fbpx
ปู่ย่ายุคดิจิทัล: อย่าให้ใครตกขบวนความเปลี่ยนแปลง

ปู่ย่ายุคดิจิทัล: อย่าให้ใครตกขบวนความเปลี่ยนแปลง


ภาพดอกไม้พร้อมข้อความทักทายและคำคมธรรมะประจำวันที่ถูกส่งมาทางไลน์กลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุในโลกดิจิทัล ไม่ว่ารู้ตัวหรือไม่ พฤติกรรมเล็กน้อยเหล่านี้เป็นผลจากการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับชีวิตประจำวันของคนแต่ละช่วงวัย

ผู้คนในแต่ละเจเนอเรชันพร้อมจะให้เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันได้มากน้อยต่างกัน สิ่งสำคัญคือคนทุกช่วงวัยต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและมีความรู้เท่าทัน เมื่อโลกในวันนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

ในวันที่ดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว แทรกซึมอยู่ในทุกความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น สิ่งสำคัญคือการระมัดระวังไม่ให้ใครตกหล่นไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่ได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญต่อชีวิตเช่นนี้มาก่อน

คนรุ่นปู่ย่าตายายจะทำความเข้าใจหลานที่เป็น digital native อย่างไร ความเชื่อของคนรุ่นก่อนยังใช้ได้ผลไหมในยุคที่ทุกคนมี Google อยู่ในมือ ผู้สูงวัยต้องปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับความสัมพันธ์ในครอบครัวที่อยู่บนโลกดิจิทัล

101 ชวนหาคำตอบผ่านการพูดคุยกับ รศ.ดร.พนม คลี่ฉายา หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ (DIRU) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำงานวิจัยเรื่อง การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของผู้สูงอายุและข้อเสนอเพื่อการเสริมสร้างภาวะพฤฒิพลังของผู้สูงอายุไทย ซึ่งได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาผู้สูงอายุในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาพดี มีส่วนร่วมกับครอบครัว ชุมชน สังคม และมีความมั่นคงทางรายได้และที่อยู่อาศัย

แน่นอนว่าการพัฒนาผู้สูงวัยเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในวันที่ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น


รศ.ดร.พนม คลี่ฉายา (ภาพจากเว็บไซต์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)


‘ลูกหลาน’ แรงกระตุ้นให้ผู้สูงอายุเริ่มเรียนรู้


ก่อนเริ่มต้นบทสนทนา พนม ชวนทำความเข้าใจว่ากระบวนทัศน์ในการมองผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อภาพผู้สูงอายุในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนจาก passive เป็น active เพราะต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมาก ทั้งในการให้บริการสาธารณะ สุขภาพ สวัสดิการ การทำธุรกรรม โดยเฉพาะเมื่อมีโควิด-19 เข้ามากระตุ้นให้โลกต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น

พนมทำการวิจัยเชิงสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างอายุ 50-70 ปีทั่วประเทศจำนวน 1,400 คน สัมภาษณ์เชิงลึกผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 44 คน และผู้ก้าวสู่วัยผู้สูงอายุ 50-59 ปี จำนวน 20 คน รวมทั้งศึกษากรณีตัวอย่างผู้สูงอายุที่สามารถใช้เทคโนโลยีสร้างความสัมพันธ์ สร้างรายได้ และผลผลิตชุมชน รวม 10 กรณี

“เวลามองผู้สูงอายุกับเทคโนโลยีต้องมองเป็นกลุ่มย่อย จะมองแบบเหมารวมไม่ได้ สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปไม่ได้โตมากับเทคโนโลยี จะไม่คุ้นเคยการใช้งาน และสภาพร่างกายที่มีปัญหาสายตา อุปกรณ์หรือแอปฯ ไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อพวกเขาจนกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ แม้ว่าเขาจะไม่เดือดร้อนที่จะไม่ใช้สิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเขาใช้ได้จะเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีทักษะเทคโนโลยีระดับหนึ่ง เป็นกลุ่มที่เคยใช้คอมพิวเตอร์ในวัยทำงานและใช้งานแอปฯ ที่ไม่ยุ่งยากได้ แม้ว่าใช้งานโซเชียลมีเดียไม่คล่อง แต่มีพื้นฐานที่ทำให้เรียนรู้ได้เร็ว”

