fbpx

ข้างหลังภาพของสี่แผ่นดิน นิยายแห่งยุคสมัย

ปีนี้ถือว่าครบรอบ 110 ปี ชาตกาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มนุษย์สัญชาติไทยผู้มีประวัติและผลงานอันโลดโผน งานเขียนของเขามีอยู่มากมาย แต่ที่เป็นที่ประทับอยู่กับสังคมไทยร่วมสมัยคงไม่พ้นจะกล่าวถึงนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน หากนับว่าปี 2494 เป็นปีที่เขาเริ่มเขียนลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐก็นับได้ว่าครบรอบ 70 กำเนิดวรรณกรรมคลาสสิกฉบับนี้ด้วย

ก่อนสี่แผ่นดินจะโด่งดังกว่าสิบปี ข้างหลังภาพเป็นอีกนิยายขายดีในยุคเฟื่องฟูของประชาธิปไตยไทย หลายคนลงความเห็นว่ามันเป็นนิยายที่สะท้อนความเสื่อมโทรมของสถาบันศักดินาผ่านตัวละครที่ชื่อ ‘หม่อมราชวงศ์กีรติ’ จุดร่วมกันของนิยายข้างหลังภาพและสี่แผ่นดินก็คือ ต่างก็มีความสัมพันธ์กับการปฏิวัติสยาม 2475 ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และทั้งคู่เป็นหนังสือขายดี และกลายเป็นวรรณกรรมที่ถูกผลิตซ้ำในยุคหลัง ข้างหลังภาพถูกตีพิมพ์อย่างน้อย 46 ครั้ง หากนับถึงปี 2555 ขณะที่สี่แผ่นดินตีพิมพ์ถึงอย่างน้อย 16 ครั้ง หากนับถึงฉบับปี 2557 ด้วยขนาดของบทประพันธ์ทำให้ข้างหลังภาพถูกทำเป็นหนังมากกว่าละครโทรทัศน์ ขณะที่สี่แผ่นดินถูกทำเป็นละครโทรทัศน์มากกว่าหนัง  

สำหรับวัฒนธรรมร่วมสมัย ทั้งคู่ถูกเลือกไปเป็นละครเวทีที่สร้างโดยบริษัทซีนาริโอ ข้างหลังภาพถูกทำให้กลายเป็นนิยายพาฝันที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ความรักและโศกนาฏกรรมที่ผู้สร้างพยายามนำไปเล่นถึงสหรัฐอเมริกาในชื่อ Waterfall[1] ขณะที่สี่แผ่นดิน กลายเป็นละครเวทีที่มีรอบเล่นกว่าร้อยรอบ มีนัยทางการเมืองสูงและจงใจสื่อสารข้อความสู่สาธารณะอย่างไม่ปิดบังในยุคทองของฝ่ายจงรักภักดีต่อกษัตริย์

ข้างหลังภาพและสี่แผ่นดิน

ข้างหลังภาพโดยศรีบูรพา เป็นตัวแทนวรรณกรรมของยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง การตีพิมพ์ลงประชาชาติตั้งแต่ปี 2479-2480 นับเป็นรุ่งอรุณสมัยแห่งการปฏิวัติสยาม หากมองด้วยสายตาของฝ่ายซ้าย การปฏิวัติดังกล่าวเป็นการปฏิวัติของพวกกระฎุมพี เฉดของความรักในข้างหลังภาพก็มิได้พ้นไปจากข้อกล่าวหานี้ นั่นคือ เป็นการประกาศถึงเสรีภาพที่จะรักของคนหนุ่มอย่างนพพร แม้ว่าคู่รักจะสูงศักดิ์กว่า สูงวัยกว่า ทั้งยังเป็นการละเมิดศีลธรรมข้อ 3 ด้วย เพราะ ม.ร.ว.กีรติแต่งงานแล้ว และนพพรเองก็มีคู่หมั้นอยู่ก่อน ความรักเช่นนี้ไม่เพียงผิดมาตรฐานของคนในระบอบเก่า แต่ยังเป็นความรักที่ต้องห้ามในยุคสมัยนั้นด้วย 

เสียงของข้างหลังภาพ ถูกควบคุมด้วยการเล่าของนพพรทั้งหมด ห้วงคำนึงในอดีตที่ระบายความสุขสมหวัง ขมขื่น โศกเศร้า จนมาถึงความชินชาในปัจจุบัน ล้วนเป็นสิ่งที่นพพรพิพากษาคุณหญิงกีรติไปแล้ว เสียงที่มาจากหญิงสาวมีเพียงจดหมาย และข้อความสุดท้ายในชีวิตของเธอที่รู้จักกันดีว่า “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก” 

กีรติคือผู้หญิงที่สวยที่สุดในลูกสาวทั้งหมดของหม่อมเจ้า แต่ไม่อาจมีความรักเยี่ยงหญิงสาวและแต่งงานไปตามวัย เฉกเช่นน้องสาวของเธอ บ้านพ่อของเธอคือกรงขัง คือความน่าเบื่อหน่าย การแต่งงานกับชายสูงวัยกว่าที่ผ่านการสมรสมาแล้ว ย่อมหมายถึงการแสวงหาอิสรภาพจากกรงขังเดิม อย่างที่รู้กัน ความโหยหาดังกล่าวปรากฏผ่านคำชมนพพรว่าเป็น “โคลัมบัสของฉัน”

เมื่อพูดถึงกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะร่างจริงของผู้เขียน เขาเคยไปดูงานหนังสือพิมพ์ถึงญี่ปุ่นในปี 2479 ต้องเข้าใจก่อนว่า ช่วงนั้นญี่ปุ่นกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาของไทย ในฐานะชาติมหาอำนาจหนึ่งเดียวของเอเชีย ข้างหลังภาพก็เป็นหนึ่งในผลงานที่เขาผลิตหลังจากกลับมา[2] ข้างหลังภาพไม่ได้ระบุถึง พ.ศ.ใดๆ ที่จะทำให้เรารู้ว่าเรื่องเกิดขึ้นอย่างชัดๆ ในปีไหน ต้องอาศัยการคาดเดาเอา หากนับว่าปัจจุบันของเรื่องคือปีที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2479-2480 คราวที่นพพรกับกีรติพบกันช่วง 6 ปีก่อนก็น่าจะอยู่ในช่วงรอยต่อปี 2473-2474 หรืออาจจะเลยมาถึงปี 2475 ขณะที่นพพรไปเรียนที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้วถึง 2 ปี ที่น่าสังเกตก็คือในตัวบททั้งหมด กุหลาบไม่ได้พูดถึงเรื่องปฏิวัติสยามเลย นั่นหมายถึงอะไรได้บ้าง เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญที่ใครๆ ก็รู้กันอยู่แล้ว หรือว่าเป็นสิ่งที่เขาไม่ต้องการจะพูดถึง

