fbpx

13 บุปผาแห่งนานกิง : สงครามมิเคยสร้างวีรสตรีหรือวีรบุรุษ มีเพียงแต่ทำให้มนุษย์กลายเป็นปีศาจ

ไกลออกไปในบริเวณจีนตอนใต้ ณ หนานจิง (南京) หรือนานกิง หนึ่งในเมืองหลวงที่เก่าแก่ที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน บ้านเมืองที่ผู้คนต่างใช้ชีวิตกันอย่างสงบและผาสุก ทว่าเมื่อเสียงลั่นไกปืนและเสียงระเบิดดังสนั่นขึ้นรอบเมืองในวันที่ 13 ธันวาคม 1937 นั่นคือจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์ที่ถูกเรียกขานว่า ‘เหตุการณ์สังหารหมู่นานกิง’ อันเป็นผลพวงจากการปะทุขึ้นของสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ช่วงปี 1937-1949 

สงครามในครานั้นเริ่มต้นจากเหตุการณ์สะพานมาร์โค โปโล (Marco Polo Bridge Incident) ในวันที่ 7 กรกฎาคม 1937 ที่กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างกองกำลังทหารจีนและญี่ปุ่น และบานปลายจนต้องสู้รบกันครั้งใหญ่ โดยแผ่นดินจีน ณ ขณะนั้นปกครองโดยนายพลเจียง ไคเช็ก ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง ในช่วงแรกที่สงครามปะทุขึ้น กองกำลังจีนเพลี้ยงพล้ำต่อกองกำลังทหารญี่ปุ่นเนื่องด้วยยุทธศาสตร์การรบที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงของนายพลเจียง ไคเช็ก จนทำให้ญี่ปุ่นสามารถยึดครองนานกิง เมืองหลวงของจีนในเวลานั้นได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว 

ความผิดพลาดอย่างแรกสุดคือการที่เจียง ไคเช็กเลือกใช้ ‘ยุทธศาสตร์เผาแผ่นดิน’ (Scorched Earth Strategy) ด้วยการเผาทำลายทั้งเมืองทิ้งระหว่างการล่าถอยหนีข้าศึก เพื่อให้ทหารญี่ปุ่นที่ตามมาไม่สามารถสะสมเสบียงและยึดของมีค่าที่ชาวบ้านในเมืองนั้นๆ ทิ้งไว้ได้ ทว่ายุทธการนี้กลับส่งผลร้ายต่อจีนเสียเอง ทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรมากมายที่สูญเสียไปจากการเผาทำลาย อีกทั้งในการทำสงครามกับญี่ปุ่นครั้งนั้น รัฐบาลก๊กมินตั๋งยังมีแนวโน้มที่จะเลือกลงทุนลงแรงกับการปกป้องรักษาเมืองใหญ่มากกว่าพื้นที่ชนบท

ทว่ายุทธการปกป้องเมืองใหญ่ทอดทิ้งเมืองเล็กนั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่ ‘นานกิง’ เมืองหลวงของจีน ณ ขณะนั้น

เมื่อถึงคราที่กองทัพญี่ปุ่นประชิดเข้ามาในแถบชานเมืองของนานกิงช่วงต้นเดือนธันวาคม 1937 ขณะที่กองกำลังทหารจีนพยายามวางกำลังเตรียมการตั้งรับการรุกรานของฝ่ายญี่ปุ่น รัฐบาลจีนก็ตัดสินใจย้ายออกจากนานกิง ทิ้งฐานที่มั่นสำคัญและตั้งฉงชิ่งเป็นเมืองหลวงชั่วคราวแทน ส่วนนายพลเจียง ไคเช็กและครอบครัวตัดสินใจเดินทางออกมาจากนานกิงในวันที่ 7 ธันวาคม สุดท้ายทหารญี่ปุ่นจึงประชิดกำแพงเมืองนานกิงได้ในเช้าวันที่ 9 ธันวาคม

