fbpx
คุยการเมืองไทย ไออาร์ และกาแฟ กับฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

คุยการเมืองไทย ไออาร์ และกาแฟ กับฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

จารุกิตติ์ ธีรตาพงศ์ เรียบเรียง

หลังการเมืองไทยเริ่มส่งสัญญาณถึงการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นในปี 2562 ความหวังของคนรุ่นใหม่ถึงอนาคตสังคมไทยก็กลับคึกคักอีกครั้ง 

ตัวละครสำคัญทางการเมืองผุดขึ้นมากมาย หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตาคือ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ บุตรชายคนโตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ที่เรียกได้ว่าโตมาในบ้านของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ประเด็นคือเขามองเห็นอะไรในการเมืองไทย และมองไปไกลกว่าความเป็น ‘ประชาธิปัตย์’ ในความรู้สึกของคนทั่วไปอย่างไร

ปัจจุบัน ฟูอาดี้กำลังศึกษาปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ Oxford University หลังจบปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะจาก Harvard University

นอกจากนี้เขายังเป็นที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ของ Teach for Thailand เป็นคอลัมนิสต์สำนักข่าวไทยพับลิก้า และยังแทนตัวเองว่าเป็น “นักพัฒนากาแฟ” ผู้เอ่ยว่า “เข้าใจประเทศไทยมากขึ้นผ่านกาแฟ”

101 ชวน ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ มาสนทนาในรายการ 101 One-on-One มาคุยเรื่องการเมืองไทย ลัดเลาะไปยังการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และแวะทำความเข้าใจสังคมไทยกับการปลูกกาแฟ ดำเนินรายการรายการโดย ธร ปีติดล

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

การเมืองไทย

อะไรคือปัญหาของการเมืองไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ผมว่าเหตุผลหลักคือความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างปิดตาข้างหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งพูดแต่เชิงประชาธิปไตย เชิงครรลอง เชิงระบบ หรือที่เรียกว่า process อีกฝ่ายก็พูดแต่เชิงเนื้อหา หรือที่เรียกว่า substance เช่นเรื่องคอร์รัปชั่น ผมรู้สึกว่าการเมืองไทยหยุดอยู่แค่นี้

ฝ่ายหนึ่งอ้างประชาธิปไตย ระบบการเลือกตั้ง แต่พอเป็นระบบที่เรียกว่า Elected Authoritarian หรือเผด็จการรัฐสภา ก็จะเงียบไม่พูดอะไร อีกฝ่ายหนึ่งพูดเรื่องคอร์รัปชั่น พูดเรื่องการปกครองที่ดี แต่พอฝ่ายตัวเองเข้ามามีคอร์รัปชั่น มีการปกครองที่ไม่ดี กลับไม่พูดอะไร 

ความเป็นประชาธิปไตยที่ดีต้องมีทั้งสองแบบ และถ้าจะแก้ปัญหานี้ ประเทศจะต้องเป็นประชาธิปไตยที่ดีกว่านี้ คือใช้ประชาธิปไตยแก้ประชาธิปไตยที่ไม่ดี มันต้องเริ่มด้วยระบบก่อน ผมว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นมันจะแก้ไม่ได้ วนอยู่อย่างนี้เหมือนปิดตาข้างหนึ่ง

มองประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายเหมือนกัน แต่ความต้องการที่จะไปให้ถึงไม่เหมือนกัน ?

ใช่ เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบและคนละใบกัน มันต้องมีคนที่เชื่อในการเลือกตั้งและเชื่อในการปกครองที่ดีที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีตัวเลือกแบบนี้เกิดขึ้น เราก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้ 

และต้องเข้าใจก่อนว่าในระบอบประชาธิปไตย การประท้วงหรือการเมืองบนท้องถนนเป็นเรื่องปกติ แต่ย้อนกลับไปสมัย กปปส. ผมคิดว่าเขาเดินพลาดตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภา ผมว่าเขาควรหยุดได้แล้ว พอดันไปจนถึงยุบสภาฯ ก็ต้องกลับมาเล่นในระบอบ คุณไปว่าเขาดันสุดซอย แต่ตัวเองดันมาสุดซอยเสียเอง 

การเป็นแม่ทัพที่ดีต้องรู้ว่าตอนไหนควรรุก ตอนไหนควรถอย นี่เป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยกับ กปปส. มันทำให้เราเป็นอย่างทุกวันนี้ 

อธิบายได้ไหมทำไม กปปส. ถึงไม่หยุด

มันเป็นการเคลื่อนไหวสองช่วงที่แตกต่างกัน ช่วงแรกทุกคนออกมาต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อมาถึงยุบสภา จุดนี้คนมันแตกกันค่อนข้างเยอะ

ผมคิดว่าในฝ่าย กปปส.เอง ผมเรียกว่าฝ่ายอนุรักษนิยมก็แล้วกัน มีคนที่ดันไปสุดๆ จนเกิดความโกลาหลขึ้นมา ทำให้ทหารมีความชอบธรรมที่จะเข้ามา  แล้วผมเชื่อว่าทหารไม่ได้อยากเข้ามาในตอนนั้น แต่มันเกิดความโกลาหลมากจนเขารู้สึกว่าเขามีหน้าที่ต้องรักษาเสถียรภาพของประเทศ แล้วชนชั้นกลางเป็นคนเปิดโอกาสนั้น แม้เราจะต่อต้านเผด็จการประชาธิปไตยมา แต่เราเปิดโอกาสให้เขาดึงประชาธิปไตยไปหมดเลย 

คุณคิดว่าระบบราชการมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการรัฐประหารด้วยไหม

ไม่น่าจะเกี่ยว แต่ข้าราชการต้องเข้าใจว่าเป็นฝ่ายที่มีสิทธิเยอะ ต้องเข้าใจว่าตัวเองมาจากประชาชน การที่คนที่เลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐมนตรี เพราะเขาได้ความชอบธรรมมาจากประชาชน ข้าราชการต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน และข้าราชการต้องเข้าใจด้วยว่าตอนไหนที่ควรจะแตกแถว

สมัยที่ผมเรียนมหา’ลัย มีวิชาหนึ่งเขาให้เราเรียนเกี่ยวกับการปรับตัว เช่น เราสามารถให้ข่าวกับคนที่เป็นนักข่าวได้ แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับหัวหน้าเราที่ทำแบบนี้ หรือถ้าเราเห็นคอร์รัปชั่นในองค์กร เวลาเราสู้ในระบบไม่ไหว เราควรปล่อยข่าวนั้นให้นักข่าวหรือคนอื่นไหม เพื่อจะมาช่วยกัน 

