fbpx
ตรวจการบ้าน วาระแห่งชาติ PM 2.5

ตรวจการบ้าน วาระแห่งชาติ PM 2.5

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

เป็นเวลาร่วมสิบปีแล้วที่คนไทยต้องผจญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า PM 2.5 อย่างรุนแรง ในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูหนาวถึงฤดูร้อน รัฐบาลดูจะไม่ให้ความสนใจกับปัญหาสุขภาพ ปล่อยให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเอง จนเมื่อโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก รัฐบาลจึงประกาศให้ปัญหา PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติอย่างเป็นทางการ โดนเน้น 3 มาตรการหลักคือ

มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินการ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และพื้นที่เสี่ยง สามารถพิจารณากำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของพื้นที่ รวมทั้งให้มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน ซึ่งสามารถสั่งการได้ทันทีหากเกิดสถานการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่วิกฤต เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และ 17 จังหวัดทางภาคเหนือ

มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางหรือแหล่งกำเนิด ได้แก่ ยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้างและผังเมือง และภาคครัวเรือน โดยการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับรถยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิงที่เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ก่อนวันที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการส่งเสริมการทำการเกษตรที่ปลอดการเผา เป็นต้น

มาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยการพัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศเสริม เพื่อช่วยเฝ้าระวังในพื้นที่ การพัฒนาแบบจำลองการพยากรณ์คุณภาพอากาศ การทำฐานข้อมูลสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง การพัฒนาระบบเตือนภัยและระบบสนับสนุนการตัดสินใจ รวมถึงการพัฒนาและใช้งานแอพลิเคชันและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นต้น

เราลองมาเปรียบเทียบกับประเทศจีนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา PM 2.5 อย่างรุนแรงมานานหลายสิบปีเช่นกัน ทางการจีนเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติที่เรียกว่า ‘2013-2017 Clean Air Action Plan’ ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่ารัฐบาลจีนใช้นโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ประกอบด้วย

1. การประกาศลดการใช้ถ่านหินซึ่งเป็นต้นเหตุของมลพิษทางอากาศ พร้อมทั้งทุ่มเงินกว่า 3 ล้านล้านบาท เพื่อให้เปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งปิดเหมืองถ่านหินที่ไม่ได้คุณภาพจำนวนมาก และเปลี่ยนเตาเผาถ่านหินกว่า 2 ล้านเครื่องที่ปล่อยควันก่อปัญหามลพิษให้เป็นเตาเผาไร้ควันแทน

2. การจัดตั้งหน่วยงานตำรวจสิ่งแวดล้อมที่มีอำนาจเต็มที่ในการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และสามารถสั่งปิดหรือปรับโรงงานที่ทำผิดกฎหมาย โดยที่ผ่านมา ได้สั่งปิดโรงงานไปแล้วจำนวนมาก อย่างที่ไม่ต้องหวั่นเกรงต่ออิทธิพลใดๆ เพราะเป็นนโยบายที่เด็ดขาดของรัฐบาลจีน

3. การสั่งปิดโรงงานและการก่อสร้างทันทีในวันที่มีมลพิษทางอากาศสูงมาก ส่งผลให้หลายพื้นที่ของจีนที่ประสบปัญหามลพิษสูง โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวสี่เดือน อาจไม่สามารถดำเนินงานก่อสร้างใดๆ ได้เลย

4. การประกาศผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน เพื่อทดแทนรถยนต์ใช้น้ำมัน โดยจีนสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว 5 ล้านคัน และติดตั้งเสาชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศไปแล้วกว่า 2 แสนต้น

5. การคุมกำเนิดรถยนต์ดีเซลและรถยนต์เก่าที่วิ่งบนท้องถนน ด้วยการใช้มาตรการจำกัดหมายเลขทะเบียนรถที่ออกมาวิ่งแต่ละวัน

ทุกวันนี้ เมืองใหญ่ๆ หลายเมืองในประเทศจีนเริ่มมีคุณภาพอากาศดีขึ้น ต่างจากเมื่อสิบปีก่อน ที่เป็นเหมือนเมืองในหมอกควันพิษ

หากเราหันกลับมามองที่ไทย หลังจากที่รัฐบาลกำหนด PM 2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติ และมีการตั้งเป้าหมายต่างๆ แล้ว มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

1. ถึงแม้องค์การอนามัยโลกกำหนดค่ามาตรฐานอากาศดี โดยตั้งเกณฑ์ให้มีฝุ่นละอองและควันพิษในอากาศไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่กรมควบคุมมลพิษยังยืนยันว่า ค่ามาตรฐานบรรยากาศทั่วไปของไทยอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แปลว่าคนไทยมีปอดเหล็กกว่าคนชาติอื่นหรือไม่

