fbpx
แผนที่สร้างชาติ: จากสงครามเย็นสู่แผนที่ดิจิทัล - คุยกับเก่งกิจ กิติเรียงลาภ

แผนที่สร้างชาติ: จากสงครามเย็นสู่แผนที่ดิจิทัล – คุยกับเก่งกิจ กิติเรียงลาภ

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรียบเรียง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

“เปิดกูเกิ้ลแมพดูหน่อยว่าไปยังไง”

ประโยคนี้กลายเป็นประโยคสามัญธรรมดาไปเสียแล้วสำหรับผู้คนในยุคปัจจุบัน พวกเราเองก็บอกกันแบบนั้น เมื่อต้องเดินทางภายในตัวเมืองเชียงใหม่เพื่อไปสัมภาษณ์กับ ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ โรงแรมแห่งหนึ่งกลางเมือง

เก่งกิจเป็นหนึ่งในนักวิชาการรุ่นใหม่ที่ผลิตงานวิชาการออกมาอย่างสม่ำเสมอ หนังสือเรื่อง ‘CONATUS: ชีวิตและอำนาจควบคุมชีวิตในระบบทุนนิยมแห่งศตวรรษที่ 21’ คือหนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่เพิ่งออกในเดือนตุลาคม 2561 หลังจากที่หนังสือ ‘แผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติกับการทำแผนที่หมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น’ เพิ่งออกมาในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน

ระหว่างนั่งรถ เราถือ ‘กูเกิลแมพ’ คอยบอกเส้นทางให้แก่กัน ส่วนมืออีกข้างก็ถือหนังสือ ‘แผนที่สร้างชาติ’ ผลงานของผู้ที่เรานัดหมายไว้ แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะนี่คือหัวข้อที่ 101 นัดหมายเพื่อสนทนากับเก่งกิจ

“อยากชวนคุยเรื่องหนังสือของอาจารย์ ซึ่งเป็นงานศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามเย็น และลองต่อยอดดูว่ามีคำอธิบาย มุมมอง หรือประเด็นสนุกๆ อะไรที่เชื่อมโยงกับปัจจุบันได้บ้าง”

ความสนุกที่ว่า อยู่นับตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป

หนังสือ ‘แผนที่สร้างชาติ’ ตั้งโจทย์อะไรไว้ ทำไมจึงสนใจเรื่องนี้

หลังจากที่ทำงานวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์มานุษยวิทยาในประเทศไทย ก็พบว่านักมานุษยวิทยาเป็นกลไกหนึ่งในการเก็บความรู้เกี่ยวกับคนพื้นเมืองในพื้นที่ต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะคนพื้นเมืองในที่ที่รัฐเข้าไม่ถึง

วิชามานุษยวิทยากำเนิดในยุคสงครามเย็น อย่างสาขาวิชามานุษยวิทยาในไทยเกิดขึ้นครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 2507 – 2508 จากการที่รัฐบาลไทยในความสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ต้องการจะเข้าใจว่าผู้คนคิดอะไร เพื่อที่จะเปลี่ยนคนเหล่านี้ที่จากเดิมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ต่อต้านรัฐ หรือเป็นคอมมิวนิสต์ ให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย หรือบูรณาการเข้าสู่ความเป็นชาติ

โจทย์ใหญ่ของนักมานุษยวิทยาในยุคนั้นสะท้อนว่า นักมานุษยวิทยาหรือรัฐไทยไม่ได้เข้าใจ และเข้าไม่ถึงคนทั่วไป เพราะอำนาจมันจำกัดอยู่เฉพาะเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เข้าใจคือ แล้วนักมานุษยวิทยาในยุคนั้นเข้าถึงหมู่บ้านได้ยังไง

ด้วยความไม่เข้าใจนี้ ผมจึงเก็บข้อมูลด้วยการไปถามนักมานุษยวิทยายุคบุกเบิกว่าเขาทำอะไร เข้าไปเจอคนได้ยังไง และเขาจะศึกษาใคร เขาบอกว่า เขามีแผนที่ L708 ซึ่งสหรัฐอเมริกาทำขึ้น ช่วงประมาณ ค.ศ.1950 ซึ่งพวกนักมานุษยวิทยา หน่วยงานทหาร เอาแผนที่นี้ไปใช้ ด้วยการมองตามแผนที่ไป ถ้าเห็นกระจุกบ้านอยู่ตรงไหนก็เดินไปตรงนั้น โดยมีเข็มทิศนำทาง ผมก็เลยสนใจเรื่องแผนที่ เพราะมันเป็นเครื่องมือใหม่ของรัฐในการสำรวจและทำความเข้าใจคนไทย เป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาและหนังสือเล่มนี้ว่า แผนที่ไม่ได้เป็นแค่ภาพแทนเชิงประจักษ์ในการสะท้อนความจริง แต่เป็นเรื่องของอำนาจ การจัดการ การปกครอง

ถ้าพูดถึงเรื่องแผนที่ เรามักนึกถึงหนังสือ ‘Siam Mapped’ หรือ ‘กำเนิดสยามจากแผนที่’ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสำคัญของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล งานชิ้นนี้ต่อยอด ถกเถียง มองเหมือนหรือมองต่างจากงานของ อ.ธงชัย อย่างไรบ้าง

มันมีส่วนที่ต่อยอดอยู่แล้ว เอาเข้าจริงหลังจากงานของ อ.ธงชัย การศึกษาเรื่องแผนที่โดยนักสังคมศาสตร์ที่ไม่ใช่นักภูมิศาสตร์มันไม่มีเลย ความน่าสนใจของงาน อ.ธงชัย คือการมองต่างจากนักภูมิศาสตร์โดยทั่วไป ที่มักจะมองว่าแผนที่เป็นภาพสะท้อนความจริงเชิงประจักษ์ แต่ อ.ธงชัยมองว่าแผนที่มันถูกสร้างขึ้น แล้วมันก็สร้างความรับรู้ที่เรามีต่อสิ่งอื่นๆ ไปด้วย รวมถึงแนวคิดความเป็นชาติ

แนวคิดลักษณะนี้อาจเรียกว่าเป็น Critical Typography หรือการศึกษาแผนที่เชิงวิพากษ์  งานผมก็ยังอยู่ในแนวทางนี้ คือเป็นเชิงวิพากษ์ และต่อยอดจาก อ.ธงชัย แต่มีประเด็นสำคัญที่ต่างไปคือ พอผมทำเรื่องมานุษยวิทยาแล้วมาทำเรื่องแผนที่ ทำให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในพรมแดนของรัฐไทย ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของไทยเลย จนกระทั่งมีการทำแผนที่

