fbpx
ศาสตราจารย์ ความรู้ และมหาวิทยาลัยระดับโลก

ศาสตราจารย์ ความรู้ และมหาวิทยาลัยระดับโลก

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

มหาวิทยาลัยในความเหลื่อมล้ำ

 

อาการตระหนกของผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาของไทยต่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกดูราวจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ การกำหนดตำแหน่งทางวิชาการโดยเฉพาะตำแหน่งศาสตราจารย์ให้ต้องผูกติดกับความเป็น ‘ระดับนานาชาติ’ ก็เป็นส่วนหนึ่งของอาการที่แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น

ในห้วงเวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา การจัดอันดับเพื่อเปรียบเทียบคุณภาพระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ ได้กลายมาเป็นหลักหมายสำคัญของการอ้างอิงถึงลำดับชั้นของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยว่ามีตำแหน่งแห่งที่อยู่ในระดับใด มหาวิทยาลัยแห่งไหนเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับชั้นนำ ระดับกลาง หรือมหาวิทยาลัยปลายแถว โดยแทบไม่ได้มีการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของกระบวนการจัดอันดับที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย

ตำแหน่งแห่งที่ของมหาวิทยาลัยในการจัดอันดับได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อแนวนโยบายในการบริหารงานของผู้บริหารนับตั้งแต่ระดับประเทศลงมาถึงระดับมหาวิทยาลัย และส่งผลสืบเนื่องต่อมาถึงบรรดาคนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยอย่างมาก

ในระดับนโยบาย เป็นที่รับรู้กันมายาวนานถึงความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณลงไปยังสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มมหาวิทยาลัยเก่าแก่จำพวกเสาหลักของแผ่นดิน ปัญญาของแผ่นดิน หรือสอนให้รักประชาชน จะได้รับงบประมาณตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท ไปจนถึงมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี (ทั้งนี้ ไม่รวมทรัพย์สินหรือที่ดินของมหาวิทยาลัยที่นำมาจัดหารายได้เพิ่มเติมของแต่ละสถาบันอีก) ส่วนมหาวิทยาลัยจัดตั้งใหม่ หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏ งบประมาณจะอยู่ในหลัก 500 ล้านบาทไปจนถึงประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งมักเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ

จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าเมื่อมีการกำหนดประเภทของมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (อันหมายถึงงบประมาณและการสนับสนุนที่เป็นพิเศษ) จะพบว่าก็ล้วนอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเก่าแก่และอุดมไปด้วยความมั่งคั่งแทบทั้งสิ้น สำหรับมหาวิทยาลัยบ้านนอกก็จะได้รับงบประมาณในลักษณะที่ ‘ไม่โตแต่ไม่ตาย’ อันหมายถึงยังคงสามารถดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนต่อไป แต่แทบจะไม่เห็นโอกาสการยกระดับทางวิชาการในเชิงสถาบันเพื่อให้มีความก้าวหน้า และรวมไปถึงชะตากรรมของบุคลากรก็ตกอยู่ในลักษณะเดียวกันกับมหาวิทยาลัยที่ตนสังกัดอยู่เช่นกัน

มหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมากในสังคมไทยเป็นตัวอย่างอันชัดเจนของการดำรงอยู่แบบ ‘ไม่โตแต่ไม่ตาย’ และยังคงสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน

 

World Class University Syndrome

 

ตำแหน่งแห่งที่ในการจัดอันดับโลกได้ส่งผลให้ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งในไทย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่อยู่ในลำดับหัวแถวและค่อนไปทางหัวแถวต่างก็พยายามผลิตแนวนโยบายเพื่อทำให้มหาวิทยาลัยที่ตนเองสังกัดอยู่สามารถดำรงอยู่ในระดับสูงได้

หากผู้บริหารชุดใดทำให้มหาวิทยาลัยนั้นๆ สามารถเลื่อนอันดับสูงขึ้นไม่ว่าจะทั้งในระดับนานาชาติหรือในระดับภายในประเทศ ก็จะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถอย่างเป็นเอกอุในการนำพามหาวิทยาลัยสู่ระดับโลก ในทางตรงกันข้าม หากต้องเผชิญกับอันดับที่เลื่อนต่ำลงหรือถูกแซงหน้าโดยมหาวิทยาลัยที่เคยอยู่ต่ำกว่าก็ต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร อาจรวมถึงการสั่นคลอนต่อเก้าอี้ผู้บริหารให้มีอายุสั้นลงไปด้วย

