fbpx

แล้วแต่ปุ๊ : ว่าด้วย ‘ประวัติศาสตร์ความทรงจำลวง’ ของ ปุ๊ ระเบิดขวด-แดง ไบเล่ ใน 2499 อันธพาลครองเมือง

ท่ามกลางความบอบช้ำและความฝันที่พังทลาย วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย วงการภาพยนตร์ไทยในขณะนั้นดูจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังเห็นได้จากปริมาณภาพยนตร์ในช่วงทศวรรษก่อนหน้าที่มีจำนวนเข้าฉายถึง 50-100 เรื่องต่อปี แต่เมื่อย่ำย่างเข้าสู่ทศวรรษ 2540 จำนวนภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉายตลอดทั้งปี 2540 กลับเหลือจำนวนเพียง 18 เรื่อง และลดจำนวนเหลือเพียงประมาณ 10 กว่าเรื่องต่อปีในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรกหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 

กระนั้น ความน้อยของปริมาณดังกล่าวได้กลับกลายเป็น ‘ยุคทอง’ ของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยอย่างไม่คาดฝัน เมื่อบรรดาภาพยนตร์ไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2540 ต่างประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้ รางวัล และความชื่นชม มากไปกว่านั้น ภาพยนตร์ไทยในห้วงดังกล่าวยังได้กลายเป็นสถานที่ให้ผู้คนในสังคมไทยได้หลบหนีจากความเจ็บปวด และกลายเป็นบ่อบำบัดอาการโหยหาอดีต อาการคิดถึงคืนวันเก่า ๆ และความรู้สึกโมโหที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ[1]

เมื่อกล่าวถึงจุดเริ่มต้นปรากฏการณ์ภาพยนตร์ไทยในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง คงจะมีความเห็นพ้องร่วมกันว่า ภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ผลงานกำกับของ นนทรีย์ นิมิบุตร และผลงานสร้างชื่อให้แก่พระเอกดังที่นับวันหน้าตาของผู้เขียนเองจะคล้ายเข้าไปทุกที อย่าง ‘พี่ติ๊ก’ เจษฎาภรณ์ ผลดี ในบท ‘แดง ไบเล่’ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของปรากฏการณ์ภาพยนตร์ไทยในช่วงทศวรรษ 2540

2499 อันธพาลครองเมือง เป็นภาพยนตร์ไทยเพียงเรื่องเดียวจากจำนวนทั้งหมด 18 เรื่อง ในปี 2540 ที่มีเนื้อหาย้อนกลับไปฉายภาพสังคมไทยในอดีต และเป็นภาพยนตร์แห่งปีที่สามารถทำรายได้สูงถึง 75 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับภาพยนตร์ไทยในยุคนั้น กล่าวได้ว่า 2499 อันธพาลครองเมือง เป็นภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้ รางวัล ผู้กำกับ นักแสดง และความทรงจำของผู้คนในยุคนั้น บางวลีในภาพยนตร์ได้กลายประโยคคำพูดฮิตกันในสังคมอย่าง “แล้วแต่ปุ๊” “เป็นเมียเรา ต้องอดทน” หรือที่มาฮิตกันในยุคหลังอย่าง “แถวนี้แม่งเถื่อน บอกตรงๆ นะ ถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้”

ขณะที่ในแง่ประวัติศาสตร์ ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ ก็เป็นหมุดหมายเริ่มต้นสำคัญของกลุ่มภาพยนตร์ไทยในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่มีลักษณะอาการโหยหาอดีต (Nostalgia) [2] เช่น  นางนาก บางระจัน ผีหัวขาด 7 ประจัญบาน และ แฟนฉัน รวมทั้งยังเป็นแม่แบบภาพยนตร์ไทยแนวแก๊งสเตอร์ (Gangster) ย้อนยุค ให้แก่ภาพยนตร์ไทยในช่วงหลังทศวรรษ 2540 อย่าง โก๋หลังวัง (พ.ศ.2545) และ อันธพาล (พ.ศ. 2555)