ข้าราชการไทยอาวุโสกว่าผมเยอะ เขารู้ แต่ข้าราชการต้องเข้าใจก่อนว่ามันมีสิทธิที่จะต่อต้านได้ ถ้าไม่มีความชอบธรรมหรือเห็นความไม่ถูกต้องในองค์กร

ถ้าพูดถึงชนชั้นกลาง ในอดีตเคยถูกมองว่าเป็นพลังที่ก้าวหน้า แต่ทุกวันนี้เรากลับเห็นชนชั้นกลางไม่ได้พอใจกับประชาธิปไตยเท่าไหร่ คุณมองปรากฏการณ์นี้ยังไง

เขาอาจจะไม่พึงพอใจในประชาธิปไตย แต่ผมว่ายังมีคนเชื่อมั่นในประชาธิปไตยอยู่ อย่างน้อยเราต้องเชื่อว่าพวกเรายังเชื่ออยู่ ไม่อย่างนั้นจบเลย คือผมเชื่อ แต่ผมคิดว่าคงเกิดความน่าเบื่อหน่ายในระบอบการเมืองเหมือนไม่แคร์มากกว่า ตัวผมเองก็เป็น มันเบื่อมากเสียจนต้องขึ้นดอยไปทำกาแฟ มีความสุขกว่า เราไม่อยากสู้แล้ว มันเบื่อหน่ายมาก เป็นความรู้สึกอย่างนี้มากกว่า

เป็นความรู้สึกว่าไม่ใช่การเมืองอย่างที่ตัวเองคาดหวังเอาไว้

ใช่ เหมือนไปทำงานภาคเอกชนดีกว่า เพราะภาครัฐบาลให้ความหวังยาก 

แล้วทำไมชนชั้นกลางที่เคยตื่นตัวเรื่องคอร์รัปชั่นมากๆ กลับไม่ได้ตื่นตัวเรื่องนี้ในยุคนี้เหมือนในอดีต

มันเป็นเรื่องแปลกใช่ไหม เพราะเราต่อต้านคอร์รัปชั่นกันมาก่อน ผมก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน ยิ่งเกิดเหตุการณ์แบบนี้เหมือนมันเงียบๆ ไป ตอนนี้มันไม่มีอะไรที่ตรวจสอบได้เลยนะ แย่กว่าเมื่อก่อนอีก 

เหมือนพวกที่ตัวเองชื่นชอบขึ้นมามีอำนาจ ก็จะรู้สึกเห็นใจพวกเดียวกัน จริงๆไม่ควรเป็นอย่างนั้น มันต้องพูดเรื่องคอร์รัปชั่นไปเรื่อยๆ ต้องพูดทุกรัฐบาลด้วยซ้ำ ตั้งคำถามกับทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง หรือที่มาจากระบอบอะไรก็ตาม การต่อต้านคอร์รัปชั่นมันปฏิเสธไม่ได้ แต่พอพวกตัวเองทำพลาดกลับไม่เป็นไร ให้โอกาสกันใหม่

ผมเคยคุยการเมืองกับเพื่อนต่างชาติ เขาพยายามให้ผมช่วยอธิบายว่าการเมืองไทยคืออะไร เป็นยังไง เขาบอกเขาไม่เข้าใจ ผมบอกว่าถ้าคุณไม่เข้าใจแสดงว่าคุณเข้าใจแล้ว ผมเองก็ยังงงๆ สับสนกับตัวละครต่างๆ มันไม่มีใครที่ยืนหยัดในประชาธิปไตยจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย 

ในฐานะคนรุ่นใหม่ คิดยังไงกับบทบาทของผู้หญิงในการเมืองและประชาธิปไตยไทย

นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงผมว่าสำคัญมาก ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญเลย ผู้หญิงมีจำนวนครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจและไม่มีนักการเมืองผู้หญิงคนไหนที่ดูโดดเด่นเลย มันควรจะมีมากกว่านี้ เมืองนอกมีโควต้าด้วยซ้ำ 

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ การเมืองไทย ไออาร์ กาแฟ

อยากให้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันหน่อย ถ้าดูช่วงปี 2543 เราจะเห็นภาพประชาธิปัตย์เป็นคนหนุ่มไฟแรง เป็นความหวังของใครหลายคน 

การเมืองในประชาธิปัตย์เป็นประชาธิปไตยเกินไป มีหลายก๊กหลายฝ่าย เหมือนมีพรรคเล็กๆ อยู่ข้างใน คุณอยู่ข้างไหนก็ต้องเข้าข้างฝ่ายนั้น และขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนมีอำนาจ วันไหนช่วงไหนใครมีอำนาจมากที่สุดพรรคก็เทไปทางนั้น ใครที่มีความอาวุโส ใครที่เป็นคนหาเงินเข้าพรรค ก็มีอำนาจเยอะ

อุดมการณ์เป็นส่วนหนึ่ง แต่อุดมการณ์ต้องแข็งนะ เพราะเราอาจต้องเปลี่ยนตามอุดมการณ์ แต่ถ้าอุดมการณ์ไม่แข็งแต่แรกก็จบ 

ประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ตอนนี้มันเป๋ ขาหักไปข้างหนึ่ง เราจะเอาขาเข้ามายังไงให้แข็งแรงเหมือนเดิม และประชาธิปัตย์เองก็น่าจะกลับมาแสดงจุดยืนที่ตรงกลางมากขึ้น เพราะโดนดึงไปทางขวาเยอะ แล้วต้องเป็นตัวเลือกของคนที่อยู่ตรงกลางหรือซ้ายนิดๆ ได้

ประชาธิปัตย์ควรทำยังไง

ผมว่าการที่กลุ่มคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) เปิดตัวมานี่ดีมากเลย เพราะทำให้ประชาธิปัตย์ต้องกลับมาตรงกลางมากขึ้น กลับมาเป็นกลางเอียงขวาขึ้น ตอนนี้ภาพประชาธิปัตย์ติดไปทางอนุรักษนิยมขวาสุด การที่กลุ่มธนาธรขึ้นมาคนที่ยังอยู่กับประชาธิปัตย์น่าจะแสดงว่ายังมีอุดมการณ์บางอย่างที่เชื่อในสถาบันหรือเชื่อในระบอบประชาธิปไตยอยู่ 