2. แม้จะมีการกำหนดให้รัฐบาลต้องแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนล่วงหน้าสามวัน หากคุณภาพอากาศแย่มาก แต่ในความเป็นจริง ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เคยรับทราบการแจ้งเตือนภัย นอกจากจะเข้าไปดูทางแอปพลิเคชัน Air4Thai ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลที่อัพเดทแบบนาทีต่อนาทีหรือเรียลไทม์ แต่เป็นการอัพเดทในรอบ 24 ชั่วโมง ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์อันใด เพราะประชาชนอยากรู้มากกว่าว่า อากาศ ณ ขณะนั้นเป็นอย่างไร

3. ตามแผนแล้ว หน่วยราชการต้องดำเนินการใช้รถร่วมกัน หรือ Car Pool ในการเดินทางทันที แต่ในทางปฏิบัติ คงยากที่หน่วยงานรัฐใดจะทำตาม โดยเฉพาะคนในระดับรัฐมนตรีที่มีขบวนรถติดตามจำนวนมาก

4. การเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางเก่าของ ขสมก. ให้ไปใช้ก๊าซเชื้อเพลิงธรรมชาติ NGV เปลี่ยนไปได้เพียง 489 คัน จากทั้งหมดที่มีอยู่ 2,700 คัน รถที่เหลือยังปล่อยควันดำและมีค่ามาตรฐานไอเสียเกินกำหนด

5. มลพิษฝุ่น PM 5 มีแหล่งที่มาครึ่งหนึ่งจากไอเสียดีเซลจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ วาระแห่งชาติจึงกำหนดให้รถยนต์ใหม่ทุกคันในประเทศต้องได้มาตรฐาน ‘ยูโร 5’ ภายในปี 2564 โดยยูโร 5 คือมาตรฐานควบคุมการปล่อยมลภาวะของรถยนต์ใหม่ที่ถูกกำหนดขึ้นมาในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งได้รับการยอมรับและใช้กันทั่วโลก นอกจากนี้ วาระแห่งชาติยังบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ ‘ยูโร 6’ ภายในปี 2565 ขณะที่ในปัจจุบัน รถยนต์ที่ผลิตในบ้านเราส่วนใหญ่ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยอยู่ที่ยูโร 4

แต่ด้วยกำลังภายในของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เสนอให้รัฐบาลขยับมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่ออกไปก่อน โดยอ้างความไม่พร้อม แม้ว่าที่จริงแล้ว อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกในมาตรฐานยูโร 5 ตามความต้องการของลูกค้าได้ ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ก็ได้เห็นชอบให้เลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ไปเป็นปี 2567 และเลื่อนการใช้มาตรฐานยูโร 6 ออกไปเป็นปี 2568 เท่ากับว่าขยับทุกอย่างช้าออกไป 3 ปี

6. รัฐบาลสนับสนุนให้ใช้นโยบายเปลี่ยนรถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยมีนโยบายให้นำรถเก่าอายุเกินสิบปีไปแลกกับรถยนต์ไฟฟ้า โดยขณะนี้ บ้านเรามีรถยนต์อายุเกินสิบปีถึง 24 ล้านคันจากรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมดราว 41 ล้านคัน แต่มีรถยนต์ไฟฟ้าทุกชนิดรวมกันประมาณ 160,000 คันเท่านั้น

แต่ล่าสุด นโยบายรถเก่าแลกรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งควรจะคลอดออกมาตั้งแต่ปลายปีก่อน กลับถูกทางการเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด โดยน่าจะมีสาเหตุมาจากอิทธิพลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่หวั่นเกรงว่ายอดขายรถยนต์น้ำมันจะลดลง

ขณะที่ต่างประเทศกำลังตื่นตัวเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างจริงจัง บางประเทศมีแผนที่จะยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ได้แก่ ฝรั่งเศสและอังกฤษซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้ที่ปี 2583 เนเธอร์แลนด์ที่ปี 2569 เยอรมนีและอินเดียที่ปี 2573 ขณะที่นอร์เวย์ประกาศว่าจะให้คนทั้งประเทศใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2568 โดยได้สร้างแรงจูงใจ ด้วยการให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่อทะเบียนรถยนต์ฟรี ขึ้นทางด่วนในราคาลดลงครึ่งหนึ่ง และจอดรถในที่สาธารณะได้ฟรี เป็นต้น ส่วนประเทศจีนก็ได้พลิกวิกฤติมลพิษทางอากาศเป็นโอกาสอันดีในการขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก

หลายประเทศประกาศวาระแห่งชาติเพื่อต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง และพยายามทำให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้อากาศบริสุทธิ์กลับคืนสู่ประชาชนโดยเร็ว ต่างจากบางประเทศที่ประกาศเป้าหมายออกไปชัดเจน แต่กลับเลื่อนกำหนดไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของกลุ่มอิทธิพลบางกลุ่ม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save