fbpx
พรรคคอมมิวนิสต์จีน: 100 ปี ของแมวเปลี่ยนสี

พรรคคอมมิวนิสต์จีน: 100 ปี ของแมวเปลี่ยนสี

พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะฉลองใหญ่ครบรอบ 100 ปี ในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 นี่เป็นพรรคการเมืองที่ครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก แถมเป็นการครองอำนาจในประเทศที่มีจำนวนประชากร 1 ใน 5 ของประชากรโลก

มีคนพูดทีเล่นทีจริงว่า ถ้าประธานเหมาตื่นขึ้นมาวันนี้จะต้องอกแตกตายเป็นแน่ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนแปลงโฉมจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม พรรคคอมมิวนิสต์จีนเปลี่ยนแนวทางมาแล้วไม่รู้กี่รอบ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ การรักษาอำนาจการปกครอง

จากจุดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1921 คณะผู้ก่อตั้งพรรคตั้งใจให้เป็นพรรคกรรมาชีพของชนชั้นแรงงานที่ถูกกดขี่ในเขตเมือง ต่อมาเหมาเจ๋อตงปรับเป็นพรรคลัทธินิยมของชาวนาและปฏิวัติล้มล้างพรรคก๊กหมินตั๋งที่ครองอำนาจในจีนในขณะนั้นได้สำเร็จ พอประธานเหมามรณภาพ พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็พลิกโฉม 360 องศา กลายมาเป็นพรรคเศรษฐกิจนิยมที่ส่งเสริมผู้ประกอบการและภาคเอกชนในยุคของเติ้งเสี่ยวผิง จนมาถึงพรรคชาตินิยมของผู้รักชาติและปรารถนาจะเห็นจีนขึ้นมายิ่งใหญ่ในยุคของสีจิ้นผิง

คำอธิบายที่แพร่หลายในจีนมักบอกว่า ช่วงประธานเหมาเป็นช่วงที่จีน ‘ยืนขึ้น’ คือเลิกล้มลุกคลุกคลาน เลิกแตกแยก ดังที่ประธานเหมาประกาศก้องในวันก่อตั้งประเทศที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ช่วงของเติ้งเสี่ยวผิงเป็นช่วงที่จีน ‘รวยขึ้น’ ให้คนจีนอยู่ดีกินดี เลิกอดอยาก ช่วงของสีจิ้นผิงต่อจากนี้จะเป็นยุคที่จีน ‘แข็งแกร่งขึ้น’ คือก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจได้อย่างสมภาคภูมิ

แต่ละช่วงกินเวลาราว 30 ปี พอดีด้วยนะครับ ช่วงก่อนที่พรรคจะชนะสงครามกลางเมืองก็ราว 30 ปี (ค.ศ. 1921-1949) ช่วงประธานเหมาครองอำนาจก็ 30 ปี (ค.ศ. 1949 – 1976) ตั้งแต่เติ้งเสี่ยวผิงเริ่มเปิดและปฏิรูปประเทศ รวมผู้นำรุ่นถัดมาที่สืบทอดเจตนารมณ์ของเติ้งอีก 2 คน ก็ราว 30 ปี (ค.ศ. 1979 – 2009) จนสีจิ้นผิงเริ่มขึ้นมาครองอำนาจในปี ค.ศ. 2013 โดยเขาประกาศเปิดศักราชยุคใหม่ เทียบชั้นตนเองกับประธานเหมาและเติ้ง 

ประวัติศาสตร์ 100 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ผ่านมา ไม่ได้มีแต่ภาพความสำเร็จราบรื่น เพราะความผิดพลาดและบาดแผลก็มีไม่น้อย มีทั้งที่จีนเองยอมรับและที่พยายามลืม ถ้าจะวิจารณ์จัดหนักพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็อาจต้องบอกว่า นี่เป็นพรรคการเมืองที่ทำผิดพลาดมากที่สุดพรรคหนึ่งในการปกครองประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่ล้มเหลวในช่วง 30 ปี ที่ประธานเหมาครองอำนาจ ตั้งแต่นโยบายเศรษฐกิจของประธานเหมาที่ชื่อว่า ‘ก้าวกระโดดไกล’ อันประกอบด้วยการสร้างคอมมูนและการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก ส่งผลให้เกิดความอดอยากล้มตายมหาศาลในชนบทจีน ตามมาด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรมอันโหดร้ายและเป็นแผลลึกฝังใจชาวจีนมาจนถึงปัจจุบัน จนมาถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมินที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปราบปรามผู้ชุมนุมที่เห็นต่าง จนวันนี้พรรคเองก็พยายามลืมการมีอยู่ของเหตุการณ์ดังกล่าว

