fbpx
nterface Design ที่ทำให้ ‘ดนตรี’ กลายเป็นเรื่อง ‘เล่นๆ’

สิทธิที่หายไป ใน ‘โลกต่างสี’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

“ถ้าผมไม่บอก คุณจะรู้ไหมว่าผมเป็นคนตาบอดสี?”

ชายในชุดสูทสีกากีถามขึ้น ท่ามกลางวงสนทนาเล็กๆ ของคนสามคนที่เห็นโลกด้วยเฉดสีไม่เหมือนกันเลยสักคน

ฉันมองสำรวจคนถาม จากนั้นจึงยิ้มพลางส่ายหน้า “ไม่รู้”

เรานั่งพูดคุยกันมาได้สักพักใหญ่ แต่นอกจากคำบอกเล่าว่าตัวเองเป็นคนตาบอดสีของ กร – วรากร สุนทรานุรักษ์ แอดมินเพจเฟซบุ๊ก ‘Rights for Color Blind People – กลุ่มเพื่อสิทธิคนตาบอดสี’ ฉันก็มองไม่เห็นความผิดปกติอื่นอีก เช่นเดียวกับเวลาที่มองไปยัง ‘บี – สุพจน์ ทรัพย์ไหลมา’ สมาชิกกลุ่มอีกคน และเพื่อนตาบอดสีอีกหลายคนที่เคยรู้จักมาในชีวิต

แต่เพราะความผิดปกติในนัยน์ตาคู่นั้นเพียงเรื่องเดียว กลับเป็นเหตุให้พวกเขาถูกลิดรอนสิทธิ ทั้งเรื่องการขับขี่รถยนต์ ความใฝ่ฝันทางอาชีพและโอกาสทางการศึกษาจากความเชื่อล้าหลังที่ยังฝังรากลึกอยู่ในสังคมปัจจุบัน

ราวสองถึงสามปีก่อน ประเด็นสิทธิของคนตาบอดสี เคยเป็นหนึ่งในหัวข้อที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยให้ความสนใจ มีการทำวิจัยสำรวจปัญหา จัดงานประชุมสัมมนาเพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนกฎระเบียบที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนเหล่านี้ต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชน แต่นานวันเข้า กระแสการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมกลับค่อยๆ แผ่วเบาลงและเงียบหายไป

ทิ้งปัญหาเรื้อรังของคนตาบอดสีที่ยังคุกรุ่นไว้ใต้ความสงบเงียบนั้น

โลกต่างสีสันของคนตาบอดสี

กร – วรากร สุนทรานุรักษ์ แอดมินเพจเฟซบุ๊ก ‘Rights for Color Blind People – กลุ่มเพื่อสิทธิคนตาบอดสี’
กร – วรากร สุนทรานุรักษ์ แอดมินเพจเฟซบุ๊ก ‘Rights for Color Blind People – กลุ่มเพื่อสิทธิคนตาบอดสี’

“ตาบอดสีในภาษาไทย มาจากคำว่า Color Blind สมัยก่อนคนจะเข้าใจว่า Blind คือบอด มองไม่เห็นสีเลย ซึ่งความจริงไม่ใช่” กรเริ่มต้นอธิบายถึงภาวะการมองเห็นของเขาและเพื่อน

“จริงๆ ควรเปลี่ยนคำว่าตาบอดสี เป็นตาพร่องสี เพราะเป็นการบกพร่อง ภาษาอังกฤษตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็น Color Vision Deficiency (CVD)”

ตาบอดสีเป็นภาวะบกพร่องทางการมองเห็นที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์รูปกรวยในนัยน์ตา ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพันธุกรรมสืบทอดต่อกันมาบนโครโมโซม X ของเพศหญิง จึงแสดงอาการได้ง่ายในเพศชาย สำหรับประเทศไทย ผู้มีอาการทั้งหมดมีจำนวนร้อยละ 10 ของประชากร ในจำนวนนี้นับเป็นชายไปแล้วกว่าร้อยละ 8