ต้องเน้นอุดมการณ์ที่ชัดเจน

ใช่ ชัดเจนมากขึ้น แต่ถ้าชัดเจนเกินไปมันก็ไม่ยืดหยุ่น เพราะในมิติทางการเมืองเราต้องดูว่าเมื่อไหร่ถึงเวลา push และเมื่อไหร่จะ pull 

ถ้าได้เข้าไปทำงานในพรรคประชาธิปัตย์ คุณมีข้อเสนอในการปรับทิศทางของพรรคให้ก้าวหน้าขึ้นได้อย่างไร

ผมคิดว่าประชาธิปัตย์ต้องยึดมั่นในประชาธิปไตย เป๋ไม่ได้เลย ถึงบอกว่าการที่มีพรรคใหม่เข้ามา ประชาธิปัตย์ต้องกลับมาตรงกลาง แต่จริงๆ คนที่อยู่ข้างในเขารู้ว่าต้องปฏิรูป แต่เขาก็ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะมันมีหลายก๊กหลายกลุ่มที่มีอิทธิพล มันยากมาก 

วันนี้เราเห็นว่าประชาธิปัตย์ขาอ่อนไป ซึ่งผมไม่เข้าใจเหมือนกัน และหลายคนในประชาธิปัตย์ก็เสียใจ ลองสังเกตดูใครที่หลังจากยุบสภาแล้วกลับเข้าไปไม่ออกมาแล้ว ผมว่าพวกนั้นคิดแบบเดียวกับผม

ผมเชื่อว่าคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ก็คิดแบบเดียวกัน แต่ผมคิดว่าถ้าผมเป็นคุณอภิสิทธิ์ตอนนั้น ผมจะลาออก เพราะผมไม่สามารถดึงคนของพรรคให้กลับมาอยู่ในอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่พรรคมี

ทุกวันนี้ประชาธิปัตย์ปรับตัวบ้างไหม

เขาเริ่มปรับแล้ว จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่เข้ามาเล่นการเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะเขาต้องมาดึงเสียงพวกกลางเอียงขวา ก็ลังเลว่าไปกับเขาดีหรือเปล่า ประชาธิปัตย์โดนดึงไปฝ่ายขวามาก ตอนนี้เริ่มกลับมาตรงกลางมากขึ้น ในที่สุดแล้วมันจะเป็นการต่อสู้กันระหว่างการเปลี่ยนแปลง อาจจะคนละวิธีกัน ความเร็วความช้าไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

คุณยังมองว่าประชาธิปัตย์ยังเหลือความเป็นสถาบันการเมืองอยู่ไหม

ผมว่าเหลือ เท่าที่คุยกับคนข้างใน ยังมีคนที่เชื่อแบบนี้ ต้องให้คนพวกนี้มีโอกาสมากขึ้น สถาบันจึงจะยังอยู่ได้ ที่เมืองนอกเขาก็อยู่กันได้ ที่เยอรมนีมีทั้งพรรคซ้ายพรรคขวา อังกฤษก็มี ไม่ว่าคนข้างในจะเปลี่ยนยังไง แต่พรรคก็ยังอยู่ อุดมการณ์มันเปลี่ยนบ้างไม่เปลี่ยนบ้าง เปลี่ยนมากเปลี่ยนน้อยเท่านั้นเอง 

คุณคิดว่าคุณอภิสิทธิ์ยังเหมาะสมกับการเป็นหัวหน้าพรรคฯ อยู่ไหม

ผมคิดว่าต้องให้โอกาสคุณอภิสิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง เพราะเขาไม่เคยได้โอกาสจริงๆ ลองให้เขาได้เลือกตั้งอีกสักครั้ง ถึงประชาธิปัตย์จะมีธรรมเนียมว่าถ้าแพ้เลือกตั้งต้องลาออก แต่ว่าเขาโดนเลือกกลับเข้ามาใหม่หรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง ตอนนั้นประชาธิปัตย์ไม่มีทางเลือก ทุกคนเลยเอาคุณอภิสิทธิ์อีกรอบหนึ่ง

วันนี้มีตัวละครที่จะขับเคลื่อนประชาธิปัตย์ให้ไปถึงจุดที่คาดหวังไว้ไหม

มี เขาก็คุยกันอยู่ คนรุ่นใหม่ในพรรคก็มีคนที่อยากเข้ามาทำงานแต่จะให้โอกาสเขาหรือเปล่าแค่นั้นเอง คราวหน้าก็จะเห็นหน้าตาแล้วว่ามีใครบ้าง

คุณคิดเห็นอย่างไรกับกลุ่มคนที่ออกมาสนับสนุนเรียกกระบวนการประชาธิปไตยที่ คสช. คุมอำนาจอยู่

ชั่วโมงนี้ต้องเป็นธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เขาเป็นตัวละครเอกที่จะให้ความหวังกับประเทศไทย ที่เป็น Check And Balance ในตอนนี้เขาเป็นกลุ่มเดียวที่จะเช็คได้ แถมคนที่เอียงไปด้านซ้ายก็ช่วยเขาเช็ค ไม่แปลกที่ตอนนี้จุดสนใจจะอยู่ที่เขา แต่หลังจากนี้เป็นวัฏจักรการเมือง พอเริ่มเป็นพรรค เขาต้องเบาลงเพื่อที่จะมาดึงเสียงด้านขวาบ้าง ไม่งั้นไม่มีทางชนะเลือกตั้ง แต่ในเชิงอุดมการณ์แล้วไม่มีอะไรผิด

ที่ผ่านมาเรามีอเมริกาที่ช่วยผลักดันเรื่องประชาธิปไตยไทย ตอนนี้เกิดคนอย่างทรัมป์ขึ้นมา อังกฤษมีเทเรซ่า เมย์ ก็เงียบไปเลย ตอนแรกผมค่อนข้างดีใจที่อเมริกาพูดสนับสนุนการเลือกตั้ง มีประเทศในยุโรปบอกไทยว่าอย่าให้เกินเลยนะ เขาช่วยเตือนเราเรื่องประชาธิปไตย ตอนนี้มันไม่มีแล้ว เป็นคนในประเทศนี่แหละ เป็นน้องๆ ที่เขามีความกล้าหาญ ผมเห็นด้วย 

การเมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่โหมดน่าตื่นเต้น เพราะจะมีเลือกตั้งจริงๆ แต่เราสามารถพูดได้ไหมว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่เสรี

