fbpx
7 บทเรียนการพัฒนาไต้หวัน

7 บทเรียนการพัฒนาไต้หวัน

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

 

ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสติดตามนักธุรกิจกลุ่ม The Boss ซึ่งเป็นหลักสูตรของภาคเอกชนที่สร้างขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน

หลักสูตรนี้เกิดขึ้นมา 31 ปีแล้วครับ และมีเครือข่ายนักธุรกิจผู้บริหารระดับสูงอยู่ด้วยกันมากกว่า 3,000 ราย นักธุรกิจกลุ่มนี้มักจะมีการเดินทางไปต่างประเทศร่วมกันในกิจกรรมชื่อ The Boss: Learn on the Road ซึ่งผมมักมีโอกาสดีได้ติดตามเดินทางไปด้วยในฐานะนักวิชาการประจำคณะเดินทาง นั่นทำให้ผมมีโอกาสดีอย่างยิ่งที่จะได้เรียนรู้ประสบการณ์และวิธีคิดของนักธุรกิจที่ทำธุรกิจตั้งแต่ขนาดย่อมๆ ระดับสิบล้าน ลูกน้องสิบกว่าคน ไปจนถึงขนาดผู้บริหารองค์กรระดับหลายหมื่นล้าน และมีลูกน้องหลักพันคน

แน่นอนนักธุรกิจระดับนี้ย่อมมีเครือข่ายธุรกิจระดับนานาชาติ และสามารถเข้าถึงสถาบันวิจัย ตลอดจนได้รับการต้อนรับอย่างดีจากหน่วยงานรัฐบาลทั้งของไทยและของต่างประเทศได้ เที่ยวนี้เราเดินทางไปไต้หวันด้วยกันครับ

ไต้หวัน ถือเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไฮเทค ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น หนึ่งในสี่เสือเศรษฐกิจแห่งเอเซียร่วมกับ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ในช่วงทศวรรษ 1980 ที่ทั้ง 4 ประเทศนี้สามารถพัฒนาตนเองจนกลายเป็นประเทศรายได้ระดับสูงได้ภายในไม่กี่ปี

ปัจจุบันด้วยนโยบายใหม่ของรัฐบาลไต้หวันที่เรียกว่า New Southbound Policy ที่รัฐบาลไต้หวันต้องการสร้างพันธมิตรกับ 18 ประเทศเอเซียใต้ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย เพื่อให้ไต้หวันมีที่ยืนในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิค หนึ่งในเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยคือ คนไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ไต้หวันอนุญาตให้สามารถเดินทางไปเยือนไต้หวันได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า นั่นทำให้ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไทยมาเที่ยวไต้หวันเป็นจำนวนมาก

หนึ่งในเรื่องที่พวกเราคนไทยมักจะพูดถึงกันมากที่สุดคือ แนวทางการพัฒนาประเทศของไต้หวัน ที่ทำให้เกาะเล็กๆ ขนาด 36,000 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้กลายเป็นเสือแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ในกิจกรรมสำคัญของ The Boss: Learn on the Road ซึ่งสมาชิก The Boss จะเรียกกันว่า ‘บรรสาน’ หมายถึงการปิดห้องคุย แสดงความคิดเห็นระดมสมองกันได้เต็มที่ไม่มีผิด ไม่มีถูก เพื่อ ‘บรรจบ’ จุดสิ้นสุดของการเดินทาง และ ‘สานต่อ’ ความคิดจากการเดินทาง เพื่อประโยชน์กับทั้งคณะที่เดินทางไปด้วยกันในการทำงาน ในการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต

เรื่องหนึ่งที่เราพูดคุยกันก็คือ ไต้หวันเป็นประเทศเล็กๆ แต่ทำไมสามารถพัฒนาตนเองและอยู่รอดท่ามกลางความขัดแย้งกับประเทศมหาอำนาจอย่างจีน และบทเรียนสำหรับประเทศไทยคืออะไร จากการระดมสมอง เราพิจารณากันได้ถึงปัจจัยที่ทำให้ไต้หวันพัฒนาและเรื่องที่ควเรียนรู้ ได้ดังนี้

 

1. เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ (Geographical Location)

ไต้หวันตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียตะวันออก พูดให้ง่ายกว่านั้นคือกึ่งกลางระหว่างอาเซียน และเกาหลี-ญี่ปุ่น และในขณะเดียวกันก็เป็นปากประตูสู่จีน นั่นทำให้ไต้หวันเป็นที่สนใจของมหาอำนาจในช่วงสมัยของการตั้งสถานีการค้าและการล่าอาณานิคม ไม่ว่าจะเป็นพวกโปรตุเกส ดัชต์ สเปน หรือแม้แต่ญี่ปุ่น ต่างก็สนใจที่จะตั้งสถานีการค้าไต้หวัน

ปัจจุบันไต้หวันก็เป็นหนึ่งในศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเอเซียตะวันออก เป็นที่ตั้งของท่าเรือสำคัญ และเป็น home base ของบริษัทขนส่งทางเรือที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก นั่นคือ Evergreen แม้ว่าในปัจจุบันเกาหลีใต้จะส่ง Incheon เข้าประกวดในฐานะจุดศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งเอเซียตะวันออก แต่ไต้หวันก็ยังคงมีความสำคัญ

ถ้าเปรียบเทียบกับไทย เรื่องทำเลที่ตั้งของไทยก็ไม่เป็นรองใครอย่างแน่นอน เพราะประเทศไทยของเราตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของอาเซียน และอาเซียนเองก็ตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลางของการเชื่อมโยงมหาสมุทรที่มีการทำการค้าและการลงทุนมากที่สุดในโลก นั่นคือมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้นในข้อนี้ ไทยแลนด์กับไทวัน ต่างก็มีจุดเด่นด้วยกันทั้งคู่