รัฐและหน่วยงานความมั่นคงใช้แผนที่ L708 ไปสำรวจและไปจัดตั้งให้คนเหล่านี้รวมตัวกันเป็นหมู่บ้าน มีการทำบัตรประชาชน และทะเบียนบ้าน ความเข้าใจที่เราเชื่อมาตลอดในสังคมศาสตร์ว่า ความเป็นชาติเกิดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือที่นักรัฐศาสตร์บอกว่าเกิดขึ้นในสมัย 2475 มันน่าจะเป็นชาติในความคิดของชนชั้นนำในกรุงเทพฯ มากกว่าที่จะเป็นชาติในความรับรู้ของเราจริงๆ

เพราะฉะนั้นผมก็เลยตั้งคำถามใหม่ว่า ความรู้สึกว่า ‘เราเป็นสมาชิกของรัฐ’ มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือ ‘เรากลายเป็นคนไทยเมื่อไหร่’ ซึ่งผมเสนอว่ามันเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น ประมาณ ค.ศ.1970 ที่คนเริ่มมีบัตรประจำตัวประชาชนอย่างชัดเจน คนเริ่มหยุดอยู่กับที่ มีหมู่บ้าน มีทะเบียนบ้าน ทั้งหมดนี้มันเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการสำรวจผ่านแผนที่ทางอากาศ

อาจารย์พูดถึงแผนที่ฉบับ L708 ซึ่งเป็นแผนที่ที่ทหารและนักวิชาการใช้ ทำไมแผนที่ฉบับนี้จึงมีความสำคัญ และถูกใช้อ้างอิงมากกว่าแผนที่ฉบับอื่นในยุคเดียวกัน

กรณีของสยาม การทำแผนที่สมัยใหม่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยการเข้ามาของอังกฤษ ซึ่งความรู้ของอังกฤษในยุคนั้นไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ดีมาก การทำแผนที่ในสมัยนั้นจึงเป็นการเดินสำรวจ และใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์มาช่วย

ในช่วงเวลาที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมในภูมิภาคนี้ มีการสำรวจเยอะมาก ทางฝรั่งเศส และสเปนก็มีการสำรวจในฟิลิปปินส์เช่นกัน ในช่วงนี้ แผนที่จะไม่มีลักษณะครอบคลุมรายละเอียด เพราะบางพื้นที่มันเป็นป่าเป็นภูเขาหมด ไม่สามารถจะเดินทะลุหรือข้ามไปได้ เขาจึงสำรวจเฉพาะบริเวณที่มีคนอยู่

ทีนี้ผมเลยไปดูว่า แผนที่ฉบับไหนที่สร้างรายละเอียดขึ้นเป็นครั้งแรก คำตอบก็คือแผนที่ฉบับ L708 ซึ่งการจะมีรายละเอียด มันอาศัยแค่คนไม่ได้ มันต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่านั้น คือการเอาเครื่องบิน บินขึ้นไปแล้วถ่ายรูป ถ่ายรูปแล้วเอาภาพมาซ้อนกัน จะได้เห็นนูนสูงนูนต่ำ และนำไปตีความได้  แผนที่ฉบับ L708 ถือว่าเป็นฉบับแรกเลยที่ทำได้ และไม่ได้ทำเฉพาะกรณีของไทยอย่างเดียว ในเวียดนาม ลาว กัมพูชา ก็มีแผนที่แบบนี้เช่นกัน เรียงกันเป็นฉบับที่ L709 L710 L7011 บริเวณตรงนี้มันเป็นเหมือนยุทธศาสตร์สำคัญทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในการสู้กับคอมมิวนิสต์ มีเพียงแค่พม่าเท่านั้นที่ไม่มีการทำแผนที่ชุดนี้ เพราะไม่ได้อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของสงครามเวียดนาม

ความพิเศษของแผนที่ฉบับนี้คือรายละเอียด เห็นแม้กระทั่งหลังคาบ้านของคนโดยที่ไม่ต้องเดินเข้าไป ลักษณะของแผนที่ทุกฉบับจะต้องมีอัตราส่วนพื้นฐาน ซึ่งแต่ละฉบับจะมีความละเอียดแตกต่างกัน ถ้าเป็นแผนที่ 1 : 2,000,000 ตำแหน่งที่ระบุได้สูงสุดคือ ตำแหน่งอำเภอ แต่แผนที่ 1 : 50,000 ตำแหน่งที่ระบุได้คือตัวหลังคาบ้าน สามารถมองเห็นกระจุกของบ้าน ลำธาร รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้หมดเลย เพราะฉะนั้นแผนที่ L708 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาหน่วยที่เรียกว่า หมู่บ้าน ให้ปรากฏลงบนแผนที่ของรัฐไทยเป็นครั้งแรก พอรัฐเห็นหมู่บ้าน การกระจุกของบ้านที่เกิดขึ้นในแผนที่ ก็รู้แล้วว่ามีคนอยู่ตรงไหนบ้าง

แผนที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จะมีบางจุดที่เรียกว่า ‘บ้าน’ อยู่ เช่น บ้านเดื่อ ตำบลหมากแข้ง ที่อุดรธานี คอนเซ็ปต์ ‘บ้าน’ ในแผนที่แบบเดิม ต่างกับกับ ‘หมู่บ้าน’ ในแผนที่ L708 ยังไง

คำว่า ‘บ้าน’ มีความหมายว่าพื้นที่ซึ่งมีการกระจุกตัว และอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนโดยธรรมชาติ นักมานุษยวิทยาชื่อ ลอริสตัน ชาร์ป เรียก ‘บ้าน’ ว่า Natural community ในขณะที่ ‘หมู่บ้าน’ เกิดขึ้นหลังจากรัชกาลที่ 5 ประกาศว่าให้มีการกำหนดเขตการปกครองที่มีหน่วยพื้นฐานที่สุดเรียกว่าหมู่บ้าน โดยมีผู้ใหญ่บ้านดูแล เป็นรูปแบบการปกครองที่รับมาจากแนวทางของอังกฤษในอินเดีย และมาลายา หลังจากการเสด็จประพาส

หมู่บ้านในความหมายของรัชกาลที่ 5 จึงเป็นหน่วยการปกครอง เอกสารของสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะมีการทำแผนที่ L708 ก็เรียกหมู่บ้านสยามว่า hamlet ซึ่ง แตกต่างจาก Natural community ที่เป็นการอยู่ร่วมกันของผู้คนตามที่ต่างๆ โดยธรรมขาติ

