fbpx
สนทนาบนลานยิ้มกับ 'นลธวัช มะชัย' ผู้หันหลังให้ทุนปริญญา-หันหน้าสู่ละครชีวิต

สนทนาบนลานยิ้มกับ ‘นลธวัช มะชัย’ ผู้หันหลังให้ทุนปริญญา-หันหน้าสู่ละครชีวิต

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ

 

ชื่อ ‘ลานยิ้ม’ ผุดพรายขึ้นมาในแวดวงละครเวทีช่วง 4-5 ปีนี้ โดยเฉพาะละครที่ตั้งคำถาม – ท้าทายอำนาจผู้ปกครอง มักจะมีคนหนุ่มสาวจากกลุ่มลานยิ้มไปปรากฏตัวเสมอ ด้วยเหตุเพราะข้อเท็จจริงคือสังคมไทยในเวลานั้นถูกปกครองโดยทหาร คสช.

อันที่จริง กอล์ฟ’ นลธวัช มะชัย หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มลานยิ้ม อาจใช้เวลาไปกับเรียนให้จบมหา’ลัยอย่างรวดเร็ว เพราะเขาสอบได้อันดับที่ 1 ของทุนคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ยังไม่จบชั้นมัธยมปลาย

แต่เมื่ออารมณ์บรรยากาศบ้านเมืองเป็นสีขุ่นมัว เขาเลือกทิ้งทุนการศึกษา ดรอปเรียนและพาตัวเองออกจากกรอบกรงในรั้วมหา’ลัยไปสู่โลกที่เผชิญความท้าทายกว่า – โลกที่ผู้คนกำลังเดือดร้อนกระทั่งว่าเลือดตกยางออกอยู่ตรงหน้า

แม้ว่าเขาจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำกิจกรรมทางสังคม ทั้งทำละคร ออกค่าย แต่อาจเทียบไม่ได้เลยกับการเสียเวลาไปเป็นปีๆ ในการขึ้นโรงขึ้นศาลในคดีที่เขาและกลุ่มนักกิจกรรม-นักวิชาการ ถูกฟ้องร่วมกันในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือที่รู้จักกันสั้นๆ ว่า คดี ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’

แม้จะเสียเวลาไปอย่างที่ว่า แต่ในทรรศนะของเขาอาจเทียบไม่ได้เลยกับการที่มีพลเมืองไทยถูกอุ้มหายไปอย่างดื้อๆ เช่น กรณี ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ หรือกรณีสุรชัย แซ่ด่าน

นั่นทำให้เขาพยายามทดลองสร้างงานจากความรู้สึกว่าความตายอันอำมหิตเป็นอย่างไร ซึ่งปรากฏอยู่ในชุดภาพถ่ายประกอบบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ด้วยบางส่วน

จะว่าไปแล้ว ถ้อยคำและความคิดของเขาแทบไม่เข้าใกล้เรื่องที่ทำให้ยิ้มอย่างแฮปปี้ได้เลย แต่เขาอธิบายว่า “รอยยิ้มมีหลายมิติ มันสามารถยิ้มแบบแข็งขืนทัดทานได้ หรือยิ้มแบบดีใจก็ได้ รอยยิ้มมันทรงพลัง”

เพราะฉะนั้น คำถามเบื้องต้นคืออะไรทำให้เขายิ้มในแบบที่เขาเป็น…

 

นลธวัช มะชัย

 

วัยเด็กบนแผ่นดินแม่

 

ผมเป็นคนพัทลุง แต่พื้นเพพ่อกับแม่เป็นคนนครศรีธรรมราช แล้วไปอยู่พัทลุงกันทั้งคู่เลย ไปอยู่ตรงอำเภอป่าพะยอม ใกล้อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เราโตมากับบรรยากาศแบบป่ากึ่งเมือง เป็นพื้นที่ที่มีข้อพิพาทกันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับที่ดินทำกิน เพราะว่าตรงนั้นเป็นเขตนิคมสร้างตนเอง เพราะฉะนั้น ‘ที่ดินทำกิน’ แค่คำนี้เลยเป็นสิ่งที่สร้างเรามาทั้งหมด

แม่ผมเป็นนักการเมืองท้องถิ่น พ่อทำไร่ สิ่งที่เห็นคือความขัดแย้งกันเรื่องทรัพยากรในที่ทำกินมาตลอด เห็นเขามีการฟ้องร้องขึ้นศาลกันมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เราสงสัยว่าตกลงคนกับป่าจะอยู่ร่วมกันได้ไหม

