fbpx

101 Visual Journal 2023 : Video

กาลเวลานำพาเรามาถึงท้ายปี 2023 บรรดาเหตุการณ์ต่างๆ มากมายในปีนี้ ทั้งการเมือง สังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คน ล้วนแล้วแต่น่าสนใจและชวนให้จดจำ

ในแง่ความเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังจากที่มีการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดวันเลือกตั้งคือวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ทำให้สนามการเมืองไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง พรรคการเมืองน้อยใหญ่ต่างเคลื่อนไหวประกาศสโลแกน ติดป้ายหาเสียงทั่วทุกพื้นที่ ฝ่ายประชาชนเองก็ให้ความสนใจ คาดหวังกับนโยบายใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม และเกิดบรรยากาศของการแสดงออกทางการเมืองได้อย่างเสรี

แต่อีกฟากหนึ่งบนโลกออนไลน์ ยังคงมีนักกิจกรรมทางการเมืองบางส่วนต้องเผชิญปัญหาสุขภาพทางจิต บ้างคิดฆ่าตัวตาย เนื่องจากการถล่มโจมตีของกลุ่มคนเห็นต่างทางการเมืองในโซเชียล จนกลายเป็นบาดแผลซ่อนลึกของนักกิจกรรม

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางยุคสมัยแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเฟื่องฟูของทุนนิยม ยังคงมีกลุ่มคนส่วนน้อยที่เข้าไม่ถึง ‘สิทธิ’ หลายประการที่พวกเขาควรได้รับในฐานะพลเมืองไทย และมีคนบางกลุ่มไม่ได้รับความยุติธรรมจากคดีทางการเมือง ถูกเอาเปรียบทางกฎหมายที่ไม่สมเหตุผล ทำให้ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งสมควรสันนิษฐานก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ถูกจำคุกตั้งแต่ยังไม่มีคำพิพากษา

ข้างต้นคือส่วนเสี้ยวหนึ่งของปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมตลอดปีนี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ควรค่าแก่การกล่าวถึง 101 จึงบันทึกไว้ผ่านคลิปวิดีโอ ทั้งในรูปแบบสกู๊ปข่าวขนาดสั้นและสารคดี ที่บอกเล่าเรื่องจริงของผู้คน ฉายภาพพื้นที่และชีวิตของคนหลากหลาย ภายใต้เงื่อนไขและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคม

101 ชวนชม 10 คลิปวิดีโอเด่นจากทีมกองบรรณาธิการ ตลอดปี 2023 เพื่อย้อนดูบันทึกเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในปีที่ผ่านมา


การเลือกตั้งไม่เปลี่ยนอะไรถ้าพรรคการเมืองไม่(กล้า)พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์

YouTube video


แรกเริ่มล่วงรู้กำหนดการเลือกตั้งระดับชาติ ปี 2023 ใครหลายคนคาดหวังว่าจะมีญัตติหนักๆ เช่น ญัตติเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ญัตติเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 รวมถึงบทบาทของกองทัพว่าจะดำเนินไปในทิศทางไหนหลังจากการเลือกตั้ง เพราะหลังจากการทำรัฐประหารปี 2014 จนถึงปัจจุบันนี้ กองทัพได้เข้ามาครอบงำการเมืองอย่างเต็มที่

101 พูดคุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ รองศาสตราจารย์ประจำศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เจ้าของกรุ๊ปเฟซบุ๊ก ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง’ และผู้ริเริ่มโครงการ ‘112 WATCH’ ที่สร้างแนวร่วมเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ในระดับนานาชาติ มาร่วมมองการเลือกตั้งปี 2566 หลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ ว่าจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร?


“คนแก่ คอนโดฯ เก่า”


YouTube video


ลองจินตนาการเล่นๆ ดูว่ามีคอนโดฯ 20 กว่าชั้น ชั้นหนึ่งมีประมาณ 20 ห้อง รวมกันทั้งหมดประมาณ 400 ห้อง แล้วใน 100 ห้อง มีคนแก่อยู่คนเดียวและเสียชีวิตวันหนึ่งละคนโดยที่ไม่มีใครรู้ เท่านี้ก็เศร้าแล้วหรือเปล่า?

