fbpx
จากเศรษฐกิจพันลึก สู่นโยบายหลักของสหรัฐอเมริกา: การเดินทางของนโยบายอุตสาหกรรมแห่งศตวรรษที่ 21

จากเศรษฐกิจพันลึก สู่นโยบายหลักของสหรัฐอเมริกา: การเดินทางของนโยบายอุตสาหกรรมแห่งศตวรรษที่ 21

เราไม่มีทางเลือก นอกเสียจากเสรีนิยมใหม่:
คำประกาศกร้าวแห่งยุค 1980
s

ในช่วงต้นฤดูร้อนปี 1980 Margaret Thatcher นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรกล่าวสุนทรพจน์ในงาน Conservative Women’s Conference โดยเธออธิบายถึงหน้าที่ของ ‘รัฐบาลที่พึงประสงค์’ ซึ่งได้แก่ การลดภาษี การลดรายจ่ายทางการคลัง และการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ

ในทัศนะของ Thatcher ‘การลดบทบาทภาครัฐ’ ไม่ใช่เพียงทางเลือก แต่เป็นเพียงหนทางเดียว (There is no real alternative.)[1] ที่รัฐจะดูแลเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม

ต่อมาข้อความสั้นๆ อันทรงพลังนี้ถูกขยับขยายกลายเป็นคำประกาศสนับสนุนระบบตลาดแบบเสรีแบบเหมาเข่งในเวลาต่อมา ซึ่งครอบคลุมกว้างขวางไปถึงการต่อต้านสหภาพแรงงาน การลดขนาดภาครัฐ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการซื้อบริการเอกชนเพื่อทดแทนบริการภาครัฐ เป็นต้น มาตรการทั้งหมดนี้ถูกมัดรวมแล้วเรียกว่า ‘แนวนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่’ (Neo-liberalism Policy)

อีกฟากทวีปหนึ่ง Ronald Reagan กล่าวสุนทรพจน์ ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 40 ของสหรัฐอเมริกาในปี 1981 โดยมีเนื้อหาสอดประสานกับ Thatcher ไม่ต่างจาก Shawn Mendes ร้องเพลง Señorita คู่กับ Camila Cabello

ภาพ 1: Margaret Thatcher และ Ronald Reagan
ที่มา: Levan Ramishvili

ตัวอย่างบางช่วงบางตอนของสุนทรพจน์ดังกล่าว คือการประนามภาระภาษีว่า “คือการทำโทษความสำเร็จและกีดขวางเรา [ชาวอเมริกัน] ให้ห่างจากการผลิตเต็มกำลัง”

เขายังสำทับถึงปัญหาขาดดุลการคลังว่าเป็นการ “จำนองอนาคตของเราและลูกหลานเพื่อแลกกับความสะดวกสบายชั่วครั้งคราวในปัจจุบัน”

และวรรคทองอันขาดเสียมิได้คือ “ในวิกฤติปัจจุบัน รัฐบาลไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่…รัฐบาลต่างหากคือปัญหา” (เพื่อให้มั่นใจ นี่เป็นสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาครับ)

หลังสุนทรพจน์นี้ (เช่นเดียวกับ Thatcher) Reagan เร่งลดขนาดและรายจ่ายภาครัฐ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดภาษี และแน่นอนว่าตัดนโยบายสวัสดิการ สำหรับผู้นำทั้งสอง “ไม่มีหนทางอื่นอีกแล้ว” ที่จะพัฒนาประเทศ นอกจากชุดนโยบายเสรีนิยมใหม่

แนวคิดทางเลือก:
Chalmers Johnson และนโยบายอุตสาหกรรมแบบญี่ปุ่น

George Monbiot คอลัมนิสต์ชาวอังกฤษกล่าวถึงเสรีนิยมใหม่เอาไว้อย่างคมคายว่า “มันฟังดูออกจะแปร่งแปลก ที่หลักคำสอน [เสรีนิยมใหม่] ซึ่งสัญญาจะมอบเสรีภาพและทางเลือกให้แก่เรา กลับประกาศว่า ‘ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว’”

อันที่จริงแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกัน ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น ได้ก่อร่างพิมพ์เขียวการพัฒนาทางเลือกให้แก่โลก ซึ่งแตกต่างออกไปจากข้อเสนอของเสรีนิยมใหม่แบบ Thatcher-Reagan โดยสิ้นเชิง

