fbpx

Push (2019) และ After Work (2023) โลกดิสรัปต์กับเขาวงกตของสิทธิขั้นพื้นฐาน

เยาวชนควรได้เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน คนคนหนึ่งควรมีบ้านไว้ซุกหัวนอนหลบฝน ส่วนผู้ใหญ่เมื่อพ้นวัยเรียนแล้วก็ควรได้มีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่งเพื่อเลี้ยงชีวิต – โลกเดินทางผ่านข้อถกเถียงประเด็นเหล่านี้มายาวนาน ก่อนที่ประโยคเหล่านี้จะกลายเป็นเสมือนข้อสรุปที่ทั้งประชาชนและรัฐต่างเข้าใจตรงกัน ถึงระดับเป็นหน้าที่ของรัฐด้วยซ้ำที่ต้องพยายามแก้ปัญหาหรือออกแบบนโยบายให้ผู้คนในสังคมได้รับสิทธิเหล่านี้อย่างถ้วนทั่วเสมอหน้า

ในขณะที่การคาดหวังให้รัฐขจัดปัญหาเหล่านี้ได้อย่างหมดจด อาจถือเป็นวิธีคิดที่ไม่ยืนอยู่บนฐานความเป็นจริง เพราะต่อให้นโยบายแก้ปัญหาว่างงานจะเป็นธงในแทบทุกสมัยหาเสียง หรือองค์กรเอกชนที่มีพันธกิจหลักคือปัญหาคนไร้บ้านจะทำงานแทบไม่มีวันหยุด ก็ยังมีประชาชนที่ถูกเบียดขับหรือหลุดออกจากสิทธิที่พวกเขาควรได้รับอยู่เสมอมา และพลวัตของโลกใหม่ก็ยิ่งลับปัญหาเหล่านี้ให้ท้าทายแหลมคมกว่าเดิม กระทั่งข้อสรุปหรือข้อถกเถียงที่อาจเคยตายตัวต้องพลิกผันหามุมมองใหม่ในการวิเคราะห์ให้เห็นภาพ

ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องที่เรากำลังจะเล่าถึง ได้นำทางผู้ชมไปร่วมสำรวจรับฟังทั้งข้อถกเถียงกับข้อเท็จจริงที่อยู่รายล้อมประเด็นปัญหา กวาดสายตาไปถึงความแตกต่างอันลึกซึ้งซับซ้อนจากหลายสังคมทั่วโลก และเปิดพื้นที่วิธีคิดไปไกลกว่าข้อสรุปติดปากที่แพร่หลายจนกลายเป็นคำกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งพบได้ทั่วไปในความเห็นเชิงสะท้อนสังคมของยุคสมัยนี้

เมื่อพูดถึง gentrification (การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น) ฉากทัศน์ที่คนมักเห็นตรงกันในความคิดอาจเป็นคู่ขัดแย้งเชิงวัฒนธรรม เช่น ย่านเมืองเก่าหรือเมืองท่องเที่ยวที่ถูกเหล่าฮิปสเตอร์ ‘เทสต์ดี’ ประเภทคอนโดหรู บาร์ลับ หรือคาเฟ่อินสตาแกรมบุกรุกแทรกซึม แล้วเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของพื้นที่จนชุมชนเดิมอยู่ไม่ได้ หรืออีกกรณีคือเมื่อเจ้าที่ดินประจำถิ่นอัพเกรดพื้นที่ด้วยการกวาดล้างสิ่งซึ่งเคยมีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่สร้างชุมชนหรือสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม อย่างที่เห็นได้ชัดใน Scala ที่ระลึกรอบสุดท้าย (อนันตา ฐิตานัตต์, 2022) หรือ The Last Breath of Sam Yan (เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์, 2023)