 

2. ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource)

โดยเฉพาะในมิติคุณภาพ เพราะในเรื่องปริมาณ ทั้งไต้หวันและไทยต่างก็เป็นประเทศที่ล้วนกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมสูงวัยด้วยกันทั้งคู่ นักธุรกิจหลายท่านให้แต้มต่อไต้หวัน ทั้งนี้เพราะคนของเขารู้ลึก รู้จริง ที่สำคัญคือการโฟกัส นั่นคือมุ่งมั่นทำในเรื่องที่เขารู้ลึกรู้จริงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับการสนับสนุนในเรื่องนั้นๆ จากทางรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

นั่นคือมิติในปัจจุบัน แต่ถ้าพิจารณาในมิติประวัติศาสตร์ ก็ต้องอย่าลืมว่าพลพรรคของ Republic of China หรือสาธารณรัฐจีนที่นำโดยก๊กมินตั๋ง ที่หนีความพ่ายแพ้ต่อกองทัพประชาชนจีนที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ข้ามช่องแคบมาสร้างรัฐบาลพลัดถิ่นบนเกาะไต้หวันในปี 1949 จำนวนมากกว่า 1.5 ล้านคนนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มประชากรที่เราอาจจะใช้คำเรียกในปัจจุบันว่าเป็น Talent, High-Skilled Workers และ Professionals ซึ่งนอกจากจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญแล้ว ส่วนใหญ่ยังมีฐานะดีอีกด้วย

แน่นอนว่าคนเหล่านี้เข้ามาพบกับระบบการศึกษา ทั้งสายสามัญ สายอาชีวะ และระบบมหาวิทยาลัย ที่เชี่ยวชาญเรื่องการแพทย์ เรื่องการเกษตร เรื่องการอุตสาหกรรม ที่วางรากฐานเอาไว้แล้วตั้งแต่สมัยที่ไต้หวันยังปกครองโดยญี่ปุ่น (1895-1945) นั่นทำให้การต่อยอดการพัฒนาทรัพยากรคนของไต้หวันค่อนข้างได้เปรียบประเทศอื่นๆ

รู้ไหมครับว่านักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในไต้หวันในอดีต เขาทำงานกันแบบ ‘7-8-9’ นั่นคือ ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ เริ่มงาน 8 โมงเช้า และเลิกงาน 3 ทุ่ม หรือ 9 p.m. นั่นแหละครับคือคนจีนไต้หวันที่ ‘รู้ลึก รู้จริง และ โฟกัส’

ทีนี้เราลองมาเทียบกับไทย เรื่องรู้ลึก รู้จริง ของเราน่าจะเป็นรองไต้หวันครับ เนื่องจากการเดินทางครั้งนี้มีผู้ที่ทำงานในธุรกิจสื่ออยู่ด้วย เลยจะขอยกตัวอย่าง เรื่องของความไม่รู้จริง ไม่รู้ลึก ของพวกเราคนไทย โดยพิจารณาจากรายงานข่าว

กี่ปีแล้วครับที่พวกเราไม่ได้ดูรายการข่าวที่เป็นการรายงานข่าว รายงานข้อเท็จจริง แบบจริงๆ ข่าวแบบที่มีผู้ประกาศออกมาเล่าเฉพาะข้อเท็จจริง ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และเพราะอะไร โดยที่ไม่สอดแทรก ไม่สรุปรวบยอด ไม่ตีความ ไม่ออกความคิดเห็น แต่เป็นรายงานข้อเท็จจริง เป็นรายงานข่าวแบบที่ไม่ใช่รายการคุยข่าว คุ้ยข่าว หรือเอาข่าวมาใส่ไข่

ข่าวคือข้อเท็จจริง ซึ่งตรงข้ามกับ โจ้ก (Joke) นะครับ ทุกวันนี้นอกจากข้อมูลปลอม ข่าวเท็จ ที่เราได้รับในโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียแล้ว การที่เราจะได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ประกอบด้วยรายละเอียดอย่างเต็มที่ ดูเหมือนจะมีโอกาสน้อยนิดเหลือเกินสำหรับคนส่วนใหญ่ ดังนั้นพวกเราเลยไม่ค่อยรู้ลึก รู้จริง

ที่สำคัญคือเรื่องของโฟกัส  ที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องทั้งของบุคคล และของนโยบายรัฐที่จะส่งเสริม เราต่างก็พบว่า เราค่อนข้างจะมีความฉาบฉวยสูงมาก ทุกคนอยากทำงานน้อยๆ ได้เงินเยอะๆ ได้เงินง่ายๆ เลิกทำงานกันเร็วๆ ไม่มีความคิดแบบอุตสาหกรรม ซึ่งแปลว่า การกระทำที่ประกอบด้วยความอุตสาหะ กันอีกต่อไปแล้ว ข้อนี้อาจจะทำให้เรายังสู้ไต้หวันไม่ได้ครับ

 

3. ปัจจัยจากญี่ปุ่น (Japan Factor)

หลังจากสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1  (1894-1895) จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพแห่งราชวงศ์ชิง จนนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญา Shimonoseki ซึ่งยอมรับว่าราชวงศ์ชิงแพ้ ต้องยอมเสีย Joseon (เกาหลี) Formosa (ไต้หวัน) ให้กับญี่ปุ่น ต้องยอมเสียค่าปฏิกรรมสงครามเป็นโลหะเงินน้ำหนัก 7.5 ล้านกิโลกรัม และต้องยอมเปิดเมืองซูโจว หางโจว ฉงชิ่ง (จุงกิง) และหูเป่ย (จิงโจว) ให้กับญี่ปุ่น ในลักษณะเดียวกับที่เสียหลายๆ พื้นที่ให้กับอังกฤษ สหรัฐฯ และฝรั่งเศส รวมทั้งรัสเซีย นั่นทำให้ญี่ปุ่นเข้าครอบครองไต้หวันอยู่นานถึง 50 ปี นั่นคือ ตั้งแต่ 1895-1945