พอเรียนระดับมัธยม ผมเริ่มจะอ่านหนังสือ แล้วเข้าใจประวัติศาสตร์ใหม่ว่าตรงนั้นมันเป็นพื้นที่คอมมิวนิสต์ นิคมฯ เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน สุดท้ายผมเข้าใจจากมุมมองการเมืองว่าเราไม่ได้มองทรัพยากรในฐานะต้นไม้หรือก้อนหินอย่างเดียวอีกแล้ว แต่เรามองมันในฐานะของสังคม

 

กล้องถ่ายรูปและการเดินทาง

 

ตอนเรียนมัธยมที่พัทลุง ผมชอบถ่ายภาพ รู้สึกว่ามันสนุก แล้วเริ่มถ่ายส่งประกวด สิ่งที่กล้องถ่ายภาพสอนผมคือเราต้องไปอยู่ตรงนั้น ต้องไปเห็นไปรู้สึกถึงบางอย่างให้เราบันทึกและถ่ายทอดออกมา

ตอนที่เราถ่ายภาพ มันไม่ใช่การอธิบายแบบคำพูดที่เราคุ้นชินอีกแล้ว มันคือการดูความกว้างของเฟรม ดูความแคบ ดูการขออนุญาต และ respect สิ่งรอบตัว มันสอนเราทุกอย่าง

พอเราถ่ายภาพไปสักพัก ก็เริ่มห้าว ตรงไหนมีปัญหา ตรงไหนจะสร้างโรงงาน เราออกไปถ่ายรูป แล้วตอนนั้นหนังสือพิมพ์โฟกัส อยู่ที่สงขลา เขาเปิดคอลัมน์เป็นห้องภาพชุมชน ผมก็ถ่ายส่งไปลง จากนั้นก็เริ่มรวมแก๊งเพื่อนๆ ซึ่งไม่ใช่แก๊งเรียนหนังสือ พอตอน ม.2 ผมขอแม่ว่า “ผมไม่อยู่กับแม่แล้วนะ ผมจะไปอยู่ข้างนอก” เพราะผมอยากศึกษาโลกมากขึ้น

ตอนแรกนึกว่าแม่จะห้าม ปรากฏว่าแม่บอกไปเลย ผมเลยไปเช่าบ้านอยู่ในเมืองคนเดียว ต่อมาบ้านผมกลายเป็นที่รวมตัวของเด็กมัธยม มีมอเตอร์ไซค์แว้นกลางคืน มันทำให้ผมไม่ได้โตมาแบบการมองคนพวกนี้ในสายตาของคนนอก เรามองโดยคนใน มีวัยรุ่นแวะมาสูบกัญชากัน ส่วนผมทำไม่เป็นสักอย่าง สูบบุหรี่ไม่เป็น กินเหล้าก็ไม่เป็น แต่เรานับถือกัน

เราไม่มีชื่อแก๊ง เราแค่รวมตัวใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้น ด้วยความที่ผมอยู่กับกลุ่มคนที่เรียนหนังสือบ้างไม่เรียนหนังสือบ้าง แต่ตัวเองชอบอ่านหนังสือและตั้งใจเรียนมาก ผมก็เป็นคนที่ให้คนอื่นลอกการบ้านเสมอ จากนั้นเพื่อนๆ ผมก็ไปเป็นอาสากู้ภัย พอตกค่ำ ทุกคนก็มากองกันอยู่บ้านผม แต่ละคืนแทบไม่ได้นอน เพราะมันมีเสียงวิทยุรายงานเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา ทั้งของตำรวจ โรงพยาบาล ไม่เกินชั่วโมงเดี๋ยวก็ออกกันไปช่วยกู้ภัยเก็บศพ ส่วนผมกลัว ไม่กล้า (หัวเราะ)

ผมใช้ชีวิตกับพวกเขาแทบจะ 24 ชั่วโมง กลางวันคนพวกนี้ดูเกเรไม่เรียนหนังสือ พอกลางคืนพวกนี้ออกไปเก็บศพ ไปช่วยคนเกิดอุบัติเหตุ มันไม่ใช่วิถีคนปกติ