ผู้สูงอายุมีทั้งคนที่มีแรงจูงใจอยากใช้เทคโนโลยีให้เป็นและคนที่ไม่มีแรงจูงใจในการใช้ พนมพบว่าแรงกระตุ้นที่จะทำให้ผู้สูงอายุใช้งานและปรับตัวกับเทคโนโลยีได้คือ ‘ลูกหลาน’ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ต่างจังหวัดและมีลูกหลานเข้ามาทำงานในเมืองจนต้องห่างกัน

“ผู้สูงอายุจะมีแรงผลักดันที่จะเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อติดต่อสื่อสาร เฟซไทม์ คุยไลน์กับลูกหลาน แต่พวกเขาต้องได้รับการสนับสนุน ตั้งแต่เรื่องอุปกรณ์ที่อาจต้องซื้อใหม่หรือเปลี่ยนรุ่นใหม่ให้ ต้องสอนเรื่องการใช้งาน ซึ่งจะช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ของคนต่างวัยได้ ผู้สูงอายุมีแรงจูงใจอยากคุยกับลูกหลาน อยากปรับตัวใช้เทคโนโลยี แต่จะใช้งานตามกรอบฟังก์ชันที่ได้เรียนรู้จากลูกหลาน” พนมกล่าว



สานสัมพันธ์ด้วยการสร้างคอนเทนต์ออนไลน์


ใช่ว่าผู้สูงอายุจะใช้เทคโนโลยีไม่คล่องแคล่วเสมอไป มีผู้สูงอายุบางกลุ่มสามารถเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีได้ด้วยตัวเอง ใช้โซเชียลมีเดียได้คล่องแคล่ว จนบางคนสามารถขยับจากการใช้งานในชีวิตประจำวันไปสู่การสร้างรายได้ เช่น การเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์บนยูทูบหรือเปิดเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง จนสามารถสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มและเป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว

พนม ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่เขาได้ไปสัมภาษณ์คือ จี้เพ็ก ที่ทำชาแนลยูทูบ Neophuket Food Channel ร่วมกับลูกชาย จี้เพ็กเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยววัยเจ็ดสิบปลายที่สนิทกับลูกชาย เรียนจบด้านการทำอาหารและเคยเปิดร้านอาหาร มีเทคนิคการทำอาหารแบบดั้งเดิม ขณะที่ลูกชายเรียนจบด้านนิเทศศาสตร์ ต้องการหางานอดิเรกให้แม่ทำและต้องการเผยแพร่สูตรอาหารพื้นเมืองโบราณ จึงมาช่วยกันทำคลิปสอนทำอาหาร ทำให้เกิดกิจกรรมในครอบครัวและสานต่อความสัมพันธ์

ลูกชายจี้เพ็กเขียนถึงเหตุผลที่มาทำชาแนลยูทูบนี้ว่า “ผมทำช่อง Neophuket Food เพื่อให้อาหารของแม่ไม่สูญหาย เพราะคนรุ่นนี้มักมีเคล็ดลับดีๆ ตอนทำอาหารมาบอกลูกหลานเสมอ ช่วยให้กำลังใจแม่นะครับ แกเริ่มสนุกตรงที่มีคนจำแกได้เวลาไปตลาด หรือเจอเพื่อนๆ คอมเม้นต์ต่างๆ ผมก็นำไปเล่าให้แม่ฟัง แม่จะรู้สึกตื่นเต้นสดใสทุกครั้ง ทำให้คนวัย 76 ปี ไม่เฉา มีความสุขมากๆ ครับ”

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก จี้เพ็ก


อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ป้าแท็ก ครูเกษียณที่มีลูกชายพิการสองคน ป้าแท็กคิดว่าตัวเองเป็นครูที่เคยดูแลเด็กมามากมาย จึงต้องการใช้เวลาร่วมกับลูกและครอบครัว โดยลูกชายที่มีทักษะด้านการตัดต่อวิดีโอสนับสนุนให้ทำชาแนลยูทูบ Paatax Channel ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้สูงวัย สอนทำอาหาร แต่งหน้า โดยมีสามีและลูกช่วยกันถ่ายทำ ตัดต่อ ลงเสียง ลูกชายช่วยสอนป้าแท็กให้รู้จักใช้โทรศัพท์มือถือและกล้องในการถ่ายทำ และให้คำแนะนำในการพัฒนาเนื้อหาคลิป

“ผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มจะมีอุปสรรคและแรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน แรงจูงใจหนึ่งคือความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ครอบครัวที่มีความผูกพันกันอยู่แล้วจะสามารถใช้เทคโนโลยีทำให้คนในครอบครัวใกล้ชิดกันมากขึ้นได้ แต่ถ้าครอบครัวที่ไม่ใกล้ชิดกันมาก่อนก็จะเกิดขึ้นได้ยาก พื้นฐานครอบครัวจะเอื้อโอกาสให้ผู้สูงอายุมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุตอนปลายจะไม่สามารถเริ่มใช้เทคโนโลยีได้เอง ต้องมีบุตรหลานเป็นตัวกระตุ้น” พนมกล่าว

สำหรับครอบครัวที่ไม่ได้ใกล้ชิดกันมาก่อนก็อาจเริ่มสร้างความสัมพันธ์ด้วยเทคโนโลยีได้ โดยมีปัจจัยอื่นมากระตุ้น เช่น ช่วงการระบาดของ โควิด-19 ทำให้ผู้คนกลับไปอยู่บ้านมากขึ้นและนำไปสู่การใช้เวลาร่วมกับผู้สูงอายุในครอบครัว เช่น หลานชวนยายมาเล่น TikTok ทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไป

พนมมองว่า ในอนาคตจะเกิดความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกรูปแบบหนึ่ง จากเดิมที่ลูกหลานจะต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว แต่เมื่อ Internet of Things (IoT) พัฒนามากขึ้นจะกลายมาเป็นตัวช่วยในการดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ลูกหลานออกไปทำงานนอกบ้านได้อย่างสบายใจ ครอบครัวติดต่อกันได้สะดวกมากขึ้น มีโอกาสทำให้ผู้สูงวัยไม่รู้สึกเหงา มีกล้องวงจรปิดและเทคโนโลยีช่วยเหลือหากเกิดเหตุฉุกเฉินเมื่อลูกหลานไม่อยู่บ้าน ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างระหว่างที่ลูกหลานทำงานเลี้ยงชีพ

ส่วนสังคมชนบทที่ลูกหลานต้องทำงานต่างเมืองก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกขึ้น แต่ต้องมีการพัฒนาแอปฯ เพื่อทำให้การติดต่อลูกหลานทำได้ง่ายขึ้น โดยภาครัฐอาจมีโครงการสนับสนุนการพัฒนาให้เอกชนหรือสตาร์ตอัปมาช่วยกันคิดค้นเทคโนโลยีที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัย



เฟกนิวส์ : เมื่อความเป็นห่วงกลายเป็นภัย


การสอนผู้สูงอายุใช้เทคโนโลยีจำเป็นต้องทำควบคู่กับการทำให้รู้ถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

“อย่ามองว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งเลวร้าย มันทำให้ผู้สูงอายุชีวิตดีขึ้นได้ ผมเชื่อว่าผู้สูงอายุจะติดมือถือไม่มาก ด้วยอุปสรรคเรื่องสายตาและสุขภาพที่ไม่เอื้อ และไม่ใช่กลุ่มคนที่แสวงหาอุปกรณ์ใหม่ๆ ผู้สูงอายุจะใช้งานเท่าที่จำเป็น แต่เราก็ต้องทำให้เขารู้เท่าทันสื่อด้วยเพื่อป้องกันถูกหลอกลวง” พนมกล่าว

บ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุมักแชร์เฟกนิวส์โดยไม่ตรวจสอบแหล่งที่มา พฤติกรรมนี้จะเริ่มกระทบคนในครอบครัว หากผู้สูงอายุรับข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กและพยายามนำสิ่งนั้นมาใช้กับหลานหรือคนอื่นในครอบครัว