ในช่วงแรกที่ญี่ปุ่นเข้าครอบครองไต้หวัน ขุนนางญี่ปุ่นในสมัยนั้นก็แตกเป็น 2 กลุ่ม ฝ่ายหนึ่งมองว่า ไต้หวันคือดินแดนที่เป็นเขตร้อนชื้น มีแต่ปลักตม และแหล่งเพาะพันธุ์โรงระบาด สมควรอย่างยิ่งที่จะขายดินแดนแห่งนี้ให้กับตะวันตกเพื่อนำเงินทองมาสร้างจักรวรรดิ์ญี่ปุ่นที่เกรียงไกร ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า เพราะดินแดนแห่งนี้คือเขตร้อนชื้น และมีแต่ปลักตม น่าจะเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว และแหล่งทำการเกษตร หรืออาจจะถึงขั้นพัฒนาไปสู่การผลิต เพื่อเลี้ยงปากท้องของกองทัพญี่ปุ่นที่กำลังจะต้องเร่งสร้างเพื่อขยายจักรวรรดิ์

แน่นอนว่า ฝ่ายหลังเป็นฝ่ายชนะ นั่นทำให้ตลอด 50 ปีที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันในฐานะเมืองขึ้น ญี่ปุ่นได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่เพื่อทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (Plantation) เพื่อเลี้ยงจักรวรรดิ์ญี่ปุ่น ปลักตมตอนกลางของประเทศถูกพัฒนาขึ้นเป็นเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ และมีการต่อระบบชลประทานออกไปเพื่อเลี้ยงภาคการเกษตรบนเกาะไต้หวัน และเขื่อนขนาดใหญ่นี้เองที่ในปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของเกาะไต้หวัน นั่นคือ Sun Moon Lake หรือทะเลสาบสุริยัน-จันทรา แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของประเทศ

ญี่ปุ่นเข้ามาพัฒนาภาคเกษตรจนสามารถสร้างอาหารเลี้ยงกองทัพได้ โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่การเกษตรใหม่ด้านตะวันออกของไต้หวัน นั่นคือที่โฮ่วซาน และหลังจากนั้นก็เริ่มพัฒนาภาคอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า และสายส่งไฟฟ้าเริ่มถูกพัฒนาขึ้นบนไต้หวันในสมัยญี่ปุ่น ทำให้ในปัจจุบันไต้หวันใช้ไฟฟ้าที่มีความต่างศักย์ 110 โวลต์ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น

ผังเมืองและระบบถนนก็คล้ายกับการวางผังในหลายๆ เมืองของญี่ปุ่น เช่นเดียวกับการเปิดท่าเรือที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน 2 แห่งของญี่ปุ่น นั่นคือ ท่าเรือเกาสง (Kaohsiung) และท่าเรือจีหลง (Keelung) ซึ่งก็ยังคงเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของไต้หวันมาจนถึงปัจจุบัน

ด้านการศึกษา ญี่ปุ่นมาวางรากฐานจนเกิดการศึกษาภาคบังคับ 6 ปีในไต้หวัน ตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยแพทย์แห่งแรกของไต้หวันก็ถูกก่อตั้งขึ้นโดยญี่ปุ่น ในนาม มหาวิทยาลัยไถเป่ยตี้กั๋ว อย่าลืมว่าญี่ปุ่นอีกฝ่ายหนึ่งมองว่าไต้หวันคือแหล่งเพาะพันธุ์โรคระบาด ดังนั้นการมีมหาวิทยาลัยแพทย์เพื่อผลิตหมอรักษาชาวญี่ปุ่นที่ไปอยู่ในอาณานิคมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ การเผยแพร่ภาษา วัฒนธรรม รูปแบบสังคม ผ่านระบบการศึกษา ก็ทำให้ในปี 1940 ช่วงก่อนสงครามมหาเอเซียบูรพา คนไต้หวันส่วนใหญ่ก็พูดภาษาญี่ปุ่น และตั้งชื่อตนเองแบบญี่ปุ่น รวมทั้งนับถือศาสนาชินโตแบบญี่ปุ่นในยุคสงคราม ซึ่งใครที่ไม่ทำตัวเป็นญี่ปุ่น ก็จะไม่มีสิทธิ์ได้เป็นผู้บริหาร หรือทำงานในตำแหน่งสำคัญๆ

อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรสำคัญๆ โดยเฉพาะที่ดินทำการเกษตร โรงงานน้ำตาล และอุตสาหกรรมผลิตอาวุธ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของไต้หวันในเวลานั้น ก็ยังเป็นของญี่ปุ่น

แน่นอนว่าความผูกพันระหว่างญี่ปุ่นและไต้หวันกว่าครึ่งศตวรรษ ทำให้ในช่วง 1970 เป็นต้นมา เมื่อญี่ปุ่นพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นจนกลายเป็นเสือเศรษฐกิจ นักลงทุนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งก็เริ่มคิดที่จะกลับไปลงทุนในไต้หวัน เพราะพิจารณาว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ญี่ปุ่นเคยก่อสร้างไว้ตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลก ประกอบกับคนงานซึ่ง generation หนึ่งก็ยังคงพูดสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้อยู่ และเป็นแรงงานที่มีราคาถูกกว่าแรงงานญี่ปุ่นด้วย น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไต้หวันกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนมากที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่เศรษฐกิจภายในประเทศของญี่ปุ่น ถูกทุบโดยมหาอำนาจตะวันตกผ่าน Plaza Accord ในปี 1985 นั่นทำให้เงินลงทุนจากญี่ปุ่นจำนวนมากหลั่งไหลไปลงทุนในไต้หวัน และก็เข้ามาในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ไต้หวันพร้อมที่จะพัฒนาจนกลายเป็นเสือเศรษฐกิจแห่งเอเซียในทศวรรษ 1980

