fbpx
เมื่อเขา 59 และเรา 37 : เรื่องรักอลเวงของคนต่างวัย

เมื่อเขา 59 และเรา 37  : เรื่องรักอลเวงของคนต่างวัย

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ในประเทศเคนยา หากผู้ชายสักคนต้องการแต่งงานกับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่าตัวเองมากๆ จะต้องจ่ายค่าสินสอดแพงกว่าการแต่งงานกับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน เช่นเดียวกันสำหรับนักเที่ยว เป็นที่รู้กันว่าหากคุณอยากได้รับบริการจากสาววัยกระเตาะเอ๊าะๆ ราคาที่คุณต้องจ่ายนั้นย่อมสูงกว่า

แรงดึงดูดของความอ่อนเยาว์กับตัณหา เป็นปัญหาของมนุษย์เรามาตลอดครับ และยิ่งหากตัณหานั้นพัฒนาไปเป็นความรักต่างวัยด้วยแล้ว น่าคิดว่าความสัมพันธ์ของคู่รักต่างวัยที่ต่างกันมากจะสามารถประคับประคองกันไปได้ไกลแค่ไหน

เบรคเรื่องจัดตั้งรัฐบาล มาตอบคำถามที่จะอภิบาลความรัก (ต่างวัย) ของคุณให้ยืนยาวกันดีกว่า

 

คำถามแรก: อายุต่างกัน อยู่กันยืดไหม

 

“บางอย่างมันมาพร้อมอายุ” นี่คือเรื่องจริง โดยเฉพาะมุมมองต่อโลก ความคิด ความสนใจที่เปลี่ยนไปตามวัย แต่เมื่อวัยของคนสองคนต่างกันเกินไป ต่อให้เรามีความรักที่ร้อนเร่ารุนแรงแค่ไหน แต่ความรักสามารถประคับประคองให้เราอยู่ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า

มีนักวิจัยที่ขี้สงสัยเหมือนผมเช่นกันครับ มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอมอรี สหรัฐอเมริกาในปี 2014 ใช้กลุ่มตัวอย่าง 3,000 คน มีทั้งคนที่แต่งงานแล้วและหย่าร้าง พบว่าช่องว่างอายุสัมพันธ์กับการเลิกกัน คู่รักที่มีอายุห่างกันน้อยกว่า 5 ปีมีแนวโน้มการหย่าร้าง ‘น้อยกว่า’ คู่รักที่มีช่องว่างอายุมากกว่า 10 หรือ 20 ปี ด้วยเหตุผลเรื่องของทัศนคติในการใช้ชีวิตแตกต่างกันเกินไป ความสนใจในช่วงวัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามสุขภาพ ฯลฯ เหล่านี้มีผลที่ทำให้คนสองคนคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง

แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ มีการศึกษาในอังกฤษและเวลส์ในปี 2008 ที่ศึกษาในหัวข้อเดียวกันนี้พบว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว ความแตกต่างเรื่องของวัยวุฒิไม่มีนัยยะสำคัญกับการตัดสินใจหย่าร้างของคู่รัก หรืองานวิจัยบางชิ้นก็มีข้อสรุปที่แตกต่างออกไปอีก เช่นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกาในปี 2017 แสดงให้เห็นว่าทั้งชายและหญิงที่แต่งงานกับคนที่อายุน้อยกว่า มักจะมีความสุขมากในช่วงแรกของการแต่งงาน แต่หลังจากนั้นความพึงพอใจจะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนัก

ในวัฒนธรรมป๊อปของตะวันตก การแต่งงานของเหล่าคนดังที่มีอายุห่างกันมากๆ มีให้เห็นและเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เช่น คู่ของเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์กับผู้อำนวยการสร้างคาร์เรน อาโรนอฟสกี ซึ่งอายุห่างกัน 22 ปี หรือคู่ของฌอน เพนน์กับชาร์ลีซ เธอรอน ที่อายุห่างกัน 15 ปี หรือคู่ที่ดังที่สุดคู่หนึ่งในยุคผมก็คือ คู่ของเดมี่ มัวร์และแอชตัน คุชเชอร์ ซึ่งอายุห่างกันถึง 16 ปี ทั้งหมดที่ว่ามาต่างเลิกรากันไปแล้ว (แค่คู่หลังสุดอยู่กินกันมากว่า 10 ปีก่อนจะประกาศแยกทางกัน) ทว่าก็มีบางคู่ที่สามารถครองรักกันมาได้อย่างยาวนาน อย่างคู่ของ ไรอัน เรย์โนลด์ กับ เบลค ไลฟ์ลีย์ (ห่างกัน 11 ปี) หรือคู่ของบียอนเซ่ กับ เจย์ ซี ที่ห่างกันถึง 12 ปี ก็ครองชีวิตคู่ร่วมกันมากว่า 8 ปีแล้ว

