fbpx
คำต่อคำ 101 One-on-One Ep.08 | “อ่านเลือกตั้ง 2561” กับ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

คำต่อคำ 101 One-on-One Ep.08 | “อ่านเลือกตั้ง 2561” กับ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

 

“การเลือกตั้ง” คล้ายจะเป็นประวัติศาสตร์อันห่างไกลสำหรับประเทศไทยไปเสียแล้ว

การเลือกตั้งแบบสมบูรณ์ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554  ต้องย้อนอดีตกลับไปนานกว่า 6 ปีเต็ม

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาประกาศว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 แม้จะไม่มีใครรู้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่เสียงปี่กลองทางการเมืองก็เริ่มดังขึ้นอีกครั้ง ทั้งจากนักการเมืองพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคขนาดกลาง รวมถึงพรรคทหาร!

การเลือกตั้งที่(อาจ)กำลังจะเกิดขึ้นเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด คำถามที่ทุกคนให้ความสนใจคือ การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งใหญ่จะเป็นอย่างไร ระบบเลือกตั้งแบบใหม่จะก่อร่างสร้างภูมิทัศน์การเมืองใหม่แบบใดกัน

101 ชวน รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องระบบเลือกตั้งและสถาบันทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องจริงจัง เจ้าของผลงานวิจัยเรื่อง “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 : ศึกษาบทบาทพรรคการเมือง และพฤติกรรมและการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง” มาร่วม “อ่านอนาคตสังคมไทย” ผ่าน “การเลือกตั้ง 2561”

และนี่คือบทสนทนาระหว่าง สิริพรรณ นกสวน สวัสดี กับ ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการ 101 และอีกสารพัดคำถามจากผู้ชมรายการ 101 One-on-One

ขอเริ่มต้นด้วยคำถามที่ไม่ควรจะต้องถามกันแล้ว แต่จำเป็นต้องกลับมาถามตามความตกต่ำของการเมืองไทย — ทำไมต้องมีการเลือกตั้ง? การเลือกตั้งสำคัญอย่างไร? 

(ยิ้ม) ถ้าพูดในแง่วิชาการ การเลือกตั้งคือการเปลี่ยนความวุ่นวาย ความรุนแรงทางการเมือง หรือกระสุนปืน (bullet) เป็นบัตรเลือกตั้ง (ballot) การเลือกตั้งเป็นการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ แทนที่จะใช้กำลังยึดอำนาจกัน แต่ตอนนี้หลายคนอาจมองว่าไม่ต้องเลือกตั้งก็ได้ เพราะอยู่แบบนี้ก็สงบดี แต่โดยส่วนตัวแล้ว ไม่อยากให้มองการเลือกตั้งว่าเป็นเพียงการไปกากบาทในช่องสี่เหลี่ยมเท่านั้น แต่มันคือกระบวนการขับเคลื่อนพลัง ความหวัง ความต้องการ ความใฝ่ฝัน และจินตนาการของประชาชน ไม่มีปรากฏการณ์ทางการเมืองไหนที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากเท่ากับการเลือกตั้งอีกแล้ว

 

การเลือกตั้งเป็นกระบวนการทางการเมืองที่เชื่อมร้อยผู้มีอำนาจเข้ากับประชาชน ทำให้ระบบความรับผิดรับชอบ (accountability) ทางการเมืองทำงานได้  ในทางรัฐศาสตร์ ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างไร 

เวลาเราพูดถึงความรับผิดรับชอบ ในทางวิชาการมีสองด้าน ด้านแรกคือแนวนอน ก็คือการตรวจสอบกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ กับแนวตั้งที่เป็นการตรวจสอบโดยประชาชน ซึ่งประกอบด้วยสองมิติคือ กระบวนการก่อนตัดสินใจเลือก ตรวจสอบว่าเขามีจุดยืนอย่างไร เคยลงคะแนนเสียงอย่างไร เหมาะสมที่จะเข้าไปเป็นตัวแทนของเราหรือไม่ กับอีกมิติหนึ่งคือ กระบวนการหลังตัดสินใจเลือกแล้ว คือการทำให้ผู้แทนรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ประชาชนคอยตรวจสอบพฤติกรรม ตรวจสอบการทำงาน ซึ่งถ้าเราไม่ชอบ ครั้งหน้าก็ไม่ต้องเลือกเขากลับเข้าไปอีก

นั่นคือเชิงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ก็น่าคิดเหมือนกัน ส่วนตัวคิดว่าถ้าทุกคนใช้สิทธิ์ในการโหวตอย่างเต็มที่ และมีข้อมูลทางการเมืองที่เปิดเผยสู่สาธารณะมากขึ้น การเลือกตั้งจะสนุกมาก อย่างในอเมริกา ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะรู้เลยว่าฮิลลารี คลินตัน เคยโหวตอะไรบ้าง เบอร์นี แซนเดอร์ เคยโหวตเรื่องอะไรไว้ สิ่งเหล่านี้ทำให้พื้นที่ของการมีส่วนร่วมทางการเมืองมีสีสัน ประชาชนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของรัฐบาล เป็นเจ้าของประเทศ สามารถชมหรือด่าได้

 

คนทั่วไปติดตามการเลือกตั้งอาจจะด้วยความสนุก สนใจว่าใครแพ้ใครชนะ แล้วนักรัฐศาสตร์จับตาดูการเลือกตั้งด้วยแว่นตาแบบไหน อาจารย์สนใจเรื่องอะไรบ้าง 

เรื่อง “ระบบเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นประเด็นที่นักวิชาการไทยไม่ค่อยให้ความสนใจก่อนหน้าการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เพราะเราใช้ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา หนึ่งเขตหลายคน มานานมาก จนกระทั่งในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ถึงมีการถกเถียงกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง

ระบบเลือกตั้งมีความสำคัญ เพราะสามารถเปลี่ยนที่นั่งในสภาได้ สามารถเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองได้ เปลี่ยนหน้ารัฐบาลได้ หลายประเทศใช้ระบบเลือกตั้งเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ยกตัวอย่างชิลีกับโปแลนด์ที่เคยมีรัฐบาลทหาร ในช่วงการเปลี่ยนจากระบอบปิโนเชต์มาเป็นประชาธิปไตย ชิลียอมใช้ระบบเลือกตั้งที่แสนจะไม่เป็นธรรม คือ Binomial voting system แต่ละพรรคส่งผู้สมัครได้สองคน เป็นแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไหนได้คะแนนมากสุด จะได้ที่นั่งแรกไป แต่ถ้าจะได้ที่นั่งที่สอง พรรคนั้นต้องได้สัดส่วนคะแนนเป็นสองเท่าของพรรครองลงมา

สมมติว่าพรรคเอได้ 50% ประกอบด้วยนาย ก 30% นาย ข 20% พรรคบีได้ 30% ประกอบด้วยนาย ค 18% กับ นาย ง 12% ส่วนพรรคซีได้ 11% กับ 9%

ถ้าเรามองแบบทั่วไป พรรคเอควรจะชนะทั้งสองคน เพราะนาย ก กับ นาย ข ได้คะแนนมากกว่าคนอื่น แต่ในระบบนี้ นาย ก จะได้เข้าไปแค่คนเดียว เพราะคะแนน 50% ของพรรคเอ ยังไม่มากเป็นสองเท่าของพรรคบี ฉะนั้นคนที่ได้รับเลือกคนถัดมา ก็คือนาย ค ของพรรคบี ที่ได้ 18%

