fbpx
หากว่ามีหมุดฯ เคียงข้าง

หากว่ามีหมุดฯ เคียงข้าง

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

คำพูดที่ว่า “อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น” ได้ยินมาสักพักแล้ว แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนพูดคนแรก

ฟังดูแรกๆ ก็เหมือนไม่สลักสำคัญอะไร อาจเป็นหมอดูพูดให้ความหวังคนดวงกุด อาจเป็นพระหรือนักปราชญ์ประกาศสัจธรรม

ก็แน่ล่ะ อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น คำพูดทำนองนี้พูดอีกก็ถูกอีก

แต่บางเรื่องบางราว หลายคนประเมินล่วงหน้าได้ว่าจะเห็น แม้ใจไม่อยากเห็น ไม่อยากให้เกิดขึ้น เช่น การล้อมปราบคนเสื้อแดง เม.ย.-พ.ค. ปี 2553 ทันทีที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินหน้าใช้กระสุนจริง ก็ต้องมีคนตายจริง

ขยับมาปี 2557 ทันทีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ประกาศกฎอัยการศึกวันที่ 20 พ.ค. อีกสองวันต่อมาก็ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ

ประเมินเค้าลาง ดูทิศทางลมพายุแล้วน่าจะเป็นไปอย่างนั้น เหมือนนักบอลศูนย์หน้า พอกระชากบอลมาถึงหน้าประตูได้ มันก็ต้องยิง

แต่กรณีหมุดคณะราษฎรหาย แล้วถูกแทนที่หมุดประชาชนสุขสันต์หน้าใสเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังไม่เห็นใครประเมินล่วงหน้าได้ว่าความเพี้ยนทางการเมืองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นอกจากมีประชาชนถูกอุ้มถูกคุมขังแล้วจะลามมาถึงหมุดฯ

ที่มันเซอร์ไพรส์กระทบใจหลายคน ไม่ใช่เพราะแค่มันเป็นโลหะทองเหลืองสัญลักษณ์การอภิวัฒน์ 2475 ที่หายไป

แต่เพราะมันมีคำประกาศคณะราษฎร มีการประกาศหลัก 6 ประการ ที่ค้ำยันว่าการเปลี่ยนแปลงจะมุ่งไปทิศทางไหน แม้ในรอบ 85 ปีที่ผ่านมาจะถูกขวาง ถูกบั่นทอน เช่นเดียวกับที่มีใครบางคนรื้อถอนหมุดฯ ออกไปในวันที่บรรยากาศบ้านเมืองปกครองด้วยทหาร

หลัก 6 ประการ ที่คณะราษฎรประกาศ ได้แก่

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)

5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

 

ทั้ง 6 ข้อผ่านการประกาศ ผ่านการยืนยัน ต่อสู้ช่วงชิง ขัดแย้ง ปะทะ ไม่ใช่อยู่ๆ ลอยลงมาจากฟ้า หรือเนรมิตขึ้นมาได้ด้วยเพียงดีดนิ้ว

หนังสารคดีเรื่อง “สัญญาของผู้มาก่อนกาล” เป็นประจักษ์พยานชิ้นสำคัญ แม้มันจะถูกสร้างขึ้นก่อนหมุดฯ หายถึง 7 ปี

 

“หลัก 6 ประการมันช่วยให้มองสังคมปัจจุบันได้ชัดขึ้น ทำไมผมถึงได้เรียนหนังสือ เพราะโอกาสมันเปิด ไม่อย่างนั้นผมคงไปบวชเป็นพระ หรือไม่ก็ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร”

ในนามของผู้บันทึก

 

โต้ง-อภิชน รัตนาภายน นักทำหนังสารคดีเรื่องดังกล่าวบอกว่า เขาเริ่มทำหนังเรื่องนี้โดยยึดเอาหลัก 6 ประการเป็นตัวดำเนินเรื่อง (ถึงตรงนี้แล้ว แนะนำว่าดูหนังก่อนค่อยอ่านบรรทัดต่อไป)

