fbpx
หาคำตอบในหลุมดำการเลือกตั้ง 62 กับ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

หาคำตอบในหลุมดำการเลือกตั้ง 62 กับ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

วันที่ 24 มี.ค. 2562 น่าจะเป็นการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดความคลางแคลงใจถึงความโปร่งใสในการจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่ กกต. ใช้ระบบรายงานผลผ่านแอปพลิเคชันที่สร้างความเข้าใจว่าจะช่วยเพิ่มความโปร่งใส ความรวดเร็ว และความแม่นยำในการรายงานผลการเลือกตั้ง

แต่สิ่งที่ประทับอยู่ในความทรงจำของคนทั่วไปถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ มีแต่ความคลุมเครือ ทั้งเรื่องบัตรเขย่ง คะแนนที่ขึ้นๆ ลงๆ อย่างน่าสงสัย ผลโหวตที่มากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิในบางเขต การรายงานผลเลือกตั้งล่าช้า การหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามถึงปัญหาต่างๆ ของกกต.

คำถามมากมายถาโถมมาควบคู่กับความไม่พอใจของประชาชน ที่สุดแล้วประเทศไทยก็เดินหน้าต่อไปด้วยความงุนงง มีการจัดตั้งรัฐบาลและได้นายกฯ คนเดิมที่เคยทำรัฐประหาร ตามมาด้วยประเด็นการย้ายฝั่งของส.ส.งูเห่า เศรษฐกิจแย่ ฝ่ายค้านถูกยื่นยุบพรรค ม็อบต่อต้านรัฐบาล ฯลฯ ทำให้คนไทยต้อง ‘มูฟออน’ ความสนใจไปรับมือกับปัญหาใหม่ๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมีผลมาจากระบบเลือกตั้งที่ถูกเขียนภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหาร อันนำไปสู่เหตุการณ์ในวันที่ 24 มี.ค.

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จึงนำทีมร่วมกับ โครงการ ELECT หาคำตอบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้งและช่วงการประกาศคะแนน จนออกมาเป็นรายงาน ‘คะแนนที่ถูกจัดการ’ ที่นำไปสู่ข้อสังเกตถึงความผิดปกติในการเลือกตั้งและสามารถเชื่อได้ว่ามีการนำข้อมูลผลคะแนนไปจัดการก่อนจะส่งต่อไปยังสื่อต่างๆ ที่รายงานสด ไม่ใช่การรายงานผลจากแอปพลิเคชันแบบ ‘เรียลไทม์’ อย่างที่เข้าใจกัน

ยิ่งชีพ อธิบายประเด็นสำคัญที่เขาค้นพบผ่านวิดีโอ เช่น การพบว่าระบบรายงานสดไม่ได้รายงานคะแนนของผู้สมัครทุกลำดับมาตั้งแต่แรก, การปรับลดคะแนนของผู้สมัครที่ไม่มีคำอธิบาย, ความผิดปกติระหว่างการรายงานคะแนน 94% และ 100%

เขายอมรับว่ายังไม่พบข้อมูลแน่ชัดว่ามีการโกงเลือกตั้ง แต่พบความผิดปกติจำนวนมากที่อยากชวนให้ทุกคนเข้ามาช่วยกันดูคะแนนในพื้นที่ตัวเอง หรือดูข้อมูลภาพรวมที่เขาทำไว้เผื่อจะเห็นประเด็นใหม่ๆ

“ข้อมูลในรายงานนี้อยู่ในมือสื่อมวลชนทุกสำนักมาตั้ง 7-8 เดือน แต่ก็ไม่มีใครหยิบเอามาพูด…หน้าที่ของผมก็แค่เป็นคนแรกที่ไปหยิบไปคุ้ยข้อมูลชุดนี้ออกมา แล้วโยนมันออกไป”

คงไม่ใช่แค่การจับผิด สิ่งที่น่าคิดคือเราปล่อยผ่านการเลือกตั้งที่มีคำถามมากมายขนาดนี้ไปโดยไม่มีการทบทวนหาความจริง อย่างน้อยการหยิบประเด็นนี้กลับมาพูดถึงกันอีกครั้งก็เพื่อทบทวนผลเลือกตั้งที่ทำให้เราตกอยู่ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันและเตรียมรับมือกับการเลือกตั้งครั้งต่อไป

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

iLaw เริ่มต้นมาทำรายงานฉบับนี้ได้อย่างไร

การที่ iLaw มาทำงานเรื่องเลือกตั้งไม่ได้ตั้งใจจะจับตาหรือจับโกงการเลือกตั้ง เพราะไม่ใช่ชุดความรู้ที่เราถนัด แต่เราต้องการอธิบายให้คนเข้าใจว่ากติกาเลือกตั้งใหม่เป็นยังไง ระบบเลือกตั้งเป็นยังไง เลือกตั้งไปแล้วจะได้อะไร นำไปสู่อะไร ถ้าประยุทธ์ชนะประเทศจะเป็นแบบนี้ ถ้าประยุทธ์แพ้ประเทศจะเป็นแบบนี้ ส่วนคนจะเลือกอะไรนั้นก็แล้วแต่เขา