เมื่อกองกำลังของญี่ปุ่นมีพลานุภาพมากเกินจะต้านไหว แม้แต่ ถัง เฉิงจื้อ (唐生智) ผู้นำทหารในการป้องกันนานกิงก็ตัดสินใจหนีออกมาจากนานกิงในวันที่ 12 ธันวาคม เมื่อผู้บังคับบัญชาหายตัวไป เหล่าทหารจีนที่ประจำการที่นานกิงยิ่งเกิดความวิตกกังวลและเสียขวัญกำลังใจ พลทหารหลายนายเริ่มกระจัดกระจายหนีทัพไปทั่วทิศทาง ท่ามกลางความโกลาหลนี้ สุดท้าย ทหารญี่ปุ่นพร้อมกองกำลังติดอาวุธก็กรีธาทัพเข้าสู่เมืองนานกิงได้ในที่สุด และเริ่มปฏิบัติการทำลายล้างบ้านเรือนและชาวเมืองในทันที ตลอดระยะเวลาที่ญี่ปุ่นตั้งฐานทัพที่นานกิง ด้วยกองกำลังทหารจีนที่มีจำนวนน้อยเหลือทนและรัฐบาลที่ละทิ้งเมืองนานกิงไป ผู้ที่ต้องรับเคราะห์กรรมจากความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสายล้วนเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไร้ซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์และไร้หนทางให้หลบหนี

หลังจากกองทัพญี่ปุ่นสามารถบุกยึดนานกิงได้ ก็มีการปลดอาวุธทหารจีนและจับเป็นเชลย ทั้งยังบุกเข้ายึดอาคารที่ทำการรัฐบาล ธนาคารและโรงเก็บสินค้า ยิงผู้คนตามท้องถนนอย่างไม่เลือกหน้า โดยใช้ทั้งปืนพก ปืนกล ปืนเล็กยาว ยิงเข้าไปในฝูงชน ทั้งทหารที่บาดเจ็บ หญิงชรา และเด็กๆ ต่างถูกทหารญี่ปุ่นสังหารทุกมุมเมือง ไม่ว่าจะตามตรอกเล็กๆ หรือถนนสายใหญ่ ในสนามเพลาะ หรือแม้แต่ในอาคารที่ทำการรัฐบาล ทหารญี่ปุ่นกระทำต่อชาวจีนด้วยวิธีที่โหดร้ายทารุณเกินกว่าจะจินตนาการว่ามนุษย์จะกระทำต่อกันถึงเพียงนี้ โดยมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากกว่าสามแสนรายในเหตุการณ์สังหารหมู่นานกิง

ความโหดร้ายทารุณที่เกิดขึ้นในครานั้นถูกบันทึกไว้ตลอดมาเพื่อตอกย้ำความต่ำช้าที่ญี่ปุ่นกระทำต่อชาวนานกิง ซึ่งหนึ่งในหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่นานกิงที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งคนจีนและชาวต่างชาติ คือ ‘13 บุปผาแห่งนานกิง’ (13 Flowers of Nanjing) เขียนโดย เหยียนเกอหลิง นักเขียนชื่อดังชาวจีน นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เมื่อครั้งเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ในห้วงเวลาที่นานกิงถูกรุกรานในวันที่ 13 ธันวาคม 1937 

หนังสือ 13 บุปผาแห่งนานกิง

ณ ห้วงเวลานั้น ทหารจากญี่ปุ่นกว่าสามแสนนายบุกเข้ายึดเมืองนานกิง ทหารจีนแตกทัพไม่เป็นขบวน ทิ้งเมืองไว้เป็นตัวประกันและปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญหน้ากับโชคชะตาตามยถากรรม ทหารญี่ปุ่นหาได้ทำตามกฎการใช้กำลังของนานาชาติไม่ แต่กลับทำการข่มเหงและปล้นฆ่าผู้บริสุทธิ์ชาวจีนเป็นจำนวนมาก อันเป็นที่มาของโศกนาฏกรรมที่โหดร้ายที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยกระทำต่อกัน

เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้บอกเล่าชีวิตในช่วงสงครามอันน่าหวาดกลัวของ ‘เมิ่งซูเจวียน’ เด็กสาววัย 15 ปีกับกลุ่มเพื่อนนักเรียนหญิงที่ถูกกักติดอยู่ในโบสถ์คริสตจักร ไร้ทางหลบหนีและปราศจากอาวุธให้ป้องกันตัว เธอและเพื่อนนักเรียนอยู่พร้อมกับบาทหลวงชราภาพที่มีเพียงสองมือเปล่าใช้ต่อกรกับทหารญี่ปุ่นทั้งกองทัพเพื่อปกป้องนักเรียนของเขา ชีวิตของทั้งบาทหลวงและเด็กสาวหลายสิบคนที่ซ่อนตัวอยู่ในโบสถ์เหมือนกำลังนับถอยหลังรอวันสิ้นสุด จนกระทั่ง ‘บุปผางามทั้ง 13’ ย่างกรายเข้ามาที่โบสถ์แห่งนั้น