แต่หลังจากการประกาศ พ.ร.บ. ของรัชกาลที่ 5 มีการตั้งหมู่บ้านขึ้นน้อยมาก เพราะอำนาจรัฐจากส่วนกลางเข้าไปไม่ถึง ไม่ได้กระจายออกไปตามป่าเขา และไม่มีเครื่องมือในการเข้าไปถึงว่าคนพวกนี้อยู่ตรงไหน พอเข้าสู่ยุคสงครามเย็น ที่สามารถมองเห็นบ้านผ่านแผนที่ รัฐจึงเข้าไปเปลี่ยนบ้านให้เป็นหมู่บ้าน โดยการตีเส้นขอบเขต จดทะเบียน ออกระบบโฉนดที่ดิน และออกบัตรประชาชน เพื่อระบุว่าใครอาศัยในหมู่บ้านบ้าง

อาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโปรเจ็กต์ต่อเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีเงื่อนไขจำกัด และเริ่มมีการเคลื่อนจากการเป็นบ้าน หรือ Natural community ไปสู่หน่วยของการปกครองแบบหมู่บ้านอย่างจริงจังในสมัยสงครามเย็น

 

วิธีคิดเรื่องแผนที่ของอเมริกาในยุคสงครามเย็น กับอังกฤษในยุคอาณานิคม เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เพราะโจทย์และระเบียบโลกของทั้งสองช่วงเวลาก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

ความเหมือนที่สำคัญที่สุดคือเป้าหมายของแผนที่ ซึ่งก็คือการปกครอง ส่วนความแตกต่างที่สำคัญคือ เทคโนโลยี และวิธีคิดแบบจักรวรรดินิยมของเจ้าอาณานิคม เช่น เมื่ออังกฤษเข้าไปปกครองพื้นที่ อังกฤษจะเลือกบริเวณ หรือทรัพยากรที่ตนเองจะใช้ประโยชน์ได้ให้เร็วที่สุด จะไปเปลี่ยนแปลงแค่เฉพาะส่วนที่เขาคิดว่าได้ประโยชน์  สยามจึงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตระดับต่างๆ ของรอบนอกกรุงเทพฯ อย่างมากก็ไปถึงแค่รังสิต

แต่ในกรณีของสหรัฐอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามาเป็นมหาอำนาจใหม่ของภูมิภาคนี้ ด้วยวิธีแทรกกลางเจ้าอาณานิคมอื่นๆ และพยายามจะเข้าไปสนับสนุนการปลดแอกจากอาณานิคม สิ่งที่สหรัฐอเมริกาทำคือ การเข้าไปเสนอไอเดียเรื่องเสรีภาพ การกำหนดการปกครองด้วยตนเอง (self determination) และชาตินิยม แทนที่จักรวรรดินิยมเดิม เพราะฉะนั้นสหรัฐอเมริกาจึงเป็นมหาอำนาจเดียว ที่เข้ามาพร้อมกับไอเดียเรื่องการพัฒนาและความเป็นพลเมืองสมัยใหม่จริงๆ

เราจะเห็นว่าเขาส่งนักพัฒนา วิวัฒนากร ตำรวจตระเวนชายแดน รวมถึงนักมานุษยวิทยา เข้าไปทำโครงการพัฒนาต่างๆ ทั่วไปหมด เพราะนี่เป็นไอเดียของการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Natural community แบบใหม่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง

นั่นหมายความว่าชนชั้นนำไทยก็เปลี่ยนวิธีคิดด้วย จากเดิมที่รับวิธีคิดในการบริหารจักรวรรดิหรืออาณานิคมแบบอังกฤษ มาเป็นวิธีคิดการบริหารจัดการแบบอเมริกา

จริงๆ จะพูดอย่างนั้นก็ได้ แต่ในความคิดของผม รัฐบาลของคณะราษฎรหลังการปฏิวัติ 2475 มีความพยายามที่จะ modernize สังคมไทย โดยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเพื่อจะหลุดออกจากมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่เราได้รับอิทธิพลจากสหรัฐ แต่ว่ามันไม่มีเครื่องมือพอที่จะทำ

ประเด็นที่สำคัญมากคือ คณะราษฎรไม่ได้คุมอำนาจเด็ดขาดในสังคมไทย เพราะฉะนั้นในช่วงของจอมพล ป. ครั้งที่ 2 หรือช่วงปี พ.ศ. 2490 เราจะเห็นการกลับมามีบทบาทของฝ่ายรอยัลลิสต์ และฝ่ายทหารที่เป็นอนุรักษนิยมทั้งหลายที่มาล้มจอมพล ป. ซึ่งเป็นการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นโครงการต่างๆ ของสหรัฐอเมริกามันจึงดำเนินต่อไปได้ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ แต่ก่อนหน้านั้น 15 ปี คือ พ.ศ. 2475 – 2490 เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นอยู่แล้วของคณะราษฎร ที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อพัฒนา

การกำเนิดของหมู่บ้านในแผนที่ ส่งผลอย่างไรบ้างต่อรัฐสมัยใหม่ แม้กระทั่งต่อตัวพื้นที่เอง

ถ้ามองว่าหมู่บ้านเป็นหน่วยของการปกครอง มันจะมีขอบเขตชัดเจน มีกลไกของรัฐที่เข้าไปปกครอง ซึ่งอย่างน้อยที่เห็นคือผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเราสังเกตในภาคเหนือ ไม่ว่าหมู่บ้านที่เกิดใหม่หรือเกิดก่อนก็ตาม สิ่งที่เข้าไปพร้อมกันคือโรงเรียนและวัด  เพราะโรงเรียน วัด และความเป็นพุทธ คือกลไกอำนาจรัฐที่จะเข้าไปปกครองหมู่บ้าน

อีกสิ่งที่ตามมาเมื่อหมู่บ้านมีขอบเขต คือสถานะของคน ว่าเขาเป็นใครในหมู่บ้าน เพราะฉะนั้นภายหลังจากที่มีการทำแผนที่แล้ว ประมาณ พ.ศ. 2506 – 2507 ก็มีการออก พ.ร.บ. บัตรประชาชนครั้งที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยมีการออก พ.ร.บ. มาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2480 แต่รัฐบาลไทยออกบัตรประชาชนได้แค่สองแสนใบ ครอบคลุมเฉพาะพระนครกับธนบุรี บริเวณอื่นที่เหลือทั้งหมดไม่มีใครมีบัตรประชาชนเลย