พื้นฐานของโต้ง ร่ำเรียนมาด้านประวัติศาสตร์ สมัยยังเป็นนักศึกษาเขาเคยเถียงกับเพื่อนคนอีสานว่า “ถ้าทักษิณเลวต้องกำจัด ถ้าคนมันชั่วต้องจัดการ เวลานั้นผมยังเป็นสลิ่ม ไม่สนใจหลักการ อาจารย์ที่คณะบางคนก็พร่ำสอนให้เกลียดทักษิณไว้ก่อน และพยายามบิ๊วให้เขียนข้อสอบด่าทักษิณมากๆ จะได้คะแนนดี”

พอรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 วันรุ่งขึ้นเพื่อนคนอีสานคนเดิมพาโต้งไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พื้นที่เดียวกันกับที่หมุดคณะราษฎรฝังอยู่ ใกล้กันมีรถถังจอดขวางถนน

“วันนั้นเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นหมุดฯ ของจริง แต่ยังมองไม่เห็นอุดมการณ์ที่ซ่อนอยู่ เห็นแต่เศษปูนพื้นถนนที่แตกจากล้อรถถัง ยังเก็บมาไว้ที่บ้านจนถึงทุกวันนี้เลย”

หลังจากนั้นโต้งตามอ่านประวัติศาสตร์นอกบทเรียน มุมมองทางการเมืองเริ่มเปลี่ยน ภาวะตั้งคำถามไหลพรั่งพรู

 

 

จากเด็กจบประวัติศาสตร์ที่ชอบถ่ายภาพ เขาพาตัวเองมาสนใจงานสารคดี พอดีกับปี 2553 มีโครงการ 110 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ร่วมกันระหว่างมูลนิธิ ปรีดี พนมยงค์ กับมูลนิธิหนังไทย เปิดรับทุนทำหนังสารคดี เขาจึงเขียนบทส่งไปประกวด

“พอรีเสิร์ชเจอหลัก 6 ประการ รู้สึกว่ามันเอามาเป็นแกนเรื่องได้ ผมอยากรู้ว่าจากที่เคยประกาศไว้เมื่อปี 2475 ผ่านไป 80 กว่าปีแล้วเป็นอย่างไร มีการบิดเบือนไปอย่างไร”

24 มิ.ย. 2553 เป็นวันแรกที่โต้งจับกล้องถ่ายวิดีโอ หลังได้รับอนุมัติทุนทำหนัง เช้ามืดวันนั้นเขามุ่งหน้าไปยังลานหมุดฯ เพื่อเริ่มถ่ายทำ ผู้คนที่ทั้งวางดอกไม้รำลึก อ่านบทกวี กล่าวปราศรัยไปจนที่กำลังกวาดถนนได้รับการบันทึกเป็นฟุตเทจ

“ถ่ายไปโดยไม่รู้ว่าจะสำเร็จมั้ย เพราะเป็นหนังเรื่องแรกที่เริ่มทำ แต่สุดท้ายก็สำเร็จ และตัวหนังก็เปลี่ยนมุมมองตัวเองด้วย”

จากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน โต้งก็ทำหนังสารคดีมาตลอด เขาบอกว่าเวลามีคำถามกับเรื่องต่างๆทางสังคม เขาใช้หนังสารคดีเป็นเครื่องมือในการหาคำตอบ และเหมือนว่าจะหลัก 6 ประการเป็นกรอบคิดในการจับประเด็น

“มันเปิดหูเปิดตา มันตอบคำถามได้ เช่น ผมสงสัยว่าชีวิตคนก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กับหลัง 2475 ต่างกันอย่างไร แน่นอนว่าคุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น แม้จะยังไม่ดีจริงๆ แต่ก็มีพัฒนาการมาตลอด”

