fbpx
ซึมเศร้าแบบคนสูงวัย ใครว่าไม่เป็นปัญหา ?

ซึมเศร้าแบบคนสูงวัย ใครว่าไม่เป็นปัญหา ?

จารุกิตติ์ ธีรตาพงศ์ เรื่อง

พอมนุษย์อายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น โลกก็เลยแก่ลงเรื่อยๆ เพราะโลกมีประชากรสูงอายุจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เลยเกิดเป็นสถานการณ์ ‘สังคมสูงวัย’ (Aging Society) ขึ้นมา

 

ปัจจุบันโลกมีคนสูงวัยที่อายุมากกว่า 65 ปีทั้งหมด 600 ล้านคน แต่ถ้าถึงปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ไว้ว่า จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลก ซึ่งเท่ากับ 2,000 ล้านคน

2,000 ล้านคน นี่มันเกือบ 30 เท่า ของประชากรประเทศไทยเลยนะคุณ!

หันกลับมาดูประเทศไทย เราก็เผชิญกับสถานการณ์เดียวกันด้วย (ทันสมัยไหมล่ะ) สมมติว่าประเทศไทยมีคนหนึ่งร้อยคน ในปัจจุบันจะมี 10 คน ที่เราเห็นว่าเป็นคนสูงวัย แต่อีกสามสิบปีข้างหน้า ในประชากรจำนวนเท่ากัน เราจะเห็นคนสูงวัย 25 คน พูดง่ายๆ คือบ้านเราจะมีคนสูงวัยถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ

เริ่มเห็นคนสูงวัยในประเทศไทยเยอะขนาดนี้ ที่จริงแล้วปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดจากจำนวนคนเฒ่าคนแก่ที่มากขึ้นเรื่อยๆ เพียงอย่างเดียว แต่สังคมสูงวัยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอายุของประชากร โดยเฉพาะประชากรผู้สูงอายุปี 2010 ถึง 2040 ที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.2 เป็นร้อยละ 32.1

กลับกัน ประชากรวัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) และวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) จะลดลง สรุปคือ ในอดีตมีคนเกิดจำนวนมาก เมื่อคนเหล่านี้เติบโตขึ้น รุ่นถัดมากลับมีจำนวนน้อยกว่าคนรุ่นก่อน แล้วเด็กที่เกิดใหม่ก็มีจำนวนไม่มากเท่าคนรุ่นที่เกิดเยอะ ทั้งหมดเกิดเป็นสังคมที่มีประชากรสูงวัยมากกว่าวัยอื่นๆ

สังคมสูงวัยจึงนำไปสู่ผลกระทบอื่นๆ อีกหลายเรื่อง

 

สูงวัยใครว่าไม่ซึมเศร้า

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรส่งผลกระทบในหลายด้าน ผลการวิจัยเรื่อง ‘ความอยู่ดีมีสุขของครัวเรือนชนบทไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคม’ ปี 2559 ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดความเป็นอยู่ในแบบที่ผู้สูงวัยต้องดูแลตนเอง ดูแลกันเอง และแบบที่ไม่มีคนดูแล

ในประเทศไทยมีผู้สูงวัยที่อยู่อาศัยเพียงลำพังไม่น้อย ข้อมูลจากสำนักงานระบาดวิทยาปี 2559 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้สูงวัยที่โดดเดี่ยวมากกว่า 8 แสนคน ความโดดเดี่ยวในแง่นี้ถือเป็นปัญหาที่เกิดจากการที่ผู้สูงวัยกลุ่มนี้อาศัยอยู่บ้านเพียงลำพัง สาเหตุมาจากคนกลุ่มนี้อาจจะโสด หรือหย่าร้างกับคู่ของตน หรืออาจจะไม่มีลูกหลานดูแล ไม่ได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง ขาดคนพึ่งพิง ลงเอยเป็นชีวิตที่โดดเดี่ยวในช่วงบั้นปลายชีวิต

ในประเทศไทยมีรายงานออกมาอีกว่า ปีที่ผ่านมา ผู้สูงวัยจำนวน 5,963 คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ในจำนวนนี้มีเพียง 575 คนที่ได้รับการรักษา ผลจากภาวะซึมเศร้าซึ่งเกิดจากความโดดเดี่ยว

ผลการวิจัยของ National Social Life, Health and Aging Project (NSHAP) แสดงให้เห็นว่า ผู้ใหญ่หรือคนมีอายุที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม จะส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและสภาวะจิตใจ ผลการวิจัยบอกอีกว่าผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะมีสุขภาพจิตย่ำแย่ การอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะปัญหาทางด้านจิตใจ

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากประเทศอเมริกา พบผลที่น่าสนใจหลายข้อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น สองในสามของคนฆ่าตัวตาย มีประวัติว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน หรือการพบว่าโรคซึมเศร้าเป็นจุดเริ่มต้นของโรคอื่นๆ ปัญหาที่ตามมาคือผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคงไม่มีประเทศไหนในโลกอยากให้มีคนซึมเศร้าแล้วฆ่าตัวตายอย่างแน่นอน

