จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
“การต่อสู้ของมนุษย์เพื่อต้านอำนาจคือการต่อสู้ของความทรงจำเพื่อต้านการลืม” (The struggle of man against power is the struggle of memory against forgetting)
– มิลาน คุนเดอรา, The Book of Laughter and Forgetting
จากเวอร์จิเนียและอลาบามาในสหรัฐฯ ถึงบริสทอลในอังกฤษ และเมืองเอ็นเวิร์บในเบลเยี่ยม รูปปั้นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการค้าทาสชาวแอฟริกัน รวมถึงล่าอาณานิคมและสังหารคนท้องถิ่นอย่างโหดเหี้ยม กำลังถูก ‘ล้ม’ ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่กับการประท้วงโดยขบวนการ Black Lives Matter ซึ่งขยายจากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารชายชาวแอฟริกัน-อเมริกันจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ในสหรัฐฯ สู่ยุโรป
ดูเหมือนว่าความทรงจำรวมกลุ่ม (collective memory) เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์กำลังเป็นสมรภูมิต่อสู้สำคัญของภาคประชาสังคม ซึ่งมุ่งเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มเชื้อชาติสีผิว อีกทั้งยังเรียกร้องให้สังคมเห็นปัญหาความอยุติธรรมเชิงเชื้อชาติ (racial injustice) ว่าฝังรากลึก มิใช่แค่ในสถาบันการเมือง ระบบยุติธรรม และเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งที่ผู้คนเชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ขณะที่ในสหรัฐฯ อังกฤษ และเบลเยี่ยม อนุสาวรีย์นักล่าอาณานิคมถูกโค่นล้ม ในเยอรมัน ภาคประชาสังคมเลือกใช้วิธี ‘สร้าง’ สิ่งเตือนความทรงจำทางเลือก การทำลายประวัติศาสตร์เก่าจึงมิใช่หนทางเดียวในการช่วงชิงความทรงจำ อีกทางเลือกคือการรื้อฟื้นและหาทางเล่าประวัติศาสตร์ใหม่
โครงการ ‘ก้อนหินสะดุด’ (stumbling stones หรือ Stolpersteine ในภาษาเยอรมัน) สะท้อนนวัตกรรมการต่อสู้ช่วงชิงความทรงจำแบบสร้างสรรค์นี้
ในปี 1992 ศิลปินจากเมืองเบอร์ลินนามว่ากุนเธอร์ เด็มนิกช์ (Gunter Demnig) จัดงานรำลึกครบรอบ 50 ปีที่ชนกลุ่มน้อยชาวโรมาในเมืองโคโลญถูกส่งไปค่ายกักกัน-ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นาซี โดยได้วาง ‘ก้อนหินสะดุด’ ก้อนแรก ณ ที่ทำการเมืองโคโลญ ตอนแรกเขาไม่ได้คิดว่าจะขยายโครงการนี้ไปทั่วประเทศ แต่บทสนทนากับชาวเมืองโคโลญคนหนึ่ง ซึ่งปฏิเสธว่าชาวโรมาไม่ได้ถูกส่งไปยังค่ายกักกันดังที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ ได้เปลี่ยนใจกุนเธอร์
ก้อนหินสะดุดหน้าตามีลักษณะหินก้อนสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาด 10×10 เซนติเมตร สีทองนวลเงา ถูกฝังบนพื้นทางเท้าหน้าอพาร์ทเมนต์ ซึ่งเหยื่อที่ถูกระบอบนาซีสังหารเคยพักอาศัย บนพื้นผิวของหินปรากฏชื่อของเหยื่อแต่ละคน รวมถึงปีเกิด ปีที่ถูกส่งไปยังค่ายกักกันหรือปีที่เสียชีวิต และชื่อค่ายกักกัน
ผู้จัดไม่ได้จำกัดว่าเหยื่อต้องเป็นชาวยิวเท่านั้น แต่ยังรวมรายชื่อของกลุ่มคนหลากหลายที่ถูกคร่าชีวิตโดยระบอบนาซี ไม่ว่าจะเป็นชาวโรมา ผู้พิการ กลุ่มเพศทางเลือก ชาวเยอรมันเชื้อสายแอฟริกัน และผู้ฝักใฝ่ฝ่ายซ้าย
ทางเท้าในประเทศเยอรมนีเป็นพื้นที่ที่ให้คนเดินอย่างแท้จริง และผู้คนก็ใช้ทางเท้าเหล่านี้อย่างจริงจัง ขณะเดิน จึงอดไม่ได้ที่จะมองพื้นและสะดุดตากับหินเหล่านี้ ก้อนหินจึงเชื้อชวนให้ผู้เดินผ่านไปมาอ่านชื่อและประวัติอย่างย่อของเหยื่อพรรคนาซี ขณะเดียวกันก็ย้ำเตือนชาวเยอรมันถึงประวัติศาสตร์ด้านมืดของชาติตน ก้อนหินสะดุดจึงเตือนใจทุกคนว่าประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นจริง มีเหยื่อจำนวนมหาศาลจริงๆ และคนเหล่านี้คือเพื่อนร่วมชาติชาวเยอรมันที่ถูกสังหารโดยระบอบฟาสชิสต์ ที่คนเยอรมันจำนวนมากในขณะนั้นสนับสนุน นอกจากนี้ ชื่อของเหยื่อที่ระบุบนก้อนหินยังช่วยให้เราเห็นเหยื่อในฐานะปัจเจกบุคคล ซึ่งมีครอบครัว มีคนรักในเวลาที่พวกเขาและเธอถูกพรากชีวิตไป
