fbpx
บันทึก ‘19 พฤษภาคม 2553’ ในสายตาจรัล ดิษฐาอภิชัย

บันทึก ‘19 พฤษภาคม 2553’ ในสายตาจรัล ดิษฐาอภิชัย

จรัล ดิษฐาอภิชัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในปีนี้ ครบรอบ 10 ปี การต่อสู้ของประชาชนเสื้อแดง อันเป็นสถานการณ์ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม – 19 พฤษภาคม 2553 ที่เรียกกันว่า ‘กรณี 19 พฤษภาคม’ ผมขอน้อมรำลึกสดุดีวีรชนทั้งที่เสียสละชีวิตและยังมีชีวิตอยู่ทุกท่าน การต่อสู้และเสียสละครั้งนั้นมิได้สูญเปล่า แม้คนสั่งคนฆ่ามิได้ถูกลงโทษ แต่มีคุณค่าหลายประการที่ได้บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ประชาชน

โอกาสนี้ ผมจะเขียนถึงลักษณะประวัติศาสตร์ของกรณีดังกล่าว

 

1

 

คงต้องย้อนไปถึงสถานการณ์ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะตั้งแต่พันธมิตรเสื้อเหลืองยึดทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2551 เพื่อขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ตามมาด้วยศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายกรัฐมนตรีสมัครพ้นสถานะนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชาชนและสภาตั้ง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ไม่สามารถเข้าไปทำงานบริหารประเทศที่ทำเนียบรัฐบาลแม้วันเดียว สุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนในวันที่ 2 ธันวาคม

ปีนั้น ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย กองทัพ พรรคการเมือง และการทรยศหักหลังของ ส.ส. กลุ่มเนวิน ชิดชอบ ตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าบริหารประเทศ อันเป็นการปล้นอำนาจฝ่ายประชาธิปไตย ส่งผลให้แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือขบวนการคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างเป็นระลอก ล้อมทำเนียบรัฐบาลหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายถูกสลายเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2552 ที่เรียกกันว่า ‘สงกรานต์เลือด’ แต่คนเสื้อแดงฆ่าไม่ตาย ทำลายไม่หมด ฟื้นตัวภายใน 3 เดือน นปช. เริ่มจัดชุมนุมตามต่างจังหวัด เปิดโรงเรียนการเมืองประชาธิปไตย โทรทัศน์คนเสื้อแดงออกอากาศอีกถึงต้นปี 2553 แกนนำนปช.เริ่มอภิปรายตามเสียงเรียกร้องให้ชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ประชุมกันนับสิบครั้งวางแผนอย่างละเอียด ในที่สุดตกลงกันว่าจะเริ่มเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ในเดือนมีนาคม 2553

ยุทธศาสตร์ชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ยุทธวิธีให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรอย่างสันติวิธี ใช้คำขวัญ “รวมพลทั้งแผ่นดิน One Million March” มีการอภิปรายกันค่อนข้างมากว่าในการชุมนุมใหญ่จะรวมพลที่ไหนเพียงจุดเดียว ผมเสนอความคิดให้ชุมนุมกระจาย เป็นปัญหาที่อภิปรายกันหลายชั่วโมง

ในที่สุดก็ตกลงกันที่ถนนราชดำเนิน ตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้า และแบ่งหน้าที่กัน การสร้างส้วม-ห้องอาบน้ำ กำหนดให้ ก่อแก้ว พิกุลทอง รับงานนี้, อารี ไกรนรา ตั้งหน่วยการ์ด, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เวที, นิสิต  สินธุไพร-สุพร อัตถาวงศ์ ระดมคนเสื้อแดงอีสาน, ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์-นาวิน บุญเสรฐ ภาคเหนือ, วรชัย เหมะ-อารี ไกรนรา-สมหวัง อัสราษี ภาคตะวันออก, พายัพ ปั้นเกตุ-รังษี เสรีชัย-เกริกมนตรี รุจโสตถิรพัฒน์ ภาคกลาง, หมอเหวง โตจิราการ กรุงเทพฯ, วิภูแถลง พัฒนภูมิไท ภาคใต้ โดยให้ผมไปรับที่สมุทรสงคราม และผมทำงานด้านต่างประเทศให้สถานทูตต่างๆ เข้าใจเหตุผลของการชุมนุม