ทั้งที่ตั้งแต่ปี 2475-2480 เป็น 5 ปีที่เต็มไปด้วยความเข้มข้นทางการเมือง ไม่ว่าจะกรณีสมุดปกเหลือง การปิดสภาและระงับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในปี 2476 เขาในฐานะบรรณาธิการได้เขียนคัดค้านจนทำให้หนังสือพิมพ์ประชาชาติถูกสั่งปิด จากเหตุดังกล่าวทำให้รัฐบาลถูกรัฐประหาร และเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีจากคนในระบอบเก่ามาเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงจนเกิดกบฏบวรเดชในปีเดียวกัน ความพ่ายแพ้ของฝ่ายเจ้านำไปสู่การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ในปี 2477 ความเงียบในนิยายของกุหลาบได้บอกอะไรแก่เราหรือไม่  

ความรักอันร้อนแรงของคนหนุ่มที่คนที่รักเขาเห็นว่า เขาไม่ได้เข้าใจอะไรเธอเลย อาจคล้ายกับการที่ฝ่ายซ้ายมองความรักของพวกกระฎุมพีเสรีนิยมว่า เป็นความรักของปัจเจกที่ไม่นำไปสู่อะไร ข้างหลังภาพ แม้จะชี้ให้เห็นถึงการปิดฉากของชีวิตและค่านิยมแบบก่อน 2475 แต่กลับมีคำถามว่า เสรีภาพดังกล่าวมีคุณค่าอย่างที่ควรเป็นจริงหรือ ในเมื่อนพพรก็กลับไปมีชีวิตอยู่ในระบบและแต่งงานกับคู่หมั้นหมายที่ถูกคลุมชนมาตั้งแต่ต้น

สิ่งเหล่านี้ถือว่าขัดแย้งกับงานชิ้นเยี่ยมของเขาในนาม จนกว่าเราจะพบกันอีก ในปี 2493 ที่นำเสนอความรักที่กว้างไปกว่าชาย-หญิง นั่นคือความรักต่อมนุษยชาติ ครั้งนี้ศรีบูรพาได้รับอิทธิพลจากการเดินทางไปศึกษาวิชาการเมืองที่ออสเตรเลีย เมื่อปี 2490-2492[3] จะเห็นว่าญี่ปุ่นและออสเตรเลียกลายเป็นฉากหลังของนิยายทั้งสองเรื่อง วรรณกรรมทั้งสองอาจทำหน้าที่ประดุจนิราศแห่งยุคสมัย ที่การเดินทางนำมาสู่งานเขียนเกี่ยวกับความรักในทัศนะของศรีบูรพา ความรักอาจจะเป็นโคลัมบัสของผู้อ่านผลงานของศรีบูรพา

ข้างหลังภาพของสี่แผ่นดิน

สี่แผ่นดิน ถือกำเนิดมาจากตีพิมพ์ในสยามรัฐมาก่อนในปี 2494-2495 ด้วยฝีมือของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เกิดในตระกูลที่มีเชื้อสายเจ้า สำนวนของผู้เขียนนั้นจัดว่าแพรวพราว เสกตัวละครแต่ละตัวออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา เรื่องราวที่ยืดยาว 2 เล่มจบ ได้ให้ทั้งภาพกว้างของชีวิตแม่พลอยที่ยืนยาวถึง 4 รัชกาล ก่อนหน้าสี่แผ่นดินจะตีพิมพ์เพียงหนึ่งปี ข้างหลังภาพได้ตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 4 

สังคมไทยยุคนี้เป็นโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคที่คณะราษฎรหมดอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมลงไป แรงสั่นสะเทือนจากกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ปัญหาการเมืองรุมเร้าจนรัฐบาลฝ่ายปรีดี พนมยงค์ถูกรัฐประหารในปี 2490 ความวุ่นวายทางการเมืองไม่ได้สิ้นสุดลง เมื่อปรีดีพยายามกลับมาต่อสู้แต่ก็พ่ายแพ้ไปในนามกบฏวังหลวง ปี 2492 เกิดเหตุสะเทือนขวัญอย่างการฆ่า 4 รัฐมนตรีในปีเดียวกัน ปี 2494 ก็เกิดกบฏแมนฮัตตัน ความผิดปกติของสังคมการเมืองในยุคนี้นับเป็นเชื้ออย่างดีของการกลับไปเล่าถึงวันชื่นคืนสุขแห่งอดีตกาล

หากคุณหญิงกีรติจะเป็นตัวแทนความเสื่อมสลายของชนชั้นสูงในยุคปฏิวัติแล้ว แม่พลอยก็ถือเป็นประจักษ์พยานแห่งยุคทองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การเล่าเรื่องสี่แผ่นดินมีความซับซ้อนกว่าข้างหลังภาพอย่างเทียบกันไม่ติด ไม่ว่าจะเล่าด้วยมุมมองพระเจ้าที่ราวกับว่า เรื่องเล่านั้นเป็นสิ่งที่จริงอย่างไม่ต้องถกเถียง บางฉากบางตอนก็แสดงให้เห็นถึงการเล่าผ่านอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครแต่ละตัว ไม่ได้หนักไปที่แม่พลอยอย่างเดียว การระบุตัวละครทั้งชื่อตามยศ หรือชื่อที่เรียกกันในชีวิตประจำวัน ทำให้ตัวละครดูสมจริงมากกว่าข้างหลังภาพ นพพรที่ทั้งเรื่องไม่ปรากฏเลยว่านพพรนั้นมีชื่อเล่น (ซึ่งในเซนส์ของคนไทยนั้นชื่อเล่นนั่นเองที่ถือเป็นชื่อตัว เพราะชื่อจริงยังอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่ชื่อเล่นนั้น น้อยนักที่จะมีการเปลี่ยน) ชื่อนพพรมันจึงดูเป็นทางการ และมีระยะห่างระหว่างคนอ่านกับตัวละครนี้ ต่างกับพลอย ช้อย พ่อเพิ่ม ฯลฯ แม้แต่เจ้านายที่เรียกแบบลำลองว่า ‘เสด็จ’ ก็ยังดูใกล้ชิดกว่าตัวละครอย่างคุณหญิงกีรติที่ดูห่างไกลจากทั้งผู้อ่านและยุคสมัย 

สี่แผ่นดินให้เซนส์ของประวัติศาสตร์มากกว่าข้างหลังภาพอย่างมาก การบรรจุศักราชเข้าไปในเล่มทำให้เรารู้ว่า พลอยเกิดในปี 2425 และตายในวันเดียวกับที่รัชกาลที่ 8 สวรรคตด้วยพระแสงปืน เมื่อปี 2489 แม้ว่าสี่แผ่นดินจะดูยาวนาน แต่พลอยก็มีอายุเพียง 64 ปีเท่านั้น ถ้าเทียบกับคนสมัยนี้คือ มีอายุหลังจากเกษียณได้เพียง 4 ปีเท่านั้น