ระบบเลือกตั้งทั้งหมดถูกออกแบบมาเพื่อให้ประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่ไม่รู้ว่าเขาจะใช้กลไกไหนบ้าง ตอนแรกคิดว่าจะใช้การตัดสิทธิการเป็นส.ส. การให้ใบดำ-ใบแดง การกล่าวหาว่าโกงเลือกตั้ง ตีความคุณสมบัติว่าขัดต่อมาตรฐานจริยธรรม แต่ปรากฏว่าคิดผิด กลไกพวกนี้ถูกใช้น้อยมาก

เรารู้อยู่แล้วว่าการเลือกตั้งนี้ไม่ปกติ เพราะ คสช. คุมเกมไว้แต่แรก แต่ไม่รู้ว่ามันจะไม่ปกติยังไง คิดแค่ว่าจะเป็นเรื่องกลไกทางกฎหมาย แต่ปรากฏว่ามีสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์มาก่อนเกิดขึ้นเยอะเกินไป ดูผลการเลือกตั้งก็รู้แล้วว่าไม่ปกติ คะแนนไม่ถูกรายงานตามปกติ สุดท้ายพลังประชารัฐก็ได้คะแนนถล่มทลาย เยอะกว่าที่ทุกคนคาดการณ์

เราติดใจว่าเกิดอะไรขึ้นในคืนวันที่ 24 มี.ค. 2562 หลังเลือกตั้งก็มีเรื่องวุ่นวายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ใครจะแย่งกันจัดตั้งรัฐบาล สองสัปดาห์แรกฝ่ายค้านได้ ส.ส. เยอะกว่า ตอนนั้นก็รอดูว่าฝ่ายรัฐบาลจะเล่นเกมไหน จากนั้นสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์เปลี่ยน ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. ทีม iLaw ไม่ได้พักเลย เรารู้แล้วว่าคืนวันที่ 24 มีปัญหาบางอย่าง แต่ไม่สามารถแบ่งกำลังมาดูได้ ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรามีข้อมูลอะไรบ้าง แต่คิดว่าสิ่งหนึ่งที่จะทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสคือการเปิดเผยคะแนนรายหน่วย เราจึงรณรงค์เรื่องนี้ แต่ กกต. ก็ไม่ได้เปิดเผยคะแนนรายหน่วย พรรคอนาคตใหม่ไปขอคะแนน เขาก็ไม่ให้ เลยไม่รู้จะทำยังไง

 

ช่วงเลือกตั้ง เว็บไซต์ vote62.com ชวนคนถ่ายรูปคะแนนหน้าแต่ละหน่วยเลือกตั้งเพื่อรวมข้อมูลเทียบกับของกกต. ข้อมูลนี้ได้ถูกนำมาใช้ไหม

เป็นอีกเรื่องที่ไปลงแรงกันแต่ได้ข้อมูลไม่ครบ เรามีข้อมูลแค่ 5% ของ 9 หมื่นหน่วยเลือกตั้งในประเทศไทย และไม่มีเขตไหนที่ได้มาแบบสมบูรณ์ถึงขนาดเอาไปตรวจสอบกับทางกกต.ได้ ก็เสียเวลากับรูปถ่ายพวกนั้นอยู่พักหนึ่ง

เราเลยคุยกับ ELECT ขอข้อมูลไทม์ไลน์คะแนนที่ กกต. รายงานต่อสาธารณชนจากเขา ซึ่งในเว็บไซต์ ELECT มีฟังก์ชันหนึ่งที่จะเห็นจำนวน ส.ส. วิ่งขึ้นตามเวลาที่คะแนนเข้ามา โดยกดปุ่มเล็กๆ ด้านล่าง (เปิดการดูข้อมูลย้อนหลัง) คลิกที่เวลาก็จะขึ้นมาว่าตอนนั้นใครได้คะแนนเท่าไหร่ ทำให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ปรากฏว่ามันเป็นข้อมูลมหาศาล แล้วจะดูยังไง ดูทีละเขตทีละคนเหรอ?

เราวางแผนว่าควรทำข้อมูลให้เสร็จภายในปี 62 ผมเลยคุยกับที่ทำงานว่าจะใช้เวลาสามเดือนนั่งดูข้อมูลนี้ ค่อยๆ ไล่ดูตัวเลขแล้วคำนวณว่ามีผู้สมัคร 11,000 กว่าคน แต่ละคนก็จะมีคะแนนของตัวเอง ถ้าไล่ดูตามไทม์ไลน์คะแนนที่เขาประกาศ ตั้งแต่เย็น 24 มี.ค. ไปถึงเช้าของวันใหม่จะมีตัวเลขประมาณ 1 ล้านกว่าตัว เช่น เราดูข้อมูลของผู้สมัคร 1 คนว่า 18.00 น. ได้คะแนนเท่าไหร่ แล้วก็กรอกลง excel ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ คำนวณดูแล้วต้องใช้เวลา 300 วัน จึงจะกรอกเสร็จ ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว

ผมเลยไปคุยกับทีม ELECT อีกครั้งว่าจะใช้วิธีไหนได้บ้าง เขาก็ใช้เวลา 15 วินาทีออกมาเป็น data studio (หัวเราะ) สามารถดูได้ว่าเขต 1 จ.กระบี่ ตอนกี่โมงแต่ละพรรคได้คะแนนเท่าไหร่ ถ้ามีคะแนนลดลงเกิดขึ้นตอนกี่โมง ตรงไหนคะแนนลดลงเขาก็ทำ excel แล้วเน้นสีแดงมาให้เห็น ซึ่งไฟล์ทั้งหมดนี้เราเปิดเผยต่อสาธารณชน เข้าไปดูกันได้ เราไม่มีคะแนนรายหน่วยว่า กกต. บวกลบคะแนนผิดยังไง แต่ข้อมูลนี้จะทำให้เห็นคะแนนที่เพิ่มขึ้นว่าน่ารักน่าเอ็นดูอย่างไรบ้าง

 

ในรายงานมีส่วนที่เน้นการเปรียบเทียบข้อมูลผลเลือกตั้ง 94% และ 100% ที่กกต.ประกาศออกมา เห็นความสำคัญของคะแนนสองส่วนนี้อย่างไร

ตัวเลขที่คอมพ์ฯ เคาะออกมาดูภาพรวมจะไม่เห็นปัญหา แต่ผมเชื่อว่าต้องดูรายละเอียดเลยนั่งเทียบคะแนนที่ประกาศออกมาเมื่อถึง 94% กับ 100% ทำอยู่ห้าวันจากผู้สมัครหมื่นกว่าคน

คะแนน 94% ประกาศในวันที่ 25 มี.ค. ตอนสิบโมงกว่าๆ แล้วคะแนน 100% ประกาศอีกสามวันถัดมา ซึ่งระยะเวลาที่นานขนาดนี้เขาสามารถเข้าไปจัดการอะไรกับคะแนนก็ได้ ถ้าดูภาพรวมคะแนน 94% กับ 100% มีอัตราเพิ่มขึ้น 5-6% ในทุกๆ พรรค แต่ถ้าดูรายละเอียดรายคนจะเห็นความพิกลพิการอยู่ มีบางคนคะแนนลด มีคนที่ติดลบ มีคนที่เพิ่มขึ้น 10-20% และมีเขตที่คะแนนผู้สมัครสูสีกันมาตลอด พอถึง 94% คะแนนหยุดแล้วเบอร์ 1 ชนะ เบอร์ 2 แพ้ แต่พอประกาศ 100% เบอร์ 2 ชนะ มันน่าจะไม่ปกติ

 

ที่มา : รายงาน ‘คะแนนที่ถูกจัดการ’

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

ในเชิงหลักการ การประกาศคะแนนแค่ 94% ก่อนถือเป็นเรื่องปกติไหม

พรป.การเลือกตั้งไม่ได้บอกว่าต้องประกาศแค่ 94% แต่บอกว่าถ้าตรวจสอบว่าเรียบร้อยถึง 95% ให้ประกาศผลได้ เผื่อถ้ายังมีความผิดปกติในบางเขต เช่น เขตนี้มีใบแดง เขตนี้มีเรื่องร้องเรียนทุจริต เขตนี้มีน้ำท่วมหีบหายทำให้ประกาศไม่ได้ แต่อีก 95% ที่เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ต้องประกาศ ผมคิดว่ามีเหตุผล เพราะถ้าต้องรอคะแนนทั้งหมด เกิดมีเขตที่จะแพ้แล้วไปปล้นหีบ ทำให้เขตนั้นประกาศไม่ได้ จนประกาศคะแนนทั้งประเทศไม่ได้

แต่ระเบียบการเลือกตั้งที่ กกต. ออกเอง เขียนว่าให้ประกาศไม่เกิน 95% ทั้งที่ถ้ามีคะแนนครบก็ประกาศได้ ไม่มีเหตุอะไรซับซ้อนให้ต้องกั๊กไว้ 5% มันไม่มีเหตุผล แล้วพอประกาศจริงก็ถอยมาที่ 93.86% ห่างจากที่กำหนดไว้หนึ่งเปอร์เซ็นต์กว่าๆ ซึ่งมันคือหลายแสนคะแนน พอไปกั๊กเอาไว้ก็เหมือนมันมีกระบวนการคิด กระบวนการจัดการอะไรอยู่

 

พอจะเป็นไปได้ไหมว่า เขาเผื่อเอาไว้สำหรับความผิดพลาดต่างๆ เช่น อะไรที่เกิดจาก human error มีการกรอกคะแนนผิด