ปี 2559 บ้านเรามีผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 5,900 คน แม้เรื่องนี้จะดูค่อนข้างไกลตัว เพราะผลกระทบทางสังคมจากผู้สูงวัยที่โดดเดี่ยวยังไม่แสดงออกมาให้เห็นชัด แต่ทิศทางข้อมูลพอจะบอกได้ว่า ประชากรวัยแรงงานในปัจจุบันมีโอกาสจะใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในอนาคต

จากสถิติคนจดทะเบียนสมรสและทะเบียนหย่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เผยให้เห็นแนวโน้มว่า จำนวนคู่ที่จดทะเบียนสมรสมีตัวเลขค่อนข้างผันผวน ทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ขณะที่คนจดทะเบียนหย่ากลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ เช่นในปี 2012 มีทั้งหมด 111,377 คู่ จนปี 2016 เพิ่มขึ้นเป็น 118,539 คู่ แนวโน้มเช่นนี้พอจะบอกได้ว่า รูปแบบของสถาบันครอบครัวกำลังเปลี่ยนแปลง จากสังคมที่เพียบพร้อมไปด้วยพ่อแม่ลูก อาจกลายเป็นลักษณะของสังคมเดี่ยวที่คนจะอยู่แบบ ‘ตัวคนเดียว’ มากขึ้น

รับมือสังคมสูงวัย

อย่างที่บอกว่าทั่วโลกต้องเผชิญกับสังคมสูงวัย องค์การสหประชาชาติมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลหันมาดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศ และสนับสนุนให้คนมีลูกมากขึ้น

ในประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลจะจ่ายเงินให้สองพันถึงห้าพันดอลลาร์ต่อเด็กหนึ่งคนในครอบครัว ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลสิงคโปร์ยังมองว่าการศึกษาจะทำให้คนมีประสิทธิภาพ

ในทางกลับกัน ประเทศจีนมีการวางแผนระยะยาวโดยให้ครอบครัวหยุดมีลูก เพราะจะช่วยลดจำนวนประชากรได้ โดยในอีก 15 ปีถัดมา จีนจะลดอัตราการเกิดของประชากรชายได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

สำหรับประเทศไทยมีอย่างน้อย 2 ประเด็นหลักๆ ที่ต้องรับมือคือ ด้านเศรษฐกิจในระยะยาว และคุณภาพชีวิต

ด้านเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ตั้งแต่ถนนหนทาง ตลาดบริการ-สินค้าสำหรับผู้สูงวัย การเข้าถึงเทคโนโลยี ว่าโดยรวมคือสภาพแวดล้อมที่ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตได้ ซึ่งเรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับเรื่อง ‘เงิน’ ปัจจัยในการดำรงชีวิตในสังคม ทุกวันนี้ผู้สูงวัยส่วนใหญ่แทบจะไม่มีรายได้เมื่อถึงบั้นปลายชีวิต ในบ้านเราเริ่มมีการแก้ปัญหาด้วยการจ้างงานผู้สูงวัยให้เข้ามาทำงานมากขึ้น นับเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องเงิน ส่งเสริมการออมในผู้สูงวัย ตลอดจนการขยายอายุเกษียณของราชการ

ด้านคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ถือเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวัง สวัสดิการสังคมที่ตรงกับความต้องการของผู้สูงวัย ทั้งเรื่องสุขภาพ-สาธารณสุข ที่อยู่อาศัยและในด้านอื่นๆ จะทำให้ผู้สูงวัยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงวัยจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ผู้สูงวัยทุกคนที่จะมีชีวิตสุขสบาย ผู้สูงวัยบางกลุ่มอาจดูแลตัวเองได้ มีบ้างที่ลูกหลานเลี้ยงดู แต่ก็มีไม่น้อยที่ใช้ชีวิตอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เพียงลำพัง

สังคมสูงวัยคือสถานการณ์ที่ต้องรับมือ ความโดดเดี่ยวในผู้สูงวัยคือปัญหาที่ต้องแก้ไข ทว่าทั้งสองสิ่งนี้เชื่อมถึงกัน เมื่อคนสูงวัยเข้าไม่ถึงการมีชีวิตที่ดีจึงนำไปสู่ปัญหามากมาย

 

ปัญหานี้เป็นปัญหาระยะยาว เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกคนก็ต้องกลายเป็นผู้สูงวัยในวันหน้ากันทั้งนั้น

ถ้าไม่ตายกันไปเสียก่อน!

 

เอกสารอ้างอิง

บทความเรื่อง Aging & Isolation – Causes and Impacts ของ Lauren Snedeker

บทความเรื่อง โรคซึมเศร้า: ปัญหาใหญ่ที่คนไทยมักลืม ของ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี จาก thaipublica

บทความเรื่อง The World’s Ageing Populationhttp

บทความเรื่อง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย (Aging Society in Thailand) 

บทความเรื่อง 4 แนวทางรับมือ ‘สังคมสูงอายุ’ ของ อนุสันต์ เทียนทอง พิมพ์ครั้งแรกจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ ธุรกิจ

งานวิจัยเรื่อง ความอยู่ดีมีสุขของครัวเรือนชนบทไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคม ของ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา, ดร.ศุทธิดา ชวนวัน, นายวิชาญ ชูรัตน์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save