fbpx

เกาหลีใต้ยุคมุน แช-อิน: 5 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลง?

Jeon Han ภาพถ่าย

การเลือกตั้งเมื่อวันพุธที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมาทำให้เกาหลีใต้ได้ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ‘ยุน ซ็อก-ย็อล’ ซึ่งเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 10 พฤษภาคม เวลา 11.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น)

ในช่วงรณรงค์หาเสียง หนึ่งในหลายสโลแกนที่ยุนประกาศคือ “เปลี่ยนรัฐบาล (정부를 바꾸다)” ซึ่งอาจเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้ยุนได้รับชัยชนะ

แล้วอะไรที่ทำให้คนเกาหลีเทคะแนนให้ยุน จนได้เปลี่ยนรัฐบาลสมใจ? รัฐบาลก่อนหน้านี้ของประธานาธิบดีมุน แช-อินมีปัญหาอะไร? นโยบายหรือประเด็นอะไรที่ไม่ถูกใจคนเกาหลี? ทั้งที่สถิติจาก Korea Institute of America ระบุว่า ท่านมุนคือประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ได้รับคะแนนนิยม (approval rating) สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ทั้งตอนเข้าสู่ตำแหน่งและตอนพ้นจากตำแหน่ง

บทความนี้ชวนสำรวจระยะเวลา 5 ปี (ค.ศ. 2017-2022) ของท่านมุนว่าได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงอย่างไร ในด้านใด บริบทอะไรที่นำพาให้สุภาพบุรุษท่านนี้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของสาธารณรัฐแห่งนี้ และจุดพลิกผันไหนที่ทำให้คนเกาหลีใต้เห็นด้วยกับการรณรงค์หาเสียงของยุน ผู้เขียนเองโชคดีที่มีโอกาสได้เป็นประจักษ์พยานใน 2 ปีแรกซึ่งเป็นช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดของรัฐบาลมุน ในฐานะนักศึกษาปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา (Graduate School of International Studies – GSIS) มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ผู้รับทุน Korea Foundation-ASEAN Fellow for Korean Studies จึงมีโอกาสได้รู้ ได้เห็น และได้ร่วมลงมือทำการอะไรบางอย่างที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย

มุนมาจากไหน? และทำไมถึงเป็นมุน?

หลายท่านคงจำได้ว่าประธานาธิบดีคนก่อนหน้าท่านมุนนั้น คือนางสาวปัก กึน-ฮเย ประธานาธิบดีสุภาพสตรีคนแรกของประเทศ ลูกสาวคนเดียวของอดีตนายพลปัก ชอง-ฮี ผู้ได้ชื่อว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

รัฐบาลนางสาวปัก เธอเปิดโอกาสให้เพื่อนสนิทตั้งแต่วัยเด็กที่ชื่อ ชเว ซุน-ชิล ลูกสาวของร่างทรงเข้ามาแทรกแซงการบริหารงานของประธานาธิบดีไม่ว่าจะเป็นการแก้สุนทรพจน์ของนางสาวปักหรือการแอบอ้างตำแหน่งประธานาธิบดีในการเรียกรับสินบนจากกลุ่มทุนใหญ่ เชื้อไฟของการค้นหาความจริงในเรื่องนี้เริ่มต้นจากการที่เธอฝากลูกสาวเข้าเรียนหลักสูตรพิเศษของมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวาแล้วไปตัดสิทธิของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว ผลที่ตามมาคือนักศึกษาอีฮวาออกมาเดินขบวนขับไล่อธิการบดีจนต้องลาออก

เรื่องราวความสัมพันธ์พิเศษระหว่างอดีตประธานาธิบดีกับเพื่อนสนิทที่มีแต่ความฉ้อฉลค่อย ๆ เผยแพร่ออกมาเรื่อย ๆ จนพี่น้องมวลมหาโคริยาชนคนดีทนไม่ไหวจัดชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงทุกวันเสาร์ต่อเนื่องถึง 20 สัปดาห์ ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 8:0 ให้นางสาวปักพ้นจากตำแหน่งด้วย 4 ฐานความผิดหลัก ได้แก่ การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยมิชอบ การละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การละเลยต่อหน้าที่ในการรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในกรณีเรือเซวอล และการมอบอำนาจทางการเมืองให้ชเว ซุน-ชิล ใช้อำนาจโดยมิชอบ

ผู้เขียนเองมีโอกาสเข้าร่วมการชุมนุมทั้ง 20 ครั้ง จึงได้เห็น ‘โคริยมานะ’ หรือความตั้งใจอย่างแท้จริงของคนเกาหลีใต้ในการทำอะไรให้สำเร็จโดยไม่หยุดยั้งย่อท้อ ไม่ดีแต่พูดดีแต่โพสต์ แต่ลงมือทำด้วย อะไรที่คนทั้งหลายเห็นว่าเลวร้ายก็จะต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ไม่อยู่นิ่งเพิกเฉยแล้วปล่อยให้เป็นภาระคนรุ่นหลัง เมื่อเห็นเป้าหมายตรงกันแล้ว ทุกคนจะต้องมุ่งไปสู้เป้าหมายนั้น แกนนำไม่หิวแสงแย่งซีนกันเอง