Push (Fredrik Gertten, 2019) เปิดเรื่องด้วยฉากบาร์เทนเดอร์กล่าวปราศรัยแซะพวกฮิปสเตอร์ศิลปินพร้อมเลี้ยงเหล้าลูกค้าขาประจำ ย้ำภาพของ gentrification ที่คนส่วนใหญ่นึกถึงให้เห็นชัดก่อนเปิดตัวละครหลักคือ Leilani Farha ทนายความชาวแคนาเดียน ผู้ดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษองค์การสหประชาชาติด้านการเข้าถึงที่อยู่อาศัย การเดินทางทั่วโลกของเธอกระตุกเตือนให้ตระหนักว่า gentrification ไม่ใช่แค่ความขัดแย้งเชิงวัฒนธรรม ไม่ได้มีตัวร้ายหลักเป็นชนชั้นกลางรุ่นใหม่หรือรสนิยมคนเมืองที่ขยายตัวไปเบียดขับชุมชนเดิม เมื่อ ‘ที่อยู่อาศัย’ ซึ่งกฎหมายสากลบัญญัติไว้ให้เป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หลายต่อหลายครั้ง กลายเป็นเพียงสินทรัพย์เพื่อการเก็งกำไรของบรรษัทข้ามชาติ

โปสเตอร์ภาพยนตร์ Push

ทุนข้ามชาติซึ่งตัวหนังออกชื่อไว้ชัดเจนเจ้านี้ สะสมความร่ำรวยจนเติบโตขึ้นมาหลังวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งต้นตอคือฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา) แล้วปฏิบัติการในโลกยุคใหม่ด้วยกระบวนการคิดที่แทบไม่ต่างจากเจ้าที่ดินยุคฟิวดัล แต่พัฒนากลวิธีกลายร่างเป็นศักดินาไร้หน้า อาคารการเคหะฯ ในหลายประเทศถูกบริษัทนี้และในลักษณะเดียวกันกว้านซื้อในราคาถูกเพื่อขายต่อเก็งกำไร และชีวิตของมนุษย์ชนชั้นกลางล่างหรือแรงงานที่ใช้ชีวิตอยู่ในตึกเหล่านี้ ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้อาคารเสื่อมมูลค่าในวิธีคิดของบริษัท

ยิ่งกว่าคนมีเงินจองคอนโดไว้ขายต่อ หรือการเกิดขึ้นของ ‘ไชน่าทาวน์’ แห่งใหม่ๆ ในกรุงเทพ ปรากฏการณ์นี้คือนายทุนข้ามชาติกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นกระบวนการ ด้วยการพุ่งเป้าไปยังอาคารที่พักอาศัย และหลายครั้งก็เป็นรัฐบาลเสียเองที่อ้าแขนรับ (กระทั่งสวีเดนที่ได้รับคำชื่นชมว่าแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่ของผู้มีรายได้น้อยได้ดีที่สุดแห่งหนึ่ง) การขึ้นค่าเช่าแบบก้าวกระโดด ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลอาคารหลังเทกโอเวอร์ บีบให้คนจนทิ้งตึกทิ้งบ้านด้วยหลากวิธีการ (อาจถึงขั้นเผาไล่ที่หรือจ้างนักเลงไปกระทืบชาวบ้าน อย่างที่เราเคยเห็นในซีรีส์หรือหนังเกาหลี) ทั้งหมดนี้เพื่อเบียดขับผู้คนออกจากบ้าน เพื่อให้ได้ตึกร้างกลางเมืองเป็นสินทรัพย์ไว้ให้บรรดาเศรษฐีอสังหาฯ ใช้เป็นสื่อกลางสร้างกำไร