พลอยอาจจะเป็นผู้หญิงในอุดมคติของคนหลายคน แต่น่าสังเกตว่า ถูกผู้เขียนลิขิตให้ตกอยู่ในสภาพความไม่มั่นคงอยู่ตลอดมา แม้จะเกิดในตระกูลสูง พ่อเป็นพระยาเชื้อสายฟากขะโน้น (ที่น่าจะหมายถึงตระกูลบุนนาค) ส่วนแม่ก็เป็นชาววังที่เคยรับใช้เจ้านายมาก่อน แต่ชีวิตพลอยนั้นเมื่อเทียบกับครอบครัวเพื่อนสนิทอย่างช้อยแล้ว จัดได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ครอบครัวที่มีปัญหา เมื่อพ่อมี 2 เมีย แม่แช่มของพลอยก็เป็นเพียงเมียน้อย ลูกที่เกิดจากเมียหลวงอย่างอุ่นก็ทำตัวเป็นมลพิษในบ้าน ชิดลูกเมียหลวงคนที่สองก็ติดฝิ่นได้เมียเป็นบ่าวในบ้าน ในเวลาต่อมา แม่ก็ออกไปมีผัวใหม่ที่ฉะเชิงเทรา แล้วจบชีวิตด้วยการตายทั้งกลม ขณะที่ตัวเองถูกพรากไปอยู่ในวังให้ ‘เสด็จ’ เลี้ยง พลอยจึงไม่ต่างอะไรจาก ‘เด็กกำพร้า’ หากไม่เข้าวัง พลอยมีความเสี่ยงที่จะเป็น ‘เด็กใจแตก’ เอาง่ายๆ เมื่อเทียบกับมาตรฐานปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม ชีวิตคู่ของพลอยนั้น เป็นการแต่งงานแบบคลุมถุงชน ต่างไปจากการอยู่กินกันด้วยความรักความพอใจของสองคน แม่แช่มกับผัวใหม่, เชยกับหมอนอกราชการ หรือเนื่องคนรักเก่าพลอยกับเมียที่นครสวรรค์ ชีวิตแบบคลุมถุงชนแบบพลอย มีปลายทางที่การดำรงความสูงส่งของชาติตระกูลและความมั่นคงด้านฐานะ ต่างจากคู่ที่กล่าวมาที่ล้วนมีแต่ชีวิตที่ยากลำบาก

จักรวาลสี่แผ่นดินใน 2 แกนโลก

หากจะย้อนความรู้สึกของพลอยหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 5 ที่ว่า “หลักหรือแกนโลกของมนุษย์ที่พลอยรู้จักนั้นสลายลง” เราอาจจำลองชีวิตของพลอยผ่าน 2 แกนด้วยกัน นั่นคือ แกนตั้งที่แบ่งชีวิตผู้คนออกเป็นชั้นและลำดับศักดิ์ กับแกนนอนอันเป็นชีวิตแนวระนาบ ในแกนตั้ง พลอยเป็นคนที่อยู่ตรงกลางค่อนไปทางบนของสังคม สิ่งที่พลอยเทิดทูนเหนือหัวที่สุดคือ สถาบันกษัตริย์ที่รวมถึงเสด็จฯ และเชื้อพระวงศ์ต่างๆ กลุ่มนี้คือผู้ที่อยู่สูงกว่าพลอย แม้เจ้านายจะมีอายุน้อยเพียงใด เช่น คุณชายน้อยที่มาชอบพอกับประไพที่มีอายุรุ่นลูกสาว พลอยก็ยังต้องสำรวมกิริยาและพูดราชาศัพท์เช่นเดียวกับการพูดกับเสด็จ

ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ตัวตนของพลอยนั้น ถูกเติมเต็มด้วยวลีทำนอง “มีทุกอย่างวันนี้เพราะใคร” ในเนื้อเพลง นั่นคือสิ่งที่พลอยพูดว่า “เสด็จก็มีพระเดชพระคุณแก่ฉันมากมายเหลือเกิน ได้ทรงชุบเลี้ยงฉันมาแต่เล็กจนป่านนี้ ทุกอย่างที่ฉันมีทุกวันนี้ก็เกือบจะว่าได้ว่าเพราะเสด็จประทานให้ ถ้าหากฉันทิ้งเสด็จ ทูลลากลับไปบ้าน ฉันจะมิเป็นคนอกตัญญูไปหรือ” [4] แม้ในที่สุดพลอยจะออกจากวังไปแต่งงานก็ตาม

ลำดับถัดมาก็คือคนชั้นเดียวกันที่อาจเลื่อนสถานะเปลี่ยนไปมาได้ นับได้ตั้งแต่มิตรรักอย่างช้อย เชย เพิ่ม ที่คบหารู้ใจกันมาตั้งแต่เด็กจนตาย อาจรวมถึงญาติอย่างอุ่น หรือชิดที่เป็นพี่คนละแม่ ที่เคยสูงส่งกว่า แต่ก็ต้องมีชีวิตที่ตกต่ำ อาจรวมไปถึงครอบครัวของช้อย 

ชนชั้นล่างที่สุดในจักรวาลของสี่แผ่นดินคือ บ่าวไพร่ที่หมายถึงข้าทาส คนรับใช้ที่ติดตามมาจากยุคก่อนเลิกทาสและไพร่ บ้านของพระยาพิพิธพ่อพลอยมีคนกว่า 50 คน บ้านของพลอยที่คลองพ่อยมหรือคลองสาทรก็มีคนไม่น้อยกว่ากันเท่าใด คนกลุ่มนี้ยังอาจรวมไปถึงคนไม่มีหัวนอนปลายตีน คนบ้านนอก คนไม่มีการศึกษา เห็นได้จากเมียคนที่สองของอั้น หรือเมียของเนื่องพี่ของช้อยที่เป็นคนบ้านนอก ลูกเจ๊กขายข้าวแกงที่นครสวรรค์

ส่วนแกนนอน อันเป็นชีวิตในแนวระนาบ ต้องเข้าใจก่อนว่า ผู้แต่งผูกให้ชีวิตพลอยเองอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเป็นหลัก พลอยจึงไม่ได้มีแวดวงสังคมที่กว้างขวางนัก แต่ให้ความเคลื่อนไหวของสมาชิกในครอบครัว และมิตรสหายของพลอยนั่นเองเป็นตัวแสดงความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง เรื่องราวในแกนนอนจึงแสดงให้เห็นผ่านศูนย์กลางที่เป็นบ้านของพลอยในแต่ละห้วงเวลา 

บ้านที่คลองบางหลวง เป็นบ้านหลังแรกของพลอย พลอยอาศัยอยู่กับแม่ในฐานะลูกเมียน้อย ภายใต้แรงกดดันของลูกเมียหลวงที่นำโดยอุ่น ลูกเมียหลวงยังมีชิดกับเชย แต่เชยนั้นไม่กินเส้นกับอุ่น เชยเข้ากับพลอยและเพิ่มได้ดีกว่า บ้านแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตของครอบครัวที่แบ่งฝักฝ่ายมาแต่แรก ความขัดแย้งดำรงอยู่โดยที่พระยาพิพิธฯ พ่อของพลอยเองก็ไม่พยายามไปจัดการความขัดแย้งใดๆ ในที่สุดแช่ม แม่ของพลอยอยู่ไม่ได้จึงออกจากบ้าน และส่งพลอยไปอยู่ในวังกับเสด็จ เจ้านายเก่าของแช่ม และในที่สุดแช่มก็ไปมีผัวใหม่ที่ฉะเชิงเทรา