แต่ในอีกด้านของเหรียญ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ของตะวันตกต่างก็เห็นตรงกันว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคการเมืองที่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดได้เก่งที่สุด และเรียนรู้จากความผิดพลาดของตน เพื่อรักษาความนิยมและอำนาจ ความอดอยากและความวุ่นวายในยุคเหมากลายมาเป็นพลังปลดปล่อยการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคเติ้ง ส่วนในด้านการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้มีการปฏิรูปการเปิดกว้างภายในพรรค แตกต่างคนละเรื่องจากระบบผู้นำเดี่ยวในยุคเหมา เพียงแต่ไม่ได้ปฏิรูปไปในแนวทางเสรีนิยมหรือเดินไปสู่การเลือกตั้งอย่างที่ตะวันตกคาดหวัง

พรรคคอมมิวนิสต์จีนวันนี้ยังมีลักษณะโดดเด่นอีกข้อ คือเป็นพรรคเทคโนโลยีนิยม หรืออาจเรียกว่าเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ไฮเทค คนละเรื่องกับพรรคชาวนาของประธานเหมาในยุคป่าล้อมเมือง ที่เคยใช้ปากกระบอกปืนกุมอำนาจการปกครอง

วันนี้จีนใช้เทคโนโลยี 5.0 ในการรักษาอำนาจ และสร้างประสิทธิภาพในการตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินโลก และผู้ก่อตั้ง Open Society Foundation ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ได้เคยกล่าวในงาน World Economic Forum ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของโลกเสรีนิยม เพราะเป็นการปกครองเผด็จการด้วยเทคโนโลยีไฮเทค จึงไม่พังง่ายๆ

ในทางรัฐศาสตร์ การรักษาอำนาจและความนิยมด้วยเทคโนโลยีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนท้าทายกรอบคิดทฤษฎีเดิม แม้ว่าจีนจะไม่มีการเลือกตั้ง แต่พรรคเข้าใจกระแสสังคมจากการวิเคราะห์โซเชียลมีเดีย สามารถควบคุมกระแสสังคมด้วยเกรทไฟล์วอลและกองทัพนักโพสต์ของรัฐ บริหารจัดการเศรษฐกิจสังคมด้วยการใช้ประโยชน์จาก Big Data ในด้านต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาระบบคะแนนจิตพิสัยสังคมหรือโซเชียลเครดิตในการควบคุมความประพฤติของพลเมือง ทั้งหมดนี้ภายใต้ความนิยมที่สูงยิ่งของประชาชนจีน

สำหรับงานฉลอง 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนกรกฎาคมนี้ นักวิเคราะห์ยังมองว่า จะเป็นการปูทางให้สีจิ้นผิงก้าวเข้าสู่วาระที่ 3 ของการดำรงตำแหน่งเบอร์ 1 ของพรรค ซึ่งจะเป็นการฉีกกฎการเมืองในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมา ที่ผู้นำจีนจะดำรงตำแหน่งเพียงสองวาระ หรือ 10 ปี เท่านั้น

ในช่วงปลาย ปี ค.ศ. 2022 จะมีการประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อกำหนดทีมผู้นำรุ่นใหม่ จากกระแสในปัจจุบัน สีจิ้นผิงดูเหมือนจะต้องการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดต่อไป โดยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เขาได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อส่งสัญญาณไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (เบอร์ 2 ของพรรค) จะมีการเปลี่ยนแปลงตัวแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญยังจำกัดผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่สองวาระหรือ 10 ปี จึงน่าติดตามว่าใครจะขึ้นมาเป็นนายกฯ แทนหลี่เค่อเฉียง และผู้ที่จะขึ้นมาแทนนั้นเป็นขั้วเดียวกับสีจิ้นผิง ซึ่งจะสะท้อนว่าสีจิ้นผิงรวบอำนาจได้เบ็ดเสร็จ หรือจะเป็นคนละขั้วกัน ซึ่งจะสะท้อนว่า ยังคงมีการถ่วงดุลและรักษาสมดุลในการเมืองจีนอยู่ระดับหนึ่ง

หากประวัติศาสตร์ 100 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์สอนอะไรเราเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในอนาคตของการเมืองจีน ผมคิดว่ามีอย่างน้อยสองข้อครับ

ข้อแรก คือ อย่าคิดว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเนื้อเดียว ภายในพรรคแต่ไหนแต่ไรมาก็แบ่งเป็นสองขั้ว คือ ขั้วอนุรักษนิยม และขั้วหัวก้าวหน้า

