fbpx

ม่วนกุ๊บ EP.5 – อูยุอะยะ กะเดี้ยกะด้อ จอกลอกแจกแลก มะลิงกิงก่อง ฯลฯ

หากจะให้ขึ้นต้นประโยคแบบคลาสสิกของคนอีสาน คอลัมน์ม่วนกุ๊บตอนนี้ ขอเริ่มต้นด้วยคำว่า ‘อั่น’

‘อั่น’ ที่ไม่ได้แปลว่ากลั้นหรือหยุดยั้งไม่ให้อะไรออกมา – ตรงกันข้าม ‘อั่น’ คือคำเริ่มต้นก่อนจะพูดอะไรสักอย่าง ถ้าเป็นภาษาอังกฤษคงเปรียบได้เหมือน ‘so’ หรือ ‘well’ หรือที่คนญี่ปุ่นชอบขึ้นต้นประโยคว่า ‘อาโน’ 

เอาละ อั่นเรื่องที่ข่อยสิเว่าสู่ฟังมื้อนี่ อาจสิเข้าใจยากอยู่จักหน่อย แต่ว่าค่อยๆ อ่านไปเด้อ ม่วนบ่ม่วนจั่งค่อยว่ากัน

1

ซิกงิกแซ็กแง็ก / ซุกกุ๊กซิกกิ๊ก / โสรงโหรงเสรงเหรง / เอ๊าะเจ๊าะแอ๊ะแจ๊ะ / โจ่โหล่เจ่เหล่ / จ๊องป๊องแจ๊งเเป๊ง / เมาะๆ แมะๆ / อิหลีอิหลอ / มะลำมะลอย / อีลุ่มพุ่มพวง / มุ่นอุ้ยปุ้ย / โพ่โล่เพ่เล่ / จิกลิกจอกหลอก / ก่องจ่องแก่งแจ่ง / พ่อว่อแพ่แว่ / อูยุอะยะ / กะเดี้ยกะด้อ 

ฯลฯ

สำหรับคนที่ไม่ใช่คนอีสาน คำศัพท์ข้างต้นอาจดูเหมือนสูตรคณิตศาสตร์ที่มีแต่ไอแซ็ก นิวตันเท่านั้นที่เข้าใจ และเอาเข้าจริงก็ใช่ว่าคนอีสานทุกคนจะเข้าใจ เพราะแม้แต่คนเขียนเองก็ยังแปลไม่ออกทุกคำ (ฮ่า)

คำศัพท์เหล่านี้ถ้าอยู่แยกตัวเดี่ยวๆ ดูอย่างไรก็ไม่น่ามีความหมายได้ ไร้ที่มาที่ไป ไร้กฎเกณฑ์ และทำความเข้าใจไม่ได้ทั้งสิ้น แต่ความมหัศจรรย์ของศัพท์เหล่านี้คือ เมื่อถูกจับไปใส่ในประโยค จะทำให้ภาพของประโยคนั้นชัดเจนขึ้นระดับเห็นรูขุมขน

ยกตัวอย่างในตอนที่ 2 ของคอลัมน์ ‘ม่วนกุ๊บ’ ผู้เขียนเคยเขียนถึงคำว่า ‘มุ่นอุ้ยปุ้ย’ เอาไว้อย่างละเอียด โดยหากแปลให้กระชับจะได้ความว่า แหลกละเอียด ไม่มีชิ้นดี เละเทะ ไม่เป็นระเบียบ วุ่นวาย มั่วซั่ว แต่คำว่ามุ่นอุ้ยปุ้ย สามารถเอามาใช้ได้ในหลายสถานการณ์ เช่น 

“ในอ่างล้างจานที่ยังมีเศษอาหารอยู่บนจาน ถ้วยวางซ้อนกันกับแก้วและหม้ออย่างเลอะเทอะเกรอะกรัง ทั้งเศษผักและเนื้อติดอยู่บนช้อน พ่อกับแม่ก็จะเรียกจานกองนั้นว่าเป็นความ ‘มุ่นอุ้ยปุ้ย’ ที่ต้องรีบจัดการสะสางโดยเร็ว

เช่นเดียวกันกับที่เราสามารถใช้คำว่ามุ่นอุ้ยปุ้ยได้กับสี่แยกที่ไม่มีไฟจราจร แล้วรถขับสวนกันอย่างไร้ระเบียบ คนตีกันในงานหมอลำ หัวแตกละเอียดมุ่นอุ้ยปุ้ย ไปจนถึงการจัดการวัคซีนของรัฐบาลที่มุ่นอุ้ยปุ้ยจนชวนตั้งคำถามต่อการทำงาน