ก็เป็นไปได้ เขตที่เป็น human error มีที่เห็นได้ชัดคือมีพรรคที่โดนตัดสิทธิแล้วได้คะแนนโผล่ขึ้นมา 3 แสนคะแนน ทั้งๆ ที่ผู้มีสิทธิในเขตนั้นมีแค่แสนกว่าคน แต่ความผิดพลาดถูกแก้ตั้งแต่เที่ยงคืนครึ่งของคืนวันที่ 24 มี.ค. แล้ว ผมสังเกตว่ามีการแก้ไขสองรอบตอนเที่ยงคืนครึ่งกับเก้าโมงครึ่ง แต่ข้อมูลจาก 94% ไป 100% ไม่ได้แก้ก้อนใหญ่ๆ แบบนั้น แต่แก้แบบ 300-500 แต้ม

 

สิ่งที่ดูแปลกอีกเรื่องหนึ่งคือ การที่ปิดหีบห้าโมง แต่คะแนนชุดแรกเข้าระบบภายในเวลาครึ่งชั่วโมง พูดกันตามตรง เป็นไปได้ไหม

มันเป็นไปได้หมด เพราะมีถึงเก้าหมื่นหน่วย อาจมีบางหน่วยที่นับเสร็จภายในเวลาไม่กี่นาทีก็ได้ หน่วยนั้นอาจมีผู้มีสิทธิแค่ 100 คน มาใช้สิทธิจริง 60 คน หน่วยนี้จึงอาจนับเสร็จภายในครึ่งชั่วโมง แต่ความแปลกคือมีหน่วยแบบนี้เข้ามาเยอะมาก หลายพันหน่วย แล้วคะแนนก็หยุดไป ไม่มีคะแนนรายงานช่วง หกโมง-หนึ่งทุ่ม เลย มารายงานอีกทีตอนสองทุ่ม แล้วสองชั่วโมงนี้คะแนนหายไปไหน ถ้ามองว่าอาจจะมีโอกาสที่แต่ละหน่วยจะนับเสร็จเมื่อไหร่ก็ได้ มันก็ควรจะทยอยรายงานมาเรื่อยๆ

ถ้าคะแนนที่เริ่มรายงานเข้ามาตอนสองทุ่มถือว่าเป็นสิ่งปกติ คาดหมายได้ นับคะแนนสักสองชั่วโมง รวมเวลาบวกเลข ตรวจสอบ เก็บของ ก็จะประมาณนี้ แต่ที่แปลกคือมันมีคะแนนเข้ามาล๊อตแรกตอนห้าโมง แล้วหายไปและเข้ามาอีกทีตอนสองทุ่ม พอเป็นแบบนี้ก็รู้สึกว่าไม่ปกติ

แต่คะแนนที่เข้ามาในช่วงเวลานี้มีรูปแบบที่ไม่นิ่ง ไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อพรรคใดชัดเจน เช่น ตอนห้าโมงครึ่ง ส.ส. ชาดา ไทยเศรษฐ์ อุทัยธานี ได้มาแปดพันคะแนน แล้วช่วงหกโมง-หนึ่งทุ่ม คะแนนก็ไม่เข้ามาเลย ผมว่าต้องมีอะไรผิดปกติ แต่พรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีคะแนนที่ผิดสังเกตแบบนี้ในเขตอื่นๆ แล้วคนนี้เขาก็เป็นเต็งหนึ่งในพื้นที่อยู่แล้ว สุดท้ายก็เข้าวินแบบขาดลอย

ผมที่เป็นหัวหน้าทีมทำรายงานนี้อาจจะไม่มีความสามารถในการวิเคราะห์เอง เช่นชื่อนี้ที่มีคะแนนโผล่ขึ้นมาตอนห้าทุ่มมันแปลกไหม ไม่ได้รู้ว่าอุทัยธานีคนนี้ต้องได้ สุโขทัยคนนี้ต้องได้ และไม่รู้ว่าข้างหลังระบบรายงานคะแนนเขาทำกันยังไง แต่เราเห็นตัวเลขที่ผิดปกติก็เล่าไปในรายงาน ใครกำลังแทรกแซงระบบหรือไม่ หรือใครกำลังโกงอะไร พอเห็นว่าตรงนี้เกิดเหตุผิดปกติ ก็ไปดูว่าใน 350 เขตมีจุดผิดปกติที่ซ้ำกันเป็นแพทเทิร์นแบบเดียวกันหรือไม่ แต่เท่าที่เห็นไม่เจอแพทเทิร์นที่โดดเด่น พอเอามาเรียงกันก็กระจัดกระจาย ไม่ชัดเจน

ก่อนเริ่มทำรายงานผมคิดว่าน่าจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับตัวเลข แต่พอลงมือทำจริงๆ คอมพิวเตอร์ช่วยเราได้หมดเลย จึงใช้เวลาไปกับการตั้งสมมติฐาน ตรงนี้มีประเด็นก็ไล่หาใน excel แต่ละคำถามใช้เวลาไม่นานในการหาคำตอบ ที่นานคือการตั้งโจทย์หาความผิดปกติ

 

ที่มา : รายงาน ‘คะแนนที่ถูกจัดการ’

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

ช่วงกลางคืนวันที่ 24 มี.ค. มีคะแนนส่วนที่ถูกเอาไปเก็บไว้หลายชั่วโมง ตรงนี้อธิบายอย่างไร