นักวิชาการที่ศึกษาและจัดระเบียบความเข้าใจความสำเร็จของญี่ปุ่นในช่วง 1925-1975 คือ Chalmers Johnson ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก University of California, Berkeley ผู้เขียนหนังสือชื่อ MITI and the Japanese Miracle โดยเสนอว่า หน่วยงานของรัฐบาลโดยเฉพาะ The Ministry of International Trade and Industry (MITI) มีบทบาทอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

ลักษณะสำคัญของ MITI คือ (1) เป็นหน่วยงานที่มีคนเก่งสะสมอยู่มาก (2) มีเครื่องมือและอำนาจตัดสินใจในการสนับสนุนและกำกับดูแลอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ (3) การใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านั้นทำงานร่วมกับตลาด (Market-conforming Method) และทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด

บทบาทภาครัฐในแบบที่ Johnson บรรยายมานี้ถูกเรียกว่า ‘รัฐพัฒนา’ (Developmental State) และเรียกนโยบายที่ MITI ดำเนินการโดยรวมว่า ‘นโยบายอุตสาหกรรม’ (Industrial Policy)[2] คงไม่เป็นที่น่าแปลกใจนักหากจะบอกว่า ญี่ปุ่นได้กลายเป็นห่านตัวแรกที่บินนำขบวนการพัฒนา[3] ให้แก่เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก อาทิ เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์

แต่คงน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเมื่อนักวิชาการอย่าง Fred Block เสนอว่า ญี่ปุ่นได้กลายเป็นตัวแบบการพัฒนาให้แก่สหรัฐอเมริกาในยุค 1980s เช่นกัน!!!

เศรษฐกิจพันลึก: นโยบายอุตสาหกรรมแบบซ่อนเร้น
(Stealth Industrial Policy) ในสหรัฐอเมริกา[4]

Fred L. Block ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาเศรษฐกิจ เสนอว่า ในช่วงทศวรรษที่ 1980s มีการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนระหว่างฝ่ายที่ต้องการจะนำรูปแบบการพัฒนาแบบญี่ปุ่นเข้ามาใช้กับสหรัฐอเมริกา กับฝ่ายที่ต้องการให้รัฐทำหน้าที่น้อยลงและปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินการโดยลำพัง

ถึงแม้ว่า ในท้ายสุดฝ่ายสนับสนุนนโยบายอุตสาหกรรมจะพ่ายแพ้ไป โดยเฉพาะหลัง Reagan ชนะการเลือกตั้งในปี 1981 แต่ฝ่ายที่เชื่อในการทำนโยบายอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ลดละความพยายาม พวกเขาซุ่มซ่อนสนับสนุนภาคเอกชนในเชิงรุกผ่านหน่วยงานราชการที่สำคัญ ได้แก่ Advanced Research Projects Agency (ARPA) ภายใต้ Department of Defense (DOD)

วิธีการคือ ARPA จะตั้งงบประมาณสนับสนุนและถ่ายเทงบเหล่านั้นลงไปตามห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ลำพังโครงการย่อยชื่อ Small Business Innovation Research (SBIR) ซึ่งเน้นสนับสนุนงบประมาณสำหรับบริษัทขนาดเล็กให้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีก็มีมูลค่าถึงราว 60,000 ล้านบาทต่อปี

เงินจำนวนนี้ ‘ไม่ได้มีความเป็นกลาง’ แต่โน้มเอียงไปสนับสนุนอุตสาหกรรมทางยุทธศาสตร์ เช่น อุตสาหกรรมทางทหาร อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ รวมทั้งสารสนเทศและการสื่อสาร ตัวอย่างที่ชัดเจนและมักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงคือ ARPANet ซึ่งต่อมากลายเป็น Internet ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ความสำเร็จของหน่วยงานนำร่องอย่าง ARPA ได้สร้างตัวแบบให้แก่หน่วยงานอื่นๆ เช่น Department of Energy (DOE) และ National Institutes of Health (NIH)[5] ดำเนินรอยตามในการทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น และทำให้ผลของนโยบายอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้นอีก เกิดเป็นวัตกรรมภาคเอกชนมากมาย

