fbpx
บังเกอร์-42 หลุมหลบภัยจำลองสงครามนิวเคลียร์แห่งมอสโก

บังเกอร์-42 หลุมหลบภัยจำลองสงครามนิวเคลียร์แห่งมอสโก

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่องและภาพ

บังเกอร์-42

ความกลัวและสยองขวัญอย่างที่สุดของผู้คนในยุคสงครามเย็นช่วง 1950-1960 คือภัยพิบัติสิ้นโลกจากสงครามนิวเคลียร์  ในสหรัฐอเมริกา มีการแจกจ่ายคู่มือป้องกันภัยขีปนาวุธและการสร้างหลุมหลบภัย จะเกิดอะไรขึ้น หากในวิกฤตมิสไซล์คิวบาเมื่อปี 1962 เรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียตตัดสินใจยิงจรวดนิวเคลียร์ลงบนแผ่นดินอเมริกา ทำให้อเมริกาต้องตัดสินใจยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้ใส่ดินแดนของโซเวียต?

ด้วยความหวาดระแวงซึ่งกันและกันเช่นนี้ ทำให้สหภาพโซเวียตเริ่มโครงการบังเกอร์นิวเคลียร์ ที่เป็นทั้งฐานปฏิบัติการทางทหารใต้ดินและหลุมหลบภัยให้แก่บุคคลสำคัญรวมถึงนายทหารต่างๆ ด้วยความหวังว่า หากเกิดพิบัติภัยสงครามนิวเคลียร์แล้ว หลังจากบนพื้นดินราบเรียบพินาศสิ้นเพราะนิวเคลียร์ ผู้ที่เหลือรอดปลอดภัยในลำดับสุดท้ายจะเป็นผู้ชนะได้ครองโลก

การก่อสร้างบังเกอร์นิวเคลียร์เริ่มขึ้นในปี 1951 หลังโซเวียตแสดงแสนยานุภาพการสร้างและทดลองระเบิดนิวเคลียร์สำเร็จไม่นาน ฐานปฏิบัติการใต้ดินลึก 65 เมตรจากระดับพื้นดิน สร้างด้วยเทคโนโลยีแบบเดียวกับที่ใช้สร้างอุโมงค์รถไฟใต้ดินที่ลึกอย่างยิ่งของมอสโกในเขตทากันสกายา จากนั้นบังเกอร์ก็ขยายเป็นศูนย์บัญชาการป้องกันภัยทางอากาศของมอสโก เจาะสร้างเพิ่มอีกมากถึง 4 เขต ให้เจ้าหน้าที่ทหารประจำการผลัดเปลี่ยนกันตลอด 24 ชั่วโมง มีเสบียงอาหาร เครื่องปั่นไฟ เชื้อเพลิง เจาะบ่อบาดาลให้มีน้ำสะอาด และระบบกรองอากาศใต้ดินรองรับวิกฤตที่อาจมาถึงในทุกเมื่อ

แต่เหตุการณ์นิวเคลียร์ล้างโลกเช่นนั้นก็ไม่เกิดขึ้น

การทุ่มเงินงบประมาณมากมายไปกับอาวุธและการเตรียมพร้อมในสงคราม โดยละเลยพื้นฐานความป็นอยู่ของประชาชน ทำให้สภาพเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตเปราะบางอ่อนแอเป็นอย่างมาก เมื่อมิคาอิล กอร์บาชอฟ ประกาศนโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและสังคม กลาสนอสต์-เปเรสทรอยก้า ความโกลาหลในตลาดการค้า ทรัพยากร และสังคมก็เกิดขึ้น สหภาพโซเวียตล่มสลายลงพร้อมกับการถูกทิ้งร้างของสถานที่ทางการทหารที่เคยใช้ป้องกันประเทศจำนวนมากเนื่องจากขาดงบประมาณ

บังเกอร์-42

พื้นที่กว่า 7,000 ตารางเมตรของบังเกอร์หมายเลข 2 ก็เช่นเดียวกัน ใต้ดินลึกลงไปนั้นขาดพลังงานไฟฟ้าหล่อเลี้ยงและการบำรุงรักษา ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา แต่ยังมีกลุ่มทหารเก่าที่รักในงานที่ทำและคาดหวังว่าอุโมงค์บังเกอร์แห่งนี้อาจจะได้ใช้งานช่วยดูแลไว้ในความมืด

จนกระทั่งในปี 2006 รัฐบาลกลางรัสเซียได้ตัดสินใจเปิดประมูลหลุมหลบภัยนิวเคลียร์แห่งนี้ต่อสาธารณะ โดยบริษัท Novick-Service ชนะการประมูลด้วยราคา 65 ล้านรูเบิล ก่อนที่จะทุ่มเงินหลายร้อยล้านรูเบิลบูรณะปรับปรุงและตกแต่งใหม่ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร และสถานบันเทิงแนวย้อนยุคสงครามเย็น ในชื่อ Buker-42 Cold war Museum เปิดให้สาธารณชนเข้าเที่ยวชมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับโซเวียต และย้ำเตือนว่าครั้งหนึ่งโลกเราเคยตกอยู่ในอันตรายมากเพียงใด