โดยที่การตีพิมพ์เผยแพร่งานวิชาการในวารสารระดับนานาชาติเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของตัวชี้วัดในการเป็น ‘มหาวิทยาลัยระดับโลก’ แนวทางในการบริหารงานเพื่อยกระดับหรือคงระดับของหลายมหาวิทยาลัยจึงเป็นความพยายามที่จะกระตุ้น กดดัน หรือบังคับ บุคลากรในหลากหลายรูปแบบให้ต้องมีการนำเสนอผลงานในระดับนานาชาติ

การกำหนดคุณสมบัติในการขอตำแหน่งทางวิชาการโดยเฉพาะตำแหน่งวิชาการระดับสูงให้ต้องผูกพันกับระดับนานาชาติ ในมุมหนึ่งก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะทำให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยอยู่ในฐานข้อมูลระดับโลก ดังนั้น ผลงานต่างๆ จึงไม่อาจจำกัดไว้ได้เพียงเฉพาะในสังคมไทยแต่ควรมีการเผยแพร่ในระดับที่กว้างขวางมากขึ้น แน่นอนว่าความต้องการดังกล่าวอาจไม่ใช่ความบกพร่องในตัวมันเอง แต่ปัญหาสำคัญคือความแตกต่างระหว่างสาขาวิชาซึ่งมีแนวทางการทำงานและการตีพิมพ์เผยแพร่ที่ไม่เหมือนกัน

ขณะที่บุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์อาจสามารถทำงานวิจัยได้ปีละหลายชิ้น แต่ในแวดวงทางสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ การทำงานวิชาการที่มีคุณภาพในแต่ละชิ้นโดยเฉพาะงานวิจัยหรือตำราวิชาการ (ประเภทที่ไม่ใช่งานประเภทตัดต่อกันไปมา) ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี จารีตในลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่เป็นลักษณะเฉพาะของนักวิชาการไทยเท่านั้น นักวิชาการต่างประเทศที่มีชื่อเสียงจนกลายเป็น ‘บรมครู’ จำนวนมากก็ผลิตตำราหรืองานวิจัยจำนวนไม่มาก

อาจารย์อาวุโสชาวต่างประเทศท่านหนึ่งที่ผมรู้จักมักคุ้นได้ตีพิมพ์เผยแพร่งานวิชาการของตนเองออกมาสู่สาธารณะ ภายหลังจากการเก็บข้อมูลและการทำงานในช่วงระยะเวลาประมาณ 20 ปี งานชิ้นนี้จึงต้องใช้เวลามากกว่าสองทศวรรษกว่าที่จะเผยแพร่ออกมาได้

เข้าใจว่าอาจารย์ท่านนี้ถ้าบังเอิญมาเกิดและทำงานทางวิชาการอยู่ในสังคมไทยก็อาจต้องถูกเลย์ออฟก่อนที่จะมีชื่อเสียงเป็นแน่แท้

ไม่ใช่เพียงคณาจารย์เท่านั้น หากยังรวมไปถึงนักศึกษาในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่ต้องเผชิญกับข้อกำหนดว่าต้องมีการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติจึงจะสามารถสำเร็จการศึกษาได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อนอาจารย์คนหนึ่งซึ่งเขียนและสอบวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกในหลักสูตรแห่งหนึ่งเป็นที่เรียบร้อย แต่ก็ยังไม่สามารถจบการศึกษาได้เพราะติดเงื่อนไขการตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการนานาชาติ ขณะที่อาจารย์อีกท่านหนึ่งจบการศึกษามาจากยุโรปก็ด้วยการเขียนและสอบวิทยานิพนธ์กับผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น โดยไม่มีเงื่อนไขของการตีพิมพ์แต่อย่างใด

