fbpx
‘การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง’ หนทางสู่กระบวนการยุติธรรมที่ละเอียดอ่อนต่อเพศภาวะ

‘การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง’ หนทางสู่กระบวนการยุติธรรมที่ละเอียดอ่อนต่อเพศภาวะ

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ถ้ามองย้อนกลับไปในเรือนจำสักหลายสิบปีก่อน จะเห็นว่ากลุ่มผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักจะเป็นเพศชาย ขณะที่ผู้ต้องขังหญิง หรือแม้กระทั่งเด็ก นับเป็นคนกลุ่มน้อยในเรือนจำ ทว่าข้อมูลจากรายงาน Global Prison Trend 2020 ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จำนวนผู้ต้องขังหญิงกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือเพิ่มขึ้นถึง 50% หรือมากกว่า 7 แสนคน และมีเด็กกว่า 19,000 คนที่ต้องอยู่ในเรือนจำกับผู้เป็นแม่

เมื่อจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำมากขึ้น แต่พื้นที่กลับมีเท่าเดิม ปัญหาที่ตามมาและเป็นปัญหาเรื้อรังมานานคือ ปัญหา ‘คุกล้น’ และถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น เรือนจำเป็นสถานที่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อคนกลุ่มใหญ่ในนั้น คือผู้ต้องขังชาย เรือนจำจึงกลายเป็นสถานที่ที่ไม่มีความละเอียดอ่อนต่อเพศภาวะ และมองข้ามสภาวะทางกายภาพบางอย่างของผู้หญิง เช่น การมีประจำเดือน หรือผู้ต้องขังที่มีเด็กติดผู้ต้องขังเข้ามา ซึ่งนี่จะส่งผลลบต่อสุขภาพของผู้ต้องขังหญิง รวมไปถึงเด็กติดผู้ต้องขังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกประเด็นสำคัญคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นเหมือนตัวเร่งและเปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่เรื้อรังมานาน ทั้งปัญหาความแออัดยัดเยียดของเรือนจำที่อาจเอื้อให้เกิดการติดโควิด-19 ได้โดยง่าย หรือปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มเปราะบางในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้หญิง เด็ก หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ที่มีโอกาสจะติดโรคระบาดง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ

จากปัญหาเรื้อรังและความจำเป็นเร่งด่วนจากสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังกล่าว จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหันมาทบทวนเกี่ยวกับการใช้มาตรการคุมขังเพื่อการลงโทษอาญา โดยเริ่มมีการสำรวจมาตรการลงโทษทางอาญาที่มิใช่การคุมขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้กระทำผิดหญิง ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางและมักขาดโอกาสทางสังคม

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดงานสัมมนาออนไลน์ TIJ Global Webinar Series โดยเป็นการเปิดตัว ‘คู่มือการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังที่สอดคล้องกับเพศภาวะ’ (Toolkit on Gender-Responsive Non-Custodial Measures) ซึ่งเป็นคู่มือเพื่อแนะนำแนวทางการใช้มาตรการลงโทษทางอาญาที่มิใช่การ ‘คุมขัง’ สำหรับกลุ่มผู้กระทำผิดหญิง ที่ได้รับการพัฒนาโดย TIJ และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)

วิทยากรที่เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย Ms. Miwa Kato ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ UNODC Ms. Sabrina Mahtani นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนและผู้เขียนคู่มือดังกล่าว โดยมี คุณชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดจาก TIJ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ภาพจาก Photo Essay ชุด 'แสงเรื่อเรืองในเรือนจำ' โดย ธิติ มีแต้ม
ภาพจาก Photo Essay ชุด ‘แสงเรื่อเรืองในเรือนจำ’ โดย ธิติ มีแต้ม

 

จากข้อกำหนดกรุงเทพ สู่คู่มือการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังที่สอดคล้องกับเพศภาวะ

 

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เริ่มการเสวนาด้วยการฉายภาพให้เห็นว่า ทาง TIJ ได้เริ่มทำงานเพื่อการส่งเสริมและเผยแพร่การใช้ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง หรือข้อกำหนดกรุงเทพ มาตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ข้อกำหนดกรุงเทพถือเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังและผู้กระทำผิดหญิงอย่างเหมาะสมตามเพศภาวะ และได้รับการยอมรับกันในระดับสากล

