fbpx

“ความบ้าของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย”…อารมณ์ขันของประธานาธิบดีที่ไม่บ้า

“ประธานาธิบดีคนแรกบ้าผู้หญิง ประธานาธิบดีคนที่สองบ้าทรัพย์สมบัติ ประธานาธิบดีคนที่สามบ้าเทคโนโลยี… ส่วนประธานาธิบดีคนที่สี่ทำให้คนบ้า… คนที่เลือกนั่นแหละบ้า!”[1] นี่คือคำกล่าวที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันของอดีตประธานาธิบดีคนที่สี่ของอินโดนีเซีย อับดูร์ระฮ์มาน วาฮิด (Abdurrahman Wahid) หรือที่ชาวอินโดนีเซียนิยมเรียกด้วยความสนิทสนมและรักใคร่ว่า กุส ดูร์ (Gus Dur)

วาฮิดกล่าวเรื่องขำขันถึงประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนก่อนหน้าเขาทั้งสามให้แก่ ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ประธานาธิบดีคิวบาฟังเมื่อปี 2000 คราวที่เขาเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) ที่ประเทศคิวบา

วาฮิดเป็นที่รู้จักของคนอินโดนีเซียว่าเป็นคนที่ชอบพูดเล่น มักปล่อยมุกตลกกับสื่อและคนใกล้ชิดเสมอ และผู้คนมักรอฟังเรื่องขำขันจากเขา และสิ่งนี้ขยายไปยังผู้นำชาติต่างๆ ด้วย อดีตหัวหน้าหน่วยพิธีการของรัฐเปิดเผยกับสื่ออินโดนีเซียว่าฟิเดล คาสโตรอยากรู้ว่าทำไมวาฮิดถึงเป็นที่ชื่นชอบของคนอินโดนีเซียและผู้นำทั่วโลก คาสโตรจึงเดินทางไปยังโรงแรมที่วาฮิดกับคณะผู้ติดตามพำนักอยู่ วันนั้นเป็นเวลาราว 22.00 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น วาฮิดกำลังพักผ่อนในอิริยาบถผ่อนคลายและกำลังฟังเทปหนังตะลุงอยู่ เขาใส่กางเกงขาสั้นและรองเท้าแตะแบบหนีบ คาสโตรเดินทางไปโดยไม่ได้บอกล่วงหน้า วาฮิดรีบเปลี่ยนกางเกง แต่ไม่ทันได้เปลี่ยนรองเท้า วาฮิดจึงได้ต้อนรับคาสโตรพร้อมกับรองเท้าแตะ คาสโตรไปพบวาฮิดและได้พูดคุยกันเรื่องเกี่ยวกับการประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดราว 30 นาที และหลังจากนั้นเองที่วาฮิดได้กล่าวมุกตลกเกี่ยวกับความบ้าของประธานาธิบดีให้คาสโตรฟัง และผู้ติดตามวาฮิดได้เผยว่าคาสโตรหัวเราะแบบหยุดไม่ได้เลยทีเดียว

อินโดนีเซียประกาศเอกราชในปี 1945 จนถึงปัจจุบันมีประธานาธิบดีเจ็ดคน เรียงตามลำดับดังนี้ ซูการ์โน (Sukarno), ซูฮาร์โต (Suharto), ฮาบีบี (Habibie), อับดูร์ระฮ์มาน วาฮิด, เมกาวตี ซูการ์โนปุตรี (Megawati Sukarnoputri), ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) และ โจโก วีโดโด (Joko Widodo)

สิ่งที่วาฮิดอธิบายถึงอดีตประธานาธิบดี แม้ว่าดูเหมือนจะเป็นการเล่าโจ๊กพูดด้วยอารมณ์ขันแต่ก็มีมูลมีความจริงอยู่ในคำหยอกล้อดังกล่าว

“ประธานาธิบดีคนแรกบ้าผู้หญิง”

ซูการ์โนเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย เขาเกิดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1901 ที่เมืองสุราบายา เขตชวาตะวันออก และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 1970 ซูการ์โนเกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างมีสถานะทางสังคมสูง เขาถือได้ว่าเป็นผู้นำที่เป็นปัญญาชน มีอุดมการณ์ มีเสน่ห์ สามารถจุดประกายและสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนได้ รวมถึงมีความสามารถทำให้คนคล้อยตามและยอมปฏิบัติตามที่เขาต้องการได้ เขาได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งเอกราช จากบทบาทการเป็นผู้นำขบวนการชาตินิยม ต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพ และประกาศเอกราชของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม1945 หลังจากประกาศเอกราชเขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปี 1967