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Push

การเดินทางของ Farha ผลักเราเข้าไปเจอความท้าทายใหม่ในโลกปัจจุบัน ถึงรายละเอียดของปัญหาจะต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ (ไม่ว่าจะเป็นสเปน สวีเดน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา หรือเกาหลีใต้) หากหลักใหญ่ใจความสำคัญยังคงเป็นการปกป้องสิทธิมนุษยชน และย้ำเตือนให้คุณค่ากับสิทธิในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยซึ่งกำลังถูกคุกคาม – หนังยังยืนยันว่าคนคนหนึ่งควรมีบ้านไว้ให้ซุกหัวนอน และไม่ควรมีใครผลักไสพวกเขาออกจากที่ที่สมัครใจให้เป็นบ้าน แต่ After Work (Erik Gandini, 2023) จะพาเราเข้าไปใคร่ครวญครุ่นคิดถึงปรัชญา คุณค่า และความหมายของ ‘งาน’ ในโลกสมัยใหม่ที่เพียบไปด้วยความซับซ้อน พร้อมตั้งคำถามย้อนเกล็ดว่า แท้จริงแล้วมนุษย์ยังควรจะเรียกร้องต้องการสิ่งที่เรียกว่างานอยู่หรือไม่

การทำงานมอบความหมายให้ชีวิต? อาจจะใช่ ไม่เช่นนั้นทายาทเศรษฐีอิตาเลียนที่นั่งกินนอนกินไปได้ทั้งชาติ คงไม่ขัดใจพ่อแล้วออกมาทำงานเป็นคนจัดสวน เปี่ยมสุขกับสุนทรียะที่ตัวเองสร้างหลังเล็มกิ่งก้านใบ เหมือนกับไรเดอร์หญิงผิวดำที่ขับรถส่งของให้ Amazon ที่บอกว่าเธอมีความสุขกับการได้ชมวิวทิวทัศน์อยู่กับตัวเองหลังพวงมาลัย แถมยังได้ส่งความสุขเล็กๆ ผ่านพัสดุให้ผู้คน ต่อให้กล้องวงจรปิดจะคอยจับตาไม่เว้นวินาที และมีระบบคอยกดดันให้พลขับเร่งทำยอดจนต้องกินข้าวมือเดียวหรือฉี่ใส่ขวดพลาสติกโดยไม่หยุดรถ

หรือความหมายของชีวิตคือการได้ชื่อว่ามีงานทำ? ก็อาจจะใช่ เหมือนคนเกาหลีใต้รุ่นสร้างชาติที่ถวายหัวให้การทำงานวันละ 14 ชั่วโมง กระทั่งทัศนคติฝังรวมเป็นหนึ่งกับเนื้อตัวร่างกาย ต่อให้รัฐบาลรุ่นลูกจะพยายามออกมาตรการลดชั่วโมงการทำงานแล้วก็ตาม หรือเหมือนชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (ตามผลสำรวจ) ที่ไม่ยอมใช้วันลาพักร้อนที่กฎหมายให้สิทธิไว้ ราวกับว่าความสุขหรือความหมายของชีวิตสถิตอยู่ในอาชีพ หรือการปลดเปลื้องตัวเองออกจากสิ่งที่เรียกว่างานเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก็อันตรายพอแล้วที่จะช่วงชิงความหมายหรือนิยามของชีวิตไปจากคนเหล่านั้น?

ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน? คำตอบอาจขึ้นกับว่าพิจารณาจากมุมไหน บ้างคงรู้สึกว่าแค่การได้ทำงานหรือมีงานทำก็ถือว่าเติมค่าให้ชีวิตได้เป็นคนเต็มคน สำหรับบริษัทปรับโครงสร้างองค์กรธุรกิจคงหมายถึงการสร้างระบบเพื่อผลักดันให้คนเต็มเปี่ยมไปด้วยจริยธรรมการทำงาน (work ethic) สำหรับคนอีกกลุ่มใหญ่คงเห็นค่าเมื่อผลของงานเป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือเป็นเกียรติประวัติเชิดหน้าชูตาและมีคุณค่าครบเต็มในตัวเอง จนตอบสนองความปรารถนาเบื้องลึกในจิตใจได้ สำหรับคนกลุ่ม(น่าจะ)ใหญ่กว่า ผลของงานคงหมายถึงการได้เงินไว้ซื้อข้าวให้ตัวเองกับคนที่บ้านกิน