จาก Nostalgia ถึง False Memory

ปรากฏการณ์ความสำเร็จของ 2499 อันธพาลครองเมือง และภาพยนตร์ไทยในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่วงวิชาการภาพยนตร์ศึกษาของไทยให้ความสนใจ แต่ทว่าที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ข้อเสนอว่าด้วยภาพยนตร์ไทยในยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ ดูจะติดอยู่ที่เพดานคำอธิบายปรากฏการณ์โหยหาอดีตของผู้คนในสังคมผ่านโลกภาพยนตร์ไทย ซึ่งบทความนี้จะนำเสนอต่อไปว่า ปรากฏการณ์โหยหาอดีตของภาพยนตร์ไทยในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่บำบัดอาการโหยหาและโมโหของผู้คนในสังคมไทยเท่านั้น แต่ปรากฏการณ์โหยหาอดีตยังส่งผลต่อการสร้างประวัติศาสตร์ความทรงจำในอดีตของผู้คนในสังคมไทยขึ้นมาใหม่ ซึ่งทำให้ในบางครั้ง ความทรงจำที่สร้างขึ้นมาใหม่นั้นมีลักษณะเป็น ‘ความทรงจำลวง’ (False Memory)

แนวคิดความทรงจำลวงที่บทความนี้จะนำมาเป็นกรอบการวิเคราะห์พอสังเขป เป็นแนวคิดทางจิตวิทยา หมายถึงความทรงจำที่สร้างขึ้นหรือบิดเบือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยความทรงจำดังกล่าวอาจเป็นเรื่องเท็จหรือเป็นเพียงจินตนาการ ในบางความทรงจำจึงมิใช่ความจริง แต่ทว่าได้ถูกจดจำว่าเป็นความจริง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ในบางครั้งความทรงจำก็ทำงานคล้ายกับเว็บไซต์วิกิพีเดียที่แม้ตนเองจะเป็นคนแรกที่สร้างความทรงจำขึ้นมา แต่ความทรงจำก็เปิดโอกาสให้ตนเองและผู้อื่นกลับไปแก้ไขได้ ความทรงจำจึงอาจไม่ตรงกับความจริงในอดีต ซึ่งความทรงจำเช่นนี้ถูกประกอบสร้างขึ้นจากความผิดพลาด ความคลาดเคลื่อน หรือการถูกบิดเบือน แต่ทว่าได้ถูกจดจำและเชื่อความทรงจำจนสนิทใจกลายเป็นความจริงว่าเคยเกิดขึ้น[3] นอกจากนี้ ความทรงจำลวง ยังมีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) ซึ่งเป็นเรื่องว่าด้วยการทำงานของสมอง ที่ทำการรวบรวมข้อมูลความทรงจำต่างๆ มาไว้ด้วยกัน

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า แม้ ‘อิ้งค์ วรันธร’ จะเคยร้องเพลงบอกเราว่า ‘ลบไม่ได้ช่วยให้ลืม’[4] แต่ในทางประสาทวิทยาศาสตร์ เมื่อเวลาหรืออดีตผ่านไปไกลมากขึ้นเท่าไหร่ สมองก็ยิ่งมีโอกาสเก็บสะสมข้อมูลใหม่มากยิ่งขึ้น และข้อมูลใหม่นี้เอง ที่ทำให้ความทรงจำใหม่ๆ มีโอกาสเข้ามาผสมปนเปกับความทรงจำเดิม (ทั้งโดยไม่ตั้งใจและตั้งใจ) กลายเป็นความทรงจำเก่าที่ไม่เหมือนเดิม[5] ดังนั้น ในประโยคหนึ่งจากเพลง ‘ดูโง่โง่’ ของ เสือ ธนพล[6] ที่บอกว่า “เจ็บคงธรรมดา ให้เวลาเยียวยาหัวใจ ไม่นานคงหายดี” จึงมิใช่เป็นเพียงเรื่องทางวาทศิลป์ แต่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เพราะ ‘เวลา’ ถือเป็นสมการที่มีประโยชน์อย่างมากในการแก้ไขปัญหาความเจ็บปวด และเป็นกลไกทางออกของบาดแผลแห่งความทรงจำ (traumatic memories)