บ้านหลังต่อมาของพลอยก็คือ ตำหนักของเสด็จในวังหลวง นอกจากห่างไกลความขัดแย้งในตระกูลแล้ว พลอยเหมือนได้ครอบครัวใหม่ เพราะแยกขาดจากพ่อ ขณะที่แม่ก็ไปทำมาหากินอยู่ที่ฉะเชิงเทรา เสด็จเป็นผู้ปกครองคนใหม่ สิ่งที่น่าสังเกตคือพื้นที่ในวังกลายเป็นพื้นที่พิเศษ ในนั้นเป็นดุจดังสวรรค์ของพลอย เมื่อไม่มีความขัดแย้งอยู่ภายในเลย ความโศกาอาดูรที่พลอยได้รับมาจากเรื่องอื่น อย่างเช่น ความทุกข์ระทมของการเสียชายอันเป็นที่รักไปให้กับหญิงอื่น จึงเห็นได้ชัดว่า ผู้เขียนจงใจลบความขัดแย้งและความเป็นการเมืองในวังหลวงออกไป สมกับความเป็นแดนสวรรค์ แดนศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์จะไม่ทุกข์ร้อน ยกเว้นแต่จะหาความทุกข์ใส่ตนเช่นการจะออกไปมีคู่ครอง ทั้งที่หากไปอ่านงานเขียนเกี่ยวกับฝ่ายในของวังหลวงสมัย ร.5 จะเห็นถึงการเมืองที่ชิงไหวชิงพริบกันบนความไม่ไว้วางใจต่อกัน ผ่านการสืบความและเรื่องราวของตำหนักต่างๆ การขอลูกหรือสมาชิกต่างสำนักมาอุปถัมภ์เลี้ยงดู เช่นเดียวกับความอิจฉาริษยาเพราะเป็นคนโปรดของในหลวง[5]

บ้านหลังที่ 3 คือบ้านของพลอยกับเปรมที่สาทร การสร้างครอบครัวใหม่ของพลอย นำเธอออกกลับออกมาสู่โลกมนุษย์อีกครั้ง ยังไม่ทันจะคลอดลูกคนแรก เปรมก็ได้เผยความลับออกมาว่ามีลูกชายติดมาแล้ว นั่นก็คืออ้น พลอยจะทำอย่างไรได้ด้วยความเป็นผู้ดี และความสงสารทำให้รับเลี้ยงอั้นในฐานะลูกชายคนหนึ่ง พลอยถูกทิ้งอยู่กับบ้าน ส่วนเปรมก็ออกไปแสวงหาความก้าวหน้าของชีวิต จะเห็นว่า การเติบโตของเปรมนั้นมากับการประจบเจ้านาย เราเห็นได้ชัดจากกลยุทธ์การเกี้ยวพลอย ด้วยการให้อามิสสินจ้างทางพี่ชายอย่างเพิ่ม การถวายของกำนัลแด่ผู้ใหญ่รายล้อมตัวพลอย ชีวิตของเปรมพุ่งสูงถึงตำแหน่งพระยาบทมาลย์บำรุงในรัชกาลที่ 6 แต่เราก็ไม่เห็นว่า เปรมจะทำอะไรนอกจากเฝ้าแหน ตามเสด็จ และปฏิบัติตัวตามพระราชนิยมด้วยการแต่งกายแปลกๆ ดังคำที่ว่า “เจ้าว่างามก็ต้องงามไปตามเจ้า หรือใครเล่าจะไม่งามตามเสด็จฯ?” [6] จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 6 เปรมจะหมดอาลัยตายอยาก เพราะคอนเน็กชันเดิมขาดสะบั้นลง การสร้างคอนเน็กชันใหม่ในรัชกาลใหม่ หาใช่เรื่องง่ายดายเลย 

เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้น บ้านก็ค่อยๆ ถูกแยกออกเป็นฝักฝ่ายชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ ฝั่งอ้นกับอ๊อด และฝั่งอั้นกับประไพ ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการต่อสู้ของสองกลุ่มที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ นั่นคือ ฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายหัวก้าวหน้า สอดคล้องกับสังคมตอนนั้นช่วงปี 2494-2495 นักเขียนฝ่ายอนุรักษนิยมและเจ้านายราชวงศ์จักรีก็กำลังหาทางรื้อฟื้นอำนาจทางวัฒนธรรมกลับมา[7] ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายซ้ายแม้จะไม่ได้กุมอำนาจรัฐบาล แต่ก็ยังมีพื้นที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ เห็นได้ชัดคือการรณรงค์เรื่องสันติภาพที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอกอย่างจีนและสหภาพโซเวียต ที่ต่อมาจะถูกจับกุมในนามกบฏสันติภาพในปี 2495[8] หากเล่มแรกเป็นการพูดถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ในฐานะยุคทองของไทยแล้ว แผ่นดินที่ 3 และ 4 ถือเป็นหมัดที่หวังน็อกฝ่ายปฏิปักษ์อนุรักษนิยมได้เลย

อ๊อดเป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยม ส่วนอั้นเป็นตัวแทนฝ่ายหัวก้าวหน้า ทั้งคู่ถูกส่งไปเรียนต่างประเทศ อ๊อดเรียนอังกฤษ ทางด้านอักษรศาสตร์ ส่วนอั้นเรียนกฎหมายทางฝรั่งเศส อั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภาพตัวแทนของอั้นทำให้เราหวนนึกถึงปรีดี พนมยงค์มาในชั่วขณะหนึ่ง อั้นถูกวางคาแรกเตอร์ให้มีความทะเยอทะยาน หุนหันพลันแล่น หลงผิดไปกับการตัดสินใจทั้งด้านการเมืองและการคบคน เป็นคนที่พลอยไม่เข้าใจและไม่ไว้ใจ เทียบกับอ๊อดแล้ว คนนี้คือลูกรักที่ติดแม่จนไม่ทำงานการอะไร กลายเป็นปมให้คนอื่นดูถูกว่าเกาะแม่กิน

ส่วนอ้น ลูกติดของเปรม กลายเป็นทหารที่เข้ากับกบฏบวรเดช ขณะที่ประไพ เป็นคนเดียวที่มีแต่ชื่อจริง ไม่มีชื่อเล่นที่นำหน้าด้วย อ.อ่าง เหมือนพี่ๆ แม้ประไพจะเป็นคนสวยและมีความมั่นใจอันเป็นส่วนผสมระหว่างพลอยและยายอย่างแช่ม แต่ประไพกลับเป็นตัวละครที่มีบทพูดน้อย และถูกให้ความสำคัญน้อยที่สุด ทั้งยังเป็นตัวการที่พาตัวละครที่เลวร้ายที่สุดคนหนึ่งเข้ามาเป็นลูกเขย นั่นคือเสวี เสวีนอกจากจะเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ดูเหมือนจะเป็นคนมีตำแหน่งในคณะราษฎร ก็ถูกระบายสีความเลวร้าย ตั้งแต่การทำตัวเป็นบางช่างยุ ยุให้พี่น้องแตกคอกันเรื่องมรดก จนอ๊อดไม่สามารถทนอยู่ได้ต้องหนีไปทำงานที่ปักษ์ใต้ นอกจากนั้น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เห็นดีเห็นงามกับญี่ปุ่น การฉวยโอกาสหากำไรช่วงสงคราม เสวีกลายเป็นเศรษฐีสงครามเพราะคอนเน็กชันที่กว้างขวางยามนั้น ความชั่วร้ายปิดท้ายของเสวีในสายตาครอบครัวพลอยก็คือ เมื่อพลอยป่วยด้วยโรคหัวใจ เสวีกลับเสนอขายยาราคาแพงหูฉี่ ทั้งที่เขาสามารถหายาราคาถูกในคุณภาพเดียวกันมาได้ ก่อนแต่งงานเสวีถูกปรามาสจากพลอยว่าเป็น ‘ลูกเจ๊ก’ พ่อชื่อฮง แม่ชื่อสิน แซ่แต้ ทั้งที่เปรมเองก็เป็นลูกหลานเจ๊กเช่นกัน เสียแต่ว่าเป็นเจ๊กที่รวยและมีอำนาจบารมี      