“คนตาบอดสีในประเทศไทยมีเยอะมาก อย่างบ้านผมบอดไปแล้ว 3 คน มีพ่อ พี่ชายคนที่สอง แล้วก็ผม ส่วนน้องก็เป็นพาหะ” บีเปิดเผยถึง ‘มรดก’ ของครอบครัวอย่างไม่เคอะเขิน เป็นดวงตาบอดสีเขียว-แดงชื่อว่า Daltonism ซึ่งเป็นภาวะที่ ‘ฮิต’ ที่สุดในหมู่ผู้มีอาการตาบอดสีด้วยกัน

“แต่อย่างถังขยะตรงนั้นผมก็มองเห็นว่าเป็นสีเขียวกับแดงนะ” ปลายนิ้วคนพูดชี้ไปยังถังขยะสดสีเขียวเข้ม กับถังขยะพิษสีแดงซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากวงสนทนาเท่าไรนัก ทำเอาคนฟังอย่างฉันถึงกับเลิกคิ้วว่าตกลงเขาตาบอดสีจริงหรือไม่กันแน่

“เวลามองไกลๆ ผมจะไม่เห็นว่าเป็นสีแดง แต่พอเดินเข้าไปใกล้ๆ ก็เห็นว่ามันคือสีแดง ไม่ได้แย่ขนาดเป็นสีเทาหมด”

ในหมู่คนตาบอดสีด้วยกัน จึงนับว่ามองเห็นเฉดสีได้ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งมีตั้งแต่เซลล์รูปกรวยบางสี น้อยกว่าปกติ ทำให้เห็นสีผิดเพี้ยนไปจากเดิม กรณีที่มีแสงไฟและอยู่ในระยะใกล้เพียงพอก็อาจมองเห็นสีที่บอดเป็นบางเฉดได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป ไล่จนถึงภาวะ ขาด เซลล์รูปกรวยบางสี ทำให้มองเห็นสีนั้นเป็นโทนเทา และร้ายแรงที่สุดคือ ไม่มี เซลล์รูปกรวยเลย จนภาพที่เห็นเป็นสีขาวดำ มีอาการข้างเคียงคือตาสู้แสงไม่ได้ ดวงตากลิ้งกลอกไปมาตลอดเวลา

ไม่ใช่แค่คนที่ได้รับมรดกจากโครโมโซมเท่านั้น กรอธิบายต่อว่า คนปกติก็มีสิทธิ์เป็นตาบอดสีได้ ถ้าประสบอุบัติเหตุกระทบเข้าที่เส้นประสาทตา หรือมีโรคทางกายต่างๆ เช่น ต้อหิน เบาหวาน อัลไซเมอร์ พิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น รวมถึงการใช้ยา และวัยที่เพิ่มขึ้น ก็มีส่วนทำให้มองสีได้ผิดเพี้ยนมากกว่าเดิม

ความแตกต่างคือตาบอดสีที่เกิดในภายหลัง สามารถรักษาได้ด้วยการเยียวยาโรคต้นเหตุ แต่ตาบอดสีโดยกำเนิดเป็นทรัพย์สินติดตัวไปตลอดชีวิต และทำให้เจ้าของดวงตาต้องต่อสู้กับมายาคติในสังคมที่อาจตัดสินอนาคตของพวกเขาทั้งชีวิตเช่นกัน

กลุ่มคนอันตรายบนท้องถนน?

เขียว เหลือง แดง คือสีที่ปรากฏบนสัญญาณไฟจราจร

แต่ ขาว ส้ม ส้มเข้ม คือสีที่ปรากฏบนจอตาของคนตาบอดสีส่วนใหญ่

การขับขี่รถยนต์ถือได้ว่าเป็นข้อห้ามประการแรกๆ ที่สังคมเห็นพ้องต้องกันว่าไม่สมควรให้คนตาบอดสีทำ เพราะการมองสีสัญญาณบนท้องถนนผิดเพี้ยนไป เป็นเรื่องอันตรายต่อคนขับและคนรอบข้าง

แต่เรื่องนี้เป็นจริงสักแค่ไหน ในเมื่อคนตาบอดสีที่กำลังนั่งคุยกับฉันตอนนี้ ล้วนมีใบขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์ทั้งคู่ ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่เคยมีประสบการณ์เกิดอุบัติเหตุมาก่อน

