fbpx
ปฏิบัติการช่วงชิงความทรงจำ: คนธรรมดากับ “ก้อนหินสะดุด” ในเยอรมนี

ปฏิบัติการช่วงชิงความทรงจำ: คนธรรมดากับ “ก้อนหินสะดุด” ในเยอรมนี

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

 กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

“การต่อสู้ของมนุษย์เพื่อต้านอำนาจคือการต่อสู้ของความทรงจำเพื่อต้านการลืม” (The struggle of man against power is the struggle of memory against forgetting)

– มิลาน คุนเดอรา, The Book of Laughter and Forgetting

จากเวอร์จิเนียและอลาบามาในสหรัฐฯ ถึงบริสทอลในอังกฤษ และเมืองเอ็นเวิร์บในเบลเยี่ยม รูปปั้นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการค้าทาสชาวแอฟริกัน รวมถึงล่าอาณานิคมและสังหารคนท้องถิ่นอย่างโหดเหี้ยม กำลังถูก ‘ล้ม’ ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่กับการประท้วงโดยขบวนการ Black Lives Matter ซึ่งขยายจากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารชายชาวแอฟริกัน-อเมริกันจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ในสหรัฐฯ สู่ยุโรป

ดูเหมือนว่าความทรงจำรวมกลุ่ม (collective memory) เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์กำลังเป็นสมรภูมิต่อสู้สำคัญของภาคประชาสังคม ซึ่งมุ่งเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มเชื้อชาติสีผิว อีกทั้งยังเรียกร้องให้สังคมเห็นปัญหาความอยุติธรรมเชิงเชื้อชาติ (racial injustice) ว่าฝังรากลึก มิใช่แค่ในสถาบันการเมือง ระบบยุติธรรม และเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งที่ผู้คนเชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ขณะที่ในสหรัฐฯ อังกฤษ และเบลเยี่ยม อนุสาวรีย์นักล่าอาณานิคมถูกโค่นล้ม ในเยอรมัน ภาคประชาสังคมเลือกใช้วิธี ‘สร้าง’ สิ่งเตือนความทรงจำทางเลือก การทำลายประวัติศาสตร์เก่าจึงมิใช่หนทางเดียวในการช่วงชิงความทรงจำ อีกทางเลือกคือการรื้อฟื้นและหาทางเล่าประวัติศาสตร์ใหม่

โครงการ ‘ก้อนหินสะดุด’ (stumbling stones หรือ Stolpersteine ในภาษาเยอรมัน) สะท้อนนวัตกรรมการต่อสู้ช่วงชิงความทรงจำแบบสร้างสรรค์นี้

ในปี 1992 ศิลปินจากเมืองเบอร์ลินนามว่ากุนเธอร์ เด็มนิกช์ (Gunter Demnig) จัดงานรำลึกครบรอบ 50 ปีที่ชนกลุ่มน้อยชาวโรมาในเมืองโคโลญถูกส่งไปค่ายกักกัน-ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นาซี โดยได้วาง ‘ก้อนหินสะดุด’ ก้อนแรก ณ ที่ทำการเมืองโคโลญ ตอนแรกเขาไม่ได้คิดว่าจะขยายโครงการนี้ไปทั่วประเทศ แต่บทสนทนากับชาวเมืองโคโลญคนหนึ่ง ซึ่งปฏิเสธว่าชาวโรมาไม่ได้ถูกส่งไปยังค่ายกักกันดังที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ ได้เปลี่ยนใจกุนเธอร์

ก้อนหินสะดุดหน้าตามีลักษณะหินก้อนสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาด 10×10 เซนติเมตร สีทองนวลเงา ถูกฝังบนพื้นทางเท้าหน้าอพาร์ทเมนต์ ซึ่งเหยื่อที่ถูกระบอบนาซีสังหารเคยพักอาศัย บนพื้นผิวของหินปรากฏชื่อของเหยื่อแต่ละคน รวมถึงปีเกิด ปีที่ถูกส่งไปยังค่ายกักกันหรือปีที่เสียชีวิต และชื่อค่ายกักกัน

