fbpx
หินสีดำและถ้อยคำจากดวงใจ

หินสีดำและถ้อยคำจากดวงใจ

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ต้นแตงกวาดอยกำลังเลื้อยดกเต็มระแนงไม้หลังบ้าน ถ้าไม่เจอเพลี้ยกับหนอนชอนใบถล่มเสียก่อน อีกไม่นานคงได้กิน

เห็นอนาคตของผลผลิตแล้วหวนนึกถึงวันที่ขึ้นไปที่บ้านกะเบอดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ แตงกวาดอยออร์แกนิกลูกเท่าฝ่ามือ พร้อมน้ำพริกหนุ่มรสจัดแกล้มข้าวเหนียวร้อนๆ กลางสายลมเย็นพัดผ่านคือความบาลานซ์ของวินาทีนั้น

ผมได้เมล็ดพันธุ์แตงกวามาจาก ดวงใจ วงศธร สาวปกาเกอะญอแห่งบ้านกะเบอดิน จากชีวิตที่คุ้นชินกับไร่นาป่าเขา ทราบว่าเธอกำลังลุกขึ้นปกป้องสิทธิบนผืนดินบ้านเกิดตัวเองด้วย

สถานการณ์โควิด-19 เอื้อให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วประเทศ ชีวิตคนถูกล็อกดาวน์ แต่เหมือนว่าความต้องการสร้างเหมืองแร่ในอมก๋อยไม่ได้ถูกล็อกดาวน์ไปด้วย ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีรายงานข่าวว่าหน่วยงานรัฐและเอกชนยังพยายามเดินหน้าผลักดันโครงการเหมืองแร่อมก๋อยให้สำเร็จ

อาจไม่ใช่แค่ดวงใจ แต่คนหนุ่มสาวถึงผู้แก่แม่เฒ่าก็ไม่ต่างกัน เมื่ออนาคตของพวกเขายังไม่ชัวร์ว่าจะออกหัวหรือก้อย เพราะผืนดินบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นถูกลิสต์ไว้ในสมุดของแผนสร้างเหมืองแร่ถ่านหิน–ที่โลกกำลังหันหลังให้เพราะมันได้โทษมากกว่าคุณ

 

หมู่บ้านกะเบอดิน
หมู่บ้านกะเบอดิน

 

เหมืองแร่ถ่านหิน
ป้ายคัดค้านที่พบได้ทั่วไปในอำเภออมก๋อย

 

ใต้ถุนบ้านของดวงใจเป็นที่เลี้ยงไก่เนื้อ แต่มีหมาพันธุ์ทาง 3-4 ตัวเข้าไปร่วมอาศัยหลบแดดบ่ายด้วย ด้านบนนอกจากชานบ้าน ห้องนอน ครัว และห้องน้ำ เธอแบ่งพื้นที่บ้านไว้อีกห้องเป็นโรงเรือนสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์

นอกจากเมล็ดแตงกวา ยังมีพริก ฟักทอง กะหล่ำ ถั่วลิสง ข้าวโพดข้าวเหนียว

บนฝาผนังหน้าบ้านของดวงใจขึงป้ายไวนิลขนาดกว้างราวๆ หนึ่งเมตร มีข้อความใหญ่ๆ ว่า “คนอมก๋อยไม่เอาถ่านหิน”

ใช่หรือไม่ว่านี่เป็นรูปธรรมอย่างสุภาพที่สุดของการประกาศไม่เห็นด้วยกับการยกบ้านเกิดตัวเองให้ใครเอาไปปู้ยี่ปู้ยำ

ห่างจากชุมชนไม่ถึง 10 นาที ดวงใจพาเดินลัดเลาะผ่านไร่กะหล่ำ นาข้าว เราได้ยินเสียงน้ำไหลรินแผ่วๆ ตั้งแต่ยังไม่ถึงต้นเสียง เธอนำเราแหวกดงเฟิร์นพันธุ์สไบนางเข้าไปถึงลำธาร และลึกเข้าไปคือห้วยผาขาวตามที่ชาวกะเบอดินเรียกขาน

จากไอแดดชวนร้อนแล้ง กลับกลายเป็นความเย็นฉ่ำสดชื่น ระดับน้ำลึกเพียงหน้าแข้งแต่ไหลทั้งปีแห่งนี้คือตาน้ำจากขุนเขาที่หล่อเลี้ยงชาวอมก๋อมทั้งอำเภอ ปลายทางของมันไปบรรจบกับแม่น้ำยวมก่อนจะออกสู่สาละวิน