การที่ชิลีต้องทำแบบนี้ เพราะมีปัญหาความแตกแยกระหว่างสองพรรคมาก เขาเลยออกแบบระบบเลือกตั้งให้สองพรรคเข้าไปนั่งในสภาในน้ำหนักที่ใกล้เคียงกัน ให้ไปทะเลาะกันในสภา นี่คือตัวอย่างที่สะท้อนว่าระบบเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องมีแบบเดียว และแต่ละแบบ ก็อาจไม่เป็นธรรมเสมอไป แต่มันถูกคิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาบางประการของประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะ

 

ในมุมมองของอาจารย์ ระบบเลือกตั้งที่ดีควรมีคุณสมบัติพื้นฐานหรือเกณฑ์ขั้นต่ำอย่างไร

หนึ่ง เลือกตั้งแล้วจะต้องได้ตัวแทนของประชาชนในสังคมในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ใช่เลือกมาแล้วมีแค่คนกลุ่มเดียว เช่น คนรวย แต่จะต้องเป็นตัวแทนของคนหลายกลุ่มในสังคม รวมถึงชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม

สอง เลือกตั้งแล้วจะต้องได้รัฐบาลที่สะท้อนเจตนารมน์ของประชาชน และรัฐบาลนั้นควรจัดตั้งได้ง่าย รู้ชัดว่าใครได้เสียงข้างมาก

นอกจากนี้ก็อาจมีเกณฑ์อื่นๆ ด้วย เช่น ควรเป็นระบบเลือกตั้งที่ส่งเสริมการสร้างสถาบันทางการเมือง หรือเป็นระบบเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มน้อย อย่างเช่นผู้หญิง ได้มีที่นั่งในสภา แต่ในขณะเดียวกัน แต่ละประเทศก็มีประวัติศาสตร์และเงื่อนไขทางสังคมที่ต่างกัน ดังนั้นจึงไม่มีระบบเลือกตั้งแบบไหนที่ดีที่สุด ที่สามารถใช้ได้กับทุกประเทศในโลก

 

 

ตอนนี้ในโลกของเรามีการเลือกตั้งกี่แบบ

ถ้าจัดเป็นหมวดหมู่ อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ

หนึ่ง แบบเสียงข้างมากธรรมดา ผู้ชนะอาจจะได้คะแนนไม่ถึง 50% แต่ใครได้คะแนนเสียงมากกว่าก็เป็นผู้ชนะ เช่น ระบบเขตเดียวคนเดียว

สอง แบบเสียงข้างมากเด็ดขาด ผู้ชนะต้องได้คะแนนเสียงเกิน 50% มิฉะนั้นต้องเลือกใหม่ เช่น แบบฝรั่งเศส หรือแบบออสเตรเลียที่ใช้ Preferential voting system คือเลือกครั้งเดียว แต่มีวิธีนับคะแนนในการหาผู้ชนะที่ทำคะแนนได้เกิน 50% ในที่สุด ระบบนี้มีความชอบธรรมมาก แต่ก็สิ้นเปลืองและซับซ้อน

สาม แบบสัดส่วน หรือแบบบัญชีรายชื่อ

สี่ ระบบผสม เป็นการผสมกันระหว่างระบบบัญชีรายชื่อ กับแบบใดแบบหนึ่งที่เหลือ

 

ระบบเลือกตั้งไม่ได้มีความเป็นกลางในตัวเอง แต่ละระบบเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองแตกต่างกันไป บางระบบเอื้อพรรคใหญ่ บางระบบเอื้อพรรคเล็ก  มันมีระบบไหนที่ถือว่าเป็นธรรมที่สุดไหม

ถ้าถามว่าระบบไหนเป็นธรรมที่สุด โดยส่วนตัวจะเลือก MMP (Mix-member proportional) voting system ของเยอรมนี เพราะเป็นระบบที่สร้างสมดุลระหว่างคะแนนเสียงของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กับคะแนนเสียงของ ส.ส.เขต แล้วสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้ชัดเจนที่สุด ถ้าประชาชนเลือกพรรคหนึ่งเข้ามา 40% พรรคนั้นก็จะมีที่นั่ง 40% ในสภา ส่วนตัวชอบระบบนี้และเคยสนับสนุนให้เราใช้หลายทีแล้ว แต่เราไม่เลือก เพราะมักจะอ้างว่ามันซับซ้อน ประชาชนเข้าใจยาก

 

นอกจากเรื่องระบบเลือกตั้งแล้ว นักรัฐศาสตร์สนใจศึกษาการเลือกตั้งในแง่มุมไหนอีก 

สนใจพฤติกรรมการเลือกตั้งของคน ซึ่งวงวิชาการไทยศึกษาน้อยมาก เช่น คนกลุ่มไหนเลือกใคร เพราะอะไร หรือในรอบสิบปี พฤติกรรมการเลือกตั้งของแต่ละกลุ่มเปลี่ยนไปอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุของการตัดสินใจในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง

ถ้ามองในแง่รัฐศาสตร์แล้ว สิ่งที่เราอยากได้ที่สุด คืออำนาจในการทำนายอนาคต นักวิชาการต่างประเทศที่พยายามจะสร้างโมเดลต่างๆ โดยใช้ตัวเลขทางสถิติและสูตรคณิตศาสตร์มาคำนวณ ศึกษาข้อมูลพฤติกรรมการเลือกตั้งย้อนกลับไป 10-50 ปีเลย แต่ของไทยอาจลำบากไม่น้อย เพราะการเลือกตั้งของเราไม่ค่อยสม่ำเสมอ ตัวเลขก็ไม่ค่อยมีคนเก็บ แล้วเราก็เปลี่ยนระบบเลือกตั้งบ่อยด้วย ดังนั้น ตัวแปรที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งจึงคุมไม่ได้

 

งานวิจัยของอาจารย์ที่สำรวจพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยในปี 2554 (ทำแบบสอบถาม 6,500 ชุด ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ และสัมภาษณ์เชิงลึกผู้สมัครรับเลือกตั้ง หัวคะแนน สื่อมวลชน ร่วม 100 คน) ค้นพบอะไรที่น่าสนใจบ้าง

พบว่าสังคมไทยเริ่มมีการรวมกลุ่มทางการเมืองเชิงอุดมการณ์มากขึ้น แต่พรรคการเมืองยังปรับตัวไม่ทัน ยังไม่มีข้อเสนอทางจุดยืนหรืออุดมการณ์ที่ชัดเจน แต่ละพรรคยังไม่มีนโยบายที่แตกต่างกัน ไม่ได้อยู่บนฐานอุดมการณ์

