fbpx
บทแม่บทเมีย ความแก่ และความเศร้าของเหล่าผู้หญิงในวงการมายา

บทแม่บทเมีย ความแก่ และความเศร้าของเหล่าผู้หญิงในวงการมายา

สัจธรรมของวงการบันเทิงขึ้นอยู่กับคำว่า ‘อายุ’

ไม่ว่าจะละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ บทบาทที่นักแสดงแต่ละคนจะได้รับ แปรผันไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น จากวัยรุ่นที่เคยได้รับบทเด็กมัธยมใสๆ สู่จุดพีคเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนด้วยบทนักแสดงนำตัวท็อป เข้าสู่วังวนสุดท้ายของ career path ด้วยบทพ่อแม่พระเอกนางเอก (ส่วนใครจะโกงความตาย เป็นสาวสองพันปี ตัวพ่อสุดเท่ที่ยังได้บทพระเอกนางเอกอยู่ ก็สุดแท้แต่ความสามารถเฉพาะตัว)

ว่าแต่… ความ coming of age ของอาชีพนักแสดงในผู้หญิงและผู้ชายนั้นต่างกันมากแค่ไหน

 

จากข้อมูลสถิติของ TIME Labs ในปี 2015 ที่ประมวลผลย้อนไปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 โดยใช้ข้อมูลของนักแสดงชายหญิง 6,000 คนที่มีชื่อเป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดจำนวน 5,000 เรื่อง และนำมาเปรียบเทียบระหว่างจำนวนบทที่ได้รับกับช่วงอายุ ทำให้เราเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนในสายอาชีพนี้ระหว่างทั้งสองเพศอย่างเห็นได้ชัด

แม้นักแสดงหญิงจะได้เปรียบกว่าผู้ชายในช่วงวัยรุ่นถึงปลายเลขสอง ด้วยจำนวนบทบาทนักแสดงนำเฉลี่ยที่มากกว่า แต่พอถึงอายุ 30 จุดเปลี่ยนของพวกเธอก็มาถึงอย่างรวดเร็ว กราฟค่อยๆ ตกลงตามจำนวนอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เมื่อเทียบกับนักแสดงชาย จุดพีคของอาชีพโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 46 ปี

 

 

ฮอลลีวู้ดเองตกเป็นเป้าโจมตีของสังคมในฐานะหนึ่งในวงการที่สะท้อนภาพความไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในยุคหลังๆ และจากข้อมูลของ TIME Labs เองก็ยืนยันความเชื่อนั้น เพราะขณะที่จำนวนบทบาทของนักแสดงหญิงอายุมากกว่า 60 ปี (คือนักแสดงยุคเก่า) สมัยโน้น ตอนที่พวกเธอผ่านจุดสูงสุดของอาชีพไป งานไม่ได้ลดน้อยลงมากนัก จนเริ่มเข้าสู่วัย 50 งานถึงจะเริ่มตกลงจริงๆ แต่นักแสดงหญิงยุคนี้นี่สิ แค่ย่างเข้าวัยสามสิบ กราฟจำนวนงานกลับตกฮวบลงอย่างชัดเจน

ถ้ายังไม่เห็นภาพ ลองดูกราฟเปรียบเทียบงานระหว่าง แซนดรา บูลล็อค และ จอร์จ คลูนีย์ ด้านล่าง

 

 

ภาวะ Coming of Age ในหน้าที่การงานของนักแสดงหญิงที่มาเร็วกว่าผู้ชาย นอกจากริ้วรอยความหย่อนคล้อยที่ไม่ได้ถูกมองว่า ‘ยิ่งแก่ยิ่งคูล’ เหมือนนักแสดงชาย (จนดาราหญิงหลายคนต้องหันไปพึ่งพามีดหมอให้ดูอ่อนกว่าวัยเวลาขึ้นกล้อง) อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะอำนาจของบรรดานักเขียนบท ผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ เหล่าคนเบื้องหลังที่กุมชะตาชีวิตของนักแสดงเอาไว้ คนเหล่านี้เห็นพ้องต้องกันว่าผู้หญิงหลังวัย 30-40 ไม่ได้ดู ‘เร้าใจ’ เท่าเดิม

เมื่อไม่ได้ดูเร้าใจ (ทั้งในแง่ความเซ็กซี่ น่าดึงดูด น่าค้นหา และมีรังสีความ ‘ตะแม่’) บทภาพยนตร์ที่เขียนให้ผู้หญิงวัยนี้เลยถูกลดความสำคัญลงจนเหลือเพียงเป็นแม่ ไม่ก็เป็นเมีย ที่ไม่ได้โดดเด่น ไม่มีใครจดจำเท่าสมัยพวกเธอยังสาวๆ นักแสดงบางคนถึงกับเลือกที่จะปกปิดอายุที่แท้จริงของตัวเองเพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงานให้สูงขึ้น

ในปี 2011 จูนี่ ฮอง นักแสดงหญิงที่ไม่ค่อยดังมาก ยื่นฟ้องเว็บไซต์ IMDb ในกรณีที่เว็บไปสืบอายุที่แท้จริงของเธอเพื่อนำมาใส่ในฟีเจอร์ของ IMDb Pro ที่วงการแคสติ้งใช้ในการค้นหานักแสดงมาเล่นให้กับหนังของตัวเอง เธอบอกว่าการเห็นตัวเลขอายุสำหรับนักแสดงหญิงก็เหมือนเป็นการปิดโอกาสในการได้งาน แต่ท้ายที่สุดในปี 2013 คดีก็สิ้นสุดด้วยการยกฟ้อง เพราะศาลมองว่าอายุของนักแสดงไม่ได้มีผลกับการคัดเลือกนักแสดงแต่อย่างใด