พอช่วง ม.5 ผมสอบเข้ามหา’ลัย ได้คณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (หาดใหญ่) กับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แต่ในใจยังอยากไปอีกหลายที่ ผมเลยสะพายกล้องนั่งรถไฟจากพัทลุงไปเชียงใหม่ แบ็กแพ็กไปคนเดียว รู้สึกว่าเป็นเมืองที่น่าค้นหา ผมเลยลองยื่น portfolio ไปที่คณะสื่อสารมวลชน มช. ซึ่งมันมีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่าใครได้ที่ 1 ของคณะจะได้ทุนเรียน แล้วผมก็ได้ทุนจริงๆ

ในคณะผมมี 300 กว่าคน ในรุ่นใครสอบได้ที่ 1 จะได้ทุนการศึกษาทุกเทอม เทอมละ 50,000บาท พอได้เงิน ผมเอาเงินมากองแล้วก็คิดว่าจะทำอะไรดีวะ เพราะช่วงนั้นผมเริ่มมองการเรียนเปลี่ยนไป เริ่มไม่อยากเรียนมหา’ลัย ผมมีคำถามในใจว่าเราจะเรียนไปทำไม เรียนแล้วจะกลายเป็นคนแบบไหน พอเข้ามาเรียน สิ่งแรกที่ผมทำคือดูว่าหลักสูตรนี้ต้องการให้เราเรียนวิชาอะไรบ้าง ก็พบว่ามันไม่ได้เรียนเพื่อการสื่อสารมวลชนในความหมายของเจอนัลลิสต์ แต่มันสอนให้ไปทำงานบันเทิงมากกว่า เพราะความที่ผมรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยตามสโลแกนคือแหล่งอุดมปัญญา มันไม่ใช่โรงงาน เลยรู้สึกอึดอัดหน่อย แต่ผมมีห้องเล็กๆ ใช้ซุกหัวนอนคนเดียว มีหนังสือประมาณ 4-5 เล่ม พอไปอยู่ 2 เดือนมีหนังสืองอกขึ้นเป็นกองเลย

 

นลธวัช มะชัย

 

รัฐประหาร หนังสือ ดินสอสี

 

ช่วงรัฐประหาร 2557 มีหนังสือ 2 เล่มที่อ่านแล้วรู้สึกว่ามันเกิดประโยชน์กับเรา คือ นายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์ กับ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 2 เล่มนี้มีอิทธิพลกับผมมาก ผมอ่านหลายรอบ แล้วผมก็เกิดคำถามกับบ้านเมืองอีกเต็มไปหมด ต่อมาก็เจอกับกลุ่มดินสอสี ผมตื่นเต้นมาก มันรู้สึกว่านี่แหละคือ creative มันไม่ใช่การคิดแบบทื่อๆ อีกแล้ว ดินสอสีทำให้ผมพบว่า “ความคิดมันแปลงร่างได้”

ระหว่างนั้นผมก็เทียวไปเทียวมาเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ มาดูละครของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวที่สถาบันปรีดีฯ ที่นี่สำหรับผมมันมีห้องแห่งแรงบันดาลใจ เพราะเราไม่ได้เรียนเรื่องอาจารย์ปรีดีในชั้นมัธยม ตอนเด็กๆ ได้ยินแค่ “ปรีดีฆ่าในหลวง” เพราะโรงเรียนสอนมาแบบนั้น

เสร็จจากสถาบันปรีดีฯ ผมก็ไปที่บ้านดินสอสีตรงหลังสถานีรถไฟหัวลําโพง เขาอยู่ห้องเล็กๆ กันนิดเดียว แต่เราได้เรียนรู้วิธีคิดมาก อย่างน้อยผมเห็นตัวเองว่าเมื่อก่อนเราหวาดกลัวการดีเบตกับคนอื่นๆ แต่ดินสอสีทำให้ผมกล้าที่จะโต้แย้งกับคนที่มีความคิดไม่เหมือนกัน นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เรา respect

พอกลับไปเชียงใหม่ ผมมีเพื่อนอยู่ 2-3 คน ก็คุยกันว่าจะเอา 50,000 บาทที่ผมได้ทุนมาไปทำอะไรดี เลยไอเดียว่าเอามาสร้างกิจกรรมดีกว่า จะได้ชวนเพื่อนๆ มานั่งคุยกันด้วย เป้าหมายคือจะได้คุยกันนี่แหละ สุดท้ายพวกเราได้ทำงาน performance ชิ้นหนึ่ง แล้วก็ไปเล่นที่บ้านของ ‘จะอุ๊’ ชัยภูมิ ป่าแส ตอนนั้นเขายังไม่ถูกยิงตาย

