fbpx
การรัฐประหารเพื่อความมั่นคงของตัดมาดอว์

การรัฐประหารเพื่อความมั่นคงของตัดมาดอว์


“กองทัพ (ไทยและ) พม่าไม่เคยต้องต่อสู้ในสงครามใหญ่กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ข้องเกี่ยวกับกิจกรรมอื่นนับไม่ถ้วนตั้งแต่ใช้ความรุนแรงปราบกบฏและผู้เป็นปรปักษ์ต่อกระบวนการในการสร้างชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานและการสร้างความมั่งคั่งให้พวกเขากันเองและผู้นำเหล่าทัพ”

                                                                                    โรเบิร์ต เทย์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่า[1]

           

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า ได้ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งของพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยภายใต้การนำของอองซาน ซูจี ที่ทำท่าว่าจะแย่งชิงบทบาทในการปกครองประเทศไปจากกองทัพอย่างถาวร เพราะพรรคนี้ชนะการเลือกตั้งแบบซ้ำซากมาตลอดสามทศวรรษ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ก็เป็นชัยชนะอย่างท่วมท้นเป็นสมัยที่สามนับแต่การเลือกตั้งปี 1990 ได้ที่นั่งในสภาชนชาติและสภาผู้แทนราษฎรรวมกัน 396 ที่นั่ง หรือ 83 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่นั่งจากระบบเลือกตั้งทั้งหมด ในขณะที่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา ซึ่งเป็นพรรคที่กองทัพจัดตั้งและให้การหนุนหลังมาตลอดได้ที่นั่งเพียง 33 ที่นั่งในทั้งสองสภา หรือเพียงแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนสมาชิกสภาที่มาจากระบบเลือกตั้ง ดังนั้นต่อให้รวมกับสมาชิกสภาในระบบแต่งตั้งจากกองทัพ 25 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดหรือ 166 ที่นั่ง ก็ยังไม่เพียงพอที่จะชิงความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลไปจากอองซาน ซูจีได้แต่อย่างใด

มิน อ่อง หล่ายให้เหตุผลในการยึดอำนาจว่าพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งอย่างไม่ขาวสะอาด โดยที่คณะกรรมการเลือกตั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ กองทัพพบว่าเกิดความผิดพลาดในการเลือกตั้งอย่างมโหฬาร คะแนนเสียง 10.4 ล้านอาจจะมาจากการโกงเลือกตั้งและยังพบความผิดปกติอีกมาก เช่น ผู้ลงคะแนนเสียง 11,943 คนขาดคุณสมบัติเพราะอายุต่ำกว่า 18 ปี 4.6 ล้านคนไม่มีบัตรประจำตัวเพื่อยืนยันสัญชาติ และพบว่า 18,356 คนมีอายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติที่จะมีคนอายุยืนมากขนาดนั้นมาเลือกตั้ง อีกทั้งคณะกรรมการเลือกตั้งก็ประกาศจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกันหลายครั้ง[2]

ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงวันที่จะมีการเปิดสภาเป็นครั้งแรก กองทัพพม่าหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘ตัดมาดอว์’ (Tatmadaw) จึงเข้าจับกุมประธานาธิบดีวิน เมี่ยน และผู้นำตัวจริงของพม่าคืออองซาน ซูจี เพื่อให้รองประธานาธิบดีมินต์ ฉ่วย ซึ่งเป็นอดีตนายทหารที่กองทัพส่งมานั่งในตำแหน่งตามโควตา ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 417 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ประกาศภาวะฉุกเฉินและอาศัยอำนาจตามมาตรา 418 โอนอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ไปให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิน อ่อง หล่าย ซึ่งทำให้เขากลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์และใช้อำนาจนั้นในการตั้งสภาบริหารแห่งรัฐ เพื่อใช้ปกครองประเทศในภาวะฉุกเฉินและตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่โดยไม่ต้องผ่านสภา เป็นการพาพม่ากลับเข้าสู่การปกครองในระบอบทหารโดยสมบูรณ์

แม้ว่ามิน อ่อง หล่าย จะไม่ชอบให้ใครเรียกการยึดอำนาจของเขาว่าเป็นการ ‘รัฐประหาร’ ก็ตาม แต่ผลของมันคือทำให้กองทัพพม่ามีอำนาจเต็มในการควบคุมการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของพม่าหลังจากได้รับเอกราชในปี 1948  บทความนี้พยายามจะตอบคำถามสำคัญที่ว่าทำไมกองทัพพม่าจึงไม่ถอนตัวจากการเมืองเสียที ทั้งที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วในประวัติศาสตร์ว่าการปกครองโดยทหารนั้นได้พาประเทศนี้ไปสู่ความถดถอยในทุกๆ ด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการต่างประเทศ