“ใบขับขี่เมืองไทยยังมีข้อจำกัด แม้ว่าเขาจะเปิดให้คนตาบอดสีเข้าทดสอบ แต่กระบวนการทดสอบมันไม่เอื้อสำหรับคนตาบอดสี” กรชี้แจง “เมื่อก่อนเขาจะให้ดูชาร์ตสี ให้คนทดสอบยืนอยู่ประมาณ 3-5 เมตรแล้วตอบว่าสีที่เห็นเป็นสีอะไร ตอนหลังก็พัฒนาเป็นการ์ดอิชิฮะระ (Ishihara) ซึ่งใครตาบอดสีเพียงนิดเดียวก็คัดออกทั้งหมดเลย”

แผ่นทดสอบสายตาอิชิฮะระ ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1879 โดยจักษุแพทย์ชาวญี่ปุ่น ดร.ชิโนบุ อิชิฮะระ
แผ่นทดสอบสายตาอิชิฮะระ ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1879 โดยจักษุแพทย์ชาวญี่ปุ่น ดร.ชิโนบุ อิชิฮะระ

โชคดีที่กรสามารถสอบผ่านในรุ่นดูชาร์ตสีจนได้ใบขับขี่ตลอดชีพมาครอง เพราะต่อให้กรมการขนส่งทางบกเปลี่ยนการทดสอบจากการ์ดอิชิฮะระเป็นการทดสอบด้วยการดูไฟจราจรสามสีในปีพ.ศ.2555 ก็ไม่อาจถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นสักเท่าไรนัก

เรื่องนี้ถูกเล่าจากปากของบีที่เป็นคนไปทดสอบภายหลัง “ตอนทดสอบ ไฟเขียว เหลือง แดง ในที่ทดสอบ กับตอนที่ขับจริง มันคนละเฉดกันเลย เขียวในไฟจราจรเป็นเขียวมิ้นต์ คือเขียวผสมขาวมากกว่า สว่างมากกว่า แต่เขียวในการทดสอบคือเขียวใบไม้ ซึ่งมองได้ยากกว่า”

“เขาคงเข้าใจว่าเขียวคือเขียวอะไรก็ได้ ซึ่งมันไม่ได้ ในคนตาบอดสีก็ยังมีเขียวที่เราแยกออก”

ยิ่งไปกว่านั้น การทดสอบใหม่อย่างการทดสอบสายตาทางกว้าง กลับสร้างอุปสรรคต่อคนตาบอดสีมากขึ้นกว่าเดิม

“เขาให้นั่งหน้าตรง แล้วมองด้วยหางตา เจ้าหน้าที่จะเปิดไฟ LED สี แล้วเขาจะถามว่าเห็นเป็นสีอะไร ต้องตอบถูกสองในสามถึงจะผ่าน” ในฐานะที่เป็นแอดมินเพจกลุ่มเพื่อสิทธิจึงได้ยินเสียงบ่นขรมบ่อยครั้ง ซึ่งกรได้แต่หัวเราะอย่างอ่อนใจ “ถ้าให้คนตาบอดสีมอง คือเห็น แต่มองไม่รู้ว่าเป็นสีอะไร คนเลยเรียกร้องตรงนี้ว่าอยากให้เปลี่ยนวิธีการทดสอบ บางทีขนาดคนตาดียังลำบากเลย”

ส่วนบีที่ผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมา กล่าวว่าเทคนิคที่เขาใช้คือความจำเรื่องเฉดสีที่ถูกสอนมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม “อย่างผมเวลาไปทดสอบทางกว้าง ถ้ามองสีไหนแล้วมันมืด นั่นคือเขียว ถ้าสว่าง แต่ไม่มั่นใจว่าสีไหนเขียวหรือแดง จะใช้ความรู้สึกว่า ถ้ามีอะไรแว้บขึ้นมาหางตาแล้วมันสว่าง หรือแสบตา อันนี้คือแดง”

ส่วนอีกเทคนิคหนึ่งที่เขาเปิดเผยคือ “บางที่ไม่มีทดสอบสายตาทางกว้าง หรือมีแต่เครื่องพัง ก็ไม่สอบสัญญาณไฟ มีแต่ทดสอบเหยียบ จนถึงตอนนี้ เวลาเราจะสอบ ก็ดูว่าที่ไหนไม่มีทดสอบทางกว้าง อาจต้องยอมไปที่ไกลๆ”

ฉันร้องอ้าว “ตกลงว่าแต่ละที่ก็มีการทดสอบไม่เหมือนกันหรือคะ?”