โต้งยกตัวอย่างเรื่องการศึกษา ก่อนหน้านั้นมีคนกลุ่มเดียวได้เรียนหนังสือ แต่พอเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใครก็สามารถเรียนได้ มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นต้น ไม่ว่าลูกชาวบ้านหรือลูกขุนนางต่างมีสิทธิเท่ากัน

“การศึกษาเกิดขึ้นได้เพราะมีหลักว่าทุกคนเสมอภาคกัน ผมไม่ได้ต้องการสรรเสริญปรีดี พนมยงค์ แต่ผมเห็นว่าหลัก 6 ประการช่วยให้มองสังคมปัจจุบันได้ชัดขึ้น ทำไมผมถึงได้เรียนหนังสือ เพราะโอกาสมันเปิด ไม่อย่างนั้นผมคงไปบวชเป็นพระหรือไม่ก็ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร หรือไปเป็นแรงงานขุดคลองรังสิต ไอเดียเรื่อง 1 สิทธิ์ 1 เสียง อยู่บนพื้นฐานการอภิวัฒน์ มันสำคัญกว่าเรื่องความดีความชั่ว”

หลังจาก “สัญญาของผู้มาก่อนกาล” โต้งยังทำหนังสารคดีไม่หยุด เผยแพร่ต่อเนื่องในรายการก(ล)างเมือง ช่องไทยพีบีเอส

พ้นไปจากสกิลทำหนังสารคดี สิ่งที่ติดตัวเขามาไม่ใช่เรื่องชื่อเสียงรางวัล แต่เป็นแว่นตาในการมองสังคม

“ผมทำสารคดีเกี่ยวกับคนไร้บ้าน ถ้าผมไม่สนใจหลักการ ผมจะมองไม่เห็นเบื้องหลัง ไม่ใช่เพราะใครคนหนึ่งตัดสินใจมานอนใต้สะพานด้วยความสุข มันมีมิติเรื่องการขาดโอกาส และต้นทุนชีวิตที่ต่ำ”

ในมุมกลับ ไม่ว่าจะจับประเด็นไหน ถามว่ารู้สึกว่าหลัก 6 ประการเป็นชนักติดหลังมั้ย มองอะไรก็อยู่ในแว่นอยู่ในกรอบเดิม คนอื่นมุ่งไปเรื่องสุนทรียศาสตร์หมดแล้ว

“โดยสภาพ มันปฏิเสธหลักนี้ไม่ได้ มีเรื่องให้เลือกทำเยอะก็จริง แต่มันก็วางอยู่บนฐานสิทธิเสรีภาพ แต่ตอนนี้ความคิดว่าคนไม่เท่ากันยังมีอยู่ มันมีคำถามเต็มไปหมด และผมยังอยากหาคำตอบ”

ถ้าสมมติว่าไม่มี 2475 ทำใจหลับตาข้างหนึ่งว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตได้มั้ย

“เมื่อก่อนอาจจะได้ แต่เมื่อรู้แล้วก็หลอกตัวเองไม่ได้แล้ว ชีวิตเราเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แม้วันนี้มันเหมือนจะพลิกกลับ แต่เราไม่สามารถทำเป็นไม่เห็นในสิ่งที่เห็นไปแล้วได้ แม้หลายคนยังทำตัวเป็นกบในน้ำร้อน”

อย่างสั้นและกระชับที่สุด อภิชนสรุปว่า 2475 คือคุณูปการกับสังคม พื้นฐานของมันวางอยู่บนการอภิวัฒน์ ทุกคนได้ประโยชน์ แล้ววันหนึ่งมันถูกทำลาย

“แต่เอาล่ะ อยากให้คนจดจำแบบไหน ในเชิงประวัติศาสตร์มันก็จดจำตัวมันเองด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ ทั้งน่าเศร้าและตลก อยู่ประเทศนี้ถ้าไม่ตลกเราจะเป็นบ้า ชีวิตอาจจะไปต่อไม่ได้” อภิชนยิ้มอ่อน

 