นอกจากนี้ กิตติพงษ์ยังชี้ให้เห็นอีกแง่มุมสำคัญของข้อกำหนดกรุงเทพว่าเป็นการ “เน้นการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง” พร้อมทั้งชี้ให้เห็นปัญหาว่า การขาดแคลนทรัพยากรหรือคู่มือการปฏิบัติงานที่จะช่วยทำความเข้าใจการคุมขังมีผลกระทบกับเรื่องเพศภาวะอย่างไร

“เพื่อแก้ปัญหาที่ว่ามา ทาง TIJ ร่วมกับ UNODC จึงได้จัดทำ ‘คู่มือการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังที่สอดคล้องกับเพศภาวะ’ ขึ้น โดยหวังให้เป็นแนวนำทางในการพัฒนาและบังคับใช้ทางเลือกอื่นแทนการคุมขัง ซึ่งเป็นทางเลือกที่คำนึงถึงความต้องการของผู้หญิงด้วย”

“กระบวนการยุติธรรมทั่วโลกไม่ได้คำนึงถึงเพศภาวะ และล้มเหลวในการพิจารณาพื้นเพของผู้หญิงและประวัติการตกเป็นเหยื่อ รวมถึงไม่ได้ให้การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพวกเธอ ทำให้เมื่อผู้กระทำผิดหญิงเหล่านี้ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ เราจึงพบว่าการจำคุกกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเธอ ครอบครัว และชุมชนในวงกว้างด้วย”

แม้จะมีข้อมูลว่า การคุมขังควรถูกใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย โดยเฉพาะกับผู้กระทำผิดหญิงที่ไม่ได้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง หรือทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ แต่หลายประเทศก็ยังมิได้หาจัดมาตรการที่ตอบสนองต่อความอ่อนไหวของเพศภาวะเท่าที่ควร

“ตั้งแต่ปี 2000 จำนวนผู้ที่ถูกคุมขังในช่วงการดำเนินคดีอาญาชั้นเจ้าพนักงาน (pre-trial) และระหว่างรอการพิจารณาคดี (remand) เพิ่มขึ้น 30% และเป็นผู้หญิงกับเด็กหญิงเพิ่มขึ้นถึง 53% ทั่วโลก ขณะที่ในปี 2017 มีคนเกือบ 3 ล้านคนที่ถูกคุมขังในขั้นตอนการดำเนินคดีอาญาชั้นเจ้าพนักงาน และระหว่างรอการพิจารณาคดี”

ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า จำนวนผู้หญิงทั่วโลกที่ถูกคุมขังก่อนการดำเนินคดีอาญาชั้นเจ้าพนักงานมีจำนวน ‘เท่ากับ’ หรือ ‘มากกว่า’ จำนวนนักโทษหญิงเสียอีก ขณะที่ในบางประเทศ อัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าจำนวนผู้กระทำผิดชายที่ถูกกักขังก่อนการพิจารณาคดีเสียด้วยซ้ำ

“เมื่อเป็นเช่นนี้ พอเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราจึงเห็นปัญหาที่ฝังตัวอยู่ในกระบวนการยุติธรรมมาเป็นสิบๆ ปี ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้หญิง ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากโรคระบาดนี้”

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น กิตติพงษ์ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ซึ่งผู้ต้องขังหญิงชาวอเมริกันที่กำลังตั้งครรภ์อยู่เสียชีวิตเพราะโควิด-19 ซึ่งเขามองว่า “แม้นี่จะเป็นกรณีแรกที่ผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง แต่คงไม่ใช่กรณีสุดท้าย ถ้าเราไม่พัฒนาทางแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”

โควิด-19 กลายเป็นวิกฤตที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย และทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของการแสวงหามาตรการเพื่อบรรเทาปัญหานักโทษล้นคุก ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ โรคระบาดยังเหมือนเป็นการ ‘ท้าทาย’ ผู้ที่เกี่ยวข้องให้คิดลึกลงไปกว่าเดิม กล่าวคือ ต้องคิดว่า “ทำไมผู้กระทำผิดต้องจำคุก เราจะจำคุกใคร และเราจะจำคุกคนๆ นั้นทำไม” รวมถึงลองหาทางเลือกที่แตกต่างออกไป หรือทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมในการลงโทษ (sanction) และฟื้นฟู (rehabilitate) ด้วย

“คู่มือการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังที่สอดคล้องกับเพศภาวะนี้คือความหวังในการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มีความละเอียดอ่อนต่อเรื่องเพศภาวะ ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นหนทางอื่นที่มีความละเอียดอ่อนต่อความต้องการของผู้หญิงในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และเป็นหนึ่งในแง่มุมสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงด้วย เมื่อพูดถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรม”