พนมบอกว่า จากการพูดคุยกับผู้สูงอายุเรื่องการแชร์เฟกนิวส์ ผู้สูงอายุบางคนบอกว่าตัวเองก็ไม่รู้ว่าข้อมูลนั้นจริงหรือไม่ แต่กดแชร์ไว้ก่อน เพราะหากเป็นเรื่องจริงจะได้เตือนลูกหลานให้ระวังตัว นั่นเพราะความเป็นห่วงคนในครอบครัว ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ลูกหลานไม่เข้าใจ

เรื่องการเอาวิธีการผิดๆ มาเลี้ยงหลานก็เช่นกัน สิ่งที่จะแก้ได้คือการสร้างความรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเริ่มมีการตั้งคำถามกับเนื้อหาที่ได้มา

“สำหรับผู้สูงอายุ เรื่องใดที่ไม่สนใจเขาก็จะไม่ไปยุ่งเลย แต่เขาจะสนใจเรื่องการเลี้ยงหลาน อาหารการกิน สุขภาพ ปัญหานี้ต้องมองภาพใหญ่ ตั้งแต่คนปล่อยข้อมูล ต้องมีมาตรการกำกับหรือการลงโทษที่ชัดเจน เพราะมีกลุ่มคนที่จงใจปล่อยข้อมูลปลอมอยู่จริงๆ ส่วนฝั่งผู้รับข้อมูล ถ้ามีเทคโนโลยีมาช่วยตรวจข้อเท็จจริงได้จะช่วยหยุดยั้งการแชร์เฟกนิวส์ได้

“ผมกำลังทำวิจัยโปรแกรมตรวจความน่าเชื่อถือของข่าว คือเว็บไซต์ Thai DI Machine ถ้าสงสัยว่าข่าวนี้ถูกต้องไหมก็ให้ก็อปปี้มากดวิเคราะห์ จะแสดงผลออกมาว่ามีแนวโน้มจะเป็นข่าวปลอมหรือเป็นข่าวจริง ในอนาคตถ้าทำเป็นปลั๊กอินในไลน์ให้ผู้สูงอายุกดตรวจสอบข้อมูลได้เลยก็จะช่วยได้มาก

“อย่าโกรธหรือรำคาญเวลาผู้สูงอายุส่งข่าวแบบนี้หรือส่งภาพสวัสดีมาทุกวัน เขาทำแบบนี้เพื่อบอกว่าตัวเองยังสบายดีอยู่ คนไหนที่อยู่ในกลุ่มไลน์แล้วหายไปจะเป็นสัญญาณว่าเกิดอะไรขึ้น วิธีการเหล่านี้มีความหมายในมุมมองของเขา ถ้าเปลี่ยนมุมมองไปมองในมุมของผู้สูงอายุบ้างจะเกิดการเรียนรู้ ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยแคบลง” พนมกล่าว



e-government ต้องมองเห็นผู้สูงวัย


สำหรับการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุใช้เทคโนโลยี พนมมองว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะใช้งานเท่าที่จำเป็น คือการใช้ติดต่อกับคนในครอบครัว เมื่อเขาคิดถึงลูกหลานก็พยายามจะใช้งานให้เป็น นอกเหนือจากนั้นก็อาจใช้ฟังเพลงหรือดูยูทูบบ้าง อย่าไปคิดแทนว่าผู้สูงอายุควรใช้งานเทคโนโลยีได้คล่องแคล่ว

สิ่งที่อาจเป็นปัญหาในอนาคตคือผู้สูงอายุตอนปลายที่คิดว่าไม่ใช้เทคโนโลยีก็อยู่ได้และไม่เรียนรู้เลย จะเกิดปัญหาเมื่อภาครัฐเดินหน้าสู่ e-government มากขึ้น สวัสดิการต่างๆ จะให้บริการผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น จึงต้องมีการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุใช้งานขั้นพื้นฐานได้

