fbpx
‘การศึกษาเรือแตก สู่ทางเลือกที่เลือกไม่ได้’ เมื่อโรงเรียนที่มีคุณภาพไม่ใช่ของทุกคน

‘การศึกษาเรือแตก สู่ทางเลือกที่เลือกไม่ได้’ เมื่อโรงเรียนที่มีคุณภาพไม่ใช่ของทุกคน

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

“จ่ายล่วงหน้า 2 ปีค่ะ ยอดต่อเดือนบอกไม่ได้ ต้องมาคุยกับผอ.เอง”

เสียงเจ้าหน้าที่สาวที่ปลายสายตอบกลับมาและพยายามไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงจำนวนเงินที่ผู้ปกครองจะต้องจ่ายเพื่อให้ลูกเข้าเรียน ป.1 ในโควตาผู้มีอุปการคุณของโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

‘โรงเรียนสาธิต’ เป็นเป้าหมายของพ่อแม่จำนวนมากที่อยากให้ลูกเข้าเรียนเพื่อปูทางสู่การเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง พร้อมคาดหวังถึงอนาคตที่ดีของลูก

หลายครอบครัวยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้เบียดเข้าไปเรียนในที่นั่งจำกัด เลือกให้ลูกติวเตรียมสอบตั้งแต่อนุบาล พ่อแม่ที่ไม่มั่นใจว่าลูกจะสอบได้ก็เลือกบริจาคเงินให้โรงเรียนล่วงหน้าเพื่อให้เข้าเรียนในโควตาผู้มีอุปการคุณ

จากการโทรสอบถามเงื่อนไขการรับเด็กเข้าในโควตาดังกล่าว เจ้าหน้าที่สมาคมผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่โรงเรียนสาธิตยืนยันตรงกันว่าต้องบริจาคเงินก่อนที่เด็กจะเข้า ป.1 สองปี และต้องเข้ามาช่วยกิจกรรมโรงเรียน แต่ยังไม่สามารถล็อคที่นั่งได้ ต้องดูจากจำนวนโควตาเด็กอุปการคุณแต่ละปี

“โครงการนี้ต้องทำก่อนน้องเข้าเรียน 2 ปี การสนับสนุนมีประมาณ 4 ด้าน เช่น ด้านทรัพยากร ด้านวิชาชีพ หรือด้านวิชาการก็ต้องมาสอนด้วย”

เจ้าหน้าที่ยืนยันให้มาฟังรายละเอียดจากผู้อำนวยการโรงเรียนด้วยตัวเอง โดยจะนัดคุยกับกลุ่มผู้ปกครองที่สนใจเดือนละครั้ง

ข้อมูลดังกล่าวตรงกับที่มีการแลกเปลี่ยนกันในหมู่ผู้ปกครองว่าโรงเรียนสาธิตดังกล่าวกำหนดยอดบริจาครวมอยู่เป็นหลักแสนถึงหลักล้าน แบ่งจ่ายรายเดือน และพ่อแม่ต้องเข้าไปช่วยงานสมาคมผู้ปกครองหรือช่วยงานโรงเรียนล่วงหน้า 2 ปี แต่บางคนจ่ายไปแล้วลูกไม่ได้เรียน ถ้าปีนั้นที่นั่งน้อยแล้วโรงเรียนต้องเลือกว่าผู้ปกครองคนไหนช่วยเหลือโรงเรียนมากกว่ากัน

โควตาดังกล่าวแยกออกจากสัดส่วนเด็กสอบเข้าในระบบปกติเพื่อป้องกันเด็กที่เตรียมตัวสอบเข้าเสียประโยชน์

การเป็นโรงเรียนชื่อดังที่มีการแข่งขันสูงทำให้โรงเรียนมีตัวเลือกมากและสามารถเพิ่มเงื่อนไขในการรับเด็กเล็กเข้าเรียนได้มากขึ้น ทั้งในรูปแบบการสอบเข้า (แล้วบังคับให้กรอกเงินบริจาค) การสัมภาษณ์พ่อแม่ที่เป็นการคัดโปรไฟล์ครอบครัวที่มีฐานะและชื่อเสียง หรือกระทั่งโควตาผู้มีอุปการคุณที่ไม่ต่างกับการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ เพียงแต่ให้แบ่งจ่ายรายเดือนเพื่อให้กลายเป็นผู้ช่วยเหลือโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

