่วาร์ดาไปสัมภาษณ์ก็เป็นคนที่ถูกสังคมทอดทิ้งเช่นกัน นั่นคือเหล่าคนชายขอบ แม้แต่ตัวเธอเองด้วย เพราะขณะที่เธอทำหนังเรื่องนี้ ประวัติศาสตร์ยังไม่เห็นและไม่ได้พิจารณาเธอในฐานะคนทำหนังผู้ยิ่งใหญ่ หากมองเรื่องนี้ด้วยสายตาของภาพยนตร์นิเวศก็จะพบประเด็นต่างๆ เหล่านี้ นั่นคือในแง่ของคุณค่าของสิ่งที่ถูกทิ้ง และการสร้างคุณค่าขึ้นมาใหม่อีกครั้ง” ไกรวุฒิกล่าว และปิดท้ายว่า “และเมื่อพูดถึงในระดับปรัชญา การรีไซเคิลหรือ re-image คือการทำให้ภาพที่เคยถูกทิ้งขว้าง กลับมามีความหมายใหม่ด้วย”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save