เรื่องนี้เป็นไฮไลต์เลยนะ ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าระบบรายงานคะแนนของ กกต. ใช้วิธีรายงานลำดับ 1-2-3 ในแต่ละเขตเท่านั้น เราจะเข้าใจว่าตอนดูรายงานสดเขาจะใส่คะแนนทั้งหมดมาเลย แต่เขาใส่แค่สามอันดับแรกโดยที่ไม่ใส่อันดับล่างๆ เลย

ในระดับหน่วย หลังปิดหีบกรรมการจะต้องรายงานตัวเลขคะแนนของผู้สมัครทุกคนเข้าไปในแอปพลิเคชัน แต่คะแนนที่ถูกส่งให้สื่อมีแค่สามลำดับแรก แปลว่ามีคนที่นั่งอยู่ตรงกลาง เลือกรายงานให้กับสื่อ แล้วจะมีช่วงที่คะแนนพลิก สมมติว่าตอนสองทุ่มรายงานคะแนนตามลำดับคือ 1.เพื่อไทย 2.ประชาธิปัตย์ 3.อนาคตใหม่ ปรากฏว่านับไปสักพักพลังประชารัฐขึ้นมาได้ที่สาม ก็จะรายงานแค่ 1.เพื่อไทย 2.ประชาธิปัตย์ 3.พลังประชารัฐ แล้วอนาคตใหม่อันดับสี่ก็หยุดรายงานไปเลย ซึ่งเราดูอยู่ที่บ้านก็จะไม่รู้เลย ตรงนี้ส่งผลถึงการคำนวณปาร์ตี้ลิสต์สด เหมือนวันนั้นดูอะไรไม่รู้ เหมือนโดนหลอก

สิ่งที่ผมสงสารคือ ประชาธิปัตย์ที่ตอนนั้นได้แค่ 20 กว่าที่นั่ง เพราะคะแนนไม่ถูกรายงาน อย่างในกรุงเทพฯ เขาจะอยู่ลำดับที่ 4-5 เป็นส่วนใหญ่ แล้วคะแนนไม่ถูกรายงาน คะแนนที่เหลือมารายงานตอนสี่ทุ่ม แล้วคุณอภิสิทธิ์ลาออกตอน 3 ทุ่มครึ่ง ตอนนั้นเขาได้ปาร์ตี้ลิสต์ 0 ที่นั่ง ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ 0 แค่คะแนนไม่ได้ถูกรายงาน แต่ถ้ารู้ว่าได้แค่ 50 ที่ก็คงลาออกอยู่ดี

คะแนนที่เราดูกันตอน 2-3 ทุ่มมันเหมือนโดนหลอก ถ้ามองโลกในแง่ร้ายคือมันมีการจัดการ รายงานชิ้นนี้ชื่อว่า ‘คะแนนที่ถูกจัดการ’ เพราะมันถูกจัดการจริงๆ คุณไม่รายงานคะแนนมาเรื่อยๆ แต่รอไว้จนถึงช่วงเวลาหนึ่ง

 

สิ่งที่ กกต. อ้างคือบอกว่าเป็นการแก้ไข human error แต่ข้อมูลตัวเลขในแต่ละหน่วยไม่ได้เยอะจนจะทำให้เกิดความผิดพลาดมากขนาดที่พบในรายงานนี้หรือเปล่า

ถ้ามองโลกในแง่ดี มันคือการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพมากๆ การกรอกคะแนนผิดได้ถึงสามแสนคะแนน เป็นไปได้ไหมว่ามือลั่นเพิ่มตัวเลขไปอีกหลัก แต่ส่วนใหญ่มันไม่ใช่มือลั่น เพราะเลขไม่ซ้ำกันเลย ผมคิดว่าอย่างน้อย กกต.กลางต้องรับผิดชอบ ที่อบรมคนของคุณไม่ดีหรือคัดเลือกคนอย่างไร ข้อผิดพลาดระดับหลักแสนมันผิดเห็นๆ เลยมีการแก้ไข เราก็เลยไม่รู้ว่ายังมีความผิดพลาดระดับหลักร้อย-หลักพันแค่ไหน

 

ถ้าเขาบอกว่า ก็นี่ไง จึงเป็นเหตุผลที่ต้องไปทำคะแนนถึงสามวัน

ก็ได้ แต่เขาต้องอธิบายว่าคืนวันนั้นจะรายงานคะแนน 94% ถึงกี่โมง ใครเข้าไปนั่งในห้องตรวจสอบ ใครมีหน้าที่บ้าง แล้วกรรมการตรวจสอบเป็นอย่างไร จะไม่มีปัญหาเลยถ้า กกต. อธิบาย แต่เขาไม่เคยอธิบายประเด็นพวกนี้