“ผู้สูงอายุจะคิดว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคือเครื่องมือ เนื่องจากปัญหาสายตา ทำให้มองไม่เห็นมือถือ เขาอยากได้อุปกรณ์ที่ดีไซน์เพื่อผู้สูงอายุ จอและตัวหนังสือต้องตัวใหญ่ขึ้น บางคนอ่านภาษาอังกฤษไม่ถนัดก็กลายเป็นอุปสรรค อีกเรื่องคือสัญญาณอินเทอร์เน็ต เมื่อไวไฟฟรีมีขีดจำกัดและคนเข้าถึงได้น้อย ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงต้องให้ลูกหลานซื้ออินเทอร์เน็ตให้หรือใช้ไวไฟบ้าน เมื่อออกจากบ้านไม่มีอินเทอร์เน็ตก็ต้องซื้อซิมเติมเงิน ทำไมเราไม่ทำให้สัญญาณไวไฟเป็นสวัสดิการพื้นฐานแก่ผู้สูงอายุ เขาจะได้สะดวกมากขึ้น เพราะในอนาคตบริการสาธารณะทั้งหมดจะพัฒนาไปสู่ออนไลน์ ซึ่งใช้เงินไม่เยอะ ผู้สูงอายุจะใช้งานเท่าที่จำเป็น ตัวผู้สูงอายุมีอุปสรรคในการใช้งานอยู่แล้วจึงต้องสร้างแรงจูงใจให้เขาใช้งาน”

อีกสิ่งที่ต้องคำนึงคือการมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุมากขึ้น เพื่อป้องกันการถูกหลอก และการสนับสนุนให้ใช้ IoT เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตผู้สูงอายุ เช่น หากหกล้มในบ้านตอนอยู่คนเดียวก็มีเครื่องมือส่งไปบอกลูกหลานหรือเชื่อมโยงไปถึงแพทย์ให้มาช่วยเหลือฉุกเฉินได้

ผู้สูงอายุตอนต้นในวันนี้จะกลายเป็นผู้สูงอายุตอนปลายในอนาคตที่สังคมเป็นดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุตอนต้นจำนวนมากเริ่มมีทักษะแล้ว แต่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทั้งจากคนในครอบครัวและภาครัฐเพื่อไม่ให้มีใครตกหล่น โดยเฉพาะโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ เช่นที่เห็นจากการลงทะเบียนโครงการ ‘เราชนะ’ แล้วมีผู้สูงอายุที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ ต้องให้เจ้าหน้าที่อุ้มขึ้นรถไปลงทะเบียนที่ธนาคาร

“เราต้องยอมรับว่ามีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงอยู่ เขาไม่มีอุปกรณ์ ถ้าปล่อยให้อยู่แบบนี้เขาก็อยู่ได้ แต่ถ้าจะไปเปลี่ยนชีวิตของเขา คุณต้องออกแบบระบบให้เขาเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก ไม่ใช่พาเขาขึ้นรถไปธนาคารเพื่อลงทะเบียน ต้องคิดว่าเขาจะเข้าถึงโอกาสได้อย่างไร อย่ามองว่ามีความเหลื่อมล้ำแล้วไปกดเขา เราต้องดึงเขาขึ้นมาและช่วยสนับสนุน โดยอาจให้ อสม. แต่ละหมู่บ้านมาช่วยเรื่องการเข้าถึงคนกลุ่มนี้ ลดราคามือถือให้ หรือให้สัญญาณมือถือฟรี

“คนเหล่านี้ต้องการบริการพื้นฐานที่จำเป็นเท่านั้น เราจะพัฒนาเป็น e-government แล้วมีคนกลุ่มที่เข้าไม่ถึง เราจะคิดว่าเขาต้องหาทางเข้าหาเองไม่ได้ เราต้องสนับสนุนเขา เราไม่ได้จะทำให้ผู้สูงอายุเป็น digital native แต่เขาต้องใช้เทคโนโลยีพื้นฐานในชีวิตได้ ถ้าใครต้องการมากกว่านี้ก็เป็นทางเลือกที่เขาอาจต้องจ่ายเพิ่มเอง แต่ถ้ารัฐจะเปลี่ยนเป็นดิจิทัลต้องสนับสนุนสิ่งเหล่านี้” พนมยืนยัน

เหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ในสังคมผู้สูงอายุที่คนในครอบครัวต้องช่วยกันสนับสนุนการเริ่มต้นเรียนรู้เทคโนโลยี ภาครัฐเองก็ต้องมองนโยบายที่ทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงอุปกรณ์และการบริการต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้เทคโนโลยีในการใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเองได้อย่างสะดวกสบาย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save