“ถ้าเด็กคนนี้เติบโตขึ้นตามเจตนารมณ์คณะราษฎร วันนี้มันคงเป็นเด็กที่เพอร์เฟค แต่ความจริงมันกลับโตขึ้นในบ้านเมืองเผด็จการ กลายเป็นเด็กชอบเอาเปรียบกดขี่ผู้อื่น เด็กแบบนี้ไม่น่าคบด้วย”

 

ในนามของผู้ระลึกถึง

 

ไม่เคยร่วมกิจกรรม ไม่เคยลงชื่อเรียกร้องทางการเมือง ดูงานศิลปะมากกว่าอ่านสปีชนักการเมือง แต่พอให้ระลึกถึงหมุดคณะราษฎรและหลัก 6 ประการ เธอรีบบอกว่าทีแรกไม่คิดว่ามันเกี่ยวอะไรกับชีวิตหรอก แต่พอรู้ว่ามันหายไปเท่านั้นแหละ ถึงรู้สึกว่ามันสำคัญ

“เหมือนกับที่ลุงตู่ นายกฯ ขอเวลาอีกไม่นานจะคืนความสุข มันเป็นพันธสัญญาใช่มั้ย แต่จริงๆ แล้วจับต้องไม่ได้ ไม่รู้ความสุขคืออะไร แต่หลัก 6 ประการมันจับต้องได้ อย่างน้อยที่สุดมันเปลี่ยนความคิดเราว่า คนทุกคนเสมอภาคกัน” หยิน-ตวงพร ปฏิปทาพานิชย์ เปิดสตูดิโอปั้นเซรามิกอยู่ที่เชียงราย นาม Linger pottery studio บอก

 

 

หยินเล่าว่า 10 กว่าปีก่อน เธอเรียนจบมาทางโบราณคดี แต่การเรียนการสอนในวิชาศิลปะไทยร่วมสมัย ทั้งที่ควรจะได้รู้ว่าสถาปัตยกรรมหลายๆ ที่ในไทยที่สร้างในช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มันมีมูลเชื้ออุดมการณ์ของคณะราษฎรแฝงอยู่ แต่กลับรู้เพียงว่าใครสร้าง และสร้างปีไหนเท่านั้น

“พอตอนนี้มานั่งระลึกถึง บางทีก็น่าเศร้า หลัก 6 ประการบางมุมมันคล้ายกับผีล่องลอย เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกเอาไปขังลงหม้อฝังดิน ส่วนประชาชนเหมือนผีที่ถูกตรึงด้วยยันต์อนุรักษนิยม ไม่ให้เติบโต พูดตรงๆ เราเหมือนมีผู้ปกครองเป็นหมอผี ทั้งที่เมื่อปี 2475 คณะราษฎรได้ปลดปล่อยแล้ว”

ช่างปั้นสาวบอกอีกว่า ปัจจุบัน แทนที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ เปิดกว้างอย่างเต็มที่ ต้องมาเข้าแถวฝึกวินัยกับทหารที่สั่งซ้ายหันขวาหัน

แม้จะมีเด็กไม่น้อยที่หลุดจากคอกไปได้ แต่สุดท้ายเวลาเขาจะแสดงออกก็มาติดเพดานสิทธิเสรีภาพอีก

“น่าเจ็บใจนะ ทำไมล่ะ คนไม่ควรจะเท่ากันด้วยเหตุผลอะไร เพื่อนฝรั่งเราบอกว่า ประเทศที่ไม่มีความเสมอภาค ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประเทศนั้นไม่มีเอกราชหรอก ยิ่งมานึกถึงทหารจะเอาเรือดำน้ำ เอารถถัง จะให้จีนสร้างรถไฟฟ้าให้โดยไม่เปิดให้เจ้าของผู้เสียภาษีถาม ไม่ให้ตรวจสอบ ยิ่งจริงเข้าไปอีก”

สมมติว่าหมุดฯ เป็นคนมีตัวตนจริง “ขอเรียกว่า เด็กชายหลัก 6 ประการ” หยินบอกพลางหัวเราะ