หรืออย่างคำว่า ‘โพ่โล่เพ่เล่’ ที่คนภาคกลางคนหนึ่งบอกว่าฟังแล้วนึกถึงคนเดินกะเผลก ซึ่งอาจเกิดจากการเชื่อมโยงคำว่า ‘เพ่เล่’ แบบอ่านรวบๆ จนกลายเป็นคำว่า ‘เผลก’ ก็เป็นได้ แต่ในความจริงคำว่า ‘โพ่โล่เพ่เล่’ ไม่ได้ใกล้เคียงกับการเดินกะเผลกใดๆ

หมอคนหนึ่งที่รู้จักกับผู้เขียนยกตัวอย่างสถานการณ์การใช้คำว่า ‘โพ่โล่เพ่เล่’ ไว้อย่างเห็นภาพว่า เมื่อตรวจคนไข้เสร็จแล้ว ต้องนัดคนไข้มาตรวจรอบหน้า หมอก็บอกคนไข้ไปว่า “ป้าๆ หมอโรคหัวใจเขานัดตรวจวันศุกร์ อย่าโพ่โล่เพ่เล่มาวันพุธเด้อ เดี๋ยวจะไม่ได้ตรวจนะครับ”

หากใครอ่านมาถึงตรงนี้คงจะพอเดาออกว่า ‘โพ่โล่เพ่เล่’ แปลว่า โผล่มาแบบไม่รู้เรื่อง ไม่ดูฟ้าดูฝน ไม่ดูตาม้าตาเรือ แต่ถ้าใครเป็นคนอีสาน ในนามของ native speaker นั้น คำนี้ให้ภาพของคนที่เดินก่องจ่องแก่งแจ่ง แววตาว่างเปล่า และทำปากเผ่เหว่ เมื่อพบว่าตัวเองโผล่มาในจังหวะที่ผิดพลาด หากจะให้คลาสสิกและดูช่ำชองในการใช้คำมากกว่านั้น ขอแนะนำให้เติมประโยคให้ครบว่า ‘โพ่โล่เพ่เล่น้ำไม่อาบ’ เพียงเท่านี้คุณก็จะดูเป็นคนอีสานโดยกำเนิด พูดเป็นภาษาก้อง ห้วยไร่ จะได้ว่า “ขั่นเจาะเลือดเจ้าสิเห็นแต่ลาวอ้อยต้อย”

เมื่อดูจุดร่วมแล้ว คำทั้งหมดล้วนใช้อธิบายคำนามและคำกริยา หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘คำวิเศษณ์’ ในภาษาลาว มีคำวิเศษณ์จำนวนมากไว้ให้เลือกใช้งาน ไม่ว่าคุณจะพูดถึงท้องฟ้า สายลม อารมณ์โกรธ ความเงียบ ความกว้าง ความเร็ว ฯลฯ และยิ่งเพิ่มอรรถรสในการใช้งานไปอีกด้วยการมีคำสร้อยเกือบทุกคำ เช่น คำว่า อูยุอะยะ (พะรุงพะรัง) หากมาแต่คำว่า ‘อูยุ’ พาลจะชวนให้นึกถึงส้มยูสุมากกว่า แต่ถ้าพูดเต็มๆ ไปว่า ‘อูยุอะยะ’ จะเห็นภาพคนถือถุงแกงสามถุง นิ้วทั้งสิบไม่ว่าง ไหล่ทั้งสองข้างไม่มีที่ให้สะพายอะไรอีกแล้ว เป็นต้น หรือถ้าเราจะพูดถึงความเงียบ ก็สามารถแตกย่อยความเงียบออกไปได้หลายระดับ เช่น มิดซีลี มิดจั๊ด มิดอ้ำจ้ำ มิดอุ่นพุ่น แล้วแต่ว่าจะเอาเงียบแค่ไหน

จริงๆ แล้วในภาษาไทยก็มีคำที่ใช้อธิบายคำนามหรือกริยาหลายคำ โดยมีคำสร้อยไว้เพิ่มอรรถรสเช่นกัน นึกเร็วๆ เช่น คำว่า อิเหละเขละขละ, พะรุงพะรัง เป็นต้น แต่ในภาษาอีสานดูเหมือนว่าคำเหล่านี้จะผุดขึ้นมาใหม่ไม่มีจบสิ้น ยกตัวอย่างเช่นคำว่า มะลิงกิ่งก่อง-มะล่องก่องแก่ง