ตามแผนการชุมนุมใหญ่วันที่ 14 มีนาคม ต้องให้พี่น้องคนเสื้อแดงเคลื่อนกำลังตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม โดยให้แต่ละภาคไปรวมกันที่ใดที่หนึ่งก่อน ภาคเหนือไปรวมกันที่นครสวรรค์ ภาคอีสานที่ปักธงชัย ภาคตะวันออกที่ฉะเชิงเทรา ภาคใต้ที่สมุทรสาคร รวมทั้งทางเรือช่องทางแม่น้ำเจ้าพระยา พายัพ ปั้นเกตุ เป็นนายหัวเรือ เพื่อเป็นกำปั่นใหญ่ แล้ววันที่ 13 มีนาคม เคลื่อนเข้ากรุงเทพมหานครทุกทิศทุกทาง

 

2

 

วันนั้น ทุกขบวนผ่านด่านรายล้อมกว่า 200 ด่านอย่างราบรื่น ไม่มีด่านภาคไหนที่จะหยุดขบวนรถคนเสื้อแดงนับพันได้ แต่ละขบวนมาถึงตั้งแต่บ่ายแก่ๆ ของวันนั้นและเริ่มเต็มถนนราชดำเนิน มีสภาพเป็นการชุมนุมแล้ว แต่ยังไม่มีปราศรัยเต็มรูปจนถึงวันชุมนุมใหญ่ 14 มีนาคม ซึ่งผมจะเล่าอย่างสรุปเฉพาะที่เป็นลักษณะประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ครั้งนี้

1. เป็นการชุมนุมยืดเยื้อที่มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมากกว่า 600,000 คน เหยียดยาวตั้งแต่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ เลยลานพระบรมรูปทรงม้า เกือบถึงรัฐสภา มากกว่ากรณี 14 ตุลาคม 2516 กรณี 17 พฤษภาคม 2535 และการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นอกจากพี่น้องเสื้อแดงจากภาคอีสานแล้ว ประชาชนคนเสื้อแดงภาคกลางและภาคตะวันออกที่ไม่เคยตื่นตัวมาก่อนไม่ว่าช่วงใด แม้หลังกรณี 14 ตุลาคมที่ประชาชนตื่นตัวทางความคิดการเมืองทั่วประเทศ พี่น้องภาคกลางและภาคตะวันออกส่วนใหญ่เริ่มตื่นตัวเพราะไม่พอใจความยุติธรรมสองมาตรฐาน ต่างจากภาคอีสานและภาคเหนือที่เริ่มจากความไม่พอใจที่ฝ่ายปกครองหรือที่เรียกว่าพวกอำมาตย์ โค่นล้มรัฐบาลทักษิณและระบอบประชาธิปไตย  คนเสื้อแดงตั้งกลุ่มในทุกจังหวัด บางจังหวัดเป็นสิบกลุ่ม ในการมาชุมนุมใหญ่ พวกเขาก็เตรียมเสบียงมาด้วยและดูแลซึ่งกันและกัน

นอกจากพี่น้องประชาชนคนเสื้อแดงแล้ว ยังมีกลุ่มเยาวชนนักเรียน นักศึกษา กรรมกรและตัวแทนสหพันธ์ชาวไทยด้วย ผมเป็นแกนนำคนหนึ่งที่ติดต่อกับพวกเขา คงจำกันได้เมื่อศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ประกาศผังล้มเจ้า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งต่อมาเป็นอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีชื่อในผังนั้น ได้ขึ้นปราศรัยอย่างอาจหาญ