กลับมาดูไทยบ้าง แน่นอนว่าในช่วงสงครามโลก แม้ไต้หวันจะเป็นฐานการผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งมักจะมีชะตากรรมที่ไม่สวยนัก ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่ในกรณีของไทย เรามีไมตรีกับญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น และสายสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่นนี้ก็ยังคงมีต่อเนื่อง (แม้บางช่วงความนิยมญี่ปุ่นจะตกต่ำถึงขนาดมีการเดินขบวนเรียกร้องต่อต้านการใช้สินค้าญี่ปุ่นบ้าง) แต่ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 จนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นก็คือนักลงทุนรายใหญ่อันดับต้นๆ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

แม้ในปัจจุบัน Global Value Chains ที่ไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็มักจะอยู่ในเครือข่ายเดียวกันกับญี่ปุ่น โครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการก็ได้รับการสบับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีจากหน่วยงานของญี่ปุ่น เช่น  JICA, JBIC และหน่วยงานที่ญี่ปุ่นสนับสนุน เช่น การเข้ามาพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมโยงไทยกับประเทศเพื่อนบ้านโดย Asian Development Bank ซึ่งญี่ปุ่นมีบทบาทสูง นั่นทำให้ข้อนี้เราและไต้หวันน่าจะสูสีกันครับ

 

4. ปัจจัยจากสหรัฐอเมริกา (USA Factor)

แน่นอนว่าหลังสงครามเกาหลี (1950-1953) ภาพของการขยายอิทธิพลของฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ที่นำโดยโซเวียตและจีนจะชัดเจนขึ้นอย่างมาก นั่นทำให้สหรัฐฯ ต้องสนับสนุนไต้หวันในทุกวิถีทางเพื่อรักษาสถานะของไต้หวัน ในฐานะของตัวแทนประเทศจีนในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประมาชาติ เพื่อยันกับการขยายอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่และโซเวียต

นั่นทำให้สหรัฐฯ เข้ามาให้ความช่วยเหลือไต้หวันในทุกมิติ เพื่อให้แข็งแกร่งทั้งในมิติกองทัพ-ความมั่นคง โดยให้การสนับสนุนผู้นำเผด็จการนั่นคือ นายพลเจียงไคเช็ค แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อยืนยันให้เห็นว่าจีนที่พัฒนาในรูปแบบทุนนิยมคือรูปแบบการพัฒนาที่ถูกต้อง

ดังนั้นสิทธิพิเศษทางการค้า การลงทุน รวมทั้งเงินทุน และเงินช่วยเหลือเพื่อสร้างสาธารณูปโภค สร้างโครงสร้างพื้นฐาน สร้างระบบสวัสดิการสังคม และสร้างความมั่นคงผ่านกองทัพ จึงหลั่งไหลจากสหรัฐฯ เข้าสู่ไต้หวันอย่างมหาศาล และนั่นทำให้ไต้หวันแทบจะไม่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากร สามารถทำการพัฒนาเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยไม่มีปัญหาภาระทางการคลังแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ปัจจัยจากสหรัฐฯ ที่มีต่อไต้หวัน เป็นอีกเรื่องที่เราต้องดูเป็นอุทาหรณ์ด้วย นั่นคือเมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน พอเข้าสู่ทศวรรษ 1960 ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมความต้องการที่จะสานสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ (โดยที่ยังมีสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอยู่) เมื่อเวลาประจวบเหมาะ คือพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตแตกคอกัน สหรัฐฯ จึงได้เริ่มปูทางสานสัมพันธ์ทางการทูต โดยส่ง เฮนรี่ คิสซิงเกอร์ (Henry Kissinger) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงไปเยือนปักกิ่งก่อน

ในที่สุดพอถึงปี 1971 สมาชิกส่วนใหญ่ขององค์การสหประชาชาติก็มีมติยอมรับตัวแทนของ สาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China: PRC, จีนแผ่นดินใหญ่) ให้ทำหน้าที่แทน สาธารณรัฐจีน (Republic of China: ROC ไต้หวัน) ในสหประชาชาติ จากนั้นเป็นต้นมาเกือบทุกประเทศก็ทยอยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตกับจีน (PRC) และทยอยยกเลิกความสัมพันธ์ทางการฑูตกับไต้หวัน (ROC)

จุดที่พีคที่สุดคือ สหรัฐอเมริกาเองก็ยกเลิกความสัมพันธ์ทางการฑูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวันในช่วงปี 1978-1979 จนในที่สุด สาธารณรัฐจีน หรือ ไต้หวัน ก็ถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติในปี 1979 ด้วยคำสั่ง UN General Assembly Resolution 2758

ที่เจ็บปวดสำหรับไต้หวันและจีนมากกว่านั้นคือ ในวันที่สหรัฐฯ ยกเลิกความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน สหรัฐฯ ได้ออกกฎหมาย Taiwan Relations Act เพื่ออนุญาตให้สหรัฐฯ ยังสามารถค้าขายกับไต้หวันได้ต่อไป โดยเฉพาะการค้าขายอาวุธ ทั้งนี้ เพราะไต้หวันเองก็กลัวอย่างยิ่งกับการที่จีนจะส่งกองกำลังเข้ายึดพื้นที่ เพื่อนำไต้หวันกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของจีน ดังนั้นไต้หวันจึงเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ เพื่อซื้อเรือรบ เครื่องบินรบ และขีปนาวุธไว้ป้องกันตนเอง ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็สามารถอ้างการปกป้องไต้หวันในการส่งเรือรบ เรือดำน้ำ และขีปนาวุธเข้ามาประจำการจ่อคอหอยของจีนได้อีกต่อไป