กรที่อยู่อีกด้านหนึ่งส่ายหน้า “มาตรฐานการทดสอบของกรมขนส่ง บอกตรงๆ ว่าไม่ได้มาตรฐาน”

คำว่าไม่ได้มาตรฐานของกร ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทดสอบที่เหมือนกันทุกพื้นที่ แต่ยังรวมไปถึงความก้าวหน้าของข้อบังคับเมื่อเทียบกับนานาชาติ

“มีสมาชิกเพจคนหนึ่งเคยไปทดสอบที่แคลิฟอร์เนีย เขาบอกว่าคนตาบอดสีขับรถได้นะ มีใบขับขี่ ส่วนใหญ่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่ซีเรียสเรื่องตาบอดสีแล้ว”

ตัวอย่างประเทศเหล่านั้น ได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ในสหราชอาณาจักร ไฟจราจรส่วนใหญ่มักจัดเรียงเป็นแนวตั้ง ทำให้คนตาบอดสีสามารถแยกแยะและจดจำสัญญาณจากตำแหน่งบน กลาง หรือล่าง ขณะเดียวกัน ในแคนาดามีการออกแบบไฟจราจรเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อช่วยคนตาบอดสีจำแนกสัญญาณ และออกเกณฑ์วัดสายตาในการทดสอบใบขับขี่โดยมหาวิทยาลัยด้านจักษุ รัฐอัลเบอร์ตา ซึ่งระบุว่าไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำด้านการมองเห็นสี แค่คนขับต้องแยกสัญญาณไฟให้ถูกต้องเท่านั้น

ฟจราจรในเมือง Halifax เขต Nova-Scotia ในประเทศแคนาดาที่ออกแบบมาช่วยเหลือคนขับตาบอดสี
ไฟจราจรในเมือง Halifax เขต Nova-Scotia ในประเทศแคนาดาที่ออกแบบมาช่วยเหลือคนขับตาบอดสี

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า อาการตาบอดสีส่งผลต่อสมรรถนะในการขับรถ และทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าคนปกติจริง แต่ใช่ว่าคนตาบอดสีทุกคนควรถูกสั่งห้ามจากการขับรถ ในเมื่ออาการดังกล่าวมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไปตามบุคคล

ที่สำคัญกว่านั้นคือ สังคมสามารถออกแบบระบบให้บุคคลเหล่านี้สามารถขับรถอย่างปลอดภัยได้ ด้วยการมีระบบไฟและสัญญาณจราจรที่ช่วยให้คนตาบอดสีแยกแยะความแตกต่างได้

ทว่าสำหรับประเทศไทย ซึ่งยังล้าหลังด้านมาตรฐานการทดสอบใบขี่ รวมถึงการออกแบบระบบสัญญาณไฟ เรื่องนี้จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ลิดรอนสิทธิคนตาบอดสีมากที่สุดในขณะนี้

“บางคนที่ไม่มีใบขับขี่ เขาจึงสมัครงานอะไรไม่ได้เลย เพราะงานเขาต้องใช้การขับรถ จะทำอาชีพอื่นก็ลำบาก” บีอธิบายผลกระทบจากเรื่องนี้

ก่อนที่กรจะตบท้ายว่า “มันเป็นการ ฆาตกรรม ทางอาชีพ”

กลุ่มคนต้องห้ามในอาชีพ?