ผู้จัดไม่ได้จำกัดว่าเหยื่อต้องเป็นชาวยิวเท่านั้น แต่ยังรวมรายชื่อของกลุ่มคนหลากหลายที่ถูกคร่าชีวิตโดยระบอบนาซี ไม่ว่าจะเป็นชาวโรมา ผู้พิการ กลุ่มเพศทางเลือก ชาวเยอรมันเชื้อสายแอฟริกัน และผู้ฝักใฝ่ฝ่ายซ้าย

ทางเท้าในประเทศเยอรมนีเป็นพื้นที่ที่ให้คนเดินอย่างแท้จริง และผู้คนก็ใช้ทางเท้าเหล่านี้อย่างจริงจัง ขณะเดิน จึงอดไม่ได้ที่จะมองพื้นและสะดุดตากับหินเหล่านี้ ก้อนหินจึงเชื้อชวนให้ผู้เดินผ่านไปมาอ่านชื่อและประวัติอย่างย่อของเหยื่อพรรคนาซี ขณะเดียวกันก็ย้ำเตือนชาวเยอรมันถึงประวัติศาสตร์ด้านมืดของชาติตน ก้อนหินสะดุดจึงเตือนใจทุกคนว่าประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นจริง มีเหยื่อจำนวนมหาศาลจริงๆ และคนเหล่านี้คือเพื่อนร่วมชาติชาวเยอรมันที่ถูกสังหารโดยระบอบฟาสชิสต์ ที่คนเยอรมันจำนวนมากในขณะนั้นสนับสนุน นอกจากนี้ ชื่อของเหยื่อที่ระบุบนก้อนหินยังช่วยให้เราเห็นเหยื่อในฐานะปัจเจกบุคคล ซึ่งมีครอบครัว มีคนรักในเวลาที่พวกเขาและเธอถูกพรากชีวิตไป

ที่สำคัญคือก้อนหินซึ่งฝังบนพื้นถนนกลายเป็นอนุสาวรีย์ในชีวิตประจำวันที่จับต้องได้และอยู่กับผู้คนร่วมยุคสมัย

เรามักคิดถึงอนุสาวรีย์ในแบบ ‘แกรนด์’ คือต้องใหญ่และเป็นรูปคน ทั้งยังเป็นคนสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ในแง่นี้ก้อนหินสะดุดจึงสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยในกระบวนการสร้างอนุสาวรีย์ในตัวมันเอง

นอกจากนี้ ความเป็นประชาธิปไตยในโครงการสร้างก้อนหินสะดุดยังอยู่ที่ความร่วมมือแนวระนาบระหว่างผู้จัดทำโครงการ ครอบครัวของเหยื่อ ชุมชนซึ่งก้อนหินถูกฝังวาง และรัฐบาลท้องถิ่น ผู้จัดรวบรวมรายชื่อและประวัติของเหยื่อแต่ละคน โดยได้รับความร่วมมือจากครอบครัวเหยื่อ อีกทั้งยังขออนุญาตจากสมาชิกในครอบครัวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ส่วนขั้นตอนการหาวัสดุสำหรับก้อนหินและการสลักหินเป็นความร่วมมือระหว่างศิลปินและช่างฝีมือหลายคน ช่างสลักหินเล่าว่าเขารักงานนี้มาก แต่อดเศร้าใจไม่ได้ขณะที่ทำงานนี้ เช่นมีครั้งหนึ่งเขาต้องสลักชื่อของเด็กจำนวน 34 คน บนหิน 34 ก้อนเพื่อฝังบนถนนหน้าอาคารซึ่งเคยเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้ามาก่อนในเมืองฮัมบวร์ก