การเมืองไทยเดินหน้าไปสู่การเมืองเชิงนโยบายมากขึ้น แต่ตัวบุคคลในพื้นที่ก็ยังมีความสำคัญอยู่ ในระบบบัญชีรายชื่อ คนเลือกพรรคเป็นหลัก แต่ในระบบเขตเลือกตั้ง ตัวบุคคลยังมีความสำคัญ กระนั้น คนจำนวนมากก็เลือกคนที่สังกัดพรรคที่ตัวเองชอบ นอกจากนั้น ถ้าเอาคะแนนเขตมาเทียบกับคะแนนบัญชีรายชื่อ ปรากฏว่าทุกพรรค แม้แต่เพื่อไทยก็มีคะแนนบัญชีรายชื่อสูงกว่าคะแนนเขต สะท้อนว่าความนิยมของพรรคมีมากกว่าความนิยมของตัวบุคคล

ถ้าถามว่าความนิยมในพรรคเป็นผลมาจากความนิยมในตัวนโยบายหรือเปล่า ยังคงเป็นคำถามอยู่ เพราะอาจจะเป็นผลจากความนิยมในตัวผู้นำพรรค หรือผลงานของพรรคในอดีตก็ได้ ดิฉันยังไม่อยากสรุปไปเองว่าคนไทยเลือกพรรคเพราะนโยบาย เพราะเอาเข้าจริงนโยบายของพรรคการเมืองจำนวนมากในปี 2554 แทบไม่ได้ต่างกันเลย แล้วเราจะสรุปว่าเป็นเรื่องนโยบายได้อย่างไร

ประเด็นที่อยากบอกคือ สังคมไทยมีประชากรจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะเลือกด้วยจุดยืนอย่างเช่น นโยบายสวัสดิการสังคม หรือนโยบายกระจายอำนาจ แต่พรรคการเมืองยังไม่สามารถเสนอนโยบายแบบนี้เพื่อดึงฐานคะแนนเสียงของตัวเองให้ชัดเจนได้

คนที่ออกไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เขาคิดอะไรในกระบวนการตัดสินใจ งานวิจัยของอาจารย์ค้นพบอะไรบ้าง

เวลาเลือกตั้ง ส.ส. เขต เราพบว่ามีตัวแปร 3 ตัวที่น่าสนใจ

หนึ่ง ถ้าเป็นวัยรุ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เขาจะไม่รู้จักผู้สมัครว่าเป็นใครมาจากไหน ฉะนั้นเขาก็จะเลือกตามผู้ปกครอง เลือกตามครอบครัว เขาตัดสินใจด้วยตัวเองก็จริง แต่อิทธิพลที่ได้รับมาจากคนรอบข้าง

สอง คนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับนักการเมืองบ้าง จะตัดสินใจเลือกผู้สมัครตามการทำหน้าที่ของผู้สมัครคนนั้นๆ ภายในเขตเลือกตั้งของตัวเอง เช่น การดูแลช่วยเหลือประชาชน  ในชนบทเองก็มีเรื่องการอุปถัมป์ดูแล ซึ่งส่วนตัวก็มองว่าไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ดูแลเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจในการเลือกตั้งอยู่แล้ว

สาม อิทธิพลของพรรคการเมือง คือดูว่าผู้สมัครคนนั้นสังกัดพรรคที่ชอบหรือเปล่า ตัวนโยบายก็เป็นตัวแปรหลัก แต่พอผ่านการเลือกตั้งมา 2-3 ครั้ง นโยบายของแต่ละพรรคที่ไม่ต่างกันมากก็ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นเพราะตัวนโยบายจริงๆ หรือเป็นเพราะผลงานในอดีตของพรรคนั้นที่ทำให้ชนะเลือกตั้ง

สำหรับ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ก็พบว่าตัวผลงานในอดีตของพรรค และผู้นำพรรค จะเป็นตัวแปรหลัก

สิ่งที่น่าสนใจคือ วาทกรรมของสังคมไทยที่ว่า “เลือกเพราะซื้อเสียง” ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ถ้าเรามาดูคะแนนความแตกต่างที่พรรคการเมืองได้รับในพื้นที่ต่างจังหวัดที่แข่งขันสูง จะเห็นว่าในภาคใต้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ครองพื้นที่ส่วนใหญ่ คะแนนพรรคอันดับหนึ่ง มี 6 หมื่นกว่า ในขณะที่พรรคอันดับรองลงมามีเพียงหลักพัน ภาคอีสานและภาคเหนือก็มีลักษณะแบบนี้ แต่พรรคเพื่อไทยจะมีคะแนนนำแทน

 

 

ความต่างระดับหลายหมื่นคะแนนนี้ ทำให้ดิฉันคิดว่าผู้สมัครจะซื้อเสียงไปทำไม ในเมื่อคะแนนมันทิ้งห่างขนาดนี้แล้ว อันนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เราต้องมาวิเคราะห์กันว่า สุดท้ายแล้วการซื้อเสียงมีบทบาทมากแค่ไหน

ถ้าดูจากแบบสอบถามของงานวิจัย เราถามไปตรงๆ เลยว่า “ท่านรู้สึกว่าการรับเงิน ผลประโยชน์ หรือค่าตอบแทน เป็นสิ่งผูกมัดให้ท่านต้องเลือกผู้สมัครหรือไม่?” ปรากฏว่าคนจำนวนมากถึง 80% บอกว่าไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ นี่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้รับเงิน หรือไม่มีการซื้อเสียง แต่ข้อมูลนี้สะท้อนว่าการซื้อเสียงไม่ได้เป็นตัวแปรชี้ขาดการเลือกตั้งอีกต่อไปแล้ว

ดิฉันอยากพูดชัดๆ เลยว่า อยากให้คนที่กลัวการเลือกตั้งเพราะคิดว่าได้นักการเมืองซื้อเสียงเข้ามา ลองเปิดใจกว้างแล้วรับฟังข้อมูลอีกด้านที่บอกว่า การเลือกตั้งไปไกลกว่าเดิมแล้ว การซื้อเสียงและการรับเงินอาจยังมีอยู่ก็จริง แต่ไม่ได้ส่งผลกำหนดผลลัพธ์ของการเลือกตั้งแล้ว

แต่ต้องแยกการเลือกตั้งระดับชาติออกจากระดับท้องถิ่น ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ตัวบุคคลยังมีความสำคัญมาก เนื่องจากไม่มีตัวแปรเรื่องนโยบายหรือพรรคเข้ามาเกี่ยวข้องมาก การต่อสู้อย่างเข้มข้นระหว่างตัวบุคคลกับตัวบุคคลจึงมีการซื้อเสียงเป็นเครื่องมือหลัก

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจในงานวิจัย อาจารย์บอกไว้ว่า ระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทำให้การเมืองไทยเข้าสู่ระบบการเมืองแบบสองพรรคเด่น 

สองพรรคเด่นที่ว่าก็คือ พรรคเพื่อไทย/พลังประชาชน/ไทยรักไทย กับ ประชาธิปัตย์ คุมเสียงในสภารวมกันเกิน 80% จริงๆ ปรากฏการณ์สองพรรครวมกันเกิน 50% เคยเกิดตั้งแต่ปี 2539 แล้วก็โดดสูงขึ้นมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นสองพรรคหลัก

ถ้าย้อนกลับไปช่วงปี 2548 เป็นปีที่พรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งถล่มทลายคือ 377 ที่นั่ง นักวิชาการหลายคนก็ใช้คำว่า one dominant party ด้วยซ้ำ คือพรรคเด่นพรรคเดียว หลายคนก็เกิดคำถามว่าการเมืองไทยจะโดนพรรคใหญ่ครอบงำเหมือนในสิงคโปร์หรือมาเลเซียหรือเปล่า