อุทาหรณ์สำหรับพวกเราก็คือ ในวงการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่มีมิตรแท้ และไม่มีศัตรูที่ถาวร ทุกประเทศดำเนินนโยบายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองด้วยกันทั้งสิ้น

ในกรณีของไทย แน่นอนว่าตลอดช่วงสงครามเย็น เราก็ได้รับเงินทุนและความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ด้วยเช่นเดียวกัน แนวถนนมิตรภาพที่สหรัฐฯ เข้ามาสร้างเพื่อเชื่อมโยงภาคอีสานของไทย ก็เพื่อยันกับการขยายอิทธิพลของ Ho Chi Minh’s Trail ที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและอินโดจีน ใช้ในการขยายอิทธิพลของค่ายคอมมิวนิสต์

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การทหาร จากสหรัฐฯ ก็เข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน ผู้นำฝ่ายขวาจัดที่มาจากกองทัพก็ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เช่นกัน ดังนั้นเรามีประสบการณ์เดียวกันกับไต้หวัน ถือว่าข้อนี้ไทยกับไต้หวันสูสีกันครับ

 

5. ความเท่าทันกระแสโลก (Global Trends)

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industry 4.0 คือเทรนหลักที่จะเปลี่ยนแปลงโลกตลอดไป และมันเกิดขึ้นแล้วในศตวรรษที่ 21 ซึ่งไต้หวันมีความพร้อม

พวกเราได้ยินมาโดยตลอดครับกับบริษัทไฮเทคของไต้หวันที่เริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ไม่ว่าจะเป็น Asus, Acer, และแน่นอน FoxConn ซึ่งรายหลังนี้ปัจจุบันคือผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดเท่ากับ 40% ของตลาดโลก เขาคือผู้ผลิตสินค้าให้กับ Apple, Intel, Nintendo, PlayStation, BlackBerry, Nokia, HP ฯลฯ

ไต้หวันทำเรื่องเหล่านี้มานานมากแล้วครับ และปัจจุบันในยุค 4.0 ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐของไต้หวันก็กำลังเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน สนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นยุคที่โลกดิจิตอล โลกไซเบอร์ ซึ่งเดิมทีนั้นจับต้องไม่ได้ กำลังจะผนวกเข้ากับโลกความเป็นจริง นี่คือหนึ่งในแกนหลัก (Core) ของ Industry 4.0 ที่เรียกว่า Cyber-Physical Connectivity

ไต้หวันเลือกที่จะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ VR & AR (Virtual Reality and Augmented Reality) พูดให้ง่ายคือแว่นตาที่มีจอภาพ ติดตั้งคอมพิวเตอร์ และสามารถเชื่อมโยงกับระบบ Cloud ได้ นั่นทำให้โลกที่คุณจะมองเห็นเปลี่ยนไปตลอดกาล

คณะของเรามีโอกาสเข้าไปชมเทคโนโลยีนี้ ในศูนย์การวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนไต้หวันที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก ต่อไปนี้การเช็คสต๊อกจะเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะเพียงคุณใส่แว่น VR แล้วมองเข้าไปในชั้นวางของในโกดัง กล้องของแว่นก็จะจับภาพสินค้าในชั้นวาง อ่าน QR Code โดยคอมพิวเตอร์ในแว่น แล้วส่งสัญญาณขึ้นไปเช็คกับฐานข้อมูลของคุณที่อยู่บน Cloud แล้วส่งเป็นจำนวนตัวเลขกลับมาให้คุณบนเลนส์ของแว่นตาได้แทบจะในทันทีว่า สต๊อกวัตถุดิบที่คุณเห็นในกล่องเหล่านั้นคืออะไร มีจำนวนเหลืออยู่เท่าไร สั่งเข้ามาวันไหน จากใคร และจะหมดอายุวันไหน

นอกจากนี้มันยังสามารถเช็คยอดการสั่งซื้อและกำลังการผลิตได้ด้วยว่า ถ้าผลิตในอัตราปัจจุบัน วัตถุดิบตัวนี้จะหมดลงในอีกกี่วัน จะผลิตสินค้าได้กี่ชิ้น และเมื่อคุณมองไปอีกด้านหนึ่งของโกดังที่ยังมีชั้นว่างๆ อยู่ ระบบ AR ก็สามารถทำแบบจำลองให้คุณเห็นกับตาได้เลยว่า ถ้าสั่งสินค้าเข้ามาเก็บไว้ก่อนล่วงหน้า กล่องสินค้า กล่องวัตถุดิบเหล่านั้น ต้องวางบนชั้นวางไหน อย่างไร เพื่อให้สะดวกที่สุดในการนำมาเตรียบเข้าสู่สายพานการผลิต

แน่นอนว่า ผู้ประกอบการรายนี้ของไต้หวัน ไม่ได้รับจ้างทำระบบนี้แบบสั่งตัด (Tailor made) ให้เฉพาะกับลูกค้ารายใดรายหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าระบบสั่งตัดแบบนี้จะมีราคาที่สูงมาก หากแต่บริษัท VR & AR อย่างบริษัทนี้กำลังพัฒนา platform กลางๆ ที่ใช้งานง่าย ปรับใช้กับธุรกิจได้หลายรูปแบบ และขายบริการเหล่านี้แบบเป็นรายเดือนในราคาที่ถูกกว่าเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ โดยขายทั้ง hardware คือตัวแว่น ขาย Software และขาย Service ที่จะให้บริการต่อเนื่องแบบเป็นรายเดือนในราคาเดือนละไม่กี่ดอลลาร์