13 บุปผาแห่งนานกิง ยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อ ‘The Flowers of War’ เมื่อปี 2011 กำกับโดย จาง อี้โหมว ผู้กำกับชื่อดังแห่งจีนแผ่นดินใหญ่ แม้ว่ารายละเอียดของตัวหนังและบทประพันธ์ดั้งเดิมฉบับหนังสือจะมีความแตกต่างกันหลายจุด ทว่าสิ่งที่ทั้งสองเรื่องไม่ต่างกัน คือการถ่ายทอดความโหดร้ายของสงครามผ่านโชคชะตาของบุปผาทั้ง 13 แห่งเมืองนานกิง ไปจนถึงความเหี้ยมโหดจนถึงที่สุดของทหารญี่ปุ่นที่กระทำต่อชีวิตอันบริสุทธิ์ของชาวเมืองนานกิงราวกับเป็นเพียงผักปลา

ภาพยนตร์ The Flowers of War

เรื่องราวของ 13 บุปผาแห่งนานกิง เริ่มต้นจากการปะทุขึ้นของสงครามจีน-ญี่ปุ่น เมื่อนานกิงแตกไม่เหลือชิ้นดี บ้านเมืองและร้านรวงถูกทหารญี่ปุ่นบุกค้นและพังทำลายทั้งสิ่งของและผู้คนที่พบเห็น ความตายที่อยู่ใกล้เพียงหน้าประตูเมืองทำให้พวกเขาและพวกเธอ ทั้งเด็กผู้หญิง บาทหลวง เชลยศึกผู้รอดชีวิต และโสเภณีแห่งนานกิง จำต้องเร้นหลบมาพบชะตากรรมร่วมกันที่โบสถ์คริสต์กลางเมือง ด้วยความหวังว่าทหารญี่ปุ่นจะไม่กล้าก้าวข้ามกำแพงโบสถ์เข้ามารุกล้ำอธิปไตยของโบสถ์แห่งคริสตจักรที่เปรียบเหมือนเป็นอาณาเขตของสหรัฐอเมริกา

ทว่าความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทั้งในหนังสือและบันทึกประวัติศาสตร์ คือแม้แต่สถานทูตอเมริกาที่ตั้งอยู่ ณ เมืองนานกิง ซึ่งตามกฎหมายแล้วนั้น สถานทูตแห่งนี้มีศักดิ์และสิทธิ์เป็นดั่งพื้นดินแห่งหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา กลับยังไม่พ้นถูกกองทัพญี่ปุ่นเข้ารุกราน แล้วจะนับประสาอะไรกับโบสถ์คริสตจักรเก่าๆ แห่งหนึ่งที่มีเพียงกำแพงเปล่าเปลือยกั้นรอบทิศแบ่งอาณาเขตไว้จะอาจหาญสามารถป้องกันไม่ให้กระสุนปืนของชาวญี่ปุ่นบุกเข้ามาภายในได้

ตอนหนึ่งในหนังสือ หลังจากหลายชีวิตในโบสถ์ดิ้นรนเอาชีวิตรอดกันได้เพียงไม่กี่วัน รองเท้าหนังชุ่มเลือดแดงชาดของทหารญี่ปุ่นก็เข้ามากล้ำกลายพื้นที่โบสถ์แห่งนี้ได้ในที่สุด

ฟาบิโอมาถึงปากประตูแล้ว กำลังสนทนากับแขกไม่ได้รับเชิญที่ด้านนอกประตู …

พวกเราจะเข้าไป” นายทหารญี่ปุ่นยศต่ำที่เป็นหัวหน้าใช้ภาษาอังกฤษที่น่าขัน

ขอโทษ นี่เป็นโบสถ์อเมริกัน ใต้เท้าสมควรปฏิบัติต่อมันเช่นเป็นแผ่นดินอเมริกา” 

สถานทูตอเมริกา พวกเราก็เข้าไปแล้ว

แองเกิลแมนน์เคยได้ยินมาแล้ว สถานทูตอเมริกาซึ่งตั้งอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดของเขตปลอดภัยโดนทหารญี่ปุ่นบุกเข้าไปตามอำเภอใจ อะไรขโมยได้ก็ขโมย อะไรชิงได้ก็ชิง ลากเอารถยนต์ของทูตกับคนอเมริกันที่กลับอเมริกาไป ดูแล้วโบสถ์ที่ห่างไกลจากใจจากเมืองแห่งนี้กลับปลอดภัยกว่าเขตปลอดภัยเสียอีก …

ตามบันทึกประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีชาวตะวันตกจำนวนมากอาศัยอยู่ในนานกิงระหว่างที่เกิดสงคราม โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายหรือเป็นคณะเผยแผ่ศาสนา เมื่อนานกิงตกอยู่ในเงื้อมมือกองทัพญี่ปุ่น จึงมีชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยติดอยู่ภายในเมืองเช่นกัน