ผมไปดูเอกสารการสำรวจประชากรในช่วงต้นทศวรรษ 2510 ในภาคเหนือ พบว่า ในหมู่บ้านเดียวกันมีคนมีบัตรประชาชนแค่ส่วนหนึ่ง ไม่เยอะ บางคนมีทะเบียนบ้าน บางคนมีเหรียญที่กระทรวงมหาดไทยแจกให้ใน พ.ศ. 2508 เพื่อยืนยันว่าตนเองเป็นคนไทย แล้วเหรียญนี้จะระบุเลขกับจังหวัดไว้ด้านหลัง มหาดไทยจะมีลิสต์รายชื่อว่าเลขนี้คือใคร บ้านอยู่ที่ไหน นั่นหมายความว่า บัตรประชาชนยังออกไปไม่ทั่วถึงเลย

บัตรประชาชนกลับมาภายหลังจากที่รัฐเริ่มเห็นแล้วว่า มีคนอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วจึงส่งกลไกเข้าไปทำบัตร ซึ่งแผนของการทำบัตรประชาชนครั้งที่ 2 ไม่ได้เริ่มขยายต่อออกจากรุงเทพฯ แต่ไปเริ่มต้นขึ้นที่ชายแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นครพนม สกลนคร แล้วก็เริ่มที่เชียงราย แม่ฮ่องสอน ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า คนที่กลายเป็นคนไทยก่อน รองจากกรุงเทพฯ คือคนที่อยู่ชายขอบ ไม่ใช่คนที่อยู่ภาคกลางอย่างอุทัยธานี หรือนครสวรรค์

บัตรประชาชนจะต้องระบุที่อยู่ที่แน่นอน เพราะฉะนั้นการขยายตัวของบัตรประชาชนที่มาหลังแผนที่ จึงมาพร้อมกับการที่ตำรวจสามารถดูการเคลื่อนย้ายของคน ออกจากพื้นที่ที่ระบุในบัตรประชาชนได้ ถ้าคุณเคลื่อนย้ายออกไปไกลมากหรือไปที่อื่นบ่อยๆ ตำรวจจะถามเลยว่าคุณไปที่ไหน คุณมีโอกาสที่จะเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะการเคลื่อนย้ายของผู้คนเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และการทำให้คนหยุดอยู่กับที่ มีบัตร มีที่อยู่แน่นนอน คือการต่อต้านคอมมิวนิสต์

แผนที่สร้างชาติ: จากสงครามเย็นสู่แผนที่ดิจิทัล - คุยกับเก่งกิจ กิติเรียงลาภ

การที่คนที่อยู่ตามชายแดนมีบัตรประชาชนก่อนคนที่อยู่ระหว่างพื้นที่ สะท้อนอะไร

รัฐไทยก่อนหน้านั้นไม่ได้สนใจสถานะความเป็นพลเมืองสักเท่าไหร่ พลังผลักดันจริงๆ ของการสร้างพลเมือง การเป็นสมาชิกของรัฐ หรือการผลักดันความเป็นชาติ เกิดขึ้นด้วยแรงผลักดันสองอย่างที่มาพร้อมกันคือ

หนึ่ง-ความกลัวต่อภัยคอมมิวนิสต์  สอง-แรงผลักดันของเทคโนโลยีที่จะมาช่วยสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ได้

บัตรประชาชนที่ทำตั้งแต่ปี 2480 ไม่มีระบบเคลือบบัตร ทำครั้งเดียวไม่มีเปลี่ยน พอผ่านไปหลายปี มันก็เริ่มเน่าหมด เทคโนโลยีสำคัญในการทำบัตรประชาชนในยุค 2506 โดยสหรัฐอเมริกา คือการต้องมีเครื่องเคลือบบัตร เราอาจจะคิดไม่ถึงว่าเครื่องเคลือบบัตรเป็นเทคโนโลยีที่ปฏิวัติการปกครองของรัฐได้เลย

ปี 2506 มีการอิมพอร์ตเครื่องบัตรประขาชนเข้ามา ทั้งในภาคอีสาน และอีกหลายที่ เพื่อออกและเคลือบบัตร ทำให้รูปไม่หลุด ไม่มีใครเปลี่ยนรูปได้ ทุกอย่างจะเป็นข้อมูลที่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการปกครองมันถูกเสริมทัพด้วยเทคโนโลยีเล็กๆ น้อยๆ ที่มาประกอบกัน

ก่อนหน้าที่จะมีบัตรประชาชน รัฐไทยใช้การควบคุมคนอย่างไร

รัฐไทยใช้วิธี identify คนสารพัดประเภท เท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยความกลัวว่าคนพวกนี้จะเป็นคอมมิวนิสต์ เขาจึงต้องรู้ว่าคนพวกนี้เป็นใคร และการรู้ได้ คนก็ต้องยินยอมรับการจดขึ้นทะเบียนกับรัฐ

ยกตัวอย่างเลยว่า ตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต มีคนบนดอยสุเทพ ลงหนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์หน้า 1 เลย เอาเหรียญที่ในหลวงพระราชทานให้เป็นตัวย่อจังหวัดเชียงใหม่ และมีตัวเลขข้างหลัง เอามาโชว์ว่ารำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ก็คือความเป็นไทย มันมาผ่านเหรียญ

นอกจากเหรียญแล้ว วัตถุมงคลที่ให้โดยพระเกจิต่างๆ หรือตำรวจตระเวนชายแดนที่ผลิตวัตถุมงคลเยอะมากๆ การห้อยเหรียญห้อยพระเหล่านี้คือเครื่องยืนยันความภักดีของคน ว่าคุณภักดีกับรัฐหรือเปล่า คุณมีเหรียญหรืออะไรก็ตามที่พอจะ identify ตัวเองได้

ตัวแผนที่ L708 เป็นต้นแบบของแผนที่ยุคหลังจากนั้นไหม หรือมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญบ้าง

มันเป็นต้นแบบแผนที่ของรัฐไทยในช่วงตลอด 30 ปี ตั้งแต่ช่วงยุค 1950-1980 แต่หลังจากนั้นมันเป็นเทคโนโลยีดาวเทียมหมดแล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีแผนที่กระดาษ ไม่จำเป็นต้องเอาเครื่องบินไปบิน เพราะฉะนั้นจะมีความต่าง ในกรณีของไทยประมาณต้นทศวรรษ 1970 สหรัฐอเมริกาพยายามจะเอากล้องอินฟาเรดที่สามารถมองทะลุต้นไม้ได้ และก็คำนวณโน่นนี่นั่นได้เข้ามาใช้ เป็นกล้องสิบกว่าตัวที่ติดอยู่พร้อมกัน เพื่อที่จะจับภาพความเคลื่อนไหวของคน อันนี้เป็นความพยายามก่อนที่เทคโนโลยีการทำแผนที่จะเปลี่ยนเป็นระบบดาวเทียม

