fbpx

จากปีนังถึงสงขลา: การชุบชีวิตเมืองเก่าด้วยศิลปะข้างถนน?

(1)

ผมไปเมืองเก่าสงขลาครั้งแรกกลางปี 2558 ตอนนั้นยังไม่มีอะไร เป็นเมืองเก่าที่เรียกว่าแทบจะร้าง (ในแง่ธุรกิจ) จุดเดียวที่ทำให้อยากไปดูคือ รูปวาดจำลองบรรยากาศร้านน้ำชาฟุเจา ซึ่งเริ่มกลายเป็นกระแสในสื่อโซเชียลบ้างแล้ว รูปวาดเหล่านี้อยู่บนผนังตึกที่อดีตเคยเป็นร้านน้ำชาดังกล่าวมาก่อน ตั้งอยู่ตรงจุดตัดระหว่างถนนนางงามกับถนนรามันที่อยู่ใจกลางย่านเมืองเก่า

สงขลาได้รับอิทธิพลมาจากปีนังแน่ๆ เชื่อว่าหลายคนก็คงคิดเหมือนกัน

ย้อนกลับไปสองปีก่อนหน้านั้น ผมเคยเข้าร่วมประชุมเครือข่ายอนุรักษ์เมืองแห่งเอเชียที่จอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เมืองซึ่งเต็มไปด้วยสตรีทอาร์ตเหมือนกับที่สงขลาเพิ่งวาดเสร็จหมาดๆ ศิลปะข้างถนนอันเป็นผลจากการจัดการของรัฐ ไม่ได้เกิดจากวัฒนธรรกลุ่มย่อย (ที่คนนอกยากเข้าใจ) อย่างกราฟฟิตี้



ปีนัง คือเกาะในช่องแคบมะละกาฝั่งตะวันตกคาบสมุทรมลายู เป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้าเครื่องเทศสำคัญ เคยตกอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษยาวนานร่วม 170 ปี ตั้งแต่ราวปี 1786-1957 เกิดการไหลบ่าของคนต่างถิ่น พ่อค้าชาวจีนเข้ามาทำมาค้าขาย คนอินเดียเข้ามาเป็นแรงงานก่อสร้าง บรรดาผู้ดีเก่าและเศรษฐีไทยก็นิยมส่งบุตรหลานไปเรียนเพื่อให้ได้ภาษาอังกฤษ และกลายเป็นที่พำนักของฝ่ายคณะเจ้าหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช ทั้งกรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระยามโนปกรณ์นิติธาดาต่างก็ตัดสินใจ ‘ลี้ภัยการเมือง’ มาอยู่ที่นี่

ปีนังเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบการถ่ายรูปตามจุดถ่ายรูปเก๋ๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการโหมโปรโมตของสายการบินโลว์คอสต์สัญชาติมาเลเซีย

(2)

ด้วยมีจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นกับเมือง เมื่อจอร์จทาวน์ (George Town) ที่เป็นย่านเมืองเก่าได้ถูกขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก (World Heritage Site) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551

เรื่องของเรื่องเกิดจากองค์กรพัฒนาเอกชนอย่าง Penang Heritage Trust (PHT) ที่ทำงานด้านอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมแข็งขัน มองว่าย่านเมืองเก่ากำลังจะตาย มีปัญหาคนย้ายออก เพราะรุ่นลูกรุ่นหลานยังมองไม่เห็นโอกาสทางธุรกิจจากมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ บ้านรกร้างว่างเปล่า ตึกชำรุดทรุดโทรม เกิดปรากฏการณ์ทุบบ้านเก่า-สร้างตึกใหม่ การก่อสร้างอาคารสูงขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงจุดประเด็นให้รัฐบาลท้องถิ่นมีบทบาทผลักดันให้จอร์จทาวน์ได้เป็นมรดกโลก ในฐานะเมืองประวัติศาสตร์แห่งช่องแคบมะละกา (Historic Cities of the Straits of Malacca) จุดเด่นอยู่ที่ยังมีสถาปัตยกรรมบ้านเรือนเก่าแก่ทรงจีนสร้างมาเป็นร้อยๆ ปีนับหลายพันหลัง และอาคารที่ทำการของรัฐที่หลงเหลือจากสมัยอาณานิคมยังคงมีสภาพดี โดยเสนอร่วมกับเมืองมะละกาที่มีจุดแข็งอยู่ที่การเป็นเมืองท่าสำคัญในทางประวัติศาสตร์

