fbpx
Advice for a Young Investigator ก่อนที่ศิษย์จะไปไกลกว่าครู ครูต้องยอมให้ศิษย์ไป

Advice for a Young Investigator ก่อนที่ศิษย์จะไปไกลกว่าครู ครูต้องยอมให้ศิษย์ไป

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่อง

ถ้าใครได้ชมภาพยนตร์สตาร์วอร์สภาคล่าสุด ‘The Last Jedi’ (2017) ฉากหนึ่งที่ตรึงใจผู้ชมหลายคน คือตอนที่ปรมาจารย์โยดาผู้ล่วงลับกลับมาให้คำแนะนำแก่ลุค สกายวอร์คเกอร์ ซึ่งกำลังสิ้นศรัทธาในแนวทางของเจได และหันหลังให้กับการร้องขอความช่วยเหลือของเรย์ ผู้ขอฝากฝังตัวเป็นศิษย์

โยดาชี้ให้ลุคเห็นถึงภารกิจสำคัญของการเป็นครู และกล่าวทิ้งท้ายแบบคูลๆ ว่า

“ศิษย์ต้องไปไกลกว่าตัวเรา นั่นคือหน้าที่ที่แท้จริงของอาจารย์” (“We are what they grow beyond. That is the true burden of all masters.”)

คำกล่าวของโยดาชวนให้ผมนึกถึงสารทำนองเดียวกันที่กล่าวไว้เมื่อราวหนึ่งศตวรรษที่แล้ว โดย ซานติอาโก รามอน อี กาฆาล (Santiago Ramón y Cajal, 1852-1934) นายแพทย์ชาวสเปน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ประจำปี 1906

หากใครเป็นนักเรียนวิทยาศาสตร์หรือติดตามประวัติศาสตร์ของการศึกษาวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์อยู่บ้างคงคุ้นชื่อนี้เป็นอย่างดี เพราะคุณูปการจากการสำรวจโครงสร้างของระบบประสาท ผนวกกับทักษะทางศิลปะในการสเก็ตภาพเซลล์ประสาทอย่างละเอียดงดงาม ทำให้กาฆาลได้รับการยกย่องให้เป็นผู้บุกเบิกความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ทั้งยังทำให้เขามีดาวเคราะห์น้อยเป็นชื่อของตัวเองด้วยอีกหนึ่งดวง!

Santiago Ramón y Cajal
Santiago Ramón y Cajal | ภาพจาก Wikimedia Commons

นอกจากความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ กาฆาลยังผลิตงานเขียนในประเภทและประเด็นอื่นๆ อยู่สม่ำเสมอ หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ และผมคิดว่าประเด็นยังคงทันสมัยอยู่มาก คือหนังสือเรื่อง Advice for a Young Investigator (1999) ซึ่งเรียบเรียงขึ้นจากปาฐกถาของกาฆาล ณ ราชบัณฑิตสภาทางวิทยาศาสตร์ (Academia de Ciencias Exactas, Físicas y Naturales) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 1897 … ครับ กว่า 120 ปีมาแล้ว

เนื้อหาส่วนใหญ่ในข้อเขียนขนาดกะทัดรัดชิ้นนี้ว่าด้วยคำแนะนำทั้งทางวิชาการและความคิดจิตใจสำหรับคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่กำลังจะเลือกหรือได้เลือกเดินเข้ามาสู่เส้นทางของการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่หลายส่วนของหนังสือยังสื่อสารถึงบทบาทของครูในการปลุกปั้นคนรุ่นใหม่เหล่านั้นให้ถูกที่ถูกทางด้วย

กาฆาลพูดไว้ชัดๆ แบบเดียวกับโยดาเลยครับว่า บทบาทที่แท้จริงและสำคัญที่สุดของครูบาอาจารย์ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการผลักดันให้ศิษย์ไปไกลกว่าตัวเอง