การทำเช่นนี้ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย เมื่อครอบครัวที่มีทรัพยากรมากสามารถเลือกการศึกษาที่ดีให้ลูกได้ ต่อให้เป็นโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงก็สามารถใช้เงินเบิกทางให้เข้าไปนั่งเรียนได้

แต่ในประเทศที่ระบบการศึกษามีปัญหา พ่อแม่ย่อมไขว่ขว้าทางเลือกที่ดีที่สุดให้ลูกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจของตัวเอง เพื่อหวังว่าลูกจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ทั้งที่สิ่งนี้ควรเป็นบริการพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

 

จ่ายมากกว่า ได้มากกว่า?

 

การพยายามพาลูกหนีออกจากระบบการศึกษาไทยที่มีปัญหาเรื้อรังและไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการรักษาในเร็ววัน หนทางที่มีคือมองหาทางเลือกอื่น นั่นคือโรงเรียนเอกชน โดยเฉพาะโรงเรียนทางเลือกและโรงเรียนนานาชาติที่มีหลักสูตรเหมาะสมกับพัฒนาการเด็ก

แชมป์ พนักงานบริษัทเอกชนและคุณพ่อของลูกสาววัย 3 ขวบ เลือกส่งลูกเข้าเตรียมอนุบาลที่โรงเรียนทางเลือกระบบมอนเตสซอรี่ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านในย่านกลางกรุงเทพฯ เขาเลือกโรงเรียนนี้เพราะชอบหลักสูตรที่ให้เด็กได้ทำกิจกรรมตามความสนใจ และหวังให้ลูกเรียนในระบบมอนเตสซอรี่ในระดับชั้นต่อๆ ไปเท่าที่จะทำได้ เพื่อหลีกหนีจากหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการและการสอบแข่งขัน

“ผมอยากให้ลูกได้ทำในสิ่งที่เขาสนใจ ตอนเด็กผมไม่สนุกกับการเรียน ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไปเรียนอะไรแบบนั้น ถ้าเลือกได้อยากให้เขามีโอกาสที่ดีกว่าเรา ไม่คิดว่าเขาจะต้องเข้าโรงเรียนดังที่เก่งวิชาการ เด็กจะเหนื่อยถ้าต้องแข่งขนาดนั้น ปัจจุบันทางเลือกอาชีพกว้างขึ้น เด็กควรได้ทำอะไรที่เขาสนใจจริงๆ เขาควรได้เลือกว่าชีวิตของเขาจะไปทางไหน

“เห็นเด็กติวสอบป.1 แล้วสงสาร จิตแพทย์เด็กบอกว่าเด็กควรเรียนหนังสือตอน 7 ขวบ แต่ครอบครัวเราจำเป็นต้องส่งเข้าโรงเรียนเร็ว ตอนลูก 2 ปี 4 เดือน ภรรยาผมต้องกลับไปทำงาน ตอนกลางวันไม่มีคนเลี้ยง ถ้ามีทางเลือกผมอาจให้ลูกเข้าโรงเรียนช้ากว่านี้”

โรงเรียนมอนเตสซอรี่แห่งนี้คิดค่าใช้จ่ายชั้นเตรียมอนุบาลเดือนละ 7 พันบาทรวมค่าฝากตอนเย็น ระดับอนุบาลเทอมละ 3 หมื่นกว่าบาท แชมป์บอกว่าเป็นราคาที่จ่ายได้ แต่ก็รู้สึกว่าแพง โดยเฉพาะช่วงที่ภรรยายังไม่ได้กลับไปทำงาน ค่าใช้จ่ายทุกอย่างในบ้านมาจากรายได้ของเขาทางเดียว

แชมป์บอกว่าที่จริงเขาอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนทางเลือกชื่อดังอีกแห่งหนึ่งแต่เข้ายากเพราะเน้นรับนักเรียนในพื้นที่และจับสลาก ส่วนโรงเรียนทางเลือกที่ค่าเทอมหลักแสนและต้องจองตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องนั้นก็ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ

สิ่งที่แชมป์รู้สึกว่าเลือกไม่ได้ แม้แต่ในโรงเรียนทางเลือก ก็คือการปลูกฝังความเชื่อตามค่านิยมของสังคมให้กับเด็กเล็ก มีกิจกรรมที่หล่อหลอมความเชื่อต่างๆ ซึ่งเขาคิดว่าเด็กไม่ควรถูกชี้นำให้เชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่ตั้งคำถามตั้งแต่อายุยังน้อย