ที่สำคัญคือก้อนหินซึ่งฝังบนพื้นถนนกลายเป็นอนุสาวรีย์ในชีวิตประจำวันที่จับต้องได้และอยู่กับผู้คนร่วมยุคสมัย
เรามักคิดถึงอนุสาวรีย์ในแบบ ‘แกรนด์’ คือต้องใหญ่และเป็นรูปคน ทั้งยังเป็นคนสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ในแง่นี้ก้อนหินสะดุดจึงสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยในกระบวนการสร้างอนุสาวรีย์ในตัวมันเอง
นอกจากนี้ ความเป็นประชาธิปไตยในโครงการสร้างก้อนหินสะดุดยังอยู่ที่ความร่วมมือแนวระนาบระหว่างผู้จัดทำโครงการ ครอบครัวของเหยื่อ ชุมชนซึ่งก้อนหินถูกฝังวาง และรัฐบาลท้องถิ่น ผู้จัดรวบรวมรายชื่อและประวัติของเหยื่อแต่ละคน โดยได้รับความร่วมมือจากครอบครัวเหยื่อ อีกทั้งยังขออนุญาตจากสมาชิกในครอบครัวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ส่วนขั้นตอนการหาวัสดุสำหรับก้อนหินและการสลักหินเป็นความร่วมมือระหว่างศิลปินและช่างฝีมือหลายคน ช่างสลักหินเล่าว่าเขารักงานนี้มาก แต่อดเศร้าใจไม่ได้ขณะที่ทำงานนี้ เช่นมีครั้งหนึ่งเขาต้องสลักชื่อของเด็กจำนวน 34 คน บนหิน 34 ก้อนเพื่อฝังบนถนนหน้าอาคารซึ่งเคยเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้ามาก่อนในเมืองฮัมบวร์ก
นอกจากนี้ โครงการยังได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทางเท้า ประชาชนทั่วไปมีบทบาทหลากหลายในโครงการ ตั้งแต่อาสาสมัครทำความสะอาดก้อนหิน ร่วมทำวิจัยหาข้อมูลเกี่ยวเหยื่อ เสนอพื้นที่ใหม่สำหรับโครงการ รวมถึงบริจาคเงินช่วยเหลือ
เมื่อปลายปี 2019 โครงการก้อนหินสะดุดเฉลิมฉลองความสำเร็จ ที่สามารถวางก้อนหินจำนวน 75,000 ก้อนได้ในหลายพันเมืองทั่วทวีปยุโรป และล่าสุดในประเทศอาร์เจนตินา โครงการยังเพิ่มกิจกรรมให้ความรู้สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่สนใจประวัติศาสตร์ความรุนแรงในยุคนาซี ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเดินทัวร์ชุมชนเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากก้อนหินสะดุด หรือร่วมจัดนิทรรศการ


“เฮเลน โบอาส เคยอาศัยที่นี่ เกิดปี 1897 ถูกส่งไปค่ายกักกันและเสียชีวิตที่เอาช์วิทซ์ปี 1943”
“แฮร์ธา โบอาส เคยอาศัยที่นี่ เกิดปี 1895 ถูกส่งไปค่ายกักกันและเสียชีวิตที่เอาช์วิทซ์ปี 1943” (ภาพโดยผู้เขียน)

การต่อสู้ช่วงชิงความทรงจำเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน ในทางหนึ่งผู้มีอำนาจพยายามจัดการความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยทำให้อนุสาวรีย์เตือนใจคนไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้หายไป รวมถึงลบเลือนชื่อบุคคลคนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ออกจากสถานที่ราชการ กระนั้นก็ดี เราเริ่มเห็นคลื่นคนรุ่นใหม่ร่วมรำลึกวาระครบรอบ 88 ปีของการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยในปี 2475 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนนี้อย่างคึกคัก แบบที่แทบไม่เคยเห็นมาก่อน หลายคนผลิตหมุดคณะราษฎรที่ถูกทำให้หายไป ในรูปแบบพวงกุญแจ หรือกระทั่งคุกกี้
เป็นไปได้หรือไม่ว่าประชาชนกำลังทวงคืนประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย โดยสร้างสิ่งรำลึกใหม่ ที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบการรำลึกแบบเดิมผ่านอนุสาวรีย์อีกต่อไป?
อ้างอิง
Germany: 75,000th ‘Stolperstein’ for Holocaust victims laid
‘Stumbling stones’: a different vision of Holocaust remembrance
61 neue Stolpersteine in drei Tagen (New 61 ‘Stumbling Stones’ in 3 days)
In Thailand, it’s statues of democracy leaders that are disappearing