 

ดวงใจกำลังทำเมนูมื้อกลางวันจากแตงกวาดอย

 

 

 

เธอหยิบก้อนหินสีดำเข้มขึ้นมาจากลำธารให้ดูว่ามันคือแร่ ‘ซับบิทูมินัส’ ที่ว่ากันว่ามีคุณภาพในการผลิตเป็นเชื้อเพลงมากกว่าแร่จำพวกลิกไนต์

ก้อนแร่น้อยใหญ่จำนวนมากที่นอนอยู่ก้นลำธารนั่นเองทำให้เธอปะติดปะต่อเรื่องราวกลับไปยังอดีตว่าทำไมบ้านกะเบอดินถึงเนื้อหอมก่อนจะกลายเป็นเป้าของอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน

สมัยราวๆ ทศวรรษที่ 2530 ดวงใจยังเป็นเด็กวัยรุ่น เธอจำได้เลือนรางว่ามีนายทุนนอกพื้นที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินไปหลายแปลง บางคนยอมขายให้ในราคาที่ใช้แบงก์พันไม่กี่ใบ ส่วนคนที่ไม่เต็มใจกลับถูกขู่ด้วยกฎหมายบุกรุกป่า ทั้งที่เป็นผืนดินอยู่สืบทอดกันมาหลายต่อหลายรุ่น เมื่อไม่อยากไปนอนตบยุงในคุกตะรางก็จำยอมกัดฟันขายให้ไป

จากข้อมูลที่เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย สืบสาวกลับไปไม่นานทำให้พบว่าต่อมาอีกสิบปีกว่าหลังจากชาวบ้านยอมขายที่ไป กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ก็ได้รับการยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินจากบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด เป็นระยะเวลา 10 ปี

ในรายละเอียดโครงการระบุว่าจากการสำรวจพื้นที่ในเขตตำบลอมก๋อย โดยเฉพาะชุมชนบ้านกะเบอดินและบ้านขุน เนื้อที่ราว 284 ไร่ 30 ตารางวา พบว่ามีถ่านหินประมาณ 720,000 ตัน

จากนั้นอีกราวสิบปีต่อมารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ดำเนินการโดย บริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด ก็สำเร็จออกมา ทำให้เราทราบว่าแท่นขุดเจาะน่าจะอยู่ในรัศมีชุมชนไม่เกินหนึ่งกิโลเมตร และถ่านหินที่ขุดได้ก็จะถูกส่งไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์ที่ลำปาง

ขั้นตอนทั้งหมดเหลือเพียงจัดเวทีประชาพิจารณ์ให้สำเร็จและรออนุมัติจากกรมอุตสาหกรรมฯ

 

 

แร่ ‘ซับบิทูมินัส’ หรือถ่านหินคุณภาพสูง พบในลำห้วยจำนวนมาก

 

จากที่เคยหลับใหล ไม่รู้หนังสือ ดวงใจและชาวบ้านหลายคนค่อยๆ ตื่นและตั้งคำถามหาความชอบธรรม

พูดให้ง่าย – คนที่ช่วยพ่อแม่ปู่ย่าตายายปลูกข้าวปลูกผักขายมาตั้งแต่เด็ก และไม่ได้เรียนสูงอย่างเธอ แทบไม่เคยเจออุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างเหมืองแร่ถ่านหิน ก็พออนุมานได้ว่าอากาศที่ดี ลำธารที่บริสุทธิ์นั้น เกินกว่าจะประเมินค่าเป็นเงินเป็นทอง และยิ่งเป็นคนละโลกกับการประเมินค่าจีดีพี

“ไม่เอาหรอกความเจริญที่ชาวบ้านเดือดร้อน เราอยู่ของเราแบบนี้ดีแล้ว” ดวงใจอธิบายความในใจเมื่อเธอถูกถามถึงความเจริญในอนาคตที่อาจมาพร้อมกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่

“คุณช่วยบอกเราที ถ้าครอบครัวของคุณเกิดที่นี่ ทำมาหากินอยู่ที่นี่ คุณจะยอมให้ใครก็ไม่รู้มาทำลายชีวิตครอบครัวคุณไหม” คำถามของดวงเรียบง่ายแต่อึกทึกอยู่ภายใน