“เกือบทุกโรงเรียนอยู่ในระบบที่ถูกออกแบบมาแล้วว่าจะให้เด็กเชื่ออะไร เพื่อนผมส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติที่ไม่มีการปลูกฝังความเชื่อเหล่านี้ แต่ค่าเทอมแสนกว่าบาท ปีนึงมีสามเทอม เป็นทางเลือกทางการศึกษาที่เป็นไปตามปัจจัยทางเศรษฐกิจ ถ้าคุณไม่มีเงินจ่ายก็ต้องเลือกโรงเรียนอีกแบบหนึ่ง ถ้ามีเงินคุณก็เลือกโรงเรียนดีกว่าได้”

 

 

นอกจากเรื่องหลักสูตรที่แตกต่างจากภาครัฐ พ่อแม่บางคนยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้ลูกเข้าโรงเรียนที่เชื่อว่าจะเป็นการสร้างคอนเนคชั่นที่ดี คล้ายเป็นการซื้อสังคมให้ลูก

เอม คุณแม่ของลูกสาววัย 3 ขวบซึ่งประกอบธุรกิจส่วนตัว เลือกส่งลูกเรียนอนุบาลใน English Program (อีพี) ‘โรงเรียนเอกชน A’ ย่านบางแค เพราะอยากให้ลูกเน้นภาษาและมีนักเรียนต่อห้องไม่มาก เป็นโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรบูรณาการ เน้นเรียนรู้จากการปฏิบัติและให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ต่างจากโรงเรียนทางเลือกบางประเภทที่เน้นให้เด็กเล็กเล่นอย่างเดียว

หลักสูตรอีพีโรงเรียนเอกชน A ค่าเทอม 57,000 บาท ถ้าเป็นหลักสูตรนานาชาติค่าเทอมมากกว่า 100,000 บาท

เอมบอกว่าทีแรกสนใจ ‘โรงเรียนเอกชน B’ ซึ่งใกล้บ้านและมีชื่อเสียงกว่า เป็นโรงเรียนที่เน้นวิชาการ ขึ้นชื่อในเรื่องการติวเด็กอนุบาลให้สอบเข้าโรงเรียนสาธิตและโรงเรียนคาทอลิกดังๆ ได้ เพื่อนของเอมที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนนี้บอกว่าเมื่อเข้าเรียน ทางโรงเรียนจะถามทันทีว่าอยากให้ลูกสอบเข้า ป.1 ที่ไหน และเด็กทุกคนจะติวเสริมตอนเย็น โรงเรียนแห่งนี้ค่าเทอม 60,000 – 100,000 บาท ไม่ต้องสอบเข้าแต่ต้องจองล่วงหน้าเป็นปี

สุดท้ายเธอไม่เลือกโรงเรียนเอกชน B เพราะไม่อยากให้ลูกต้องเครียดเรื่องเรียนตั้งแต่เล็ก เด็กวัยนี้ควรได้เล่นและใช้เวลากับครอบครัวให้มาก

เมื่อถามถึงโรงเรียนรัฐใกล้บ้าน เอมยอมรับว่าเธอไม่ได้หาข้อมูลเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการสอนระดับอนุบาลหรือไม่ และคิดว่าในหนึ่งห้องเรียนน่าจะมีเด็กจำนวนมากจนครูดูแลไม่ทั่วถึง

“ตอนประถมเราเรียนโรงเรียนคอนแวนต์ มัธยมเรียนโรงเรียนรัฐ พอกลับมาเจอกันตอนนี้จะเห็นความแตกต่างว่าเพื่อนมัธยมจะมีฐานะแตกต่างกันไป ยิ่งบางคนจบมหาวิทยาลัยไม่ดังก็จะมีหน้าที่การงานแบบหนึ่ง แต่เพื่อนคอนแวนต์สมัยประถมแต่ละคนจะฐานะดี หน้าที่การงานดี จบมหาวิทยาลัยดัง พอมีครอบครัวก็ได้สามีดี อยู่ในสังคมที่ดี คอนเนคชั่นดี พอเดือดร้อนก็มีเพื่อนช่วยเหลือ