เป็นไปได้ว่า ความทรงจำลวงไม่เพียงทำงานกับมนุษย์ แต่ยังทำงานกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ด้วยการประดิษฐ์สร้างความทรงจำใหม่ผ่านกลไกการสื่อสารต่างๆ เช่น เรื่องเล่า นิยาย สารคดี ตำราหนังสือ และภาพยนตร์[7] ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง ที่ในด้านหนึ่งแม้จะประสบความสำเร็จในการพาคนไทยเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งการโหยหาอดีต แต่ในอีกด้านหนึ่งก็นำมาซึ่งวิวาทะของผู้คนที่เคยใกล้ชิดกับ ปุ๊ ระเบิดขวด และ แดง ไบเล่ ว่า บางส่วนของเนื้อหาของภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง

วิวาทะดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นหลังภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง เข้าฉายได้ประมาณ 2 อาทิตย์ ในขณะที่กระแสของภาพยนตร์เป็นไปด้วยดี ปรากฏว่าบรรดาอดีตนักเลงวัยรุ่น หรือ ‘จิ๊กโก๋’ ตัวจริงที่เคยร่วมกระเคียงบ่าเคียงไหล่มากับ ปุ๊ ระเบิดขวด และ แดง ไบเล่ อย่างปุ๊ กรุงเกษม, ตุ๋ย ระเบิดขวด, หล่อ ปังตอ, เพิ่มไฝ รวมไปถึง วัลภา ณ สงขลา หรือ ‘แอ๊ว’ อดีตแฟนสาวตัวจริงของ แดง ไบเล่ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญในโลกภาพยนตร์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการทีวี ‘เจาะใจ’ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ว่า เนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง ไม่ตรงกับความเป็นจริงของยุคสมัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวของสุริยัน ศักดิ์ไธสง หรือ เปี๊ยก วิสุทธิกษัตร์ ผู้ประพันธ์หนังสือสารคดีเรื่อง เส้นทางมาเฟีย ที่นำเป็นเค้าโครงของภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง และเป็นตัวละครสำคัญหนึ่งในโลกภาพยนตร์ที่อยู่เคียงข้างกับ แดง ไบเล่โดยบรรดาจิ๊กโก๋ตัวจริงต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘เปี๊ยก วิสุทธิกษัตร์’ ไม่เคยมีตัวตนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับจิ๊กโก๋ในยุคนั้น รวมทั้งไม่เคยมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ตีรันฟันแทงตามเหตุการณ์จริงในช่วงทศวรรษ 2500 ดังที่ภาพยนตร์ได้นำมาสร้างแต่อย่างใด[8]

ท้ายที่สุด เมื่อปรากฏเสียงวิพากษ์มากขึ้นเรื่อยๆ สุริยัน ศักดิ์ไธสงก็ได้ออกมายอมรับว่า หนังสือสารคดีเรื่อง เส้นทางมาเฟีย ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง นั้น เป็นเพียงนิยายที่เขาแต่งขึ้นจากคำบอกเล่าและข่าวที่เคยได้ยินมาเท่านั้น โดย ‘เปี๊ยก วิสุทธิกษัตร์’ ก็เป็นเพียงแค่ชื่อที่สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งเคยใช้เรียกตอนที่เขาไปออกรายการเท่านั้น กล่าวสรุปคือ ‘เปี๊ยก วิสุทธิกษัตร์’ ไม่ได้เป็นฉายาในวงการจิ๊กโก๋ และไม่ได้เป็นเพื่อนร่วมแก๊งกับ ปุ๊ ระเบิดขวด และ แดง ไบเล่ แต่อย่างใด[9]

ในประเด็นนี้ควรกล่าวถึงงานศึกษาเรื่อง นักเลงพระนครฯ ของ วรยุทธ พรประเสริฐ ซึ่งได้ศึกษาข้อมูล ตั้งข้อสังเกต และวิเคราะห์ปรากฏการณ์วิวาทะเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ วรยุทธมีความเห็นว่า แม้สุดท้ายแล้ว สุริยัน ศักดิ์ไธสง จะออกมายอมรับว่างานเขียนของตนเป็นเพียงนิยายที่แต่งขึ้นจากคำบอกเล่าและข่าวที่เคยได้ยินมา  แต่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างความนิยมชมชอบที่ผู้คนในสังคมไทยมีต่อหนังสือ เส้นทางมาเฟีย และภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง ลงได้ ประเด็นสำคัญคือ ความนิยมที่คนในสังคมมีต่อนิยายและภาพยนตร์ได้สร้างภาพจำจนกลายเป็น ‘จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย’ (spirit of the age) และได้ก่อให้เกิด ‘จินตนาการแห่งสาธารณชน’ (public imagination) ที่ให้ความทรงจำและการรับรู้ประวัติศาสตร์ของผู้คนในสังคมไทยเกี่ยวกับนักเลงวัยรุ่นในทศวรรษ 2500 ที่ผิดเพี้ยนหรือคลาดเคลื่อนไปในหลายแง่มุม[10] 

โดยเฉพาะความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนหรือผิดเพี้ยนไปอย่างมหันต์ คือการปรากฏขึ้นของกลุ่มนักเลงวัยรุ่น หรือจิ๊กโก๋ เกิดขึ้นภายหลังการขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ ในปี 2500-2501 โดยเรื่องราวไปจนถึงวีรกรรมของบรรดาจิ๊กโก๋ชื่อดังในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น แดง ไบเล่, ปุ๊ ระเบิดขวด, ปุ๊ กรุงเกษม ฯลฯ ล้วนอยู่ในระหว่างปี 2501-2505 แทบทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ศึก 13 ห้างบางลำพู ซึ่งเป็นการยกพวกตีรันฟันแทงกันระหว่างแก๊งของ ปุ๊ กรุงเกษม กับ แดง ไบเล่ ที่เกิดขึ้นในปี 2501 แต่ในนิยายและภาพยนตร์กลับเป็นการยกพวกตีกันของระหว่างแก๊งของ แดง ไบเล่ กับ ปุ๊ ระเบิดขวด ในปี 2499 ซึ่งคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงไปมาก

หรือการยกพวกตีกันระหว่างแก๊งของปุ๊ กรุงเกษม กับพรรคพวกของปุ๊ ระเบิดขวดบริเวณหน้าโรงหนังกรุงเกษมที่เกิดขึ้นในปี 2503 เช่นเดียวกับเหตุการณ์ปาระเบิดขวดที่ย่านสะพานขาวของปุ๊ ระเบิดที่เกิดขึ้นในปี 2504 รวมไปถึงเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทแก๊งจิ๊กโก๋ของแดง ไบเล่ กับ ปุ๊ ระเบิดขวดที่ปะทุขึ้นในปี 2505 ก่อนที่แก๊งจิ๊กโก๋เหล่านี้จะถูกทางการปราบปรามอย่างราบคาบในปลายปี 2505 แน่นอนว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในปี 2499 ดังที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนของสุริยัน ศักดิ์ไธสง หรือภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง[11]

ข้อสังเกตข้างต้นเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ เพราะโดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัย คำว่า “อันธพาลครองเมือง” เป็นรูปคำที่มีการใช้จริงๆ ในช่วงปี 2499-2500[12] โดยเป็นวาทศิลป์ที่หนังสือพิมพ์ซึ่งอยู่ภายใต้การสนับสนุนของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้โจมตีนโยบายทางการเมืองของ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เพราะเป็นที่รับรู้กันดีว่า เหล่าบรรดานักเลงหรืออันธพาลส่วนใหญ่ซึ่งมีอาชีพเป็นคนคุมซ่อง คุมบ่อนการพนัน คุมแหล่งอบายมุขต่างๆ รวมทั้งยังเป็นฐานเสียงและหัวคะแนนให้แก่พรรครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่ภายใต้การสนับสนุนดูแลของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ผู้ซึ่งเป็นคู่คานอำนาจทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ในช่วงปี 2497-2500[13]

ประเด็นสำคัญคือ หากกล่าวตามความจริงของยุคสมัย 2499 มีความเข้าใจเรื่อง “อันธพาลครองเมือง” จริง แต่บุคคลที่ขึ้นชื่อหรือถูกนิยามให้เป็นนักเลงหรืออันธพาลชื่อดังควรจะเป็นบุคคลอย่าง เกชา เปลี่ยนวิถี หรือ ‘โอวตี่’ นิลราช แซ่โค้ว เสียมากกว่า เพราะสำหรับปุ๊ ระเบิดขวด และแดง ไบเล่ พวกเขาไม่ได้ถูกสังคมหรือหนังสือพิมพ์นิยามให้เป็นอันธพาลในช่วงปี 2499 แต่ได้ถูกนิยามให้เป็น ‘นักเลงวัยรุ่น’ หรือ ‘จิ๊กโก๋’ ในช่วงปี 2501-2505 และที่สำคัญคือ ในสายตาของรัฐบาล หนังสือพิมพ์ และประชาชนทั่วไป ความรุนแรงในการตีรันฟันแทงและปาระเบิดขวดของพวกจิ๊กโก๋เหลานี้ ถูกมองว่าเป็น ‘ปัญหาเยาวชน’ มิได้ถูกมองว่าเป็นนักเลงผู้มีอิทธิพลคุมบ่อนคุมซ่องแต่อย่างใด[14]