ในวันต่อมา คณะแกนนำนปช. ที่นำโดย วีระกานต์ มุสิกพงศ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, จตุพร พรหมพันธุ์ ตัดสินใจนำขบวนคนเสื้อแดงไปประท้วงที่กรมทหารราบที่ 11 เพราะเป็นที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ระหว่างทางบนถนนพหลโยธิน ชาวกรุงเทพฯ ออกมาโบกมือสนับสนุนตลอดสาย นับเป็นครั้งแรกที่คนกรุงเทพฯ แสดงท่าทีต้อนรับเสื้อแดง วันนั้นมีคนไม่น้อยผิดหวัง เพราะอยากให้บุกเข้ากองพัน วันต่อมามีกิจกรรมเจาะเลือดเอาไปเทหน้าทำเนียบรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ และบ้านอภิสิทธิ์ นักข่าวต่างประเทศรุมถาม ผมบอกว่าเป็นยุทธวิธีที่ทำกัน เช่น กรีดเลือดประท้วง แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่เห็นด้วย

นอกจากชุมนุมใหญ่บนถนนราชดำเนินเพื่อกดดันรัฐบาล ทุกวันเสาร์ แกนนำตัดสินใจนำขบวนออกไปดำเนินยุทธวิธี วันที่ 20 มีนาคมมีคาราวานรถยนต์รอบกรุงเทพฯ วันที่ 27 มีนาคมไปขับไล่กองกำลังทหารที่มาตั้งรายล้อมถนนราชดำเนิน ตามวัด โรงเรียนสนามม้า บางคนเสนอให้ปลดอาวุธทหาร ผมรับผิดชอบขบวนไปไล่ทหารที่วัดมกุฏฯ มีกระทบกระทั่งแต่ไม่ปะทะกัน

แล้วมาถึงจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ เมื่อแกนนำตัดสินใจเดินขบวนไปสี่แยกราชประสงค์ ย่านพาณิชย์ศูนย์การค้า เมื่อวันที่ 2 เมษายน ตั้งใจจะไปเช้าเย็นกลับ แต่ขบวนไปถึงพบว่ามีคนกรุงเทพฯ มายืนรอจำนวนมาก ย่างเข้าบ่ายคนเริ่มทยอยมากันอย่างล้นหลาม จน 5 โมงเย็นมีคนชุมนุมเต็มถนนราชดำริไปถึงสะพานข้ามประตูน้ำ ณัฐวุฒิในฐานะเลขาธิการ เชิญแกนนำประชุมปรึกษาว่าจะกลับไปสะพานผ่านฟ้า-ถนนราชดำเนินไหม ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นเหมือนกันคือชุมนุมต่อไปเลย บางคนคิดว่าน่าจะแตกหักกันที่นี่ การชุมนุมของนปช.จึงแยกเป็น 2 ที่ คือ ราชดำเนินและราชประสงค์ ผมถูกวางให้ประจำราชประสงค์ อยู่กับประธานวีระกานต์-ณัฐวุฒิ

อนึ่ง ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 29 มีนาคม มีการเจรจาระหว่างผู้แทน นปช. คือ วีระกานต์ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์, เหวง โตจิราการ กับรัฐบาล คือ อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี, กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ และชำนิ ศักดิเศรษฐ์ สถาบันพระปกเกล้า ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ผลของการออกรายการ คนเสื้อแดงรู้สึกว่าฝ่ายเราแพ้ เรื่องการเจรจานี้จะเขียนเพิ่มเติมอีกครั้ง เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ มีการเจรจากันหลายรอบ

2. การต่อสู้ด้วยการชุมนุมใหญ่ของนปช. ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2553 มีลักษณะประวัติศาสตร์ประการที่ 2 คือ การปราบปรามและการต่อต้านการปราบปรามอย่างนองเลือด ดังที่ทุกฝ่ายคาดกัน ทั้งก่อนและช่วงการชุมนุมสถานการณ์ตึงเครียด เพราะ นปช. รวมพลคนเสื้อแดงทั้งแผ่นดิน ยาตราเข้ากรุงเทพมหานครทุกทิศทาง ยึดถนนราชดำเนิน สายหลักของเมืองหลวง ในขณะที่รัฐบาลส่งกองกำลังทหารจำนวน 3 หมื่นกว่าคน ล้อมรอบที่ชุมนุมของคนเสื้อแดงบนถนนราชดำเนิน และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มอบหมาย สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดาเป็นรองผู้อำนวยการ และพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะปฏิบัติการของศูนย์

เมื่อ นปช.ชุมนุมใหญ่ และต่อมาแบ่งเป็น 2 ที่ เพื่อกดดันรัฐบาลมากขึ้น ในวันที่ 8 เมษายน ทหารไปยึดสถานีไทยคมที่ลาดหลุมแก้ว เพื่อปิดกั้นสถานีโทรทัศน์เสื้อแดง วันที่ 9 เมษายน คนเสื้อแดงไปยึดคืน ซึ่งผมร่วมขบวนไปด้วย มีการปะทะและบาดเจ็บหลายคน ต่อมาวันที่ 10 เมษายน ฝ่ายรัฐบาลโดย ศอฉ. เปิดยุทธการกระชับพื้นที่ เคลื่อนกองกำลังทหารขับไล่สลายการชุมนุมตั้งแต่เที่ยงวัน กองกำลังหลักเข้ามาทางถนนดินสอถึงหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ส่งหน่วยแม่นปืนสไนเปอร์ขึ้นตึกสูงยิงใส่ผู้ชุมนุมรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่คนเสื้อแดงตอบโต้อย่างวีระอาจหาญ แม้จะถูกสไนเปอร์ซุ่มยิงก็ยึดรถถังเล็ก ยึดอาวุธปืนสงคราม และตีโต้จนทหารถอยร่นไป วีรชนเสื้อแดงเสียสละชีวิต 22 คน บาดเจ็บหลายร้อยคน ฝ่ายทหารตายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

ความจริงทางการรัฐบาลไทยเคยปราบปรามการชุมนุมของประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งใหญ่มาหลายครั้ง เช่น กรณี 14 ตุลาคม 2516 กรณี 6 ตุลาคม 2519 และกรณี 17 พฤษภาคม 2535 แต่ที่ผมเห็นว่า กรณี 10 เมษายน 2553 มีลักษณะประวัติศาสตร์ เพราะหลังกรณีนองเลือดนี้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ยังอยู่ต่อไปและผู้ชุมนุมก็ยังชุมนุมต่อไปได้ เหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คำอธิบายทั่วไป คือ คนกรุงเทพฯ ชนชั้นนำ และกองทัพยังสนับสนุน อภิสิทธ์ จึงไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นปช.จัดพิธีไว้อาลัยสดุดีวีรชน 10 เมษายน เป็นวีรชนประชาธิปไตยและจัดสงกรานต์

ควรต้องเล่าอีกนิดว่า ช่วงชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ข้างเวทีผ่านฟ้า ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีประชาชน จัดปั้นอนุสาวรีย์ ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ วีรบุรุษสามัญชนผู้ขับแท็กซี่ชนรถถัง ต่อมาท่านสังเวยชีวิตตนเองไม่อยากอยู่ใต้ระบอบเผด็จการทหาร มีผู้เขียนบททกวีสรรเสริญท่านไม่น้อย นอกจากนี้ ยังมีเวทีของนักศึกษากลุ่มเสรีปัญญาชนมาร่วมปลุกเร้าจิตใจพี่น้องคนเสื้อแดงด้วย และที่ต้องเอ่ยถึง สถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท ทีวีคนเสื้อแดง รายงานข่าวกิจกรรมและการปราศรัยบนเวที ให้ประชาชนรับรู้ มาร่วมชุมนุมและสนับสนุนตลอดเวลา สถานีโทรทัศน์นี้มีบทบาทในการต่อสู้กรณีพฤษภาคม 2553 อย่างมากเช่นกัน

3. ลักษณะประการที่3 ในการต่อสู้ 14 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2553 เป็นครั้งแรกที่ผู้ชุมนุมมีการเจรจากับรัฐบาลมากกว่าทุกกรณีที่ผ่านมา ทำไมเป็นเช่นนี้ คงต้องเริ่มที่การชุมนุมใหญ่ที่ราชประสงค์