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าประโยคที่พูดง่ายนี้ทำยากไม่ใช่เล่น เพราะการผลักดันให้ศิษย์พัฒนาไปไกลกว่าเรา ต้องเริ่มจากการที่ครู ‘ยอม’ ให้ศิษย์ไป พูดอีกอย่างคือ ไม่เพียงครูต้องช่วยชี้แนะเพื่อส่งเสริมให้ศิษย์ก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น แต่เพื่อให้ศิษย์ไปไกลกว่าเรา หลายครั้งครูยังต้องลดทิฐิมานะที่มีต่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าถูกต้องที่สุด และยอมให้ศิษย์คิด สงสัย ท้าทาย กระทั่งเสนอคำตอบที่ดีกว่าหรือหักล้างความเชื่อดั้งเดิมของตัวเองได้ด้วย

เปรียบให้เห็นภาพก็คือ ครูต้องช่วยศิษย์ลับกระบี่ที่ยังทื่อให้คมกล้า จนท้ายที่สุดกระบี่เดิมที่เคยทำให้ครูบางคนกลายเป็นเจ้ายุทธจักร ก็ไม่อาจเทียบกับกระบี่เล่มใหม่และวรยุทธ์ที่เหนือกว่าของศิษย์ซึ่งตัวเราเป็นผู้ฝึกปรือให้เขาเอง

ในฐานะนักประสาทวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิก กาฆาลพบความจริงว่าความก้าวหน้าทางองค์ความรู้ใดๆ ไม่ได้เกิดจากความเคารพศรัทธาที่มีต่อปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่คนใดคนหนึ่ง มิหนำซ้ำ กาฆาลยังเห็นด้วยว่าการเคารพต่อผลงานของผู้ยิ่งใหญ่อย่างเกินพอดีเป็น ‘กับดัก’ ที่ฉุดรั้งสติปัญญาของคนวัยเยาว์ และคงไม่มีผู้ยิ่งใหญ่ไหนจะเป็นกับดักต่อการพัฒนาตัวเด็กได้เท่ากับตัวครูหรือผู้ยิ่งใหญ่ที่ครูศรัทธาเป็นการส่วนตัว

กาฆาลมองว่า ความชื่นชมต่อผลงานและตัวปรมาจารย์รุ่นเก่าที่มากจนเกินไป นำไปสู่ความเข้าใจผิดๆ ว่าการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการสร้างสรรค์ความรู้อื่นๆ เป็นผลของพรสวรรค์ อัจฉริยภาพ และ ‘ดวงตาที่สาม’ ของมนุษย์ที่วิเศษวิโสและมีสติปัญญาเลิศเลอเหนือคนอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราทุกคนล้วนไม่ต่างจากผืนดินที่ “แม้จะแห้งแล้งที่สุดก็สามารถผลิตพืชผลดกดื่นได้ หากได้รับการปลูกฝังและส่งเสริมให้อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างดี”

นี่จึงเป็นหน้าที่ของครูในการชี้ทางให้ศิษย์เห็นถึงหลุมพรางที่เหนี่ยวรั้งพวกเขาให้คิดว่าตัวเองก็งั้นๆ ไม่ได้มีความสามารถอะไร ไม่มีทางสร้างผลงานหรือค้นพบคำตอบอะไรยิ่งใหญ่ได้ ตรงนั้นตรงนี้ก็มีคำตอบไว้แล้ว หรือที่แย่ที่สุด คือไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องสงสัยในองค์ความรู้ดั้งเดิมในตำราเรียน

กลับกัน ครูต้องทำหน้าที่สุมไฟกระหายใคร่รู้ในตัวคนรุ่นใหม่ที่พยายามตั้งคำถามและท้าทายต่อชุดความรู้ดั้งเดิมที่ทั้งสังคมเชื่อกันไปแล้วว่าถูก ไม่ให้มันมอดดับลงง่ายๆ ด้วยฝีมือ ระบบ หรือมายาภาพของความยิ่งใหญ่ที่เกินจริงของคนรุ่นเก่า ซึ่งก็รวมถึงตัวครูเองด้วย

แน่นอนครับว่าเด็กหรือศิษย์ที่มีไฟก็ไม่ได้ทำอะไรถูกไปทั้งหมด เราทั้งหลายที่เคยเป็นเด็กกันมาต่างล่วงรู้ถึงความจริงนี้ดีกว่าใคร