ในด้านเรื่องชีวิตส่วนตัวซูการ์โนขึ้นชื่อเรื่องความเจ้าชู้ เขามีภรรยาที่เปิดเผยและเป็นทางการทั้งสิ้นเก้าคน ได้แก่

ลำดับที่ชื่อช่วงเวลาชีวิตสมรสบุตร-ธิดา
1ซีตี อูตารี (Siti Oetari)1921-1923 
2อิงกิต การ์นาซิฮ์ (Inggit Garnasih)1923-1943 
3ฟัตมาวาตี (Fatmawati)1943-19701. กุนตูร์ ซูการ์โนปุตรา (Guntur Soekarnoputra)
2. เมกาวตี ซูการ์โนปุตรี (Megawati Soekarnoputri)
3. รัคมาวาตี ซูการ์โนปุตรี (Rachmawati Soekarnoputri) 4. ซุกมาวาตี ซูการ์โนปุตรี (Sukmawati Soekarnoputri) 5. กูรูฮ์ ซูการ์โนปุตรา(Guruh Soekarnoputra)
4ฮาร์ตีนี (Hartini)1953-1970 
5การ์ตีนี มาน็อปโป (Kartini Manoppo)1959-1968โตะโตก ซูรยาวัน ซูการ์โนปุตรา (Totok Suryawan Soekarnoputra)
6รัตนา ซารี เดวี (Ratna Sari Dewi)1962-1970การ์ตีกา ซารี เดวี ซูการ์โน (Kartika Sari Dewi Soekarno)
7ฮาร์ยาตี (Haryati)1963-1966 
8ยูรีเก ซังเงอร์ (Yurike Sanger)1964-1968 
9เฮลดี จาฟาร์ (Heldy Djafar)1966-1969 

เรื่องความสัมพันธ์และภรรยาของซูการ์โนก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอยู่เนืองๆ โดยภรรยาคนที่ 7 รัตนา ซารี เดวี เคยมีคนเอารูปเปลือยของเธอมาเปิดเผยและวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ แต่รัตนา ซารี เดวีโต้แย้งว่านั่นคืองานศิลปะ และแน่นอนว่าเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้ามของซูการ์โนอีกแล้ว จนถึงขนาดมีผู้กล่าวว่าที่ซูการ์โนสิ้นสุดอำนาจนั้นเนื่องจากปัญหาการมีภรรยาหลายคนของซูการ์โนทำให้ผู้คนจำนวนมากรับไม่ได้ แต่ผู้เขียนคิดว่านี่ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ซูการ์โนหมดอำนาจ อย่างไรก็ตามภาพลักษณ์ของคนเป็นคนคลั่งรักของซูการ์โนถูกนำเสนอในภาพยนตร์เรื่อง Soekarno (2013) ซึ่งบรรดาบุตรหลานของซูการ์โนได้ออกมาแสดงความไม่พอใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

“ประธานาธิบดีคนที่สองบ้าทรัพย์สมบัติ”

ประธานาธิบดีคนที่สองของอินโดนีเซียคือซูฮาร์โต เขาเกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 1921 และเสียชีวิตวันที่ 27 มกราคม 2008 ซูฮาร์โตดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 1967-1998 เขาขึ้นสู่ตำแหน่งหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองวันที่ 30 กันยายน 1965 เขายึดอำนาจการปกครองประเทศในทางปฏิบัติและบีบให้ซูการ์โนลงนามมอบอำนาจในการดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศให้แก่เขาในเดือนมีนาคม 1966 ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในปี 1967 หลังเหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 พรรคคอมมิวนิสต์ถูกประกาศให้เป็นพรรคการเมืองที่ผิดกฎหมายและสมาชิกพรรคและผู้สนับสนุนโดนกวาดล้างเนื่องจากข้อกล่าวว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 ที่ผู้ก่อการได้พยายามจะยึดอำนาจรัฐและได้สังหารนายทหารไปเจ็ดนาย ผลของการกวาดล้างนำไปสู่การประเมินว่ามีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และผู้สนับสนุนถูกสังหารราว 500,000-2,000,000 คน