ในโลกปัจจุบัน การถูกห้ามขับขี่ยานพาหนะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนตาบอดสีถูกกีดกันออกจากตลาดแรงงาน แต่อันที่จริง การฆาตกรรมทางอาชีพของคนตาบอดสี ถูกฝังรากลึกในสังคมทั่วโลกมาแล้วนับร้อยปี จากโศกนาฏกรรมนามว่า Lagerlunda Collision

Lagerlunda Collision เป็นเหตุการณ์รถไฟโดยสารพุ่งชนรถไฟรางเดี่ยวบนเส้นทางใกล้รัฐ Lagerlunda ประเทศสวีเดน ในคืนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1875

ระหว่างการสืบหาสาเหตุ จักษุแพทย์ชื่อดัง Frithiof Holmgren ได้ออกมาเสนอความเห็นว่า การที่นาย A.T. Andersson วิศวกรผู้ดูแลรถไฟโดยสาร หรือผู้ช่วยของเขา C.F. Larsson มีภาวะตาบอดสี ทำให้มองไม่เห็นสัญญาณจากนายสถานีและควบคุมความเร็วรถผิดพลาดจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

โศกนาฏกรรม Lagerlunda Collision ในประเทศสวีเดนก่อให้เกิดข้อห้ามแก่คนตาบอดสีในด้านต่างๆ
โศกนาฏกรรม Lagerlunda Collision ในประเทศสวีเดนก่อให้เกิดข้อห้ามแก่คนตาบอดสีในด้านต่างๆ

แม้ไม่สามารถสรุปได้ว่า คนตาบอดสีเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุ อีกทั้งผู้ถูกอ้างก็เสียชีวิตในเหตุการณ์ ทำให้คำกล่าวหาค่อนข้างคลุมเครืออยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ความเห็นนี้กลับถูกแพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยหนังสือพิมพ์ Aftonbladet และทำให้หลายวิชาชีพเริ่มหันมาสร้างเงื่อนไขในการรับคนตาบอดสีเข้าทำงาน เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ช่างไฟฟ้า พนักงานดับเพลิง

“คนไทยก็ไปรับข้อมูลตรงนี้มาว่าคนตาบอดสีมีปัญหา และก็อปปี้คุณสมบัติว่าคนที่จะเป็นทหาร เป็นหมอ เป็นพยาบาล หรือกระทั่งรับราชการ เป็นคนตาบอดสีไม่ได้เลย” กรเล่า เขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ถูกกีดกันจากความฝันเช่นกัน

“ประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ผมไปสอบนักเรียนนายสิบตำรวจที่ภูธรภาค 9 ผ่านข้อเขียนแล้ว แต่พอไปตรวจร่างกาย ปรากฏว่าตกสอบสัมภาษณ์อ่านชาร์ตอิชิฮะระ” เขาสารภาพว่านั่นเป็นครั้งแรกที่เขารู้เรื่องที่ตัวเองตาบอดสีเสียด้วยซ้ำ

“คนตาบอดสีจริงๆ ก็ทำงานได้ มันไม่ใช่อุปสรรคในการทำงาน เพราะตอนนั้นที่ผมสอบ มันเป็นตำรวจสายอำนวยการ ถ้าเป็นตำรวจสายปราบปรามก็จะเป็นปัญหา แต่สายอำนวยการคือทำงานในออฟฟิศ เลยรู้สึกว่าตัวเองโดนลิดรอนสิทธิ”

ในขณะที่อาชีพส่วนใหญ่อ้างเหตุผลการกีดกันเป็นเรื่องทักษะจำแนกสีอย่างแม่นยำ บีกลับแสดงให้เห็นว่าคนตาบอดสีสามารถใช้ชีวิตใกล้ชิดกับสีได้ ด้วยการเรียนจบด้านศิลปะไทยและทำงานเป็นครูสอนศิลปะเด็ก

บี – สุพจน์ ทรัพย์ไหลมา หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเพื่อสิทธิคนตาบอดสี ผู้ทำงานเป็นครูสอนศิลปะเด็ก
บี – สุพจน์ ทรัพย์ไหลมา หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเพื่อสิทธิคนตาบอดสี ผู้ทำงานเป็นครูสอนศิลปะเด็ก

“คนไทยเวลาสอนศิลปะ จะเน้นว่าทำได้เหมือนจริงคือสวย” เขายิ้ม “แต่เวลาเราสอนศิลปะเด็ก จะไม่ได้บังคับว่าคุณต้องวาดให้เหมือน เราจะปล่อยให้เขาระบายไปตามใจ แต่ให้ข้อมูล ให้คนเลือกใช้เองว่าจะวาดอะไร มันเลยไม่มีปัญหา”