อย่างไรก็ตาม เมื่อเอ่ยชื่อถึง ‘ปุ๊ ระเบิดขวด’ และ ‘แดง ไบเล่’ ในปัจจุบัน เชื่อได้ว่าคนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยย่อมนึกถึงปี 2499 และคำว่า “อันธพาลครองเมือง” ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้วไม่เคยปรากฏข่าว ปุ๊ ระเบิดขวด และ แดง ไบเล่ ในปี 2499 และพวกเขาทั้งสองก็มิได้ถูกนิยามว่าเป็นอันธพาลในทศวรรษ 2500 รวมทั้งวีรกรรมทั้งหมดที่ ปุ๊ ระเบิดขวด และ แดง ไบเล่ ได้สำแดงในช่วงทศวรรษ 2500 ก็แทบจะไม่สามารถเรียกว่า “อันธพาลครองเมือง” ได้ เพราะสภาวะอันธพาลครองเมืองได้ถูกจอมพลสฤษดิ์ปราบปรามลงไปอย่างเด็ดขาดไปแล้วตั้งแต่หลังการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2501

แม้จะด้วยความไม่ตั้งใจ แต่จะเห็นได้ว่า ภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่บำบัดอาการโหยหาและโมโหของผู้คนในสังคมไทยเท่านั้น แต่เนื้อหาของภาพยนตร์ยังส่งผลต่อการสร้างประวัติศาสตร์ความทรงจำเรื่อง ปุ๊ ระเบิดขวด และ แดง ไบเล่ ขึ้นมาใหม่ในสังคมไทย กลายเป็น ปุ๊ ระเบิดขวด และ แดง ไบเล่ และในฐานะอันธพาลชื่อดังแห่งปี 2499 ซึ่งความทรงจำที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้ได้กลับกลายเป็น ‘ความทรงจำหลัก’ ของคนในสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ประวัติศาสตร์ความทรงจำลวง’

ประเด็นสำคัญคือ ประวัติศาสตร์ความทรงจำลวงว่าด้วย ปุ๊ ระเบิดขวด กับ แดง ไบเล่ ใน 2499 อันธพาลครองเมือง ไม่เพียงแต่ทำให้ตระหนักถึงอำนาจของภาพยนตร์ในฐานะกลไกการสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์  เพราะหากบางความทรงจำในสมองของมนุษย์มิใช่ความจริง แต่ทว่าได้ถูกจดจำแล้วว่าเป็นความจริง ในบางประวัติศาสตร์ความทรงจำของสังคมไทยย่อมมีโอกาสเป็นไปได้ว่าประวัติศาสตร์ความทรงจำบางอย่างก็อาจมิใช่ความจริงเช่นกัน กล่าวคือ เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ถูกดัดแปลง ถูกบิดเหตุการณ์ สลับวันเวลา สลับตัวบุคคล หรือทำการแต่งเสริมเติมแต่งจินตนาการเข้าไป และถูกนำเสนอผ่านกลไกการสื่อสารอย่าง เรื่องเล่า หนังสือ ตำรา รายการโทรทัศน์ และภาพยนตร์ จนทำให้ทำให้ประวัติศาสตร์ความทรงใหม่หรือประวัติศาสตร์ความทรงจำลวงนั้นได้ถูกจดจำแล้วว่าเป็น ‘ประวัติศาสตร์ความจริง’

แม้ประวัติศาสตร์ความทรงจำลวงของภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง จะเกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า บางประวัติศาสตร์ความทรงจำของสังคมไทยในหนังสือ ตำรา รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือรายการอื่นๆ ที่คนในสังคมไทยจดจำกันอย่างเชื่อใจในปัจจุบันนั้น มีประวัติศาสตร์ความทรงจำลวงอื่นๆ อยู่บ้างหรือไม่?