ในโลกตะวันตก สื่อมักตั้งฉายาให้เขาว่า ‘The Smiling General’ เนื่องจากว่าใบหน้าของเขาจะเปื้อนรอยยิ้มและมีความเป็นมิตรตลอดเวลาตามสไตล์ของคนชวา อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ชาวอินโดนีเซียโดยเฉพาะบรรดานักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองมองว่าเขาเป็นคนที่เลือดเย็น ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยมของเขามีการจัดการกับผู้ที่ต่อต้านเขาด้วยความรุนแรงและเหี้ยมโหด

วาฮิดกล่าวว่าซูฮาร์โตบ้าทรัพย์สมบัติเนื่องจากว่า เขาถูกกล่าวหาและโจมตีเรื่องการคอร์รัปชันอย่างหนัก และเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เขาสิ้นสุดอำนาจในปี 1998 หลังจากการลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาในวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 ซูฮาร์โตในวัย 77 ปีได้ไปออกรายการโทรทัศน์ซึ่งเป็นช่องเอกชนของครอบครัวเขาเองเมื่อวันที่ 6 กันยายน 1998 เขาได้กล่าวออกอากาศต่อหน้าผู้ชมชาวอินโดนีเซียนับล้านๆ คนว่า “ผมไม่มีเงินแม้แต่เซ็นต์เดียว”[2]

คำกล่าวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สำนักงานอัยการสูงสุดแถลงว่ามีข้อบ่งชี้ถึงความผิดปกติในการใช้เงินทุนในมูลนิธิต่างๆ ของซูฮาร์โต และรัฐบาลได้แต่งตั้งทีมสอบสนความร่ำรวยของซูฮาร์โต ทีมสอบสวนได้ตรวจสอบมูลนิธิ 7 แห่งของซูฮาร์โตและพบว่ามีทรัพย์สินรวมสี่ล้านล้านรูเปียห์ ในขณะที่ซูฮาร์โตเองมีบัญชีธนาคาร 72 บัญชีด้วยเงินฝากรวมสองหมื่นสี่พันล้านรูเปียห์ และมีที่ดินรวาม 400,000 เฮกตาร์ ในปี 1998 นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) รายงานว่าซูฮาร์โตเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกเป็นลำดับที่ 6 ด้วยทรัพย์สิน 1 หมื่น 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และครอบครัวของซูฮาร์โตมีความร่ำรวยรวมทั้งหมดสามหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

หลังจากนั้นหนึ่งเดือน สำนักงานอัยการสูงสุดได้สรุปว่ามีข้อที่บ่งชี้ถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยซูฮาร์โตเรื่องการคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตาม หลังการสอบสวนคดีนี้เป็นเวลาหนึ่งปี สำนักงานอัยการสูงสุดก็ยอมแพ้ เนื่องจากไม่พบหลักฐานมากเพียงพอที่จะเอาผิดซูฮาร์โตได้ ในที่สุดรัฐบาลก็ได้ประกาศเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 1999 ว่าข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชันของซูฮาร์โตไม่มีหลักฐานและมีการออกคำสั่งให้ยุติการสอบสวน เมื่อวาฮิดขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคดีของซูฮาร์โตถูกรื้อขึ้นมาอีกครั้ง ในเดือนสิงหาคม 2000 ซูฮาร์โตได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาอีกครั้ง ในช่วงเวลาดังกล่าวสุขภาพของซูฮาร์โตย่ำแย่หนักมีปัญหาทั้งทางด้านร่างกายและสุขภาพจิตจนสื่อสารได้ยากลำบาก และคดีก็ยืดเยื้อจนกระทั่งซูฮาร์โตเสียชีวิตในปี 2008

“ประธานาธิบดีคนที่สามบ้าเทคโนโลยี”

บาคารุดดิน ยูซุฟ ฮาบีบี (Bacharuddin Jusuf Habibie) เป็นประธานาธิบดีคนที่สามของอินโดนีเซีย ฮาบีบีเกิดวันที่ 25 มิถุนายน 1936 และเสียชีวิตวันที่ 11 กันยายน 2019 เขาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนที่ซูฮาร์โตที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 ฮาบีบีเป็นอัจฉริยะทางด้านเทคโนโลยี เขาสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมการบินจากประเทศเยอรมัน เขาเคยมีโอกาสได้ทำงานที่ประเทศเยอรมันและได้รับการยอมรับอย่างสูงอีกด้วย เขาเดินทางกลับอินโดนีเซียในปี 1973 เพื่อช่วยพัฒนาเทคโนโลยีในบ้านเกิดของเขา เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารระดับสูงของอุตสาหกรรมเครื่องบินนูซันตารา (Industri Pesawat Terbang Nusantara) ในปี 1978 เขาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวิจัยและเทคโนโลยี ในที่สุดในปี 1995 ฮาบีบีประสบความสำเร็จในการผลักดันเครื่องบินลำแรกของอินโดนีเซียคือ N250 Gatotkaca เขาได้รับการยกย่องให้เป็น ‘บิดาแห่งเทคโนโลยีอินโดนีเซีย’