การประกาศรางวัล 100 นวัตกรรมแห่งปีของ R&D Magazine ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลออสการ์แห่งวงการเทคโนโลยี ในปี 2006 พบว่า นวัตกรรมจำนวน 88 รายการถูกสร้างขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยในจำนวนนี้มี 77 รายการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล

Mariana Mazzucato นักเศรษฐศาสตร์นวัตกรรมชาวอิตาเลียนยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอีกกรณีหนึ่ง เธอชี้ว่า เทคโนโลยีหลักซึ่งทำให้ iPhone มีลักษณะ ‘smart’ นั้น ล้วนแล้วแต่ได้รับเงินสนับสนุนโดยรัฐ เช่น หน้าจอสัมผัส, NAVSTAR-GPS, และ SIRI

รายละเอียดเหล่านี้ชี้ว่า สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายอุตสาหกรรม แต่ความแตกต่างจากกรณีของญี่ปุ่นที่สำคัญคือ หน่วยงานสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐฯ เหล่านี้มิได้รวมศูนย์

ในช่วงทศวรรษที่ 1980s-1990s หน่วยงานเหล่านี้เร้นกายพันลึกลงไปในโครงสร้างรัฐ รัฐที่ปิดบังนโยบายอุตสาหกรรมเอาไว้ใต้สุนทรพจน์อันเต็มไปด้วยโวหารแบบเสรีนิยมใหม่

ลอยตัวเหนือผิวน้ำ:
นโยบายอุตสาหกรรมแบบโจ่งแจ้งของ Barack Obama

เมื่อล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มีความท้าทายสามด้านที่ทำให้บทบาทการทำนโยบายอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ ด้านหนึ่งคือการถดถอยลงของภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกาเอง ด้านที่สองคือการถูกท้าทายจากคู่แข่งในตลาดโลกโดยเฉพาะจากฟากเอเชียตะวันออก นำโดยเกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน และด้านที่สามคือวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ซึ่งกดดันให้รัฐต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

เมื่อ Barack Obama ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 แห่งสหรัฐอเมริกาในปี 2009 วิกฤติได้ซึมลึกลงไปในระบบเศรษฐกิจแล้ว โดยการว่างงานยังคงเพิ่มขึ้น และดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมยังตกต่ำต่อเนื่อง

เพื่อแก้ไขปัญหา Obama ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (the American Reinvestment and Recovery Act) ในปี 2009 โดยมุ่งบรรลุเป้าหมายสำคัญสองด้านพร้อมกัน ได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวในระยะสั้น พร้อมกันนั้นก็ ‘ผลักเรือตามน้ำ’ โดยใช้แรงจากการฟื้นตัวระยะสั้นส่งต่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมระยะยาวของประเทศ Fred Block เรียกมาตรการนี้ว่า ‘Stimnovation

รัฐบาลยังจัดให้มีมาตรการเงินกู้ Loan Guarantee Program (LGP)[6] ซึ่งแสดงบทบาททั้งเข้าไปช่วยยกระดับอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพสูงและมีห่วงโซ่อุปทานที่กระทบคนจำนวนมาก อาทิ ยานยนต์[7] พร้อมกันนั้นก็สนับสนุนอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น การประสานอินเทอร์เน็ตในสรรพสิ่งต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเครื่องพิมพ์สามมิติ เป็นต้น

Chuck Squatriglia ผู้เป็น story editor จากนิตยสาร Wired รายงานว่า รัฐบาล Obama ให้วงเงินกู้ผ่านหน่วยงาน Department of Energy สำหรับโครงการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ (Advanced Technology Vehicle Manufacturing Program) คิดเป็นมูลค่ารวมสูงถึง 750,000 ล้านบาท

ตัวอย่างของบริษัทที่ได้รับเงินกู้คือ Ford ที่ได้รับ 177,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาปรับปรุงโรงงานในห้ารัฐสำคัญ ตามด้วย Nissan ที่ได้รับ 48,000 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงโรงงานใน Tennessee ให้พร้อมสำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และ Tesla บริษัทยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก ที่ได้รับวงเงินกู้เพื่อพัฒนาตัวถังรถและแบตเตอรี่ไฟฟ้า Model S เป็นมูลค่าราว 14,000 ล้านบาท เป็นต้น