“สมัยนี้การเข้าโรงเรียนของเด็กการแข่งขันสูงกว่าแต่ก่อนมาก มีเพื่อนคนหนึ่งให้ลูกย้ายไปโรงเรียนที่อัดวิชาการเพราะจะให้สอบเข้า ป.1 โรงเรียนคาทอลิกดัง ถ้าเรียนอนุบาลที่โรงเรียนเดิมวิชาการจะไม่แน่น นี่ไม่ใช่เด็กแข่งกัน แต่เป็นพ่อแม่ที่แข่งขันกัน พ่อแม่อยากให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก แต่ต้องดูกำลังของเรากับลูกด้วย อ่านพันทิปเจอมาว่ามีโรงเรียนอีพีที่พระราม2 ป.1 แรกเข้า 3 แสนบาท ค่าโน่นนี่ 2.5 แสน ต้องให้โรงเรียนยืมอีก 3 แสนบาทเพื่อไปสร้างตึกแต่จะได้รับคืนตอนจบ รวมประมาณ 8 แสนบาท เทอมต่อไป 1.6 แสนบาท ราคานี้ให้เรียนอินเตอร์ดีกว่า หาค่าเทอมลูกคนเดียวก็เหนื่อยแล้ว” เอมกล่าว

 

 

ตัวอย่างภาคอีสาน : เลือกโรงเรียนดีคือการลงทุนที่คุ้มค่า

 

สภาพการช่วงชิงที่นั่งในโรงเรียนสำหรับเด็กเล็กเกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในจังหวัดใหญ่ยังมีโรงเรียนที่มีคุณภาพหลายแบบให้เลือก แต่หากเป็นจังหวัดเล็กที่ตัวเลือกจำกัดอาจต้องส่งลูกไปเรียนในจังหวัดใหญ่ใกล้เคียง

บิว คุณแม่ลูกสาม วัย 4 ปี, 3 ปี และ 10 เดือน เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวในจังหวัดใหญ่ทางภาคอีสาน ปัจจุบันลูกคนโตของเธอเรียนชั้นอนุบาลโปรแกรมภาษาอังกฤษโรงเรียนเอกชน C คนกลางเรียนโปรแกรมภาษาไทยโรงเรียนเดียวกัน โดยทั้งสองโปรแกรมตั้งแยกกันอยู่คนละสถานที่

ตอนแรกบิวให้ลูกคนโตเข้าโรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่งในจังหวัด เป็นโรงเรียนที่เน้นให้เด็กเล่น ทำกิจกรรม ทำนา และมองว่าเด็กไม่ควรเริ่มเรียนหนังสือเร็ว โรงเรียนเน้นว่าไม่ให้เด็กดูการ์ตูน หากเด็กพูดถึงการ์ตูนที่โรงเรียนพ่อแม่จะโดนโรงเรียนเรียกไปคุย ซึ่งเธอมองว่าเข้มงวดเกินไป

เธอเล่าว่าการเลือกโรงเรียนของเด็กในจังหวัดที่เธออยู่ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจของพ่อแม่ แต่ละโรงเรียนจะสามารถแยกกลุ่มผู้ปกครองได้คร่าวๆ เช่น โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดจะเป็นลูกข้าราชการและคนค้าขายทั่วไป โรงเรียนสาธิตและโรงเรียนเอกชน C ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจขนาดกลาง ส่วนโรงเรียนนานาชาติจะเป็นผู้ปกครองกลุ่มนักธุรกิจขนาดใหญ่และนักการเมือง

ในแวดวงนักธุรกิจที่เธอคลุกคลีอยู่มักส่งลูกเข้าเรียนอนุบาลที่โรงเรียนเอกชน C แล้วต่อป.1 ที่โรงเรียนสาธิตเพื่อเรียนไปจนถึงม.6 แต่ผู้ปกครองบางคนยอมจ่ายค่าเทอมป.1 ทั้งที่โรงเรียนเอกชน C และโรงเรียนสาธิต เพื่อกันที่โรงเรียนเดิมไว้ เผื่อลูกไปเรียนสาธิตแล้วไม่ชอบจะได้ย้ายกลับมา

บิวเล่าว่าโปรแกรมอีพีของโรงเรียนเอกชน C เป็นที่นิยมมาก ต้องนำลูกมาเข้าเนอสเซอรี่ของโรงเรียนตั้งแต่อายุราว 1 ปีครึ่ง จึงจะมั่นใจได้ว่าลูกจะได้ที่นั่งในชั้นอนุบาล ผู้ปกครองบางคนไม่อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนเร็วเกินไปก็จะจ่ายค่าเทอมทิ้งไว้ ให้เด็กอยู่บ้านกับครอบครัวแล้วค่อยพามาเข้าเรียนตอนอนุบาล 1 โดยโปรแกรมอีพีค่าเทอม 50,000 บาท โปรแกรมภาษาไทยค่าเทอม 20,000 บาท