101 Gaze ชวนมองอนาคตการอยู่อาศัยของคนเมือง ผ่านตึกระฟ้าในนาม ‘คอนโดฯ’ เมื่อนับเวลาไปอีก 20 ปีข้างหน้า ตึกสูงเหล่านี้จะกลายเป็น ‘ตึกเก่า’ ที่อาจเป็นตัวเลือกที่อยู่อาศัยสุดท้ายในชีวิตของใครหลายคน อะไรที่ทำให้อนาคต ‘คนจะแก่’ ต้องมีชีวิตอยู่บน ‘คอนโดฯ เก่า’ ไขคำตอบไปกับ พนิดา มีเดช พนักงานบริษัทผู้ตัดสินใจเลือกคอนโดฯ เป็นลงหลักปักฐานชีวิต, ภัณฑิรา จูละยานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยนโยบายสาธารณะ 101PUB


ทายาทนักการเมืองรุ่นใหม่ในพรรคอนุรักษนิยม


YouTube video


รัดเกล้า สุวรรณคีรี – “เวลาลงพื้นที่แล้วแนะนำตัวว่าชื่อ เนเน่ รัดเกล้า สุวรรณคีรี (ลูกสาวของ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ทำให้ผู้คนที่จะเดินผ่านเราก็หันกลับมามองว่าคนนี้เหรอลูกสาว ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี”

นิธิ บุญยรัตกลิน – “ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยความที่คุณพ่อเคยทำรัฐประหารมาก่อน เราเป็นลูกก็หนีไม่พ้น ก็มีคนที่เขาอาจจะไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำครั้งนั้น”

พงศกร ขวัญเมือง – “ต้องยอมรับว่าเวลาที่เดินหาเสียง เขาไม่ได้บอกแค่ว่าเอิร์ธ พงศกร แต่เขาก็บอกกันว่าลูกของคุณอัศวิน ขวัญเมือง ดังนั้นหากเราทำตัวไม่ดี หรือเป็นผู้แทนไม่ดี ก็อาจจะเสื่อมเสียถึงคุณพ่อ”

101 สนทนากับ 3 นักการเมืองคนรุ่นใหม่ ทายาทนักการเมืองในพรรคอนุรักษนิยม ประกอบด้วยพงศกร ขวัญเมือง (ลูกของอัศวิน ขวัญเมือง) จากพรรคประชาธิปัตย์, รัดเกล้า สุวรรณคีรี (ลูกของไตรรงค์ สุวรรณคีรี) จากพรรครวมไทยสร้างชาติ และนิธิ บุญยรัตกลิน (ลูกของสนธิ บุญยรัตกลิน) จากพรรคพลังประชารัฐ ว่าพวกเขามีมุมมองต่อการเป็นทายาทนักการเมืองอย่างไร แนวคิดทางการเมืองระหว่างพ่อ-ลูก ส่งผลต่อความได้เปรียบหรือเสียเปรียบไหมในสนามเลือกตั้ง


DekVanz การเมืองของของวัยรุ่นท่อดัง


YouTube video


ชีวิตที่อยู่กับความเร็ว 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สบตากับป้ายหาเสียงที่เรียงรายอยู่สองข้างทางทุกค่ำ ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งเช่นนี้ หนึ่งในคำถามที่หลายคนอาจสงสัยอยู่เรื่อยมาคือ ‘เด็กแว้น’ อยากลงคะแนนเสียงให้ใคร มีนโยบายไหนที่พวกเขารู้สึกว่าควรค่าแก่การออกเสียงให้

ที่สำคัญคือ จริงเท็จแค่ไหนกันที่ว่าเด็กแว้นนั้นไม่สนใจการเมือง

101 Gaze สำรวจโลกการเมืองของ ‘เด็กแว้น’ ผู้นับถือความเร็วเป็นพระเจ้า สบตากับความท้าระทึก มีเสียงก่นด่าของชาวบ้านเห่กล่อมตัวเองให้หลับนอน พ้นคืนการเลือกตั้งมีความหมายกับพวกเขาไหม การเมืองจะช่วยผลักดันชีวิตให้ดีได้มากขึ้นหรือเปล่า หรือถึงที่สุดแล้วก็อาจไม่เคยเห็นตัวเองอยู่ในสมการใดเลยของพื้นที่ทางสังคม


มรดกเวียดนามในอุดรธานี


YouTube video


จังหวัดอุดรธานีถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็น ‘เมืองหลวงของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม’ เพราะมี ‘เหวียตเกี่ยว’ หรือคนเวียดนามที่อยู่นอกประเทศมาตั้งรกรากเป็นจำนวนมาก ดังปรากฏให้เห็นผ่านร้านอาหารเวียดนามที่มีอยู่ทั่วเมือง รวมถึงชุมชนคนเวียดนามที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