งานชิ้นนี้ชื่อว่า ‘กลืน’ พูดถึงมหานคร เราตั้งคำถามกับเมือง ตั้งคำถามกับป่า เป็นงานชิ้นแรกที่เราสร้างขึ้นมาในนามกลุ่ม ‘ลานยิ้ม’

 

นลธวัช มะชัย

 

ยิ้มเยาะเย้ย

 

ตอนที่เราสร้างกลุ่มก็มาคิดกันว่าจะใช้ชื่อกลุ่มอะไรดี ตอนแรกตั้งใจว่าจะทำงานกับเด็กๆ เลยตั้งชื่อให้ซอฟต์ๆ ว่า ‘ลานยิ้ม’ แต่จริงๆ คำว่า ‘ยิ้ม’ มาจากบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ คือ “ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ” ผมคิดว่ารอยยิ้มมีหลายมิติมาก มันสามารถยิ้มแบบแข็งขืนทัดทานได้ หรือยิ้มแบบดีใจก็ได้ รอยยิ้มมันทรงพลัง

ผมเคยเห็นภาพถ่ายจากยูเครน เป็นคนยืนต่อหน้ารถถังเป็น 10 คันแล้วเขาใช้แค่รอยยิ้มของเขา ยิ้มแล้วภาพนั้นมีความหมายมาก รู้สึกว่ารอยยิ้มนี่แหละน่าจะตั้งเป็นชื่อกลุ่มได้ จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘ลานยิ้ม’

เราใช้หลักการว่าขอแค่ลานโล่งๆ แล้วเราจะสร้างงานขึ้นมาเอง ไม่ต้องมีไฟ ไม่ต้องมีเวที ขอแค่ลานกว้างๆ ผมนึกถึงสนามเด็กเล่น ตอนที่อยู่ในสนามเด็กเล่นมันมีความสุข เรามีคอนเซ็ปต์ว่า “เพราะลานกว้างคือพื้นที่แห่งการเรียนรู้” เพราะตอนนั้นเราตั้งใจพูดถึงการกระจายอำนาจ พูดถึงพื้นที่สาธารณะ เราก็เลยรู้สึกว่าคำๆ นี้โอเค แล้วเราก็ค่อยๆ ตระเวน performance ตามงานต่างๆ จนในที่สุดก็เรียกเป็นลานยิ้มการละคร อีกอย่างคือผมปฏิเสธระบบโซตัส ก็เลยชวนคนที่ได้รับผลกระทบจากการรับน้อง และใครที่ไม่รู้จะทำอะไรมาทำกิจกรรมกัน โดยมีทุนตั้งต้น 50,000 บาท

ช่วงที่เราจัดงานเคลื่อนไหวเรื่องชัยภูมิ ป่าแส (เยาวชนนักกิจกรรม ถูกยิงทหารยิงวันที่ 17 มี.ค. 2560) ทหารก็มาหาที่หน้าบ้าน ทั้งสันติบาล ตำรวจเต็มไปหมด ช่วงนั้น คสช. ส่งเจ้าหน้าที่ไปทั่วประเทศ ไปหาพ่อแม่ของคนที่เข้าร่วมงาน หลายคนก็กลัว เพราะทหารกดดันมาก พล.อ.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ สมัยนั้นยังเป็นแม่ทัพภาค 3 ด่าพวกเราออกสื่อ “พวกกลุ่มลานยิ้ม กลับไปเรียนหนังสือไป” แต่พวกเราก็ยังยิ้มและไม่หยุดทำกิจกรรม นั่นทำให้เราเริ่มเรียนรู้ในการต่อสู้กับเผด็จการในแบบที่พวกเราถนัด

บ้านผมที่พัทลุงทหารก็ไปหา ตอนแรกแม่ตกใจ หลังๆ เริ่มชิน เพราะว่าไปบ่อยเกิน แต่ด้วยความที่ผมมีเครดิตดี ที่บ้านเราเป็นเด็กเรียนหนังสือในสายตาของคนในชุมชน ไม่ได้เกเร ผมพิสูจน์มาแล้วว่าต่อให้รอบข้างเกเรแค่ไหนในสายตาพวกเขา ก็ไม่ได้ว่าหมายความว่าทุกคนจะต้องเกเรไปด้วย