ในปี 2012 เมื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมีความจำเป็นน้อยลง สภาที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (PCAST) ได้จัดทำรายงานเพื่อวางกลไกสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยรวมหน่วยงานวิจัยที่ถือครองเทคโนโลยีล่าสุดในแต่ละอุตสาหกรรมเข้ามาทำงานร่วมกัน เรียกว่า ‘เครือข่ายนวัตกรรมอุตสาหกรรมแห่งชาติ’ (National Network for Manufacturing Innovation)

ในเครือข่ายนี้มีสถาบันหลักที่เรียกว่า the Advanced Manufacturing Institutes (AMI) ทำหน้าที่สร้างความร่วมมือแบบสามประสาน รัฐ-มหาวิทยาลัย-บริษัทเอกชน (Triple Helix Alliance) เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมในแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในปี 2016 ลำพังเพียง 8 สถาบันนำร่องก็ได้สร้างให้เกิดเครือข่ายองค์กรทั้งรัฐและเอกชนเข้ามาร่วมมือถึง 753 แห่ง กลไกเหล่านี้ทำให้สหรัฐอเมริกามีลักษณะเป็น ‘รัฐพัฒนาแบบเครือข่าย’

……

ในช่วงที่ Obama หาเสียงเลือกตั้งระหว่างปี 2007-2008 เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ไปมากกว่า 183 ครั้ง โดย Kevin Coe และ Michael Reitzes ได้ร่วมกันวิเคราะห์องค์ประกอบของโวหารทางการเมืองที่ Obama ใช้หาเสียงและพบว่า สองคำที่ปรากฏบ่อยมากที่สุดคือ ‘การเปลี่ยนแปลง’ (Change) และ ‘เศรษฐกิจ’ (Economy)

Obama ทำตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ เขาเปลี่ยนวิธีบริหารเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยชักนำรัฐพัฒนาแบบเครือข่าย[8] และนโยบายอุตสาหกรรมที่ต้องอยู่อย่างเร้นลึกหลบซ่อนนานกว่าสามทศวรรษ ให้เผยตัวออกมามีบทบาทอย่างเป็นทางการ

There is no real alternative…
นโยบายอุตสาหกรรมคือสัจจะของการพัฒนาในศตวรรษที่ 21:
คำประกาศของรัฐบาล Joe Biden

Joe Biden สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ในเดือนมกราคม 2021 หลังจากนั้นเขาได้ตั้ง Brian Deese เป็นประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Economic Council)

Deese ไม่ใช่หน้าใหม่ในแวดวงการเมืองอเมริกัน เขาเคยรับตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสให้แก่ประธานาธิบดี Obama เคยดำรงตำแหน่งรองประธานของ Office of Management and Budget ซึ่งเป็นหน่วยงานใหญ่ที่สุดภายใต้สำนักงานประธานาธิบดี เขาได้รับการขนานนามจาก New York Times ว่าเป็น ‘เสียงสำคัญที่สุด’ เบื้องหลังนโยบายฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯ ยุค Obama

การกลับมาของ Deese ในรัฐบาล Biden คือการสานต่อภารกิจขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมที่ยังไม่เสร็จสิ้น หลักหมายสำคัญคือถ้อยแถลงของเขาต่อ Atlantic Council ในเดือนมิถุนายน 2021[9] โดยมีวรรคทองดังนี้:

“ปัจจุบัน วิธีการของทั้งคู่แข่งและพันธมิตรเราได้เปลี่ยนไปแล้ว เราควรตาสว่างและจ้องมองอย่างชัดเจนเสียที แนวคิดเรื่องตลาดการค้าระหว่างประเทศที่เปิดกว้างและเสรีได้ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า จีนและประเทศอื่นๆ กำลังเล่นบนกติกาซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิง การลงทุนภาครัฐในเชิงกลยุทธ์เพื่อคุ้มครองและหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เติบโต คือสัจจะของการพัฒนาเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 เราไม่สามารถจะแค่เบือนหน้าหนีและหวังว่ามันจะหายไปซักวันหนึ่ง

หลังจากนั้น Deese ก็ค่อยๆ คลี่คลายให้เห็นถึงแก่นของนโยบายอุตสาหกรรมยุคใหม่ห้าด้าน ได้แก่ การปรับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Resilience) การลงทุนภาครัฐอย่างเจาะจง (Targeted Public Investment) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Public Procurement) การปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (Climate Resilience) และการสร้างความเท่าเทียมเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ (Equity)