เธอเปรียบว่าถ้าเด็กคนนี้เติบโตขึ้นตามเจตนารมณ์คณะราษฎร วันนี้มันคงเป็นเด็กที่เพอร์เฟค แต่ความจริงมันกลับโตขึ้นในบ้านเมืองเผด็จการ มีคนบิดเบือนหลัก 6 ประการเอาไปรับใช้ประโยชน์ส่วนตัว จากเด็กที่น่าคบหากลายเป็นเด็กก้าวร้าว ชอบเอาเปรียบกดขี่ผู้อื่น เด็กแบบนี้ไม่น่าคบด้วย

 

“เวลาผมคิดถึงคณะราษฎร ผมคิดถึงหลัก 6 ประการ มันทำให้ผมรู้สึกมีศักดิ์ศรี มีความหวังในการเป็นพลเมืองไทย”

 

ในนามของผู้ทวงถามตามหา

 

ถ้าหมุดฯ เป็นคน ไม่ใช่จู่ๆ อยู่ดีๆ จะหนีออกจากบ้านหายไป นั่นพอจะติดต่อให้มูลนิธิกระจกเงาช่วยตามได้ แต่นี่ไปถามเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่ กลับไม่มีใครสนใจให้ค่า แถมที่ที่มันเคยอยู่กลับถูกล้อมคอกห้ามเข้า ห้ามเสนอข่าว

“ก็คงจะสาบสูญจริงๆ เหมือนคนโดนอุ้มไปฆ่าทิ้งนั่นแหละ มีคนมองมันเป็นเสี้ยนหนามทางการเมือง จึงต้องกำจัด” เอกชัย หงส์กังวาน เปรียบเปรยทั้งที่ตัวเองก็โดนอุ้มเข้าค่ายทหารไปด้วย หลังจากพยายามไปยื่นหนังสือเรียกร้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 เมษาฯ หลังทราบว่ามีคนถอนหมุดคณะราษฎรออกไปและฝังหมุดหน้าใสลงไปแทน

ขอเรียกร้องของเอกชัยคือให้รัฐบาลทำการถอนหมุดหน้าใสฯ ออกไป เพราะไม่มีใครแสดงความเป็นเจ้าของ

ไม่ทันจะก้าวเท้าเข้าทำเนียบรัฐบาล ไม่ทันจะได้พบหน้านายกรัฐมนตรีผู้คืนความสุขให้ประชาชน เอกชัยบอกว่า ทหาร 4 คน และตำรวจนอกเครื่องแบบเกือบ 10 คนกรูเข้ามารุมล้อม ไม่ให้เดินหนี แล้วบอกจะพาไป สน.ลาดพร้าว เพื่อให้ยื่นหนังสือที่นั่น แล้วพวกเขาก็ล็อกตัวเอกชัยจับขึ้นรถยนต์ที่เหมือนรถชาวบ้านทั่วไปไม่ใช่รถตำรวจ

“เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบขับรถพาขึ้นทางด่วนวนไปวนมา สุดท้ายพวกเขาพาผมไปส่งที่กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) กักตัวผมไว้ตั้งแต่ราวๆ 11 โมงจนเกือบ 4 โมงเย็น มีนายทหารมาชวนคุยโน่นนี่นั่น เขาถามถ้าปล่อยออกไปแล้วจะเรียกร้องเรื่องหมุดอีกมั้ย ผมไม่รับปาก เขาถามต่อว่าคุณไม่รู้เหรอใครเอาหมุดไป ผมบอกไม่รู้ แต่เขาไม่เชื่อ แล้วยังพยายามอธิบายถึงสิ่งที่ผมไม่อาจปฏิเสธได้” เอกชัยให้ภาพเหมือนบทสนทนาในหนัง The Godfather

 