ใช่ แต่การที่คุณธนาธรเปิดตัวทำให้ระบอบการเลือกตั้งครั้งต่อไปมีความชอบธรรมขึ้นมาทันที เพราะเขากระโดดขึ้นมาเล่นเอง แสดงว่าเขายอมรับกติกาที่ทหารสร้างขึ้นมา เขายอมรับในระบอบที่ถูกสร้างขึ้นโดยทหารที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ถ้ากระโดดเข้ามาแสดงว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีความชอบธรรมสูงมาก ถ้าไม่มีพรรคคนรุ่นใหม่เข้ามาเลยมันก็เละ

แต่ยอมเล่นกับยอมรับในระบบอาจไม่เหมือนกันหรือเปล่า 

แสดงว่าเขาต้องมองแล้วว่าถ้าปล่อยไปกว่านี้จะเละกว่าเดิม มันจะเหมือนกับเทคโนแครตที่ยอมเข้าไปทำงานกับรัฐบาลยอมเอาตัวเข้าแลกเพื่อจะทำให้ประเทศชาติดีกว่านี้ 

ในอนาคตเป็นไปได้ไหมที่จะไปร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่

เป็นไปได้ แต่ถ้าผมเข้าไปอยู่ในพรรคเลยอาจจะต้องคิดหนัก ผมคิดว่าถ้าได้ต่อสู้ในทางการเมืองกันจะเป็นการต่อสู้ที่สนุกมาก ผมไม่ได้คิดว่าเขาเป็นคนไม่ดี ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นคนที่ฉลาดน้อยกว่าคนอื่น คู่ต่อสู้ที่สนุกที่สุดคือคู่ต่อสู้ที่คุณเคารพ 

ผมอาจจะมีมุมมองเรื่องความเปลี่ยนแปลงต่างจากเขา เขาอาจอยากเปลี่ยนให้เร็ว แต่ผมขอแบบช้าๆ แต่ชัวร์ ไม่ต้องผลีผลามมาก ข้อแตกต่างอาจอยู่แค่ตรงนี้

ผมมีความผูกพันบางอย่างกับพรรคประชาธิปัตย์ผมอยากจะทำพรรคให้ดีกว่านี้ พ่อก็อยู่มาก่อน มันเป็นความสัมพันธ์ทางใจ ส่วนตัวเราเชื่อในสถาบันและอยากทำสถาบันนี้ให้ดี ถ้าทำประชาธิปัตย์ให้ดีได้ ฝั่งคุณธนาธรก็มีอุดมการณ์ ประชาชนน่าจะมีตัวเลือก

วันนี้คุณมองว่าจะทำอย่างไรให้ คสช. ค่อยๆ ถอยออกไปได้บ้าง

ยากมากๆ ต้องใช้ระยะเวลา ต้องใจเย็น เราใจร้อนกันมาตั้งแต่ปี 2549 เราไปประท้วงกันมา มีรัฐประหารขึ้นมา ครั้งต่อมาเหมือนเดิม กระบวนการประชาธิปไตยมันต้องเกิดขึ้น มันต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวในความเห็นผมต้องเลือกตั้งไปก่อน ให้เดินหน้าไปก่อนแล้วค่อยไปแก้กันสู้กันในระบบ 

คุณมองบทบาทของทหารกับการเมืองไทยช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไงบ้าง

ผมคิดว่าเขาไม่ไปไหน เราต้องอยู่กับมันให้ได้ เราไม่มีทางทำลายล้างเขาได้ เพราะเขาถืออาวุธ เราไม่มีทางที่จะสั่งสมอาวุธไปสู้เขาได้ แล้วเราก็ตั้งสมมติฐานไปเองไม่ได้ว่าเขาเป็นคนไม่ดี เราต้องให้ความเคารพเขา มันมีเหตุผลที่เขาเข้ามาตรงนี้ และส่วนหนึ่งเพราะเราทะเลาะกัน ถ้าเรายอมรับตรงนี้ได้ และต้องไม่ทำตัวเองเป็นภัยคุกคามที่เขากลัวหวาดระแวงจนเขาพยายามทำลายตลอดเวลา เราควรมีโอกาสหรือช่องว่างที่จะคุยกันมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม ผมคิดว่าต้องทำให้เชื่อว่าเราไม่ได้หวังร้ายกับเขาแต่จะทำยังไงให้คนที่มีอำนาจอยู่ตอนนี้เชื่อว่าเราไม่ได้หวังร้ายกับประเทศหรือหวังร้ายกับตัวเขา ผมเองก็เป็นแบบนั้น อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบชัดเจน แต่ผมคิดว่ามันต้องเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนยังไง ผมก็อยากไปในทางที่มันละมุนละม่อม เข้าใจบริบท คิดถึงผลประโยชน์ของแต่ละคนมากกว่า

คุณว่าทหารกลัวอะไร

กลัวประเทศชาติเกิดโกลาหลอีกรอบ ถ้าเราพยายามทำให้เขาเชื่อใจว่าเราจะไม่สร้างความโกลาหลได้ ก็น่าจะก้าวไปข้างหน้าได้

ทหารต้องปรับตัวยังไงบ้าง

เขาต้องยอมรับก่อนว่าพลเรือนต้องปกครองทหาร Civilian Control of Government สำคัญมาก เขาเป็นทหารของประชาชนต้องยอมรับตรงนี้ให้ได้ ไม่ใช่เป็นทหารของทหาร หรืออยู่ในองค์กรที่เป็นรัฐซ้อนรัฐอีกที เขาต้องยอมรับให้ได้ว่าประชาธิปไตยที่เลือกตั้งผู้แทนมา แสดงว่าประชาชนให้ความชอบธรรมมาปกครองทหาร เขาเป็นทหารของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ของประชาชนกลุ่มหนึ่ง ถ้าเขาเปลี่ยนไม่ได้ก็ทะเลาะกันอยู่อย่างนี้

แต่ทหารมักจะบอกว่าถ้ากลับไปเลือกตั้งก็จะวุ่นวายเหมือนเดิมอยู่ดี ทำให้มีคนที่เบื่อการเลือกตั้งกลัวความวุ่นวาย คุณมองเรื่องนี้ยังไง

เราต้องกัดฟัน ต้องเดินหน้าต่อไปด้วยกัน เดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ มันมีคนที่พยายามผลักดันเรื่องนี้ เขามีความทรหดมากกว่าเรา เขาควรจะทำต่อไป และเราควรสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะเป็นความหวังของประเทศ

การเมืองในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะมีหน้าตาแบบไหน

ผมว่าการเปลี่ยนแปลงของอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์และการเกิดขึ้นของพรรคฝ่ายก้าวหน้า ทหารต้องเพลาลงแน่นอน และประชาธิปัตย์ก็ต้องขยับมาตรงกลางมากขึ้น เพื่อจะไปดึงคนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์กลับมาอยู่กับเขาให้ได้ มันจะสนุกตรงนี้ครับ

สำหรับพรรคเพื่อไทย ถ้าเขาไม่ส่งคนรุ่นใหม่มาเป็นหัวหน้าพรรค เขาอาจจะไม่ได้อยู่ในความเป็นไปของการเมืองในอนาคต อาจจะยังชนะอยู่ ได้เสียงเยอะอยู่ แต่ไม่มีความตื่นเต้นอะไรเลย อย่างน้อยประชาธิปัตย์มันเป็นสถาบัน แต่พรรคเพื่อไทยยังไม่เป็นสถาบัน

ถ้าให้ผมเปรียบเทียบว่าการเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร มันจะเป็นการเลือกกันระหว่างความเปลี่ยนแปลงสองอย่าง คือ แบบเปลี่ยนแปลงทันที ไม่ก็ล้มระเนระนาด หรือไม่ก็ประเทศเจริญรุ่งเรื่อง กับแบบละมุนละม่อม ชัวร์กว่า อาจส่งผลไม่มาก แต่ไม่มีทางที่จะล้ม เพราะยังไงก็มีตัวตนที่จับต้องได้ ไม่น่าจะมีใครที่จะอยู่ในการเมืองในอนาคตได้ถ้าไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง

ไออาร์

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

ทราบว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของคุณทำเกี่ยวกับความมั่นคง ประเด็นเป็นอย่างไรบ้าง

ผมทำเรื่อง ‘อัตลักษณ์’ (identity) กับความสัมพันธ์ทางด้านการทหารของแต่ละประเทศ ผมมีทฤษฎีที่ผมต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจริงหรือไม่ คือประเทศที่มีศาสนาเดียวกัน ภาษาเดียวกัน ชาติพันธุ์เดียวกัน เขาจะมีสัญญาทางด้านการทหารออกมาในลักษณะที่ไม่ซับซ้อนเท่ากับประเทศที่มีความแตกต่างเชิงอัตลักษณ์ 

มันเริ่มมาจากว่าถ้าผมยืมเงินแม่ ผมไม่ต้องเซ็นสัญญา ถ้ายืมเงินเพื่อนสนิทก็ไม่ต้องเซ็นอะไร แต่ถ้าผมยืมเงินแบงก์ ผมต้องเซ็นสัญญาเยอะมาก โดนภาษีโดนดอกเบี้ย ถ้าผมไม่จ่ายคืนผมจะโดนปรับ ผมเอาตรรกะนี้มาปรับใช้กับความสัมพันธ์ทางด้านการทหาร

อีกตัวอย่างหนึ่งเวลาเราไปเรียน Oxford กลุ่มที่เราจะไปเป็นเพื่อนด้วยกลุ่มแรกต้องเป็นคนไทยหรือไม่ก็คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่หน้าตาคล้ายๆ กัน ความสัมพันธ์ทางด้านการทหารก็เหมือนกัน เขาจะรู้สึกว่ามีความสนิทสนมกับกองกำลังทหารหรือผู้นำที่พูดภาษาเดียวกับเขา ชาติพันธุ์และศาสนาเดียวกับเขามากกว่า เพราะเวลาเซ็นสัญญาไม่จำเป็นต้องมีความซับซ้อนมาก ความซับซ้อนมีราคามีต้นทุนต้องจ่ายมาก

ประเด็นนี้คุณเริ่มศึกษาตั้งแต่ช่วงไหน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ผมอยากจะคาดการณ์โดยมี 3 ถึง 4 ประเทศ แล้วหน้าตาของพันธมิตรความสัมพันธ์ด้านการทหารมันน่าจะออกมาประมาณไหน ตอนนี้อยู่ในช่วงพิสูจน์ทฤษฎีของตัวเองอยู่

ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างจีนกับอเมริกา ไทยจะเชื่อใจจีนเพราะจีนใกล้มากกว่าหรือเปล่า

สำหรับประเทศไทยเราเลือกไม่ได้ นักวิชาการพูดกันว่าเราเหยียบเรือสองแคม ถ้าอิงด้านความมั่นคง เราอิงกับอเมริกา แต่ด้านเศรษฐกิจ เราอิงกับจีน ซึ่งเราอยู่หลังบ้านจีน

เราเชียร์อเมริกามากไม่ได้ ไม่เชียร์เลยก็ไม่ได้ อิงไปทางจีนมากก็ไม่ได้ เราก็ต้องเล่นสองฝั่งนี้ มีบางประเทศที่เป็นเหมือนเรา มันจะไม่เหมือนสงครามเย็นว่าต้องเลือกข้าง

ไม่ว่าประเทศไทยจะปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนหรือทหาร ก็ต้องเดินไปตามทางนี้ ?

ใช่ ผมคิดว่าการเมืองระดับประเทศ นโยบายต่างประเทศมันควรจะเปลี่ยนน้อยมาก ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ตาม ไม่ควรจะเปลี่ยนซ้ายหันขวาหัน อาจจะมีนโยบายกว้างๆ เขียนให้มันชัดเจนได้ แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลจะเอียงไปมาไม่ได้มันต้องสมดุลกัน 

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ การเมืองไทย ไออาร์ กาแฟ

ในยุคที่สุรินทร์ พิศสุวรรณ มีบทบาทเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คุณคิดว่ายุคนี้กับยุคก่อนแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

คุณพ่อเคยเล่าให้ฟังตอนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศว่าท่านตัดสินใจอย่างตั้งใจว่าจะไม่ทำอะไรผลีผลาม ไม่ควรจะเปลี่ยนแปลงมาก รักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยไว้ แต่ไม่ได้ทำอะไรที่ใหญ่ๆ แบบยิ่งใหญ่เกินไป แค่ขอให้ประเทศอยู่รอดในระบอบของนานาชาติที่เขามีอยู่

คุณมองคุณพ่อเป็นคนแบบไหน

คุณพ่อให้ความสำคัญกับการศึกษามาก เพราะพ่อไปอยู่จุดนั้นได้เพราะเหตุผลเดียวคือเรื่องการศึกษา และคุณพ่อเป็นคนไม่ผลีผลาม ไม่ทำอะไรโฉ่งฉ่าง 