           
กองทัพควบคุมการเมือง

           
อาจจะกล่าวได้ว่า ตัดมาดอว์อยู่ในการเมืองพม่ามาโดยตลอดและใช้เวลาส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์นับแต่ได้เอกราชเพื่อควบคุมการเมือง โดยเริ่มจากการแทรกแซงทางอ้อมในยุคแรกๆ จนถึงการควบคุมโดยตรงหลังการรัฐประหารของนายพลเน วินปี 1962 เพื่อสร้างระบอบสังคมนิยมแบบพม่าและปิดประเทศ กระทั่งปี 1988 พลเอกตาน ฉ่วย และคณะฉวยโอกาสที่นักศึกษาประชาชนลุกฮือต่อต้านระบอบเน วินยึดอำนาจอีกครั้ง และสืบทอดการปกครองแบบทหารจนถึงการเลือกตั้งในปี 2010 จึงยอมถ่ายโอนอำนาจเมื่อพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นองค์กรทางการเมืองของตัดมาดอว์ ชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศภายใต้การนำของพลเอกเต็ง เส่ง

กองทัพเปลี่ยนรูปแบบการควบคุมการเมืองมาเป็นการควบคุมโดยอ้อมผ่านพรรคการเมืองดังกล่าวและกลไกในรัฐธรรมนูญ แต่จำยอมต้องแบ่งปันอำนาจกับรัฐบาลพลเรือนที่แท้จริงที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกหลังปี 2015 เมื่อพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น แต่ตัดมาดอว์ไม่อาจจะอดทนกับการเมืองในระบบรัฐสภาที่กองทัพสูญเสียอำนาจการควบคุมได้อีกต่อไป เมื่อพรรคของซูจีชนะการเลือกตั้งอีกครั้งด้วยจำนวนที่นั่งที่มากกว่าเดิมในการเลือกตั้งปี 2020

แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2008 จะให้อำนาจกองทัพในการควบคุมการเมืองเอาไว้หลายมิติ เช่น กำหนดให้กองทัพมีโควตา 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่สมาชิกในรัฐสภา ในส่วนของฝ่ายบริหารนั้น รองประธานาธิบดี 1 คน ก็มาจากการเสนอของกองทัพ รัฐมนตรีของกระทรวงสำคัญ 3 กระทรวงคือ กระทรวงกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน นั้นเป็นโควตาของกองทัพอีกเช่นกัน อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับความมั่นคงและบทบาทของกองทัพอย่างมาก โดยกำหนดเอาไว้เป็นหลักการพื้นฐานแห่งรัฐของสหภาพพม่าว่า กองทัพจะต้องมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการนำทางการเมืองของรัฐ (มาตรา 6) รัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนดบทบาทหน้าที่ของกองทัพว่าต้องมีบทบาทนำในการป้องกันภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ (มาตรา 339) อีกทั้งยังได้กำหนดพันธกิจในเชิงอุดมการณ์ให้กองทัพอย่างชัดเจนกล่าวคือ ระบุว่า ตัดมาดอว์เป็นกองกำลังที่รักชาติเพียงหนึ่งเดียวที่เข้มแข็ง มีความสามารถและทันสมัย (มาตรา 20) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการธำรงรักษาไว้ซึ่งหลักการสามประการในรัฐธรรมนูญ อันได้แก่ ความเป็นเอกภาพของสหภาพ ความสามัคคีกลมเกลียวในชาติ และอธิปไตยของชาติ

ชัยชนะที่ท่วมท้นแบบถล่มทลายของอองซาน ซูจีและพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ทั้งในปี 2015 และ 2020 ไม่เพียงพอที่จะเปิดโอกาสให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญและหลักการพื้นฐานของอำนาจทางการเมืองของตัดมาดอว์ได้ เพราะจะต้องได้เสียงเห็นชอบมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ และถ้าเป็นหมวดสำคัญที่กำหนดเอาไว้โดยชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญแล้ว การแก้ไขนั้นจะต้องผ่านการทำประชามติด้วยเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง การกำหนดเช่นนี้ก็เท่ากับปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้หมด ต่อให้พรรคการเมืองทั้งมวลมีเอกภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังมีเสียงไม่พออยู่ดีหากไม่ได้ฉันทมติจากกองทัพ

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ตัดมาดอว์ก็ยังรู้สึกไม่มั่นคงในอำนาจอยู่นั่นเอง อองซาน ซูจีและพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยได้ขยายพื้นที่ทางการเมืองของตัวเองไปมากตลอดระยะเวลา 5 ปีที่อยู่ในอำนาจ เฉพาะอย่างยิ่งในโครงสร้างการปกครองและการบริหารงานของรัฐ ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ (State Counsellor) หรือ อภิรัฐมนตรี นั้นก็ไม่ได้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ หากแต่สร้างขึ้นมาเพื่อให้อองซาน ซูจีมีบทบาทเหนือรัฐมนตรีอื่นๆ ตำแหน่งมุขมนตรีในภาคสำคัญอย่าง มัณฑะเลย์ ก็เป็นของ ซอว์ มินต์ หม่อง ผู้นำคนสำคัญในพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เขาถูกจับหลังการรัฐประหาร)