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สมานแผลและรอยร้าวของครอบครัวนั้น เกิดจากการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์องค์ใหม่อย่างรัชกาลที่ 8 การเสด็จพระนครครั้งแรกในปี 2481 ดังห้วงคำนึงของพลอยว่า “ข่าวในหลวงเสด็จฯ กลับนั้นได้ทำให้บรรยากาศภายในครอบครัวของพลอยดีขึ้นทั่วๆ ไป เพราะตาอั้นก็ดี ตาอ๊อดก็ดี ตลอดจนประไพและคุณเสวีต่างพากันพูดถึงข่าวนั้นด้วยความปีติยินดี…เมื่อคนที่เคยมีความเห็นแตกต่างกันในหลายเรื่องหลายราวจนถึงกับบาดหมางกันอยู่ในใจมามีวัตถุอันเป็นสิ่งที่รวมความสนใจ ก่อให้เกิดความปีติยินดีร่วมกัน และความหวังร่วมกันดังนี้ ความบาดหมางใจกินใจที่เคยมีอยู่เหมือนกันกับคลื่นใต้ผิวน้ำก็ดูออกจะเบาบางลงไป และคนทั้งนั้นดูเหมือนจะหันหน้าเข้าหากันด้วยความสามัคคี ซึ่งพลอยเห็นว่าควรจะเป็นปกติวิสัยของครอบครัว” [9]   

หลังจากที่บ้านสาทรโดนระเบิดช่วงสงครามโลกไป พลอยก็กลับมาอยู่ที่บ้านหลังแรก ความขัดแย้งบาดหมางและแบ่งขั้วได้จบไปแล้ว บ้านดังกล่าวจึงกลายเป็นหลังสุดท้ายที่เป็นเรือนตายของพลอย

วังหลวงและวังใหม่ กับความบ้านนอกที่ถูกข่มจากศูนย์กลาง

ตามฐานานุศักดิ์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว ศูนย์กลางจักรวาลของระบอบนี้อยู่ที่วังหลวง พลอยถูกส่งเข้าไปเพื่อสร้างตัวตนแบบหนึ่งขึ้นมา นั่นคือเป็น ข้าของเจ้านาย ความลึกซึ้งของสายสัมพันธ์ดังกล่าวเห็นได้จากที่พลอยบอกกับคุณเปรมว่า  “เราไม่ได้เป็นข้าท่านแต่ตัว แต่เป็นข้ามาตั้งแต่พ่อแม่ปู่ย่าตายาย เมื่อเราเป็นข้าในหลวง เราก็ต้องเป็นข้าลูกเมียของท่าน…” [10] ชีวิตพลอยถูกก่อร่างสร้างขึ้นมาบนแกนกลางนั้น ความใกล้ชิดที่เห็นชัดก็คือ การได้พบปะกายเนื้อของกษัตริย์โดยตรง คำบรรยายเหล่านี้ได้ทำให้คนอ่านจินตนาการตามไปสร้างภาพในหัวใจขึ้นมา “ครั้งแรกที่พลอยได้เห็นพระเจ้าอยู่หัวของตนอย่างใกล้ชิดในที่รโหฐาน พลอยก็ขนลุกเกรียวทั้งตัว…ในห้องที่ตนเห็นเฉพาะหน้าเป็นที่อยู่ของเจ้าชีวิตคนไทยทั้งมวลในสมัยนั้น เป็นหัวใจของประเทศ การเป็นไปทุกอย่างของโลกภายนอกมารวมอยู่ ณ ที่นั้น” [11]  

นอกจากวังหลวงแล้ว สมัยของรัชกาลที่ 5 ยังมีการก่อสร้างวังใหม่ที่บางปะอินและสวนดุสิต ผู้แต่งชี้ว่า สองแห่งใหม่นั้นเป็นที่ที่ไม่เคร่งครัดเรื่องระเบียบประเพณี ต่างจากวังหลวงเดิม บางปะอินนั้นจะเดินทางไปโดยรถไฟพระที่นั่ง ขณะที่คนระดับล่างลงมาก็จะตามเสด็จโดยเรือ ว่ากันว่าคราวกบฏเงี้ยวในปี 2445 ยังเป็นศูนย์บัญชาการสำคัญ มีการส่งโทรเลขมาที่วังบางปะอินเพื่อรายงานสถานการณ์

ขณะที่วังสวนดุสิตเป็นวังที่ถูกสร้างขึ้นบนที่ดินที่กล่าวกันว่าเป็นป่าช้าเดิม จึงรู้กันว่าที่แห่งนั้นผู้คนมักพบเจอผีที่ออกมาหลอกหลอน ความน่าสนใจก็คือ ผีเหล่านี้ต่างไปจากผีที่วังหลวง ตรงที่ชอบออกมาหลอกผู้คน แต่ผีในวังหลวงนั้นไม่มากเพราะส่วนใหญ่เป็นผีเจ้านาย มีมารยาทกว่าคนสามัญ ยังมีเล่าลือกันว่า แม้แต่เปรตที่พบในวังก็ว่ากันว่าเป็นเจ้านายนั่นเอง ขณะที่สวนดุสิตนั้นว่ากันสิงอยู่ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นบนดิน ใต้ดิน บนต้นไม้หรือในน้ำ และหลอกคนด้วยลักษณะแปลกๆ ตามที่เล่ากันมา หรือว่านี่จะเป็นการเอาคืนของสามัญชนที่เคยถูกกดขี่มาเมื่อยังมีชีวิต