เนื่องจากการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินคนน้อยลงและเสี่ยงที่จะถูกสลายอีก วันที่ 15 เมษายน แกนนำนปช.จึงยุติที่นั่นมารวมกันที่ราชประสงค์ การชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงดำเนินต่อไป ท่ามกลางการกดดันจากรัฐบาล และสังคมกรุงเทพฯ แต่ยังมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก เพื่อป้องกันระเบิดหรือสไนเปอร์จึงขึงตาข่ายหน้าเวที ตั้งสิ่งกีดขวางที่ทำเป็นป้อมค่ายรอบที่ชุมนุม การ์ดรักษาความปลอดภัยเข้มงวด แกนนำประชุมและแถลงข่าวทุกวัน ผมอยู่หลังเวที เดินไปพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ และพบนักข่าวต่างประเทศบ่อยๆ เช่น New York Times, Le Monde เจ้าหน้าที่ทูตบางประเทศ กาชาดสากล และเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการยุติธรรมสากล ครั้งหนึ่ง José Ramos-Horta ประธานาธิบดีติมอร์ตะวันออก โทรศัพท์ถึงผมจากกัมพูชา เพื่อถามความเป็นไปได้ที่จะมีการเจรจากับรัฐบาล ผมก็เรียนท่านว่า ก่อนหน้านี้แกนนำนปช.เคยพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ทางโทรทัศน์ เวลานี้ประธานนปช. วีระกานต์ กำลังร่วมเจรจากับรัฐบาลและคนกลางหลายครั้ง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน

ผลเจรจา คืนวันที่ 3 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ประกาศแผนการปรองดอง จะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2553 คณะแกนนำนปช.ประชุมเห็นว่า ในทางการเมืองต้องยอมรับผลการเจรจา แต่ขอต่อรองให้ประกาศยุบสภาโดยเร็ว อย่างช้าก่อนกลางเดือนกรกฎาคม ต่อมารัฐบาลให้ยุติการชุมนุม จะให้ประกันตัวทุกคน ยกเว้น อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ฝ่ายเราไม่ยอม ตั้งเงื่อนไขว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบคนตายและบาดเจ็บจากกรณี 10 เมษายน ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ฝ่ายรัฐบาลบอกว่าจะยุบสภาได้อย่างเร็วกลางเดือนกันยายน หลังแต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก เนื่องจากเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบัน

วันที่ 10 พฤษภาคม แกนนำประชุมตัดสินใจว่าจะยุติการชุมนุมหรือไม่ แต่ วีระกานต์ ประธาน นปช. ขอลาออกจากตำแหน่ง และแกนนำส่วนใหญ่เปลี่ยนใจยืนหยัดชุมนุมต่อไป อาจารย์ธิดา หมอเหวง ก่อแก้ว และผม เป็นเสียงส่วนน้อย สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น มีข่าวสลายการชุมนุมทุกวัน มีการกดดันของกลุ่มนักธุรกิจราชประสงค์และใกล้การเปิดโรงเรียน โดยเฉพาะการสังหารเสธ.แดงในคืนวันที่13 พฤษภาคม ตั้งแต่คืนนั้นประชาชนมาชุมนุมน้อยลงอย่างมาก รัฐบาลใช้ภาวะฉุกเฉินรุกหนัก หน่วยแม่นปืนซุ่มยิงแถวดินแดง ถนนรางน้ำ มีคนเสียชีวิตบาดเจ็บนับสิบทุกวัน ประชาชนเข้าที่ชุมนุมราชประสงค์มิได้ ก็รวมตัวชุมนุมที่ดินแดง อนุสาวรีย์ ถนนพระราม 1 บ่อนไก่ คลองเตย ผมยังประจำราชประสงค์อยู่หลังเวทีทุกคืน