นี่คือตัวอย่างเดียวของความเตรียมพร้อมเข้าสู่โลก 4.0 ของไต้หวันครับ แต่เชื่อไหมครับว่าที่ผมบรรยายมาทั้งหมด ไม่ได้ทำให้นักธุรกิจไทยแปลกใจและตื่นเต้นเท่ากับสิ่งที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ครับ นั่นคือการที่บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีของไต้หวันแห่งนี้บอกกับเราว่า ตัวอาคารสำนักงานแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางของมหานครไทเป เป็นอาคารที่รัฐบาลไต้หวันให้พื้นที่มาใช้ฟรีๆ และให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะนี่คืออุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไต้หวันต้องการ ดังนั้นคุณเอาพื้นที่ไปใช้ฟรีๆ ก่อนเลย

แน่นอนครับ สำหรับประเทศไทยจะให้เราไปแข่งขนาดนี้ก็คงทำยาก นโยบายของรัฐบาลของเรา S-Curve Industry ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 รวม 10 อุตสาหกรรม ก็อาจจะยังไม่ชัดเจน หรือแม้แต่การกำหนดคำจำกัดความ Thailand 4.0  กับ Industry 4.0 ก็อาจยังลักลั่นกันอยู่บ้าง ประเด็นเหล่านี้ทำให้เราต้องทบทวนว่า ในเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแบบนี้ ถ้าเราเป็น End-user ที่นำของดีของราคาถูกที่เขาพัฒนาเอาไว้แล้วมาใช้อย่างฉลาด เราก็จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

สิ่งที่พวกเราคุยกันในหมู่ The Boss ก็คือ แล้วผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมตัวอะไรบ้างล่ะ ถึงจะสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

สองเรื่องที่เราต้องเตรียมคือ หนึ่ง เทคโนโลยีเหล่านี้ต้องการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือที่เราเรียกว่า Big Data ดังนั้นถ้าบริษัทของท่านยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างครบถ้วนและเป็นระบบ เทคโนโลยีเหล่านี้จะใช้งานในการคิดวิเคราะห์อะไรไม่ได้เลยครับ ดังนั้นต้องถามตัวเองก่อนว่า เราเก็บข้อมูลของบริษัทเราดีหรือยัง เป็นระบบหรือยัง จากนั้นอีกเรื่องที่ต้องมีเพื่อใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างคุ้มที่สุด คือเราต้องมีขั้นตอนวิธีการคิดวิเคราะห์ที่เป็นระบบ อุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้จะคิดวิเคราะห์ให้เราได้ ก็ต่อเมื่อเราสอนมันให้วิเคราะห์ข้อมูลที่เราป้อนให้มันได้ หมายความว่ามันต้องการชุดคำสั่ง หรือ Algorithm ที่ดี

ดังนั้นท่านอาจต้องไปลองเขียนลำดับการทำงาน ลำดับและวิธีการคิด กระบวนการทำงานของท่านให้ดีแล้วครับ เถ้าแก่ส่วนใหญ่จะชินกับการใช้ความรู้สึกกับกระบวนคิดที่รวบรัดเป็นอัตโนมัติในเสี้ยววินาที ที่มาจากประสบการณ์การทำงานที่ยาวนาน ทีนี้ท่านต้องลองเขียนๆ ออกมาเป็นขั้นๆ เป็นแผนภาพแล้วล่ะครับว่า เวลาท่านคิดจะสั่งงานลูกน้อง ท่านมีหลักเหตุและผล มีขั้นตอนอย่างไร เพราะขั้นตอนเหล่านี้จะกลายเป็น Algorithm ที่ดีที่จะนำไปใช้สอนให้คอมพิวเตอร์มันทำงานแทนท่านต่อไปในอนาคตครับ

ส่วนเทรนของโลกที่มาแน่ ซึ่งเราได้เปรียบ และต้องทำให้ได้ ส่งเสริมให้ได้ คือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และเรื่องสังคมสูงวัยครับ อุตสาหกรรมการเกษตรที่ต่อยอดเป็นอาหาร ภาคบริการสุขภาพ และ wellness คือสิ่งที่ทุกคนจะต้องการในอนาคต ที่สำคัญคือเรามี “น้ำดี ดินดี แดดดี จิตใจรักการบริการที่ดี” อยู่แล้ว ซึ่งเราต้องจับภาคการผลิตที่สอดคล้องกับจุดแข็งของเราและเป็นที่ต้องการของตลาดเอาไว้ให้ได้

 

6. รัฐบาล เสถียรภาพ และความโปร่งใส (Government, Stability and Transparency)

ตั้งแต่จุดกำเนิดของไต้หวันในปี 1949 จนถึงปัจจุบัน ตลอดเวลาประมาณ 60 ปีไต้หวันมีประธานาธิบดีเพียง 6 คนเท่านั้น คือ

  • Chiang Kai-shek 1948-1978 (ช่วง 3 ปีหลังเป็น Yen Chia-kan ทำหน้าที่แทน)
  • Chiang Ching-kuo (1978-1988)
  • Lee Teng-hui (1988-2000)
  • Chen Shui-bian (2000-2008)
  • Ma Ying-jeou (2008-2016)
  • Tsai Ing-wen (2016- ปัจจุบัน)