 

คุก ผู้หญิง

 

ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการเสวนาร่วมแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับมาตรการแทนการคุมขังที่ยังไม่ค่อยได้รับการพูดถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่าไรนัก ซึ่งกิตติพงษ์เห็นด้วยกับประเด็นนี้ อย่างไรก็ดี เขาเสริมว่า ไม่ใช่แค่เพียงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงมาตรการเหล่านี้ เพราะแต่ละประเทศมีขั้นตอนการพัฒนามาตรการที่มิใช่การคุมขังแตกต่างกันไป บางประเทศทำได้ไประดับหนึ่ง แต่บางประเทศอาจจะเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

“ปัญหาที่คล้ายกันในภูมิภาคนี้คือปัญหานักโทษล้นคุก จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า เราจำเป็นจะต้องมีมาตรการที่มิใช่การคุมขังมากขึ้น และถึงแม้จะยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงเท่าไหร่นัก แต่ผมเชื่อว่า เรายังมีช่องทางที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นได้ เราอาจจะให้สาธารณชนได้เข้ามารับรู้ทางเลือกนี้ และต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับพวกเขาด้วย เพราะถ้าเป็นมาตรการคุมขัง เราเห็นผู้กระทำผิดถูกคุมขัง สาธารณชนก็จะรู้สึกปลอดภัย แต่ถ้าเราใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง เราก็อาจจะต้องเตรียมกลยุทธ์การสื่อสารในเรื่องนี้ด้วย”

กิตติพงษ์ชี้ให้เห็นว่า คนจำนวนมากมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาชญากรรม กล่าวคือ พวกเขามักมองว่าคนที่กระทำความผิดหรือคนที่อยู่ในเรือนจำจะเป็นคนเลวไปเสียทั้งหมด ซึ่งนี่อาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมดแต่อย่างใด

“หากสาธารณชนได้รู้เรื่องราวของผู้หญิงที่ต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ทั้งประสบการณ์ที่ต้องเจอกับความรุนแรงในครอบครัว หรือการถูกครอบงำในคดียาเสพติดหรือประเด็นอื่นๆ แล้ว พวกเขาก็อาจจะเห็นด้วยว่า การลงโทษที่มิใช่การคุมขังเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้หญิงซึ่งก่อคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงเลย”

อย่างไรก็ดี กิตติพงษ์ชี้ว่า นอกจากสร้างความเข้าใจและสนับสนุนมาตรการที่มิใช่การคุมขังให้สาธารณชนได้รับรู้แล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ การสร้างความเข้าใจในมาตรการเหล่านี้ให้กับคนในกระบวนการยุติธรรมเอง เช่น สร้างความเข้าใจให้กับผู้พิพากษาเพื่อจะปรับปรุงบทบาทของเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ หรือพัฒนาระบบตรวจตราที่ควบคุมพฤติกรรมและตรวจสอบผู้กระทำผิดได้ แม้ไม่ได้อยู่ในเรือนจำ

“ผมคิดว่า เราต้องสร้างสมดุลระหว่าง ‘ความปลอดภัย’ ของสาธารณชน กับ ‘มาตรการที่มิใช่การคุมขัง’ รวมถึงมีกลยุทธ์ในการสื่อสารโดยใช้เรื่องราวของคนจริงๆ เป็นตัวถ่ายทอด รวมถึงพยายามสร้างความไว้วางใจ ระหว่างที่เราพยายามสนับสนุนมาตรการที่มิใช่การคุมขังต่อไป” กิตติพงษ์ปิดท้าย

 

‘การปล่อยตัวผู้ต้องขัง’ อีกหนึ่งทางเลือกแก้ปัญหาคุกล้น

 

ขณะที่ Ms. Miwa Kato ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ จาก UNODC เล่าย้อนไปถึงช่วงเวลาเมื่อ 10 ปีก่อน ที่มีการรับมติข้อกำหนดกรุงเทพเป็นครั้งแรก ด้วยวัตถุประสงค์ในการนำมิติด้านเพศภาวะเข้ามาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความต้องการเฉพาะของผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการแสวงหาทางเลือกอื่นที่มิใช่การคุมขัง

“ข้อกำหนดกรุงเทพมีรายละเอียดเกี่ยวกับความต้องการเฉพาะของผู้กระทำผิดและผู้ต้องขังหญิง รวมถึงหญิงตั้งครรภ์และผู้ต้องขังหญิงที่มีลูกติดมาด้วย ซึ่งจะช่วยเราบรรเทาปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศในเรือนจำได้”