โปสเตอร์ภาพยนตร์ After Work

จากการถวายทั้งชีวิตให้การทำงาน (ทั้งงานที่รัก งานที่ชัง หรืองานที่ไร้ความหมาย) ขยับมาพยายามสร้างคุณค่าให้การทุ่มเทเพื่องานเท่ากับการเติมเต็มชีวิต (ทั้งที่รู้สึกตามนั้นจริงหรือกำลังหลอกตัวเอง) สะท้อนกลับด้วยสำนักคิดที่มองว่าคุณค่าของชีวิตโดยเนื้อแท้อยู่นอกเวลางาน แล้วผูกปมให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วยหลักคิดเรื่องสิทธิในการทำงาน ซึ่งให้น้ำหนักความหมายของงานบนพื้นฐานเรื่องรายได้ค่าตอบแทนเพื่อเลี้ยงชีพ – เมื่อถูกก่อกวนด้วยพัฒนาการของ A.I. กับหุ่นยนต์ที่ทำงานได้เปี่ยมประสิทธิภาพและตั้งโปรแกรมให้บรรลุจริยธรรมการทำงานได้ง่ายกว่ามนุษย์ หัวข้อถกเถียงเรื่องงานในโลกยุคใหม่จึงกลายเป็นความสับสนอลหม่าน

บนโลกที่มนุษย์มีแนวโน้มถูกจักรกลหรือ A.I. แย่งตำแหน่งงาน ปัญหาข้อสำคัญของปรากฏการณ์นี้คืออะไร? เราควรเก็บงานที่พร้อมถูกแย่งไว้ให้มนุษย์ต่อไปด้วยเหตุผลอะไร? เพื่อไม่ให้มนุษย์โลกสูญสิ้นความหมายในชีวิต กลายเป็นคนไม่เต็มคนเพราะไม่ได้ทำงาน? หรือเพราะการทำงานถูกตั้งค่าไว้ให้เป็นหนทางหาเงินเดียวสำหรับคนส่วนใหญ่ที่ยังต้องดิ้นรนทางเศรษฐกิจ? อันนำมาซึ่งข้อถกเถียงประเด็นสวัสดิการประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income – UBI) ทั้งฟากที่ว่าชีวิตจะกลวงเปล่าถ้ามนุษย์ได้เงินเลี้ยงตัวโดยไม่ต้องทำงานแลก กับฟากที่มองว่าถ้ามนุษย์มีทุนตั้งต้นช่วยให้ชีวิตไม่เลวร้าย ต่อให้ไม่ต้องทำงานก็มีแรงผลักดันและศักยภาพจะสร้างคุณค่าให้ตัวเองกับสังคม

ในขณะที่ปัญหาเดิมยังคงเรื้อรังอยู่ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือการศึกษาที่ผลักมนุษย์ออกจากโอกาสในการเข้าถึงงาน (ลองนึกถึงตัวละครในภาพยนตร์ชุด ไทบ้านเดอะซีรีส์) ชีวิตคนรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่ทั่วโลกก็กลวงเปล่าไร้แรงบันดาลใจอยู่แล้วโดยไม่ต้องมี UBI มาช่วยเลี้ยงเป็นปัจจัยเสริม พวกเขาปฏิเสธการทำงานโดยสมัครใจ ยอมทิ้งโอกาสหรือความหมายของชีวิต (ถ้ามี) เพราะงานไม่ใช่คำตอบ หลายคนอาจเห็นภาพสังคมญี่ปุ่น หรือปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมจีนอย่าง tǎng píng (Lying Flat) ที่หนังไม่ได้เลือกเล่าถึง แต่ก็สอดรับเป็นเรื่องเดียวกับการขยายตัวของประชากร NEETs (Not in Education, Employment or Training) ชนชั้นกลางในอิตาลี ซึ่งนักสังคมวิทยาให้นิยามว่าใช้ชีวิตแบบนอนรอกินมรดก เพราะคนรุ่นพ่อแม่มีลูกน้อย (เฉลี่ยไม่ถึงสองคนต่อครัวเรือน) ทรัพย์สินไม่มีใครแย่ง แค่รอให้ถึงเวลาอันควร