ทว่าในโลกธุรกิจที่จินตนาการยังไม่เปิดกว้าง การเป็นคนตาบอดสีก็เคยสร้างปัญหาให้กับบี “ที่แรกที่ผมทำงานคือโรงเรียนสอนศิลปะ พอผมบอกว่าผมตาบอดสี เขาเลยให้ออกจากงานทันทีที่รู้เลย”

“เขาให้เหตุผลว่า เนื่องจากโรงเรียนของเขาเป็นแฟรนไชส์ มาจากต่างประเทศ เวลาสอน เราจำเป็นต้องบอกชื่อสีและวางสีให้ถูกเพื่อให้เด็กได้หยิบใช้ ซึ่งก่อนจะออก เขาก็มีการทดสอบวาดรูป เราวาดได้ดีกว่าทุกคนที่เป็นครูด้วยกันในรุ่นนั้น แต่เนื่องจากเหตุผลว่ากลัวจะวางสีผิด เขาก็เลยต้องให้ออก แค่นี้เลย”

“ความจริงคนดังๆ หลายคนก็เป็นตาบอดสี” กรว่า เขาและบีช่วยกันยกตัวอย่างคนตาบอดสีที่ประสบความสำเร็จในอาชีพอย่าง Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook , Eddie Redmayne ดาราชายชื่อดังจากอังกฤษ กระทั่งอาชีพสายศิลปะยังมี Clifton Ernest Pugh ศิลปินชาวออสเตรเลียผู้ได้รับรางวัล Archibald Prize จากการวาดภาพเหมือนบุคคลถึงสามครั้ง หรือกระทั่งบรมครูของไทยอย่างอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี

“ที่ต่างประเทศ แม้แต่หมอตาเองก็เป็นตาบอดสีเหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่ามันไม่ได้มีอะไร แค่เห็นสีผิดไปเท่านั้นเอง”

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ถูกยืนยันโดยงานวิจัยของ J. Anthonny Spalding ซึ่งเผยแพร่ใน British Journal of General Practice ในปี ค.ศ.1999 ซึ่งทำการสำรวจจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ผู้มีภาวะตาบอดสี และพบว่าแพทย์ตาบอดสีส่วนใหญ่สามารถทำงานได้ดีไม่ต่างจากแพทย์ทั่วไป

ทำนองเดียวกัน อาชีพที่เคยต้องห้ามสำหรับหมู่คนตาบอดสี เช่น นักบิน ปัจจุบันก็เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ไปไม่น้อย ตัวอย่างเช่น ในประเทศออสเตรเลีย องค์การด้านความปลอดภัยทางการบิน (Civil Aviation Safety Authority : CASA) อนุญาตให้คนตาบอดสีสามารถดำรงตำแหน่งกัปตันบนเครื่อง ทำให้มีนักบินตาบอดสีภายในประเทศรวมแล้วกว่า 400 คน ขณะที่องค์การความปลอดภัยจากประเทศอังกฤษ (Civil Aviation Authority : CAA) ก็กำลังวางแนวทางใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้เหล่านักบินตาบอดสีเช่นกัน

“อย่างที่บอกว่าบางอย่างเป็นวิชาที่เกี่ยวกับทักษะ คนตาบอดสีถ้าทำทุกวันก็ทำได้ และทำได้ดีด้วย แต่บางทีก็ไม่ได้รับการยอมรับเพราะเพียงแค่คุณตาบอดสี” บีกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายประเทศรวมถึงไทยจะมีมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองบุคคลจากการถูกเลือกปฏิบัติ แต่ยังไม่เคยปรากฏบัญญัติที่ไว้ใช้คุ้มครองกลุ่มคนตาบอดสีโดยเฉพาะ บางประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา ยังเปิดโอกาสให้นายจ้างอ้างคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานโดยแท้ หรือ Bona Fide Occupational Qualification (BFOQ) ในชั้นศาล เพื่อเพิ่มความชอบธรรมในการเลือกปฏิบัติโดยตรงกับคนตาบอดสี ทำให้ปัญหาการถูกกีดกันออกจากงานยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน

กลุ่มคนมีปัญหาทางการศึกษา?