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้มีการรับรองข้อกำหนดกรุงเทพคือ ข้อกำหนดดังกล่าวเน้นไปที่การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังกับผู้กระทำความผิดหญิง เนื่องมาจากความตระหนักว่าผู้หญิงหลายคนไม่ได้กระทำความผิดที่เป็นการใช้ความรุนแรง และไม่ได้สร้างความเสี่ยงให้กับสังคมแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น การจำคุกยังเป็นเหมือนอุปสรรคที่จะขัดขวางการฟื้นฟูและการกลับคืนสู่สังคมด้วย

“ปัญหาเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญอยู่แล้ว ยิ่งมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การสนับสนุนการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังก็ยิ่งมีความสำคัญขึ้นไปอีก เพราะเรือนจำที่แออัดเกินไปจะกลายเป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงกับผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่เรือนจำ รวมถึงชุมชนที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มนี้ด้วย”

เมื่อเป็นเช่นนี้ UNODC จึงได้สนับสนุนให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังบางกลุ่ม รวมถึงผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้ต้องขังที่มีเด็กติดผู้ต้องขัง เพื่อจะปกป้องพวกเขาจากความเสี่ยงดังกล่าว

“เมื่อมีการล็อกดาวน์ เรายิ่งเห็นสถานการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเพศเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องพยายามสนับสนุนการปล่อยตัวก่อนกำหนด และใช้มาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังกับผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้หญิง”

“อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ รัฐต้องระมัดระวังอย่างมากในการที่จะปล่อยผู้ต้องขัง และต้องแน่ใจด้วยว่า เมื่อผู้กระทำความรุนแรงได้รับการปล่อยตัว เหยื่อหรือผู้รอดชีวิตจะได้รับการแจ้งข้อมูลและได้รับการคุ้มครองด้วย”

Ms. Kato ชี้ว่าประเด็นเรื่องการปฏิรูปเรือนจำที่มีความอ่อนไหวต่อเพศภาวะกำลังมีความสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การไม่นำตัวผู้หญิงเข้าไปในระบบเรือนจำตั้งแต่แรก

“คนที่ถูกคุมขังในช่วงการดำเนินคดีอาญาชั้นเจ้าพนักงานก็มีจำนวนมากอยู่แล้ว มีผู้กระทำความผิดจำนวนมากที่ไม่ได้กระทำความรุนแรงเลย จึงอาจถึงเวลาแล้วที่เราจะมองหามาตรการทางกฎหมายที่ดีกว่าการผลักคนเข้าไปอยู่หลังลูกกรง” Ms. Kato ปิดท้ายไ

 

มองทางเลือกใหม่ที่มิใช่การคุมขัง: เริ่มต้นอย่างไร เราทำอะไรได้บ้าง?

 

อีกหนึ่งเสียงสำคัญมาจาก Ms. Sabrina Mahtani นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน และผู้เขียนคู่มือการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังที่สอดคล้องกับเพศภาวะ อธิบายว่า คู่มือดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

ส่วนแรกของคู่มือจะระบุความต้องการของผู้หญิงที่กระทำความผิด โดยดูปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้จำนวนผู้ต้องขังหญิงที่ถูกจำคุกเพิ่มขึ้น เช่น บทลงโทษผู้กระทำผิดหญิงในคดียาเสพติด

“ในบางประเทศ เช่น บราซิลหรือคอสตาริกา มีผู้หญิง 16% ถูกจำคุกจากคดียาเสพติด ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ จะเกี่ยวข้องกับความยากจน ความรุนแรงจากเพศภาวะ หรือปัญหาสุขภาพจิต” Ms. Mahtani อธิบาย พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงที่เป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชนพื้นเมืองมีแนวโน้มจะถูกเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม โดยมีสถิติในบางประเทศว่า กว่า 50% ของผู้ต้องขังเป็นผู้หญิงชนกลุ่มน้อย

“คู่มือนี้จะชี้ให้เห็นผลกระทบด้านลบของการใช้มาตรการคุมขังกับผู้กระทำผิดหญิง ทั้งในแง่ของความปลอดภัย ผลกระทบที่เกิดกับคนที่ต้องพึ่งพิงผู้กระทำผิดหญิง และปัญหาด้านสุขภาพจิต”

