fbpx
เชียงใหม่จ๋า โปรดหันไปหา ‘แม่แจ่มโมเดล’

เชียงใหม่จ๋า โปรดหันไปหา ‘แม่แจ่มโมเดล’

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

-1-

 

เห็นท้องฟ้าที่เชียงใหม่ทึมๆ เทาๆ ขมุกขมัวมาร่วมเดือนแล้ว จะบอกว่าเป็นปกติของฤดูกาลเผาไร่ไถนาของเกษตรกรก็ถูก

แต่นั่นยังไม่นับค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน และอาการป่วยโรคทางเดินหายใจของลูกเล็กเด็กแดง-ภาพหน้ากากกันฝุ่นที่เปื้อนเลือดเพราะร่างกายทรุดเกินต้านทาน ที่ปรากฏในข่าว

หากยังเฉยได้ ถือว่าไม่เป็นไร ปลอบใจว่าเดี๋ยวก็ผ่านไป ต้องนับว่าอำมหิตใช่เล่น

คำถามคือเชียงใหม่จนตรอกต่อการรับมือวิกฤตฝุ่นควัน กระทั่งไร้ทางออกหรือยัง ก็อาจไม่ใช่เสียทีเดียว เพียงแต่มันอาจไม่ใช่ priority ของเจ้านาย-ผู้ปกครอง

และนั่นทำให้เราต้องถามหาว่า potential ของการรับมือครั้งนี้มีหรือไม่

 

-2-

 

หวนนึกถึงช่วงมีนาคม ปี 2559 ผมเคยเข้าไปในอำเภอแม่แจ่ม หลังจากได้ยินมาว่าที่นี่เขาเอาจริงเอาจังกับการ “ไม่เผา”

ระหว่างที่ลัดเลาะไปตามถนนหนทาง ไม่ว่าจะสายหลักหรือสายรอง เห็นสองข้างทางเต็มไปด้วยป้ายเตือนจากกรมการปกครอง

“60 วัน ห้ามเผาป่า ห้ามเผาใบไม้ ห้ามเผาไร่นา ตั้งแต่ 15 ก.พ.-15 เม.ย. 2559 ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำคุกและโทษปรับ”

ก็นับว่าเป็นความพยายามใช้ไม้แข็งด้วยกฎหมายจากภาครัฐ แต่ปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบนที่เรื้อรังมาหลายสิบปี และไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลงนั้น ลำพังใช้คำสั่งและกฎหมายอย่างเดียว คงทำให้ท้องฟ้าปลอดโปร่งในพริบตาคงเป็นไปไม่ได้

ที่ผ่านมา ปัญหาภัยแล้งเป็นจำเลยของวิกฤตฝุ่นควันมาตลอด แต่เมื่ออุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์ของประเทศเรียกร้องผลผลิตจากการเกษตรมากขึ้นๆ โดยเฉพาะการทำไร่ข้าวโพดที่เป็นส่วนหนึ่งบนสายพาน

“การเผานั้นมีต้นทุนถูกและเร็วกว่าการไถกลบ” หนึ่งในข้ออ้างคลาสสิคของเกษตรกร

จำเลยในการเผาจึงไม่ใช่ภัยแล้งอีกต่อไป

 

-3-

 

1,692,698 ไร่ คือพื้นที่ทั้งอำเภอแม่แจ่ม เป็นป่าธรรมชาติ 1,231,171 ไร่ เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ราว 437,712 ไร่

ใน 4 แสนกว่าไร่นี้มีการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์กว่า 1 แสนไร่ ลองนึกภาพว่าทั้ง 1 แสนไร่ถูกเผาซากต้นข้าวโพดพร้อมกัน และนั่นเป็นเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ตามรายงานสถิติของศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขไฟป่าและหมอกควัน จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2558 เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ระบุว่าพื้นที่ อ.แม่แจ่ม ครองแชมป์อันดับ 1 เรื่องไฟป่า

ปริมาณค่าจุดความร้อน (Hotpots) สูงถึง 427 จุด

ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนัก แต่พอปี 2559 ในช่วงเวลาเดียวกัน ค่าจุดความร้อนลดลงเหลือเพียง 155 จุด และพื้นที่ อ.อมก๋อย ก็ขึ้นครองแชมป์แทน ทำให้แม่แจ่มถูกสปอตไลท์ฉายส่อง หลายอำเภอในเชียงใหม่หันมาถามหาแนวทางฝ่าวิกฤตจากแม่แจ่ม จนกลายเป็นแม่แจ่มโมเดล