หลังการเลือกตั้งปี 2020 ก็มีรายงานข่าวว่า ซูจี เตรียมบรรจุคนของพรรคฯ ลงในตำแหน่งนี้ทั่วประเทศ และพรรคการเมืองของซูจีก็มีคะแนนนิยมมากขึ้น มีฐานทางการเมืองในระดับชาติกว้างขวางขึ้น จะสังเกตได้ว่าแม้ในเขตพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์พรรคนี้ก็ชนะการเลือกตั้งเสียเป็นส่วนใหญ่ หมายความว่าพรรคสันนิบาติแห่งชาติฯ กำลังขยายอำนาจการควบคุมโครงสร้างการปกครองได้ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ประการสำคัญในฐานะพรรครัฐบาล อองซาน ซูจี สามารถระดมการมีส่วนร่วมของข้าราชการพลเรือนและกลุ่มทางสังคมได้มาก เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีอาสาสมัครสาธารณสุขจำนวนมากมีส่วนร่วมในการควบคุมโรคติดต่อ นี่จึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมบรรดาบุคลากรทางการแพทย์ และข้าราชการบางส่วน จึงออกมาแสดงตัวร่วมกับขบวนการอารยะขัดขืนต่อต้านการรัฐประหารอย่างทันทีทันควัน

           
โรฮิงญา : ใจกลางของปัญหาความมั่นคง


ตัดมาดอว์ถือว่าภัยคุกคามต่อความมั่นคงและเอกภาพแห่งสหภาพพม่าที่ร้ายแรงที่สุดคือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่จับอาวุธต่อสู้กับกองทัพมาตลอด 70 กว่าปีนับแต่ได้เอกราชจากอังกฤษ ความต้องการที่จะปกครองตนเองถึงแม้ไม่ถึงกับแยกตัวเป็นเอกราชก็ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงมากแล้วสำหรับกองทัพพม่าที่ถือตัวว่ามีภาระหน้าที่ในการธำรงรักษาไว้ซึ่งเอกภาพและบูรณภาพแห่งดินแดนเป็นสำคัญ สงครามกลางเมืองพม่าดำเนินมาถึงขั้นที่บางส่วนได้ลงนามในสัญญาสงบศึก ในขณะที่บางส่วนก็ยังคงสืบต่อการต่อสู้ด้วยอาวุธ

กล่าวโดยรวบรัด รัฐบาลพม่าสมัยประธานาธิบดีเต็ง เส่งได้บรรลุข้อสนธิสัญญาสงบศึกทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement) เมื่อเดือนมีนาคม 2015 กับ 8 จาก 15 กลุ่มชาติพันธุ์ ในช่วง 5 ปีตลอดสมัยรัฐบาลซูจีมีอีก 2 กลุ่ม คือพรรคมอญใหม่และสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ เข้าร่วมในปี 2018 ถึงปัจจุบันรวมเป็น 10 กลุ่ม  อองซาน ซูจีมีความประทับใจและอยากจะสืบทอดแนวทางที่นายพลอองซานผู้เป็นบิดาได้ริเริ่มเอาไว้คือ ต้องการให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมกับสหภาพพม่าในรูปของสหพันธรัฐ จึงได้รื้อฟื้นการประชุมซึ่งเคยเกิดขึ้นในปี 1947 ที่เมืองปางโหลง รัฐฉาน เรียกว่า การประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 (Union Conference 21st Century Panglong) เปิดการประชุมครั้งแรกระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 4 กันยายน 2016 มีผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด 18 กลุ่ม รวมทั้งกลุ่มที่ไม่ได้ลงนามสนธิสัญญาสงบศึกด้วย แต่ยกเว้น กองทัพอาระกัน (ยะไข่) กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (Myanmar National Democratic Alliance Army-MNDAA) คือกองกำลังกลุ่มโกกั้ง และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอั้ง (Ta’ang National Liberation Army) คือกองกำลังติดอาวุธชาวปะหล่อง ซึ่งเวลานั้นกำลังสู้รบติดพันอยู่กับตัดมาดอว์

การประชุมครั้งนั้นนับเป็นการประชุมสันติภาพนัดสำคัญระดับโลกเพราะ บัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติในเวลานั้นก็เข้าร่วม การประชุมครั้งแรกเป็นเชิงสัญลักษณ์มากกว่าจะบรรลุผลอะไรจริงจัง แต่รัฐบาลของซูจีก็ให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีการประชุมกันทุก 6 เดือน เพื่อเจรจาทางการเมืองว่าด้วยรูปแบบการปกครอง สิทธิทางการเมือง การแบ่งอำนาจ และการพัฒนาเศรษฐกิจ ทว่าตลอดสมัยของรัฐบาลซูจี มีการประชุมแค่ 4 ครั้งโดยครั้งล่าสุดก่อนการเลือกตั้ง เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2020 จบลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาแห่งสหภาพ ภาค 3 (Union Accord Part III) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นแผนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันและเตรียมการในการบังคับใช้สนธิสัญญาสงบศึก ซึ่งซูจีเห็นว่าจะต้องดำเนินการหลังการเลือกตั้ง