นอกจากนี้ โครงการยังได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทางเท้า ประชาชนทั่วไปมีบทบาทหลากหลายในโครงการ ตั้งแต่อาสาสมัครทำความสะอาดก้อนหิน ร่วมทำวิจัยหาข้อมูลเกี่ยวเหยื่อ เสนอพื้นที่ใหม่สำหรับโครงการ รวมถึงบริจาคเงินช่วยเหลือ

เมื่อปลายปี 2019 โครงการก้อนหินสะดุดเฉลิมฉลองความสำเร็จ ที่สามารถวางก้อนหินจำนวน 75,000 ก้อนได้ในหลายพันเมืองทั่วทวีปยุโรป และล่าสุดในประเทศอาร์เจนตินา โครงการยังเพิ่มกิจกรรมให้ความรู้สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่สนใจประวัติศาสตร์ความรุนแรงในยุคนาซี ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเดินทัวร์ชุมชนเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากก้อนหินสะดุด หรือร่วมจัดนิทรรศการ

“คาร์ล ชปิกเกอร์ เคยอาศัยอยู่ที่นี่ เกิดปี 1899 ถูกส่งไปค่ายกักกัน สูญหาย” (ภาพโดยผู้เขียน)
“คาร์ล ชปิกเกอร์ เคยอาศัยอยู่ที่นี่ เกิดปี 1899 ถูกส่งไปค่ายกักกัน สูญหาย” (ภาพโดยผู้เขียน)
“คารา โบอาส เคยอาศัยที่นี่ เกิดปี 1898 ถูกส่งไปค่ายกักกันและเสียชีวิตที่เอาช์วิทซ์ปี 1943”
“เฮเลน โบอาส เคยอาศัยที่นี่ เกิดปี 1897 ถูกส่งไปค่ายกักกันและเสียชีวิตที่เอาช์วิทซ์ปี 1943”
“แฮร์ธา โบอาส เคยอาศัยที่นี่ เกิดปี 1895 ถูกส่งไปค่ายกักกันและเสียชีวิตที่เอาช์วิทซ์ปี 1943” (ภาพโดยผู้เขียน)
ก้อนหินสะดุดบนทางเท้าและหน้าอพาร์ทเมนต์ ซึ่งเหยื่อระบอบนาซีเคยอาศัย
ก้อนหินสะดุดบนทางเท้าและหน้าอพาร์ทเมนต์ ซึ่งเหยื่อระบอบนาซีเคยอาศัย (ภาพโดยผู้เขียน)

การต่อสู้ช่วงชิงความทรงจำเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน ในทางหนึ่งผู้มีอำนาจพยายามจัดการความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยทำให้อนุสาวรีย์เตือนใจคนไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้หายไป รวมถึงลบเลือนชื่อบุคคลคนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ออกจากสถานที่ราชการ  กระนั้นก็ดี เราเริ่มเห็นคลื่นคนรุ่นใหม่ร่วมรำลึกวาระครบรอบ 88 ปีของการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยในปี 2475 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนนี้อย่างคึกคัก แบบที่แทบไม่เคยเห็นมาก่อน หลายคนผลิตหมุดคณะราษฎรที่ถูกทำให้หายไป ในรูปแบบพวงกุญแจ หรือกระทั่งคุกกี้

เป็นไปได้หรือไม่ว่าประชาชนกำลังทวงคืนประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย โดยสร้างสิ่งรำลึกใหม่ ที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบการรำลึกแบบเดิมผ่านอนุสาวรีย์อีกต่อไป?

อ้างอิง

Germany: 75,000th ‘Stolperstein’ for Holocaust victims laid 

‘Stumbling stones’: a different vision of Holocaust remembrance 

stolpersteine.eu

61 neue Stolpersteine in drei Tagen (New 61 ‘Stumbling Stones’ in 3 days)

In Thailand, it’s statues of democracy leaders that are disappearing 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save