ปริมณฑลของพระราชอำนาจเนื่องมาจากวังในสี่แผ่นดินจึงแผ่อยู่ใน 3 พื้นที่ ในทางกลับกัน พื้นที่บ้านนอกในนิยายนี้ บ้านนอกในสายตาของพลอยมิใช่ดินแดนที่น่าอภิรมย์ ทั้งยังเป็นตัวแทนของภาพทรงจำอันน่าขมขื่น กรณีฉะเชิงเทรา แช่มแม่ของพลอยที่ออกไปทำมาหากินและได้ตั้งท้องกับฉิมผัวใหม่ ทำให้ไม่สามารถร่วมพิธีโกนจุกของพลอยได้ ในที่สุดยังตายท้องกลมเสียอีก ส่วนนครสวรรค์ก็เป็นแหล่งที่เนื่องไปได้เมียเป็นสาวบ้านนอกที่ “สวยเพียงแค่ปากน้ำโพ” และมีลูกมีเต้าด้วยกัน บ้านนอกจึงเป็นดินแดนที่ตัดขาดชีวิตของพลอยออกจากคนรักที่ทั้งคู่ตัดขาดจากพลอยด้วยการออกไปมีครอบครัวใหม่

ความเป็นบ้านนอก ยังหมายถึงความเป็นคนนอกของพลอยและครอบครัวอีกด้วย ลักษณะของคนนอกอีกประการก็คือ การเป็นคนไม่มีหัวนอนปลายตีน ไม่มีสกุลรุนชาติ เห็นได้จากการเหยียดหยามเสวีว่าไม่มีหัวนอนปลายตีน เมื่อเทียบกับท่านชายน้อย คนอย่างอ้นที่แม่เป็นใครไม่รู้ สมใจที่เป็นเมียลับของอั้นที่มีลูกด้วยกันก็เช่นกัน ล้วนเป็นคนไม่มีหัวนอนปลายตีน ไม่มีสกุลรุนชาติ พวกเขาเหล่านี้คือ คนนอกที่เป็นอื่นไปจากพลอย แต่ส่วนหนึ่งพลอยต้องยอมรับคนนอกเหล่านั้นอย่างจำใจเพราะต้องการจัดความสัมพันธ์ในบ้านให้ราบรื่นมากกว่า แบบที่พลอยกล่าวเองตอนรับอ้นเป็นลูกว่า “ถ้าแกจะอยู่ด้วยกันกับฉันในบ้านนี้ต่อไป ฉันก็อยากให้แกรักฉันมากกว่า ไม่ใช่เพราะฉันเป็นคนดีหรือชอบทำความดีอย่างที่คุณเปรมนึกหรอก”[12]  

การเมืองเรื่องความน่าสงสารและโศกนาฏกรรม อาวุธของนิยาย

พลอยจะรับบทเป็นนางขี้สงสารตลอดเรื่อง ด้วยพลังสงสารจึงทำให้พลอยช่วยเหลือจุนเจือใครๆ ทำให้คนต่างๆ นั้นมองว่าพลอยเป็น ‘คนดี’ แต่พลังนั้นก็มีข้อจำกัดเมื่อพลอยพยายามจะช่วยเหลือเชย พี่สาวต่างแม่เนื่องจากว่ามีความยากลำบากเมื่อหนีไปแต่งงานกับหมอนอกราชการ เชยไม่ยอมรับความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับช้อยที่ลำบากแสนลำบากในยุคที่วังหลวงเสื่อมโทรมและไม่มีผู้ใหญ่สนับสนุนแล้ว ทั้งคู่คือญาติสนิทและเพื่อนสนิทที่สุดของพลอย ทั้งคู่ตระหนักดีว่าการตกเป็นวัตถุแห่งการสงสารของพลอยไม่น่าใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะจะทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกันพังทลายลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ความขี้สงสารและเห็นอกเห็นใจของคนอื่นของพลอยนั้น กลายเป็นคุณสมบัติที่ชวนให้คนเห็นอกเห็นใจพลอยไปด้วย 

ผู้แต่งยังยัดเยียดชะตากรรมของพลอยให้พบกับเรื่องโศกนาฏกรรมในชีวิต หากไม่นับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างมรณกรรมของกษัตริย์แล้ว ชีวิตครอบครัวที่ไม่มีความสุข ญาติพี่น้องลูกหลานที่มีชีวิตไม่ราบรื่น ได้กระตุกให้คนเห็นอกเห็นใจ และเห็นว่าพลอยน่าสงสารยิ่งขึ้น ผิดกับคนอย่างช้อยที่ตัวคนเดียวอยู่ในวังหลวง เงินไม่พอใช้ ชักหน้าไม่ถึงหลัง และอาจจะต้องตายอย่างเดียวดาย ผู้แต่งทำให้ช้อยกลายเป็นคนที่ลำบากแต่ไม่เอ่ยปาก เป็นเพื่อนนางเอกที่คอยสนับสนุนพลอย ฉากที่พลอยย้ายไปอยู่ในวังหลวงชั่วคราวก่อนจะกลับไปอยู่คลองบางหลวง ได้ชี้ให้เห็นความเสื่อมโทรมของวังหลวงหลังการปฏิวัติสยาม 2475 ได้เป็นอย่างดี ที่ภายในวังหลวงฝ่ายในเต็มไปด้วยความทรุดโทรม ตำหนักต่างๆ ก็ปิดร้างทิ้งไป ตัวช้อยเองแม้จะทำขนมสูตรชาววังออกไปขาย ทำน้ำอบไปขายก็ขาดทุน เพราะถือว่าทำของดีในราคาที่ย่อมเยา ช้อยจึงมิได้เป็นเพียงคนแก่ แต่ยังเป็นผู้แข่งขันในระบบทุนนิยมที่พ่ายแพ้ ผิดกับพลอยที่นั่งนอนอยู่บนกองเงินกองทองและทรัพย์สฤงคารที่ได้มาจากทั้งฝ่ายผัวและมรดกของพ่อ 

การสูญเสียคนสำคัญสำหรับพลอย หรือเหตุการณ์สำคัญพ้องกับการสูญเสียเจ้านายเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นรัชกาลที่ 5 กับพ่อของพลอย เช่นเดียวกับเสด็จที่จากไปหลังจากนั้นไม่นาน ขณะที่ก่อนรัชกาลที่ 6 จะสวรรคต อั้นเดินทางกลับมาจากฝรั่งเศสพร้อมด้วยเมียแหม่มอย่างลูซิลล์ สร้างความไม่พอใจให้กับครอบครัวเป็นอย่างมาก ส่วนเปรมก็มาตกม้าตายก่อนเกิดปฏิวัติ 2475 ส่วนที่เศร้าที่สุดตอนหนึ่งของเรื่องก็คือ การที่อ๊อดลูกรักที่สุดได้เสียชีวิตด้วยไข้ป่า อันเป็นบทที่นำไปสู่การเดินทางไปสู่ปัจฉิมบท นั่นคือกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่เป็นเหมือนตัวจุดชนวนสู่ความตายของแม่พลอยในตอนจบ

ต่างจากวรรณกรรมของฝ่ายซ้ายที่มุ่งหมายอุดมคติและเป้าหมายที่จะบรรลุ สี่แผ่นดินหวังที่จะผนึกเอาสังคมไทยอยู่กับสังคมอุดมคติในอดีตอันพึงปรารถนามากกว่าจะพาคนไทยไปไหนในอนาคต

สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล เทพนิยาย สุขนาฏกรรม และการสำนึกบุญคุณ อาวุธของละครเวที 