ฟากฝั่งประชาสังคมเชื่อว่าความเป็นมรดกโลกจะช่วยให้สามารถปกป้องเมืองเก่าจากกระแสการพัฒนาที่ถาโถมในระยะยาว หยุดความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่กินแดนเข้ามาในเขตเมืองเก่าเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างสำนึกผูกพันร่วมในหมู่คนปีนัง แน่ล่ะ การอนุรักษ์ย่อมกระทบสิทธิเจ้าของอสังหาริมทรัพย์และผู้เช่าที่มีความต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินแตกต่างออกไป ซึ่งต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ

ในที่สุด คณะกรรมการมรดกโลกเห็นว่าจอร์จทาวน์มีคุณค่าสากลทางวัฒนธรรม แสดงให้เห็นพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีลักษณะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ไม่ว่ามาเลย์ จีน อินเดีย ตะวันตก (ยุโรป) ฯลฯ หลักฐานโดดเด่นคือ สิ่งก่อสร้างที่มาจากสถาปัตยกรรมกลุ่มต่างๆ บนผังเมืองแบบตะวันตกที่อังกฤษจัดวางให้ แบ่งเป็นศูนย์ราชการ เช่น ป้อมปราการ หอนาฬิกา ศาล ศาลาว่าการ ศาสนสถาน เช่น โบสถ์ มัสยิด วัดจีน วัดฮินดู ย่านธุรกิจ/ที่พักอาศัย เช่น หมู่บ้านชาวประมงริมทะเล ชุมชนอินเดีย ชุมนุมห้องแถว (Shophouse แปลตรงๆ คือ บ้านร้านค้า) เอกลักษณ์ร่วมสมัยทางสถาปัตยกรรมของเมืองท่าในเอเชียช่วงศตวรรษที่ 18-20 ซึ่งเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมของจีนกับยุโรป มี 2-3 ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านค้า ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย สะดวกกับพ่อค้าและปลอดภัยต่อร้าน ลักษณะด้านหน้าแคบ แต่ลึกในทางยาว มีหลากหลายรูปแบบการตกแต่งภายนอก/ภายใน

จอร์ททาวน์ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีจำนวนห้องแถวโบราณเหลืออยู่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ชนิดว่าภูเก็ตเทียบไม่ติด)

(3)

ผลที่ตามมาจากการเป็นมรดกโลก เมืองต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่แกนกลาง (Core Area) ประกอบไปด้วยอาคารเก่าๆ กว่า 1,700 อาคาร มีการควบคุมความสูงของอาคารเคร่งครัดกับพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ที่ใช้มาตรการที่ผ่อนคลายกว่า ทำหน้าที่สกัดกั้นมิให้เกิดการพัฒนารุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนแรก อาทิ ตึกสูง อาคารสมัยใหม่

แต่กระนั้น เพียงข้ามถนนออกมานอกเขตกันชน เราก็จะเจอกับคอมตาร์ (KOMTAR) ตึกสูงสุดบนเกาะปีนัง สูงถึง 65 ชั้น ตั้งตระหง่านมาตั้งแต่ปี 2529 เป็นที่ทำการของหน่วยงานรัฐบาลระดับรัฐ รวมถึงสำนักงานของผู้ว่าการรัฐ และสภาเมือง ประกอบด้วยร้านค้า แกลเลอรี่ จุดชมวิว ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเดินทาง ในอีกแง่หนึ่งคอมตาร์เปรียบเสมือนหมุดหมายช่วยทำให้เห็นเขตขอบของเมืองเก่าได้ง่ายขึ้น