แผนที่เคยเป็นเครื่องมือของรัฐ ในการทำความเข้าใจและทำการปกครอง แต่ในยุคปัจจุบันแผนที่มันเปลี่ยนไป ทุกวันนี้เราเปิด google map อาจารย์เล่าไว้ในหนังสือว่าแผนที่แบบเดิมมันไม่ค่อยมีชีวิต อาจารย์คิดว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อรัฐ และประชาชน

ผมคิดว่าตอนนี้กระบวนการการสร้างรัฐชาติในแง่ของการระบุตัวตนว่า ‘ใครคือคนไทย’ ค่อนข้างจะลงตัวมาสัก 20-30 ปีแล้ว ปัจจุบันคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ภัยความมั่นคงหลักของรัฐอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้น การทำให้คนหยุดอยู่กับที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย การทำให้คนเคลื่อนที่ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ และการหาจุดเชื่อมต่อของการเคลื่อนที่ของคนต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่ อันนี้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยมในช่วงทศวรรษ 1970-80 ด้วย ที่ทำให้การเคลื่อนที่ของคน และการเชื่อมต่อกันของคนผ่านเครือข่ายต่างๆ คือมูลค่า

มองในกรอบเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรคือตัวที่รัฐใช้ identify คนในยุคดิจิทัล

เมื่อเช้านี้ ผมเซ็นเอกสารให้กับคณะ แล้วผมก็ถามว่าต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนไหม เขาบอกว่าไม่ต้อง ผมก็ดีใจนึกว่าคณะเข้าสู่ระบบดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว ที่ไหนได้ เขาบอกว่าเขามีสำเนาบัตรประชาชนผมอยู่ ไม่เป็นไร เดี๋ยวแนบไป ผมก็ถามว่าเมื่อไรจะเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชนสักที เขาก็บอกว่าไม่รู้เลย แล้วทุกวันนี้เวลาเราซีร็อกซ์บัตรประชาชน เรายังต้องซีร็อกซ์หน้าหลังอยู่เลย ทั้งๆ ที่เขาบอกว่าไม่ต้องซีร็อกซ์หน้าหลังแล้ว

รัฐไทย แม้กระทั่งในปัจจุบัน มีความสามารถในการปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ น้อยมาก โดยเฉพาะระบบราชการ  ผมไปกินกาแฟที่ลำปาง ร้านในหมู่บ้านเขามีระบบให้เราเอามือถือแตะเพื่อจ่ายเงิน คือความสามารถในการปรับตัวของรัฐกับคนทั่วไปต่างกันมหาศาล คำถามคือ ทำไมคนส่วนใหญ่ที่ปรับตัวเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจความสัมพันธ์แบบใหม่ๆ ถึงจะต้องเลือกรัฐบาลที่ล้าหลังด้วยล่ะ

แต่อย่าลืมว่าเทคโนโลยีมีความเหลื่อมล้ำด้วย การที่คุณใช้เทคโนโลยีใหม่ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม แต่คุณใช้เทคโนโลยีแล้วคุณเป็นอนุรักษนิยม เพราะคุณรู้ว่าจะใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองคนที่เป็น status quo ทั้งหลายได้อย่างไร ซึ่งคุณเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

ผมยกตัวอย่าง ปกติผมจะเป็นคนที่ใช้ GPS นำทางไปโน่นไปนี่ ตอนที่ผมไปเที่ยวเชียงแสน จะไปทะเลสาบเชียงแสน แล้วกด GPS จากตัวเมืองไป พบว่ามี 4 เส้นทาง ผมก็ไปเส้นทางแรกที่เป็นเส้นทางแนะนำ เข้าไปในหมู่บ้าน ปรากฏว่าไปตันอยู่จุดหนึ่ง ที่เหลือเป็นโคลนหมดเลย ผมก็ออกมาทางที่ 2 ก็เป็นลักษณะเดียวกัน  จนกระทั่งไปทางที่ 3 ถึงไปได้

ความน่าสนใจคือ ทำไม Google map ถึงพาเราไปผิดทาง คำตอบที่เราจะคิดได้คือ มี User ที่ใช้ GPS นำทางไปทะเลสาบนี้น้อย เพราะกลไกของเทคโนโลยีพวกนี้คือการเก็บข้อมูลการใช้งานของ User เพื่อไปประมวลผลว่ารูปแบบไหนมีประสิทธิภาพที่สุด

ถ้ามี User ใช้น้อย หรือ feed ข้อมูลกลับเข้าไปในระบบน้อย ข้อมูลจะไม่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงความเข้าใจที่เรามีต่อระบบปกครองไปเยอะ การปกครองไม่ได้ต้องการให้เราหยุดอยู่กับที่แต่ต้องการให้เราเชื่อมต่อมากที่สุด เพราะจะเก็บข้อมูลการเชื่อมต่อของเรา Channel ต่างๆ ที่เราใช้  สิ่งเหล่านี้มีมูลค่าทั้งนั้น google map หรือ GPS นำทางที่เราใช้ เอาข้อมูลเราไปประมวลผลเพื่อขาย เราอยู่ในยุคระบบทุนนิยมที่มีการปกครองอีกแบบหนึ่ง

มีมรดกทางความคิดอะไรไหม ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างแผนที่ในยุคแผนที่กระดาษ แผนที่ดาวเทียม และแผนที่แบบกูเกิลที่ผู้ใช้เป็นคนให้ข้อมูล

มหาศาลเลยครับ สำหรับผมการเมืองไทยหรือโครงสร้างทางวัฒนธรรมของสังคมไทยในปัจจุบันคือมรดกของสงครามเย็น ไม่ใช่มรดกของอาณานิคม เราได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกามากกว่าอิทธิพลจากเจ้าอาณานิคมยุโรป เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ว่าด้วยความเป็นไทย ที่เราเชื่อว่าเราเป็นคนไทย การมีบัตรประชาชน การรับรู้กาลเทศะ (space and time) ที่เรามีอยู่ ในปัจจุบัน และพื้นที่ต่างๆ มันเป็นมรดกที่มาจากยุคสมัยนี้ทั้งสิ้น

การศึกษาเรื่องแผนที่เป็นเพียงเบื้องต้นในการเข้าใจสังคมไทยจากยุคสงครามเย็น เป็นจุดตั้งต้นของรัฐในการเห็นสิ่งที่รัฐไม่เคยเห็น หลังจากนั้นรัฐถึงไปทำเรื่องอื่นๆ เช่น ห้องน้ำ ถนน ความสะอาด สุขภาพ และการพัฒนาในด้านต่างๆ เพราะถ้าไม่มีแผนที่เขาไม่เห็นเลยว่าจะตัดถนนไปตรงไหน