ขั้วอนุรักษนิยมของจีนเชื่อมั่นในการรวมศูนย์อำนาจของพรรค ต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง ศรัทธาในพลังของรัฐวิสาหกิจและการอุดหนุนแทรกแซงเศรษฐกิจของรัฐ ส่วนขั้วหัวก้าวหน้าเชื่อในการกระจายอำนาจ การบริหารเป็นทีม พลังของภาคเอกชนและกลไกตลาด และการให้คุณค่ากับวัฒนธรรมเสรีมากยิ่งขึ้น

ข้อสอง คือ ประวัติศาสตร์ 100 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเต็มไปด้วยเซอร์ไพรส์ทางการเมือง ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของประธานเหมา ถ้าไปถามผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนทุกคน จะไม่มีใครมองเห็นโอกาสที่จีนจะเปลี่ยนแบบกลับหลังหันมาเปิดประเทศและค้าขายแบบทุนนิยมดังที่เกิดขึ้นต่อมาในยุคเติ้งเสี่ยวผิงได้

เช่นเดียวกัน ในยุคเติ้งเสี่ยวผิง หลายคนก็นึกว่าจีนกำลังก้าวไปในทิศทางเสรีนิยมและหัวก้าวหน้าภายใต้การนำของจ้าวจื่อหยาง มือขวาหัวปฏิรูปของเติ้งเสี่ยวผิง แต่สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมิน และพลิกขั้วกลับมาอยู่ใต้การนำของกลุ่มอนุรักษนิยมที่อยากให้จีนเปิดประเทศให้ช้าลง แต่แล้วผ่านไปไม่นาน ก็พลิกขั้วกลับไปที่กลุ่มหัวก้าวหน้าที่เดินหน้าเปิดประเทศต่อ ผลักดันการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ จนจีนมีแนวโน้มเสรีนิยมมากขึ้นในยุคประธานาธิบดีหูจินเทา ก่อนจะพลิกขั้วกลับมาเป็นชัยชนะของฝั่งอนุรักษนิยมอีกครั้งในยุคของสีจิ้นผิง

คงไม่ใช่ทุกคนในพรรคที่เห็นด้วยกับทิศทางที่สีจิ้นผิงเลือกเดินในปัจจุบัน อดีตนายกฯ เวินเจียเป่า ซึ่งเป็นนายกฯ ในยุคประธานาธิบดีหูจินเทา และมักถูกมองว่าอยู่ในฝั่งหัวก้าวหน้า เพิ่งเขียนบทความงานศพมารดาลงในหนังสือพิมพ์มาเก๊าเมื่อเดือนเมษายน โดยระลึกถึงคำสอนของมารดาและกล่าวถึงความฝันว่าจีนจะเป็นสังคมที่เท่าเทียม ยุติธรรม เสรี และเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ นักวิจารณ์การเมืองจีนในต่างประเทศล้วนมองว่าบทความของเวินเจียเป่ามีความหมายแฝงวิจารณ์การปกครองที่อำนาจนิยมมากขึ้นของสีจิ้นผิงในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา

แม้ว่าความคิดของคนจีนไม่น้อยในปัจจุบันจะมีลักษณะไปในแนวทางอนุรักษนิยมและชาตินิยมมากขึ้น มีเสียงสนับสนุนให้สามัคคีกันภายใต้ผู้นำที่แข็งแกร่งเพื่อเผชิญแรงกดดันรอบด้าน ความสำเร็จในการจัดการโควิดทำให้เกิดความคิดว่าระบบของจีนมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าและชอบธรรมไม่แพ้ตะวันตก พร้อมกันนั้น กระแสรักชาติและต่อต้านตะวันตกในสังคมจีนก็โหมแรงขึ้นตามความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับจีนที่เผชิญหน้ากันไม่หยุดหย่อน

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีงานวิชาการที่สำรวจความเห็นและค่านิยมทางการเมืองของคนจีนรุ่นใหม่ พบว่าคนจีนรุ่นใหม่มีแนวโน้มศรัทธาคุณค่าตามแนวทางของกลุ่มหัวก้าวหน้ามากกว่ากลุ่มอนุรักษนิยมของพรรค แม้ความคิดหัวก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่จะเน้นไปที่สังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นภายใต้ระบบเดิม โดยไปไม่ถึงการเรียกร้องให้มีหลายพรรคการเมืองหรือการเลือกตั้งก็ตาม

ศิลปะและภารกิจทางประวัติศาสตร์ของผู้นำจีนอาจอยู่ที่การรักษาสมดุลระหว่างสองขั้วการเมือง เพราะประวัติศาสตร์ 100 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสะท้อนว่า เมื่อใดที่จีนเสียสมดุลหมุนเกินไปในทิศของขั้วหนึ่ง ก็พร้อมจะดีดตัวกลับไปอีกขั้วแบบเซอร์ไพรส์โลกได้เช่นเดียวกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save