Ms. Mahtani อ้างถึงงานวิจัยที่ระบุว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงจะฆ่าตัวตายในคุกมากกว่าผู้ชาย ดังนั้น มาตรการลงโทษที่มิใช่การคุมขังจะช่วยลดต้นทุนด้านสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดจากการจำคุกได้ และยังช่วยลดจำนวนผู้ต้องขัง รวมถึงลดอัตราการกระทำผิดซ้ำอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เธอย้ำว่า มาตรการลงโทษที่มิใช่การคุมขังจะต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของคู่มือชุดนี้

สำหรับส่วนที่สองคือ การรับประกันความเท่าเทียมทางเพศในการใช้หรือประยุกต์ใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง โดยจะเริ่มตั้งแต่การอธิบายมาตรฐานระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติแบบคร่าวๆ รวมถึงให้คำแนะนำแก่ผู้กำหนดนโยบายที่จะต้องใช้มาตรการเหล่านี้

Ms. Mahtani ยกตัวอย่างถึงขั้นตอนก่อนฟ้องคดี (pre-charge) และขั้นตอนการดำเนินคดีอาญาชั้นเจ้าพนักงาน (pre-trail) ซึ่งมีหลายทางเลือกที่อาจจะใช้แทนการคุมขังได้ เช่น การเบี่ยงเบนคดี (case diversion) โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นข้อกล่าวหาเล็กน้อย และไม่ได้ก่อให้เกิดภัยคุกคามรุนแรง

“ในคอสตาริกา มีโปรแกรมการเบี่ยงเบนคดีสำหรับผู้กระทำผิดหญิงแต่ละคน อาจจะมีทั้งการให้คำปรึกษา การบำบัดยาเสพติด และการฝึกอาชีพ เพื่อจะช่วยหันเหผู้หญิงกลุ่มนี้ให้ออกจากเรือนจำ”

ทั้งนี้ Ms. Mahtani เสริมว่า การกักขังในขั้นตอนก่อนฟ้องคดีควรจะถูกใช้เป็น ‘ทางเลือกสุดท้าย’ และเมื่อเจ้าหน้าที่จะพิจารณาทางเลือกใดๆ ควรจะคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะด้วย

“ถ้าเป็นขั้นตอนการพิจารณาคดี เราก็ควรจะคำนึงถึงปัจจัยเฉพาะทางเพศภาวะด้วย เช่น ประวัติที่พวกเธอเคยตกเป็นเหยื่อ หรือความต้องการด้านสุขภาพจิต ทั้งนี้ ไม่ควรมีการพิพากษาที่กฎหมายกำหนดให้ศาลลงโทษโดยห้ามใช้ดุลยพินิจในการลดโทษหรือรอการลงโทษ (mandatory sentence) ด้วย”

อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศย่อมมีทรัพยากรและความพร้อมแตกต่างกัน คู่มือดังกล่าวจึงได้ระบุหลากหลายวิธีที่จะใช้แทนการคุมขัง เช่น ในประเทศเวียดนามและรัสเซีย อนุญาตให้เลื่อนการพิพากษาผู้กระทำผิดที่เป็นหญิงตั้งครรภ์หรือมีลูกที่ยังเล็กออกไป

อีกกรณีสำคัญคือ ผู้หญิงจำนวนมากไม่อาจจ่ายค่าปรับได้เนื่องจากความยากจน โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นชนกลุ่มน้อย เช่น ในออสเตรเลียตะวันตก ผู้หญิง 1 ใน 3 ถูกส่งตัวเข้าสู่เรือนจำเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ขณะที่ในปี 2014 ผู้หญิงจากชนเผ่าอะบอริจินถูกจับกุมเพราะไม่มีเงินเสียค่าปรับ และเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องเจอกับความสัมพันธ์ที่รุนแรง (violent relationship) ด้วย ต่อมาจึงได้มีการปรับแก้กฎหมายให้มีการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

คุก

 

ส่วนที่สามของคู่มือได้ระบุถึงผู้หญิงที่มีลักษณะพิเศษ เช่น กลุ่มที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ผู้หญิงต่างชาติ และผู้หญิงที่ถูกจับด้วยคดียาเสพติด ซึ่ง Ms. Mahtani กล่าวว่า มาตรฐานระดับนานาชาติเรียกร้องให้ศาลต้องคำนึงถึงข้อกล่าวอ้างเรื่องการป้องกันตัวของผู้หญิงที่รอดจากการใช้ความรุนแรงด้วย และยังมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปแนวปฏิบัติด้านตัวบทกฎหมายและการพิพากษาเพื่อเป็นการรับประกันว่า ประวัติการถูกข่มเหงและทำร้ายจะได้รับการพิจารณาในกรณีที่เกี่ยวข้องด้วย