ลูกคนโตของเธอจองที่นั่งโปรแกรมอีพีไม่ทัน จึงเข้าเรียนโปรแกรมภาษาไทยเมื่ออายุ 2 ปี และเพิ่งได้ย้ายไปโปรแกรมอีพีเมื่ออายุ 4 ปี เพราะมีเด็กย้ายออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะไปสอบติดโรงเรียนสาธิต

ส่วนลูกคนกลางยังคงเรียนโปรแกรมภาษาไทยเพื่อเข้าคิวรอย้ายไปอีพี การที่สองโปรแกรมนี้ตั้งอยู่คนละสถานที่ ทำให้บิวเสียเวลารับส่งลูกจากสองแห่ง เธอบอกว่ามีคนรู้จักในโรงเรียนเสนอให้จ่ายเงินเพื่อลัดคิวย้ายลูกคนกลางไปอีพีโดยบอกว่า “แล้วแต่จะให้”

บิววางแผนให้ลูกเรียนโปรแกรมอีพีที่โรงเรียนเอกชน C ถึงป.6 แล้วต่อม.1 โปรแกรมอีพีที่โรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัด จากนั้นเข้ามหาวิทยาลัยภาคอินเตอร์ แล้วส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ

เธอไม่คิดจะให้ลูกไปสอบเข้าป.1 ที่สาธิต เพราะไม่อยากให้เด็กเคร่งเครียดวิชาการ

“คนที่ให้ลูกเข้าโรงเรียนเอกชน C จะไม่ซีเรียสเรื่องวิชาการ อยากให้ลูกกล้าพูดกล้าแสดงออก ได้คุยกับฝรั่ง อาจไม่ใช่เด็กเก่งวิชาการแต่มีทางของตัวเอง ส่วนพ่อแม่ที่อยากให้ลูกเป็นหมอก็จะให้เข้าสาธิต ซึ่งมีทั้งสอบแบบธรรมดากับ ‘สอบแบบเสียเงิน’ คือจ่าย 2 แสนบาท”

เธอบอกว่าหากเป็นชั้น ม.1 ที่โรงเรียนประจำจังหวัดต้องจ่ายเงินสูงกว่านี้ เธอได้ยินว่าสูงถึง 4 แสนบาท พ่อแม่ที่ลูกสอบไม่ติดแล้วต้องจ่ายเงินก็จะคิดว่าจ่ายไปแล้วคุ้มค่าที่ลูกได้เรียนโรงเรียนนี้ เพราะโรงเรียนต่างจังหวัดเด็กจะรู้จักกันหมด ลูกเรียนจบมาจะได้คอนเนคชั่น

บิวเล่าว่าพ่อแม่บางคนส่งลูกเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนถึง 2-3 ทุ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาล คล้ายแข่งกันเลี้ยงลูกให้ได้เด็กที่มีคุณภาพ

“พ่อแม่ที่ไม่รู้ว่าจะให้ลูกเติบโตมาเป็นยังไงก็จะกดดันให้ลูกทำอะไรก็ได้ให้ดีที่สุด อย่างพี่สาวเรามองว่าถ้าลูกนั่งดูการ์ตูนอยู่บ้านจะเสียเวลาเปล่าๆ ให้เอาเวลาไปเรียนพิเศษดีกว่า บางคนไปนั่งจองที่หน้าชั้นเรียนให้ลูกวันเปิดเรียน เข้าไปถ่ายรูปตอนลูกเรียน หรือกระทั่งเลือกเพื่อนให้ลูก ไปดูว่ามีเพื่อนชื่ออะไรบ้าง นิสัยเป็นยังไง แล้วบอกลูกว่าให้เล่นกับคนนี้เท่านั้น”