ถึงแม้ Brian Deese จะชี้ว่านโยบายอุตสาหกรรมได้กลายเป็นสัจจะของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ทุกประเทศจะทำนโยบายอุตสาหกรรมได้สำเร็จ เขากำชับว่านโยบายอุตสาหกรรมต้องการ “ระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง” เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลบทบาทที่มากขึ้นของรัฐ[10]

……

ตลอดสี่ทศวรรษ (1980-2021) นโยบายอุตสาหกรรมค่อยๆ เปลี่ยนสถานะจากสิ่งแปลกปลอมซึ่งกำเนิดจากประเทศกำลังพัฒนา (นโยบายของญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกยุคไล่กวด) ไปสู่นโยบายที่จำเป็นต้องทำแบบซ่อนเร้นในสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองอย่างเปิดเผยในศตวรรษที่ 21

การเดินทางอันยาวนานนี้มีหลายมิติ แต่หนึ่งในมิติที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้แก่ภาษาทางการเมือง และโวหารทางนโยบายที่หลุดพ้นไปจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและชุดนโยบายเสรีนิยมใหม่


Bibliography

Atlantic Council. 2021. The Biden White House plan for a new US industrial policy. Accessed October 20, 2021. https://www.atlanticcouncil.org/commentary/transcript/the-biden-white-house-plan-for-a-new-us-industrial-policy/.

Block, Fred. n.d. Fred Block: America’s Stealth Industrial Policy. Accessed October 20, 2021. https://www.longviewinstitute.org/blockstealth/view/index.html.

—. 2008. Introduction: Stim-Novation and the Obama Administration. Accessed October 20, 2021. https://www.youtube.com/watch?v=BJ3YrqV7El8.

Block, Fred, Matthew Keller, and Marian Negoita. 2020. “Network Failure and the Evolution of the US Innovation System.” Journal of Industry, Competition and Trade 20: 235-247.

Institute for New Economic Thinking. 2015. Government Risk and Private Sector Reward: Interview featuring Mariana Mazzucato. Accessed October 20, 2021. https://inet.temphost.net/perspectives/videos/government-risk-and-private-sector-reward.

Margaret Thatcher Foundation. 1980. Speech to Conservative Women’s Conference. Accessed October 20, 2021. https://www.margaretthatcher.org/document/104368.

Monbiot, George. 2016. Neoliberalism – the ideology at the root of all our problems. Accessed October 20, 2021. https://www.theguardian.com/books/2016/apr/15/neoliberalism-ideology-problem-george-monbiot.

Obama, Barack. 2009. President Obama on Stabilizing the Auto Industry. Accessed October 20, 2021. https://www.youtube.com/watch?v=TpYNFB-ZfNA.

Squatriglia, Chuck. 2009. Feds Lend Tesla $465 Million to Build Model S. Accessed October 20, 2021. https://www.wired.com/2009/06/tesla-loan/.

The Mercury News. 2014. Loan program that funded Solyndra finds success in Tesla and many others. Accessed October 20, 2021. https://www.mercurynews.com/2014/12/29/loan-program-that-funded-solyndra-finds-success-in-tesla-and-many-others/.

The Sydney Morning Herald. 2017. The neoliberalism of Margaret Thatcher and Ronald Reagan has run its course. Accessed October 20, 2021. https://www.smh.com.au/opinion/the-neoliberalism-of-margaret-thatcher-and-ronald-reagan-has-run-its-course-20170718-gxda42.html.

Yale Law School: The Avalon Project. 1981. First Inaugural Address of Ronald Reagan. Accessed October 20, 2021. https://avalon.law.yale.edu/20th_century/reagan1.asp.