เอาจริงๆ แล้วหลายประเทศที่มีพรรคใหญ่พรรคเดียว เช่น ญี่ปุ่นที่มีพรรคแอลดีพี (Liberal Democrat Party) ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ในไทยเรากลัวกันมาก แล้วก็ใช้เงื่อนไขของระบบเลือกตั้งมาลดอิทธิพลของพรรคใหญ่ลง ดังนั้นระบบเลือกตั้งของสังคมไทยจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างเข้มข้นมากที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ดิฉันคิดว่าภูมิทัศน์การเมืองไทยที่เปลี่ยนไปหลังปี 2540 เป็นต้นมา เป็นผลมาจากระบบเลือกตั้ง ซึ่งรวมไปถึงการพุ่งทะยานขึ้นมาของคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยด้วย

 

สัดส่วนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่กับพรรคอื่นๆ (%) พ.ศ. 2535-2554

รัฐธรรมนูญปี 2540 ออกแบบระบบเลือกตั้งอย่างไร ที่เอื้อประโยชน์ให้พรรคใหญ่ได้เปรียบมาก แล้วระบบเลือกตั้งไทยเปลี่ยนแปลงต่อไปอย่างไรภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550

ขอเริ่มตั้งแต่ยุคก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ก่อน เราใช้ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา หนึ่งเขตหลายคน แต่ละเขตมี ส.ส. 1-3 คนตามจำนวนประชากร ถ้าเขตนั้นมี ส.ส.ได้ 3 คน ประชาชนก็เลือกได้ 3 เสียง จะเลือกใครก็ได้ จากพรรคเดียวกันหรือต่างพรรคก็ได้ ซึ่งระบบแบบนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมทั่วโลก เพราะมันทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองในพรรค นอกจากแข่งกับคนอื่น ยังต้องแข่งกันเองในพรรคด้วย ระบบแบบนี้เน้นไปที่ตัวบุคคล ไม่เน้นนโยบาย

เราจึงเห็นว่าในอดีตจะไม่มีพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายเป็นแพ็คเกจ แต่จะหาเสียงกันด้วยสโลแกน อย่างอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช พรรคกิจสังคม ก็มีสโลแกนว่า “คิดไม่ออก เลือกกิจสังคม” หรือพรรคประชากรไทยของคุณสมัคร สุนทรเวช ก็บอกว่า “สังคมไทยมีปัญหา ประชากรไทยแก้ไขได้” ไม่ได้หาเสียงลงไปในระดับนโยบาย

อาจารย์คึกฤทธิ์เป็นพรรคแรกที่เสนอนโยบายเงินผัน พรรคอื่นจะไม่มีนโยบายแบบนี้เพราะกลไกระบบเลือกตั้งเน้นไปที่บุคคล พรรคทำหน้าที่สรรหาตัวบุคคลมาแข่ง ไปเลือกคนที่มีฐานเสียงดี มีหน้ามีตา มีเงิน มาลงแข่ง

พอถึงยุครัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เกิดการเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยจนย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว คือเราใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสม ระหว่างระบบ ส.ส.เขต แบบหนึ่งเขตหนึ่งคน เสียงข้างมากธรรมดา บวกกับระบบบัญชีรายชื่อที่เป็นระบบสัดส่วน พรรคที่จะได้ที่นั่งในสภาในระบบบัญชีรายชื่อต้องได้คะแนนเสียงเกิน 5% มิเช่นนั้นคะแนนเสียงก็จะตกน้ำไม่ถูกนำมาคำนวณเลย ระบบบัญชีรายชื่อทำให้พรรคต้องมาคิดดูว่าคุณจะหาเสียงอย่างไรให้ชนะใจคนทั้งประเทศ ซึ่งใหญ่กว่าพื้นที่เฉพาะในเขตเลือกตั้ง พรรคจึงต้องคิดเรื่องนโยบายระดับชาติ

เราจะเห็นว่าผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อเป็นคนที่มีการศึกษา มีความรู้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นคนที่ไม่ต้องการลงพื้นที่ไปตรากตรำ ไหว้ประชาชนตามท้องถนนเท่าไร ฉะนั้นเราจึงได้คนที่อาจไม่ได้อยากลงมาเล่นการเมืองโดยตรง แต่อยากเข้ามามีส่วนในการบริหารประเทศ อันนี้เป็นเป้าหมายของระบบบัญชีรายชื่อ แม้ว่าผลพวงที่ตามมาอาจจะได้นายทุนของพรรคเข้ามาด้วย

ในระดับการเลือกตั้ง ส.ส.เขต แบบหนึ่งเขตหนึ่งคน ผลที่ตามมาก็คือ พรรคการเมืองส่งผู้สมัครในแต่ละเขตได้แค่คนเดียวเท่านั้น ประชาชนเดิมเลือกได้ 2-3 คน ก็เหลือเพียงเสียงเดียว คุณจะรักเผื่อเลือกไม่ได้ ต้องชั่งน้ำหนักเลือกแค่หนึ่งคน พฤติกรรมการเลือกของคนก็เปลี่ยนไป ดังนั้นพรรคที่สอบได้จึงเป็นพรรคใหญ่ที่คนรู้จัก พอมาบวกกับระบบบัญชีรายชื่อที่พรรคเสนอนโยบายเป็นแพ็คเกจเพื่อเอาใจคนทั้งประเทศ แถมพรรคเล็กที่ได้คะแนนไม่ถึง 5% ถูกตัดออกไป ก็ยิ่งทำให้คะแนนตรงนี้ถูกถ่ายโอนมาให้พรรคใหญ่

ระบบบัญชีรายชื่อทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า carryover effect คือผู้สมัครของพรรคใหญ่ แม้ประชาชนจะไม่รู้จักมาก แต่ก็ได้รับเลือกเพราะอาศัยชื่อเสียงของพรรค ประกอบกับตอนนั้น กกต.อนุญาตให้พรรคหาเสียงโดยการซื้อโฆษณาทีวี ดังนั้นการมีระบบบัญชีรายชื่อและเปิดโอกาสให้โฆษณาได้ จึงทำให้อิทธิพลของตัวบุคคลลดลง คุณซื้อโฆษณาทีเดียวก็เข้าถึงประชาชนได้ 60-70 ล้านคน พรรคกลายเป็นตัวแปรหลักในการตัดสินใจเลือกตั้ง

 

งานวิจัยของอาจารย์ยังชี้ว่า ระบบเลือกตั้งที่ผ่านมายังมีจุดอ่อนเรื่องการแปรเปลี่ยนเจตจำนงของประชาชนไปสู่ผลลัพธ์สุดท้าย (ที่นั่งในสภา) อย่างไม่บิดเบือน ทำให้บางพรรคได้ที่นั่งเกินจริง บางพรรคได้ที่นั่งต่ำกว่าที่ควรได้ ปัญหานี้เกิดจากอะไร 

ในระบบเลือกตั้งที่ดี ถ้าพรรคนั้นได้สัดส่วนคะแนนเสียงจากประชาชนกี่เปอร์เซ็นต์ ก็ควรจะมีสัดส่วนที่นั่งในสภาตรงกัน เช่น ถ้าพรรคได้คะแนนระบบบัญชีรายชื่อ 40% ของทั้งหมด ก็ควรได้รับการจัดสรร ส.ส. 40 คนจาก 100 คน