ประชามติ UBI ถูกโหวตคว่ำที่สวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2016 แต่ท่ามกลางเสียงวิจารณ์โต้แย้งจากพื้นฐานความเชื่อเดิมว่ามนุษย์ต้องทำงานแลกเงิน สถานการณ์โควิด-19 กลับเร่งปฏิกิริยาให้คนเริ่มสนับสนุนแนวคิดสวัสดิการนี้ อาจยังไม่มีใครเห็นภาพชัดว่าโลกที่ UBI บังคับใช้จริงจะเป็นอย่างไร แต่หนังได้กางหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นแล้วว่าโลกปัจจุบันมีกรณีไว้ให้ลองศึกษาแต่เนิ่นๆ – ไม่ใช่โลกที่หนึ่งอย่างภูมิภาคสแกนดิเนเวีย แต่คือประเทศตะวันออกกลางอย่างคูเวต

ภาพจากภาพยนตร์ After Work

แน่นอนว่าชาวคูเวตยังคงทำงาน เพราะกฎหมายได้รับรองสิทธิในการทำงานให้ประชาชน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ชนชั้นกลางในประเทศเศรษฐีน้ำมันที่รัฐร่ำรวยมหาศาลแห่งนี้ กำลังใช้ชีวิตในแนวทางเดียวกับอุดมคติ UBI เมื่อเนื้องานที่ต้องทำในประเทศกลับมีน้อยกว่าประชากร (ราวสองล้านคน) เพื่อการันตีสิทธิในการทำงานตามกฎหมาย รัฐที่มีเงินล้นมือเลยมีกำลังจ้างคนเป็นข้าราชการในระดับใช้ชีวิตสบายหรือกระทั่งฟุ่มเฟือย กินเงินเดือนด้วยการนั่งเฉยๆ หรือกระทั่งดูซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ไปวันๆ ในออฟฟิศ (หรือจะอยู่บ้าน ออกไปใช้ชีวิตในเวลางานบางทีก็ไม่มีใครว่า) การเฉื่อยหรือทำงานเพียงน้อยนิดไม่ใช่เรื่องผิด เพราะนานๆ ทีถึงจะมีสิ่งที่เรียกว่างานจริงๆ มาให้ทำ

อย่างไรก็ดี ที่นี่ก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในสายตาของหนัง เพราะชาวคูเวตที่หนังได้พูดคุยสัมภาษณ์ก็ยอมรับว่า ตัวเขากับมิตรสหายต่างรู้สึกว่างเปล่าทางจิตวิญญาณ สุขสบายดีแต่ไม่เห็นความหมายของชีวิต ซึ่งขัดกับความเห็นของทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน UBI – ถึงจะมีชีวิตเหมือนอุดมคติของฝ่ายสนับสนุน พวกเขาก็ไร้แรงบันดาลใจ ไม่ได้ลงแรงสร้างอะไรใหม่ แต่ถึงจะว่างเปล่าไร้ความหมายตามที่ฝ่ายต่อต้านเตือนไว้ พวกเขาก็คงไม่พบความหมายในชีวิตผ่านการทำงาน เพราะงานที่มีนั้นไร้ความหมายอยู่แล้วแต่แรก ไร้ความหมายกระทั่งกับปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์

หนังปิดท้ายด้วยการตลบกลับไปยังคำถามเรื่องจักรกลที่จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ ชวนให้คิดต่อได้แสบสันว่า แล้วมนุษย์ปัจจุบันมองเห็นหรือปฏิบัติต่อคนที่ทำงานซึ่งเข้าข่ายไร้ความหมายหรือไร้ฝีมืออย่างเป็นมนุษย์ด้วยกัน หรือมองพวกเขาเสมือนหุ่นยนต์เครื่องจักรอยู่แล้วแต่ต้น (หนังยกกรณีแม่บ้านฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ถูกนายจ้างคูเวตกดขี่ละเมิดสิทธิ) และถ้าคำตอบโดยเนื้อแท้คืออย่างหลัง เราอาจยิ่งต้องคิดใคร่ครวญให้รอบด้านในจังหวะพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของโลกขณะนี้ว่า แล้วอะไรคือเหตุผลที่เราต้องพยายามเก็บงานไร้ความหมายเหล่านี้ไว้ให้มนุษย์ทำต่อ