ช่วงเดือนที่ชุมนุมกันคือ ตุลาคม 2016 – มีนาคม 2017 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หนาวเหน็บที่สุดของประเทศ (ท่านที่เคยเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนคงจะทราบ) แต่ถึงอากาศจะเย็น บรรยากาศในที่ชุมนุมกลับอบอุ่นด้วยดวงเทียนที่ทุกคนร่วมกันจุดขึ้นมาเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย สถานที่ชุมนุมคือจัตุรัสควังฮวามุน หน้าพระราชวังคย็องบกผ่านคลองชองกเยช็อนเรื่อยไปจนถึงตลาดมย็องดง บริเวณไหนที่คนเต็ม คนที่เดินอยู่ข้างหน้าจะส่งเสียงกลับมาว่า “เดินไม่ได้ๆ” แล้วคนที่ตามมาจะส่งเสียงต่อกันไป แต่ละสัปดาห์จะมีเรื่องให้ลุ้นกันตลอดว่า สัปดาห์นี้จะขยับเข้าใกล้ทำเนียบประธานาธิบดีหรือ Blue House ได้กี่เมตร โดยแกนนำต้องไปขออนุญาตศาลแขวงกรุงโซลให้มีการพิจารณา ทางฝั่งศาลท่านก็เห็นใจ ให้ขยับไปได้เรื่อยๆ ทีละนิดๆ จนสุดเพดานที่กฎหมายอนุญาต

บรรยากาศการชุมนุมโดยทั่วไปดีมาก เหมือนมาดูคอนเสิร์ตมากกว่ามาชุมนุม ศิลปินชื่อดังของประเทศที่จะแวะเวียนกันมาสร้างความบันเทิง หลายคนพาครอบครัวมาร่วมกิจกรรมเหมือนมาพักผ่อน หลายคนพาแฟนมาเดต หลายคนมาสุนัขมาเดินเล่น ร้านค้าโดยรอบการชุมนุมต่างยินดีปรีดาเพราะยอดขายสูงขึ้นเป็นเท่าตัว (ผู้เขียนกำลังเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์การชุมนุมในครั้งนั้นอย่างละเอียด คาดว่าจะเผยแพร่ภายในปีนี้)

พอผู้เขียนลองไปเลียบเคียงสอบถามพี่ๆ ว่าทำไมถึงมาชุมนุมกัน ก็ได้คำตอบที่น่าสนใจมาก ไม่ว่าจะเป็น “ปัก กึน-ฮเยทำให้คนเกาหลีดูโง่ เป็นความอับอายของชาติ” “ประธานาธิบดีละเมิดหลักการตามรัฐธรรมนูญ” “มาต่อสู้เพื่ออนาคตของลูกหลาน ให้มันจบที่รุ่นนี้” “เราเป็นพลเมืองของประเทศนี้” หรือแม้แต่ “ฉันเลือกปัก กึน-ฮเยมาเอง ในเมื่อเลือกมาเอง ก็ต้องมาไล่เอง”

ไม่ใช่แค่พี่น้องมวลมหาโคริยาชนคนดีเท่านั้น นักการเมือง ผู้มีชื่อเสียง ดารานักแสดงหลายท่านเลือกมาปรากฏตัวในที่ชุมนุม แม้แต่ ส.ส. พรรคอนุรักษนิยมซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้นบางคนยังต้องแสดงจุดยืนสนับสนุนการชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงด้วยการออกเสียงสนับสนุนในรัฐสภาให้ปลดเธอออกจากตำแหน่ง มิฉะนั้นเลือกตั้งครั้งต่อไปจะไม่มีใครเลือก

นางสาวปัก กึน-ฮเยได้ชื่อว่าเป็นประธานาธิบดีที่มีคะแนนนิยมต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ก่อนลงจากตำแหน่งคือเหลือแค่ร้อยละ 5 จากการสำรวจทั่วประเทศ แม้แต่ในพื้นที่ใจกลางของฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างเมืองแทกู บ้านเกิดของเธอเองก็ยังกระอักกระอ่วนเวลาที่ต้องแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเธอในช่วงนั้น

บริบทการเมืองภายในประเทศที่ผู้คนสูญสิ้นความเชื่อมั่นศรัทธาต่อฝ่ายอนุรักษนิยมเช่นนี้เองที่ทำให้ท่านมุน ผู้แทนของพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าขึ้นมาเป็นหนึ่งในตัวเลือกหลักขนาดที่ ‘ฟันธง’ ได้เลยว่า “มุนมาแน่ นอนมาเลย” สอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (poll) หลายสำนักในเวลานั้น จากเมื่อก่อนที่โพลเป็นแค่เครื่องมือของรัฐบาลอำนาจนิยมไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน ได้ค่อยๆ พัฒนามาเป็นแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือมากขึ้น โดยมีความคลาดเคลื่อนน้อยมาก ทั้งยังส่งผลอย่างจริงจังต่อสถานะและเสถียรภาพทางการเมืองดังที่ปรากฏในซีรีส์เกาหลีหลายเรื่อง

ท่านมุนเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่เข้าร่วมการชุมนุมอย่างแข็งขัน และตัวท่านเองมีประสบการณ์ยาวนานในสายงานการเมือง เคยเป็นหัวหน้าทีมเจ้าหน้าที่ของทำเนียบในสมัยท่านประธานาธิบดีโน มู-ฮย็อน เคยเป็น ส.ส. ของปูซาน และเคยลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในการเลือกตั้ง 2012 แต่แพ้นางสาวปัก กึน-ฮเย ตอนนั้นเพื่อนของผู้เขียนตั้งข้อสังเกตแบบติดตลกว่า โหงวเฮ้งท่านมุนใน ค.ศ. 2016 ดีขึ้นกว่าตอนเลือกตั้งใน ค.ศ. 2012 นี่อาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ได้รับชัยชนะ (ขอให้ผู้อ่านลองไปดูภาพของท่านในสองปีที่ว่าแล้วมาเทียบกัน)