คำอธิบายที่มีสองชุด ซึ่งผิดหมดเลย 1. เขาบอกว่าจะนับคะแนนเสร็จประมาณสามชั่วโมง ซึ่งก็ไม่ใช่ 2. วันรุ่งขึ้นออกมาบอกว่าประกาศคะแนนได้แค่ 94% เพราะบางเขตอาจจะมีใบดำ-ใบแดง ที่ต้องตรวจสอบ แต่กกต.กั๊กคะแนน 94% ไว้ทุกเขต แล้วอีกสามวันถัดมาประกาศคะแนน 100% กกต. ก็ไม่ได้อธิบายอะไร ผมก็หวังว่าการพูดเรื่องนี้จะช่วยกระทุ้งให้เขาออกมาอธิบาย เรารู้กันอยู่ว่าในช่วงสัปดาห์นั้น กกต. มีปัญหามาก และพยายามไม่ตอบหลายคำถามมากเกินไป ไม่ได้อยากจะกล่าวหาว่าเขาไม่ดี แต่เราอยากได้การสื่อสาร

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

การไม่เปิดเผยคะแนนรายหน่วย ถ้าลองมองในมุมของ กกต. จะให้เหตุผลอย่างไร

กกต. ได้ออกแถลงการณ์มาแล้วฉบับหนึ่งว่าคะแนนรายหน่วยเป็นสิ่งที่เปิดเผยได้ ผู้มีส่วนได้เสียสามารถขอดูได้ที่ กกต. ประจำจังหวัด มองในแง่ดีคือ กกต. ขี้เกียจจัดการ ใครอยากดูก็ไปดูเอง ซึ่งไม่ควรเป็นอย่างนั้น ข้อมูลควรคีย์เป็นดิจิทัลให้คนดูได้ทั่วไป ซึ่ง กกต. ต้องมีอยู่แล้ว เพราะกรรมการประจำหน่วยต้องคีย์เข้าส่วนกลาง ถ้า กกต. อยากพิสูจน์ความโปร่งใสของตัวเองก็ควรจะเปิดเผย

ในวันเลือกตั้งมีข้อผิดพลาดในระดับที่แก้ไขได้จำนวนมาก จนทำให้ไม่รู้ว่าอันไหนพลาด อันไหนโกง อย่างเรื่อง ‘บัตรเขย่ง’ ผมเชื่อว่าเป็นความผิดพลาด ไม่ได้จงใจโกงอย่างเป็นระบบ เจ้าหน้าที่บางคนอาจบวกเลขผิดก็ได้ แต่พอมันเกิดขึ้นเยอะเกินไป คนก็ให้ความสนใจ ซึ่งเรื่องพวกนี้แก้ไขได้ในคืนนั้น คะแนนขึ้นๆ ลงๆ มาจากกระบวนการแบบนี้ แต่จากเดิมที่คนไม่ไว้ใจอยู่แล้ว พอเห็นเรื่องยิบย่อยคนก็ตื่นเต้น แล้วกกต. ก็ไม่พยายามอธิบาย ส่วนเรื่องที่ผมมองว่าใหญ่กว่าคือการไม่รายงานคะแนนทุกลำดับจน 4 ทุ่มครึ่ง ซึ่งไม่มีใครสังเกต

 

การทำระบบ rapid report ที่แต่ละหน่วยต้องคีย์ข้อมูลลงในระบบ ก็เพื่อช่วยให้โปร่งใสขึ้นหรือเปล่า แต่ทำไมดูเหมือนเทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาอย่างที่ควรจะเป็น

เราก็คาดหวังแบบนั้น ทุกคนเข้าใจว่าจะให้เทคโนโลยีทำงานโดยแอปพลิเคชันรับข้อมูลจากรายหน่วยแล้วคำนวณให้เลย แต่มันไม่ใช่ เพราะเมื่อกรอกคะแนนในแอปพลิเคชันแล้วข้อมูลจะวิ่งไปที่ส่วนกลาง แล้วส่วนกลางก็คัดเลือก แก้ไข แล้วจึงส่งไปที่สื่อ

สามารถพูดได้ว่ามีการจัดการข้อมูลก่อนจะออกมาที่สื่อ เพราะตอนห้าทุ่มวันนั้นไม่มีใครนับคะแนนแล้ว ปิดหน่วยกลับบ้านนอนกันหมดแล้ว ฉะนั้นข้อมูลต้องไปรอสักที่หนึ่งก่อนถูกรายงานออกมา ซึ่งเขาไม่เคยอธิบายว่ามีกระบวนการนี้ไหม ใครเป็นคนจัดการ ทำเพื่ออะไร อย่างน้อยก็ต้องเปิดเผยรายชื่อ ผมคิดว่ามันจะมีก็ได้ ถ้าไม่ไว้ใจว่าระดับรายหน่วยจะมีการกรอกผิด แต่คุณต้องบอกว่ามีทีมอยู่ตรงกลาง 20-30 คนที่โปร่งใสตรวจสอบได้ โดยอาจให้มีตัวแทนจากพรรคการเมืองไปสังเกตการณ์ แต่มันเป็นหลุมดำ ไม่มีคำอธิบาย ทั้งที่มีการพยายามทำอะไรบางอย่างในช่วง 2-3 ทุ่มคืนนั้น