รัฐบาลซูจีริเริ่มขยายการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ออกไปได้กว้างขวางกว่าสมัยเต็ง เส่ง และดูเหมือนว่ากลุ่มชาติพันธุ์ส่วนหนึ่งที่ลงนามในสัญญาสงบศึกแล้วจะพอใจกับทิศทางและความคืบหน้าในการเจรจาที่สุดแล้วมุ่งไปสู่การสร้างสหพันธรัฐที่อนุญาตให้ชนชาติต่างๆ อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ในพม่าอย่างมีศักดิ์และสิทธิเท่าเทียมกัน[3] ที่สำคัญคือ สามารถทำให้ตัดมาดอว์ ซึ่งเป็นผู้คุมเกมในการเจรจาตัวจริง ยอมตกลงที่จะพูดคุยในประเด็นแนวคิด ‘สหพันธรัฐนิยม’ (federalism) ซึ่งแต่ไหนแต่ไรกองทัพพม่าไม่เคยยอมผ่อนปรนให้เลย[4] แต่ขอตั้งข้อสังเกตไว้ในที่นี้ว่า ตัดมาดอว์ยอมเจรจาในประเด็นนี้เพราะต้องการลดแรงกดดันจากภาวะความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานหรือเกรงในคะแนนนิยมของอองซาน ซูจีมากกว่าอยากจะเห็นแนวคิดนี้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมา เพราะเอาเข้าจริงกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมสัญญาสงบศึกและเจรจาสันติภาพก็ไม่ได้มีจำนวนมากนักและไม่ได้มีความเข้มแข็งพอ กองทัพพม่าอาจจะหาทางบิดพริ้วได้ในอนาคต นี่ก็จึงเป็นคำอธิบายอีกประการหนึ่งว่า ทำไมกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมกับการต่อต้านการรัฐประหารอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

ในความเป็นจริงยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่ยังจับอาวุธต่อสู้กับตัดมาดอว์อยู่ต่อไป เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อสหภาพพม่าคือ กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มในรัฐคะฉิ่นและยะไข่ ที่สำคัญได้แก่ กองทัพอาระกัน (Arakan Army) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธของชาวยะไข่แต่ไปมีฐานที่มั่นอยู่ที่รัฐคะฉิ่น ต่อสู้กับตัดมาดอว์เคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independent Army) และยังมีฐานปฏิบัติการอยู่ในรัฐยะไข่อีกด้วย

กองทัพพม่าจัดให้กองทัพอาระกันเป็นกลุ่มก่อการร้าย ทำให้กลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพ นอกจากนี้ตัดมาดอว์ยังอ้างว่า กองทัพปลดปล่อยอาระกันโรฮิงญา (Arakan Rohingya Salvation Army – ARSA) ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมโรฮิงญาติดอาวุธ ก็จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นภัยคุกคามที่สำคัญด้วย กองกำลังติดอาวุธกลุ่มนี้นำโดย อตา อูลล่าร์ ชาวโรฮิงญาที่เกิดในปากีสถานแต่ต่อมาย้ายไปอยู่ซาอุดิอาระเบียและต้องการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาวโรฮิงญาในพม่า แม้ว่ากลุ่มนี้จะเพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อปี 2012 และยังมีกำลังขนาดเล็กน่าจะราวๆ 500 คนเท่านั้น[5] และยังไม่ปรากฏรายงานที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่ากลุ่มนี้ต่อสู้ในแนวทางศาสนาอิสลามหรือมีความเชื่อมโยงกับการก่อร้ายสากล[6] แต่ด้วยความที่กลุ่มนี้เป็นชาวมุสลิมและระดมนักสู้จากรัฐยะไข่เป็นสำคัญ เฉพาะอย่างยิ่งหลังความขัดแย้งใหญ่ระหว่างชุมชนต่างศาสนิกในพม่าเมื่อปี 2012 ทำให้ตัดมาดอว์ให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยมา

ปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศได้ลุกลามกลายเป็นปัญหาทางด้านเชื้อชาติ-ศาสนา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ อันเนื่องมาจากนโยบายปราบปรามอย่างรุนแรง หลังเหตุการณ์ที่กองกำลังติดอาวุธในรัฐยะไข่ได้โจมตีฐานทหารพม่าในเดือนสิงหาคม 2017 และตัดมาดอว์ได้ปฏิบัติการกวาดล้าง (clearance operation) ยังผลให้ชาวโรฮิงญาจำนวนหลายพันคนเสียชีวิต เพราะถูกสังหารหมู่ ทรมาน ข่มขืน และคลื่นมนุษย์ 740,000 คนอพยพจากยะไข่ไปชายแดนบังคลาเทศ ไปสมทบกับผู้อพยพชาวโรฮิงญาอีกราวๆ สองแสนคนที่ลี้ภัยก่อนหน้านี้อันเนื่องมาจากความขัดแย้งในชุมชนที่ปะทุขึ้นมาเป็นคราวๆ ของกลุ่มต่างศาสนิกนับแต่ปี 2012 ทำให้ค่ายผู้อพยพโรฮิงญาในบังคลาเทศกลายเป็นค่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน 

นักสิทธิมนุษชน องค์กรระหว่างประเทศ และที่สำคัญองค์การสหประชาชาติ โดยข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนและผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติได้เก็บข้อมูลและสืบสวนเหตุการณ์ทั้งหมดพบว่ามีการปฏิบัติการอย่างเป็นระบบเพื่อกำจัดเชื้อชาติโรฮิงญาให้หมดไปจากแผ่นดินพม่า ผลจากการนั้นทำให้แกมเบียในฐานะสมาชิกองค์กรความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation) นำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019

แม้ว่าอองซาน ซูจี จะเป็นตัวแทนรัฐบาลแก้ต่างให้กับกองทัพพม่าในศาล แต่นายพลของตัดมาดอว์หลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บัญชาการทหาสูงสุด มิน อ่อง หล่าย และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกโซ วิน รวมตลอดถึงผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 19 อ่อง อ่อง และ กองพล 33 ถั่น อู ที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการปฏิบัติการกวดล้างโรฮิงญา ถูกขึ้นบัญชีดำ ห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ และทรัพย์สินของพวกเขา (ถ้ามี) ในสหรัฐฯ จะถูกอายัด[7] นั่นเท่ากับว่าปัญหาโรฮิงญาไม่เพียงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ หากแต่ยังเป็นภัยคุกคามส่วนตัวต่อผู้นำทางทหารของตัดมาดอว์อีกด้วย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หากการสืบสวนของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพบว่ามีการดำเนินการเช่นนั้นจริง ก็หมายความว่าผู้นำทางทหารพม่ามีโอกาสจะถูกดำเนินคดีในกระบวนการตุลาการระหว่างประเทศอย่างใดอย่างหนึ่งในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง

มีความเป็นไปได้มากทีเดียวที่แรงจูงใจสำคัญของ มิน อ่อง หล่าย ในยึดอำนาจรัฐบาลอองซานซูจีจะมาจากเหตุผลส่วนตัวในเรื่องนี้ เพราะนายพลอาวุโสของตัดมาดอว์รายนี้จะเกษียณอายุราชการจากกองทัพเมื่อมีอายุครบ 65 ปีในเดือนกรกฎาคม 2021 อาจจะเป็นการเสี่ยงเกินไปที่เขาจะใช้ชีวิตหลังจากนี้โดยปราศจากอำนาจทางการเมืองและการทหารคุ้มครองตัวเอง


ธุรกิจกองทัพ ธุรกิจแม่ทัพ

           
ในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ตัดมาดอว์ต้องทำธุรกิจเพื่อเลี้ยงตัวเองหรือพัฒนาเศรษฐกิจแต่อย่างใด แต่เนื่องจากกองทัพพม่าบริหารประเทศมาตลอดนับแต่ปี 1962 เรื่องเศรษฐกิจและการพาณิชย์เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าล้มเหลวมาโดยตลอดโครงการสังคมนิยมแบบพม่าของนายพลเน วินนั้นพาประเทศที่เคยรุ่งเรืองมาก่อนตกอยู่ในความอดอยากยากจน ระบบกึ่งปิดกึ่งเปิดของนายพลตาน ฉ่วย ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจพม่าก้าวหน้าเลย แต่กองทัพพม่าก็ทำธุรกิจ โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจทางด้านความมั่นคงภายในและการพัฒนาประเทศ โดยที่ผลกำไรทางธุรกิจของบริษัทในเครือกองทัพส่วนใหญ่ใช้เพื่อเลี้ยงกองทัพ เป็นสวัสดิการกำลังพล และเข้ากระเป๋าบรรดานายทหารระดับสูงในกองทัพ รวมตลอดถึงเอื้อประโยชน์ต่อนักธุรกิจที่เป็นพวกพ้อง