บิวมองว่าการเรียนในโรงเรียนชื่อดังไม่ใช่การรับประกันว่าเด็กจะมีอนาคตที่ดีเสมอไป แต่ทุกอย่างก็คือการลงทุน เธอยอมจ่ายได้หากสิ่งที่ได้กลับมาคุ้มค่า เช่นที่เธอและเพื่อนนักธุรกิจคนอื่นๆ นิยมทำประกันสุขภาพให้ลูกปีละ 1 แสนบาท รวมลูกสามคนปีละ 3 แสนบาท การซื้อประกันก็คือการลงทุนเช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายในการเข้าโรงเรียน หากลูกเข้าโรงเรียนที่ไม่ดีก็ต้องยอมรับว่าอาจได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดี จึงต้องหาตัวเลือกที่ดีที่สุด

“เราไม่ได้อยากเน้นวิชาการ เรากับสามีไม่ใช่คนเรียนเก่ง การให้ลูกเรียนหนักไม่ได้ตอบโจทย์ความสำเร็จเสมอไป เราแค่อยากเห็นลูกมีความสุข คิดถึงคนอื่น เสียสละให้คนอื่นได้ ชอบอะไรก็ทำอย่างจริงจัง เขาจะมาทำธุรกิจต่อจากเราหรือไม่ก็ได้ แต่เรามีรากฐานให้เขาแล้ว ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะพ่อแม่คาดหวังกับเราแล้วก็ไม่เป็นอย่างนั้น” บิวกล่าว

 

 

การศึกษาเรือแตก สู่ทางเลือกที่ตั้งคำถามไม่ได้

 

ในโรงเรียนชื่อดังหลายแห่ง การมีเงินอย่างเดียวอาจยังไม่สามารถทำให้เด็กเข้าเรียนได้ เมื่อมีที่นั่งจำกัดมาก ทำให้เด็กและผู้ปกครองต้องเข้าสู่การขับเคี่ยวอย่างหนัก

นนท์ คุณพ่อของลูกชายวัย 3 ขวบ ยอมรับว่าตัวเองผ่านกระบวนการหาโรงเรียนให้ลูกที่ยาวนาน เขาเริ่มหาโรงเรียนเตรียมอนุบาลตั้งแต่ลูกอายุ 1 ขวบครึ่ง เนื่องจากทำงานประจำทั้งสามีภรรยา โดยไม่อยากให้ลูกเรียนหนังสือหนักแต่เด็ก ตัวเลือกจึงมีโรงเรียนทางเลือกและโรงเรียนนานาชาติที่สอนโดยเน้นกิจกรรม

“ส่วนใหญ่ผู้ปกครองที่ส่งลูกเข้านานาชาติเพราะไม่อยากให้ลูกอยู่โรงเรียนที่เน้นส่งเด็กไปสอบแข่งเพื่อเข้าโรงเรียนที่เข้ายาก สายแข่งขันจะรู้กันว่าต้องส่งเข้าอนุบาลที่ ‘โรงเรียนเอกชน B’ (โรงเรียนเดียวกับที่เอมกล่าวถึง) เพื่อติวสอบเข้าป.1 สาธิตต่างๆ ผมไม่อยากให้ลูกเหนื่อยแต่เด็ก จึงอยากส่งเข้าโรงเรียนทางเลือกที่ดี เพราะโรงเรียนนานาชาติแพงเกินไป”

ครอบครัวนนท์อาศัยอยู่ชานเมืองกรุงเทพฯ มีโรงเรียนทางเลือกชื่อดังสองแห่ง ค่าเทอมหนึ่งแสนกว่าบาทใกล้เคียงกัน เขาจึงสมัครทั้งสองที่ โดย ‘โรงเรียนทางเลือก D’ เรียกสัมภาษณ์และตกลงรับลูกนนท์เข้าเรียน แต่ภรรยาคิดว่ามีโอกาสที่ ‘โรงเรียนทางเลือก E’ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านมากกว่าจะรับลูกชายเข้าเรียนด้วย จึงไม่ได้ให้ลูกเรียนที่โรงเรียนทางเลือก D

นนท์ไปรอซื้อใบสมัครที่โรงเรียนทางเลือก E ตั้งแต่ตี 2 เพราะรู้ข้อมูลจากเพื่อนบ้านที่เคยมาสมัครเรียนให้ลูกในปีก่อนๆ ว่าเคยมาเวลานี้จะได้คิวแรกๆ ปรากฏว่าเมื่อนนท์มาถึงมีพ่อแม่คนอื่นๆ เอาเต็นท์และเก้าอี้สนามมากางรอซื้อใบสมัครก่อนแล้ว คิวแรกมาตั้งแต่ 5 โมงเย็นของวันที่แล้ว ส่วนนนท์อยู่ในคิวกลางๆ โดยระบบคิวเป็นการจัดการกันเองของพ่อแม่ที่มาซื้อใบสมัครแล้วกลัวโดนคนอื่นแซงคิว จึงเอาใบเซ็นชื่อลงเวลามาวางไว้