โดยประธานาธิบดี 4 คน (หมายเลข 1, 2, 3 และ 6) มาจากพรรคเดียวกันคือ ก๊กมินตั๋ง ในขณะที่ หมายเลข 4 และ 6 มาจากพรรค Democratic Progressive Party (DPP) นั่นทำให้นโยบายของรัฐบาลไต้หวันมีความต่อเนื่องและเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูง ซึ่งถูกใจผู้ที่ทำการค้าการลงทุน

แม้ว่าพรรคก๊กมินตั๋งจะมีนโยบายที่มีความเป็นชาตินิยมสูง แต่สำหรับพ่อค้านักธุรกิจ นโยบายเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความต่อเนื่องของนโยบายเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า เพราะความต่อเนื่องของนโยบายของรัฐ จะทำให้พวกเขาสามารถวางแผนธุรกิจและวางแผนรับมือกับเรื่องต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบและวางแผนในระยะยาวได้ ซึ่งจะดีกว่าการที่มีนโยบายที่ดีแต่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

อีกเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการลงทุนระหว่างประเทศ คือเรื่องของความโปร่งใสและการมีธรรมาภิบาล ไต้หวันเป็นประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 15 ของประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของ Transparency International (TI) ในขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่ามาก และกระบวนการจัดการกับคนฉ้อโกงของไต้หวันก็มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง เช่น ประธานาธิบดีคนที่ 4 Chen Shui-bian ในปี 2009 ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 19 ปี เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการรับสินบนใน 2 กรณี และตอนนี้ก็ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

ประเทศไทยคงต้องการเรื่องนี้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของความโปร่งใส หัวหน้าไม่โกง แต่ถ้าลูกน้องหรือลูกพี่ของหัวหน้าไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆ บางเรื่องได้ ก็ไม่มีความโปร่งใส หรือหลายๆ ครั้งนักธุรกิจก็มักจะบ่นกันเสมอว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎระเบียบ คอยแต่จะห้ามคอยแต่จะขัดกับสิ่งที่นักธุรกิจไทยต้องการจำทำ แต่ทีนักลงทุนต่างชาติจะทำอะไรก็ทำได้ เรื่องนี้น่าจะมาจาก 2 เรื่อง นั่นคือ

  • เจ้าพนักงานของเราศักยภาพไม่พอที่จะไปสื่อสารกับต่างชาติได้ ก็เลยไปห้ามไม่ให้เขาทำโน่นนี่นั่นไม่ได้ เลยปล่อยๆ เขาไป ภาษาเราไม่ดี เราก็ไปจับไปห้ามเฉพาะกับคนที่เราพูดรู้เรื่องละกัน นั่นก็คือผู้ประกอบการชาวไทย และ/หรือ
  • เพราะนักลงทุนต่างชาติเขาศึกษามาดี หาข้อมูลมาดีเลยรู้ว่าเรื่องอะไรทำได้ เรื่องอะไรทำไม่ได้ และสำหรับเรื่องที่ทำไม่ได้เขาจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เขาทำได้ และที่น่าแปลกก็คือ ในทางปฏิบัติ เราก็ไม่เคยเห็นต่างชาติทำอะไรเองได้เลย 100% ในประเทศไทย นั่นหมายความว่า อย่างน้อยก็ต้องมีคนไทยจำนวนหนึ่งเลยทีเดียวที่พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้ต่างชาติในเรื่องหลายๆ เรื่อง

ทั้งหมดคือเรื่องของความโปร่งใส ซึ่งถ้าไม่มีหรือมีแต่น้อย ก็คงพัฒนาไม่ได้ หรือพัฒนาได้แต่ก็ทำได้ด้วยความยากลำบาก

 

7. จิตอาสา การเสียสละเพื่อส่วนรวม (Social Contribution)

ชาวไต้หวันจำนวนมากใช้การทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาพุทธ ในการสร้างเครือข่าย ทั้งในเรื่องชีวิตส่วนตัวและในเรื่องการทำธุรกิจ

เป็นเรื่องปกติที่เราจะเห็นคนไต้หวันใช้เวลาในวันอาทิตย์ไปโบสถ์ ทั้งเพื่อการศาสนาและเพื่อการออกงานสังคม สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ หรือในกรณีของพระพุทธศาสนา คณะของพวกเราได้มีโอกาสเข้าไปชมศูนย์รีไซเคิลของมูลนิธิพุทธฉือจี้ มูลนิธินี้ตั้งขึ้นโดยพระภิกษุณีทางฝั่งมหายาน นามว่า ธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน ภิกษุณีเจิ้งเอี๋ยนเริ่มต้นสร้างกระบวนการจิตอาสาโดยการขอร้องให้แม่บ้านในชุมชนที่ท่านอาศัยอยู่ บริจาคเงินกันวันละ 0.5 ดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 50 สตางค์ไทย) ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เล็กน้อยมากในสายตาของทุกๆ คน โดยการหยอดกระปุกที่ท่านทำขึ้นจากกระบอกไม้ไผ่

แต่การทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ด้วยคนหลายๆ คน อย่างสม่ำเสมอ และหมั่นเฝ้าระลึกถึงบุญที่ตนทำอย่างสม่ำเสมอนั้น จะกลายเป็นพลังมหาศาลในการที่จะนำเงินจำนวนนี้ไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก จากกระบวนการแบบนี้ ทำให้ปัจจุบันมูลนิธิพุทธฉือจี้ มีโรงพยาบาลที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในไต้หวัน 7 แห่ง ที่ให้การรักษาพยาบาลฟรีกับคนยากจน มีเครือข่ายให้ความช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก และเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติใน 92 ประเทศทั่วโลก โดยในประเทศไทย มูลนิธิพุทธฉือจี้เปิดโรงเรียนสอนการศึกษาภาคบังคับควบคู่กับโรงเรียนวิถีพุทธในจังหวัดเชียงใหม่

