fbpx
ม่วนกุ๊บ EP.2 - ความมุ่นอุ้ยปุ้ยของบ้านนี้เมืองนี้

ม่วนกุ๊บ EP.2 – ความมุ่นอุ้ยปุ้ยของบ้านนี้เมืองนี้

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

[box]

คอลัมน์ ‘ม่วนกุ๊บ’ ว่าด้วยเรื่องอีสานม่วนๆ อาหารการกิน ดนตรี เครื่องแต่งกาย สำเนียงสำนวน ผู้คน และวัฒนธรรมที่เลื่อนไหลไปตามความหลากหลายของโลก

[/box]

 

ตอนที่ฉันยังเด็ก หลังเลิกเรียน เมื่อถึงบ้านแล้วฉันจะรีบถอดกระโปรงนักเรียนกองไว้ตรงพื้นห้องนั่งเล่น เหลือแต่กางเกงขาสั้นที่ใส่ซ้อนข้างใน แล้วรีบแจ้นออกไปหาเพื่อนที่รอวิ่งเล่นกันอยู่หน้าบ้าน เมื่อกลับบ้านมาอีกครั้ง แม่จะบ่นว่า “ทำไมกองกระโปรงไว้มุ่นอุ้ยปุ้ยแบบนี้ล่ะลูก”

ในอ่างล้างจานที่ยังมีเศษอาหารอยู่บนจาน ถ้วยวางซ้อนกันกับแก้วและหม้ออย่างเลอะเทอะเกรอะกรัง ทั้งเศษผักและเนื้อติดอยู่บนช้อน พ่อกับแม่ก็จะเรียกจานกองนั้นว่าเป็นความ ‘มุ่นอุ้ยปุ้ย’ ที่ต้องรีบจัดการสะสางโดยเร็ว

วันที่มีหมอลำเสียงอีสานเข้ามาแสดงในตำบล หนุ่มสาวผู้เฒ่าผู้แก่ต่างเดินทางมาร่วมชมการแสดงอย่างคับคั่ง จนถึงช่วงพีคของงาน วัยรุ่นต่างหมู่บ้านก็เริ่มเขม่นกัน ก่อนจะลงท้ายด้วยการตีกันหัวแตกมุ่นอุ้ยปุ้ย

บนแยกที่วุ่นวายที่สุดแห่งหนึ่งในตัวเมืองขอนแก่น เป็นแยกขนาดเล็ก ไม่มีสัญญาณไฟจราจร แต่เป็นแยกที่มีความหนาแน่นของรถอยู่ตลอดเวลา ทั้งจะเข้าเมือง ทั้งจะเลี้ยวเข้าบึงแก่นนคร ทั้งจะหันหน้าออกนอกเมือง ต่างคนต่างอยากไปตามเส้นทางของตัวเอง ความจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ความบีบแตร ความยักแย่ยักยันนี้ เราเรียกมันว่า ‘แยกมุ่นอุ้ยปุ้ย’ แปลเป็นภาษาไทยอย่างตรงตัว แต่ยังไม่ถึงใจว่า ‘แยกวุ่นวาย’

คำว่า ‘มุ่นอุ้ยปุ้ย’ ถ้าแปลเป็นไทยจะได้ความประมาณว่า แหลกละเอียด ไม่มีชิ้นดี เละเทะ ไม่เป็นระเบียบ วุ่นวาย มั่วซั่ว ก็คือมันมุ่นอุ้ยปุ้ยน่ะ

‘มุ่นอุ้ยปุ้ย’ ใช้ได้กับทั้งเรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ หยิบจับไปใส่ในบริบทไหนก็ดูจะได้อารมณ์ไปเสียหมด ยิ่งถ้าเราเป็นอีสาน native speaker คำนี้คือสุดยอดสารพัดประโยชน์ที่ยิ่งใช้ยิ่งสนุก