ถ้าพอเรามาดูคะแนนการเลือกตั้งจริงๆ ในปี 2548 ไทยรักไทยได้คะแนนที่ประชาชนเลือกในระบบเขต 55.5% แต่ได้ที่นั่งในสภา 77.5% คือได้เกินมา 22% นี่คือความหมายของการได้ที่นั่งมาแบบไม่ได้สัดส่วน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จะเห็นว่าได้คะแนนเสียง 25% แต่ได้สัดส่วนที่นั่งในสภา 17.5% น้อยกว่าคะแนนที่ประชาชนเลือก จะเห็นว่าพรรคอื่นทุกพรรคติดลบหมดเลย มีพรรคไทยรักไทยพรรคเดียวที่ได้เกินมาเป็นบวก ระบบแบบนี้คือระบบที่เอื้อให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ ในส่วนของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทยได้คะแนน 61% ได้ที่นั่ง 67% ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนน 23% ได้ที่นั่ง 26% ในกรณีนี้ทั้งสองพรรคใหญ่ได้เปรียบ เพราะพรรคเล็กที่ได้รับคะแนนเสียงทั้งประเทศไม่ถึง 5% จะไม่ถูกนำมาคิดคำนวณที่นั่ง พรรคใหญ่เลยได้ที่นั่งเกินกว่าที่ควรจะได้

 

 

ประชาชนส่วนใหญ่มักจะเลือกพรรคใหญ่ที่ตัวเองชอบ แม้พรรคใหญ่อาจจะชนะเลือกตั้งในเขตนั้นด้วยคะแนนไม่มาก แต่ก็ชนะ ในขณะที่พรรคเล็กๆ อาจจะได้คะแนนอันดับสองหรือสามสูงทีเดียว แต่ไม่สามารถทะลุมาเป็นอันดับหนึ่งได้ เลยไม่มีที่นั่ง ทั้งที่คะแนนเหล่านั้นรวมกันทั้งประเทศอาจจะเยอะมาก กลไกเลือกตั้งแบบเขตมันเอื้อพรรคใหญ่ เพราะคนจะคุ้นเคยกับชื่อเสียงของพรรคใหญ่ในอดีต พรรคที่เป็นรัฐบาลอยู่แล้วก็จะมีผลงานประจักษ์ แล้วประชาชนก็มักจะเลือกเหมือนเดิมเพราะไม่อยากเสี่ยง

แต่ถ้าเป็นระบบสัดส่วน มันจะแปรคะแนนเสียงเป็นที่นั่งได้ใกล้เคียงกันมากกว่าระบบเขต ดังนั้นประเทศส่วนใหญ่จะเก็บระบบสัดส่วนเอาไว้ ถ้าต้องการสะท้อนเจตนารมน์จริงๆ ของประชาชน ระบบนี้ช่วยให้มีตัวแทนจากคนกลุ่มเล็กๆ มากขึ้น

ต่อมา ในระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องการลดอิทธิพลของพรรคใหญ่ไม่ให้ได้เปรียบมาก เลยเปลี่ยนกลับไปใช้ระบบหนึ่งเขตหลายคนเหมือนเดิม บวกกับระบบบัญชีรายชื่อ แต่ไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำแล้ว และไม่ใช้ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แต่แบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด 8 กลุ่ม กระนั้นก็มีปัญหา เพราะเป็นการเอาจังหวัดที่ไม่ควรจะอยู่ด้วยกันมารวมกันอย่างเช่นสุพรรณบุรีมารวมกับประจวบคีรีขันธ์ หรือเอาสระแก้วไปรวมกับระยอง ซึ่งก็มีคำถามว่าการจัดแบบนี้ต้องการเอื้อพรรคไหนหรือเปล่า พอเปลี่ยนจากหนึ่งเขตหนึ่งคนเป็นหนึ่งเขตหลายคน ด้วยหวังว่าระบบนี้จะลดอิทธิพลของพรรคใหญ่ในระบบเขต มันก็ลดลงจริงๆ แต่ไม่มาก

ตอนเลือกตั้งปี 2550 เราได้คุณสมัคร สุนทรเวช มาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนั้นคะแนนต่างระหว่างพรรคพลังประชาชนกับพรรคประชาธิปัตย์ในระบบสัดส่วนน้อยมาก ไม่ถึง 1% ซึ่งเป็นผลมาจากการแบ่งกลุ่มจังหวัด 8 กลุ่มด้วย ทำให้คะแนนบัญชีรายชื่อของสองพรรคใหญ่ไม่ต่างกันมาก

จากนั้นก็มาเปลี่ยนระบบเลือกตั้งอีกทีในการเลือกตั้งปี 2554 ก่อนคุณอภิสิทธิ์ยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ มีการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งกลับไปเป็นระบบหนึ่งเขตหนึ่งคน เสียงข้างมากธรรมดา และใช้ระบบบัญชีรายชื่อที่ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แต่เพิ่มจาก 80 คนในปี 2550 เป็น 125 คนในปี 2554

 

อนาคตการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งปี 2561 จะเป็นอย่างไร ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะสร้างภูมิทัศน์การเมืองไทยแบบไหน 

เนื่องจากเป็นระบบเลือกตั้งใหม่ ประชาชนต้องปรับตัวกันพอสมควร กติกาทุกอย่างแทบจะใหม่หมดเลย เช่น ก่อนมีการเลือกตั้งจริงๆ จะมีการเลือกตั้งขั้นต้น หรือ primary vote ด้วย

ระบบเลือกตั้งใหม่ถูกเรียกว่าระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ในการเลือกตั้งจะมีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว คนยุคนี้ที่เติบโตมากับรัฐธรรมนูญปี 2540 จะเคยชินกับการมีบัตรเลือกตั้งสองใบ เลือก ส.ส.เขตหนึ่งใบ เลือกบัญชีรายชื่อหนึ่งใบ – “เลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบ” แต่ระบบเลือกตั้งใหม่จะเหลือแค่บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต เราเลือกแล้ว เขาจะนำคะแนนของ ส.ส.เขต มาคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชี่อของแต่ละพรรคอีกที แต่เราไม่ได้เลือก ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อโดยตรง

ในระบบใหม่ เรามี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ แต่พูดไม่ได้ว่าเรามีการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ

ส่วน ส.ส.เขตจะมี 350 คน ในแต่ละเขต ผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าก็จะชนะเลือกตั้งไป อีก 150 คน จะเป็น ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเล็กอาจจะมีคนในบัญชีรายชื่อไม่ถึงจำนวน 150 คนก็ได้ จำนวน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อจะถูกคำนวณจากคะแนน ส.ส.เขตของพรรคนั้นรวมทั้งประเทศ

เกณฑ์การคำนวณที่นั่ง ส.ส.ในสภาจะดูว่าแต่ละพรรคมีคะแนนจากบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขตคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของคะแนนทั้งหมด ก็ควรจะได้สัดส่วนที่นั่งรวมในสภาตามนั้น แล้วดูว่าพรรคนั้นมี ส.ส.เขตที่ชนะเลือกตั้งไปแล้วกี่คน ก็จะเอาไปหักจากจำนวน ส.ส.รวม เหลือเท่าไหร่ก็จะถูกเติมให้เต็มด้วยระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทดแทนคะแนน ส.ส.เขตที่เหลือ