มีคนในวงการการเมืองเตือนผมเยอะมาก ว่าคนทำอะไรโฉ่งฉ่างในทางการเมืองจบไวทุกคน แก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะจะโดนต้านเยอะมาก มันต้องคิดให้รอบคอบ คิดให้ดี ผมคิดว่าการเมืองระดับประเทศก็เหมือนกัน

ในมุมมองของลูก อะไรคือบทบาทสำคัญของสุรินทร์ พิศสุวรรณในฐานะเลขาธิการอาเซียน

เรื่องพม่าพ่อทำไว้เยอะ ในภูมิภาคนี้คนที่ช่วยพม่าที่ไม่ใช่คนพม่าน่าจะเป็นพ่อที่ทำให้พม่าเยอะที่สุดคนหนึ่ง ตั้งแต่ตอนเป็นรัฐมนตรีแล้ว เรื่อง Flexible Engagement ตอนนั้นมีเรื่องผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ทะลักเข้ามาในเมืองไทย พม่ามีกฎอยู่ว่าห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายใน แต่พ่อให้เหตุผลว่าในเมื่อคนของคุณล้นมาฝั่งเรา เราจะไม่มีสิทธิพูดอะไรกับการเมืองของคุณเลยเหรอ 

ตอนพายุไซโคลนนาร์กิสด้วย พ่อเชื่อใจเพื่อนบ้านและประเทศในอาเซียนมากกว่าที่อื่น ตอนนั้นอาเซียนก็เป็นหัวเรือใหญ่ในการเข้าไปในพัฒนา เรื่องโรฮิงญาพ่อก็ทำเยอะ พูดเป็นปากเป็นเสียงให้ คุยกับคนในรัฐบาลพม่าซึ่งไม่ค่อยออกข่าวเท่าไหร่ 

ปัจจุบันเราเห็นพม่าเป็นประเทศที่มีปัญหาการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ ถ้ามองแบบคนสายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คุณจะจัดการปัญหานี้ยังไง

ถ้าเป็นรัฐบาลคสช. พูดยาก ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะพูดได้เต็มปากเต็มเสียง ต้องกดดันอองซาน ซูจี แต่จริงๆ เราต้องดูแลประเทศเราให้ดีก่อนที่จะพูดออกไปด้วย ไม่งั้นพูดยาก

ปัญหาโรฮิงญาที่ทะลักเข้ามาในบ้านเรา เราต้องดูแลเขาให้ดีก่อนที่จะไปพูดว่าบ้านคุณฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เราดูแลชาวพม่าที่เขาเข้ามาทำงานเลี้ยงพวกเราได้ไหม ผมว่าหลายๆ คนมีคนงานที่บ้านเป็นพม่าโรงงานส่วนใหญ่ก็มีคนพม่าเราดูแลเขาดีหรือเปล่า ก่อนที่เราจะไปบอกออง ซาน ซู จีว่าคุณทำไม่ได้ คุณโกหก เราต้องทำตัวเองให้ดีก่อน

นอกจากปัญหาการเมือง คุณให้ความสนใจประเด็นอะไรเป็นพิเศษ

ปัญหาการศึกษาและปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผมว่าสำคัญมาก ตอนนี้อาชีพครูเหมือนไม่ได้รับเกียรติ โรงเรียนด้อยโอกาสไม่ได้รับการสนใจ และการให้คุณค่ากับโรงเรียนพวกนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อเด็กอย่างเดียวนะ มันเป็นประโยชน์ต่อคนที่เข้าไปช่วยเหลือด้วย เขาจะได้เรียนรู้ว่าระบบเป็นยังไง

อย่างเราๆ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ แทบจะไม่รู้ว่าโรงเรียนในกรุงเทพฯ มันแย่ขนาดไหน ไม่ใช่แค่สอนเด็กอย่างเดียวแต่รวมถึง mindset ของผู้ปกครองว่าเขาพร้อมหรือเปล่าที่จะทุ่มทุกอย่างให้กับลูกหลานของตัวเองในด้านการศึกษา

ผมถามเพื่อนคนหนึ่งว่าทำไมไม่ไปเรียนเมืองนอก ไม่ไปเรียนที่ดีๆ เขาบอกบ้านไม่มีเงิน ทั้งที่พ่อแม่ขับเบนซ์ เรื่องวิธีคิดสำคัญมาก คุณพร้อมจะทุ่มเทขายที่ดินขายนาขายบ้าน ขายรถเพื่อส่งลูกเรียนหนังสือหรือเปล่า เพื่อนผมที่ทำกาแฟอยู่บนดอยด้วยกันเป็นชาวสวน ผมบอกเขาว่าเงินที่ได้มาจากการขายกาแฟคุณควรจะส่งลูกเรียนหนังสือ อย่างน้อยมันจะเปิดโอกาสให้เขา เหมือนเราไปเรียน Oxford กลับมาทำกาแฟ ต้องเปิดโอกาสให้เขามีตัวเลือก

แต่ความเป็นจริง พ่อแม่บางคนฐานะทางการเงินไม่สามารถจัดการศึกษาที่ดีให้กับลูกได้ กรณีนี้ควรทำยังไง

ยากเหมือนกัน แต่พ่อแม่ที่ได้ดีจากการศึกษาจะเห็นความสำคัญกับการศึกษามากกว่า เรื่องวิธีคิดจึงสำคัญ คุณพร้อมหรือเปล่าที่จะทุ่มทุกอย่างเพื่อให้ลูกของคุณได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดนะ แต่ต้องครบทุกด้าน ต้องอยู่กับคนหลากหลายได้ ต้องไม่ใช่แค่เรียนดี แต่ต้องทำกิจกรรมอะไรหลายๆ อย่างได้ และไม่ใช่การทำเฉพาะในกลุ่มคนเดียวนะ ต้องเดินทางไปดู ไปเที่ยว ทั้งหมดเป็นการศึกษาหมดเลย

ผมไม่เห็นด้วยกับการมีเพื่อนแค่กลุ่มเดียว ถ้าคุณส่งลูกเรียนนานาชาติคุณอาจต้องมีกิจกรรมอย่างอื่น ดึงเขาออกมาจากชนกลุ่มนั้น ผมเป็นคนใต้ผมกลับบ้านไปผมก็เจอสังคมอีกแบบหนึ่ง ผมมากรุงเทพฯ ก็เจอสังคมอีกแบบ การได้เจอสังคมที่หลากหลายผมว่าสำคัญมาก