จากสถานีรถไฟใต้ดิน Taganskaya (สายสีส้มหรือสีม่วง) เพียงไม่กี่นาที เราก็สามารถเดินเข้ามาที่ Bunker-42 ได้ ประตูด้านหน้าสีเขียวหนาหนักที่ประดับดาวแดงชวนย้อนให้ระลึกถึงคืนวันก่อนโซเวียตจะล่มสลาย เราสามารถซื้อตั๋วเข้าชมเป็นรอบๆ ได้หน้าบังเกอร์ หรือโทรมาจองก่อนโดยพนักงานพูดภาษาอังกฤษต้อนรับเราได้อย่างดี หรือหากถ้ามีบัตรมอสโกพาส ก็สามารถเข้าชมได้ในรอบ 18:30 น. ของทุกวัน

เมื่อถึงรอบเข้าชม พนักงานหนุ่มหน้าตายที่หน้าตา หุ่น การแต่งตัว รวมถึงสำเนียงการพูดคล้ายทหาร ก็จะแจกบัตรประจำตัวลงชื่อพร้อมภาพแบบใส่หน้ากากป้องกันกัมมันตภาพรังสีให้เราเป็นที่ระลึก ก่อนพาเราลงบันได 13 ชั้นไปสู่โลกยุคสงครามเย็น อุโมงค์บังเกอร์หุ้มเหล็กสีแดงฉาน มีเลขานุการทหารสาวรัสเซียหุ่นนางแบบเดินถือแฟ้มไปมา และทหารถือปืนอาก้าเฝ้าคุ้มกันจนแทบแยกไม่ออกว่าเป็นเรื่องจริงหรือตัวแสดงแทน ผู้นำชมจะค่อยๆ อธิบายการก่อสร้างและการใช้งานของบังเกอร์แห่งนี้ไปทีละห้อง ฉายภาพยนตร์เรื่องวิกฤตนิวเคลียร์ ก่อนจะโชว์ไฮไลต์สำคัญ คือห้องปฏิบัติการยิงนิวเคลียร์จำลองพร้อมเปลือกหุ้มระเบิดนิวเคลียร์ที่ขนย้ายมาจากจอร์เจีย และให้อาสาสมัครทดลองบิดกุญแจยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้อเมริกา

บังเกอร์-42

บังเกอร์-42

บนเทอร์มินัลคอมพิวเตอร์ยุคสงครามเย็นที่ดูเหมือนจริง มีประกาศจำลองการยิงนิวเคลียร์ของอเมริกาต่อโซเวียต แจ้งให้เราดำเนินการกดปุ่มระเบิดนิวเคลียร์ส่งไปหาอเมริกา และวิดีโอจำลองความพินาศของสงครามนิวเคลียร์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น เป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง จากนั้นเราก็จะได้เข้าชมอุปกรณ์สื่อสาร ห้องประกาศข่าวยุคสงครามเย็น รวมถึงบทประกาศเรื่องสงครามนิวเคลียร์ที่ไม่ได้ใช้งาน ก่อนจะพบกับเซอร์ไพรส์ของบังเกอร์

(ถ้าท่านอยากไปชม กรุณาข้ามส่วนนี้ครับ – เปิดเผยข้อมูลลับ)

กดเพื่ออ่านข้อความ
เมื่อเราเข้าไปถึงอุโมงค์หลบภัยของนายทหารชั้นสูงและเหล่าผู้นำที่เป็นทางตัน ไฟก็จะดับลง พร้อมเสียงหวอเตือนภัยดังลั่นแจ้งอันตรายในภาษารัสเซีย ไฟสัญญาณสีแดงกระพริบชวนอกสั่นขวัญแขวนอยู่กว่านาที ก่อนที่ผู้นำชมจะเปิดประตูให้แสงสว่างเข้ามาและกล่าวแสดงความยินดีด้วยหน้าตายและเสียงเรียบๆ ว่า “เราชนะสงครามแล้ว”

บังเกอร์-42

เมื่อจบการนำชมที่ยาวนานกว่า 1 ชั่วโมง ผู้นำทัวร์จะให้เราเลือกว่ากลับขึ้นไปสู่โลกยุคปัจจุบันกับเขา โดยเรายังต้องปีนบันไดขึ้นไป 13 ชั้นสูง 65 เมตรอีกรอบ หรือจะอยู่รับประทานอาหารในห้องอาหารที่ตกแต่งหรูหราแบบนายทหารและผู้นำคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็น (และขึ้นลิฟต์กลับสู่พื้นโลกได้) เป็นอารมณ์ขันหน้าตายแบบรัสเซียที่หัวเราะไม่ออกเลยทีเดียว

พิพิธภัณฑ์สงครามเย็น Bunker-42 นับเป็นสถานที่ที่คนรักประวัติศาสตร์ยุคใกล้น่ามาเยือน และเรียนรู้จากสถานที่จริง อุปกรณ์จริง และความจริงในอีกมุมที่ตรงข้ามกับประวัติศาสตร์แบบสหรัฐอเมริกาที่คนไทยเรียนมาโดยตลอด ด้วยความสมจริงสมจังเจือด้วยอารมณ์ขันเย็นเยียบแบบรัสเซีย จะทำให้การมาเยือนราคา 2400 รูเบิลนี้คุ้มค่าทุกวินาทีที่ก้าวลงไปในอุโมงค์

บังเกอร์-42

Bunker-42 Tagansky protected point สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

http://bunker42.com/eng/

ที่มาภาพปกจาก Official Website Bunker-42

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save