fbpx
มีอะไรใหม่ในโลกการเงินกระจายศูนย์ (Decentralized Finance)

มีอะไรใหม่ในโลกการเงินกระจายศูนย์ (Decentralized Finance)

ในโลกใบเก่าที่เราคุ้นชิน ธุรกรรมทางการเงินทั้งฝาก ถอน โอน จ่าย หรือการขอสินเชื่อถูกรวมศูนย์อยู่ในมือสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่นเดียวกับนโยบายการเงินที่มีผู้ตัดสินใจเพียงลำพังคือธนาคารกลาง แต่ความจริงดังกล่าวกำลังถูกสั่นคลอนจากการถือกำเนิดของการเงินกระจายศูนย์ (Decentralized Finance) หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อ ‘ดีไฟ’ (DeFi) ที่ใช้เทคโนโลยียุคใหม่อย่างบล็อกเชน (blockchain) กระจายอำนาจการตัดสินใจและกำลังในการประมวลผลจากองค์กรยักษ์ใหญ่สู่ประชาชนรายย่อย

คนจำนวนไม่น้อยรู้จักโลกของดีไฟแบบฉาบฉวย เรียนรู้ชื่อสารพัดสกุลเงินเข้ารหัส (cryptocurrency) โดยมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือเก็งกำไรหรือหาผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดแห่งอื่น ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชวนมองข้ามความหวือหวาเพื่อมองหา ‘นวัตกรรม’ จากโลกดีไฟ แต่ก่อนที่จะกระโดดเข้าไปสู่โลกใหม่ที่ประกอบสร้างจากศัพท์แสงแปลกแปร่ง ผมขออธิบายความรู้พื้นฐานในโลกของสกุลเงินเข้ารหัสเสียก่อน

เรื่องต้องรู้ก่อนเข้าสู่โลกดีไฟ

ผมเชื่อว่าตอนนี้ไม่มีใครไม่รู้จักบิตคอยน์ (Bitcoin) สกุลเงินเข้ารหัสยุคแรกเริ่มที่ยังคงครองอันดับหนึ่งจวบจนปัจจุบัน นอกจากบิตคอยน์แล้ว สกุลเงินเข้ารหัสที่ซื้อขายกันยังมีจำนวนนับไม่ถ้วน อาทิ อีเธอเรียม (Ethereum) ไลท์คอยน์ (Litecoin) คาร์ดาโน (Cardano) โมเนโร (Monero) และไบแนนซ์คอยน์ (Binance Coin) แต่ไม่ว่าสกุลเงินใด ทั้งหมดต่างใช้โครงสร้างพื้นฐานเดียวกันนั่นคือบล็อกเชน

บล็อกเชนเป็นระบบการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลรูปแบบใหม่ โดยทุกคนที่อยู่ในระบบจะสามารถทำหน้าที่ประมวลผล ช่วยกันตรวจสอบธุรกรรมโดยการแก้ไขโจทย์คณิตศาสตร์ ยืนยันการทำธุรกรรม และเก็บข้อมูลในรูปแบบ ‘บล็อก’ ซึ่งทุกคนเข้าถึงได้แล้วนำมาต่อกันเป็นห่วงโซ่ ดังนั้นการแก้ไขข้อมูลในระบบบล็อกเชนจึงยากมาก เพราะต้องเอาชนะกำลังประมวลผลครึ่งหนึ่งที่มีอยู่ในระบบเพื่อปรับแต่งฐานข้อมูลขนาดยักษ์ตั้งแต่วันแรกของการทำธุรกรรม

นวัตกรรมดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนประตูสู่โลกใบใหม่ที่ ‘กระจายศูนย์’ แตกต่างจากในอดีตที่ระบบประมวลผลมักจะต้องรวมศูนย์อยู่แห่งเดียว

สกุลเงินเข้ารหัสยอดนิยมอย่างบิตคอยน์และอีเธอเรียมนั้นไม่มีองค์กรใดกำกับดูแล การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ของเหล่านักประมวลผล แต่ด้วยการตัดสินใจที่นับวันจะยิ่งซับซ้อนยุ่งยาก เหล่าผู้ประมวลผลจึงจับกลุ่มจัดตั้งองค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ (decentralized autonomous organizations) หรือ DAOs องค์กรดังกล่าวเปรียบเสมือนองค์กรไร้หัวในอุดมคติ ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกว่าใครในการตัดสินใจ โดยสมาชิกทุกคนจะต้องร่วมโหวตเพื่อหาฉันทามติก่อนการดำเนินธุรกรรม