 

การนำเสนอรายงานฉบับนี้ หวังว่าจะนำไปสู่อะไร

คาดหวังว่าคนจะถกเถียงเรื่องนี้สนุกขึ้น เวลาที่มีการกล่าวหาว่ามีการโกงคะแนน มีบัตรเขย่ง อาจมีคนคาใจเหมือนผมที่เห็นคะแนนขึ้นๆ ลงๆ แปลกๆ ในคืนวันที่ 24 มี.ค. ตัวเลขชุดนี้จะตอบคำถามได้ ถ้าใครจะกล่าวหาว่าใครโกงหรือไม่โกง ก็จะมีข้อมูลชิ้นนี้เพิ่มขึ้นมา

ผมอยากเห็น ‘เนิร์ดการเมือง’ คนที่ติดตามการเมืองในพื้นที่ของเขา รู้ว่าคนนี้ตัวเต็ง ไม่เต็ง ใครมีอิทธิพล ไม่มีอิทธิพล ให้เขามาดู แล้วอาจเห็นความผิดปกติในการวิ่งขึ้นของคะแนน หรือเห็นว่าคนนี้ไม่ชนะหรอก ไม่มีทางได้หลายหมื่นหรอก แต่สุดท้ายรายงานมาได้คะแนนเท่านี้

แม้ว่าคุณอาจจะไม่รู้เรื่องการเมืองในแต่ละพื้นที่ แต่เป็นคนที่นั่งดูรายงานสดในวันที่ 24 มี.ค. แล้วมีสิ่งคาใจอยู่ ก็มาไล่ดูคะแนนชุดนี้ อยากให้ดูมันแบบใจร่มๆ ยอมรับว่าผมก็เป็นคนหนึ่งที่อคติ คิดว่าต้องมีโกงแน่ แต่พอทำงาน เราจะวู่วามผลีผลามไม่ได้ เห็นปุ๊บจะเคาะเลยว่าโกงไม่ได้ เราต้องหาความชัดเจน หาแพทเทิร์นในเขตอื่นๆ อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุป

ส่วน กกต. จะชี้แจงประเด็นในรายงานนี้ไหม ดูจากพฤติกรรมและวิธีรับมือกับกระแสสังคมแล้ว เขาคงเลือกที่จะเงียบ แต่ถ้าเขาชี้แจงก็ดี เขาอาจจะบอกว่ามันโปร่งใส ตรวจสอบได้ ก็ไม่เป็นไร รายงานฉบับนี้อาจจะมีอายุสั้น แต่หากใช้ทำความเข้าใจการทำงานของกกต. ได้ก็โอเค

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

มองว่าการหยิบข้อมูลมาใช้ในสังคมนี้ เพื่อต่อสู้ด้วยความจริง มันจะประสบความสำเร็จแค่ไหน เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา เขาก็เพิกเฉยกับความจริงบางชุดอยู่แล้ว

มีความเชื่อแบบนั้น แต่ว่าเราต้องมีข้อเท็จจริงที่แข็งแรงพอ เชื่อถือได้ แล้วก็ต้องจัดการมันให้ดีพอ ยอมรับว่างานชิ้นนี้ยังไปไม่ถึงขั้นนั้น การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ ข้อมูลในรายงานนี้อยู่ในมือสื่อมวลชนทุกสำนักมาตั้ง 7-8 เดือน แต่ก็ไม่มีใครหยิบเอามาพูด ไม่มีใครพยายามไปทำอะไรกับมัน สื่อมวลชนทุกสำนักก็มีนักเทคนิคคอมพิวเตอร์ เพราะระบบที่กกต.ใช้ คือส่งคะแนนไปไว้ในเซิร์ฟเวอร์ แล้วสื่อมวลชนที่จ่ายเงินก็จะได้รหัสเข้าถึงข้อมูล และนำข้อมูลไปแสดงผลเป็นกราฟิกของแต่ละคนได้ คนที่มีข้อมูลก็ควรจะรู้สึกผิดว่าตั้งหลายเดือนที่ผ่านมาทำไมไม่ทำอะไร

หน้าที่ของผมก็แค่เป็นคนแรกที่ไปหยิบไปคุ้ยข้อมูลชุดนี้ออกมา แล้วโยนมันออกไป ซึ่งผมก็ทำไม่ได้ถ้าไม่มีทีม ELECT แต่รายงานนี้มันยังไปไม่สุด ด้วยความรู้และข้อจำกัดที่ผมมีในเวลาที่พอจะตั้งสมมติฐานและพอจะค้นหาอะไรได้บ้าง อยากเชิญชวนทุกคนที่รู้สึกงงๆ กับผลการเลือกตั้งและการประกาศผลเมื่อ 24 มี.ค. มาช่วยกัน ใครอยากจะอธิบายมันอย่างไรก็มาทำดู จะบอกว่าพรรคฝ่ายค้านโกงก็ยังได้ เพราะคะแนนที่เข้าตอน 9 โมงครึ่งวันที่ 25 มี.ค. คะแนนอนาคตใหม่พุ่งมากเลย ก็แล้วแต่คนจะตีความว่าอย่างไร