ถ้ามองแบบผิวเผิน มันก็ดูคล้ายระบบ MMP ของเยอรมนี แต่ข้อแตกต่างสำคัญคือ ระบบเยอรมันให้ประชาชนเลือกได้สองใบ คือเลือก ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แล้วใช้คะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อที่คนเลือกพรรคมาคำนวณหาสัดส่วนที่นั่งรวมของแต่ละพรรคในสภา ดูว่าพรรคนั้นได้ ส.ส.เขตไปแล้วกี่คน แล้วจึงเติมส่วนที่ขาดด้วย ส.ส.ในบัญชีรายชื่อ

ระบบเยอรมันต้องการสิ่งที่ดีที่สุดจากทั้งสองแบบ ประชาชนได้เลือก ส.ส.เขต ที่มีความใกล้ชิดในพื้นที่ ดูแลสารทุกข์สุกดิบ ขณะเดียวกันก็ได้เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เป็นการแข่งขันของแต่ละพรรคในระดับชาติ ทำให้พรรคมีแรงจูงใจที่จะเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมให้กับคนทั้งประเทศ มีแนวโน้มที่จะกดดันให้พรรคต้องสร้างความเป็นสถาบันทางการเมือง ทำพรรคให้เข้มแข็ง ถือเป็นการผสมข้อดีของสองอย่างเข้าด้วยกัน ที่สำคัญคือประชาชนได้เลือกทั้งพรรคและ ส.ส. ที่ตัวเองชอบ เปรียบเทียบกับระบบของไทยที่ได้เลือกแค่ใบเดียว คือ ส.ส.เขต สมมติว่าดิฉันชอบ ส.ส.คนนี้ แต่ไม่ชอบพรรคที่เขาสังกัด แล้วจะเลือกอย่างไร จะตัดสินใจเลือกคนหรือเลือกพรรคมากกว่ากัน

ยิ่งไปกว่านั้นคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้แต่ละพรรคต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี พรรคละ 3 ชื่อ สิ่งที่ดิฉันต้องคิดต่อก็คือ ถ้าดิฉันอยากเลือกผู้สมัครคนหนึ่ง แต่ไม่ชอบพรรคที่สังกัด แถมยังไม่ชอบคนที่พรรคนั้นเสนอชื่อมาเป็นนายกฯ ด้วย สุดท้ายแล้วจะตัดสินใจเลือกจากหลักอะไรดี

สุดท้ายแล้วระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมของไทย ค่อนข้างที่จะจำกัดเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งตรงข้ามกับของเยอรมัน ถ้าพรรคนั้นได้ ส.ส.เขตมาก ส.ส.บัญชีรายชื่อจะลดลง เพราะมันถูกหักไปแล้วใน ส.ส.เขต เกิดความย้อนแย้งกันเอง

นอกจากนั้น ถ้าเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง อยากได้คะแนนมาคำนวณเยอะๆ  ก็ต้องไปกว้านซื้อตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต เพราะคะแนนจากเขตเป็นปัจจัยที่จะตัดสินว่าพรรคนั้นจะได้ที่นั่งทั้งหมดเท่าไหร่ พรรคก็ไม่มีเหตุผลที่จะสร้างนโยบาย เพราะการเลือกตั้งถูกตัดสินกันที่ตัวบุคคล การเมืองบนฐานตัวบุคคลจะกลับมา เจ้าพ่อเจ้าแม่ก็จะกลับมา การซื้อเสียงมีแนวโน้มสูงขึ้น ประชาชนไม่มีตัวเลือกเชิงนโยบาย พรรคการเมืองก็จะยิ่งอ่อนแอ

 

ในงานวิจัย อาจารย์วิเคราะห์ว่า ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมหลังปี 2560 เป็นระบบที่ให้โบนัสกับคนแพ้ เอื้อกับพรรคขนาดกลาง และลงโทษพรรคอันดับหนึ่ง พรรคขนาดกลางก็จะมีอำนาจต่อรองในรัฐบาลสูง ขณะที่พรรคเล็กยิ่งเสียเปรียบ เพราะต้องส่งส.ส.เขต ถึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ถ้าดูตามกติกาของรัฐธรรมนูญใหม่ จะเห็นว่าในทางปฏิบัติแล้ว พรรคเล็กๆ แทบไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากเลย เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคเล็กจะไปหาผู้สมัครมาลงในนามพรรคได้

ถ้าเราจะลองประมาณการผลการเลือกตั้งตามระบบเลือกตั้งใหม่ โดยใช้ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 เป็นฐานคิด จะพบว่า พรรคภูมิใจไทยที่ได้คะแนน ส.ส.เขตทั้งประเทศประมาณ 3.5 ล้านเสียง คิดเป็น 11% ของคะแนนทั้งหมด จะได้รับการจัดสรร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ 26 ที่นั่ง ซึ่งมากกว่าพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนเสียง 14 ล้านเสียงทั่วประเทศ คิดเป็น 45% ของคะแนนทั้งหมด แต่กลับได้รับการจัดสรร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อเพียง 21 ที่นั่งเท่านั้น ตรงนี้ชัดเจนว่าพรรคขนาดกลางได้ประโยชน์มาก คำถามคือระบบเลือกตั้งแบบนี้เป็นภาพสะท้อนเจตนารมน์ของประชาชนจริงหรือไม่ ที่นั่งที่พรรคขนาดกลางได้ สมควรจะได้หรือเปล่า

 

 

นอกเหนือจากระบบเลือกตั้งแล้ว เข้าใจว่าในแต่ละเขต พรรคจะได้รับหมายเลขในบัตรเลือกตั้งแตกต่างกันไปด้วย เช่น ในอดีตพรรคเพื่อไทยได้เบอร์ 1 ก็จะเป็นเลขเดียวกันทั้งประเทศ แต่ครั้งนี้หมายเลขของพรรคในแต่ละเขตจะต่างกันออกไป

สิ่งที่จะตามมาก็คือความเป็นพรรคการเมืองในการหาเสียงจะหายไปเลย แต่จะเป็นการเน้นตัวบุคคลมากขึ้นกว่าเดิม พรรคการเมืองจะหาเสียงในเชิงนโยบายหรือเชิงองค์กรได้ยากขึ้น

 

การเลือกตั้งขั้นต้นจะทำงานอย่างไรในสังคมไทย (ผู้ชมทางบ้าน ถาม) 

ดิฉันสนับสนุนการเลือกตั้งขั้นต้น แต่ในกรณีประเทศไทย เกณฑ์ที่กำหนดไว้สามารถระดมคนมาเลือกได้ เพราะกำหนดไว้แค่ให้คนหนึ่งร้อยคนมีส่วนร่วมในพื้นที่ที่มีสาขาพรรค ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีสาขาพรรคกำหนดไว้แค่ห้าสิบคนเท่านั้น ดังนั้น ตัวแทนพรรคอาจจะมาจากคนแค่ห้าสิบคนเท่านั้นเอง คงเรียกไม่ได้เต็มปากว่านี่คือการเลือกตั้งขั้นต้น