นอกเหนือจากเรื่องราวในโลกของผู้ใหญ่วัยทำงาน โลกการศึกษาของเด็กนักเรียนตาบอดสีก็ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน

จากรายงานโครงการศึกษาวิจัย ว่าด้วยปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมของบุคคลผู้มีอาการตาบอดสี ซึ่งมีศาสตราจารย์พลตํารวจตรีหญิง ดร.นัยนา เกิดวิชัย เป็นหัวหน้าคณะ ระบุถึงปัญหาด้านการศึกษาในประเทศไทยว่า สถาบันการศึกษาของตํารวจ ทหาร และบางคณะ สาขาวิชาในมหาวิทยาลัย เช่น แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สร้างข้อกำหนดว่าไม่รับคนตาบอดสีเข้าเรียน หรือถ้ารับ หลักเกณฑ์ที่ใช้ก็แตกต่างกันไปตามมหาวิทยาลัยเป็นผู้ตัดสิน ทำให้โอกาสทางการศึกษาของกลุ่มคนเหล่านี้ลดน้อยลงไป

ปัญหานี้ถูกตีความว่า มีสาเหตุจากการที่ประเทศไทยยังไม่มีการตรวจคัดกรองนักเรียนที่มีอาการตาบอดสีตั้งแต่เริ่มเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อเด็กและผู้ปกครองไม่ทราบถึงภาวะผิดปกติของตนเองและบุตรหลาน จึงไม่สามารถวางแผนการเรียนหรืออาชีพในอนาคตได้เหมาะสม คณะอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา จึงเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการตรวจภาวะตาบอดสีให้แก่เด็กอย่างทั่วถึงในปี พ.ศ.2559

ถึงแม้กรและบีจะเห็นด้วยกับการรณรงค์ดังกล่าว แต่พวกเขาก็ยังคงเป็นห่วงเรื่องการตัดสินอนาคตของนักเรียนจากใบรับรองแพทย์

“การทดสอบไม่ควรมีไว้เพื่อบอกว่าคุณต้องเรียนหรือห้ามเรียนสาขานี้ การทดสอบควรมีแค่ว่า ถ้าคุณเป็นตาบอดสี คุณควรจะระวังเรื่องไหน” บีกล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ นอกจากได้รับการปฏิบัติเทียบเท่าคนปกติ

“ขอให้เรียนปกตินี่ล่ะครับ เพียงแต่ว่าให้เขาเตรียมตัว ว่าเวลาที่เขาตาบอดสี จะเรียนอย่างไร ต้องเจออะไรบ้าง วิชาเรียนที่เกี่ยวข้องกับสีจะเป็นอย่างไร และควรจะแก้ไขอย่างไร”

อีกเรื่องหนึ่งที่บีฝากไว้ในฐานะคนทำงานครู คือเรื่องการล้อเลียนที่อาจสร้างปมด้อยให้เด็กตาบอดสี “ตัวครูบางคนไปล้อเด็ก บ้างบอกว่าอย่าเรียนทางนี้เลย ไปเรียนอย่างอื่นดีกว่า” เป็นปัญหาที่เขาพบภายหลังเข้าร่วมกลุ่มกับกร ว่าคนตาบอดสีบางส่วนไม่กล้าเปิดเผยตัวเองต่อสาธารณะ เพราะกลัวโดนล้อเลียน หรือมีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ทำให้การรวมตัวสร้างพลังต่อสู้เพื่อสิทธิเป็นไปได้ยากและทำได้ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งพวกเขาก็ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร

“ด้วยตัวเขาเองถูกสังคมรอบข้างทำให้เขาเป็นแบบนั้นไปแล้ว เวลาเราจะดึงเขากลับมาก็ยาก อย่างตัวผมไม่ค่อยมีปัญหา เพราะที่บ้านไม่ได้สนใจ พ่อตาบอดสี พี่ชายก็ตาบอดสี มันเป็นเรื่องธรรมดา” บีว่า

“มันขึ้นอยู่กับมุมมองแต่ละบุคคลด้วย ว่าเขาคิดได้มากแค่ไหน ก้าวข้ามมันไปได้มากแค่ไหน”

นวัตกรรมช่วยเหลือคนตาบอดสี คือความเข้าใจ

“เทียบกันแล้ว คนตาบอดสีโดนลิดรอนสิทธิมากกว่าคนพิการอีก”