มุกตลกเรื่องประธานาธิบดีของวาฮิดเป็นที่รับรู้ไปทั่ว และคงติดอยู่ในใจของฮาบีบีอยู่เสมอ จนกระทั่งในโอกาสที่วาฮิดซึ่งเดินทางไปปฏิบัติงานที่ยุโรปแล้วได้ถือโอกาสนั้นไปเยี่ยมภรรยาของเขาซึ่งกำลังป่วยที่บ้านพักของพวกเขาในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในช่วงเวลาดังกล่าวฮาบีบีได้ถามวาฮิดถึงมุกตลกนั้นเมื่อตอนไปพบคาสโตรที่คิวบา เมื่อได้ฟังฮาบีบีถาม วาฮิดไม่ต้องการให้ฮาบีบีรู้สึกไม่พอใจ จึงตอบไปว่า “ไม่ใช่แบบนั้นนะท่านฮาบีบี ผมหมายความว่าประธานาธิบดีซูการ์โนเป็นรัฐบุรุษ (negarawan) ซูฮาร์โตเป็นนักธุรกิจใหญ่ (hartawan) น่ะถ้าท่านฮาบีบีเป็นประธานาธิบดีผู้มีความรู้เป็นนักวิชาการ (ilmuwan) ส่วนผมเองนั้นเป็นประธานาธิบดีผู้รักการท่องเที่ยว (wisastawan) เตร็ดเตร่ไปเรื่อยๆ”[3] จะเห็นได้ว่านอกจากมีอารมณ์ขันแล้ว วาฮิดยังเป็นผู้ที่ปฏิภาณไหวพริบในการพูดเอาตัวรอดสูง

“ประธานาธิบดีคนที่สี่ทำให้คนบ้า…คนที่เลือกนั่นและบ้า!”

อับดูร์ระฮ์มาน วาฮิดดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่สี่ของอินโดนีเซีย เขาเกิดวันที่ 7 กันยายน 1940 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2009 วาฮิดเป็นผู้นำองค์กรศาสนาอิสลาม นะฮ์ดลาตุล อูลามา (Nahdlatul Ulama) องค์กรด้านศาสนาอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย แต่กระนั้นก็ตามเขาเป็นประธานาธิบดีที่ไม่ค่อยเคร่งครัดเรื่องพิธีการมากนัก วาฮิดเป็นผู้นำที่มีความคิดก้าวหน้า แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่เขาแสดงออกหรือการพูดของเขาก็มักจะทำให้คนฟังรู้สึกสับสนและมึนงงอยู่เสมอ

เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไม่ครบวาระคือตั้งแต่ปี 1999-2001 เนื่องจากถูกถอดถอนจากสภาที่ปรึกษาประชาชนหลังจากที่เขาได้ออกคำสั่งประธานาธิบดียุบสภาและยุติการทำงานของพรรคกอลคาร์ (Golkar Party) แต่ทว่าในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งนั้นเขาได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ ที่ทำให้คนฟังฟังแล้วอยากจะบ้าอยู่ไม่น้อย เช่น ในปี 2000 เขาได้ออกมาขอโทษอดีตสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียและครอบครัวที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในช่วงการกวาดล้างหลังเหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 การกระทำของเขาได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากกลุ่มอิสลามอนุรักษนิยม หรืออย่างกรณีที่ชาวอาเจะห์เรียกร้องสิทธิการลงประชามติว่าจะแยกหรืออยู่กับอินโดนีเซียแบบที่ชาวติมอร์ตะวันออก (ชื่อเดิมก่อนเป็นติมอร์เลสเต) ได้รับ ในตอนแรกวาฮิดรับปากว่าจะให้ชาวอาเจะห์ลงประชามติได้แบบชาวติมอร์ แต่หลังจากนั้นวาฮิดก็ออกมากล่าวว่า “ไม่ได้พูดแบบนั้น” อย่างไรก็ตามเรื่องนี้วาฮิดน่าจะถูกกดดันจากฝ่ายกองทัพอินโดนีเซียอย่างหนัก