คนอายุน้อยๆ ยังอยู่ในวัยรุ่นๆ อาจให้ความสำคัญกับเพื่อน มีความคาดหวังจะเป็นคนสำคัญในกลุ่มสังคม แต่คนอายุมากอาจมองโลกคนละแบบ โดยเฉพาะโลกของหน้าที่การงานที่จะเป็นตัวผลักดันให้เขามีความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น

แต่ก็นั่นแหละครับ เรื่องพวกนี้ เอาเข้าจริงๆ เมื่อเราตกหลุมรักใครสักคน อายุกลับเป็นเรื่องท้ายๆ ที่เราจะคิดถึง น่าตลกกว่านั้นก็คือหลายๆ ครั้งที่ผมได้ยินว่าความแตกต่างเรื่องอายุต่างหากกลับเป็นแรงดึงดูดทางเพศอันสำคัญที่สุด

 

คำถามที่สอง: อะไรทำให้เราชอบคนอายุมากกว่า

 

มีบทความที่ตีพิมพ์ล่าสุดใน Evolutionary Behavioral Sciences พูดถึงเรื่องวิวัฒนาการการสร้างความสัมพันธ์แบบโรแมนติกกับอายุ เป็นการศึกษาของ Daniel Conroy-Beam แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และเดวิด บัสส์ จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส (Conroy-Beam & Buss, 2019) ซึ่งกระหายใคร่รู้เรื่องความสัมพันธ์อันน่าดึงดูดแต่เต็มไปด้วยปัญหานี้

พวกเขาพบว่าความต้องการทางเพศของมนุษย์และความสนใจในระยะยาวของการมีชีวิตของคนเรานั้น ถูกฝังลงในดีเอ็นเอมาตั้งแต่ยุคอดีตกาล สมัยก่อนผู้หญิงให้ความสำคัญกับผู้ชายที่ดูแก่กว่าตนมากๆ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ตัวเองและลูกหลานสามารถอยู่รอดได้ เพราะผู้ชายที่อายุมาก แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง ความสมบูรณ์ของร่างกาย ความสามารถในการเอาตัวรอด และท้ายสุดผู้ชายเหล่านี้มักเข้าถึงทรัพยากรของกลุ่มได้ดีกว่า ในขณะที่ผู้ชายเองก็จะมองหาผู้หญิงที่ดูอ่อนเยาว์ เพราะเชื่อว่าความอ่อนเยาว์ของผู้หญิงหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ การแพร่เผ่าพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ ผู้หญิงอ่อนเยาว์ ก็เป็นที่หมายปองของของชายสูงวัยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

วิวัฒน์ของเรื่องนี้ส่งผลมาถึงพฤติกรรมของคนเราในปัจจุบัน ดูได้จากพฤติกรรมของผู้ชายเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ มักพยายามทำตัวให้ดู ‘แก่กว่า’ อายุจริง เช่น ไว้ผมไว้หนวด  ทำตัวน่าเกรงขาม ชอบส่งเสียงดัง ขณะเดียวกัน ผู้หญิงเองก็มักหลอกล่อด้วยการทำให้ตัวเองดู ‘อายุน้อย’ กว่าอายุจริง เพื่อดึงดูดความสนใจ

ปัญหาอาจไม่เกิดนะครับหากว่าเรายังเป็นสังคมพหุกาม (Polygamy) เพราะนั่นหมายถึงเราอาจมีข้อผูกมัดทางสังคมแบบหลวมๆ แต่สังคมแบบผัวเดียวเมียเดียวกลายเป็นมาตรฐานใหม่ และทำให้การเลือกคู่ครองของเราเปลี่ยนไป ผมไม่แน่ใจว่าเราใช้คำว่าฝืนธรรมชาติได้ไหม แต่เห็นได้ชัดว่าเรามีปัญหากับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ นี้ไม่รู้จบ

 

คำถามที่สาม : อายุช่วงไหนที่น่าดึงดูดที่สุด

 

จากการศึกษาและเก็บข้อมูลของเดเนียลและเดวิดในงานวิจัยที่ผมได้อ้างไปเมื่อคำถามก่อน เขาได้ข้อสรุปเป็นตัวเลขออกมา ซึ่งน่าสนใจดีครับ ก็เลยอยากเอามาแชร์