ในสภาพที่เป็นอยู่ พรรคเล็กๆ จะมีปัญหามาก เพราะไม่มีเงิน ไม่มีสถานที่ แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังกังวลเลยว่าจะเอาเงินจากไหนมาจัดเลือกตั้งขั้นต้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะภาระทางการเงินตกอยู่ที่พรรค

การเลือกตั้งขั้นต้นต้องมีความพร้อม ประเทศที่ทำการเลือกตั้งขั้นต้นได้ คือประเทศที่พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันอยู่แล้ว มีสมาชิกและสาขาพรรคอยู่แล้ว ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะจัดให้มีเลือกตั้งขั้นต้น แต่พรรคการเมืองยังทำงานไม่ได้ ถ้าพรรคการเมืองไทยมีความต่อเนื่อง เป็นองค์กรที่มีประวัติยาวนาน เชื่อมโยงกับประชาชนในระดับหนึ่ง มีสมาชิกพรรค มีสาขาพรรค การทำเลือกตั้งขั้นต้นจะเป็นเรื่องที่ดี

ทำไมพรรคการเมืองไทยไม่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง? ก็เพราะเรายุบพรรคบ่อย อย่างตอนนี้มี พ.ร.บ.พรรคการเมืองแล้วก็จริง แต่ก็ยังไม่ปลดล็อก คุณต้องให้โอกาสพรรคเล็กเกิดใหม่ก่อร่างสร้างตัว แต่นี่ยังจดทะเบียนไม่ได้ด้วยซ้ำ

ในหลายประเทศ รัฐจะให้การสนับสนุนการเลือกตั้งขั้นต้น แต่ของไทยให้พรรคจัดการกันเอง ฐานคะแนนเสียงหรือฐานเงินของพรรคต่างๆ ก็ไม่ค่อยมีอยู่แล้ว การนำกติกาเหล่านี้มาใช้กับการเมืองไทยเลยค่อนข้างฝันเฟื่อง

 

ประชาชนอัดอั้นไม่ได้เลือกตั้งมานาน ในการเลือกตั้งปีหน้า คนที่ออกไปใช้สิทธิ์จะส่งเสียงแสดงพลังอะไรออกมาบ้าง

ประชาชนน่าจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมาก ส่วนพฤติกรรมจะเป็นแบบไหน น่าจะอยู่ที่เงื่อนไขของกติกาที่ถูกกำหนดมา คิดว่า ส.ส.เขตน่าจะแข่งขันกันค่อนข้างเข้มข้น แต่อิทธิพลของพรรคการเมืองน่าจะยังมีอยู่

อาจต้องจับตาดูช่วงก่อนหน้าเลือกตั้งด้วยว่า จะมีประเด็นอื่นมาแทรกหรือไม่ เช่น การเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง คือให้ทุกพรรคจดทะเบียนใหม่หมด หมายความว่าสมาชิกพรรคเดิมที่เป็นตัวผู้สมัครอาจจะย้ายพรรคได้

ตัวบุคคลจะมีความสำคัญ คนก็จะเลือกจากประวัติและผลงานของผู้สมัครในอดีตว่า ส.ส.คนนี้เคยลงมาคลุกคลีกับประชาชนหรือเปล่า ช่วงนี้แม้จะไม่มีกิจกรรมในนามพรรคการเมือง แต่ ส.ส.ทุกคนก็ยังคงทำงานในพื้นที่อยู่ สุดท้ายจึงขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนจะดึง ส.ส.ให้ไปอยู่กับตัวเองได้มาก และจะโน้มน้าวกันด้วยอะไร เงินหรือกำลังบังคับ

นอกจากนั้น ต้องคอยจับตาดูกันว่าระบบเลือกตั้งใหม่นี้จะทำให้พรรคกลายเป็นพรรคเบี้ยหัวแตก เหมือนสมัยก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือไม่

 

ทำไมวาทกรรมไม่เอาเลือกตั้งถึงขายได้เกินคาดในสังคมไทย ถ้าจะข้ามผ่านวาทกรรมเหล่านี้ได้ แต่ละฝ่ายต้องปรับตัวอย่างไร

วาทกรรมไม่เอาเลือกตั้งอยู่ได้เพราะสื่อกระแสหลักโหมมัน แต่เชื่อว่าประชาชนทั่วไป เอาเลือกตั้ง มิฉะนั้นที่ผ่านมาคนคงไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสูงขนาดนั้น ดิฉันเชื่อว่าคนไปเพราะสมัครใจ ไม่ได้ไปเพราะถูกบังคับ แม้รัฐธรรมนูญกำหนดว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ แต่เราไม่ได้มีระบบลงโทษแต่อย่างใด ไม่ได้ปรับเงินสูงๆ ไม่มีเงินจ่ายต้องเข้าคุก แบบออสเตรเลีย

วาทกรรมไม่เอาเลือกตั้งถูกใช้ในพื้นที่ของชนชั้นนำทางการเมืองมากกว่า แต่ดิฉันเชื่อว่ามันสู้ความโหยหาการเลือกตั้งไม่ได้ ถึงเวลาจริงๆ คนก็จะออกไปใช้สิทธิ์อยู่ดี เพราะเขารู้ว่าถ้าไม่ออกไป คนที่ไม่ชอบอาจจะเข้ามา

เหตุผลที่หลายคนไม่ไปเลือกตั้งเป็นเพราะไม่มีพรรคการเมืองในดวงใจ ซึ่งมันสะท้อนว่าพรรคการเมืองไม่ได้ปรับตัวที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงของคนในสังคม ซึ่งก้าวไปไกลกว่าพรรคแล้ว คนไทยคาดหวังไกลกว่าสิ่งที่พรรคการเมืองเสนอ ทุกวันนี้คนอยากได้นโยบายที่ไม่ได้เป็นเชิงประชานิยม แต่เป็นนโยบายเกี่ยวกับการกระจายรายได้ หรือนโยบายในเชิงโครงสร้างที่ลดการเกาะกุมอำนาจในกลุ่มชนชั้นนำด้วยซ้ำไป

ที่สำคัญคือเขาอยากได้พรรคที่เสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมในระยะยาว ไม่ได้ให้เฉพาะผลประโยชน์ในระยะสั้น แต่ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนที่ก้าวทันความต้องการของคนรุ่นใหม่เลย นี่คือเรื่องใหญ่ที่พรรคการเมืองต้องปรับ

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือรัฐธรรมนูญต้องสร้างกลไกการตรวจสอบชนชั้นนำที่มาจากการเลือกตั้งให้มากกว่านี้ ส่วนองค์กรที่จะมาตรวจสอบก็ควรจะยึดโยงกับประชาชนและฟังเสียงประชาชนเป็นหลักด้วย

ปัจจุบันเราปฏิรูประบบเลือกตั้งโดยลดทอนอำนาจประชาชนลงมา และปฏิรูปการเมืองโดยเอาประชาชนออกจากระบบการเมือง ซึ่งไม่ใช่ทิศทางที่ควรจะเป็น

 