ภารกิจเกี่ยวกับมรดกโลกมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงคือ George Town World Heritage Inc. ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลรัฐปีนังในปี 2010 ให้ทำหน้าที่คุ้มครอง ส่งเสริม และปกป้องเมืองจอร์จทาวน์ให้คงความเป็นเมืองมรดกโลกที่ยั่งยืน รับผิดชอบการจัดการ กำกับดูแล ส่งเสริมกิจกรรมด้านการอนุรักษ์เมืองเก่า ให้การศึกษา ทำงานร่วมกับ National Heritage Department (หน่วยงานของรัฐบาลกลาง) บังคับใช้กฎหมายที่สำคัญคือ กฎหมายมรดกแห่งชาติ ค.ศ. 2005 ช่วยให้คำปรึกษาในการอนุรักษ์ บูรณะ ซ่อมแซม และฟื้นฟูตึกเก่าๆ (ซึ่งตามกฎหมายห้ามทุบทำลายเป็นอันขาด) พร้อมให้ความช่วยเหลือเป็นตัวเงินบางส่วน

(4)

ต่อมารัฐบาลปีนังอยากทำให้เมืองมรดกโลกเป็นมิตรกับผู้คนมากขึ้นด้วยงานศิลปะ จึงริเริ่มทำโครงการ Making George Town: An Idea Competition for UNESCO World Heritage Site 2009 เพื่อเฟ้นหาเอกชนมารังสรรค์งานศิลปะในเขตพื้นที่เมืองเก่า บริษัทที่ชนะการประมูลคือ Sculpture at Work โดยได้ศิลปินท้องถิ่น Tang Mun Kian รับผลิตงานศิลปะขดเหล็กเป็นรูปการ์ตูนติดกำแพง สำหรับบอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรมของชาวปีนังในชื่อธีม “Voices of the People” ติดตั้งตามซอยเล็กซอยน้อยทั่วเมือง แนวคิดคือต้องอิงกับบริบทของย่านนั้นๆ เช่น ร้านกาแฟ ร้านบะหมี่ โรงรับจำนำ

ตามมาด้วยโปรเจกต์ “Mirrors George Town” ที่ดังเปรี้ยงปร้าง สืบเนื่องจากเทศกาล George Town Festival 2012 ได้จ้างศิลปินชื่อดังชาวลิทัวเนีย Ernest Zacharevic ให้มาวาดภาพสามมิติคาแรคเตอร์เด็กๆ น่ารักบนผนังตามสถานที่ต่างๆ 6 แห่ง บางจุดก็พิเศษ มีอุปกรณ์ประกอบที่กลมกลืนเข้ากับรูปบนกำแพง เช่น ชิงช้า จักรยาน มอเตอร์ไซค์

หลังจากงานชุดนี้เปิดตัวออกไป สตรีทอาร์ตในปีนังก็เบ่งบานถึงขีดสุด เชื้อเชิญให้ศิลปินทั้งในและต่างประเทศอยากมาแสดงฝีมือฝากผลงานไว้ที่ปีนังบ้าง รูปวาดข้างถนนมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายหลากสไตล์ สร้างแรงดึงดูดตลาดการท่องเที่ยวนานาชาติ

ด้วยการที่งานศิลปะส่วนใหญ่อยู่ในตรอกซอกซอยกระจายไปทั่วทั้งเมือง การจะชมงานให้ได้ครบ ถ้าไม่เดินก็ต้องขี่จักรยานจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมในการเข้าถึง ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นเศรษฐกิจเบี้ยบ้ายรายทาง

(5)

ไม่ใช่แค่นั้น ความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่เมืองมรดกโลกทำให้เกิดการพัฒนาคู่ขนานในหลายด้านเพื่อรองรับอนาคต เรื่องขนส่งมวลชนเป็นหนึ่งในนั้น