หากใครเคยได้ยินเพลง ‘มะล่องก่องแก่ง’ ที่เป็นไวรัลในช่วงปีที่แล้ว จะพบว่าเนื้อร้องท่อนฮุกที่ว่า “ขอโทษที่เข้าไปเป็นมะลิ่งกิ่งก่อง สะระน่องก่องแก่ง มะน่องมะแน่งมับ ปะล่องป่องแป่ง ง้องแง้งง้องแง้งในชีวิตเธอ” นั้นชวนปวดหัวและทำความเข้าใจไม่ได้ แต่ถ้าหากจะลองแปลเป็นไทยง่ายๆ อาจได้ความว่า เข้าไปเป็น ‘อะไรก็ไม่รู้’ ในชีวิตเธอ แปลลงใต้ภูเขาน้ำแข็งกว่านั้น ก็คือเข้าไปเป็น ‘ความวุ่นวาย’ ในชีวิตเธอนั่นเอง

เพลงนี้หยิบเอาวิธีสร้างคำวิเศษณ์ในภาษาอีสานไปใช้ โดยเอาคำที่ไม่มีความหมายมาเรียงต่อกันให้กลายเป็นคำหลัก-คำสร้อย แต่เลือกสรรคำที่ให้ ‘ความรู้สึก’ คือฟังแล้วยังไงก็ดูวุ่นวายเป็นปัญหาแน่ๆ และผลลัพธ์ก็กลายเป็นความเพลิดเพลิน (แบบงงๆ) ที่แม้แต่คนไม่เข้าใจภาษาก็หยิบเอาไปใช้อย่างสนุกสนาน

2

แม้แต่นักภาษาศาสตร์เองก็เคยบอกว่าถ้าจะมีพจนานุกรมสำหรับคำเหล่านี้คงต้องเผื่อหน้าว่างใส่คำใหม่ๆ เข้าไปเสมอ และไอ้ที่มีอยู่แล้วก็เยอะจนจดบันทึกกันไม่หวาดไม่ไหว

การใช้คำที่ไร้ความหมายในการอธิบายภาพ เสียง หรือลักษณะที่เกิดขึ้น นับเป็นความสามารถอันน่ามหัศจรรย์ในการใช้ภาษาของมนุษย์ เราเปล่งเสียงออกมาเพื่ออธิบายสิ่งที่เห็น แล้วส่งต่อจนเข้าใจตรงกันว่าคำเหล่านี้หมายถึงอะไร เราไม่ได้เพียงชี้โต๊ะเป็นโต๊ะ ชี้ฟ้าเป็นฟ้า แต่เราอธิบายต่อไปได้ว่า วันนี้ฟ้าแจ้งจ่างป่าง ดูแล้วน่าออกไปตากผ้า และเราบรรยายได้ว่า ความเงียบที่มีเสียงจักจั่นเรไรอยู่เบื้องหลังกับความเงียบที่ไม่มีอะไรเลยนั้นต่างกันอย่างไร

ความสามารถเหล่านี้ทำให้เรามีจินตนาการ และยิ่งเพิ่มขีดความสามารถในการอธิบายโลกใบนี้เท่าที่มนุษย์จะเห็นและรู้สึกได้ – การมีจินตนาการทำให้มนุษย์มีอารยะและมีชีวิต

การมีคำเยอะ ทำให้เรามองโลกใบนี้ได้ละเอียดขึ้น สร้างเฉดของวัตถุหรือกริยาที่เราเห็นได้อย่างเป็นจริงที่สุดเท่าที่ความสามารถในการคิดคำของเราจะทำได้ – อย่างน้อยก็จริงในหมู่ของคนที่เข้าใจภาษากัน

แน่ละ ไม่ใช่แค่ภาษาลาวที่มีการสร้างคำจากเสียงที่ไม่มีความหมายใดๆ แต่ในเมื่อคอลัมน์นี้ชื่อม่วนกุ๊บแล้ว จึงขอหยิบเอาเฉพาะคำลาวมาเล่าสู่กันฟัง พูดให้น่าหมั่นไส้กว่านั้น คำลาวก็มีคำจำพวกนี้เยอะจริงๆ เยอะจนถ้าจะสื่อสารกันให้ถึงใจจริงๆ ในการเล่าเรื่องสักเรื่อง เราอาจมีคำวิเศษณ์ในประโยคเกิน 5 คำ เช่น

“ผู้ชายท่าทางก่องจ่องแก่งแจ่ง สูงโจ้นโพ่น เฮ็ดปากเผ่เหว่ มาขอกินข้าว เฮานั่งเล่นเมาะๆ แมะๆ อยู่ หันไปเว่านำ เบิ่งแล้วเป็นตาลิโตนกะเดี้ยกะด้อ”

ในนามของแบบทดสอบ ขออนุญาตไม่พากย์ไทย ทิ้งไว้เป็นปริศนาธรรมว่าจินตนาการของเราตรงกันแค่ไหน

ว่าแล้วก็ขอจบเพียงเท่านี้ ไม่ต้องทำหน้าซิกงิกแซ็กแง็ก ไว้เจอกันตอนหน้า! 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save