 

มาถึงวันปฏิเสธทุน

 

พอขึ้นมหา’ลัย ปี 2 ผมปฏิเสธไม่เอาทุนการเรียน เหตุผลคือเงิน 50,000 บาทมันเป็นทุนให้เปล่ามากๆ เลย ผมคิดว่ามันมีคนที่ควรได้มากกว่า แล้วผมก็อึดอัดกับการที่ต้องทำเกรดให้ถึงตามเงื่อนไข เรารู้สึกว่าอิสรภาพหายไป ก็เลยปฏิเสธรับทุน จากนั้นก็เริ่มเข้าเรียนบ้างไม่เข้าเรียนบ้าง แต่ยังอ่านหนังสืออยู่

ผมค้นพบว่าเราเรียนรู้ได้จากข้างนอก จนถึงตอนนี้ผมก็ตัดสินใจดรอปเรียนเอาไว้ เพราะผมรู้สึกว่าไม่อยากเรียนแล้ว ยังไม่อยากจบ คิดว่าอยากเรียนเมื่อไหร่เดี๋ยวกลับไปเรียน ซึ่งเหลือแค่เทอมเดียวก็จบแล้ว แต่ขอใช้ชีวิตแบบนี้ไปก่อนอีกสักปีนึง

อีกอย่าง ผมมีปัญหาด้านสุขภาพ เป็นสภาวะที่ได้ยินเสียงตลอดเวลา พอไปเช็คดูมันเกี่ยวกับเส้นประสาท ผมต้องรักษาด้วยการกินยา แล้วบวกกับผมมีภาวะไฮเปอร์อยู่ในตัวด้วย รวมๆ น่าจะเกิดจากความเครียดสะสมเลยทำให้เราอ่อนแอ แม้ข้างนอกดูแข็งแรง แต่ข้างในอ่อนแอ

 

นลธวัช มะชัย

วิญญาณลานยิ้ม

 

เอาจริงๆ ลานยิ้มของพวกเราที่ได้รับการยอมรับในไทย เพราะว่าเราดังมาจากเมืองนอก นี่คือความเจ็บปวดมาก ผมทำลานยิ้มในไทย 2 ปี แทบไม่มีใครเห็นหัว ผมก็พูดแบบเดิม เรื่องการเมือง สิ่งแวดล้อม ฝุ่นควัน และอีกเยอะมาก จนพอเราเอางานของเราไปโชว์ที่เมืองนอกที่สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น สื่อต่างประเทศประโคมข่าวเรา เราจึงกลายเป็นองค์กรละครที่ได้ถูกพูดถึง

ประเด็นคือผมคิดว่าคนรุ่นเราไม่ได้มีพื้นที่ให้เติบโตในสังคมไทยอย่างที่ควรจะเป็น สังเกตศิลปินที่เป็นอิสระหลายๆ คนที่ได้รับการยอมรับ มักไปโตมาจากเมืองนอกหมดเลย

ผมคิดว่าอำนาจนิยมในไทยไม่อนุญาตให้คนแบบเราเติบโตจริงๆ ซึ่งผมรู้สึกอาย เพื่อนที่นอร์เวย์ถามว่าทำไมคุณต้องมาโตข้างนอก ทั้งๆ ที่พื้นที่ในไทยมีทรัพยากรมากมาย เราก็บอกไปว่าผมโตข้างในไม่ได้เพราะเขาไม่อนุญาตให้เราโต เมื่อก่อนไม่เข้าใจ แต่ 5 ปีที่ผ่านมามันเป็นแบบนั้นจริงๆ ผมเรียนจบมัธยมในปีที่ทหารรัฐประหาร แล้วก็อยู่มาแบบนี้จนถึงทุกวันนี้ แปลว่าคนรุ่นผม ตลอดทั้งช่วงวัยหนุ่มสาวจะยังอยู่กับเผด็จการไปอีกนานแค่ไหนไม่มีใครตอบได้ แล้วผมจะพบสังคมที่ไม่เป็นอำนาจนิยมได้เมื่อไหร่

 

ใคร่ครวญถึงคนตาย

 