ระบบรถเมล์ใหม่ของปีนังในชื่อ Rapid Penang ถือกำเนิดขึ้นก่อนทางยูเนสโกจะประกาศรับรองเพียงปีเดียว ผลพวงจากปี 2547 ซึ่งกิจการรถเมล์ในปีนังที่ดำเนินการโดยเอกชนต้องยุติการให้บริการลงอย่างกระทันหัน ทั้งที่ให้บริการมายาวนานกว่า 60 ปี

รถเมล์ในปีนังยุคก่อนเป็นแบบต่างคนต่างทำ ไม่ค่อยเป็นระบบ หลายรายเผชิญปัญหาทางการเงินจนต้องเลิกกิจการไป กระทั่งเกิดวิกฤตขึ้นกับบริษัทเดินรถรายใหญ่ที่สุดคือ The Yellow Bus Company (อดนึกถึงรถเมล์เหลืองที่เชียงใหม่ไม่ได้) ในฐานะผู้ให้บริการรายสุดท้ายที่ยืนหยัดสู้ต่อไม่ไหว

ผู้ว่าการรัฐปีนังพยายามพัฒนาเครือข่ายรถเมล์ของตัวเองขึ้น ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ ต้องตั้งหลักใหม่ แทนที่จะดันทุรังลงทุนทำต่อก็เรียกร้องให้รัฐบาลกลางเข้ามาทำ ซึ่งมี Rapid KL เป็นตัวอย่างที่ดี

Rapid KL คือระบบขนส่งมวลชนครบวงจรของกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีทั้งรถไฟฟ้า LRT, โมโนเรล, รถเมล์ บริหารงานภายใต้ Prasarana หน่วยงานระดับรัฐบาลกลางมาเลเซียที่รับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ๆ (ขอบเขตพื้นที่ทั้งประเทศ แต่เลือกทำจริงไม่กี่แห่ง เมืองอื่นคือ กลันตันกับปีนัง)

รถเมล์ที่ปีนังจึงเป็นภารกิจที่รัฐบาลกลางลงทุนทำเอง เปรียบได้กับ ขสมก.ของไทยที่ขยายเขตบริการออกไปดูแลหัวเมืองอื่น

Rapid Penang มีมากกว่า 60 สาย ใช้รถหลายรุ่น รวมแล้วกว่า 400 คัน คิดค่าโดยสารตามโซน (ระยะทาง) อยู่ระหว่าง 10-30 บาท ในจำนวนนี้มีหลายสายที่วิ่งให้บริการฟรี เรียกว่า Free Cat But (CAT ย่อมาจาก Central Area Transit หมายถึงบริเวณใจกลางเมืองโดยเฉพาะภายในเขตมรดกโลก) ส่งเสริมการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรติดขัด และช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง

(6)

เมื่อกลางเดือนมีนาคม ผมได้มีโอกาสไปเยือนเมืองเก่าสงขลาอีกครั้ง ร่วมงานเปิดตัว “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ในฐานะพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแห่งล่าสุดของ อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน))

คราวนี้ได้เดินสำรวจทุกซอยและทุกถนน รูปวาดบนผนังมีมากกว่า 20 จุดแล้ว แทรกกระจายอยู่ในถนนสามเส้นหลัก (ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม) เป็นภาพวาดที่สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนสงขลาโดยทั่วไป เช่น เด็กสามเชื้อชาติ นางเอกงิ้ว ร้านกาแฟรถเข็น เรือประมง หนังตะลุงใส่สูท โดยมีงานเหล็กดัดขนมต้มป้าปราณี (คล้ายๆ กับที่ปีนังอีกด้วย)

สำหรับผู้ที่ไม่อยากเดินก็มีรถรางนั่งชมเมืองของเทศบาลนครสงขลาคอยบริการ หลายคันที่ผมได้เห็นแล่นผ่านคือคนขึ้นเต็ม ร้านรวงก็ดูคึกคักมีชีวิตชีวา