 

กระบวนการสังเกตการณ์การเลือกตั้งภาคประชาชนมีความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

คำถามนี้สำคัญเพราะมันมีจุดอ่อนมาก เมื่อมีหน่วยเลือกตั้งเก้าหมื่นหน่วย แล้วไม่มีองค์กรที่จัดตั้งได้ขนาดนั้น ภาคประชาชนคงไม่สามารถทำได้ทั้งเก้าหมื่นหน่วย เราอาจทำได้แค่ว่าเขตไหนมีข้อสงสัย คะแนนสูสี หรือมีผู้มีอิทธิพล ก็จะระดมคนลงไปสังเกตการณ์ในหน่วยนั้นให้เคลียร์ ก็อาจจะมีประสิทธิภาพก็ได้

อีกอุปสรรคหนึ่ง คือ เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่มีความเข้าใจ ซึ่งเป็นผลมาจากเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายไม่มีความพยายามสร้างความเข้าใจต่อบทบาทของผู้สังเกตการณ์ เช่น ถ่ายรูปได้ไหม นักข่าวกระแสหลักถ่ายเต็มไปหมดเลย เราเห็นรูปคุณประยุทธ์เดินเข้าคูหา แต่ไม่เห็นว่าเขากาเบอร์อะไร ภาพแบบนี้ออกสื่อหลักตลอด แต่ในหลายพื้นที่พอคนธรรมดาไปสังเกตการณ์ ไม่ได้มีกล้องตัวใหญ่ เอามือถือขึ้นมาถ่ายก็โดนด่า เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้ามาห้าม ทั้งที่กฎหมายไม่ได้ห้ามถ่าย กลายเป็นว่าขึ้นอยู่กับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นอย่างไร ถ้าเราอยากส่งเสริมให้คนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง กกต. ต้องชัดเจน แต่เขาก็อาจจะตั้งใจแบบนี้

อย่างน้อยที่สุด ในการเลือกตั้งครั้งถัดไปคนต้องได้ถ่ายภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนับคะแนน ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาไม่ได้เป็นไปอย่างที่เข้าใจ ก็สามารถตรวจสอบได้เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ vote62 พยายามทำ ครั้งที่ผ่านมาได้มา 5% ก็เป็นรูป 3,000-4,000 รูปแล้ว

 

แต่พรรคการเมืองก็ส่งคนไปเก็บคะแนนหน้าหน่วยอยู่แล้ว?

ในอุดมคติเป็นแบบนั้น แต่ว่า 24 มี.ค. ไม่ใช่ ส่วนหนึ่งอาจเพราะการจำกัดงบหาเสียงด้วย ilaw ไปสังเกตการณ์ 10 ที่ เฉพาะหน่วยเลือกตั้งกลางที่นับคะแนนล่วงหน้า พิษณุโลก ดินแดง จันทบุรี บางกะปิ ไม่เจอทีมงานของพรรคการเมืองเลย เลือกตั้งที่ผ่านมามีข้อจำกัดขึ้นอยู่กับว่าผู้สมัครในเขตนั้นรวยไหม มีอิทธิพลไหม ถ้าคุณมีคนสัก 300 คนก็ส่งไป หรือที่อนาคตใหม่รับสมัคร Futurista ได้ 3,000-4,000 คน แต่หน่วยเลือกตั้งมี 9 หมื่นหน่วย

ผมว่าเลือกตั้งครั้งหน้าคงไม่มีใครยอมแล้ว พรรคที่เอาเจ้าพ่อ-ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นลงน่าจะหาคน 300 คนไปสังเกตการณ์ได้ อย่างน้อยก็ต้องมีค่ารถให้ เฉพาะค่าจ้างคนสังเกตการณ์ทุกหน่วยก็เท่าไหร่แล้ว

 

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากจะมีการแก้ไขระเบียบ กกต. ควรมีการปรับปรุงเรื่องไหนเป็นพิเศษ

อย่างน้อยที่สุดเรื่องผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งที่เป็นคนธรรมดาต้องชัดเจนกว่านี้ คราวนี้เขามีเขียนว่าห้ามรบกวน เราก็ไม่ได้จะรบกวน เราแค่จะถ่ายรูป ต้องเขียนไปเลยว่าให้ถ่ายรูป-ถ่ายวิดีโอได้ แล้วคนเขาอยากรู้ ไปสอบถามคุณก็ต้องตอบ จะไปตีความว่าเป็นการรบกวนไม่ได้ เพราะคนก็กลัวเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว

ถ้า กกต. แก้ระเบียบได้ อยากให้ยกเลิกข้อที่บอกให้เปิดเผยผลการเลือกตั้งไม่เกิน 95% ถ้านับเสร็จก็เปิดเผยไปเลย และต้องชัดเจนว่าใช้ระบบไหนในการจัดการคะแนนหลังได้รับข้อมูลมา

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save