ขณะที่บริบทการเมืองระหว่างประเทศในช่วงเวลานั้น โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คาบสมุทรเกาหลีเองก็มีความตึงเครียดมาก เนื่องจากผู้นำสหรัฐอเมริกากับผู้นำเกาหลีเหนือทำ ‘สงครามน้ำลาย’ กันอย่างดุเดือด เช่นเดียวกับนโยบายเกาหลีเหนือของรัฐบาลนางสาวปักที่พลิกกลับมาแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือมากขึ้นในช่วงครึ่งหลัง รายงานของ CSIS Korea Chair ระบุว่า ใน ค.ศ. 2016 เกาหลีเหนือทดสอบระเบิดปรมาณูครั้งที่ 5 ในเดือนกันยายน และขีปนาวุธรูปแบบต่างๆ อีก 23 ครั้ง ขณะเดียวกัน จีนก็กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีใต้ในด้านเศรษฐกิจจากความตกลงในการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง (THAAD) กับสหรัฐอเมริกา

หากพิจารณาจากมุมมองด้านความมั่นคง 4-5 เดือนของการชุมนุมนั้นเป็นช่วงเวลาที่เปราะบางและสุ่มเสี่ยงอย่างมากสำหรับประเทศ การลงมติถอดถอนนางสาวปักออกจากตำแหน่งในขั้นแรกโดยรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2016 ด้วยคะแนนเสียง 234:56 ส่งผลให้นางสาวปักต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที นายกรัฐมนตรีขณะนั้นจึงต้องขึ้นมารักษาการ เช่นเดียวกับรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัดอย่างมาก

นโยบายและท่าทีการสื่อสารของท่านมุนถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในบริบทนี้ ท่านนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นสวัสดิการท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ นโยบายต่างประเทศที่ไม่สุดโต่ง และนโยบายทางสังคมที่เน้นการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมต่างๆ และการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ขณะที่ผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นอันดับสองอย่างฮง ชุน-พโย จากพรรคอนุรักษนิยมกลับนำเสนอนโยบายและมีวิธีการสื่อสารแบบสุดโต่งจนได้รับฉายาว่าเป็น “ทรัมป์ของเกาหลีใต้” เขาประกาศตอบโต้เกาหลีเหนืออย่างแข็งขันและจะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างแนบแน่น นโยบายเช่นนี้จะนำความเสี่ยงด้านการต่างประเทศและความมั่นคงมาให้อย่างแน่นอน ส่วนผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นอันดับสามคือ อัน ชอล-ซู ที่เป็นทางเลือกที่สามสำหรับคนที่ไม่ชอบมุนและฮง ด้วยบุคลิกแบบนักธุรกิจ-วิชาการจึงมีคนมองว่า เขาเป็นพวก “ดีแต่พูด” นำเสนอนโยบายที่น่าสนใจแต่อาจทำไม่ได้จริง

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันพุธที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา อัน ชอล-ซูก็ลงสมัครด้วย แต่รู้ตัวแน่แล้วว่าไม่ได้แน่นอนจึงปรับยุทธศาสตร์โดยประกาศเป็นแนวร่วมกับผู้สมัครยุน จนสุดท้ายยุนสามารถชนะเลือกตั้ง และอันก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงานเปลี่ยนผ่านอำนาจของประธานาธิบดียุน

5 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลง?

ด้านการต่างประเทศ

หลังจากเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 9 พฤษภาคม 2017 ภารกิจแรกที่ท่านมุนสั่งการคือภารกิจด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งผู้แทนพิเศษ (special envoy) ไปเยือนประเทศหลักทั้งจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ที่สำคัญท่านส่งอดีตผู้ว่าราชการกรุงโซลผู้ล่วงลับเดินทางเยือนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อส่งสัญญาณในการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งต่อมากลายเป็น ‘นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy)’ ที่รวมอินเดียเข้าไปด้วย

ในบรรดานโยบายทั้งหลาย ผู้เขียนมองว่า นโยบายต่างประเทศเป็นเรื่องที่ท่านประสบความสำเร็จที่สุด ในยุคของท่าน เกาหลีใต้มีนโยบายที่เป็นอิสระมากขึ้นจากมหาอำนาจ และพยายามขยายบทบาทและผลประโยชน์ของตนไปทั่วโลก รัฐบาลมุนเป็นรัฐบาลแรกของเกาหลีใต้ที่ให้ความสำคัญแก่อาเซียนในฐานะประเทศยุทธศาสตร์ระดับเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และรัสเซีย ท่านมุนมีบทความภาษาอังกฤษเรื่อง “Toward a People-Centered ASEAN Community” ซึ่งเป็นหนึ่งในสองบทความภาษาอังกฤษเท่านั้นที่เขียนในชื่อของท่าน ท่านยังให้คำมั่นเดินทางเยือน 10 ประเทศอาเซียนจนครบก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-เกาหลีใต้ที่ปูซานในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 และเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนแรกในประวัติศาสตร์ที่เดินทางครบ 10 ประเทศอาเซียนด้วย นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนประเทศแรกที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบความสัมพันธ์ (Commemorative Summit) ถึง 3 ครั้ง และเป็นประเทศแรกที่สร้างศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนนอกภูมิภาคอาเซียน

ส่วนทางด้านความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจนั้น ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า รัฐบาลมุนช่วงแรกสามารถใช้ประโยชน์จากความเป็นนักธุรกิจของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่มองอะไรเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ไปเสียหมดในการโน้มน้าวผู้นำสหรัฐอเมริกาให้ไปร่วมโต๊ะเจรจากับผู้นำเกาหลีเหนือได้ ดังภาพจับมืออันชื่นมื่นในการประชุมสุดยอดผู้นำที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นดีที่รัฐบาลทรัมป์สามารถไปโฆษณาแก่ประชาชนอเมริกันก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมใน ค.ศ. 2018 อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันเรียก ‘ค่าใช้จ่าย’ จากโซลคืนด้วยเช่นกัน โดยขอให้แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลฐานทัพอเมริกันในเกาหลีใต้เพิ่มเติม ซึ่งต่อมาก็มาตกลงกันได้ใน ค.ศ. 2021

ในด้านความสัมพันธ์กับจีน หลังจากที่จีนกำหนดมาตรการคว่ำบาตรจากการที่เกาหลีใต้ติดตั้ง THAAD แล้ว รัฐบาลท่านมุนแก้ไขด้วยความตกลง ‘3ไม่ (3 Nos)’ คือ ไม่ติดตั้ง THAAD เพิ่ม, ไม่เข้าร่วมเครือข่ายป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐอเมริกา, และไม่สร้างพันธมิตรทางทหารสามฝ่ายกับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเพื่อปิดล้อมจีน รัฐบาลมุนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลปักกิ่งอย่างมากจนถึงกับมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการเยือนเกาหลีใต้ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในปลาย ค.ศ. 2020

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกาหลีใต้โดย Korea Institute of Defense Analysis พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่นิยมสหรัฐอเมริกามากกว่าจีน ในขณะที่กระแสกังวลหรือต่อต้านจีนเริ่มมีเพิ่งสูงขึ้นในสังคมเกาหลีใต้ ส่งผลสะท้อนกลับมาถึงความนิยมต่อท่านมุน มีกระแสโจมตีท่านในทำนองว่า ท่านฝักใฝ่จีนเป็นพิเศษ ฝ่ายอนุรักษนิยมบางคนถึงกับกล่าวว่า ท่านเป็น “หุ่นเชิดของจีน” และเป็น “คอมมิวนิสต์” ที่ทำให้ประเทศอ่อนแอ

ขณะที่ทางด้านความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นนั้นนับว่าถดถอยอย่างมาก หลังจากศาลสูงของเกาหลีใต้มีคำพิพากษาให้บริษัทญี่ปุ่นต้องจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้สมัครใจและครอบครัวในช่วงสงคราม สองฝ่ายมีการตอบโต้กันอย่างดุเดือดตั้งแต่การเรียกทูตชี้แจงไปจนถึงการทำ ‘สงครามการค้า’ ในเดือนกรกฎาคม 2019 รัฐบาลญี่ปุ่นนำเกาหลีใต้ออกจากกลุ่มประเทศที่ได้รับยกเว้นเป็นกรณีพิเศษในการยื่นใบอนุญาตส่งออก (White List) ความขัดแย้งยังลุกลามไปถึงระดับประชาชนเมื่อภาคประชาสังคมมีการรณรงค์ไม่ไปเที่ยวญี่ปุ่นและไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่นจน Uniqlo ต้องปิดตัวลงหลายสาขาในเกาหลีใต้ ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นยังคงตึงเครียดเนื่องจากรัฐบาลท่านมุนปฏิเสธเข้าร่วมการหารือต่างๆ ในระดับทวิภาคี

ส่วนความสัมพันธ์กับรัสเซียนั้นก็เลวร้ายลงเมื่อเกิดการรุกรานยูเครน ในช่วงแรกรัฐบาลเกาหลีใต้ค่อนข้างลังเลที่จะแสดงท่าทีใดๆ เนื่องจากรัสเซียเป็นตลาดส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของ Samsung LG เป็นที่ตั้งของโรงงาน Hyundai แห่งที่ 6 ในต่างประเทศซึ่งประธานาธิบดีปูตินร่วมพิธีเปิดและทดลองขับรถ Sedan ใน ค.ศ. 2010 รัสเซียยังเป็นแหล่งธัญพืชพลังงาน และแร่ธาตุที่สำคัญมาก เกาหลีใต้จึงพยายามเลี่ยงมาตรการทางเศรษฐกิจใดๆ ที่จะส่งผลกระทบถึงห่วงโซ่การผลิตที่ต้องอาศัยวัตถุดิบเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน แม้จะร่วมมือกับโลกตะวันตกในการคว่ำบาตรรัสเซียในภาพรวม

อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นเรื่องของกระบวนการ (process) ไม่ใช่ว่าตัดสินใจลงมือทำอะไรอย่างหนึ่งแล้วจะจบที่ตรงนั้น ยังมีผลที่จะตามมาต่อเนื่องจากการลงมือทำหรือไม่ลงมือทำด้วย การประเมินความสำเร็จด้านการต่างประเทศของประเทศใดๆ (ไม่ใช่แค่เกาหลีใต้) จึงไม่ควรพิจารณาแค่ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของเหตุการณ์เฉพาะหน้าหนึ่งๆ แต่ต้องพิจารณาบริบทหรือสภาพแวดล้อมก่อนหน้าและผลที่จะตามมาในความสัมพันธ์กับประเทศนั้นและประเทศอื่นด้วย ปัญหาเกาหลีเหนือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน โดยเหตุที่ปัญหาเกาหลีเหนือไม่จบสิ้นง่ายๆ เพราะนี่ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทของมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ชาวเกาหลีใต้จำนวนไม่น้อยจึงรู้สึกว่า การจัดประชุม แลกเปลี่ยนศิลปิน-นักแสดง หรือเชิญผู้แทนมาเข้าร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวใน ค.ศ. 2018 ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร สุดท้าย เกาหลีเหนือก็ยังทดสอบขีปนาวุธและพัฒนาระเบิดปรมาณูอยู่ดี