เมื่อเทียบกับความแนบเนียนของการถักทอภาพสังคมศักดินาอันดีงามในฉบับนิยายแล้ว สี่แผ่นดินฉบับละครเวทีนั้นต่างออกไป อาจใช้คำอ๊อดที่กล่าววิจารณ์อ้นไว้ว่า “Plus royaliste que le Roi”[13] (เป็นรอยัลลิสต์ยิ่งกว่ากษัตริย์) เมื่อคราวที่แสดงความไม่พอใจต่อการปฏิวัติและหวังจะให้เกิดการยึดอำนาจคืนจากคณะราษฎร ฉะนั้น สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ละครเวทีจึงอาจเป็นอนุรักษนิยมที่ยิ่งกว่าคึกฤทธิ์ ปราโมชก็เป็นได้ การจัดแสดงละครเวทียังเชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองอีกด้วย

บริบททางการเมืองที่ลืมไม่ได้ก็คือ เมื่อปี 2553 การชุมนุมของกลุ่มประชาชนเสื้อแดงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำไปสู่การยึดครองบริเวณแยกราชประสงค์ ศูนย์กลางการค้าสำคัญกลางเมืองหลวง อันนำไปสู่การปราบปรามการชุมนุมอย่างนองเลือดของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่ราชประสงค์ โศกนาฏกรรมหลังจากนั้นยิ่งตอกย้ำความขัดแย้งและแบ่งขั้วอย่างหนักในสังคมไทย ระหว่างคนในเขตเมืองและกรุงเทพฯ กับคนเสื้อแดงในต่างจังหวัดและชนบท หลังจากนั้นเพียงปีเดียว ถกลเกียรติ วีรวรรณ บิ๊กบอสแห่งค่ายซีนารีโอได้จัดแสดงละครเพลง ทวิภพ เดอะมิวสิคัล เนื้อหาเน้นไปที่วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ในสมัยรัชกาลที่ 5[14] ซึ่งถือว่าเป็นฉากหัวใจสำคัญของพล็อตประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม[15] เป็นดุจละครโหมโรงก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องที่เราจะกล่าวถึง

สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ครั้งแรกจัดแสดงในเวลาที่คาบเกี่ยวกับห้วงเวลาสำคัญ 2 วาระ นั่นคือ 100 ปี ชาตกาล คึกฤทธิ์ ปราโมชในปี 2554 และ เฉลิมฉลองช่วงเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบของรัชกาลที่ 9 ปี 2555 กระแสตอบรับละครดังกล่าวเป็นไปอย่างล้นหลาม แม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่สังคมไทยเจอกับภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมใหญ่การเปิดรอบการแสดงที่สูงถึง 101 รอบ นับได้ว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับละครเพลงไทยไปด้วย[16]ยังไม่นับว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จทอดพระเนตรด้วย[17]

ช่วงที่ 2 คือ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการ ‘รีเสตจ’ การแสดงเกิดขึ้น หลังรัฐประหารโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี 2557 ก่อนหน้านั้น สังคมไทยอยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียด การลุกฮือต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันเนื่องมาจากกรณีนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ตั้งแต่ปี 2556 ต่อเนื่องมาถึงปี 2557 โดยมี กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นหัวหอก ขบวนการต่อต้านรัฐบาลนี้แวดล้อมไปด้วยพลังสนับสนุนของชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง ดารานักแสดงต่างๆ ออกมาแสดงพลังต่อต้านรัฐบาล แม้ยิ่งลักษณ์ถอยทุกทาง จนกระทั่งประกาศยุบสภาเพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็พบว่า การชุมนุมไม่จบลงง่ายๆ ในที่สุดการรัฐประหารจึงกลายเป็นทางออกเพื่อไปสู่ทางตันอย่างทุกวันนี้ 

ถกลเกียรติ วีรวรรณ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการนำสี่แผ่นดินมาแสดงอีกครั้งว่า

“นอกจากความสนุก ยังได้ข้อคิดแน่นอน น่าจะทำให้คนไทยได้ตั้งสติบางอย่าง ‘มีทุกอย่างที่ดีเพราะใคร ฉันจะไม่ลืม’ ผมว่าเมสเสจนี้สำคัญและทำให้สังคมไทยมีเสน่ห์ต่อต่างชาติมากที่สุดก็เป็นได้” [18]

ปี 2557 เปิดแสดงจำนวน 50 รอบ ระหว่างนั้นถกลเกียรติเองก็พยายามผลักดันให้ข้างหลังภาพไปโลดแล่นที่สหรัฐอเมริกาในนามละครเวทีชื่อ Waterfall หลังจากเขาเคยจัดแสดงในเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 2551[19] ขณะที่ช่วงที่ 3 จัดแสดงในห้วงของการถวายความอาลัย และงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9 ปี 2560 ถลกเกียรติระบุในสูจิบัตรว่า นับจากการแสดงดังกล่าวประเทศไทยเปลี่ยนแปลงอย่างมาก “และที่หนักที่สุด ก็คือการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจพวกเราทุกคน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559” เขาอ้างว่ามีผู้ชมเรียกร้องให้นำกลับมาแสดงอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ความเศร้าเสียใจของคนยุค 2560 ให้กลมกลืนกับการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 นำมาซึ่งฉากพิเศษที่แสดงให้เห็นถึงประชาชนนั่งจุดเทียนกราบสักการะพระบรมศพรัชกาลที่ 9 รอบกำแพงวัง นั่นหมายถึงว่า แม้พลอยจะตายไป เรื่องก็ยังถูกเล่าด้วยลูกหลานมาจนถึงวันสำคัญดังกล่าว[20]ล่าสุดเห็นว่า สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัลได้มีการจัดฉายรีรันในแอปพลิเคชันบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในปีนี้[21]

สำหรับผู้เขียนเห็นว่ามีอย่างน้อย 3 ฉากสำคัญ ก็คือ ฉากตัวแทนเหตุการณ์อย่างเลิกทาส การปฏิวัติ 2475 และกบฏบวรเดช ในนิยายสี่แผ่นดิน ไม่มีการกล่าวถึงการเลิกทาส หรือผลงานด้านนี้ของรัชกาลที่ 5 เลย จึงหมายถึงว่า ผู้แต่งก็มิได้ให้ความสำคัญ แต่ในฉบับละครเวทีกลับถูกหยิบขึ้นมาย้ำให้เห็นว่า นี่คือหนึ่งสิ่งดีๆ ที่กษัตริย์พระราชทานให้ ดังวลีสำคัญที่มาจากเนื้อเพลงว่า “มีทุกอย่างที่ดีเพราะใคร ฉันจะไม่ลืม”

ส่วนอีก 2 ฉากเป็นตัวแทนของขัดแย้งที่ล้อไปกับสถานการณ์บ้านเมือง นั่นคือ การปฏิวัติที่อั้นได้กลายเป็นตัวร้ายของคนในบ้าน เขาเคยให้คำสาบานว่าจะไม่เกี่ยวข้อง แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ส่งผลต่อคนทั้งประเทศ ถูกลดทอนเป็นเพียง “ทำไปก็เพื่อตัวเอง…ต้องการอำนาจก็เท่านั้น”