เพราะหากความทรงจำลวงในฐานะแนวคิดทางจิตวิทยาและแนวคิดประสาทวิทยาศาสตร์มีประโยชน์อย่างมากในการแก้ไขปัญหาความเจ็บปวด และเป็นกลไกทางออกของบาดแผลแห่งความทรงจำ ประวัติศาสตร์ความทรงจำลวงในฐานะแนวคิดทางการเมืองก็คงจะมีประโยชน์อย่างมากต่อชนชั้นผู้ปกครองสำหรับจัดการ ‘ความทรงจำทางการเมือง’ หรือ ‘ปกครองความทรงจำทางประวัติศาสตร์’ ของผู้คนจำนวนมากในสังคม


[1] ดูประเด็นนี้ใน อิทธิเดช พระเพ็ชร, จาก “โหยหา” ถึง “โมโห”: อ่านอาการสังคม ในภาพยนตร์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2540-2546), วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์,  ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561), 171–219.

[2] ดู Anchalee Chaiworaporn, “ Nostalgia in Post Crisis Thai Cinema”, 298-310 ; Anchalee Chaiworaporn, “Home, Nostagia and Memory: The Remedy of Identity Crisis in New Thai Cinema”, In Asian Cinema, Spring/Summer: 108-122.

[3] มัชฌิมา ร่มทุกข์, การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง : ทางเลือกใหม่ของกระบวนการสอบสวนสู่การแก้ปัญหาการจับกุมแพะจากความทรงจำเท็จของพยาน, วารสารวิชาการอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์, ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน, 2565), 188 – 189.

[4] สำหรับผู้ที่ไม่เคยฟังเพลงนี้ หรือ เคยฟังเพลงนี้แล้ว “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” ได้ในhttps://www.youtube.com/watch?v=HGkASBMiTkM

[5] ดู “False Memory: อย่ามั่นใจความทรงจำของตัวเองมากเกินไป” เข้าถึงข้อมูลใน https://www.careervisaassessment.com/th/articles/false-memory

[6] สำหรับผู้ที่ไม่เคยฟังเพลงนี้ หรือ เคยฟังเพลงนี้แล้ว “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” ได้ใน https://www.youtube.com/watch?v=ytMc26hA19Q

[7] ผู้เขียนเคยได้นำเสนอประเด็นนี้ไว้บ้างแล้วในรูปแบบของเรื่องเล่าท้องถิ่น โปรดดู อิทธิเดช พระเพ็ชร, เมื่อพระปรีชากลการจะลอบปลงพระชนม์ ร.5 : ‘ประวัติศาสตร์ความทรงจำลวง’ ต่อพระปรีชากลการในเมืองปราจีนบุรี, เข้าถึงข้อมูลใน https://www.the101.world/phra-preecha-kolakan/

[8] ดูงานที่ศึกษาที่เล่าถึงประเด็นนี้โดยละเอียดใน วรยุทธ พรประเสริฐ, นักเลงพระนคร: ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ – สังคมกับการเกิดนักเลงแบบเมืองในสังคมไทย พ.ศ.2411 – 2500,วิทยานิพนธ์ศิลปะศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2562, 300 – 307.

[9] เรื่องเดียวกัน 301.

[10] เรื่องเดียวกัน 302 – 303.

[11] เรื่องเดียวกัน 303 – 304.

[12] ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ ไทสัปดาห์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 58 วันที่ 2 กันยายน 2500, 14.

[13] ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมใน อิทธิเดช พระเพ็ชร, นโยบายปราบ ‘อันธพาล’ กับการสร้างภาพลักษณ์ ‘พ่อบ้าน’ ทางการเมืองไทยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, เข้าถึงข้อมูลใน https://www.the101.world/sarit-thanarat-get-rid-of-gangster/

[14] สามารถดูรายงานข่าวความขัดแย้งของ ปุ๊ ระเบิดขวด กับ แดง ไบร์เล่ ได้ในหนังสือพิมพ์ สารเสรี ตลอดทั้งเดือนกันยายน 2505.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save