ภาพจากภาพยนตร์ After Work

รับชม Push, After Work และอีกหนึ่งสารคดีในประเด็นเรื่องความเป็นแม่ May I Quit Being a Mom!? ได้ใน
VIPA Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ ‘สะท้อนความเหลื่อมล้ำ’
โดย Thai PBS และ Documentary Club


วันที่ 21 – 23 กรกฎาคม 2566 ที่ โรงภาพยนตร์ Doc Club & Pub.

21 กรกฎาคม 2566 : 18.30 น. ร่วมฟังการเสวนาเรื่อง ‘ความทุกข์ของคนทำงาน ในระบบสังคมทุนนิยม’ กับ รศ.ดร อนุสรณ์ ธรรมใจ และ ฉัตรชัย พุ่มพวง ดำเนินรายการโดย โดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ต่อด้วยการรับชมภาพยนตร์สารคดี ‘ Afterwork’

22 กรกฎาคม 2566 : 15.30 น. รับชมภาพยนตร์ May I Quit Being a Mom!? ต่อด้วยการร่วมฟังการเสวนาเรื่อง ‘วิถีมนุษย์แม่ ดิ้นรนต่อสู้เพื่อลูก วิธีรับมือเชิงปัจเจก และแนวทางแก้ไขในเชิงโครงสร้าง’ กับ ผศ.ดร. ณัฐสุดา เต้พันธ์ และ ณัฐยา บุญภักดี ดำเนินรายการโดย พนิตชนก ดำเนินธรรม

23  กรกฎาคม 2566 : 15.30 น. รับชมภาพยนตร์เรื่อง Push ต่อด้วยการร่วมฟังการเสวนา ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยในเมือง และการพัฒนาเมืองที่เป็นธรรม’ กับ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ และ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

เข้าร่วม ‘ฟรี’ ไม่มีค่าใช้จ่าย จองบัตรได้ตั้งแต่ 14 กรกฎาเป็นต้นไป ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมได้ที่ : LINE @VIPAdotME ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook : VIPAdotMe และ Doc Club & Pub.

รวมทั้งยังสามารถติดตามทุกผลงานได้ทาง ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 และทางออนไลน์

สำหรับท่านที่ไม่สามารถมาเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ได้ สามารถรับชมการถ่ายทอดสดในช่วงวงเสวนา และร่วมสนุกกับทาง VIPA ได้ในกิจกรรม “แชร์สารคดี ดูฟรีที่ VIPA ” เพื่อลุ้นรับของที่ระลึกสุดพิเศษ จำนวน 20 รางวัล สามารถติดตามกติกาการร่วมสนุกได้ทาง www.VIPA.me และช่องทางโซเชียล @VIPAdotMe

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook : VIPAdotMe และ  Doc Club & Pub. 

รวมทั้งยังสามารถติดตามทุกผลงานได้ทาง #VIPAdotMe

ทุกความสุข..ดูฟรีไม่มีโฆษณา
Website: www.VIPA.me
Mobile Application: https://download.vipa.me
App. สำหรับ Apple TV และ Android TV (ค้นหาคำว่า VIPA)
LINE @VIPAdotMe: https://lin.ee/hVUc5OJ


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ VIPA | Documentary Club และ The101.world

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Thai Politics

16 Aug 2022

“ถ้าเรากลัวก็ต้องหนีไปตลอด” 4 ปีแห่งการเปิดโปงทุจริต ‘จำนำข้าว’ และชีวิตที่เปลี่ยนไปของชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์

101 พูดคุยกับ ชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ อดีตพนักงานธนาคารที่ออกมาเปิดเผยความผิดปกติในโครงการรับจำนำข้าว ในวันนี้ที่เธอเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยผู้เป็นเจ้าของนโยบาย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

16 Aug 2022

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save