 

-4-

 

หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่ริเริ่มปฏิบัติการหยุดเผา ต้องให้เครดิตกับ ทศพล เผื่อนอุดม นายอำเภอแม่แจ่ม ปัจจุบันนี้ย้ายไปเป็นนายอำเภอบ้านโป่ง ที่ราชบุรีแล้ว

การเดินสายเข้าหมู่บ้านเล็กหมู่บ้านน้อยในพื้นที่โดยไม่กลัวร้อน คอยประสานกับชาวบ้าน เอ็นจีโอ ภาคธุรกิจและเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อช่วยกันลดการเผาป่านั้น ย่อมเกิดผลกว่าการนั่งโต๊ะในห้องแอร์เย็นๆ แล้วออกคำสั่งอย่างเดียว

ปัญหาไฟป่าเชื่อมโยงกับปัญหาการจัดการที่ดินที่ไม่ลงตัว เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน

“ถ้าเอากฎหมายเป็นตัวตั้งอย่างเดียวคงแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด” ทศพลเคยสะท้อนไว้แบบนี้

ย้อนไปกว่า 10 ปีก่อน แม่แจ่มเต็มไปด้วยยาเสพติด พอทางการเริ่มปราบจริงจัง คนก็ต้องหันไปหาวิธีอยู่รอดแบบอื่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กลายเป็นทางเลือกสร้างรายได้ที่พาพวกเขาหลุดออกมาจากวงจรยาเสพติด ไม่มีใครปฏิเสธการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แม้ในที่ราบเชิงเขา ระบบชลประทานยังเข้าไม่ถึง แต่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กลับทนแล้งได้ดี คนจึงหันมาปลูกข้าวโพดกันมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

“เมื่อปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ชาวบ้านเขาก็ต้องเผาตอเผาซังข้าวโพดทิ้ง เพื่อเตรียมหน้าดินในการเพาะปลูกครั้งต่อไป เพราะการเผานั้นต้นทุนถูกและง่ายที่สุด”

นี่เป็นโจทย์ชวนให้ทศพลคิ้วขมวดในการคิดรับมือ-หาวิธีฝ่าฟัน

 

-5-

 

อันที่จริงไฟป่าเกิดเป็นปกติในช่วงฤดูแล้งอยู่แล้ว แต่พอบวกกับการเผาข้าวโพดในช่วงเวลาเดียวกัน ก็ยิ่งเร้าให้เกิดไฟป่าง่ายขึ้น

เวลาคนมองลงมาจากเครื่องบินเห็นเขาหัวโล้น ก็เกิดคำถามว่าป่าหายไปไหน ยังไม่นับความเชื่อคนที่หาของป่าล่าสัตว์ ที่เชื่อว่าการเผาจะทำให้ล่าสัตว์ง่ายขึ้น

ไม่ใช่คนแม่แจ่มไม่รู้ว่าตัวเองว่าเคยเป็นจำเลยสังคมที่ถูกมองว่ามีส่วนในการสร้างปัญหาฝุ่นควัน แต่ถ้า ‘โนฮาว’ ในการแก้ปัญหาร่วมกันไม่มี ผลก็คือต่างคนต่างอยู่ ต่างเอาตัวรอดไปใช่หรือไม่

“จะเป็นจำเลยต่อไป หรือจะเรียกคืนศักดิ์ศรีชาวแม่แจ่มกลับมา”

ประโยคคุ้นเคยที่นายอำเภอหนุ่มมักกล่าวกับเกษตรกรแม่แจ่ม ยามที่เขาย่ำดินเดินเข้าไปแลกเปลี่ยน

ก่อนแม่แจ่มโมเดลจะเกิด มีสองเรื่องที่ให้ภาพชัดระดับสามัญสำนึกต้องตื่นจากหลับใหล ที่เขาปลุกตัวเองและชาวแม่แจ่มขึ้นมา

หนึ่ง สนามบินเชียงใหม่เคยยกเลิกเที่ยวบินถึง 4 เที่ยวบิน เพราะกัปตันมองไม่เห็นรันเวย์ที่ถูกหมอกควันปกคลุมอยู่ เอาเครื่องลงจอดไม่ได้ เสียหายไปหลายร้อยล้านบาท