แม้การทูตแบบทางการระหว่างรัฐกับรัฐในยุคท่านมุนจะมีข้อจำกัดและความท้าทายมากมาย แต่ด้านที่เป็น ‘การทูตสาธารณะ (public diplomacy)’ ที่มุ่งสื่อสารเพื่อสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนชาวต่างชาติของเกาหลีใต้กลับคึกคักอย่างมาก (อ่านยุทธศาสตร์การทูตสาธารณะของเกาหลีใต้ได้ ที่นี่) เนื่องจากบทบาทของภาคเอกชนในธุรกิจบันเทิงที่ทำให้ศิลปินและซีรีส์เกาหลีโดดเด่นขึ้นมาจากการขยายฐานผู้ชมในแฟลตฟอร์มต่างๆ ผนวกกับความสำเร็จของภาพยนตร์และสื่อบันเทิงต่างๆ ซึ่งภาครัฐ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้โดยสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่หลายแห่งเข้ามาใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ มีการแสดงความยินดี เช่นเดียวกับท่านมุนที่มักจะโพสต์สาส์นแสดงความยินดีกับศิลปินที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกทาง Facebook ของท่านเสมอๆ

รัฐบาลท่านมุนยังรู้จักใช้ประโยชน์จากความนิยมสื่อบันเทิงเหล่านี้ในการขับเคลื่อนวาระด้านการต่างประเทศโดยการแต่งตั้งกลุ่มศิลปิน BTS เป็นผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีในด้านวัฒนธรรมและเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 76 และจัดการแสดงในชื่อชุด ‘Permission to Dance’ ซึ่งมองจากมุมคนเกาหลีต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างมากสำหรับประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยถูกปฏิเสธไม่ให้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมในฐานะรัฐอธิปไตย ไม่มีแม้แต่ permission to sit as a sovereign state ด้วยซ้ำ นอกจาก BTS แล้ว กลุ่มศิลปิน BLACKPINK ยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุม COP26 ใน ค.ศ. 2021 ด้วย

ด้านเศรษฐกิจ

หากความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยเพิ่มความนิยมในรัฐบาลมุนแล้ว นโยบายเศรษฐกิจคือด้านที่ให้ผลตรงข้าม

ใน ค.ศ. 2017-2018 รัฐบาลมุนหล่อเลี้ยงความเชื่อมั่นของประชาชนด้วยความสำเร็จในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพย็องชังที่มาพร้อมกับกระบวนการปรับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ ในช่วงต้น ค.ศ. 2018 มีการแลกเปลี่ยนศิลปินระหว่างสองประเทศหลายครั้งและยังมีการฟื้นช่องทางในการประสานงานต่างๆ กระบวนการนี้มาถึงจุดสูงสุดในวันศุกร์ที่ 27 เมษายน 2018 ที่ผู้นำเกาหลีทั้งสองพบกันที่พันมุนจ็อม เกิดเป็นภาพสำคัญที่เผยแพร่ไปทั่วโลก ผู้เขียนเองโชคดีมีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยคณะผู้สื่อข่าวและทีมงานจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในการทำข่าวที่ศูนย์จัดแสดงและนิทรรศการ KINTEX ซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้สถานที่การประชุมที่สุดแล้ว จำได้ดีว่า คนเกาหลีมีความสุขมากในสัปดาห์นั้น แต่ความสุขนั้นอยู่ได้ไม่นาน เพราะเรื่องที่สำคัญกว่าและเป็นปัญหามาทุกยุคสมัยคือปากท้องและชีวิตทางเศรษฐกิจ

นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลมุนถือได้ว่าเป็นนโยบาย ‘ฝ่ายซ้าย’ ในแบบของเกาหลีใต้ คือเน้นบทบาทของรัฐในการกำกับดูแล เน้นการควบคุมกลุ่มทุนใหญ่ ขยายการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เน้นการกระจายรายได้ สร้างความเป็นธรรม และเสริมสร้างสวัสดิการสำหรับประชาชน แต่สุดท้าย เรื่องที่เป็นปัจจัยชี้ขาดมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือภาวะว่างงาน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของเกาหลีใต้ระบุว่า ใน ค.ศ. 2018 อัตราว่างงานของคนเกาหลีใต้ในช่วงอายุ 25-34 ปีสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย 1997 โดยมีสาเหตุหลักมาจาก

(1) นโยบายเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ของท่านมุน (Income-led Growth Economy) ที่ผลักภาระให้ผู้ประกอบการต้องหาเงินมาจ่ายเงินเดือนพนักงานเพิ่ม ทุนใหญ่แม้จะได้รับผลกระทบแต่ไม่เดือดร้อนเท่ากับ Startup และ SMEs ที่หลายเจ้าไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ หลายบริษัทใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการปลดพนักงานออก

(2) สภาพแวดล้อมการทำงานในบริษัทเกาหลีที่มีชั่วโมงการทำงานมากและมีความตึงเครียด แม้รัฐบาลท่านมุนจะมีนโยบายลดชั่วโมงการทำงานเหลือ 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่หลายบริษัทพยายามหาทางหลีกเลี่ยง และ

(3) นโยบายเพิ่มตำแหน่งงานในภาครัฐ แม้จะช่วยให้มีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น แต่กระบวนการสอบเข้าทำงานนั้นมีความเข้มข้นอย่างมาก หลายคนสอบไม่ได้ เมื่อสอบไม่ได้ก็ต้องไปทำงานอย่างอื่นหรือไปเรียนหนังสือต่อในระดับปริญญาโทและเอก ซึ่งไม่มีหลักประกันใดๆ รับรองว่าเรียนแล้วจะสอบได้ จึงเกิดภาวะ ‘mismatch’ จนคนว่างงานล้นตลาด