ทั้งหมดนี้คือความบ้าของประธานาธิบดีอินโดนีเซียทั้งสี่คน วาฮิดไม่เคยได้กล่าวถึงประธานาธิบดีคนถัดจากเขาอีกสามคน หากมีโอกาสผู้เขียนจะสานต่อการพูดถึงความบ้าของประธานาธิบดีคนที่ 5 ถึง 7 ที่วาฮิดยังไม่ได้กล่าวถึง และรวมถึงว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 8 ที่จะมีการเลือกตั้งกันในต้นปีหน้าด้วย


ข้อมูลประกอบการเขียน

Ahmad, Fathoni. “Humor Dus Dur: Macam-macam Karakter Presiden.” Nuonline, 29 April 2022, https://www.nu.or.id/humor/humor-gus-dur-macam-macam-karakter-presiden-ijF0r

Brilian, Almadinah Putri. “32 Tahun Berkuasa, Berapa Harta Presiden Soeharto?.” DetikFinance, 27 October 2022, https://finance.detik.com/berita-ekonomi-bisnis/d-6370727/32-tahun-berkuasa-berapa-harta-presiden-soeharto

Fakhrana, Rinaldy Sofwan “Menelusuri Sen Terakhir Kekayaan Soeharto.” CNN Indonesia, 15 September 2015, https://www.cnnindonesia.com/nasional/20150915084109-12-78761/menelusuri-sen-terakhir-kekayaan-soeharto

Firdausi, Fadrik Aziz. “Hari-Hari Terakhir Sukarno: Sepi, Tersisih, Diasingkan Orde Baru.” Tirto.id, 21 June 2019, https://tirto.id/hari-hari-terakhir-sukarno-sepi-tersisih-diasingkan-orde-baru-ecHm

“Humor Gus Dur: 3 Presiden Indonesia Gila, Kalau Saya yang Milih yang Gila.” Kurusetra, 7 March 2022, https://kurusetra.republika.co.id/humor/1582908315/Humor-Gus-Dur-3-Presiden-Indonesia-Gila-Kalau-Saya-yang-Milih-yang-Gila

“Kisah Gus Dur dan Castro di Hotel Melia Havana.” Detiknews, 5 January 2010, https://news.detik.com/berita/d-1272299/–kisah-gus-dur-dan-castro-di-hotel-melia-havana-

Movanita, Ambaranie Nadia Kemala. “Cerita Fidel Castro yang ‘Ngakak’ Dengar Lelucon Gus Dur.” Kompas, 7 September 2017, https://nasional.kompas.com/read/2017/09/07/12100071/cerita-fidel-castro-yang-ngakak-dengar-lelucon-gus-dur?page=all

Subroto, Lukman Hadi and Indriawati, Tri. “Biografi BJ Habibie, Bapak Teknologi Indonesia.” Kompas, 16 August 2022, https://www.kompas.com/stori/read/2022/08/16/080000479/biografi-bj-habibie-bapak-teknologi-indonesia?page=all


[1] มุกตลกนี้เป็นที่รับรู้และถูกรายงานซ้ำๆ ในสื่ออินโดนีเซียจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น “Humor Gus Dur: 3 Presiden Indonesia Gila, Kalau Saya yang Milih yang Gila,” Kurusetra, 7 March 2022, https://kurusetra.republika.co.id/humor/1582908315/Humor-Gus-Dur-3-Presiden-Indonesia-Gila-Kalau-Saya-yang-Milih-yang-Gila; Ambaranie Nadia Kemala Movanita, “Cerita Fidel Castro yang ‘Ngakak’ Dengar Lelucon Gus Dur,” Kompas, 7 September 2017, https://nasional.kompas.com/read/2017/09/07/12100071/cerita-fidel-castro-yang-ngakak-dengar-lelucon-gus-dur?page=all;  “Kisah Gus Dur dan Castro di Hotel Melia Havana.” Detiknews, 5 January 2010, https://news.detik.com/berita/d-1272299/–kisah-gus-dur-dan-castro-di-hotel-melia-havana- เป็นต้น

[2] Rinaldy Sofwan Fakhrana, “Menelusuri Sen Terakhir Kekayaan Soeharto,” CNN Indonesia, 15 September 2015, https://www.cnnindonesia.com/nasional/20150915084109-12-78761/menelusuri-sen-terakhir-kekayaan-soeharto

[3] Fathoni Ahmad, “Humor Dus Dur: Macam-macam Karakter Presiden,” Nuonline, 29 April 2022, https://www.nu.or.id/humor/humor-gus-dur-macam-macam-karakter-presiden-ijF0r

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save