ผมอ่านเอกสารของสหรัฐอเมริกาว่าด้วยแผนการตัดถนนในประเทศไทยในภาคอีสาน ซึ่งสาระสำคัญคือ การกำหนดว่าการตั้งถิ่นฐานในแผนที่ทั้งหมดจะต้องอยู่ห่างจากถนนกี่เมตร เพื่อที่ว่าเมื่อรถทหารเข้าไป จะสามารถพุ่งตรงไปที่หมู่บ้านนั้นได้เลยทันที ถ้าไม่มีการเห็นจากแผนที่ก่อน การตัดถนนจะเป็นไปไม่ได้เลยในพื้นที่ชนบทของไทย

ในแง่นี้ เราอยู่กับมรดกของสงครามเย็นในทุกด้านเลย แม้กระทั่งด้านวัฒนธรรมด้วย สิ่งที่นำพาให้ความรู้สึกจงรักภักดีกับสถาบันหลัก ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เข้าไปสู่ผู้คนได้จริงๆ ในยุคหลัง 2500 เท่านั้น  อ.ณัฐพล ใจจริง ชี้ประเด็นนี้ว่า ถ้าเราดูเอกสารของอเมริกา จะเห็นว่าอเมริกาสำรวจเยอะมาก ทำแบบสอบถาม เก็บข้อมูล สารพัด อย่างละเอียด

ประมาณช่วงปี 2490 สหรัฐอเมริกาโดยยูเซด (USAID) ไปสำรวจภาคอีสาน แล้วพบว่าคนอีสานไม่ถึงครึ่งที่รู้จักในหลวง คำว่ารู้จักในหลวงหมายถึง รู้จักความเป็นไทย รู้จักว่าตัวเองอยู่ที่ไหน รู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย คือเขาไม่รู้จักเลย คำถามคือ ทำไมเราถึงเชื่อว่าสถาบันหลักเหล่านี้ เป็นสิ่งที่คู่กับความเป็นไทยมาอย่างยาวนาน เป็นร้อยๆ ปี อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5  สิ่งเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็นเท่านั้นเอง

เราจะเห็นว่ายูเซดมีบทบาทมาก โดยเฉพาะการเข้าทำ propaganda เรื่องของความเป็นไทย ความจงรักภักดี  เอกสารของยูเซดชุดหนึ่งระบุว่า ยูเซดมีการแจกรูปพระแก้วมรกต รูปพระพุทธชินราช รูปชาวนา (ชาวนาเป็นอุดมคติของความเป็นไทย) รูปแผนที่ประเทศไทย (คนอีสานไม่รู้ว่าแผนที่ประเทศไทยหน้าตาเป็นยังไง) รูปในหลวง เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมการติดรูปในหลวงและพระราชินีในบ้านเกิดขึ้นในยุคจอมพลสฤษดิ์ทั้งนั้น

Requisition maps by stock number

ยุคสงครามเย็นทิ้งมรดกก้อนใหญ่ไว้ให้เรา โดยเฉพาะในเชิงอุดมการณ์ ในขณะเดียวกัน 30 ปีผ่านไป สังคมไทยกำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ เราอยู่ในความความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวงมากว่า 10 ปี อาจารย์พอจะเชื่อมทั้งสองส่วนนี้เข้ากันแล้วมีคำอธิบายไหม

ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน เกิดจากความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งคือ ความขัดแย้งระหว่างคนที่เติบโตมาในมรดกของสงครามเย็น กับคนที่ไม่ได้โตมาในมรดกของสงครามเย็น เช่น คนอย่างทักษิณไม่ใช่คนที่มี mentality แบบสงครามเย็น ในขณะที่ชนชั้นนำจารีต คือ คนที่เติบโตมาจากมรดกสงครามเย็น

ชนชั้นนำทางจารีตคือ กลุ่มคนที่ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างเข้มข้น ลองคิดดูง่ายๆ ว่า กลุ่มนิยมเจ้าต้องต่อสู้อย่างหนักนับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ทั้งจากการเมืองภายในประเทศที่ต้องแย่งอำนาจมาจากจอมพล ป. เข้าสู่ยุครัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ มีการโปรโมตอุดมการณ์ของสถาบันกษัตริย์อย่างเข้มข้น หลังจากนั้น ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายจากคอมมิวนิสต์อย่างหนัก เมื่อประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ในประเทศก็ลงเอยด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งนักศึกษาและคนจำนวนมากเข้าป่าจับอาวุธ แต่ท้ายที่สุดเหลือประเทศไทยประเทศเดียว ที่ชนชั้นนำเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้

พลังทางสังคมที่เติบโตจากความพยายามต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามมันแข็งแกร่งมาก ชนชั้นนำจารีตตกผลึกอยู่ในหัวอย่างเข้มข้นเลยว่า เขาสามารถใช้วิธีการแบบนี้แล้วเอาชนะศัตรูทางการเมืองได้ ความคิดนี้ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน ตอนนี้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยเลยเป็นความขัดแย้งของคนที่เป็นชนชั้นจารีตกับชนชั้นนำที่ไม่ได้เติบโตมาแบบสงครามเย็น ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้เราอยู่ภายใต้การปกครองของชนชั้นนำจารีต

อะไรคือความแตกต่างในวิธีคิดของคนที่อยู่ในยุคสงครามเย็น กับคนที่เติบโตมาหลังสงครามเย็น

เราอาจตอบคำถามนี้โดยย้อนไปที่การพูดถึงความต่างระหว่าง L708 กับ Google map ในขณะที่ L708 ซึ่งเป็นมรดกสงครามเย็น ต้องการให้คนหยุดอยู่กับที่ และจงรักภักดีกับรัฐแบบแนวดิ่ง แต่ว่า Google map ต้องการการเชื่อมต่อเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งผมว่านี่คือความต่างที่ชัดเจนมาก

เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาทำไมถึงมีลักษณะ labor-intensive ตลอด เราขูดรีดแบบมหาศาล แต่ความจริงค่าแรงแทบไม่โตเลย และเราก็ไปใช้แรงงานข้ามชาติ เพื่อรักษาอัตรากำไรเอาไว้ การบริหารจัดการประเทศของชนขั้นนำจารีตทั้งหลาย ในหลายสิบปีผ่านมา ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นทั้งเศรษฐกิจ อุดมการณ์ ความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง แต่ว่าชนชั้นนำใหม่มีความคิดในเรื่องการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ที่ตอบรับความเป็นไปได้ของระบบทุนนิยมที่เป็นรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนอย่างทักษิณพยายามที่จะมีนโยบายประชานิยม ซึ่งจริงๆ แล้วไม่อยากจะใช้คำนี้ เพราะส่วนหนึ่งคือการเพิ่มพลังทางการผลิต การเพิ่มศักยภาพความมั่นคงในชีวิต เพื่อทำให้พลเมืองมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อทำการผลิตได้ แต่ชนชั้นนำจารีตไม่ต้องการเพิ่มพลังในการผลิต เขาแจกจ่ายเงินในระบบสังคมสังเคราะห์ ซึ่งเป็นระบบบุญคุณ ซึ่งต่างจากระบบสวัสดิการ