ตัวอย่างที่น่าสนใจมาจากออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร ที่ผู้หญิงต่างชาติจำนวนมากเป็นผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจึงควรจะเลี่ยงการฟ้องร้องดำเนินคดีกับพวกเธอ ในกรณีที่ผู้หญิงกลุ่มนี้ทำความผิดอันเนื่องมาจากการถูกเอาเปรียบโดยนายหน้าค้ามนุษย์ ซึ่ง Ms. Mahtani เน้นย้ำว่า ผู้หญิงทั้งที่เป็นคนต่างชาติ หรือเป็นคนในชาติเอง จะต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และสามารถเข้าถึงบริการด้านความยุติธรรมและมาตรการที่มิใช่การคุมขังได้

“ในออสเตรเลีย มีองค์กรที่บริหารจัดการโดยผู้หญิงที่เคยถูกจำคุกมาก่อน ซึ่งพวกเธอจะถูกฝึกฝนให้คอยช่วยเหลือผู้หญิงที่อยู่ในเรือนจำอีกที เช่น การช่วยจัดหาเรื่องที่อยู่อาศัยหรือเรื่องการประกันตัว ขณะที่ในอิสราเอล มีโปรแกรมบำบัดยาเสพติดสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มีความอ่อนไหวต่อเพศภาวะและคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของผู้หญิงด้วย”

อย่างไรก็ดี แม้คู่มือนี้จะถูกออกแบบให้เป็นแหล่งข้อมูลหลัก แต่ Ms. Mahtani ชี้ว่า คู่มือดังกล่าวก็ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปนโยบายเช่นเดียวกัน โดยในคู่มือจะมีแบบประเมินตนเองสำหรับผู้กำหนดนโยบายหรือเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม โดยจะให้พวกเขาลองมองประเทศตัวเอง และดูว่ามีกฎหมายส่วนใดที่ต้องการการปฏิรูปหรือไม่ เพื่อที่จะนำไปสู่การปรับใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังได้

ในภาพรวม คู่มือดังกล่าวยังได้รับการออกแบบให้สนับสนุนการฝึกฝนให้กับเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม เช่น เจ้าหน้าที่คุมประพฤติหรืออัยการด้วย ซึ่งในฐานะผู้เขียน Ms. Mahtani มองว่า คู่มือดังกล่าวน่าจะเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นนี้

 

บทบาทของภาคประชาสังคมในการสนับสนุนมาตรการที่มิใช่การคุมขัง

 

ในช่วงท้ายของการเสวนา มีผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของภาคประชาสังคมที่อาจจะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ได้ ซึ่งกิตติพงษ์ได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า ช่วงที่ทำงานในกรมคุมประพฤติ ตนมีหน้าที่หาทางเลือกอื่นๆ สำหรับผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และปฏิบัติต่อพวกเขาเสมือนเป็นคนไข้ ไม่ใช่อาชญากร

อย่างไรก็ดี กิตติพงษ์ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลมีทรัพยากรจำกัด แต่ชุมชนคือกลุ่มที่จะเข้ามามีส่วนช่วยได้มาก ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชุมชนเข้มแข็งอยู่แล้ว นี่จึงเป็นโอกาสที่จะร่วมมือกับชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้

“เราต้องทำให้ชุมชนเห็นว่า ถ้าเขาให้โอกาสที่สองกับผู้ที่เคยกระทำความผิด ชุมชนก็จะปลอดภัย และทุกคนก็จะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ด้วย”

ขณะที่ Ms. Mahtani เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว โดยเธอเสริมว่า ในคู่มือจะมีส่วนที่ระบุถึงความสำคัญของภาคประชาสังคมจากทั่วโลกด้วย อย่างไรก็ดี เธอมองว่า ความท้าทายอย่างหนึ่งคือเรื่องเงินทุนและการประยุกต์ใช้โครงการบางอย่าง

“การจำคุกมีต้นทุนค่อนข้างสูง แล้วมันจะมีประสิทธิภาพกว่าไหม หากเราจะนำทรัพยากรที่ใช้ไปกับการจำคุกมาช่วยสนับสนุนภาคประชาสังคมแทน” Ms. Mahtani ปิดท้าย

 

คุก เขตหวงห้าม


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save