อีกเรื่องหนึ่งที่ค้างคาใจชาวเกาหลีใต้จำนวนมากและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อยากเปลี่ยนรัฐบาลคือที่อยู่อาศัยราคาสูงขึ้นมาก ราคาอพาร์ตเมนต์สร้างใหม่ในกรุงโซลพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ รายงานของแนวร่วมประชาชนเพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (CCEJ) ระบุว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ 115,000 ยูนิตในอพาร์ตเมนต์ 75 แห่งพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 93 ตั้งแต่ท่านมุนขึ้นรับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2017 – พฤษภาคม 2021 จากประมาณ 20.61 ล้านวอน (หรือประมาณ 560,000 บาท) เป็น 39.71 ล้านวอน (หรือประมาณ 1.1 ล้านบาท) ต่อ 1 พย็อง (หน่วยวัดของเกาหลีที่มีค่าเท่ากับ 3.3 ตารางเมตร) รายงานของธนาคาร KB Kookmin ยืนยันแนวโน้มใกล้เคียงกันที่อัตราร้อยละ 75 หรืออาจกล่าวได้ว่า หากคนเกาหลีจะเป็นเจ้าของห้องขนาด 99 ตารางเมตรในอพาร์ตเมนต์อาจจะต้องใช้เวลาถึง 25 ปี แตกต่างจากการคำนวณใน ค.ศ. 2017 ที่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้เวลาประมาณ 11 ปี

วิธีที่รัฐบาลท่านมุนใช้แก้ปัญหานี้คือ ผลักดันกฎหมายควบคุมราคาค่าเช่าโดยจำกัดให้ไม่เกินร้อยละ 5 และต้องรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันให้หลักประกันแก่ผู้ถือครองเป็นเวลา 2 ปีในการต่อสัญญาออกไปได้อีก นี่อาจฟังดูดี แต่ปัญหาคือ ดูเหมือนจะมีนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นทีมงานของทำเนียบประธานาธิบดีได้ประโยชน์จากการชิงขึ้นค่าเช่าก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ นักการเมืองคนนี้ชื่อ คิม ซาง-โจ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “มือปราบแชบ็อล” ซึ่งเป็นเจ้าของอพาร์ตเมนต์ย่านคนรวยแถบชองดัมและซองดง กรณีนี้ทำให้คนเกาหลีพากันกล่าวว่า รัฐบาลท่านมุนออกกฎหมายเอื้อประโยชน์พวกพ้อง และพวกพ้องมวลมหาโคริยาชนคนดีของท่านมุนเข้ามาทำงานในรัฐบาลเพื่อกอบโกยมากกว่าสร้างความเปลี่ยนแปลง

ด้านสังคม

ในด้านสังคม ผลสืบเนื่องโดยตรงข้อแรกจากการชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงของพี่น้องมวลมหาโคริยาชนคนดีคือ ขบวนการ #Metoo และการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมและเป็นธรรมทางเพศในสังคมเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการชุมนุมที่มี ‘ผู้หญิง’ เข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้จนถึงขณะนี้

ท่านมุนผู้มีความตั้งใจดีเพื่อสังคมเกาหลีขานรับวาระนี้ทันที ท่านกล่าวในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม ค.ศ. 2018 ว่า ขบวนการ #Metoo จะพาสังคมของเราไปสู่ความตระหนักในความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิสตรี เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนมากขึ้น ท่านยังกล่าวอีกว่า ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติทางเพศทำลายประชาธิปไตยและความเป็นชุมชนของสังคมเกาหลี เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะต้องแก้ไข ซึ่งรัฐบาลท่านมุนจริงจังกับเรื่องนี้มาก มีมาตรการตามมาหลายเรื่อง เช่น การผลักดันกฎหมายเพิ่มโทษผู้ติดตั้งกล่องแอบถ่ายในที่สาธารณะ การควบคุมเนื้อหาเกมที่ส่อถึงประเด็นอ่อนไหวทางเพศ เป็นต้น อย่างไรก็ดี มีเสียงสะท้อนจาก ‘ผู้ชาย’ หลายคนว่า นโยบายของรัฐบาลมุนที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและลดการเลือกปฏิบัติทางเพศนี้ อาจเป็นการเลือกปฏิบัติในทางกลับกัน (reverse discrimination) ที่อาจกีดกันและจำกัดสิทธิของผู้ชายได้ ซึ่งน่าคิดเหมือนกันว่า ในสังคมที่ ‘ชายเป็นใหญ่’ อยู่แล้วอย่างสังคมเกาหลีใต้ ข้อโต้แย้งที่ว่านี้ฟังขึ้นหรือไม่

นักการเมืองที่สังกัดฝ่าย ‘ก้าวหน้า’ ในเกาหลีใต้มักแสดงตนหรือทำให้คนมีภาพจำว่าเป็น ‘คนดี’ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูป บริสุทธิ์ผ่องใสไม่มีตำหนิ ในช่วง 20 สัปดาห์ของการชุมนุมดวงเทียนจรัสแสง ผู้เขียนได้ฟังได้เห็นแกนนำการชุมนุมยกย่องนักการเมืองฝ่ายนี้ว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม (อย่างน้อยก็มากกว่านักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมแบบปัก กึน-ฮเย ที่เปิดโอกาสให้เพื่อนร่างทรงเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หรือคนแบบอี มยอง-บัก ที่เป็นนักธุรกิจการเมือง ใช้การเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการกำหนดนโยบาย)