 

 

โดยไม่ต้องอาศัยความดุดันจาก เกรตา ธันเบิร์ก​ มาอธิบายเรื่องโลกร้อน แค่ประเมินจากสายตาของเทรนด์พลังงานหมุนเวียนก็พอทราบได้เชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นสิ่งตกค้างของยุคสมัย

หลายประเทศที่เจริญแล้วล้มเลิกอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินและหันไปสร้างนวัตกรรมพลังงานทางเลือกให้สมกับโลกยุค Gen Alpha

แต่เมื่อสังคมไทยยังไปไม่พ้นยุคถ่านหิน ข้ออ้างจากฝ่ายที่อยากเห็นเหมืองถ่านหินถูกสร้างขึ้นก็ไม่ควรมองข้าม

ผมเปิดสมุดบันทึกไล่ดูเสียงของสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ที่พูดไว้บนเวที ‘วิกฤตโลกร้อน ฝุ่น PM2.5 และถ่านหินอมก๋อย’ เมื่อปลายปี 2562 ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ชัยยุทธ สุขเสริม หัวหน้ากลุ่มกำกับดูแลผู้ประกอบการ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 3 เชียงใหม่ อธิบายชัดถ้อยชัดคำว่าแร่ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนราคาถูกและมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของไทย เพราะมันช่วยสร้างงานให้คนในพื้นที่ได้ ที่สำคัญคือช่วยลดการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศได้ด้วย–ประเด็นเหล่านี้พูดอีกก็ถูกอีก

แต่ประเด็นต่อมาที่ว่าจะไม่สร้างมลพิษให้กับชุมชนนั้น ไม่ส่งผลต่อปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 เขาอธิบายว่าถ่านหินที่จะขุดได้ในพื้นที่อมก๋อยเป็นประเภทซับบิทูมินัส มีความสะอาดและได้คุณภาพมากกว่าถ่านหินประเภทลิกไนต์ซึ่งใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ การขุดแร่ถ่านหินขึ้นมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงนั้นจะไม่มีการเผาไหม้ให้เกิดเป็นฝุ่นควันในเชียงใหม่ เพราะถ่านหินจะถูกส่งไปผลิตที่ลำปาง!

ฝ่ายอุตสาหกรรมแร่มองว่า ในบรรดาความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของเมืองไทย สัดส่วนของความต้องการใช้ถ่านหินอยู่ที่ราวๆ 40 ล้านตันต่อปี แต่เรามีถ่านหินที่ขุดได้จากแม่เมาะประมาณ 2 ล้านตันต่อปี แปลว่าที่เหลือต้องซื้อจากต่างประเทศ หากอมก๋อยมีศักยภาพส่งถ่านหินให้อีก 720,000 ตัน ก็จะลดการนำเข้าถ่านหินได้

 

 

“ถ้าคุยกันดีๆ โปร่งใสไม่อำพราง เราก็ไม่ต้องเหนื่อย แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น” ภานุวัฒน์ ฝนเมฆ จากกลุ่มอาสาคืนถิ่น หนึ่งในเครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย บอกผมระหว่างเติมน้ำตาลใส่กาแฟดำรับรุ่งเช้า

หลังจากคนอมก๋อยตื่นตัว เขาเป็นหนึ่งในคนที่เดินสายร้องเรียนเพื่อให้ภาครัฐหันมาฟังเสียงจากผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงบ้าง

หนุ่มจากอมก๋อยบอกว่า เราเริ่มรวมตัวกันช่วงปี 2561 เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่จู่ๆ ชุมชนก็จะมีเหมืองแร่เข้ามาสร้าง และสิ่งที่เราร้องเรียนไปโดยที่ภาครัฐยังไม่ตอบกลับคือ

ประเด็นแรก กระบวนการทำอีไอเอไม่น่าเชื่อถือ ชาวบ้านยังมีความคลางแคลงในขั้นตอนการรวบรวมเอกสารสำเนาบัตรประชาชนของคนในพื้นที่ เพราะชาวบ้านไม่รู้มาก่อนว่าเอกสารทั้งหมดถูกนำไปใช้เป็นหลักฐานรับรองการทำอีไอเอ และหลายคนแปลกใจว่าทำไมมีลายเซ็นตัวเองในเอกสารทั้งที่เขียนหนังสือไม่เป็น