DAO แห่งแรกจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2559 โดยกลุ่มผู้ใช้งานอีเธอเรียม โดยมีจุดประสงค์เสมือนกองทุนร่วมทุน (venture-capital fund) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานนำเสนอโครงการเพื่อรับทุนสนับสนุนหากเสียงส่วนใหญ่ใน DAO เห็นพ้องต้องกัน องค์กรดังกล่าวสามารถระดมทุนได้เกือบ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ผ่านไปเพียงสองเดือนก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อแฮกเกอร์ฉวยโอกาสจากปัญหาในโคดแล้วขโมยอีเธอเรียมมูลค่ากว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐออกจาก DAO

ถึงแม้จุดจบขององค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์แห่งแรกจะไม่สวยหรู แต่ DAO ก็ยังได้รับความนิยมจวบจนปัจจุบันโดยเฉพาะในโลกของดีไฟ          

นวัตกรรมจากโลกการเงินกระจายศูนย์

โอกาสเติบโตของการเงินกระจายศูนย์เกิดจากปัญหาที่หมักหมมในระบบรวมศูนย์รูปแบบเดิม แน่นอนครับว่าระบบชำระเงินแบบรวมศูนย์ที่จัดการโดยองค์กรซึ่งทุกคนให้ความเชื่อถือ เช่น ธนาคารกลาง ย่อมมีต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่การรวมอำนาจก็อาจกลายเป็นกำแพงที่กีดกันการแข่งขัน เอื้อประโยชน์ผ่านสายสัมพันธ์ส่วนบุคคล และฉวยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเองและพวกพ้องผ่านอำนาจเหนือตลาด

ขณะที่การเงินกระจายศูนย์ได้นำเสนอทางเลือกที่สดใหม่ผ่านการทำงานร่วมกันของทุกคนในเครือข่าย มีความโปร่งใส และค่อนข้างมีประสิทธิภาพ โดยการเปลี่ยนศูนย์รวมความเชื่อใจจากองค์กรใดองค์กรหนึ่งมาสู่ ‘ระบบ’ ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วม

ก้าวแรกสำหรับมือใหม่ที่อยากรู้จักโลกของดีไฟคือการสร้างกระเป๋าสตางค์เพื่อเก็บสกุลเงินเข้ารหัส โดยอาจจะเป็นกระเป๋าสตางค์ที่จัดการแบบรวมศูนย์อย่าง Coinbase ที่มีผู้ให้บริการคอยแก้ไขปัญหาลืมพาสเวิร์ดอย่างที่เราคุ้นเคยกันดี แต่ก็เสี่ยงที่ฐานข้อมูลจะถูกแฮก หรืออาจจะเป็นกระเป๋าสตางค์ที่เราต้องรับผิดชอบชีวิตและทรัพย์สินของตัวเองอย่าง MetaMask ที่หากทำพาสเวิร์ดหาย ก็โบกมือลาทรัพย์สินที่เก็บเอาไว้ได้เลย โดยเราอาจจะบอกได้ว่ากระเป๋าสตางค์ก็เปรียบเสมือนตัวตนของเราในโลกดีไฟ

หลังทำความเข้าใจตรงนี้แล้ว ก็ถึงเวลามาเยี่ยมชม ‘นวัตกรรม’ ที่โดดเด่นในโลกการเงินกระจายศูนย์กันได้เลย

ในอดีตที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ในแวดวงสกุลเงินเข้ารหัสก็มักจะหนีไม่พ้นเงินหายหรือการโดนแฮก เช่นในกรณีบริษัท Mt. Gox กระดานคริปโตฯ ยักษ์ใหญ่ที่บิตคอยน์มูลค่ากว่า 620 ล้านดอลลาร์สหรัฐถูกขโมยไปจากบัญชีลูกค้า เหล่านวัตกรจึงพยายามคิดค้นทางออกที่จะไม่ต้องฝากสินทรัพย์ทั้งหมดไว้กับกระดานซื้อขาย เกิดเป็นนวัตกรรมแรกที่ถือเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของโลกดีไฟคือกระดานซื้อขายแบบกระจายศูนย์ (decentralized exchanges) เช่น UniSwap โดยสินทรัพย์ทั้งหมดยังอยู่ในมือเจ้าของ ส่วนกระดานมีหน้าที่จับคู่แลกเปลี่ยนด้วยสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) เท่านั้น