เรื่องน่าตลกคือ ในขณะที่ฮอลลีวู้ดทำให้ผู้หญิงวัยเลขสามและสี่กลายเป็นของขึ้นหิ้งทิ้งไว้ให้ฝุ่นจับ วงการนี้ก็เลือกนักแสดงหญิงที่ยังอายุไม่มากให้ไปรับบทที่แก่กว่าวัย หรือไม่ก็ถูกจับคู่ให้เป็นคู่รักกับนักแสดงชายที่อายุมากกว่าตัวเองเกือบเท่าตัว ด้วยเหตุผลว่าหนังทำเงินทั้งหลายแหล่ล้วนถูกสร้างโดยผู้ชายวัยกลางคน ด้วยเรื่องที่สร้างเพื่อนักแสดงวัยกลางคน นักแสดงหญิงที่ดังๆ และยังสาวจึงต้องมารับบทแก่กว่าวัยเพื่อให้หนังขายได้

ในขณะที่ เอ็มม่า สโตน ในวัย 25 ถูกจับคู่กับ โคลิน เฟิร์ธ วัย 53 ใน Magic in the Moonlight หรือ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ วัย 22 กับ แบรดลี่ย์ คูเปอร์ อายุ 37 ใน Silver Lining Playbook แต่ แม็กกี้ จิลเลนฮาล วัย 37 กลับถูกบอกว่าเธอ ‘แก่เกินไป’ ที่จะเล่นเป็นคู่รักกับนักแสดงชายวัย 55 ปี!

ความ Coming of Age ในวงการบันเทิงฮอลลีวู้ด นอกจากความกลับหัวกลับหางของอายุของนักแสดงหญิง ที่ส่งผลกับจำนวนงานที่พวกเธอได้รับ การเติบโตของริ้วรอยยังส่งผลกับช่องว่างระหว่างรายได้เมื่อเทียบกับนักแสดงชายให้ห่างขึ้นด้วย

เช่นเดียวกันกับกราฟแสดงจำนวนงานที่เห็นไปตอนต้น รายได้ของนักแสดงหญิงจะมากกว่าผู้ชายในตอนที่เธอยังอยู่ในช่วงอายุ 20 กว่าๆ และขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อเธออายุ 34 จากนั้นก็จะดิ่งเหวลงเรื่อยๆ เทียบกับนักแสดงชายที่ได้มากสุดในช่วงอายุ 51 ปี และขาลงก็ไม่ได้ตกฮวบเร็วเท่าผู้หญิง

หากเราลองรวมรายได้ของนักแสดงหญิงเบอร์ต้นๆ ของฮอลลีวู้ดในปี 2012-2013 ตัวเลขจะอยู่ที่ 181 ล้านเหรียญ ต่ำที่สุดในรอบห้าปี และลดลง 30% จากตัวเลขในปี 2010 แต่ถ้าลองมาดูฝั่งนักแสดงชาย ตัวเลขจะอยู่ที่ 465 ล้านเหรียญ มากที่สุดในรอบห้าปี และสูงขึ้น 15% จากปี 2009 (ในรายชื่อฝั่งผู้ชาย มีชื่อของ โรเบิร์ต ดาวนี่ย์ จูเนียร์ และ ฮิวจ์ แจ็คแมน สองนักแสดงที่อายุไม่น้อยแล้วเมื่อเทียบกับ แองเจลิน่า โจลี่ ในอีกฝั่งหนึ่ง)

 

ภาวะความไม่เท่าเทียมของผู้ชายและผู้หญิงในวงการบันเทิงยังคงเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะวัดด้วยตัวเลขหรือบทบาทที่เหล่านักแสดงหญิง (จำยอม) ต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้อยู่รอดที่เราเห็นได้ในฐานะคนดูเมื่อเวลาผ่านไป

ถ้าคำว่า Coming of Age เป็นประเภทหนึ่งของเรื่องราวที่ตัวเอกได้เรียนรู้จากการเติบโต หนังชีวิตจริงเรื่องนี้คงสอนให้พวกเธอรู้ว่า สัจธรรมของริ้วรอยตีนกาไม่ใช่แค่เห็นได้ในหน้ากระจก

แต่ยังโชว์ให้เห็นในรูปของตัวเลขในสมุดบัญชี

และอคติทางเพศ!

 

อ่านเพิ่มเติม

บทความเรื่อง HOLLYWOOD’S GLARING GENDER GAP ของ CHRIS WILSON จาก Time Labs, Oct 6, 2015

บทความเรื่อง Aging Out: Hollywood’s Problem With Women Over 40 ของ Paige Morrow Kimball จาก Huffington Post, Nov 27, 2013

บทความเรื่อง Actor suing IMDb for revealing her age loses landmark lawsuit ของ Ben Child จาก The Guardian, April 12, 2013

บทความเรื่อง Emma Stone, Jennifer Lawrence, and Scarlett Johansson Have an Older-Man Problem ของ Kyle Buchanan จาก Vulture, June 1, 2015

บทความเรื่อง Study: Female Stars Paid Significantly Less After Age 34 ของ Maane Khatchatourian จาก Variety, Feb 7, 2014

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save