ในขณะที่ความอำมหิตของของกองทัพญี่ปุ่นแผ่ขยายไปทั่วทุกหนแห่งในเมืองนานกิง ด้านหนึ่งของเมืองก็ได้มีการสร้างเขตปลอดทหาร หรือที่เรียกว่า ‘เขตปลอดภัย’ สำหรับพลเรือนจีน ก่อตั้งขึ้นโดยจอห์น ราเบอ (John Rabe) นักธุรกิจเยอรมันและชาวตะวันตกคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองนานกิง โดยไม่นานก่อนทหารญี่ปุ่นจะพังประตูเมืองนานกิงบุกรุกเข้ามาได้ พวกเขาได้ขอความร่วมมือจากนายกเทศมนตรีเมืองนานกิงให้ทำการอพยพชาวเมืองเข้าไปในเขตปลอดภัย ภายหลังมีรายงานเปิดเผยว่าเขตปลอดภัยแห่งนี้ได้ช่วยชีวิตของพลเรือนจีนให้รอดพ้นจากการถูกสังหารหมู่ได้ร่วมสองแสนคน

ทว่า ณ เวลานั้นมีทหารญี่ปุ่นกว่าสามแสนคนหลั่งไหลเข้าเมืองนานกิงแทรกซึมไปทั่วทุกตรอกซอกซอย ทุกบ้านเรือน ทุกช่องแตกช่องแคบ ไม่มีที่ใดปลอดภัย ยิ่งไม่มีสถานที่ใดเป็นเขตต้องห้ามของทหารญี่ปุ่นในการเข้ายึดครอง แม้ฝ่ายญี่ปุ่นจะตกลงไม่โจมตีส่วนของเมืองที่ไม่มีทหารจีนประจำอยู่ โดยเฉพาะเขตปลอดภัยอันเป็นที่ลี้ภัยของพลเรือนนานกิง ทว่าตลอดระยะเวลาที่สงครามดำเนินไป กลับกลายเป็นว่ามีทหารญี่ปุ่นเข้ามาภายในเขตปลอดภัยตามใจชอบ บ้างนำตัวประชากรผู้ชายที่สงสัยว่าอาจเป็นทหารจีนที่หนีรอดจากปลายกระบอกปืนของตนได้จับเป็นเชลย บ้างนำตัวผู้หญิงไปกระทำย่ำยีตามอำเภอใจ แม้ว่าผู้ดูแลเขตปลอดภัยจะร้องขอให้กองทัพญี่ปุ่นหยุดการกระทำดังกล่าวนับครั้งไม่ถ้วน แต่ในท้ายที่สุด ‘เขตปลอดภัย’ ที่ชาวจีนหวังให้เป็นที่พึ่งสุดท้ายที่จะปกป้องรักษาชีวิตของตนไว้ได้ก็กลับกลายเป็นเพียง ‘เป้านิ่ง’ ให้ฝ่ายญี่ปุ่นมาทำลายได้ทุกเวลาที่ต้องการ

“วันๆ หนึ่งพวกไอ้หยุ่นมันไปเขตปลอดภัยหลายสิบครั้ง ไปค้นหาทหารจีนกับคนบาดเจ็บ! ช่วยพวกเราด้วยเถอะ!” คือประโยคที่เชลยศึกที่หนีรอดมาได้กล่าวเพื่อขอความเมตตาให้บาทหลวงช่วยเปิดประตูโบสถ์ให้ตนและเพื่อนได้เข้าไปหลบภัยจากทหารญี่ปุ่น

มากไปกว่านั้น ด้วยจำนวนผู้ลี้ภัยอันมหาศาลที่แออัดเบียดเสียดกันอยู่ในเขตปลอดภัย ประกอบกับความอัตคัดขัดสนและเสบียงที่ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ในภาวะสงคราม ชะตากรรมของชาวนานกิงหากออกไปนอกอาณาเขตก็มีแต่ความตาย ทว่าอยู่ในนี้ต่อไปก็ใช่ว่าจะการันตีได้ว่าจะมีชีวิตรอดจนถึงวันที่เสียงปืนภายนอกสงบ ความเป็นอยู่ในเขตปลอดภัยนานกิงจึงไม่ต่างอะไรกับนรกบนดิน แม้แต่ในหนังสือก็ได้บรรยายสภาพความเป็นอยู่ของผู้อพยพในเขตปลอดภัยไว้ว่า “สภาพความเป็นอยู่ของเขตปลอดภัยแย่ยิ่งกว่าโบสถ์เสียเอง ที่นั่นแออัดเหลือเกิน เกิดโรคระบาดไม่หยุดหย่อน ระหว่างผู้ลี้ภัยก็เกิดความขัดแย้งเรื่องอาหารการกิน เสื้อผ้า ที่พักและพฤติกรรมอยู่บ่อยๆ”

เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น ทหารญี่ปุ่นยังกระทำการฝ่าฝืนอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีสาระสำคัญในเรื่องกฎเกณฑ์ที่จำกัดวิธีการอันทารุณในการทำสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในการปฏิบัติต่อผู้เป็นเหยื่อของสงครามอย่างมีมนุษยธรรม เช่น ให้การรักษาพยาบาลแก่ประชากรของตนและข้าศึกโดยเท่าเทียมกัน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ห้ามกระทำการอันไม่มีมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นการทรมาน ประหารชีวิต เนรเทศ หรือกระทำการที่รุนแรงและทำลายทรัพย์สินส่วนตัวอย่างไม่ปรานี

ทว่าทหารญี่ปุ่นกลับหักล้างทุกข้อบังคับในอนุสัญญาเจนีวา และกระทำต่อชาวนานกิงด้วยความโหดร้ายเหลือทนจนเกินจะกล่าวได้ว่าเป็นมนุษย์ หลังจากทหารจีนถอยทัพไม่เป็นกระบวนและยอมจำนนต่อทหารญี่ปุ่น ปีศาจในคราบคนเหล่านั้นก็จับเชลยศึกมากมายมาสังหารอย่างทารุณ ราวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันถูกทำลายเสียย่อยยับในภาวะสงคราม

จากเรื่องราวของ 13 บุปผาแห่งนานกิง ในจำนวนคนกว่าสิบชีวิตที่หลบซ่อนร่วมกันในโบสถ์แห่งนั้น มีทหารสามคนที่เอาชีวิตรอดจากการสังหารของทหารญี่ปุ่นมาได้อย่างสะบักสะบอม หนึ่งในนั้นเป็นเพียงนายทหารป้ายแดงที่อายุยังไม่แตะหลัก 20 เสียด้วยซ้ำ แต่แม้พวกเขาจะมิยอมโอนอ่อนต่อโชคชะตาและดิ้นรนเอาตัวรอดมาได้จนพบกับโบสถ์แห่งนี้ แต่สองในสามนั้นก็เป็นเชลยศึกที่บาดเจ็บสาหัสเกินกว่าจะสามารถหยิบอาวุธออกไปต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นได้อีกครั้ง

ทหารบาดเจ็บบนรถเข็นล้อเดียวส่งเสียงครางขึ้นครั้งหนึ่ง ไม่ว่าใครก็ล้วนสามารถฟังออกว่านั่นคือเสียงครวญครางซึ่งชีวิตใกล้ตายที่เจ็บปวดปานใดเปล่งออกมา เสียงครวญครางก็ทำให้คนฟังออกว่าเป็นเสียงเด็กน้อย น้ำเสียงเพิ่งแตกหนุ่มของเด็กหนุ่มอายุสิบสี่สิบห้า

ทหารหนุ่มน้อยเจ็บปวดขนาดนั้น ผู้คนยังถกเถียงเรื่องอื่นไม่จบไม่สิ้น ต่อเบื้องหน้าความเจ็บปวดเยี่ยงนี้ ยังมีอะไรสำคัญอีกหรือกระทั่งความเป็นความตายยังไม่สำคัญแล้ว

เมื่อแม้แต่ชายชาติทหารที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ในการต่อสู้ยังกลายเป็นเพียงเหยื่อไร้ทางสู้ในสายตาของกองทัพญี่ปุ่น ยิ่งไม่ต้องพูดถึงประชาชนมือเปล่าในนานกิงที่ชีวิตกลายเป็นเพียงผักปลาให้ทหารญี่ปุ่นเข่นฆ่าไปในแต่ละวัน เลวร้ายที่สุดคือชะตากรรมของผู้หญิงในนานกิง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กผู้หญิงวัยยังไม่ประสีประสาที่ติดอยู่ในโบสถ์ รวมไปถึง ‘13 บุปผา’ หรือโสเภณีผู้ใช้เรือนร่างของตนหาเลี้ยงชีพ กลุ่มผู้หญิงที่ถูกจัดให้เป็นบุคคลที่มีสถานะต่ำต้อยที่สุดในสังคม