มีมุกตลกหนึ่งในโซเชียลฯ ที่ทำเอาคนอีสานหัวเราะท้องคัดท้องแข็ง กับบทสนทนาช้ำๆ ของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ขออนุญาตฉายซ้ำดังนี้ว่า

“เรากลับมาคุยกันเหมือนเดิมได้มั้ย”

“คุยได้ แต่ความรู้สึกเราไม่เหมือนเดิมนะ”

“คือไร มีแฟนแล้วเหรอ”

“ยังไม่มีหรอก แต่ความรู้สึกเรา เธอทำมันมุ่นอุ้ยปุ้ยหมดแล้ว”

ฯลฯ

ทั้งหมดที่ว่ามานี้คือความเฉียบและลูกล่อลูกชนของคำว่ามุ่นอุ้ยปุ้ย ฉันเคยถามเพื่อนที่ไม่ใช่คนอีสานว่า ถ้าไม่เคยรู้ความหมายของคำนี้มาก่อน ฟังแล้วให้ความรู้สึกยังไง เพื่อนบอกว่า ก็ให้ความรู้สึกมุ่นอุ้ยปุ้ยนั่นแหละ ฉันหัวเราะลั่น

ความมุ่นอุ้นปุ้ยนี่มันมุ่นอุ้ยปุ้ยจริงๆ

ภาษาอีสานหลายคำ ไม่ได้มีความหมายชัดเจน แต่เอาไว้ใช้ไปเติมรสชาติให้คำอื่น โดยพลิกแพลงไปได้แล้วแต่ใจจะพาไป ขอยกตัวอย่างอีกสักชุด เช่นคำว่า จิ่งปิ่ง จ่างป่าง แจ่งแป่ง โจ่งโป่ง (หลายคนอาจจะคุ้นหูมาก่อนจากเพลง ฮักอ้ายโจ่งโป่ง ของ ฝน ธนสุนทร) เมื่อสระเปลี่ยน ความหมายของคำก็เปลี่ยนไป เช่น จิ่งปิ่ง – รูขนาดเล็ก, จ่างป่าง – สว่าง โล่ง ท้องฟ้าไร้เมฆหมอก เช่น ฟ้าแจ้งจ่างป่าง, แจ่งแป่ง – ความหมายคล้ายจ่างป่าง ใช้คู่กันเป็น แจ่งแป่งจ่างป่าง, โจ่งโป่ง – ลักษณะของรูที่ใหญ่มองเห็นทะลุตลอด เรียก ฮูโจ่งโป่ง เป็นต้น

อาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ท่านหนึ่งเคยพูดกับฉันว่า ศัพท์หลายคำในภาษาอีสานไม่สามารถบรรจุในพจนานุกรมได้ เพราะยากที่จะหาความหมายที่เหมาะสมได้จริงๆ

เอาละ กลับมาที่มุ่นอุ้ยปุ้ยกันต่อ

ช่วงที่ผ่านมาฉันใช้คำว่ามุ่นอุ้ยปุ้ยบ่อยขึ้น ไม่ใช่เพราะต้องจัดการกับกระโปรงบนพื้นหรือกองจานในอ่างหรอก แต่เป็นเพราะเหตุการณ์บ้านเมืองที่นับวันยิ่งไม่สมเหตุสมผลขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่นับชีวิตประจำวันในเมืองหลวงที่มีโอกาสเจอความมุ่นอุ้ยปุ้ยได้ทุกชั่วขณะ

ช่วงหนึ่งที่กองบรรณาธิการตกลงกันทำเรื่องเมือง ฉันก็พบว่า มหานคร ‘น่าอยู่’ แห่งนี้ คือเมืองที่มุ่นอุ้ยปุ้ยในทุกมิติ ทั้งทางเท้ากลกระเบื้อง ทั้งรูปแบบอาคาร ทั้งขนส่งสาธารณะที่อุดมไปด้วยวินมอเตอร์ไซค์ รถเมล์เสียงดังครืดคราด รถสองแถวที่ขับช้ากว่าเต่า และรถไฟฟ้าที่เสียอยู่ตลอดเวลา พร้อมกันกับที่ฝุ่น PM 2.5 ยังคงวนเวียนอยู่ไม่ไปไหน และไร้วี่แววว่ารัฐบาลจะจัดการอะไร นอกจากบอกให้ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น — พูดเหมือนคนไม่เคยรอรถเมล์