เอกชัยเคยรับโทษคดี 112 เขาสะสมโมเมนตัมทางความคิดในเรือนจำมา 2 ปีกว่า หลังได้รับอิสรภาพ เขายังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมเพื่อเพื่อน ทำหน้าที่ประสานงานระดมทุนช่วยเหลือปัจจัยพื้นฐานแก่นักโทษทางความคิด นักโทษการเมือง

“ความวิปริตทางการเมืองที่ผ่านมา รวมทั้งประสบการณ์ชีวิตผมได้บอกตัวเองว่ามนุษย์ต้องมีศักดิ์ศรี ถามว่าทำไมผมต้องออกไปทวงถามหาหมุดฯ ก็เพราะเวลาผมคิดถึงคณะราษฎร ผมคิดถึงหลัก 6 ประการ มันทำให้ผมรู้สึกมีศักดิ์ศรี มีความหวังในการเป็นพลเมืองไทย ไม่ใช่แค่คนที่ทำงานเสียภาษีไปโดยไม่รู้ว่าผู้มีอำนาจเอาภาษีกลับมากดขี่ทำร้ายประชาชน”

แต่ดูเหมือนว่าบรรยากาศบ้านเมืองยามนี้ แม้แต่ความหวังก็ไม่ได้รับอนุญาตให้มี และโดยที่ยังไม่มีใครออกมาประกาศหลัก 6 ประการแบบฉบับหมุดประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเทียบกับของคณะราษฎร เอกชัยเลยชิงเสนอก่อนเพื่อน

1. เอกราช – เอกชัยบอกว่า วันนี้เราไม่ได้อยู่ในยุคสงครามช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คณะราษฎรจึงต้องประกาศรักษาไว้ซึ่งเอกราช แต่ทึ่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันองค์กรอิสระและตุลาการต่างๆ ทำตัวอยู่เหนือประชาชน และมักจะเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง หลายครั้งทำหน้าที่นอกเหนือบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หลายครั้งตีความใหม่ เป็นองค์กรเร้นรัฐ เป็นคนไทยที่ทำลายเอกราชด้วยกันเอง

2. ปลอดภัย – ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เศรษฐกิจตกต่ำ ช่วงที่รัชกาลที่ 7 จะสละราชสมบัติ มีการปลดราชการออกจำนวนมากเพราะไม่มีเงิน จำเป็นต้องลดรายจ่าย สภาพบ้านเมืองเต็มไปด้วยโจรผู้ร้าย ตำรวจไม่มีปัญญาจับมาลงโทษ

เอกชัยถามว่า “แต่วันนี้รู้สึกมั้ย การเข้ามาของทหารเพื่อสืบทอดอำนาจ แต่กลับมีเหตุระเบิดกลางเมืองต่อเนื่อง และการจับฝ่ายความมั่นคงที่ค้าอาวุธสงครามล่าสุด ไม่มีใครการันตีถึงความปลอดภัยของประชาชนได้เลย”

3. เศรษฐกิจ – เขาบอกไม่ต้องอธิบายให้ยืดเยื้อ “ที่ผ่านมาต่างชาติไม่มั่นใจว่าไทยจะมีเสถียรภาพเมื่อไหร่ นักลงทุนหันไปมองหาทำเลอื่น อันที่จริงทหารก็ไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อบริหารเศรษฐกิจประเทศต้องการคนเก่งคนฉลาด ไม่ใช่ต้องการคนที่อ้างเสียสละแต่ไม่มีความรู้ เดินหน้าประเทศไทย 4.0 แต่กลับมีซิงเกิ้ลเกตเวย์ สื่อมวลชนตรวจสอบทุจริตไม่ได้ แล้วนักลงทุนที่ไหนจะไว้ใจ”

4. เสมอภาค – ข้อนี้เห็นชัดที่สุด “เราคงไม่สามารถเรียกว่าความเสมอภาคได้ ถ้าผู้มีอำนาจในการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ไม่ถูกดำเนินคดี รวมถึงคณะผู้ก่อการรัฐประหารด้วย ส่วนประชาชนที่ออกมาต่อต้านต้องติดคุกติดตารางมาตลอดในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา”