แม้แต่ตอนที่โสเภณีทั้ง 13 คนขอร้องอ้อนวอนบาทหลวงให้เปิดประตูให้พวกตนได้พึ่งพาชายคาแห่งคริสตจักรเข้าไปหลบซ่อนทหารญี่ปุ่น ทว่าถ้อยคำที่พวกเธอได้รับกลับมาไม่ใช่เพียงการปฏิเสธ แต่ยังเต็มไปด้วยการดูถูกเหยียดหยามราวกับพวกเธอไม่ใช่มนุษย์เหมือนกับพวกเขา เพียงถูกขานเรียกจากคนทั้งเมืองว่าเป็น ‘นางโลม’ ทำให้ชีวิตของพวกเธอไร้ค่าและไร้ราคาให้ปกป้องถึงเพียงนี้เชียวหรือ?

พวกคุณผู้หญิงประเภทนี้ยังต้องกลัวอะไรอีก พวกคุณออกไปตามถนน ไปต้อนรับทหารญี่ปุ่นสิ

ผู้หญิงหลายคนโต้กลับพร้อมกัน เป็นถึงนักบวชฝรั่งเลยนะนี่! ทำไมพูดจาแบบนี้

อยากจะด่าพวกเราก็ด่าดีๆ นี่มันทุเรศกว่าคำด่าอีกนะ!…”

ชีวิตของพวกเราไม่มีค่า ไม่มีค่าให้ท่านช่วย แต่ว่าพวกเราขอเพียงได้ตายดีๆ ต่อให้ชีวิตต่ำต้อยแค่ไหน แม้เป็นหมูหมา ก็ควรตายดีๆ ไม่ควรตายอย่างทารุณ

ด้วยสภาพการณ์ของนานกิงที่ย่ำแย่ราวกับนรกบนดิน โทรศัพท์และโทรเลขถูกตัดขาดจากโลกภายนอกในทุกช่องทาง ชาวเมืองถ้าไม่โชคดีหนีรอดไปอยู่เขตปลอดภัยได้ก็กลายเป็นร่างไร้วิญญาณตามข้างถนน เสบียงอาหารและของมีค่าทุกอย่างถูกทหารญี่ปุ่นยึดไปจนหมด ภายในโบสถ์เก่าๆ ที่หลายชีวิตเหล่านั้นอาศัยอยู่รวมกันแทบไม่มีข้าวให้กิน ไม่มีน้ำให้ดื่ม ไม่มีเตาผิงไฟให้ไออุ่น เมื่อ 13 บุปผาก้าวเข้ามาหลบซ่อนด้วย อาหารการกินของคนหลายสิบชีวิตยิ่งร่อยหรอลงกว่าเดิมมาก ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเด็กนักเรียนหญิงที่อาศัยอยู่ก่อนจึงเคียดแค้นโสเภณีเหล่านี้เป็นอย่างมาก ด้วยความชิงชังและรังเกียจในสถานะ ‘นางโลม’ ของพวกหล่อนเป็นทุนเดิม เมื่อข้าวปลาอาหารที่มีต้องถูกแบ่งไปจนแทบไม่เหลือให้พวกเธอกินประทังชีวิต เด็กนักเรียนหญิงหลายคนจึงภาวนาทุกคืนวันให้โสเภณีเหล่านั้นไสหัวออกไปจากโบสถ์แห่งนี้เสียที

การต่อสู้ครั้งนั้นเปิดฉากขึ้นด้วยความปราชัยของเมืองนานกิง บ้านเมืองถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง แม้แต่เขตปลอดภัยก็ยังไม่ปลอดภัย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงโบสถ์ธรรมดาๆ ที่มีเพียงบาทหลวงชราภาพและทหารบาดเจ็บสาหัสคอยเป็นผู้คุ้มภัยสตรีหลายสิบชีวิตในนั้น ไม่กี่วันหลังจากสงครามปะทุขึ้น มนุษย์ก็กลับกลายเป็นอมนุษย์ที่กระหายกลิ่นเลือด ส่วนเหยื่ออันแสนโอชะของปีศาจเหล่านั้นกลับทำได้เพียงอดทน หลบซ่อน หวาดผวา และภาวนาให้ความเลวร้ายที่อยู่ภายนอกกำแพงโบสถ์เป็นเพียงฝันร้ายที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ทว่ายิ่งเมื่อความคลุ้มคลั่งของทหารญี่ปุ่นแทรกซึมไปในทุกหนแห่งของเมือง ไม่นานหลังจากวันแรกที่นานกิงแตก สุดท้ายทหารญี่ปุ่นก็ตามหาจนเจอว่าเหยื่อตัวน้อยที่ตนกำลังตามหากำลังซ่อนตัวอยู่ในโบสถ์แห่งนี้นี่เอง