[1] ในแง่หนึ่ง คำกล่าวนี้ก็เป็นการตอบโต้ต่อกระแสแนวคิดที่รัฐต้องเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างดุลยภาพทางเศรษฐกิจของ John Maynard Keynes ซึ่งแพร่หลายในทศวรรษที่ 1960-1970 จนเกิดเป็นกระแส “We are all Keynesian.” ในช่วง

[2] Johnson ประเมินว่า บทบาทของรัฐกับการพัฒนาในแบบญี่ปุ่นแตกต่างจากแนวคิดตลาดเสรีแบบสหรัฐอเมริกา และ แตกต่างจากรัฐวางแผนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากศูนย์กลางแบบสหภาพโซเวียต แนวคิดรัฐซึ่งแสดงบทบาทพัฒนาแบบญี่ปุ่น ซึ่งร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อทำแผนอุตสาหกรรม จึงเป็นทางเลือกที่สาม

[3] กระบวนทัศน์ห่านบิน (Flying Geese Paradigm) เป็นแนวคิดของนักวิชาการชาวญี่ปุ่นชื่อ Kaname Akamatsu ซึ่งเสนอว่า การแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศ (International Division of Labor) เพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นเป็นลำดับจะช่วยทำให้ เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกไล่กวดทันประเทศพัฒนาแล้ว การร่วมมือและแบ่งบทบาทในภูมิภาคนี้เสมือนฝูงห่านที่บินเป็นรูปตัว V ซึ่งช่วยทำให้ทั้งฝูงไปถึงเป้าหมายได้ไวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในมุมมองของ Akamatsu ญี่ปุ่นคือห่านหัวขบวนในภูมิภาคที่ชี้ทางและนำการพัฒนาห่านตัวอื่นๆ ที่บินตามมา 

[4] Section นี้อ้างอิงเนื้อหาจากบทความของ Block ซึ่งตีพิมพ์ในเว็บไซต์ Longview Institute เป็นหลัก

[5] นอกเหนือจากหน่วยงานที่กล่าวมานี้ ยังมีหน่วยงานอื่นๆ อีกที่ทำหน้าที่ลักษณะเดียวกันได้แก่ the National Institute of Standards and Technology (NIST), the Small Business Administration (SBA) และ the National Science Foundation (NSF) เป็นต้น

[6] เงินกู้เหล่านี้มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว กรณีล้มเหลวเช่น การล้มละลายของ Solyndra (พร้อมๆ กับบริษัทอื่นอีกราว 3 แห่ง) หลังได้รับเงินกู้เพื่อพัฒนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดไปถึง 23,400 ล้านบาท ทว่าหากพิจารณาในภาพรวม อัตราการผิดนัดชำระและหนี้สูญของโครงการเงินกู้เหล่านี้อยู่ในระดับต่ำ (ดู The Mercury News, 2014) และเมื่อเกิดเหตุผิดนัดชำระ เงินกู้เหล่านี้ก็ถูกสอบสวนอย่างโปร่งใสโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

[7] คำแถลงของ Obama ในปี 2009 ถึงสาเหตุที่รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ไม่เพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่รวมถึงการสนับสนุนความสามารถทางการแข่งขันของทั้งอุตสาหกรรมให้กลับมาแข็งแรงในระยะยาว ฟังได้จากคลิปนี้ https://www.youtube.com/watch?v=TpYNFB-ZfNA

[8] ดูบทความเก่าของผู้เขียน https://www.the101.world/the-celtic-tiger/

[9] Deese เริ่มต้นด้วยการทบทวนสถานการณ์ เช่น ส่วนแบ่งตลาดผลิตสารกึ่งตัวนำของสหรัฐฯ ลดลงจาก 40% ของโลกเหลือเพียงราว 10% ในช่วงเวลาเพียงสี่สิบปี, บริษัทในอุตสาหกรรมยาทยอยย้ายออกไปต่างประเทศ และกว่า 90% ของสารตั้งต้นต้องนำเข้า, ในช่วงทศวรรษที่ 1980s สหรัฐฯ เคยเป็นผู้นำการผลิตกลุ่มธาตุโลหะหายาก (rare earths) ทว่า ปัจจุบัน 85% ของการผลิตทั้งโลกถูกกำกับโดยจีน เป็นต้น เหล่านี้คือสัญญาณเตือนที่ดังลั่น และเป็นปัจจัยสำคัญที่ “รัฐบาลต้องลุกขึ้นมาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง”

[10] เงื่อนไขความสำเร็จอื่นๆ อาทิ (1) รัฐที่มีขีดความสามารถสูงเพียงพอจะขับเคลื่อนนโยบายได้จริง (2) สายสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-ทุนที่เหมาะสม และ (3) ความรู้ความเข้าใจถึงมาตรการสนับสนุนที่หลากหลายและทันสมัย เป็นต้น

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save