เมื่อถึงตี 5 โรงเรียนจึงเปิดประตู พ่อแม่เดินเรียงตามคิวที่จัดกันเองเข้าไปหยิบเลขคิวของโรงเรียน แล้วกลับมาใหม่ตอน 7 โมงเช้าซึ่งเป็นเวลาเปิดขายใบสมัคร เพื่อซื้อใบสมัครตามเลขที่หยิบได้

“พลังพ่อแม่มีศักยภาพสูงมาก เพิ่งรู้สึกว่าสังคมไทยมีระเบียบครั้งนี้แหละ ตอนหยิบเลขคนก็ยอมรับคิวที่เรียงกันมาเองโดยไม่มีเจ้าหน้าที่โรงเรียนจัดการ คนจัดการคือแม่คนหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับโรงเรียน เป็นคนดูแลคิวตั้งแต่ 1-90 เขาคงเห็นว่าถ้าไม่มีใครอาสาทำคงจัดการกันไม่ได้”

โรงเรียนทางเลือก E เปิดขายใบสมัคร 90 ใบ แต่รับจริงแค่ 30 คน พ่อแม่ทุกคนที่ซื้อใบสมัครต้องมาเข้ารับการอบรมของโรงเรียนหนึ่งวันเต็ม

“พ่อแม่ทุกคนไปร่วมเพราะหวังจะให้ลูกได้เรียน มีวิทยากรภายนอกมาบรรยายคล้ายวิธีการโค้ชชิ่ง เขาบิวด์จากความรู้สึกผิดและความเปราะบางของเรา แล้วค่อยเสนอทางออกให้เรายึดเอาไว้ ภายใต้สภาวะที่จิตใจเปราะบางมาก”

นนท์บอกว่าพ่อแม่ที่มีลูกเล็กมักจะมีความรู้สึกผิดอยู่แล้ว โดยเฉพาะแม่ที่มักรู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่ที่ดีไม่ได้อย่างที่หวัง แต่วิทยากรพูดชักจูงเน้นย้ำให้พ่อแม่รู้สึกผิดมากขึ้นไปอีก เช่น พูดให้รู้สึกผิดที่ขัดแย้งกับปู่ย่าตายายที่มีวิธีเลี้ยงเด็กต่างจากตัวเอง “นึกดูนะว่าถ้าวันหนึ่งลูกเราโตขึ้นไปแล้วทำแบบนั้นกับเราจะรู้สึกยังไง”

“เขาให้เราสารภาพกับคู่ชีวิตถึงสิ่งที่ทำผิดพลาดไปในการเลี้ยงลูก ไม่เข้าใจว่าทำไมโรงเรียนใช้ความรู้สึกนี้มาบิวด์ตลอดครึ่งวันเช้า เล่นกับอารมณ์เยอะ อยู่ในบรรยากาศที่ทุกคนร้องไห้กันหมด ตอนนั้นผมมีคำถามแต่ไม่ได้พูดออกไปเพราะผอ.โรงเรียนมาดูด้วย กลัวลูกไม่ได้เข้าเรียน พ่อแม่ที่มีลูกเล็กอารมณ์เปราะบางมาก เป็นช่วงเสี่ยงจะมีปัญหาสุขภาพจิตง่ายมาก บางคนเป็นซึมเศร้าหลังคลอด โรงเรียนไม่น่าใช้วิธีนี้เพื่อจะฝึกฝนพ่อแม่ ทำแบบนี้ไม่คิดว่าเกิดประโยชน์อะไร แต่คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งในการยึดถือความเชื่อของเขาโดยบอกว่าเป็นความหวังดี”

นนท์มองว่าโรงเรียนทางเลือกบางประเภทที่ตึงเกินไปจะวางตัวเองในลักษณะคล้าย ‘ลัทธิ’ เนื่องจากเป็นการหยิบยื่นทางเลือกให้พ่อแม่ที่พยายามหนีจากระบบการศึกษาไทย แต่การจะเชื่อในทางเลือกนั้นได้จำเป็นต้องทำให้คนยึดถือคุณค่าบางอย่างและเรียกร้องจากพ่อแม่สูง หากพ่อแม่ไม่ทำตามก็จะโดนโรงเรียนต่อว่าว่าไม่เสียสละให้ลูก