ในวินาทีที่รองเท้าบู๊ตนับร้อยของทหารญี่ปุ่นเหยียบย่ำอยู่หน้าประตูโบสถ์ หัวหน้าของบัญชาการทหารญี่ปุ่นในเมืองนานกิงพยายามเกลี้ยกล่อมให้บาทหลวงยอมนำตัวเด็กหญิงทั้ง 13 คนส่งมอบให้กองทัพญี่ปุ่นแต่โดยดี โดยอ้างว่าจะขอพาตัวเด็กสาวเหล่านั้นไปร่วมขับร้องเพลงประสานเสียงในงานเลี้ยงกลางคืนของกองทัพญี่ปุ่นเนื่องในวันก่อนคริสต์มาส 

“คุณพ่อบาทหลวง โปรดวางใจ ผมรับรองด้วยเกียรติยศของทหารแห่งกองทัพญี่ปุ่น หลังจากขับร้องเสร็จแล้ว ผมจะพาพวกหล่อนกลับมาส่งด้วยตัวเอง” คือประโยคที่พันตรีญี่ปุ่นกล่าวอ้าง

แน่นอนว่าไม่มีใครคิดจะเชื่อวาจาโป้ปดของทหารญี่ปุ่น และทันทีที่ได้รับข้อเสนอนั้นมา บาทหลวงชราก็รู้ทันทีว่าชะตากรรมของเด็กผู้หญิงเหล่านี้จะจบลงอย่างไรหากก้าวขึ้นไปในรถของกองทัพญี่ปุ่น ทว่าต่อให้จะปฏิเสธถึงเพียงใด ต่อให้จะยืนกรานไม่ยินยอมอ่อนข้อต่อคำขอนั้น ถึงอย่างไรฝ่ายญี่ปุ่นก็สามารถชิงตัวเด็กนักเรียนหญิงไปได้อยู่ดี และวิธีที่พวกเขาจะเลือกทำก็คงเป็นวิธีทั่วไปของนายทหารอาวุธครบมือที่คงไม่ต้องเสียเวลาอธิบายให้มากความ

เมื่อเป็นเช่นนั้น บาทหลวงจึงให้คำมั่นว่าจะส่งตัวเด็กหญิงทั้งหมดให้แต่โดยดีภายในระยะเวลาสองชั่วโมงถัดจากนี้ โดยในระหว่างสองชั่วโมงแห่งความเป็นความตายนั้น แผนการช่วยชีวิตเด็กน้อยผู้บริสุทธิ์ก็เริ่มต้นขึ้น และเพื่อปกป้องชีวิตอันบริสุทธิ์ผุดผ่องของเหล่าเด็กหญิง แม้แต่ตัวบาทหลวงผู้มีจิตใจเมตตาก็จำเป็นต้องกดชีวิตของเหล่าบุปผาแห่งนานกิงให้ต่ำต้อยไปตลอดกาล

เพราะหากต้องเลือกสังเวยสักหนึ่งชีวิตให้แก่ปีศาจ ตัวเลือกที่มีคงหนีไม่พ้นชีวิตของ ‘พวกเธอ’

ราวกับรับรู้ถึงชะตาชีวิตที่ไม่มีคุณค่าเพียงพอให้คนปกป้องรักษาไว้ของตน โดยที่บทหลวงและเด็กหญิงมิจำเป็นต้องเอ่ยคำใด “พวกเราจะไปกับคนญี่ปุ่น ให้พวกนักเรียนอยู่ที่นี่ต่อไป” คือถ้อยคำที่ ‘จ้าวอวี้ม่อ’ หนึ่งในกลุ่มโสเภณีแห่งนานกิงกล่าวขึ้นเมื่อรับรู้ว่าทหารญี่ปุ่นบุกมาถึงหน้าโบสถ์เพื่อจะเอาตัวเด็กผู้หญิงทั้งหมดไป

ในการตัดสินใจที่แลกมาด้วยความเป็นความตายนั้น พวกเธอยินยอมจะสลัดผ้าแพรผืนงามของตน ทาบทับด้วยชุดนางชีสีครามเข้ม ยินยอมสลัดคราบบุปผาผู้งดงาม แล้วย้อมทับด้วยความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเด็กหญิง และยินยอมจะละทิ้งหนทางมีชีวิตรอดอีกสักหน เพื่อจำนนต่อชะตากรรมที่มืดมนของตนเอง