ในช่วงเวลาต่อมา พระภิกษุณีเจิ้งเอี๋ยนเห็นความสำคัญของการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ท่านจึงดำริที่จะสร้างศูนย์รีไซเคิล เพื่อให้จิตอาสาของมูลนิธิออกไปรวบรวมขยะจากทั่วไต้หวัน เพื่อนำมาคัดแยก และผ่านกระบวนการรีไซเคิล เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ในการผลิตอุปกรณ์ยังชีพที่จะใช้ในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งยังเป็นแหล่งทุนในการปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

ภาพที่พวกเราเห็นคือ อาสาสมัครจิตอาสาของมูลนิธิจำนวนมาก เข้ามาแยกขยะจำนวนมหาศาลที่ไปตระเวนเก็บมาในช่วงเวลาที่เขาว่างจากการทำงาน ควบคู่ไปกับจิตอาสาสูงอายุจำนวนมากที่ได้มานั่งพูดคุยพบปะ ได้มีสังคมกับคนวัยเดียวกันจากการคัดแยกและผลิตสินค้าจากสิ่งของรีไซเคิล ซึ่งแน่นอนว่าดีกว่าการปล่อยให้ผู้สูงวัยเหล่านี้นั่งเฉาโดดเดี่ยวอยู่กับบ้าน

ในวันที่ไต้หวันเข้าสู่สังคมสูงวัย เครื่องใช้ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์นานาชนิด ขวดน้ำทุกประเภท เศษกระดาษที่ถูกใช้แล้ว ถูกนำกลับมาใช้ทั้งเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ที่กำลังลำบาก

คณะของเราก็ได้ทดลองทำงานจิตอาสาด้วย สิ่งที่ผมเห็นก็คือ นักธุรกิจระดับหมื่นล้านนั่งลงแยกขยะกับม้านั่งเตี้ยๆ ทำให้ได้เห็นว่าในช่วงเวลาที่ทำงานจิตอาสา มันเป็นเสมือนการฝึกฝนตัวตนให้รู้จักที่จะละวางหัวโขน ถอดหน้ากาก วางภาระหน้าที่การงาน ลงมาทำในสิ่งที่เหมือนๆ กับที่คนจรจัดทำอยู่ข้างๆ กองขยะ หากแต่กลับพบว่า ระหว่างที่นั่งแยกขยะกันไป พวกเรากลับได้พูดคุยได้หัวเราะอย่างสนุกสนาน ขณะเดียวกันก็สบายใจและได้รับความสุขจากการทำความดี นี่คือปริศนาธรรมที่คนทำงานจิตอาสาได้รับเพื่อเสริมสร้างปัญญา

ในช่วง ‘บรรสาน’ นักธุรกิจท่านหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อเริ่มต้นด้วยทุน คิดถึงแต่เรื่องจะหาเงิน ในระยะยาวก็คงจะแย่ลงและเสื่อม แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยธรรม คิดถึงแต่เรื่องของใจ ในระยะยาวก็คงจะมีความสุข” มิติทางสังคม มิติทางวัฒนธรรม ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน และควบคู่ไปกับความรื่นรมย์ของชีวิต

ถามว่าในกรณีของประเทศไทยเราเป็นอย่างไร ผมคิดว่าจิตใจเอื้ออาทร นิสัยชอบช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน คือหนึ่งในเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่อยู่คู่สังคมไทยอยู่แล้ว หากแต่ถ้าต้องการเปลี่ยนจิตใจเหล่านี้ให้กลายเป็นพลังงานที่ยิ่งใหญ่ ให้กลายเป็นขบวนการจิตอาสาที่เป็นรูปธรรม เราต้องมีจุดศูนย์รวมจิตใจที่ทุกคนรักและศรัทธา แน่นอนว่าในกรณีของหลายๆ ประเทศ องค์กรทางศาสนาที่มีนักบวชเป็นผู้นำจึงประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนขบวนการเหล่านี้ กรณีของมูลนิธิพุทธฉือจี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง

ในกรณีของไทยในอดีต แน่นอนว่าพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวไทยและสังคมไทยอยู่แล้ว และที่ผ่านมาเรามีล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย หรือดีงามแค่ไหน จิตใจคนไทยก็มีความเข้มแข็งไม่สั่นคลอน และสามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังแห่งแผ่นดิน (ตามความหมายของพระนาม ภูมิพล) ในการสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศได้

ในยุคปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ล้นเกล้ารัชกาลที่ 10 พระองค์ก็ทรงตระหนักถึงความสำคัญของพลังแห่งการรวมจิตอาสา พลังแห่งการทำความดีของประชาชนชาวไทย เราจึงได้เห็นโครงการในพระราชดำริ โครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ซึ่งผมเชื่อว่าชาวไทยทุกคนล้วนปลื้มปิติกับโครงการดีๆ เช่นนี้ ที่จะทำให้พลังของจิตใจเอื้ออาทร ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของคนไทย กลายเป็นรูปธรรมที่มีพระองค์ท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย และเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าบทบาทสำคัญของภาคธุรกิจ ก็คือการให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้พลังทางสังคมด้านบวกเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

 

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ คือองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการต่อยอดชุดความคิดของนักธุรกิจในเครือข่าย The Boss: Learn on the Road ครั้งที่ 11 ประเทศไต้หวัน แต่ละท่านที่มีประสบการณ์และมุมมองตลอดจนวิธีคิดที่ทั้งเหมือนและต่างกัน แต่ทุกคนต่างช่วยระดมสมองเพื่อบรรจบและสานต่อ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนทำให้เราได้ชุดความคิดใหม่ คือการเรียนรู้ Taiwan เพื่อพัฒนา Thailand

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save