ตอนมีข่าว ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ กับ สุรชัย แซ่ด่าน ถูกฆ่า ผมสร้างงานขึ้นมาชิ้นนึงกับเพื่อนช่างภาพ มันมาจากการจินตนาการความรู้สึกว่า 5 นาทีก่อนบิลลี่จะถูกเผา จะเจ็บปวดแค่ไหน ตอนที่สุรชัยถูกผ่าท้องแล้วมีหินอยู่ในพุงมันจะเป็นอย่างไร เราลองเอาอิฐมาวางบนตัวเราไหม ลองเรียนรู้ไปด้วย ผมขึ้นไปยืนบนถังแดง แล้วเพื่อนก็จุดไฟเผาจริงๆ ไม่ถึงนาทีผมอยู่ไม่ได้ แต่เรามีทางหนีก็เลยกระโดดลงแค่นั้นเอง

สุดท้ายผมพบว่าเราไปไม่ถึงความรู้สึกจริงๆ ของคนที่ถูกกระทำแบบนั้น แต่เราพยายามตั้งคำถามกับความรู้สึกโดยไม่พูดถึงทัศนะทางการเมือง ซึ่งยังไงก็ตามเมสเสจทางการเมืองทำหน้าที่ของมันอยู่แล้ว อย่างที่ผมถ่ายทอดเรื่องบิลลี่และสุรชัยออกมา ก็ยังเป็นการค้นคว้าเพื่อนำไปสู่การสร้าง performance ต่ออีกขั้นหนึ่ง

 

ละครเรื่องยาว

 

นอกจากเรื่องความตาย ตอนนี้ผมสนใจดินแดนสนธยา ที่ผ่านมาผมค้นพบว่ามีสถานที่ที่เป็นดินแดนสนธยาทางอำนาจ, อารมณ์ และความคิด ได้แก่ วัง, ค่ายทหาร, ศาล และโรงพยาบาล ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันลี้ลับและเข้าถึงยากเหมือนดินแดนสนธยา ผมสนใจความสัมพันธ์ทางการเมืองของแดนสนธยาเหล่านี้ นี่เป็นโจทย์ของผมในช่วงเวลานี้

ทั้งหมดมันยังไม่จบกระบวนการ ยังอยู่ในช่วงค้นคว้าข้อมูลและต้องพัฒนาให้เป็นบทละคร แต่ความน่าสนใจอยู่ว่าขณะที่เรากำลังกำกับร่างกายตัวเอง เราก็กำลังกำกับคนอื่นได้เหมือนกัน ในพื้นที่ละคร ทุกคนจะบอกว่าทำไปเถอะ เล่นไปเถอะ เพราะว่าเป็นละคร ผู้กำกับสั่งอะไรก็ทำ เพราะว่าเราสมมติฐานตัวเองว่าเราเป็นนักแสดงอยู่ ผมรู้สึกว่าโจทย์นี้มันเหมือนว่าเราเป็นพลเมืองในสังคม ถ้าสมมติฐานว่าเราเป็นคนไทยอยู่ เพราะฉะนั้นใครที่ไม่ทำตามคำสั่ง คุณก็ไปอยู่ที่อื่น แต่ถ้าเรายินดีให้เขากำกับ เราก็จะได้มีบทละคร นี่เป็นเรื่องตลกร้าย

เวลามองสังคมไทย ถ้ามองในฐานะละคร ผมคิดว่าเส้นประวัติศาสตร์มันยาวนานและอยู่ในเรื่องเดียวกันที่ยังไม่จบ ความขัดแย้งยังดำเนินไปอยู่ ผมไม่ได้มอง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะตัวละครที่โลดแล่นในวันนี้ แต่มันคือสิ่งที่กำลังสืบทอดและดำเนินมาตั้งแต่ ปี 2475

ถ้าเราเปิดม่านละครขึ้นมาและเล่าเรื่อง 2475 มันอาจจะดำเนินไปอีก 100 ปี แต่ละคนเป็นหนึ่งตัวละครที่มีความคิดและเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่จะทำให้เรื่องนี้เดินต่อไป แต่จะไปจบตรงไหนบอกไม่ได้ ตัวละครตัวหนึ่งต้องตายออกไปจากเวทีเรื่อยๆ และมีตัวละครใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา เพราะฉะนั้นละครเรื่องยาวนี้น่าสนใจว่าฉันทามติของสังคมจะตอบพวกเราอย่างไร

 

นลธวัช มะชัย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save