แม้ธุรกิจของกองทัพสูญเสียอำนาจในการผูกขาดหลังจากการเลือกตั้งปี 2010 เมื่อพม่าเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเมืองแบบพหุนิยมในช่วงรัฐบาลเต็ง เส่ง และเผชิญหน้ากับการแข่งขันมากขึ้นจากกลุ่มทุนต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศในช่วงสมัยรัฐบาลซูจี แต่ก็ยังถือได้ว่าเครือข่ายทางธุรกิจของตัดมาดอว์ที่บริหารโดยบริษัทโฮลดิ้งใหญ่สองบริษัทอันได้แก่ Union of Myanmar Economic Holding และ Myanmar Economic Corporation ก็ยังทรงอิทธิพลอยู่มากในระบบเศรษฐกิจของพม่า

สมาชิกพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเคยวิพากษ์วิจารณ์และอภิปรายแสดงความไม่พอใจบทบาทนี้ของกองทัพมาแล้วในรัฐสภาชุดที่ผ่านมา[8] จากการสืบค้นของคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติ ซึ่งทำรายงานออกมาในเดือนสิงหาคม 2019 พบว่าบริษัททั้งสองมีบริษัทลูกรวมทั้งสิ้น 106 บริษัททำกิจการที่ครอบคลุมเกือบทุกภาคส่วน ตั้งแต่เหมืองแร่ อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การธนาคาร ประกันภัย การค้า นำเข้า ส่งออก ไปจนถึงโทรคมนาคม[9]

ตัดมาดอว์ตั้งยูเนียนออฟเมียนมาร์โฮลดิ้งในปี 1990 เพื่อเป็นหน่วยบุกเบิกทางธุรกิจยุคใหม่ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะหารายได้เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับกำลังพล โดยให้หน่วยทหารต่างๆ ในระดับกองพันถือหุ้นในบริษัทนี้และได้รับดอกผลเป็นเงินปันผลประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของราคาหุ้น ข้อมูลล่าสุดในปี 2017 บริษัทนี้มีบริษัทลูกทั้งที่เข้าไปถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ และร่วมลงทุน รวมแล้ว 57 บริษัท ที่ทำกิจการหลายชนิด ตั้งแต่โรงทอ อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ ซูเปอร์มาร์เก็ต อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ธนาคาร โรงแรม ท่องเที่ยว ขนส่ง บริษัทที่มีชื่อเสียงที่อยู่ภายใต้ร่มธงของเมียนมาร์โฮลดิ้ง เช่น เมียวดี แบงก์ ศูนย์ค้าส่ง กันดามาร์ ในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ก็เป็นที่นิยมสำหรับนักซ้อปที่นิยมสินค้าในราคาขายส่งยกล็อต

เมียนมาร์อีโคโนมิค คอร์ปอร์เรชั่น เป็นบริษัทของกระทรวงกลาโหมตั้งขึ้นในปี 1997 ด้วยวัตถุประสงค์ที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าเพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจพม่า หารายได้เพื่อช่วยจุนเจือภาระทางงบประมาณของกองทัพ เพื่อสวัสดิการกองทัพ และเพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจที่จำเป็นของกองทัพ ข้อมูลล่าสุดในปี 2017 บริษัทในเครือของเมียนมาร์อีโคโนมิค คอร์ปอร์เรชั่น ทำธุรกิจทั้งสิ้น 43 ประเภท[10] ที่สำคัญๆ เช่น โรงงานถลุงเหล็ก เหมืองแร่ แก๊ส โรงน้ำตาล กระจก เครื่องดื่ม ธนาคาร โทรคมนาคม ชา ในขณะที่รายได้และผลกำไรของเมียนมาร์โฮลดิ้งส่วนหนึ่งนั้นชัดเจนว่าใช้สำหรับสวัสดิการกำลังพล แต่ผลประโยชน์จากเมียนมาร์อีโคโนมิคนั้นไม่เป็นที่ปรากฏชัดเจนนักว่าเอาไปใช้ในทางใด

สถานะทางกฎหมายของบริษัทโฮลดิ้งทั้งสองไม่ค่อยชัดเจนนัก  มิน อ่อง หล่าย เป็นประธานอุปถัมภ์โดยตำแหน่งของบริษัทเมียนมาร์โฮลดิ้ง และรองผู้บัญชาการทหารสุงสุดโซ วิน เป็นรองประธาน มีนายทหารทั้งนอกและในราชการเป็นกรรมการบริษัท บริษัททั้งสองไม่ใช่รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายพม่า เมียนมาร์โฮลดิ้งจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน ส่วนเมียมาร์อีโคโนมิค คอร์ปอร์เรชั่น เป็นบริษัทเอกชนจำกัด

จากรายงานแสวงหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติในปี 2019 พบว่าบริษัทของกองทัพทำธุรกิจเชื่อมโยงกับบริษัทเอกชนจำนวนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นพรรคพวกบริวาร (Cronies) ของกองทัพ กลุ่มทุนเหล่านี้ได้แก่ เอเชีย เวิร์ลด์ อีเดนกรุ๊ป เฟิร์สต์เมียนมาร์กรุ๊ป ทูกรุ๊ป ไอบีทีซี ไอจีอีกรุ๊ป กันบอซากรุ๊ป รอยเฮน แม๊กซ์เมียนมาร์ ฉ่วยตวง และ ฉ่วย ตัน วิน กรุ๊ป กลุ่มทุนเหล่านี้ให้ทุนสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของกองทัพมาโดยตลอดเพื่อแลกกับโอกาสในการทำธุรกิจกับบริษัทกองทัพและรับสัมปทานจากรัฐผ่านกองทัพ

ครอบครัว มิน อ่อง หล่าย เองก็ทำธุรกิจโดย อ่อง แป โซน ลูกชายทำการค้าเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องการใบรับรองจากองค์การอาหารและยา บริษัท สกายวัน ของเขาทำธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ รับงานและสัมปทานการก่อสร้างส่วนหนึ่งจากกองทัพ บริษัทกองทัพและหน่วยงานของรัฐอื่นๆ เมียว ยาดานา ติ๊ก ภรรยา อ่อง แป โซน ดูแลกิจการทางด้านอุตสาหกรรมและการค้า ลูกสาว มิน อ่อง หล่าย คือ ขิ่น ทิริ เท็ต มน เป็นเจ้าของบริษัทสื่อบันเทิงชื่อ เซเวนเซนส์ ซึ่งบริษัทในเครือคือ เซเวน ฟิล์ม โปรดักชั่น สร้างภาพยนตร์และละครท็อปฮิตติดชาร์ต ได้รางวัลมาแล้วหลายเรื่อง แม้ว่าจะเพิ่งเข้าสู่วงการบันเทิงได้ไม่นาน อีกทั้งยังลงทุนมหาศาลในธุรกิจบันเทิงและการประกวดนางงาม [11]


สรุป


มิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจทางการเมืองจากออง ซานซูจี ด้วยแรงจูงใจส่วนตัวและผลประโยชน์ของกองทัพพร้อมๆ กัน กล่าวคือในแง่ส่วนตัวเขารู้สึกไม่มั่นคง แต่ก็ยังทะเยอทะยานอยากเป็นผู้นำประเทศ เพราะนายพลอาวุโสแห่งตัดมาดอว์คนนี้กำลังจะเกษียณอายุจากกองทัพในเดือนกรกฎาคม 2021 แต่เขาไม่สามารถเดินตามรุ่นพี่และครูของเขาอย่างตาน ฉ่วยเพื่อขึ้นไปกุมอำนาจรัฐได้ เพราะพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาที่กองทัพให้กำเนิดและฟูมฟักมาตลอด ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งที่ผ่านมา การรัฐประหารจึงเป็นทางเลือกเดียวที่นายทหารแห่งตัดมาดอว์คุ้นเคยในการรักษาอำนาจ ในขณะที่ตัดมาดอว์กำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในศาลโลกอยู่ตอนนี้ ก็ดูเป็นการเสี่ยงเกินไปที่ผู้นำทางทหารที่รับผิดชอบกับการปราบปรามชนกลุ่มน้อยโดยตรงจะใช้ชีวิตหลังเกษียณโดยปราศจากความคุ้มครองทางการเมือง

มิน อ่อง หล่าย ไม่ใจเย็นมากพอที่จะปล่อยให้อองซาน ซูจีและพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยบริหารประเทศอีกหนึ่งสมัยคือ 5 ปี เพราะนั่นจะเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งสถาปนาไม่เพียงแต่แนวทางพลเรือนเป็นใหญ่ (Civilian supremacy) เหนือกองทัพที่ควบคุมการเมืองพม่ามาตลอดประวัติศาสตร์สมัยใหม่ หากยังอาจจะรุกคืบไปถึงแนวคิดสหพันธรัฐนิยม (federalism) ซึ่งยอมรับให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ มีสิทธิและส่วนร่วมในการเมืองการปกครองพม่ามากกว่าเดิม และนั่นเป็นสิ่งที่กองทัพเห็นว่าขัดกับหลักแห่งความเป็นเอกภาพภายใต้สหภาพที่ยึดถือมาโดยตลอด

มิน อ่อง หล่าย ตระหนักดีว่า หากปล่อยให้รัฐบาลพลเรือนอยู่ในอำนาจนานกว่านี้ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกองทัพและผลประโยชน์ส่วนตัว รวมถึงพวกพ้องบริวารของเขาจะต้องได้รับความกระทบกระเทือนหรืออาจจะสูญเสียไปในที่สุด