 การแย่งชิงอำนาจเพื่อตัวเอง แม้กระทั่งอ๊อดก็ยังสำทับอั้นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสยามชั่วข้ามวันนั้น “เห็นทีรีบร้อนเกินไป” “คนไทยยังไม่เข้าใจ” “อีกนานกว่าจะเข้าใจ” เช่นเดิม ในนิยาย อ๊อดก็ไม่ได้ทะเลาะกับอั้นโดยตรงด้วยอารมณ์ที่เข้มข้นเช่นนี้ ส่วนฉากกบฏบวรเดชก็แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้กันทำให้ “แผ่นดินต้องลุกเป็นไฟ คนไทยเข่นฆ่ากันเอง” โดยมีอ้นเป็นตัวละครสำคัญ การเพิ่มเติมนอกจากบทประพันธ์คงมิใช่เรื่องแปลกอันใด ในสายตาผู้เขียนไม่ได้มีปัญหากับการตีความเพิ่มเติม เพียงแต่เห็นว่า สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล นี้เอง ได้ทำงานรับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองในยุคสมัยของคนกลุ่มหนึ่งได้อย่างชัดเจนเป็นที่สุด

เพราะพวกเขาเชื่อเสียแล้วว่า ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของไทยนั้น สามารถตีกรอบได้อยู่ในวลีเดียวว่า “มีทุกอย่างที่ดีเพราะใคร ฉันจะไม่ลืม”  

ตารางแสดงการเปรียบเทียบระหว่างข้างหลังภาพและสี่แผ่นดิน

ประเด็นข้างหลังภาพสี่แผ่นดิน
ผู้แต่งกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา 2448-2517)ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (2454-2538)
แรกพิมพ์ประชาชาติ 2479-2480สยามรัฐ 2494-2495
อายุผู้ประพันธ์เมื่อเริ่มแต่ง32 ปี40 ปี
ตีพิมพ์เป็นหนังสือ24812496
ตัวเอกหญิงม.ร.ว.กีรติ (ลูกคนโตของหม่อมเจ้าคนหนึ่ง)2439-2480 (41 ปี)คุณหญิงบทมาลย์บำรุง (พลอย)(ลูกเมียน้อยของพระยาพิพิธฯ)2425-2489 (64 ปี)
ตัวเอกชายนพพร นักเรียนนอก (ญี่ปุ่น)พระยาบทมาลย์บำรุง (เปรม) 
ตัวร้ายเสวี 
วิธีการเล่าเรื่องนพพรเป็นผู้เล่าเรื่อง เล่าจากมุมมองพระเจ้า
จำนวนบท19 บทแผ่นดินที่ 1 (ร.5) 18 บทแผ่นดินที่ 2 (ร.6) 10 บท แผ่นดินที่ 3 (ร.7) 8 บทแผ่นดินที่ 4 (ร.8) 16 บท
ภาพยนตร์2528, 2544
ละครโทรทัศน์2524 (ช่อง5) [22]2504 (ช่อง 4), 2517 (ช่อง 5), 2523 (5), 2534 (ช่อง 3), 2546 (ช่อง 9) [23]
ละครเวที2551, 2558, 25612516, 2554-2555, 2557, 2560

[1] กาญจนา บุนปาน, “จากข้างหลังภาพสู่ Waterfall “ซุป’ตาร์” มีค่าแค่ 10 นาที เหตุเกิดเมื่อละครไทยไปโอลิมปิก”, มติชนสุดสัปดาห์ (10 เมษายน 2558) : 92

[2] ณัฐพล ใจจริง, ตามรอยอาทิตย์อุทัย แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร (กรุงเทพฯ : มติชน, 2563), หน้า 201-203

[3] ธิกานต์ ศรีนารา, รักและการปฏิวัติ การเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยความรักของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยยุคสงครามเย็น(กรุงเทพฯ : ศยาม, 2564), หน้า 60, 63-66

[4] คึกฤทธิ์ ปราโมช, สี่แผ่นดิน 1 (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 220

[5] พรศิริ บูรณเขตต์, นางใน : ชีวิตทางสังคมและบทบาทในสังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 5 วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540, หน้า 202-210

[6] คึกฤทธิ์ ปราโมช, สี่แผ่นดิน 2 (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 77

[7] ดูใน ณัฐพล ใจจริง, ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500(นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2563)

[8] วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์, กบฏสันติภาพ (กรุงเทพฯ : คบไฟ, 2539)

[9] คึกฤทธิ์ ปราโมช, สี่แผ่นดิน 2 (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 430

[10] คึกฤทธิ์ ปราโมช, สี่แผ่นดิน 2 (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 109

[11] คึกฤทธิ์ ปราโมช, สี่แผ่นดิน 1 (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 160

[12] คึกฤทธิ์ ปราโมช, สี่แผ่นดิน 1 (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 433

[13] คึกฤทธิ์ ปราโมช, สี่แผ่นดิน 2 (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), หน้า 308

[14] “ ‘พ็อปคัลเจอร์’ 100 ปี คึกฤทธิ์ ”, ประชาชาติธุรกิจ (5 กันยายน 2554) : 33

[15] ดูใน ธงชัย วินิจจะกูล, “ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม: จากยุคอาณานิคมอำพราง สู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน”, โฉมหน้าราชาชาตินิยม : ว่าด้วยประวัติศาสตร์ไทย (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2559), หน้า 5-19

[16] “รีเสตจ สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล”, ประชาชาติธุรกิจ (21 กรกฎาคม 2557) : 34

[17] ผู้จัดการออนไลน์. “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตรละครเวที “สี่แผ่นดิน” ตรัสชมละครดี”. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2564 จาก https://mgronline.com/entertainment/detail/9550000004646 (12 มกราคม 2555)

[18] “บอยเปิดใจนำ ‘สี่แผ่นดิน’ คืนเวที ‘ข้างหลังภาพ’ ฉลุยแสดงอเมริกากลางปีหน้า”, มติชน (31 พฤษภาคม 2557) : 18

[19] “สิ่งที่ซ่อนไว้ใน ‘ข้างหลังภาพ’ ”, มติชน (8 กันยายน 2551) : 24

[20] ซูม. “บันทึกรัตนโกสินทร์ ใน “สี่แผ่นดิน” 2560”. ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2564 จาก https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/1035867 (13 สิงหาคม 2560)

[21] ไทยโพสต์. “’ซีเนริโอ’ส่ง’สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล’ลงจอผ่าน’ทรูไอดี’ครั้งแรก!!”. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2564 จาก https://www.thaipost.net/main/detail/115017 (30 สิงหาคม 2564)

[22] “ข้างหลังภาพ (พ.ศ.2524)”. สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2564 จาก https://www.facebook.com/Photos.Lakorn.Thai/posts/1591917150855117 (9 มกราคม 2561)

[23] ผู้จัดการออนไลน์. “สี่แผ่นดิน – อิฉันรักพระเจ้าแผ่นดิน”. สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2564 จาก https://mgronline.com/entertainment/detail/9540000152551 (30 พฤศจิกายน 2554)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save