แม้จะชิงชังเหล่านางโลมเสียจนไม่อยากจะใช้ชีวิตร่วมชายคา ทว่าถึงเวลาที่เห็นแผ่นหลังบอบบางของบุปผางามเหล่านั้นตั้งตรงตระหง่านท่ามกลางชุดเปื้อนเลือดของทหารญี่ปุ่น ความเจ็บปวดก็ตีขึ้นมาเต็มอก ความร้อนผ่าวระบายออกมาผ่านนัยน์ตา และความทุกข์ระทมกลับดังระงมท่ามกลางโบสถ์อันเงียบสะงัด เพราะเกิดเป็นมนุษย์ย่อมมีความรักตัวกลัวตาย ยิ่งไม่มีความจำเป็นอันใดจะต้องสละชีวิตตนเองเพื่อใคร ทว่าพวกหล่อนกลับยินยอมจะเดินทางไปยังเส้นทางสุดท้ายของชีวิตด้วยตัวของพวกเธอเอง

“ไม่ว่าอย่างไร พวกเรามีชีวิตอยู่ก็เพื่อให้คนย่ำยี และย่ำยีคนอื่น” จ้าวอวี้ม่อกล่าวพร้อมส่งรอยยิ้มน้อยๆ ก่อนที่เธอและเพื่อนๆ จะจากลาโบสถ์แห่งนี้ไปตลอดกาล

เป็นอันแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย ว่าหากเลือกได้ พวกเธอคงมิยินยอมที่จะมีชีวิตที่สังคมไม่เห็นเคยค่าเช่นนี้ และการตัดสินใจที่กล้าหาญของ 13 บุปผาแห่งนานกิงอาจทำให้หลายคนมองว่าโสเภณีเหล่านี้คือ ‘วีรสตรี’ แต่เพราะสงครามไม่เคยสร้างวีรสตรีหรือวีรบุรุษ และถ้าหากมีทางให้เลือกได้มากกว่านี้ พวกเธอคงอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปเฉกเช่นคนธรรมดามากกว่าจะได้รับการยกย่องให้เป็นวีรสตรีที่ไม่เคยเป็นที่จดจำของใคร

อันศักดิ์ศรีของความเป็นคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ ชาติกำเนิด ชนชั้นหรือฐานะ สุดท้ายกลายเป็นว่าคนที่ช่วยเหลือหลายชีวิตในโบถส์แห่งนี้ได้ไม่ใช่ทหารที่มีอาวุธครบมือ ไม่ใช่บุรุษเพศชายที่แสนแข็งแกร่ง หากคือโสเภณี ผู้หญิงเจนโลกีย์ที่ถูกคนทั้งแผ่นดินดูถูกเหยียดหยามว่าไร้คุณค่า

ใครกันที่กล่าวหาว่าผู้หญิงขายตัวไร้หัวใจ ใครกันที่มองว่าชีวิตของพวกเธอต้อยต่ำเกินกว่าจะสร้างคุณค่าใดให้ใครได้ แม้รู้อยู่เต็มอกว่าเมื่อก้าวเท้าออกจากประตูโบสถ์ไปจะต้องพบเจอกับความโหดร้ายเกินกว่าจินตนาการ แต่พวกเธอก็ยินดีจะออกไปเพื่อรักษาชีวิตของเด็กนักเรียนหญิงไว้อยู่ดี

กว่า 86 ปีที่ผ่านมา แม้เสียงปืนและระเบิดในสงครามจะสงบลงไปเกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว ทว่าทุกความโหดร้ายที่ทหารญี่ปุ่นทำลงไปทั้งหมดยังคงสลักลึกเป็นบาดแผลในจิตใต้สำนึกของชาวนานกิง แม้เรื่องราวของ 13 บุปผาเหล่านี้อาจเป็นเรื่องที่สมมติขึ้น และพวกเธอเหล่านี้อาจไม่มีตัวตนอยู่จริงในหน้าประวัติศาสตร์ แต่ความเจ็บปวด บาดแผล และความเคียดแค้นที่ดำรงอยู่ตลอดมาของชาวนานกิงล้วนเป็นเรื่องจริง ฝันร้ายครั้งนั้นยังคงตราตรึงในห้วงความทรงจำ และยังคงย้ำชัดในความคิดของทุกคนว่าสงครามมิเคยเกิดขึ้นอย่างชอบธรรม มิเคยนำมาซึ่งเกียรติยศแก่ผู้ใด มีเพียงจะบดขยี้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้ามไม่ให้เหลือชิ้นดี และไม่ว่าเวลาจะผ่านพ้นไปนานเพียงใด สงครามนั้นจะยังคงตามหลอกหลอนผู้คนไปตราบสิ้นลมหายใจ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save