เมื่อถึงรอบสัมภาษณ์ นนท์คิดว่าโรงเรียนน่าจะเลือกเด็กได้ครบ 30 คนแล้วเนื่องจากมีตัวเลือกมาก เพื่อนบ้านแนะนำว่าให้เขารีบแสดงตัวว่ารู้จักคนที่มีชื่อเสียงเพื่อจะได้โดดเด่นขึ้นมาจากผู้สมัคร 90 คน คล้ายโชว์ว่าตัวเองเหมาะสมกับโรงเรียนยังไง แต่นนท์ไม่ได้ทำ

“ตอนไปสัมภาษณ์ลูกผมเล็กมาก ยังไม่ถึงสองขวบ ช่วงนั้นเขาชอบรูปดาวถ้าเจอจะวิ่งไปเล่นตลอด แล้วผนังห้องสัมภาษณ์มีดาวเต็มไปหมด เขาให้ลูกผมทำอะไรก็ทำได้แป๊บเดียวแล้ววิ่งไปเล่นดาว ครูก็ถามว่าให้ลูกดูแท็บเล็ตใช่ไหม สงสัยว่าลูกผมจะมีปัญหาด้านพัฒนาการ พูดแต่ว่าแท็บเล็ตไม่ดีทำให้เด็กมีปัญหา หลังจากนั้นผมพาลูกไปให้หมอตรวจ หมอบอกว่าเป็นช่วงวัยที่ยังบอกไม่ได้ว่าผิดปกติทางพัฒนาการหรือเปล่า เขาไม่ควรทักว่าลูกเราผิดปกติ ประสบการณ์จากโรงเรียนนี้ทำให้ปั่นป่วนทางจิตใจมาก

“ผมคิดว่าต่อให้โรงเรียนดีขนาดไหนก็ต้องถูกตั้งคำถามได้ แต่ในความเป็นไทยพอเสนอเรื่องความดีแล้วจะเกิดความยึดมั่นเกินไป โรงเรียนนี้ก็เสนอว่านี่คือการเลี้ยงเด็กที่ดีที่ถูกต้อง จนเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่ในวิธีการและความเชื่อมั่นที่โรงเรียนแสดงออกมา”

สุดท้ายโรงเรียนส่งจดหมายแจ้งว่าลูกนนท์ไม่ได้เข้าเรียน เขาจึงให้ลูกเข้าเรียนที่ ‘โรงเรียนนานาชาติ F’ เรียนได้หนึ่งปีภรรยาจึงให้ย้ายไป ‘โรงเรียนนานาชาติ G’ เพราะชอบที่กิจกรรมสำหรับเด็กมีรายละเอียดดีกว่าที่เดิม แต่ค่าเทอมสูงถึง 4 แสนบาท ซึ่งนนท์มีทางครอบครัวช่วยสนับสนุนค่าเทอมหลาน

“ผมไม่อยากให้ 5-6 ปีแรกของเขาต้องเหนื่อย ซึ่งโรงเรียนไทยอาจทำให้เกิดแบบนั้นได้และจะต้องถูกบังคับให้เรียนอะไรที่ไม่สร้างคนให้มีโลกกว้าง อยากให้ลูกไปโรงเรียนแล้วสนุก เรียนรู้ผ่านการเล่น ร.ร.อินเตอร์ตอบโจทย์พวกนี้ แต่คนที่เข้าถึงได้มีไม่มาก การจะหลบจากระบบการศึกษาไทยต้องเป็นคนที่อยู่ใน 0.1% บนสุดของประเทศ หรือทำงานเป็นบ้าเป็นหลังเพื่อเอารายได้ 70-80% มาลงกับค่าเทอมลูก”

นนท์ยอมรับว่าเขาไม่ชอบสภาพการศึกษาที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเช่นนี้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้

“ระบบการศึกษาแบบนี้เหมือนเรือแตก คนกลุ่มที่มีเงินสามารถขึ้นเรือหนีไปได้ คนที่เหลือก็ว่ายน้ำแห่กันไปหาอะไรเกาะ คนหนีไม่ทันก็ตะกุยตะกายจมน้ำกันไป”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save