กาฆาลเองก็ไม่ได้มองข้ามปัญหาของความผิดพลาด ความร้อนวิชา รวมถึงผลพวงที่ตามมาจากการท้าทายสิ่งเก่าโดยที่ตัวเราเองยังไม่มีพื้นฐานที่ดีพอ เพียงแต่เขาเห็นว่าปัญหานั้นเป็นธรรมดาและออกจะเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นโทษสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะถึงที่สุด “เราทุกคนต่างต้องเคยชื่นชอบในคำโกหกที่ตัวเองสร้างขึ้น มากกว่าข้อเท็จจริงที่ค้นพบโดยคนอื่นมาแล้วทั้งนั้น”

พูดอย่างซามูเอล เบ็คเก็ตต์ นักเขียนไอริชก็คือ “พลาดแล้ว ลองใหม่ ก็ยิ่งพลาดได้ดีขึ้น” (“Try Again. Fail again. Fail better.”) เพราะเราเรียนรู้จากความผิดพลาดได้เสมอ

ปัญหาจริงๆ คือเราจะรู้ตัว มองเห็น และกล้าพอจะยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองได้อย่างไรและเมื่อใดต่างหาก กาฆาลมองว่า ยิ่งเรามองเห็นปัญหาของตัวเองตั้งแต่วัยเยาว์ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่เราพร้อมจะเปลี่ยนแปลงและยอมรับกับคำโกหก (การตีความผิดๆ) ของตัวเองได้ง่ายกว่า

การกล้าท้าทายและยอมรับความผิดพลาดของคนร้อนวิชา ย่อมดีกว่าเสมอเมื่อเทียบกับการเรียนรู้อย่างสยบยอมและอุทิศเวลาในชีวิตอย่างสูญเปล่าไปกับการชื่นชมผู้ยิ่งใหญ่ และปกป้องข้อผิดพลาดของครูบาอาจารย์ของตัวเอง

ในแง่นี้ บทบาทของครูจึงควรเป็นการคอยประคับประคองอย่างเป็นมิตร ให้คำวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ และแลกเปลี่ยนบทเรียนจากความผิดพลาดของตัวเอง เพื่อทางหนึ่งให้ศิษย์เห็นเป็นตัวอย่าง แต่อีกทางก็เพื่อไม่ให้พวกเขาหมดแรงกำลังไปเสียระหว่างทาง

แต่แน่นอนว่าก่อนจะทำเช่นนั้นได้ ครูเองต้องกล้ายอมรับเสียก่อนว่าตัวเองผิดได้ เคยผิด และอาจกำลังผิด

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือครูต้องมองเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็ก ไม่ใช่ด่วนตัดสินคุณค่าในตัวเด็กไปแล้วว่าโง่หรือฉลาด เพียงเพราะสิ่งที่พวกเขากำลังเป็นอยู่ตอนนี้ การมองทะลุถึงศักยภาพหมายถึงเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนพัฒนาได้ บางคนที่อาจดูหัวแข็ง กวนบาทา ชอบตั้งคำถามยากๆ หรือสงสัยอะไรที่เราไม่เห็นว่าน่าสงสัย อาจเป็นเด็กที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการและพลังในการแสวงหาความรู้นอกตำรามากกว่าเด็กเรียนดีและดูเคารพนบนอบต่อเราด้วยซ้ำไป

หนังสือ Advice for a Young Investigator (1999) โดย Santiago Ramón y Cajal
หนังสือ Advice for a Young Investigator (1999) โดย Santiago Ramón y Cajal

ทั้งหมดนี้ฟังดูเข้าท่าใช่ไหมครับ หลายคนอ่านไปคงพยักหน้าเห็นด้วย แต่อย่างที่บอกครับ ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ

การยอมให้ศิษย์ไปไกลกว่าครูเป็นของยากเสมอในหลายเหตุผล ยากที่หนึ่งคือ เรามักมีแนวโน้มจะพึงใจกับศิษย์ที่ดูภักดีมากกว่าศิษย์ที่ดูพยศ เรารักคนที่ดูหัวอ่อนมากกว่าคนที่ดูก้าวร้าว แม้ว่าบางครั้ง เด็กที่ครูเห็นว่าก้าวร้าวจะเป็นแค่เด็กที่ชอบตั้งคำถามและสงสัยในเรื่องราวพื้นฐานในชีวิตที่เราโตและเชื่องเกินกว่าจะสงสัย