ประเด็นที่สอง เหมืองแร่จะรักษาระบบนิเวศของป่าที่ชุมชนใช้ประโยชน์มาหลายชั่วอายุคนอย่างไร โดยเฉพาะห้วยผาขาวและห้วยอ่างขางที่เป็นต้นน้ำหล่อเลี้ยงคนทั้งอำเภออมก๋อยและอาจรวมไปถึงคนอีกหลายจังหวัดด้วยเพราะลำห้วยนี้ไปบรรจบที่แม่น้ำปิง

ประเด็นสุดท้าย แม้ว่าทางเหมืองแร่จะอ้างว่าถ่านหินที่ขุดที่อมก๋อยจะถูกนำไปใช้ที่ลำปาง แต่การขนย้าย ถ่านหินจะไม่เกิดมลภาวะทั้งฝุ่นและเสียงได้อย่างไร เมื่อต้องใช้ทางสาธารณะสัญจรร่วมกัน และที่สำคัญโดยที่ตั้งของเมืองอมก๋อยมีสภาพเป็นหุบเขาแอ่งกระทะ ทำให้สภาพอากาศมีลักษณะหมุนวนภายใน หากเกิดฝุ่นละอองและมลพิษจะยิ่งทำให้ชาวบ้านได้รับอันตราย

ภานุวัฒน์บอกว่าประเด็นที่พวกเราสงสัยกลับไม่มีคำตอบ แล้วอีไอเอผ่านออกมาได้อย่างไร พอชาวบ้านรวมตัวคัดค้านสุดกำลังเมื่อเดือนกันยายน 2562 เพื่อขอให้มีการทำอีไอเอใหม่ กลับมีชาวบ้านในพื้นที่ 2 คนถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา เพราะถูกบริษัทที่จะสร้างเหมืองฟ้องหมิ่นประมาท เมื่อเราสอบถามไปยังศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นก็เพิ่งรู้ว่ามีคนถูกฟ้องทั้งหมด 7 คน ซึ่งมีนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้อีก 4 คนที่มาร่วมชุมนุมกับพวกเราถูกฟ้องด้วย

ใช่หรือไม่ว่า สิ่งที่ชาวอมก๋อยกำลังเผชิญไม่ใช่แค่มลพิษจากเหมืองแร่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่พวกเขายังเจอการใช้กฎหมายปิดปากไม่ต่างไปจากนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อื่นๆ ที่เคยเจอมาด้วย

ประเทศไทยในปี 2563 ต่างไปจากทศวรรษก่อนๆ อย่างไร หลายครั้งเราก็ตอบไม่ได้ เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่ชาวบ้านกำลังเผชิญ

 

 

 

มีหลายคนพูดว่า ‘กะเบอดิน’ หมายถึงภาชนะดินหรือหม้อดินในความหมายของปกาเกอะญอ นั่นแปลว่าพวกเขาต้องปั้นมันขึ้นมา–พูดอีกแบบก็คือทั้งบ้านของพวกเขา ทั้งชีวิตของพวกเขานั่นเองที่สร้างขึ้นมาจากผืนดิน

บนลานดินโล่งหน้าบ้านของดวงใจ เด็กๆ แห่งบ้านกะเบอดินกำลังวิ่งเล่นไล่จับกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เด็กอีกหลายคนที่ยังไม่ทันตั้งไข่ซุกอยู่ในอกอุ่นของแม่

คนหนุ่มสาวออกไปทำนา บ้างเข้าป่าหาหยูกยาสมุนไพร กลางวันของหมู่บ้านจึงหลงเหลือเพียงเด็ก แม่ลูกอ่อนและหญิงชรา

บางคนนั่งอัดยาเส้นเข้าปล้องยาสูบ ก่อนจะจุดไฟปล่อยควันลอยอ้อยอิ่ง

ดูเหมือนทุกอย่างที่นี่จะเคลื่อนไปอย่างช้าๆ แต่ผมกลับแอบหวังว่าทารกน้อยจะโตทันได้มีโอกาสเลือกอนาคตเป็นของตัวเอง ไม่ใช่ใครที่ไหนบังคับหยิบยื่นให้

แน่นอน, มันต่างอย่างสิ้นเชิงกับเมล็ดแตงกวาที่ดวงใจหยิบยื่นให้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save