นับตั้งแต่คนรุ่นปู่รุ่นทวดอพยพมาไทยเพราะหนีสงคราม มาจนถึงรุ่นหลานเหลนที่เกิดบนแผ่นดินไทย โดยมีเชื้อเวียดนามไหลเวียนอยู่ในสายเลือด มรดกทางวัฒนธรรมของเวียดนามยังดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขา

101 Documentary ชวนทำความรู้จัก ‘วิถีเวียดนาม’ ในจังหวัดอุดรธานีที่ปรากฏในภาษา อาหาร เสื้อผ้า ไปจนถึงพิธีกรรมส่งผู้วายชนม์ ผ่านเรื่องเล่าของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม


“ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ต้องฝึกฝนฝึกฝืนวิธีคิด” มองปรากฏการณ์ ‘หยก’ กับ ทิชา ณ นคร

YouTube video


‘ก้าวร้าว ไม่น่ารัก ไม่เคารพ’ สังคมควรทำความเข้าใจหยกอย่างไร?

จากปรากฏการณ์ของ ‘หยก ธนลภย์’ ที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคม ทั้งประเด็นเรื่องการต่อต้านกฎโดยการไม่ใส่ชุดนักเรียนและย้อมสีผมไปโรงเรียน ไปจนถึงเรื่องที่เด็กคนหนึ่งถูกผลักให้ออกจากสถานศึกษาด้วยเหตุผลที่หลายคนตั้งคำถาม ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของความเห็น

101 พูดคุยกับ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ผู้ทำงานกับเด็กและเยาวชนมาอย่างยาวนาน ว่าด้วยการมองปรากฏการณ์ของหยก เราจะทำความเข้าใจอย่างไร หลักการแบบไหนที่เราควรยึดถือ และผู้ใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้สามารถคิดและทำแบบไหนได้บ้าง


The Holy Man’s Rebellion ‘ผู้มีบุญ’ ประวัติศาสตร์ที่รัฐไม่อยากให้เล่า


YouTube video


“ในประวัติศาสตร์ไทย กบฏผีบาปผีบุญน่าจะมีอยู่แค่สิบบรรทัดเองนะ ลองไปเปิดดู”

“ถ้าไม่มีวัด ไม่มีผู้นำที่ทำแบบนี้ ศึกโนนโพธิ์ก็อยู่ในกระดาษ แล้วกระดาษประวัติศาสตร์ของรัฐแทบไม่มีเลย”

ผ่านมากว่าร้อยปี ประวัติศาสตร์นี้ไม่เคยถูกพูดถึงอย่างเป็นทางการมากนัก ทำให้ความทรงจำคนในพื้นที่ส่งต่ออย่างกระท่อนกระแท่น ในปี 2565 ถนอม ชาภักดี นักปฏิบัติการศิลปะและนักวิชาการ ร่วมกับนักวิชาการลุ่มน้ำโขง ชี มูน ลงพื้นที่กับชาวบ้านจัดงานบุญเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงวางแผนก่อตั้งอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นหมุดหมายของการเรียนรู้และศึกษาประวัติศาสตร์

101 Documentary ชวนไปดูพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในหน้ากระดาษของรัฐ ในสารคดีเรื่อง The Holy Man’s Rebellion ‘ผู้มีบุญ’ ประวัติศาสตร์ที่รัฐไม่อยากให้เล่า


Digital Harassment – Silent Pain: แผลร้ายซ่อนลึกของนักกิจกรรมเมื่อถูกทำร้ายในโลกเสมือน


YouTube video


“หน้าอย่างมึง อย่าได้เจอกูบนถนน มึงจะได้รู้รสชาติตีน”

“ไปยืนข้างสวนลุมเห๊อะ อย่ามาเป็นเลยนักศึกษา”

ข้อความเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของข้อความที่นักกิจกรรมการเมืองต้องประสบพบเจอบนโลกโซเชียล จากการถล่มโจมตีของกลุ่มคนเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2014 เป็นต้นมา

101 ร่วมกับโครงการ Monitoring Centre on Organised Violence Events (MOVE) ชวนสำรวจบาดแผลเจ็บปวดของนักกิจกรรมการเมืองจากการถูกคุกคามทางออนไลน์ ที่หนักหนาสาหัสอย่างที่สังคมแทบไม่รับรู้มาก่อน พร้อมขบคิดหาแนวทางที่จะทำให้นักกิจกรรมการเมืองและประชาชนทั่วไปสามารถแสดงออกทางการเมืองบนโลกออนไลน์ได้ปลอดภัยอย่างแท้จริง


สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด – Presumption of Guilt


YouTube video


“ทำไมคนคนหนึ่ง วันหนึ่งชีวิตต้องพลิกผันเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ผมไปทำอะไรผิดเหรอ”

“ตอนแรกเขาจะประกันตัว แต่ศาลทหารไม่ให้ประกันตัว ต้องต้องเข้าไปติดคุก”

แม้กระบวนการยุติธรรมไทยจะใช้หลัก ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์’ แต่ผู้ต้องหาคดีการเมืองมักเผชิญกับหลัก ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด’ จนถูกคุมขังและไม่ได้รับการประกันตัว

หลายกรณีในท้ายที่สุดศาลก็ยกฟ้องเมื่อพบว่าไม่ใช่ผู้กระทำความผิด แต่การติดคุกไปแล้วเป็นความเสียหายที่ไม่อาจเรียกคืนได้ เช่นเรื่องราวของ ‘ยุทธภูมิ’ อดีตผู้ต้องหาคดี 112 และ ‘วาสนา’ อดีตผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายและอั้งยี่

ทั้งสองถูกจับกุมในคดีการเมืองและต่อสู้จนได้รับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ โดยที่ระหว่างนั้นการพยายามยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวหลายครั้งไม่เป็นผล

ระหว่างอยู่ในคุก พ่อและแม่ของวาสนาล้มป่วยจากการเจอเหตุการณ์กระเทือนจิตใจกะทันหันและเสียชีวิตโดยวาสนาไม่ได้บอกลา ส่วนการติดคุกของยุทธภูมิทำให้ธุรกิจส่วนตัวของเขาหยุดชะงักและต้องนับหนึ่งใหม่เมื่อถูกปล่อยตัว


คน-ป่า มานิ : ชีวิตไร้สิทธิในเทือกเขา


YouTube video


ท่ามกลางยุคสมัยแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเฟื่องฟูของทุนนิยม วันนี้ผืนป่ากำลังลดน้อยถอยลง พืชพรรณและสัตว์ป่าขาดแคลนสูญหาย ทำให้มานิต้องปรับเปลี่ยนวิถีดั้งเดิมของตนเอง ค้นหาแหล่งอาหารใหม่ ลงหลักปักฐานและหาทางประกอบอาชีพเช่นบุคคลทั่วไป แต่สำหรับคนที่เคยอยู่เพียงในเทือกเขา การปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย – เมื่อขาด ‘สิทธิ’ หลายประการที่พวกเขาควรได้รับในฐานะพลเมืองไทย

กลุ่มชาติพันธุ์ ‘มานิ’ ชนพื้นเมืองทางภาคใต้ซึ่งกระจายตัวอาศัยตามแนวเทือกเขานครศรีธรรมราช หรือเขาบรรทัด จังหวัดตรัง สตูล พัทลุง สงขลา และอีกส่วนหนึ่งตั้งถิ่นฐานบนเทือกเขาสันกาลาคีรี จังหวัดยะลา นราธิวาส ทั้งหมดเกือบ 500 ชีวิตในประเทศไทย

101 พาคุณสำรวจชีวิตของชาวมานิในเทือกเขาบรรทัด จังหวัดสตูล ที่ต้องเปลี่ยนไปจากอดีต แต่ยังคงไม่ได้รับสิทธิอย่างที่ควรจะเป็น

MOST READ

Videos

19 Jan 2023

‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ การเลือกตั้งไม่เปลี่ยนอะไร ถ้าพรรคการเมืองไม่(กล้า)พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงประเด็นการเลือกตั้งปี 2566 หลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ ว่าจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร? จะเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยได้หรือไม่? หรือสุดท้าย สังคมไทยยังคงตกอยู่ในวังวนปัญหาเดิมๆ ต่อไป ถ้าพรรคการเมืองไม่(กล้า)พูดถึงการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างอำนาจจริงๆ

กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์

19 Jan 2023

Media

4 Nov 2022

จาก ‘เมนู’ สู่ ‘เมลิญณ์’ เมื่อถูกรัฐคุกคาม เยาวชนจึงลี้ภัย

เมลิญณ์ หรือชื่อเดิมคือ ‘เมนู-สุพิชฌาย์ ชัยลอม’ เยาวชนนักเคลื่อนไหวการเมือง จำต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังถูกคุกคามอย่างหนัก

ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา

4 Nov 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save