ชนชั้นนำที่เติบโตมาจากการบริหารทุนนิยมแบบทักษิณ รู้อยู่แล้วว่า ถ้าไม่เพิ่มพลังทางการผลิต โอกาสที่ระบบเศรษฐกิจไทยจะโตเป็นไปได้ยากมาก สิ่งเหล่านี้มันจะขัดแย้งกันตลอดเวลา ในข้อถกเถียงว่า จะเอายังไง ประชานิยม ไม่ประชานิยม หรือแม้กระทั่งการปกครองท้องถิ่น ระหว่างการรวมศูนย์กับการกระจายอำนาจให้กับการปกครองท้องถิ่น ทุกระดับมันต่างกันหมดเลย

ถ้ามองสถานการณ์ปัจจุบัน จะบอกว่ากลุ่มชนชั้นนำเก่าไม่เข้าใจเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้ เพราะกลุ่มทุนที่ผูกติดกับรัฐ ก็หันมาพูดเรื่องดิจิทัล หันมาใช้เทคโนโลยีเพิ่มพลังการผลิตกันหมด เราจะอธิบายความซับซ้อนตรงนี้ยังไง

เทคโนโลยีถูกดีไซน์เพื่อประโยชน์บางอย่าง และที่ผ่านมาเทคโนโลยีถูกใช้เพื่อตอบรับคนบางกลุ่ม เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะลดจำนวนพนักงานลงหลักหมื่น เพราะว่ามีแอปพลิเคชันใช้หมดแล้ว คำถามคือ ทำไมระบบทุนนิยมแบล็คเมลเราตลอดเวลาว่า เทคโนโลยีกำลังมาแล้วนะ Robot กำลังมา พวกคุณจะตกงานถ้าพวกคุณไม่มีทักษะ ทำไมเทคโนโลยีไม่ตอบสนองคนจำนวนมากล่ะ กลายเป็นสิ่งที่ปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน

ผมพยายามจะตอบคำถามนี้โดยอ้อมว่า ถ้าอัตรากำไรของการผลิตเพิ่มขึ้น โดยที่ใช้กำลังแรงงานลดลง มันน่าจะกระจายมาสู่คนอื่นๆ ในสังคมได้มากขึ้นหรือเปล่า แต่ที่ผ่านมา มันถูกใช้แบล็คเมลคนในประเทศซึ่งเป็นพลเมืองของรัฐว่า ถ้าคุณไม่แข่งขัน ไม่ต่อสู้ ไม่พัฒนาตัวเอง คุณจะตกจากเส้นทางพัฒนา ซึ่งมันเบี่ยงประเด็นมากเลย

สิ่งที่นายทุนทำเพื่อควบคุมกระบวนการเหล่านี้ คือการพัฒนากลไกการขูดรีด ดึงมูลค่าส่วนเกินแบบใหม่ นั่นคือ พวกระบบไฟแนนซ์ หนี้ ค่าเช่า ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อดึงเอามูลค่าส่วนเกิน ระบบลิขสิทธิ์ทางปัญญาทั้งหลายที่เอามาใช้ เพราะฉะนั้นถึงคุณจะรู้สึกว่าเป็นอิสระ แต่ความจริงมนุษย์ในยุคปัจจุบันทำงานวันหนึ่งมากกว่ามนุษย์ในยุคอุตสาหกรรมอีก แต่กลับกลายเป็นว่าคนจำนวนมากกลับไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นแรงงานด้วยซ้ำ

ผมทำวิจัยเรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมศิลปะ ทำแบบสอบถามในเว็บไซต์ ขอให้คนทำงานศิลปะช่วยมาตอบ ซึ่งแบบสอบถามระบุว่า “นี่เป็นส่วนหนึ่งของวิจัยอุตสาหกรรมศิลปะและแรงงานศิลปิน” ผมโดนคนแชทมาด่าว่า ศิลปินไม่ใช่แรงงาน การทำงานศิลปะไม่ใช่อุตสาหกรรม คือพูดง่ายๆ ว่า ตัวเขาไม่คิดว่าเขาทำการผลิต และตัวเขาถูกขูดรีดเลย เขาคิดว่าทุกอย่างมาจากตาที่สาม มาจาก creativity ของตัวบุคคลคนเดียว ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเลย และผมคิดว่านี่เป็นอุดมการณ์สำคัญเลยของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน ซึ่งมันถูกสร้างโดยการทำให้คนเข้าถึงแหล่งทุนบางอย่าง เพื่อทำให้คนรู้สึกว่าตนเองพัฒนา เป็นเจ้าของกิจการได้

แต่ถ้าคุณเกิดในยุคแรงงานที่เป็นอุตสาหกรรม คุณต้องรู้อยู่แล้วว่า คุณเป็นแรงงานตลอดชีวิต สิ่งที่จะทำให้คุณจะมีชีวิตได้ดีที่สุดคือการสู้กับนายทุนในโรงงาน เพื่อให้ได้สวัสดิการ ได้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ลดชั่วโมงในการทำงาน แต่ทุกวันนี้เราจะสู้กับใคร ในเมื่อเราไม่ได้เป็นแรงงานแล้ว จึงเป็นสาเหตุที่เราเห็นปรากฏการณ์ที่นักศึกษาในหลายประเทศต่อสู้เพื่อยกเลิกหนี้จากการศึกษา เพราะระบบทุนนิยมควบคุมเรา ผ่านการทำให้เราเป็นหนี้ตั้งแต่เกิด เป็นหนี้เพื่อสะสมทุนทางวัฒนธรรมของตัวเองผ่านระบบการศึกษา

ในปัจจุบันไม่มีใครบังคับเราเลยว่าเราต้องทำงานหนัก แต่เราต้องทำงานจนตาย กว่าเราจะใช้หนี้หมด ใช้หนี้จากการศึกษาหมดแล้วต้องซื้อบ้าน ผ่อนรถ คือมหาศาล โดยที่เราไม่มีสวัสดิการสังคมใดๆ เลย ไม่จำเป็นต้องมาบอกว่าเราต้องทำอะไร แต่เรารู้เองว่าเราต้องทำเพื่อให้อยู่รอด