การระดมคนมาชุมนุมจากต่างจังหวัดยากขึ้น วันที่ 17-18 พฤษภาคม กลุ่มสมาชิกวุฒิสภานำโดยพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เข้ามาเป็นคนกลางเจรจา แต่เช้าตรู่วันที่ 19 พฤษภาคม กองทหารเคลื่อนกำลังรถถังตามยุทธการขอพื้นที่คืนมายังที่ชุมนุม แกนนำประชุมมีมติยุติการชุมนุม ผมโทรศัพท์ถึง นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขอให้เรียนนายกรัฐมนตรีสั่งหยุดปฏิบัติการ เพราะนปช.ยุติชุมนุมแล้ว นิพนธ์บอกว่า “ไม่ทันแล้วอาจารย์” 

พวกเราขึ้นเวทีเพื่อประกาศต่อพี่น้อง เป็นช่วงเวลายากลำบากที่สุด จตุพรพูดไม่จบ ณัฐวุฒิพูดแทน ผมเห็นน้ำตาของแกนนำและพี่น้องคนเสื้อแดงที่ผิดหวังและไม่พอใจ จากนั้นแกนนำส่วนใหญ่เดินเข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมเดินเข้าไปหลบที่วัดปทุมวนาราม ตอนบ่ายได้ยินเสียงปืนกลรัวเป็นชุดๆ น่าจะมาจากบนรางรถไฟลอยฟ้า และไม่มีเสียงโต้ตอบ เป็นการยิงถล่มฝ่ายเดียว พี่น้องที่หลบอยู่ด้วยกันบอกว่ามีคนถูกยิงตายแล้วหลายราย และกลัวกันว่ารุ่งเช้าทหารตำรวจจะมากวาดจับ คืนนั้นการ์ดพาผมไปนอนในกฏิพระ พร้อมสามเณรและคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่ง รุ่งเช้าผมปีนกำแพงวัด นั่งมอเตอร์ไซค์ผ่านตึกเวิลด์เทรด ช่วงที่กองทหารกำลังเข้าแถว จึงไม่ถูกตรวจ รอดพ้นการจับกุมมาได้ จากนั้นก็ไปเซฟเฮาส์ หลายวันต่อมาผมหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน และไปอยู่ยุโรปรวมแล้ว 16 เดือน

เหตุการณ์ปราบปรามตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม มีผู้เสียสละชีวิต 100 คน บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และถูกจับเกือบ 300 คน ถือเป็นการล้อมปราบของทหาร (military crackdown) หรือสังหารหมู่ในกรุงเทพมหานคร (Bangkok massacre) อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่

เมื่อเดือนกรกฎาคมปีนั้น ผมได้ร้องเรียนต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและกองทัพไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนไทยอย่างขนานใหญ่ ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะมนตรีตอบมาว่าได้รับคำร้องแล้ว แต่เรื่องเงียบหายไป ผมติดตามหลายครั้งก็ยังไม่รู้ความคืบหน้า

 

3

 

สุดท้าย ผมต้องขอโทษที่ไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคล เหตุการณ์ และสถานที่ที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ครั้งนี้จำนวนมากและทั่วประเทศ ผมจดจำวีรกรรมของท่านเหล่านั้นตลอดไป ส่วนผมเองมีบทบาทน้อยมาก สมกับสัจธรรม มวลชนคือวีรชนที่แท้จริง และขอเสนอความคิดเห็นบางประการ (ไม่ใช่ข้อสรุปเพราะต้องร่วมกับคณะแกนนำนปช.และพี่น้องประชาชนทุกฝ่ายที่ร่วมต่อสู้)

1. การต่อสู้ด้วยการชุมนุมเดินขบวนใหญ่เมื่อเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 ที่นำโดย นปช. แม้จะมีผู้เข้าร่วมมหาศาลและชุมนุมยืดเยื้อกว่า 2 เดือน และแม้ผู้นำและพี่น้องคนเสื้อแดงจะมีจิตใจต่อสู้ วีระอาจหาญ ซึ่งได้เสียสละชีวิตบาดเจ็บถูกจับนับร้อยนับพัน แต่ไม่มีผลต่อการขับไล่รัฐบาลหรือเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเท่าที่ควร ยิ่งฝ่ายรัฐบาลมีฐานะทางการเมือง กองทัพ ชนชั้นนำ คนชั้นกลาง สนับสนุน และสังคมแบ่งเป็น 2 ฝ่าย เสื้อเหลืองเสื้อแดงชัดเจน การต่อสู้จะเอาชนะรัฐบาล แม้ตามกระบวนการประชาธิปไตยก็ตาม ยิ่งยากขึ้น