5. เสรีภาพ – เช่นเดียวกัน เราคงไม่สามารถเรียกว่าเสรีภาพได้ ถ้ายังมีผู้แสดงออกความคิดทางการเมืองแล้วต้องถูกจับกุมคุมขัง เขาบอกว่าเสรีภาพแบบหมุดหน้าใสคล้ายสมัยยุโรปยุคกลางที่ศาสนจักรมีอำนาจมาก ความคิดความเชื่อว่าโลกแบนและมนุษย์เกิดมาจากพระเจ้ายังหนาแน่น ใครเสนอว่าโลกกลมหรือมนุษย์วิวัฒนาการมาจากลิงก็ถูกเล่นงานถึงแก่ชีวิต เสรีภาพแบบนี้เหมือนปลาในตู้กระจกที่ไม่ยอมรับในมหาสมุทร

6. การศึกษา – “วิชาประวัติศาสตร์ไทยเป็นวิชาที่โกหกที่สุดในโลกทำไมเราถึงเห็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์มีแต่เรื่องดีๆ ทุกคนเลย เป็นไปได้อย่างไร ที่อื่นเช่น ซูสีไทเฮา และฮ่องเต้หลายๆ คน ก็มีมุมด้านเลวอยู่ไม่น้อย ไม่ได้ถูกสร้างภาพให้ดูขาวสะอาดหมดจด การศึกษาไทยทำให้คนจำนนโดยไม่รู้ตัว เป็นการศึกษาที่หน้าหมองคล้ำมากกว่าหน้าใสด้วยซ้ำไป” เอกชัยอธิบายเสียงดัง แต่ยังแฝงด้วยรอยยิ้ม

แม้ว่าหมุดคณะราษฎรจะหายไป แต่เอกชัยทิ้งท้ายว่า เขาไม่เชื่อว่ายุคสมัยนี้ใครจะดับสลายจิตวิญญาณของหลัก 6 ประการเดิมได้อีก เพราะไม่ว่าบ้านเมืองจะเป็นเผด็จการอย่างไรก็ยังต้องอาศัยหลัก 6 ประการค้ำจุนสังคมโดยตัวมันเองอยู่บ้าง ไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนบ้านที่พังลงมาเพราะเสาหลักได้หักลง

 

ในนามของผู้ล่วงลับ

 

วันที่ใครหลายคนทราบว่าหมุดฯ หายไป บทกวีชิ้นหนึ่งขึ้นได้รับการหยิบยกขึ้นมาเพื่อเปรียบเปรยเหตุการณ์และปลอบประโลมในทันที มีท่อนหนึ่งว่า

 

คณะราษฎร์คือเด็กสาว

มีความรัก เยาว์วัยได้ตั้งท้อง

ถ้าพวกคุณเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง

เลือกทำแท้งหรือจะบำรุงครรภ์ ?

เด็กในท้องอาจคลอดเป็นผู้แทนถ่อย

ชั่วหรือดีอยู่ที่เลี้ยงสร้างสรรค์

อดทนคอยให้เขาพัฒนาการ

ย่อมเติบใหญ่สมบูรณ์งามตามเวลา

แต่ … บางคนสร้างยุทธศาสตร์ “ราษฎร์ไม่พร้อม”

คุณไม่เคยยินยอมให้เราก้าวหน้า

เฝ้าแทรกแซงแบ่งแซะเสมอมา

เป็นประชาธิปไตยใจพิการ

 

บทกวีชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทกวีขนาดยาวในชื่อ “สถาปนาสถาบันประชาชน” ไม้หนึ่ง ก.กุนที เขียนขึ้นในปี 2552 ได้รับการรวมเล่มในชื่อเดียวกันในปี 2554

ก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เพียง 1 เดือน ไม้หนึ่งถูกลอบสังหารใจกลางเมือง และอีก 3 ปีต่อมา หมุดคณะราษฎรก็ถูกทำให้หายสาบสูญไป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save