นวัตกรรมอย่างที่สองคือการสร้างเหรียญเสถียร (stablecoin) ที่มูลค่าจะผูกติดกับสกุลเงินหลักอย่างดอลลาร์สหรัฐ หรือสกุลเงินอื่นๆ เพื่อใช้ในการทำธุรกรรมหรือเป็นพื้นฐานในการทำสัญญาทางการเงิน นับเป็นความพยายามลบคำสบประมาทว่าสกุลเงินเข้ารหัสมีความผันผวนสูง

แน่นอนครับว่าการสร้างเหรียญเสถียรไม่ใช่เรื่องง่าย แนวทางแรกเริ่มในการแก้ไขปัญหาคือการสำรองหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น เงินสด ทองคำ หรือตราสารหนี้ ที่มีมูลค่าเท่ากันในการพิมพ์เหรียญเข้าสู่ระบบ เช่นสกุลเงิน USDT ที่ดำเนินการโดยบริษัท Tether อย่างไรก็ดี บริษัทดังกล่าวถูกปรับเป็นมูลค่า 18.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อถูกเปิดโปงว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้นไม่ได้มีมากเท่าที่บริษัทกล่าวอ้าง

อีกแนวทางหนึ่งคือการสร้างเหรียญเสถียรโดยที่หลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งหมดอยู่บนบล็อกเชนซึ่งโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่สินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่อยู่บนบล็อกเชนไม่ว่าจะเป็นบิตคอยน์หรืออีเธอเรียมต่างก็ผันผวนสูง โปรแกรมเมอร์จึงริเริ่มโครงการ MakerDAO เพื่อสร้างสกุลเงิน DAI ที่จะผลิตเหรียญเสถียรที่มีมูลค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ระบบก็ต่อเมื่อผู้ใช้งานนำสกุลเงินเข้ารหัสอื่นๆ มา ‘ล็อก’ ไว้ ซึ่งเปรียบเสมือนหลักทรัพย์ค้ำประกัน ระบบดังกล่าวดำเนินการโดยสัญญาอัจฉริยะที่จะจัดการอุปสงค์และอุปทานในระบบแบบอัตโนมัติผ่านการซื้อและขายหลักทรัพย์ค้ำประกันรวมทั้งสกุลเงิน DAI เพื่อรักษาระดับราคาของเหรียญ DAI ให้ใกล้เคียงกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ

DAI ถือว่ามีมูลค่าเสถียรอย่างยิ่ง แม้ว่าจะเคยเกิดข้อผิดพลาดจนทำให้มูลค่าร่วงลงไปกว่า 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อ พ.ศ. 2563 แต่ปัญหาดังกล่าวได้ถูกแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันเหรียญ DAI ที่อยู่ในระบบมีมูลค่าร่วม 10.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นวัตกรรมสุดท้ายในโลกการเงินกระจายศูนย์คือกลไกการกู้ยืมเงินโดยไร้ตัวกลาง โดยที่ผู้กู้และผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องรู้จักตัวตนซึ่งกันและกัน ไม่ต้องมีการประเมินความน่าเชื่อถือ แต่ต้องวางหลักประกันเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น สกุลเงิน DAI เพื่อยืมเงินดิจิทัลสกุลอื่นโดยมีสัญญาอัจฉริยะเป็นเครื่องมือกำกับดูแล ในกรณีที่หลักทรัพย์ค้ำประกันมีมูลค่าลดลงเกินกว่าที่กำหนดไว้ ระบบก็จะดำเนินการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวและปิดสัญญาการกู้ยืมเงินโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ การกู้ยืมดังกล่าวยังเป็นช่องทางการทำกำไรโดยไร้ความเสี่ยงผ่านธุรกรรมสินเชื่อความเร็วสูง (flash loans) ซึ่งเป็นการกู้ยืมเงินในช่วงระยะเวลาไม่กี่วินาที โดยผู้ทำธุรกรรมจะมองหาสกุลเงินเข้ารหัสจากตลาดซื้อขายแห่งอื่นซึ่งราคาถูกกว่ามาชำระหนี้ เช่น กู้บิตคอยน์จากแพลตฟอร์ม A ในราคาหน่วยละ 100,000 บาท แต่ซื้อบิตคอยน์จากแพลตฟอร์ม B ในราคาหน่วยละ 105,000 บาทเพื่อนำไปคืน แล้วเก็บส่วนต่างหลังจากหักค่าธรรมเนียมเข้ากระเป๋า ธุรกรรมเช่นนี้นับเป็นกลไกที่ช่วยให้ตลาดแลกเปลี่ยนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ทั้งสามนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งที่น่าจับตาว่าในอนาคตจะเติบโตจนสามารถ ‘งัดข้อ’ กับระบบการเงินรวมศูนย์ซึ่งเป็นระบบหลักในปัจจุบันได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ดีไฟยังมีความท้าทายหลายประการที่ต้องฟันฝ่าก่อนที่ฝันจะกลายเป็นความจริง