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า สถานการณ์การซื้อเสียงจะเป็นอย่างไร และภาคไหนของประเทศไทยจะเป็นจุดเปลี่ยนเกมการเลือกตั้ง (ศุภวิชญ์ ถาม)

การซื้อเสียงจะเข้มข้นมากขึ้น เพราะระบบเลือกตั้งใหม่เน้นไปที่ตัวบุคคล ส่วนภาคที่จะเปลี่ยนเกมการเลือกตั้งน่าจะเป็นภาคกลาง ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา คะแนนในหลายจังหวัดใกล้เคียงกันมาก พื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง เช่น นครนายก กาญจนบุรี นครสวรรค์ และบางเขตในกรุงเทพฯ มีคะแนนห่างกันแค่หลักร้อยเท่านั้นเอง

พื้นที่ภาคกลางเคยเป็นฐานเสียงของพรรคชาติไทย(พัฒนา) ซึ่งคุณบรรหารเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนพรรคในพื้นที่เหล่านี้ แต่ตอนนี้คุณบรรหารเสียชีวิตแล้ว พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นพื้นที่เปิด ต่างจากภาคใต้ที่เป็นของพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่อาจมีพรรคอื่นเข้ามาสอดแทรก ภาคเหนือกับภาคอีสานก็คงไม่ได้เปลี่ยนมากนัก แต่ภาคกลางจะเป็นพื้นที่ที่เปลี่ยนตัวเลขในสภาได้อย่างมาก

 

เราสามารถเอาเงินที่ กกต. ใช้ในส่วนเลือกตั้งไปจ่ายให้ประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นรายหัวได้ไหม ถือเป็นค่าแรงที่ต้องหยุดงานไปเลือกตั้ง (ธิติ ถาม) 

คงไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถจ่ายเงินให้ใครไปเลือกตั้งได้ แต่โจทย์สำคัญอยู่ตรงที่การทำให้ต้นทุนของการลงคะแนนลดลง

ประเทศไทยกำหนดให้คนต้องไปเลือกตั้งในพื้นที่ตามทะเบียนบ้าน แต่คนจำนวนมากทำงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมตามจังหวัดต่างๆ หรือไม่ก็เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ทำไมเราไม่ให้พวกเขาเลือกตั้งในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ บางคนรู้จักพื้นที่ทำงานมากกว่าภูมิลำเนาบ้านเกิดเสียอีก ด้วยข้อกำหนดเช่นนี้ จึงทำให้เราไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นตัวแทนของคนที่เข้ามาทำงานในเมือง คนเหล่านี้ต้องกลับไปเลือกตั้งในเขตชนบท เราจึงเห็นแต่นโยบายเชิงเกษตรกรรม แต่ไม่เห็นนโยบายเชิงแรงงาน เพราะเราไม่ปลดปล่อยให้เขาเลือกตั้งในพื้นที่ทำงานได้

ถ้าประชาชนสามารถเลือกตั้งในพื้นที่ทำงานได้ ต้นทุนในการเลือกตั้งก็ลดลง การแข่งขันเชิงนโยบายก็จะสนุกและหลากหลายขึ้น ควรมีการปลดล็อกในเรื่องนี้

 

การเลือกตั้งเช่นนี้จะส่งผลต่อความสามารถของรัฐบาลในการนำนโยบายไปปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน รัฐบาลจะมีเสถียรภาพภายใต้เงื่อนไขแบบไหน (ผู้ชมทางบ้าน ถาม) 

รัฐบาลใหม่อาจถูกกดดันหรือบีบคั้นโดยยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลัก หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ตัวรัฐบาลไม่น่าจะมีประสิทธิภาพในการบริหารมากนัก เพราะมีองค์กรครอบงำ ทำให้องค์กรที่มาจากประชาชนไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เราเคยผ่านบรรยากาศแบบนี้มาแล้วในอดีต ก็คงต้องอยู่แบบนี้ไปสักระยะหนึ่งแล้วค่อยๆ หาทางเปลี่ยนมันไป

แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นไปได้เหมือนกันว่า จะเกิดกระแสกดดันให้พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยร่วมมือกันโหวตให้นายกรัฐมนตรีที่ผ่านการเลือกตั้ง เพื่อรักษาระบบและเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน

หากเป็นแบบนั้น ใครจะรู้ว่ากลไกในรัฐธรรมนูญที่อุตส่าห์ร่างมาอาจพังทลายลงด้วยพลังทางสังคมก็ได้ ดิฉันคิดว่าก่อนการเลือกตั้งอาจจะมีบรรยากาศแบบนี้ ประชาชนน่าจะหาวิธีเอาชนะกลไกที่ผู้มีอำนาจออกแบบมาให้ได้

 

สมมติว่าประเทศไทยมีการเลือกตั้งจริงๆ แต่การต้องเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไขที่ถูกกำหนดโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร จะนำไปสู่พัฒนาการประชาธิปไตยได้จริงหรือ (กฤดิกร ถาม) 

ดิฉันเชื่อว่า ทุกการเลือกตั้งจะมีผลในเชิงบวกทั้งนั้น ต่อให้เป็นการเลือกตั้งภายใต้เผด็จการก็ตาม เพราะการเลือกตั้งจริงๆ ไม่ใช่แค่ตัวการเลือกตั้ง แต่เป็นการแสดงออกและขับเคลื่อนพลังของประชาชน ที่สำคัญ เราไม่มีทางรู้เลยว่าหลังเลือกตั้ง อำนาจของคนที่เคยครองอำนาจมาจะยังเข้มแข็งอยู่หรือเปล่า โดยส่วนตัว ดิฉันเชื่อว่ามันจะสั่นคลอน สิ่งที่คิดว่าจะคุมได้ จะคุมไม่ได้ง่ายๆ เหมือนที่เคยเป็นมา

การเลือกตั้งไม่เหมือนกับการลงประชามติ เพราะมันปล่อยให้นักการเมืองเป็นพันๆ คนได้มีพื้นที่สนทนากับประชาชน นี่คือพลังที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ผลการเลือกตั้งอาจไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวัง แต่ดิฉันเชื่อว่ามันคือขั้นตอนการพัฒนาไปสู่เป้าหมายระยะยาว ดิฉันเชื่อในการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เชื่อว่าพลังเหล่านี้จะค่อยๆ เปลี่ยนประเทศ

ประเทศไต้หวันกับเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของรัฐที่เลือกตั้งภายใต้ระบอบอำนาจนิยม จนพลังประชาชนผลักดันให้พรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้ง สามารถเปลี่ยนผ่านจากอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จผ่านการเลือกตั้งทีละเล็กทีละน้อย ดังนั้นจะเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือของประชาชน การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากการเลือกตั้ง

แน่นอนว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ประเทศไทยคงเป็นรัฐลูกผสมอยู่ดี เราจะยังไม่เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมหรอก และยังห่างไกลจากการจรรโลงประชาธิปไตยให้ตั้งมั่น แต่สิ่งสำคัญคือถ้าไม่มีการเลือกตั้งเลย เราจะไม่ได้แม้แต่นับหนึ่ง และจะยิ่งถอยหลังกลับไปเรื่อยๆ

 


หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “อ่านเลือกตั้ง 2561” ฉบับเต็ม โดย สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ทาง The101.world

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save