หากมาตรการที่ใช้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัยยังไม่ประสบความสำเร็จ มหาวิทยาลัยบางแห่งก็ใช้วิธีการซึ่งชวนตกใจอยู่ไม่น้อยในการเพิ่มผลงานการตีพิมพ์ในนามของมหาวิทยาลัย ด้วยการจ้าง ‘มือปืนรับจ้าง’ ชาวต่างประเทศตีพิมพ์ผลงานภายใต้ชื่อของมหาวิทยาลัย โดยมีข้อกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องมีการตีพิมพ์จำนวนกี่บทความในรอบระยะการจ้าง แน่นอนว่าแนวทางในลักษณะเช่นนี้นอกจากไม่ได้แสดงสถานะทางวิชาการอันแท้จริงของสถาบันการศึกษานั้นๆ แล้ว ก็ยังไม่ได้ช่วยทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพทางวิชาการในระดับนานาชาติอย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด

แต่ผลติดตามมาที่ชัดเจนก็คือ ทำให้การตีพิมพ์ภายใต้ชื่อของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ยังคงอยู่ในระดับสูงได้ต่อไป

 

การเมืองในการประเมินความรู้

 

ในการประเมินวัดความสำคัญของความรู้ก็ย่อมต้องมีการสร้างเกณฑ์ขึ้นมาประเมินวัด การจะใช้เกณฑ์แบบใดเป็นเครื่องมือในการชี้วัดก็ย่อมมาจากมุมมองและการให้คุณค่าของผู้กำหนด ความรู้แบบใดจะมีความหมายขึ้นจึงไม่ใช่เพียงเพราะว่ามีความสำคัญในตัวมันเอง หากส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกณฑ์ที่ยอมรับและสร้างความหมายให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกันการผลักดันให้การประเมินความรู้ในทางวิชาการที่สัมพันธ์กับความเป็นนานาชาติก็เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับการให้คุณค่าของผู้สร้างเกณฑ์ดังกล่าว

คำถามสำคัญของความพยายามในการประเมินถึงความสำคัญของความรู้ในลักษณะเช่นนี้มีประเด็นที่ควรต้องขบคิดอย่างน้อยในประเด็นดังต่อไปนี้

หนึ่ง การยึดถือเอาความเป็น ‘นานาชาติ’ จะสามารถเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงความสำคัญของงานวิชาการได้อย่างรอบด้านและครอบคลุมหรือไม่ หากเป็นผลงานวิชาการที่มุ่งตอบคำถามและความจำเป็นที่เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยควรมีแนวทางในการประเมินถึงความสำคัญในลักษณะนี้ด้วยหรือไม่ และควรถูกพิจารณาคุณค่าในระดับใด

สอง ความแตกต่างทั้งในด้านแนวคิด แนวทางการวิจัย หรือการนำเสนอผลงานทางวิชาการระหว่างความรู้ในด้านต่างๆ ควรถูกพิจารณาให้เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการประเมินวัด ลำพังการใช้อัตราความถี่ของการตีพิมพ์หรือการอ้างอิงในวารสารวิชาการจะสามารถใช้สำหรับทุกสาขาวิชาได้อย่างเท่าเทียมหรือไม่

สาม การเป็น ‘มหาวิทยาลัยระดับโลก’ มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด โดยคำถามในที่นี้คือต้องการมุ่งไปที่ความพยายามเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกในลักษณะที่หมกหมุ่นอยู่กับตัวชี้วัดซึ่งวางอยู่บนฐานเชิงปริมาณเป็นสำคัญ จะสามารถมีกระบวนการอื่นหรือไม่ในการประเมินวัดความหมายและความสามารถในทางวิชาการที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในทางวิชาการที่เป็นอยู่จริง เฉพาะอย่างยิ่งกับสถาบันที่เน้นทางด้านสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์ที่การประเมินวัดอาจต้องแนวทางหรือเครื่องมือที่สลับซับซ้อนมากขึ้น

แน่นอนว่าการประเมินถึงสถานะของความรู้คงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในโลกปัจจุบัน แต่ถ้าหากจะมีก็ควรต้องเป็นการประเมินที่อยู่บนเงื่อนปัจจัยของความรู้แต่ละด้าน เพื่อไม่ให้การดำเนินการดังกล่าวตกอยู่ภายใต้การครอบงำของระบบความรู้แบบใดแบบหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว มิฉะนั้นแล้ว กระบวนการดังกล่าวก็จะกลายเป็นการประเมินจากอคติทางความรู้ของบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save