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความขุ่นที่ซ่อนไว้ข้างในของฝ่ายก้าวหน้าก็ค่อยๆ เปิดเผยออกมา เริ่มตั้งแต่ดาวเด่นที่อาจจะเป็นถึงว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อมาอย่าง อัน ฮี-จ็อง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชุงช็องใต้ ผู้ได้รับฉายา “โอบามาแห่งเกาหลีใต้” ที่ยอมรับต่อศาลว่าได้ล่วงละเมิดทางเพศเลขานุการของเขาถึง 4 ครั้งระหว่างเดือนมิถุนายน 2017 – กุมภาพันธ์ 2018 เขาลงมืออีกครั้งในเย็นวันที่ประกาศสนับสนุนขบวนการ #Metoo เป็นเหตุให้ผู้เสียหายตัดสินใจติดต่อสถานีโทรทัศน์ JTBC เพื่อเปิดเผยข้อมูลท่ามกลางความกังวลอย่างมากว่าจะถูกโจมตีหรือไม่ เนื่องจากอันเป็นนักการเมืองขวัญใจพี่น้องมวลมหาโคริยาชนคนดี

หัวขบวนมวลมหาโคริยาชนคนดีอีกคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้อันคือ โช กุก ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลที่ท่านมุนแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้คำมั่นของท่านมุนในวันรับตำแหน่งที่ว่าจะสร้างสังคมเกาหลีที่เท่าเทียมเป็นธรรมเกิดขึ้นได้จริง และคนนี้แหละคือคนที่ประธานาธิบดียุนต้องการตรวจสอบในสมัยที่ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดจนทะเลาะกับท่านมุนและยื่นขอลาออกในที่สุด ปัญหาของอาจารย์โชมีหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องลูกสาวที่มีชื่อเป็นผู้เขียนร่วมในบทความวิชาการด้านการแพทย์ในขณะที่ยังเรียนอยู่ในโรงเรียนนานาชาติ ภรรยาของอาจารย์โชที่เป็นอาจารย์ด้วยเช่นกันถูกจับข้อหาปลอมแปลงเอกสารว่าลูกสาวของเธอได้รับการสนับสนุนจากทำเนียบประธานาธิบดีให้มาศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งในปูซาน ส่วนตัวเธอเองก็มีประเด็นการลงทุนในหุ้นนอกตลาดที่อาจไม่โปร่งใสนัก

อาจารย์โชทำงานได้ 35 วันต้องลาออก เพราะทนแรงกดดันจากฝ่ายค้านไม่ไหว แกถึงกับยอมรับเองว่า ไม่นึกว่าประชาชน (ที่คิดไม่เหมือนแก) จะมีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงกว่าที่คิด ผลที่ตามมาคือ พี่น้องมวลมหาโคริยาชนคนดีบอกว่าอาจารย์โชถูก ‘อัยการการเมือง’ (ที่ต่อมาเป็นประธานาธิบดีและคนสนิทของเขา) กลั่นแกล้ง จึงออกมารวมตัวกันชุมนุมที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อเรียกร้อง ‘ปฏิรูปอัยการ’ ซึ่งท่านมุนเองยังเคยพูดเลยว่า น่าเสียดายมาก ท่านอยากเห็นการรวมพลังอันเยี่ยมยอดระหว่างยุนกับโช แต่สุดท้ายเป็นได้แค่ความฝันเท่านั้น

ความพยายามครั้งสุดท้าย

ระหว่างที่ต่อการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายก้าวหน้าดำเนินไปอย่างเข้มข้นนั้น ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาเรื่องหนึ่งนั่นคือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ที่ ‘พลิกผัน (disrupt)’ ทั้งการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองภายในจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เกาหลีใต้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่จัดการปัญหานี้ได้ดีที่สุด แม้ช่วงแรกจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูง แต่เมื่อตั้งหลักได้แล้วก็ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วตามสไตล์เกาหลี รัฐบาลเรียกแนวทางนี้ว่า K-Quarantine ที่ประกอบด้วย 2 ส่วน

ส่วนแรกคือแนวทางการจัดการสถานการณ์ตาม 3 Ts ได้แก่ การวินิจฉัยยืนยันผู้ติดเชื้อ (Test) การตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (Trace) และการเยียวยารักษา (Treat) ซึ่งใช้ประโยชน์จากระบบดิจิทัลและการตรวจแบบ drive-thru ที่เข้าถึงง่ายและสะดวก

ส่วนที่สองคือ การส่งมอบเครื่องอุปโภคและบริโภคแบรนด์เกาหลี อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กิมจิ หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ ไปให้ทหารผ่านศึกและครอบครัวทั่วโลก สถานเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทยยังมีการส่งอาหารกล่องเกาหลีให้แก่ข้าราชการบางหน่วยงานและร่วมกิจกรรม ‘ตู้ปันสุข’ ที่บริเวณหน้าอาคารศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีด้วย ผลสืบเนื่องโดยตรงจากการจัดการที่ยอดเยี่ยมนี้ทำให้พรรคฝ่ายรัฐบาลได้รับคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนเมษายน 2020 ด้วย