ถ้านักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาเที่ยวเชียงใหม่รู้ว่าเหตุที่เครื่องบินลงจอดไม่ได้ เพราะควันมาจากการเผาไร่เผาป่า จะไม่อายชาวโลกหรือ

สอง แม่น้ำแม่แจ่มเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง หล่อเลี้ยงหลายล้านชีวิตอยู่ ถ้าป่าแม่แจ่มหมด จะมองหน้าตอบคำถามลูกหลานได้หรือว่าป่าหายไปเพราะอะไร

 

-6-

 

พอสำนึกเกิด ศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควัน ตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ก็เกิดตามมา

ร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ประชาชน เอกชน นักวิชาการ เพื่อช่วยกันกำหนดแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

“แน่นอน, จู่ๆ จะเดินไปพูดคุยกับชาวบ้านว่าต่อไปนี้หมู่บ้านเราจะไม่ใช้วิธีเผาแล้ว คงไม่มีใครฟัง เพราะเขาไม่เชื่อว่ามีวิธีอื่นที่ดีกว่าการเผา”

ยังไม่นับว่าที่ผ่านมา เมื่อภาครัฐออกนโยบายป้องกันไฟป่า แต่ไม่มีงบประมาณลงมาด้วย ชาวบ้านก็ยิ่งไม่มีกำลังใจ แค่ปัญหาปากท้องเขาก็ลำบากอยู่แล้ว ต้องให้มาช่วยกันดับไฟอีก ทุกคนก็ส่ายหัว

มาตรการป้องกันไฟป่าเริ่มจากตั้งคณะทำงานหมู่บ้านละ 25 คน เป็นตัวหลักในการเข้าถึงพื้นที่ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ลาดตระเวน ดับไฟ มีการตั้งเวรยามและติดต่อสื่อสารกัน 24 ชั่วโมง

โดยมีงบจากภาครัฐและเอกชนคอยสร้างกำลังใจ สนับสนุนเงินทุนแก้ปัญหาให้ตำบลละ 10,000 บาท และหมู่บ้านละ 5,000 บาท

แถมยังมีเงินรางวัลให้อีก 50,000 บาท สำหรับตำบลที่ปลอดการเผาอย่างสิ้นเชิง

เมื่อตัดสินใจร่วมกันจะไม่ใช้วิธีเผา ปัญญาก็ค่อยๆ ผลิบาน

ชาวบ้านหันมาใช้น้ำหมักชีวภาพอีเอ็มที่ได้รับแจกฟรีจากกรมวิชาการเกษตร เมื่อเก็บเเกี่ยวข้าวโพดแล้วจะเหลือตอยืนต้น พอราดน้ำอีเอ็ม จุลินทรีย์ก็ไปช่วยย่อยสลายเอง

ประเด็นคือแม้จะใช้เวลาย่อยสลายนานกว่าการเผา แต่สภาพดินไม่เสียแร่ธาตุ เมื่อหว่านเมล็ดข้าวโพดครั้งต่อไป ปรากฏว่าได้ผลผลิตมากกว่าใช้วิธีเผา

ส่วนพวกซังและใบข้าวโพด ก็เอาไปทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลและอาหารสำหรับโคกระบือได้

 

-7-

 

รูปธรรมจากแม่แจ่มโมเดลคือค่าจุดความร้อนลดลง เครื่องบินลงจอดได้ ผลผลิตทางเกษตรดีกว่าเดิม เกษตรกรเหลือเงินในกระเป๋ามากขึ้น สิ่งแวดล้อมค่อยๆ ฟื้นฟู

ถ้ามันพิสูจน์แล้วว่าดีกับชีวิต ดีกับส่วนรวม “แทนที่จะเผาแล้วให้ตัวเองหรือครอบครัวต้องมาป่วย ไม่เผาดีกว่า” เสียงชาวแม่แจ่มบางคนยังก้องค้างอยู่ในหัว

จากปี 2559 จนถึงปัจจุบัน แม่แจ่มยังคงเป็นโมเดลที่น่านับถือชื่นชม

แต่ท่ามกลางความล้มเหลวและน่าหดหู่ จากความไร้ศักยภาพในการแก้ปัญหาโดยรวมของภาครัฐที่มีกองทัพเป็นพี่ใหญ่ ถามว่าสายเกินไปไหมถ้าจะหยิบแม่แจ่มโมเดลมาใช้ให้ทั่วภูมิภาค

ไม่สายหรอก ถ้ายังพูดภาษาคนรู้เรื่อง.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save