ผมเป็นคนเล่นฟุตบอล ผมอยากเชียร์ให้เล่นกีฬาเป็นทีมนะ ผมโตมากับฟุตบอล มันช่วยสร้างตัวตนได้ดีมากเลย อยู่ในสนาม 11 คน เพื่อนก็เป็นลูกภารโรง แต่มันเท่าเทียมกันหมดเลย บางทีผมก็เป็นตัวสำรอง เก่งไม่เก่งไม่เกี่ยวว่าคุณมีฐานะอะไร ครอบครัวเป็นยังไง 

สมมติได้เป็นคนกำหนดนโยบาย คุณจะก้าวข้ามปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษายังไง

คนเก่งประเทศไทยมีเยอะมาก แต่เก่งเยอะแย่ก็เยอะมากเช่นกัน เรื่องฐานะชัดเจนมาก ผมเข้าไปคุยกับเศรษฐีต้นๆ ของเมืองไทย ความคิดเขาค่อนข้างล้ำมาก แต่ผมไม่แน่ใจว่าเขารู้หรือเปล่าว่าการที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ คนที่รวยขึ้นรวยที่สุดต้องรวยขึ้นในเรทที่ช้ากว่าคนที่จนที่สุด ไม่งั้นช่องว่างจะห่างกันอยู่อย่างนี้ 

รู้สึกยังไงเวลามีคนกรุงเทพฯ บอกว่าคนต่างจังหวัดไม่เข้าใจประชาธิปไตยเลย

ดูถูกมาก อย่างน้อยคุณอาจจะบอกว่าเขาตัดสินใจผิดได้ แต่คุณไปบอกว่าเขาไม่เข้าใจประชาธิปไตยไม่ได้ มันเจ็บมากเลย มันไม่ควรเป็นอย่างนั้น แต่อีกฝ่ายก็บอกเหมือนกันว่าอีกฝ่ายไม่เชื่อในประชาธิปไตย นั่นก็เจ็บอีก

แล้วเราไปเอาสิทธิเอาเสียงเขามาจากภาคอีสาน ภาคเหนือ เสียงที่เขามีโอกาสเดียวในการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้เขาไม่มีแล้ว เราในฐานะชนชั้นกลางต้องให้โอกาสเขา ถ้าคิดว่าเขาเลือกผู้นำที่ผิด เราต้องเป็นคนออกไปหาเขา เพื่อที่จะปรับทัศนคติเข้าหากัน ไม่ใช่อยู่กันเฉยๆ อยู่ในกรุงเทพฯ กันแค่นี้ เราต้องเดินทางออกไป แต่ทุกวันนี้พวกเราคนกรุงเทพฯ เหมือนอยู่ในเมฆ

ทำไมยังต้องมาเถียงกันว่าใครรู้จักหรือใครเชื่อในประชาธิปไตยมากกว่ากัน มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรเถียงกันแล้ว ทุกคนควรจะเชื่อในประชาธิปไตย เถียงกันว่าประชาธิปไตยที่ดีกว่านี้ควรเป็นยังไง 

กาแฟ

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ กาแฟ

จุดเริ่มต้นในความสนใจด้านกาแฟเริ่มจากอะไร 

ทุกวันนี้ผมมองตัวเองเป็นนักพัฒนากาแฟ แต่ความสนใจเริ่มมาจากหลายปีที่ผ่านมา มีกาแฟที่เหมาะกับการพัฒนาเยอะมาก 5 ปีที่ผ่านมา ผมอยู่เมืองไทยตลอด ไปใช้ชีวิตอยู่กับคนปลูก ผมมีหน้าที่เอาทฤษฎีไปแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวสวนและเพื่อนๆ ผมเข้าไปแปลงานศึกษาที่เกี่ยวกับกาแฟ ผมเป็นฝ่ายทฤษฎี เขาเป็นฝ่ายปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติได้หรือไม่ได้เขาก็บอก

เช่น ผมบอกว่าควรจะตากกาแฟ 21 วัน เขาบอก 21 วันไม่มีที่ตาก แล้วทำต่อไม่ได้ ต้องลดระยะเวลาเหลือ 14 วัน หรือพอฝนตกก็หมักไม่ได้ เราก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบไป มันมีความรู้ให้ผมเรียนรู้เสมอเลย ผมให้ความรู้เขา เขาให้ความรู้ผม หมักกี่วัน เก็บยังไง มากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดทำให้รสชาติแตกต่างกันหมดเลย 

ใจคุณอยากให้กาแฟไทยพัฒนาไปถึงระดับไหน

ระดับโลก ผมพยายามจะดันโรงคั่วให้ถึงระดับที่ได้แชมป์โลก ซึ่งก็มีไปบ้างแล้ว เราเรียกกาแฟแบบนี้ว่า Specialty Coffee

ในกาแฟจะมีคะแนนทั้งหมด 100 คะแนน จะมาจากรสชาติเป็นส่วนใหญ่ กลิ่นรสชาติ อะไรต่างๆ ถ้า 80 ขึ้นถือเป็น Specialty แล้ว แต่สมัยนี้ต้อง 83 ถึง 84 ถึงจะพอขายได้ ดังนั้นเราต้องดันกาแฟเราให้ไปถึง 86 ให้ได้ ตอนนี้ก็มีหลุดมาบ้างแล้วถือเป็นเรื่องที่ดี

เมล็ดกาแฟทั่วไปที่ขายในร้านดังๆ ได้ประมาณกี่คะแนน

ที่ไปอยู่ในร้านดังๆ มีสองเกรดอยู่ที่ 78 ถึง 80 แต่ทุกวันนี้หาเมล็ดกาแฟจากไทยที่ต่ำกว่า 80 ไม่ค่อยเห็นแล้วใน 2-3 ปีมานี้การพัฒนาเยอะมาก

ระบบการขายกาแฟของชาวสวนในเมืองไทย คือเน้นขายกาแฟให้ลูกค้ารายใหญ่หรือเปล่า หรือเป็นแบบไหน

ส่วนใหญ่ยังเป็นแบบนั้นอยู่ ผมต้องอธิบายว่าภาคเหนือกับภาคใต้ปลูกกาแฟคนละสายพันธุ์กัน ภาคเหนือเป็นอาราบิก้า (Arabica) สายพันธุ์ที่มีความละเอียดอ่อน ไม่ค่อยทนต่อโลก แต่มีรสชาติที่มากกว่าความขม มันมีทั้งหวานและเปรี้ยว แต่ภาคใต้ปลูกโรบัสต้า (Robusta) เป็นกาแฟตลาดทั่วไปรสชาติขมๆ เข้มๆ 