จากครั้งแรกที่มามีเพียงภาพวาดเดียว เป็นรูปวิถีร้านน้ำชาของอาแปะ สร้างสรรค์โดยภาคีคนรักเมืองสงขลา (สมาคม) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ขณะที่รูปวาดที่มีภายหลังเกือบทั้งหมด เป็นผลผลิตของโครงการของทางจังหวัดที่ทยอยทำสานต่อมา โดยเฉพาะช่วงผู้ว่าฯ ทรงพล สวาสดิ์ธรรม ระหว่างปี 2558-60 ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อเนื่องจนย่านเมืองเก่าบูม

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสำเร็จทั้งหมดทั้งมวลมีภาคีคนรักเมืองสงขลาหรือกลุ่มที่เรียกตัวเองในภาษาอังกฤษ Songkhla Heritage Trust (ล้อกับองค์กรอนุรักษ์ที่ปีนัง) อยู่เบื้องหลัง ทั้งบทบาทในการรวบรวม/เผยแพร่องค์ความรู้ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมือง สนับสนุนกระบวนการที่จะนำเมืองสงขลาสู่มรดกโลก ฯลฯ เลือกใช้โรงสีแดง หับ โห้ หิ้นที่แฝงนัยเป็นที่ทำการของกลุ่ม

นอกจากนี้ยังได้อิโคโมสไทย (ICOMOS Thailand) มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในทางวิชาการให้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ประกอบกับการที่เทศบาลนครสงขลาออกเทศบัญญัติว่าด้วยควบคุมอาคารบริเวณย่านเมืองเก่า พ.ศ. 2560 ทำให้เบาใจเปลาะหนึ่งว่าตึกแถวโบราณแบบจีนพาณิชย์ผสมตะวันตกที่ส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 100 ปีขึ้นไปเหล่านี้จะยังคงอยู่

เมืองสงขลามีอายุเก่าแก่กว่า 400 ปี อดีตเคยเป็นศูนย์กลางการค้าทางมหาสมุทรฝั่งอ่าวไทย อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองหัวเมืองใต้ ผสมผสานสามวัฒนธรรม ได้แก่ ไทย จีน และมุสลิม ในปี 2548 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าสงขลา จัดอยู่ในกลุ่ม 1 และได้มีแผนแม่บทการอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองเก่าสงขลาในปี 2554 ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเมืองเก่าสงขลาจึงมีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนไปสู่มรดกโลกตามแผนที่ท้องถิ่นวาดไว้ ไม่ว่าจะเป็นอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้าก็ตาม

อย่างไรก็ดี การมารอบนี้รับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว มิตรสหายบางท่านถึงกับบอกว่าเร็วจนน่ากลัว ทั้งจากการไหล่บ่าเข้าไปของทุน (ต่างถิ่น/ข้ามชาติ) ประชากรที่อยู่อาศัยจริงในเขตเมืองเก่าลดลง เสี่ยงต่อการสูญเสียสมดุลระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ ตึกเก่าบ้างถูกปรับปรุงเป็นร้านกาแฟ บ้างเป็นร้านอาหาร ไม่ก็ขายสินค้าแนวๆ หรือกลายเป็นพื้นที่แสดงศิลปะ (Art Space) แม้นจะหลงเหลือรูปลักษณ์ภายนอก ทว่าความหมายข้างในผันแปรไปแล้ว

พี่ที่มีบ้านอยู่ในเขตเมืองเก่าซึ่งผมได้ยืนคุยด้วยเล่าว่า เพียงไม่กี่ปีมานี้ ราคาตึกพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว จากไม่ถึงล้านกลายเป็นหลัก 10-20 ล้านบาท เหมือนเศรษฐกิจจะเฟื่องฟู แต่ถ้าไม่แน่จริง (หมายถึงทุนหนาพอ) อยู่ไม่ได้หรอก

การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ และการเข้าไปแทนที่ของชนชั้นในชุมชน (Gentrification) เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save