ขยับไปเรื่องระดับประเทศมากกว่านั้น การเลือกตั้งมีนา 62 ที่ผ่านมา หลายต่อหลายครั้งที่เห็นกันชัดๆ ว่า มีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นอยู่ในหลายกระบวนการของการเลือกตั้ง ทั้งบัตรเขย่ง การจัดเขตเลือกตั้งที่สับสนวุ่นวาย และวิธีการนับคะแนนที่กว่าจะได้รายชื่อ ส.ส. แต่ละพรรค ก็ใช้เวลาเป็นเดือน ยังไม่นับว่าสูตรที่ใช้นับคะแนนนั้น เด็กคณิตศาสตร์โอลิมปิกมาเห็นอาจต้องร้องไห้ — สำหรับฉัน นี่เป็นการเลือกตั้งที่มุ่นอุ้ยปุ้ยที่สุดครั้งหนึ่ง

ยังไม่นับการบริหารงานของรัฐบาลที่ก็เห็นกันอยู่ว่าเป็นอย่างไร

ช่วงที่ผ่านมา ภาวะการวิพากษ์วิจารณ์ในบ้านเมืองเรา แทบจะเรียกได้ว่าต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ผู้คนก่นด่ากันในโลกโซเชียลได้ก็จริง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครถูกจับหรือโดนเรียกไปปรับทัศนคติ

เราอยู่ในบ้านเมืองที่มุ่นอุ้ยปุ้ย และดูท่าว่าจะเพิ่มดีกรีความมุ่นอุ้ยปุ้ยขึ้นไปเรื่อยๆ เขียนไปแบบนี้อาจเหมือนคนชังชาติ แต่ด้วยความเคารพ เพราะด้วยรักและห่วงใยนี่แหละ ที่ทำให้เราต้องติเตียนกันบ้าง

ฉันว่าประเทศไทยเหมือนสายไฟ คือพันเกี่ยวกันอย่างยุ่งเหยิง หาวิธีแก้เงื่อนไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าต้นทางความวุ่นวายนี้อยู่ตรงไหน แก้ตรงนี้ได้ ตรงนั้นก็วุ่น แถมฝุ่นก็เกาะเต็ม หยิบจับอะไรก็เปื้อนมือ ไหนจะยังต้องกลัวไฟฟ้าช็อตอีก ถ้าพยายามไปแก้สายไฟให้เป็นระเบียบมากจนเกินไป และนี่ก็นับเป็นอีกหนึ่งความมุ่นอุ้ยปุ้ย

ในทางภาษา คำว่ามุ่นอุ้ยปุ้ย เป็นเหมือนมวลอารมณ์ที่ไม่รู้จะสรรหาคำไหนมาอธิบายให้ตรงใจ แต่ขยับขับเคลื่อนไปได้ตลอด ภาษาที่ไม่ได้กำหนดความหมายตายตัวจึงนับเป็นความงามและความสุขอย่างยิ่งของการใช้ภาษา

หลายครั้งที่เรายังขาดการอธิบาย ทุกอย่างมักเป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จรวบรัด ขาดการพรรณนา ยกตัวอย่าง หรือถกเถียงเพื่อให้เห็นมิติของเรื่องราว และก็เพราะการถกเถียงกันอย่างละเอียดนี่แหละที่ทำให้เราเห็นแง่มุมของโลกอย่างเป็นจริงมากขึ้น

ภาษาต้องการการอธิบาย มนุษย์ต้องการการอธิบาย เพราะมันมุ่นอุ้ยปุ้ย เราจึงยิ่งต้องคลี่ขยายให้แจ้งจ่างป่าง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save