ตามความคิดเห็นของผม การชุมนุมใหญ่วันเดียวดังที่ประเทศยุโรป อเมริกา ลาตินอเมริกาทำกัน มีผลเท่ากับหลายวัน และการชุมนุมแบบจัดการที่ต้องมีคนมาก ต้องตั้งเวทีใหญ่แสงเสียงเหมือนคอนเสิร์ต เช่นที่ทำกันในประเทศไทยมากว่า 30 ปีนั้นสิ้นเปลืองมากและไม่ควรทำกันต่อไป เพราะอย่างไรก็ล้มรัฐบาลไม่ได้ การชุมนุมของพันธมิตรเสื้อเหลือง กปปส. ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย 4 ชุด มิใช่มาจากพลังของการชุมนุม หากเป็นเงื่อนไขให้กองทัพทำรัฐประหารและศาลรัฐธรรมนูญตัดสินล้มรัฐบาล

2. การเดินขบวนและการชุมนุมใหญ่ดังกล่าวนำโดย นปช. ซึ่งเป็นขบวนการประชาชนคนเสื้อแดงอย่างหลวมๆ ไม่ใช่เป็นองค์การจัดตั้ง องค์ประกอบของขบวนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้หญิง หากมิได้มีการจัดตั้งเป็นขบวนการนำเข้มแข็งทั้งทางการเมืองและปฏิบัติการ ประชาชนมิได้ตระเตรียมพร้อม สถานการณ์ไม่สุกงอม ยากที่จะแปรเปลี่ยนเป็นการลุกขึ้นสู้หรือการปฏิวัติของประชาชนตามที่พี่น้องคนเสื้อแดงคาดหวังกันได้ หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 มีเสียงวิจารณ์ นปช. ว่า ไม่มียุทธศาสตร์เอาชนะ ไม่กล้านำ เอาแต่จัดชุมนุมอย่างเดียว

3. ภายหลังจากเหตุการณ์ นปช.และขบวนการคนเสื้อแดงฟื้นตัวภายใน 3 เดือน ต่อมาฝ่ายประชาธิปไตย โดยพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่นปช.มิได้จัดสรุปการต่อสู้ 19 พฤษภาคมเพื่อเก็บรับบทเรียน ปรับปรุงแก้ไขข้ออ่อน ข้อบกพร่อง และเสริมความแข็งแกร่งแก่ปัจจัยที่ดีของขบวนการ คนเสื้อแดงยังทำอะไรแบบเดิมๆ ไม่เรียนรู้การเคลื่อนไหวต่อสู้ เมื่อเป็นฝ่ายรัฐบาลจึงทำผิดทำถูกซ้ำอีกในการต่อสู้พิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย เมื่อจัดชุมนุมใหญ่บนถนนอักษะในเดือนพฤษภาคม 2557 นี่เป็นข้ออ่อนอย่างหนึ่งของ นปช.

4. ขอยกย่องพี่น้องเสื้อแดงในประเทศและต่างประเทศที่ยังมีความคิดจิตใจต่อสู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ตาสว่าง และยังเกาะเกี่ยวกันเป็นกลุ่ม เข้าร่วมต่อสู้ตามเงื่อนไขของแต่ละคน แม้มีบทเรียนหรือความคิดว่า รัฐจะปราบ จะใช้กระสุนจริงกับคนเสื้อแดงเหมือนกรณีพฤษภาคม 2553 ไม่เหมือนกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง นักศึกษา และเอ็นจีโอ นี่เป็นผลตกค้างหนึ่งในช่วง 10 ปีของกรณีดังกล่าว ยังมีความคิดเห็นต่อด้านอื่นๆ อีก ค่อยเขียนโอกาสต่อๆ ไป

 

จรัล ดิษฐาอภิชัย

ปารีส เมษายน 2563

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save