กรสรุปออกมา หลังจากถกเถียงประเด็นปัญหาที่เขาต่อสู้มานานหลายปี

“อย่างเรื่องเรียน บางคณะคนพิการเรียนได้ ขับรถก็ทำได้ ตอนนี้คนพิการแทบจะเป็นคนปกติด้วยซ้ำ ในขณะที่คนปกติจะกลายเป็นคนพิการแล้ว เพราะโดนห้ามหลายๆ อย่าง”

“แล้วนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับคนตาบอดสี ช่วยแก้ปัญหาพวกนี้ได้ไหมคะ?” ฉันถามด้วยความคิดอันไร้เดียงสา ว่าแค่ทำให้ดวงตามองเห็นเป็นปกติ ปัญหาของคนตาบอดสีทั้งหลายน่าจะหมดไป

กรส่ายหน้า “มันมีพวกคอนแทคเลนส์แก้ตาบอดสี แว่นตา EnChroma ก็จริง แต่ผมก็บอกได้แค่ว่า มันยังไม่มีใครรับรองมากนัก ทางการแพทย์ยังไม่รับรองว่าช่วยได้จริง”

บีเองก็กล่าวในทำนองเดียวกัน “มันใช้ได้แค่กับบางคน แต่ถ้าเราไม่ได้ไปทดลองเอง ก็บอกต่อไม่ได้” เพราะอาการตาบอดสีของแต่ละคนมีระดับความรุนแรงต่างกัน ทำให้เขาไม่คิดว่าสินค้ารูปแบบเดียวจะสามารถใช้งานได้ดีมีประสิทธิภาพกับทุกคน

ดังนั้น นวัตกรรมที่สามารถช่วยคนตาบอดสีได้อย่างแท้จริง คือความเข้าใจจากคนในสังคม

“การประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการตาบอดสี เป็นเรื่องสำคัญ” บีเสนอแนวทาง สำหรับเขาแล้ว กลุ่มแพทย์รุ่นใหม่และครูคือหัวใจสำคัญของความเปลี่ยนแปลง

“ผมว่าหลักๆ คนที่สามารถทำเรื่องนี้ได้ดีคือหมอ หรือบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับทางการแพทย์ ถ้าผมเดินไปบอกคนอื่นว่าตาบอดสีไม่ได้ร้ายแรง แค่มองเห็นสีผิด กับหมอเป็นคนบอก เขาจะเชื่อใครระหว่างไอ้บ้านี่กับหมอ ยังไงหมอก็ดูน่าเชื่อถือกว่า”

“ไม่ใช่แค่หมอ คนที่ดูแลเด็กอย่างครูก็สำคัญ เพราะครูอยู่กับเด็ก ควรจะให้ความรู้ และควรรู้ว่าต้องเลี่ยงสิ่งที่จะเป็นปมด้อยของเด็ก”

“ถ้าเราไม่ประกาศ โฆษณา หรือให้ความรู้ที่ชัดเจน มันก็จะลำบาก เด็กหลายคน หรือผู้ปกครองบางคนที่แม้จะเรียนสูง ถ้าเขาไม่สนใจเรื่องนี้ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่ามันเป็นอย่างไร เพราะหลายคนที่เข้ามาสอบถามในกลุ่มพูดคุยของคนตาบอดสี คือคนที่มีลูกเป็นตาบอดสีแต่ไม่เคยรู้เลย”

แม้ความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิ ทั้งเรื่องใบขับขี่ โอกาสทางอาชีพ และการศึกษา จะยังคงใช้เวลาอีกนานกว่าจะพรั่งพร้อมทุกด้าน แต่เราอาจช่วยเร่งดอกผลแห่งความสำเร็จได้ ด้วยจุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างการที่คนในสังคมเปิดใจยอมรับ

“ปัญหาพวกนี้เกิดจากความไม่เข้าใจของคน ถ้าเราปรับอคติตรงนี้ได้ สังคมยอมรับมากขึ้น มีการแก้ระเบียบ แก้กฎหมาย คนตาบอดสีก็ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ”

เมื่อวันนั้นมาถึง สิทธิของคนก็คงไม่ขึ้นอยู่กับดวงตาที่มองโลกอีกต่อไป

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save