ยากที่สองคือในสังคมแถบนี้ โดยเฉพาะในที่ที่คำขวัญวันครูมีแต่คำว่า ‘บูชาครู’ ต่อเนื่องกันมาเกือบสองทศวรรษ ศิษย์ดูจะรักการเดินตามหรือบูชาครู เช่นเดียวกับที่ครูรักที่จะถูกตามและถูกบูชา การพยายามก้าวไปให้ไกลกว่าครู ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่การสู้รบตบมือทางปัญญากับครูหรือปรมาจารย์บางคน จึงนำไปสู่อันตรายจากข้อครหาว่า “ไม่เคารพครู” แต่เราเคารพครูได้วิธีเดียว คือเดินตามต้อยๆ และคอยปกป้องครูแม้รู้ทั้งรู้ว่าครูทำผิดเท่านั้นหรือ?

บางทีการเคารพ (คารวะ) อาจเป็นคนละเรื่องกับการสักการะบูชา การเคารพแบบ respect คือการมองย้อนกลับไปข้างหลัง (re- ‘ข้างหลัง’ + specere ‘มอง’) ศิษย์ที่จะเคารพครูได้จริงๆ ก็ต้องเป็นศิษย์ที่อยู่ข้างหน้า เป็นศิษย์ที่ก้าวไปไกลแต่ไม่ลืมว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร พูดในแง่นี้ การสำนึกเสมอว่าตัวเองยืนบนไหล่ยักษ์ หรือความสำเร็จของตัวเราไม่ได้เกิดขึ้นเพราะลำพังความชาญฉลาดส่วนตัวของเรา หากแต่ยังสัมพันธ์ผู้คนมากมายที่คอยประคับประคองและให้โอกาสในต่างกรรมต่างวาระ ก็อาจจะเป็นหนทางพื้นฐานที่สุดในการแสดงความเคารพต่อสิ่งอื่นด้วย

กาฆาลบอกเหมือนกันครับว่า การทำตามครูไม่ใช่เรื่องผิดเลย การเคารพครูบาอาจารย์มีความสำคัญ ดังนั้นครูจึงควรเป็นแบบอย่างให้ศิษย์ และตัวอย่างที่ครูควรแสดงให้ศิษย์เห็นมากที่สุด ก็คือการมีความหวังและมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาในตัวคน ขณะเดียวกันก็พร้อมจะปล่อยให้ศิษย์โบยบินไปไกลกว่าที่ตัวครูจะไปถึง

ครูที่ดีสำหรับกาฆาลจึงไม่ใช่ครูที่ศิษย์พากันเข้าหา กราบไหว้บูชา และสักการะดังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีวันทำผิดและไม่อาจตั้งคำถามได้ และไม่มีทางเป็นครูที่เอาแต่ตั้งตัวเองเป็นเจ้าสำนัก ให้โอกาสเฉพาะกับศิษย์ที่ว่านอนสอนง่าย และฉุดรั้งคนเหล่านี้เอาไว้ไม่ให้ไปเกินครู ทั้งนี้ก็เพราะ “เกียรติอันสูงสุดของการเป็นครูไม่ใช่การปั้นศิษย์ให้คิดและทำเหมือนตัวเอง หากแต่เป็นการสร้างนักเรียนที่จะก้าวข้ามตัวเขาไป”

คงไม่เกินจริงไปหรอกครับที่พูดกันว่า ครุ ครู แปลว่า ‘หนัก’ แต่ความหนักของครูไม่ควรเกิดจากภาระงานเอกสารกองพะเนิน กิจกรรมเชิงพิธีกรรม และการสอนที่เป็นไปเพื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่มากเกินพอดี จนดึงเอาเวลาชีวิตของคนเป็นครูออกไปจากภารกิจสำคัญที่สุดของตัวเขาเอง

ครูควรเป็นงานหนักก็เพราะการประคับประคองและส่งแรงเพื่อให้ใครบางคนไปไกลกว่าจุดที่ตัวเราและตัวเขายืนอยู่เดิม ไกลกว่าจุดที่ตัวเราและตัวเขาเคยคิดไว้ว่าเป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย.

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save