ถ้าจะให้เปรียบอาราบิก้าเหมือนรถยนต์สี่ประตู มีทั้งเฟอรารี่ โตโยต้า ฮอนด้า เราก็พยายามทำให้ถึงใกล้ๆ เฟอรารี่ ส่วนโรบัสต้า เหมือนรถบรรทุก มีตั้งแต่อีแต๋น สิบล้อ แต่เราพยายามผลักดันให้โรบัสต้าเป็นรถบรรทุก Volvo เท่ๆให้ได้

ลักษณะเด่นของกาแฟไทยคืออะไร

ทำ Latte ดี ทำ Espresso Based ได้ดี เคยมีโรงคั่วที่ดังมากในออสเตรเลียมากินกาแฟไทย เป็น Flat White แล้วเขาบอก เฮ้ย แม่งอร่อยกว่าบ้านกูอีก มันดีมาก ตัดกับนมได้ดี รสชาติเข้มพอดีเป็นกาแฟที่กินได้ทั้งวัน 

แล้วอะไรคืออุปสรรคของกาแฟไทย

ราคากาแฟบ้านเราแพง ฝรั่งสามารถไปหากาแฟคุณภาพระดับ 83-84 ได้จากประเทศที่จนกว่า เช่น กัวเตมาลา โคลัมเบีย ฮอนดูรัส เม็กซิโก เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาไประดับ 86 บวกให้เยอะกว่านี้ถึงจะอยู่รอดไม่งั้นก็ต้องเลิกปลูกกาแฟ

ถ้าไปดูประเทศที่ปลูกกาแฟดีๆ เป็นประเทศที่จนมากหมดเลย เอธิโอเปีย ยูกันด้า นิการากัว เคนย่า ประเทศที่จนเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลย  แต่เราไม่ได้จนขนาดนั้น ทุกวันนี้กาแฟลาวทะลักเข้ามาทุกวัน ถ้าจะอยู่รอดต้องจับตลาดเมืองนอก อย่าอยู่แค่ประเทศไทยอย่างเดียว

มีวิธีผลักดันกาแฟไทยไปเมืองนอกยังไงบ้าง

เราต้องขายอย่างอื่นด้วย ต้องขายว่าบ้านเราเป็นประเทศที่เกือบพัฒนาแล้วนะ ถ้าคุณซื้อราคานี้ ชาวสวนจะสามารถส่งลูกไปเรียนหนังสือได้ แถมได้ชาวสวนที่อายุน้อยกลับมา เพราะปัญหาหลักๆ ในโลกกาแฟคือชาวสวนจะแก่มาก  จวนจะเลิกปลูกอยู่แล้ว แต่บ้านเราเยาวชนลูกหลานกลับขึ้นดอยปลูกกาแฟ ทั้งที่มีโอกาสทำงานในเมือง ประเทศที่คล้ายๆ เรามีแค่ฮาวายกับปานามาเท่านั้นเอง

วันก่อนมีลูกค้าไปเจอชาวสวนที่ผมทำงานด้วย ชาวสวนที่อายุเยอะที่สุดคืออายุเท่าผม นอกนั้นต่ำกว่าผมหมดเลย เป็นปรากฏการณ์ที่แปลกมากในวงการกาแฟโลกเราเลยต้องขายจุดนี้ ถ้าคุณซื้อของเรา คุณได้เยาวชนกลับมาทำกาแฟต่อ เราต้องขายเรื่องราวโน้มน้าวให้เขาเห็นมูลค่าของเรา

กาแฟไทยถือเป็นที่ยอมรับในระดับโลกหรือยัง

เรียกว่าไม่ขี้เหร่ สู้กับฝรั่งได้สบาย ถ้าปิดตาแล้วชิมสู้ได้สบาย แต่ปัญหาของเราคือตัวดีที่สุดยังมีไม่มากพอที่จะทำให้เกิดความตื่นเต้นในเรื่องรสชาติได้

เราไม่ควรถามแล้วว่ากาแฟไทยดีไม่ดี สิ่งที่ควรถามคือชอบไม่ชอบ แค่นั้นเอง แต่มันต้องไปถึงจุดที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องชอบหรือต้องสวยงาม เหมือนผู้หญิงชอบไม่ชอบอีกเรื่องหนึ่ง เราต้องผลักตัวเองไปถึงจุดที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ เหมือนผู้หญิงสวยทุกคนยอมรับว่าสวย

อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการคลุกคลีอยู่กับชาวสวนบนดอย

ผมได้เห็นความเป็นมนุษย์ เห็นความเท่าเทียมของเรากับเขา มีแค่ปีแรกปีเดียวเท่านั้นที่มีคนถามผมว่าผมมาทำอะไร ผมบอกช่วยเกษตรกรไทย หลังจากนั้นผมไม่เคยพูดว่าผมช่วยเลย เพราะเราเท่ากันมาก 

ผมมองตาเด็กๆ บนดอยแล้วผมรู้ว่าโอกาสผมดีกว่าเขาเยอะ ถ้าเขาได้โอกาสแบบเดียวกับผมเขาน่าจะเป็นเหมือนผม

เพราะเราแทบไม่เคยคลุกคลีอยู่กับพวกเขาเลย ?

เคยอยู่ในโลกกะลาของตัวเอง ไม่ได้เดินทางออกไปต่างจังหวัด ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับคนภาคอีสาน ภาคเหนืออย่างจริงจัง ผมพบว่าพวกเขาไม่ใช่คนไม่เข้าใจประชาธิปไตย แต่คนเมืองไปตัดสินแทนพวกเขา น่าเจ็บใจแทน

มองตัวเองสัมพันธ์กับกาแฟยังไง กาแฟเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตขนาดไหน

มันเป็น passion เป็นสิ่งที่ทำให้มีกำลังใจทำอย่างอื่นด้วย ถึงตอนนี้มันเป็นตัวดึงความสนใจกับการเรียนพอสมควร แต่เราต้องทำควบคู่กันไป ทุกอย่างมันบังคับให้ผมเจอคนหลากหลาย เป็นการผูกตัวเองให้ไม่ลอย การไปอยู่ Oxford มันอยู่แบบหอคอยงาช้าง เราจับต้องอะไรที่ไม่ใช่ทฤษฎีไม่ได้ แต่การทำกาแฟเหมือนได้เอาทฤษฎีมาปฏิบัติ.

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ


หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “การเมืองไทย ไออาร์ และกาแฟ” ฉบับเต็ม โดย ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ดำเนินรายการโดย ธร ปีติดล ออกอากาศเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ทาง The101.world

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save