ความท้าทายของการเงินกระจายศูนย์

แม้ว่าทุกอย่างจะฟังดูดีบนหน้ากระดาษ แต่หากคิดอย่างละเอียดลออ เราจะเห็นว่าปัญหาสำคัญของโลกการเงินกระจายศูนย์คือสินทรัพย์ทุกอย่างจะต้องถูกแปรรูปให้เป็น ‘ดิจิทัล’ ดังนั้นการซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือการนำสินทรัพย์มาค้ำประกันจึงจำกัดเฉพาะสินทรัพย์ที่อยู่บนโครงข่ายเท่านั้น

ที่ผ่านมามีการริเริ่มสร้างเหรียญแสดงสิทธิในชื่อว่า ‘เหรียญที่ไม่สามารถทดแทนได้’ (non-fungible tokens – NFT) โดยเหรียญแต่ละเหรียญจะเปรียบเสมือนใบแสดงสิทธิในสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ เพลง คลิปวีดีโอ หรือแม้แต่โพสต์บนโซเชียลมีเดีย หากจะพูดให้เห็นภาพ NFT ก็เหมือนโฉนดที่ระบุว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินบนพื้นผิวโลก

ความท้าทายสำคัญคือจะทำอย่างไรให้โลกออนไลน์เชื่อมต่อกับสินทรัพย์มูลค่ามหาศาลในโลกออฟไลน์แบบไร้รอยต่อ ซึ่งอาจนำไปสู่การรื้อโครงสร้างกฎเกณฑ์กำกับดูแลภาคการเงินรวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาให้รับรองสิทธิในสินทรัพย์ ไม่ว่าเอกสารรับรองนั้นจะถูกเก็บรวบรวมไว้โดยระบบประมวลผลส่วนกลาง เช่น รัฐบาล หรือเป็นเพียงโคดคอมพิวเตอร์ก็ตาม

อีกหนึ่งความท้าทายที่ไม่ควรมองข้ามคือกลไกการประมวลผลอย่าง Proof of Work ที่ใช้พลังงานสูงลิ่วและเปรียบเสมือนเพดานที่จำกัดให้บิตคอยน์ประมวลผลได้เพียง 7 ธุรกรรมต่อวินาที นักพัฒนาจึงต้องมองหาทางเลือกใหม่อย่าง Proof of Stake ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแลกกับข้อเสีย โดยระบบจะให้รางวัลกลุ่มคนที่ถือสกุลเงินเข้ารหัสไว้กับตัวมากที่สุด แต่แน่นอนว่านี่ย่อมไม่ใช่ทางเลือกสุดท้าย เพราะเหล่านักพัฒนาก็ยังมองหาทางออกอื่นๆ ที่มีความสมดุลระหว่างความปลอดภัย การหมุนเวียนของเงินในระบบ และการใช้พลังงานต่อหนึ่งธุรกรรม

แม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมการเงินกระจายศูนย์ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวและเต็มไปด้วยปัญหา แต่อย่าลืมว่าแวดวงดังกล่าวเพิ่งเริ่มต้นมาไม่ถึงทศวรรษเสียด้วยซ้ำ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรหากนวัตกรรมนี้จะยังต้องพัฒนาอีกมาก หากกระแสดีไฟไม่ใช่เรื่องชั่วครั้งชั่วคราว เราคงจึงต้องจับตาว่าในอนาคต โลกใบใหม่ที่ ‘กระจายศูนย์’ จะสามารถเข้ามาแทนการเงินแบบรวมศูนย์ได้หรือไม่ และจะ ‘ประนีประนอม’ กับสถาบันการเงินดั้งเดิมอย่างไร


เอกสารประกอบการเขียน

Adventures in DeFi-land

What are DAOs, or decentralised autonomous organisations?

Decentralised finance is booming, but it has yet to find its purpose

Can bitcoin be bettered?

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save