ตาราง: แสดงสถานะของตัดมาดอว์

อุดมการณ์– ชาตินิยม
– ทหารนิยม
พันธกิจ (ตามรัฐธรรมนูญ)– ป้องกันประเทศ
– รักษาผลประโยชน์แห่งชาติ และธำรงรักษาหลัก 3 ประการคือ เอกภาพแห่งสหภาพ, ความสามัคคีในชาติ และอธิปไตยของชาติ
– ปกป้องรัฐธรรมนูญ
ภัยคุกคาม – กลุ่มชาติพันธุ์
– เพื่อนบ้าน
– มหาอำนาจ
แสนยานุภาพ– กำลังพลทั้งสิ้น 515,000
– ประจำการ 400,000
– กำลังสำรอง – na
– พลเรือนติดอาวุธ 110,000
– รถถัง 595
– ปืนใหญ่ 1,909
– เครื่องยิงจรวด 496
– เรือรบ (frigate) 5
– เรือดำน้ำ 1
– เครื่องบินขับไล่ไอพ่น 60
งบประมาณประจำปี– 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อำนาจทางการเมือง– 1 ใน 2 รองประธานาธิบดีต้องเป็นโควตากองทัพ
– โควตารัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน
– ควบคุมสภากลาโหมและความมั่นคง
– ควบคุม 25 เปอร์เซ็นต์ของฝ่ายนิติบัญญัติ
– ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีอำนาจควบคุมอำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
หน่วยการเมือง– พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา
มวลชนสนับสนุน– สมาชิกสมาคมสหสามัคคีและการพัฒนา ซึ่งเคยเป็นองค์กรจัดตั้งของกองทัพ
– ชาวพุทธหัวรุนแรง
ผู้บัญชาการที่อยู่ในการเมือง– มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
– โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดติน
– อ่อง ซาน ผู้บัญชาการกองทัพเรือ
– หม่อง หม่อง จ่อ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ
– โม มิ้นต์ ตุน ผู้บังคับการหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (เนปิดอว์)
– มินต์ ฉ่วย ประธานาธิบดี
– เมี๊ยะ ตุน อู รัฐมนตรีกลาโหม
ธุรกิจ– Union of Myanmar Economic Holding
– Myanmar Economic Corporation
กลุ่มทุนพวกพ้อง (Cronies)– Asia World Group
– Aung Min Thu Group
– Authentic Group of Company
– CB Bank
– Eden Group
– International Gateway Group
– Htoo Group
– IGE Group
– Kaythar Kanbawza Group
– KT Group
– Luckyman Co.

ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียนและรายงานคณะกรรมการแสวงหาความจริง สหประชาชาติ


[1] Robert H Taylor. Epilogue: Controlling or playing politics? p.151 in Michael J Montesano, Terence Chong and Prajak Kongkirati eds, Praetorians, Profiteers or Professionals? (Singapore:ISEAS Publishing, 2020)

[2] “Republic of the Union of Myanmar State Administration Chairman Senior General Min Aung Hlaing makes speech to public” Global New Light of Myanmar” 9 February 2021 p.1 (https://cdn.myanmarseo.com/file/client-cdn/gnlm/wp-content/uploads/2021/02/9_Feb_21_gnlm.pdf)

[3] Nyein Nyein “Myanmar Peace Conference ends with participants praising ‘meaningful principle, post-election plan. Irrawaddy 21 August 2020

[4] Nay Yan Oo “A new Tatmadaw with old characteristics” p.40 in Michael J Montesano, Terence Chong and Prajak Kongkirati, eds. Praetorians, Profiteers or Professionals? (Singapore: ISEAS Publishing, 2020)

[5] Jonathan Head “Rohingya Crisis: Finding out the truth about Arsa militants” BBC 11 October 2017 (https://www.bbc.com/news/world-asia-41521268)

[6]International Crisis Group “Myanmar: A New Muslim Insurgents in Rakhine State 15 December 2016 (https://www.crisisgroup.org/asia/south-east-asia/myanmar/283-myanmar-new-muslim-insurgency-rakhine-state)

[7] Daphne Psaledakis, Simon Lewis “US slaps sanction on Myanmar military chief over Rohingya atrocities” Reuters 10 December 2019 (https://www.reuters.com/article/us-usa-myanmar-sanctions/u-s-slaps-sanctions-on-myanmar-military-chief-over-rohingya-atrocities-idUSKBN1YE1XU) 

[8] Marco Bunte. The NLD-Military Coalition in Myanmar: Military Guardianship and its Economic Foundations. pp. 117-120 in Paul Chambers, Napisa Waitoolkiat eds, Khaki Capital: The Political Economy of Military in Southeast Asia. (Copenhagen: NIAS, 2017)

[9] United Nations Human Right Council. The economic interest of Myanmar military. 5 August 2019

[10] Maung Aung Myoe The defense expenditures and commercial interests of the Tatmadaw pp. 97-131 in Michael J Montesano, Terence Chong and Prajak Kongkirati Praetorians, Profiteers or Professionals? (Singapore: ISEAS Publishing, 2020)

[11] Tin Htet Paing and Chan Thar “Military chief family members spend big on blockbuster movie beauty pageants” Myanmar Now 4 August 2019

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save