อย่างไรก็ดี สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ยืดเยื้อไม่จบสิ้น ราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้น ปัญหาคนว่างงาน ตลอดจนข่าวลือต่างๆ เกี่ยวกับนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลส่งผลโดยตรงต่อคะแนนนิยมของท่านมุนที่ลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ค.ศ. 2019 และนักการเมืองเก่งๆ ของฝ่ายนี้ก็ค่อยๆ หายไปจากหน้าจอทีละคน ถัดจากอันก็เป็นท่านนายกเทศมนตรีกรุงโซล ปัก วอน-ซุน ผู้ที่คาดกันว่ามีบารมีและความสามารถเพียงพอจะขึ้นมาแทนท่านมุนได้ แต่น่าเสียดายว่า ท่านเป็นอีกคนที่มีรายงานว่าไปล่วงละเมิดทางเพศและใช้วาจาต่อเลขานุการอย่างไม่เหมาะสม โดยท่านเลือกจบปัญหานี้ด้วยชีวิตของท่านเอง

ตามขนบของเกาหลีใต้แล้ว เมื่อผู้ถูกกล่าวหาจบชีวิต คดีก็จะจบไปด้วย แน่นอนว่า ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างของสังคมเกาหลีที่ผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่ ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องเคารพหัวหน้าที่อยู่สูงขึ้นไป และผู้ชายมีโอกาสและความได้เปรียบมากกว่าผู้หญิง เมื่อโครงสร้างเปิดโอกาสพร้อมกับมีอำนาจอยู่ในมือ ผู้กระทำมีแนวโน้มที่จะขาดความยับยั้งชั่งใจ ขณะที่ผู้เสียหายเองก็กังวลว่าสังคมจะไม่ยอมรับ ซึ่งโชคดีอย่างหนึ่งของสังคมเกาหลีคือเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วจนมีคำภาษาเกาหลีเรียกว่า ‘แนมบี คึนซอง (냄비 근성)’ ที่หมายถึง อารมณ์ของสังคมเกาหลีสามารถขึ้นลงได้อย่างรวดเร็วเหมือนฝาหม้อทองเหลืองที่ใช้ต้มรามย็อน ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศก็เช่นเดียวกัน ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อความตระหนักของปัญหามีมากขึ้น สังคมเกาหลีจะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง บางเรื่องอาจต้องใช้เวลามากหน่อยเท่านั้น โชคดีที่ท่านประธานาธิบดีในฐานะองค์ประมุขของรัฐไม่ปกป้องคนผิด

เมื่อปัญหาทั้งหลายพากันมาประชุมในเงื่อนไขทางเวลาและสถานที่เดียวกัน จึงเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลของท่านมุนถึงขีดจำกัด ผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงโซลและเมืองปูซานที่พรรคฝ่ายค้านได้รับชัยชนะในเดือนเมษายน 2021 อาจเป็นสัญญาณบางอย่างว่าถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนรัฐบาล ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของรัฐบาล ท่านมุนพยายามอย่างเต็มที่ในการจบยุคสมัยของท่าน โดยทุ่มเททรัพยากรที่มีไปกับการผลักดันการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ แต่ไม่สำเร็จ และถึงต่อให้สำเร็จก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าคาบสมุทรเกาหลีจะมีสันติภาพนิรันดร์

สำหรับการเมืองภายในประเทศ ท่านมุนประกาศอภัยโทษนางสาวปัก กึน-ฮเย โดยอ้างเหตุผลเรื่องสุขภาพของเธอและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ทำไปเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองกับฝ่ายอนุรักษนิยมมากกว่าจะเป็นตามที่ว่า

ในด้านสังคม ประเด็นใหญ่ที่อาจเป็นวิวาทะทางสังคมสุดท้ายในรัฐบาลท่านมุนคือ การพัฒนาระบบช่วยเหลือผู้พิการ ซึ่งกลุ่มผู้พิการจัดชุมนุมขวางทางสัญจรในบริเวณรถไฟฟ้าและสถานี ท่านมุนกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสวันผู้พิการว่า เราควรโทษตัวเองที่ไม่ใส่ใจกลุ่มผู้พิการอย่างดีพอ โลกของคนพิการกับไม่พิการอาจต่างกัน แต่เราอยู่ด้วยกัน เราจึงควรสร้างโลกใหม่ที่รอผู้คนที่อาจจะก้าวอย่างช้าๆ บ้าง แต่ปรากฏว่าเสียงตอบรับไม่ค่อยดีนัก มีคนพูดทำนองว่า ท่านอยู่มาตั้งนานทำไมไม่ทำ มัว “ดีแต่พูด”…

เพราะการเมืองเป็นเรื่องการบริหารความคาดหวัง เมื่อความคาดหวังเปลี่ยน การเมืองก็เปลี่ยน ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่า สังคมเกาหลียังมีภาวะแบ่งแยกอยู่อีกมาก ด้วยคะแนนที่ห่างกันระหว่างผู้สมัครสองฝ่ายที่มีคะแนนนำเพียงร้อยละ 0.73 แปลว่า มีความเสี่ยงที่รัฐบาลใหม่อาจจะไม่ได้อยู่ครบ 5 ปี

ในเดือนเมษายนหลังจากผลการเลือกตั้งออกมา พี่น้องมวลมหาโคริยาชนคนดีจำนวนหนึ่งออกมาเดินขบวนและเตือนให้ประธานาธิบดีคนใหม่ระวังตัวไว้ พี่ๆ เขาจับตาอยู่…

หากบทความนี้จะมีคุณงามความดีประการใด ผู้เขียนขออุทิศแทน ‘คำขอบคุณ’ แด่ท่านประธานาธิบดีและรัฐบาลของท่าน เพราะช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตของผู้เขียนคือการเป็นนักศึกษาปริญญาโทในสาธารณรัฐที่ 19 ที่มีประธานาธิบดีชื่อ มุน แช-อิน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save