  1. เขาพบว่าผู้ชายส่วนมากจะสนใจผู้หญิงในวัย 20 กลางๆ ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ได้ดีที่สุดไปจนกระทั่งถึงช่วงอายุ 30 ต้นๆ จากนั้นความสัมพันธ์ในเชิงโรแมนติกจะลดลง
  2. ในสังคมทุนนิยมอย่างทุกวันนี้ผู้ชายที่ถูกมองว่า ‘น่าดึงดูด’ และ ‘wealthy’ ที่สุดคือช่วงอายุระหว่าง 40 ปีไปจนถึง 50 ต้นๆ เรียกว่าสำหรับผู้ชาย ‘อายุ’ เป็นตัวทำนายที่สมบูรณ์แบบมากกว่าผู้หญิง
  3. เอาเข้าจริงๆ มนุษย์เราส่วนมากก็เลือกคู่ที่อายุไม่ได้แตกต่างจากตัวเองมากนัก กล่าวคือผู้ชายมักเลือกผู้หญิงอายุน้อยกว่าตัวประมาณ 3 ปีส่วนผู้หญิงพวกเธอต้องการคู่รักที่มีอายุมากกว่าประมาณ 3.5 ปี
  4. และผู้ชายบางกลุ่มซึ่งมีจำนวนมากพอจะมองหาผู้หญิงที่อายุมากกว่าตัวเองเล็กน้อย
  5. บันทึกการแต่งงานจากหลายประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ชัดเจนว่า สามีมักแก่กว่าภรรยาและมีช่องว่างของอายุเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ชายสูงอายุ ส่วนผู้หญิงมักแต่งงานกับผู้ชายที่มีอายุมากกว่าพวกเขาประมาณ 3 ปี

ดูเหมือน 3 ปีจะเป็นตัวเลขที่กำลังสวยสำหรับคู่รักนะครับ แต่หากว่าตัวเลขปีเพิ่มไปอีก 4 เท่าล่ะ เราจะทำอย่างไร

 

คำถามที่สี่ : รักก็เรื่องหนึ่ง อยู่ด้วยกันก็เรื่องหนึ่ง ทำอย่างไรรักต่างวัยถึงไปรอด 

 

ในอังกฤษเคยมีซีรีส์สารคดีเกี่ยวกับคู่รักต่างวัย ทุกคู่ในสารคดีต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าความท้าทายที่สุดของการมีชีวิตคู่คือการเปิดเผยว่า ‘ตัวเลข’ ของพวกเขาห่างกันแค่ไหน และจะทำอย่างไรกับความคาดหวังของสังคม อายุของพวกเขาไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่เป็นเรื่องสำคัญที่จะเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปได้เลย แน่นอนครับ แม้ว่างานวิจัยหลายๆ ชิ้นจะบอกเราว่าความสัมพันธ์ของรักต่างวัยมักมีความไม่มั่นคง ยืดหยุ่นน้อยกว่าคู่รักที่มีอายุใกล้เคียงกัน แต่ถ้าถามผม ผมก็จะบอกว่า ความรักเป็นสิ่งสวยงามหอมหวาน อย่าปล่อยให้เรื่องอายุมาขัดขวางความรักของคุณ

เงื่อนไขในการประคับประคองชีวิตคู่ของรักต่างวัยให้ไปได้ไกลนั้น จากประสบการณ์ส่วนตัว (ผมกับแฟนก็ห่างกัน 10 ปี) ผมคิดว่าการยอมรับจากครอบครัวทั้งสองฝั่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นลมใต้ปีกให้คู่รัก ความอดทนและการทำความเข้าใจในความแตกต่างที่มาพร้อมกับวัยก็เป็นเรื่องที่ต้องฝึกทำใจยอมรับความแตกต่างนี้ให้ได้ ท้ายที่สุด ‘วุฒิภาวะ’ เป็นเรื่องจำเป็นมากกว่าเรื่องของวัยวุฒิที่แตกต่างกัน

และสำหรับสาวๆ ที่รักกับชายหนุ่มที่อายุน้อยกว่า ผมเป็นกำลังใจให้ เพราะรู้ว่าในโลกของความรักคุณต้องฝ่าฝันมากกว่าใครๆ เรามักมีสองมาตรฐานกับความรักของผู้หญิงที่อายุมากที่รักกับชายอายุน้อยเสมอ  เราไม่จำเป็นและไม่ควรไปตัดสินชีวิตคนอื่น เพียงเพราะว่ามันไม่ถูกใจคุณ

แด่คู่รักต่างวัยทุกคู่ แม้ว่าอนาคตของเราอาจไม่สวยหรูหรือล้มเหลวไม่เป็นท่า

แต่ผมว่าก็ยังดีที่เคยได้ลองรักกัน 🙂

 

 

อ้างอิง

https://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=2501480

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/meet-catch-and-keep/201904/what-we-know-about-age-gaps-in-dating-love-and-marriage?amp

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/navigating-the-love-gap/201802/is-big-age-difference-problematic-relationship

https://www.researchgate.net/publication/316142946_Euclidean_distances_discriminatively_predict_short-term_and_long-term_attraction_to_potential_mates

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save