ในด้านหนึ่งเราก็วิจารณ์ได้ว่า ระบบทุนนิยมว่ามันแบล็คเมลเราได้ แต่ถ้ามันไม่ได้แบล็คเมล มันมาจริง คนงานตกงานจริงๆ เราจะตอบสนองต่อปรากฏการณ์นี้ยังไง

ความคิดในการบริหารจัดการสังคมมันก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในยุคหนึ่ง เราเชื่อว่าถ้าเรามีงานประจำทำ เราจะมีความมั่นคงในชีวิต แต่ในยุคปัจจุบัน คนเชื่อว่า ถ้าเราทำงานอิสระ เป็นฟรีแลนซ์ เป็นผู้ประกอบการ เราจะมีความก้าวหน้าในชีวิต จริงๆ แล้วระบบทุนนิยมก็ใช้ไอเดียว่าด้วยความอิสระของการทำงาน ปลดปล่อยมนุษย์ออกจากโรงงานเยอะแยะไปหมด คือคุณอยู่ตรงไหนคุณก็ทำงานได้ โดยที่ทำให้เชื่อว่า เราจะประสบความสำเร็จ จะร่ำรวย เป็นคนมีชื่อเสียงได้

ในยุโรป อเมริกา และแอฟริกา มีความพยายามจะพูดถึงไอเดียที่ว่า ถ้าคนถูกปลดออกจากโรงงาน หรืองานประจำ เมื่อขาดค่าแรงแล้วพวกเขาจะอยู่ยังไง มีการเสนอไอเดียเรื่องรายได้ขั้นต่ำ (basic income) ที่การันตีว่า ถ้าคุณออกไปนอกโรงงานแล้วคุณจะยังมีชีวิตได้อยู่ เพราะลักษณะการจ้างงานแบบยืดหยุ่น การผลิตที่ยืดหยุ่น ไม่มีข้อจำกัดของ space and time ทำให้ชีวิตของคนไม่มั่นคง เพราะฉะนั้นมันควรมีไอเดียอื่นที่มารองรับความมั่นคงของชีวิต

ในกรณีของสังคมไทย การมีไอเดียใหม่ๆ ซึ่งผมไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดี อย่างน้อยทำให้เราหลุดออกจากกับดักของการถูกแบล็คเมลโดยระบบทุนนิยมได้  ทำไมระบบทุนนิยมมีอัตรากำไรสูงมากในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงของคนกลับเท่าเดิมหรือลดลงด้วยซ้ำ ทำไมคุณถึงไม่สามารถให้ความมั่นคงในชีวิตคนได้ คุณอ้างคนไม่มีศักยภาพ ต้องถูกปลด แต่ถึงที่สุดแล้ว เป็นเพราะสังคมไทยไม่มีไอเดียอื่นมาแทนที่ความคิดแบบนี้มากกว่า

ยกตัวอย่าง ในช่วงรัฐประหาร 2549 กลุ่ม activist ที่ต่อต้านรัฐประหาร เถียงกันเยอะมากว่า จะคัดค้านรัฐประหารยังไง ด้านหนึ่งคนกลุ่มนี้ก็เคยด่าทักษิณว่าเผด็จการ คอร์รัปชั่น ประชานิยม พอรัฐประหาร 2549 ก็ถกเถียงกันว่าจะพูดอย่างไรดี บางคนเสนอว่าให้พูดเรื่องรัฐสวัสดิการ เพราะทั้งรัฐบาลเผด็จการทหารและทักษิณไม่ไปถึงรัฐสวัสดิการแน่ ประเด็นนี้จะทำให้ไม่ต้องโปรโมตทักษิณ

แต่สุดท้าย activist ส่วนใหญ่บอกว่าต้องเชียร์ Neoliberalism อาจารย์พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ นี่ชัดเจนเลยครับ คือต้องเอา Neoliberalism มาสู้กับ Nationalism คำถามคือ ไม่ว่า Nationalism หรือ Neoliberalism ไม่มีอะไรเลยที่พูดอยู่บนฐานชีวิตความมั่นคงของคน

สรุปแบบสั้นที่สุดคือ ในรอบ 10 กว่าปีที่มีความขัดแย้งทางการเมือง สังคมไทยไม่มีทางเลือกในเชิงอุดมการณ์หรือเชิงความคิดในการจัดการสังคมที่สร้างความเท่าเทียม หรือความมั่นคงในชีวิตเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความขัดแย้งที่รุนแรง การเมืองมันผลักให้เราอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งจนทำให้ไม่มีช่องว่างมาคิดเรื่องใหม่ได้

มองเห็นถึงความเป็นไปได้ของการมีการเมืองที่เป็นทางเลือกทางความคิดไหม

มีความเป็นไปได้นะครับ เพราะส่วนหนึ่งของกระบวนการอยู่ในระบบการศึกษา หลายคนบอกว่า นักศึกษานับวันยิ่งโง่ลง ยิ่งขี้เกียจ ยิ่งไร้ความรับผิดชอบ แต่ผมรู้สึกว่านักศึกษาทุกวันนี้เก่งมาก

ก่อนหน้านี้เวลาสอนหนังสือ จะมีนักศึกษานั่งกดโทรศัพท์มือถือ ตอนแรกๆ ผมก็จะรู้สึกหงุดหงิด แต่วันหนึ่งนักศึกษาคนหนึ่งที่กดโทรศัพท์ตลอด ยกมือบอกว่า ที่อาจารย์พูดอยู่บนกระดาน ข้อมูลผิดนะ หนูดูวิกิพีเดียอยู่  ทำให้ผมรู้สึกว่า คนเหล่านี้ฉลาดกว่าเราแน่ๆ สมัยก่อนเราต้องไปห้องสมุด ไม่มีคอมพิวเตอร์เสิร์ชโน้นนี่ ไม่มีการหาความรู้ แต่การที่เทคโนโลยีเปลี่ยน มีรุ่นใหม่เข้าสู่ความรู้แบบใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว คนเหล่านี้ไม่มีใครพอใจกะลาที่ตัวเองอยู่หรอก

ส่วนที่สำคัญมากในเรื่องนี้ก็คือ ความรู้สึกไม่พอใจและความกระหายที่จะมีโลกแบบอื่น จะเป็นโลกแบบไหนยังเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อยู่ที่ว่าพลังทางสังคมแบบไหนจะฟีดประเด็นอะไรเข้าไป แต่ความกระหายอันนี้ มันฝังอยู่ และเป็น energy ของคนรุ่นใหม่มากๆ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save