fbpx
ภัยเหลือง (Yellow Peril) : ศัพท์ที่กลับมาฮิตจากวิกฤตโควิด-19

ภัยเหลือง (Yellow Peril) : ศัพท์ที่กลับมาฮิตจากวิกฤตโควิด-19

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

1

 

คุณอาจคุ้นหน้า ซี หม่า (Tzi Ma) นักแสดงอเมริกันเชื้อสายเอเชียมาบ้าง หากคุณเป็นแฟนซีรีส์อย่าง 24 และหนังใหญ่หลายเรื่อง ล่าสุดคุณหม่ารับบทเด่นในภาพยนต์รีเมคภาคคนแสดงจริงเรื่อง มู่หลาน (Mulan) โดยรับบทเป็นพ่อของมู่หลาน

ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อต้นปีนี้ นับเป็นปีที่ดีที่สุดของคนเอเชียในวงการหนังตะวันตกก็ว่าได้ นับตั้งแต่ Crazy Rich Asians ฮิตอย่างถล่มทลาย ดาราเอเชียหลายคนแจ้งเกิด อะควาฟิน่า (Awkwafina ชื่อจริงของเธอคือ Nora Lum) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง หลังจากแสดงใน Crazy Rich Asians ก็มารับบทเด่นอีกครั้งใน The Farewell (คุณหม่าก็ร่วมแสดงเรื่องนี้ด้วย) และส่งให้เธอได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ ถือเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รางวัลนี้ ตามมาด้วยภาพยนตร์เกาหลี Parasite ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ ก็เป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่หนังจากเอเชียคว้ารางวัลใหญ่ที่สุดบนเวทีนี้

แต่หลังจาก ‘ไวรัสคนจีน’ (Chinese Virus) มาถึง ซึ่งเป็นคำที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ใช้เรียกแทนชื่ออย่างเป็นทางการของโควิด-19 ดูเหมือนว่าคำชื่นชมที่เคยมีก่อนหน้ากับชาวเอเชียหายไปสิ้น และคุณหม่าเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ เปลี่ยนชื่อไวรัสโควิด

คุณหม่าเล่าเรื่องของเขาไว้ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Pasadena Weekly ว่าบ่ายวันหนึ่งของเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขาขับรถออกจากบ้านพักในพาซาดีน่า เพื่อไปร้านชำ ซื้อของที่จำเป็นสำหรับช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ใส่หน้ากากและระมัดระวังตัวเป็นอย่างดี เพราะเขาเองก็อายุมากแล้ว เขาสังเกตเห็นว่ามีรถยนต์พยายามขับตีคู่กับเขา เปิดกระจกพยายามจะพูดอะไรสักอย่าง จนกระทั่งรถจอดติดไฟแดง คุณหม่าจึงเลื่อนกระจกลงถึงได้ยินว่ารถคันนั้นกำลังต่อว่าเขาเรื่องการออกมาจากบ้าน และบอกว่าควร “ออกไปจากประเทศนี้ซะ”

เรื่องราวแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่คุณหม่า คนเอเชียหลายๆ คนก็โดนแบบนี้เช่นกัน คุณแทนนี่ จิระประภาสุข คนไทยสัญชาติอเมริกัน ก็ให้สัมภาษณ์ออก CNN ในรายการของแอนเดอร์สัน คูเปอร์ ว่าเธอโดนคุกคามในรถไฟใต้ดินโดยคนขาวที่เข้าใจว่าเธอเป็นคนจีน

ไม่นานหลังจากเหตุการณ์นั้น ชุมชนในเขตซานฟรานซิสโกและสถานศึกษาก็รวมตัวกันในนาม #washthehate เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ที่เกิดจากสถาณการณ์โควิด-19 ซึ่งสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียหลายเชื้อชาติ สำหรับผมแล้ว สิ่งนี้น่ากลัวไม่น้อยไปกว่าการแพร่กระจายของไวรัส

เหตุการณ์นี้ทำให้นึกถึงคำว่า ‘Yellow Peril’ หรือ ‘ภัยเหลือง’

คำนี้บัญญัติขึ้นเพื่อใช้แทนความหวาดกลัวและการดูแคลนคนเอเชียในช่วงร้อยปีของประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา

คำนี้เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 1868 เมื่อสหรัฐอนุญาตให้ชาวจีนหลายหมื่นคนเข้ามาทำงานที่เสี่ยงอันตราย เช่น การทำเหมืองแร่ เป็นแรงงานในการสร้างทางรถไฟ และอนุญาตให้คนเหล่านี้ขอสัญชาติและตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาได้ตามสนธิสัญญาเบอร์ลิงเกม (The Burlingame Treaty) และยังได้ออกกฎหมายเพจ (The Page Act of 1875) เพื่อสนับสนุนชาวจีนเหล่านี้ให้ตั้งรกรากในสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งก็เพราะสหรัฐฯ ต้องการแรงงานมหาศาลในการช่วยสร้างประเทศ

ช่วงนั้นมีคนจีนทะลักเข้ามาในสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก หลังจากชาวจีนก็มีชาวญี่ปุ่นที่อพยพตามมาในช่วงปี 1907-1930 ทศวรรษที่ยาวนานนั้นเอง ก็เริ่มมีกระแสความหวาดกลัวคนเอเชียเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ชนวนส่วนหนึ่งเป็นความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของคนขาวเอง เพราะในเวลาไล่เลี่ยกัน ญี่ปุ่นสามารถเอาชนะในการทำสงครามกับรัสเซีย (Russo-Japanese War) ในปี 1905 กระแสความหวาดกลัวของคนยุโรปก็เริ่มส่งมาถึงอเมริกา

ท้ายสุดเกิดการต่อต้านและประท้วงโดยคนขาวซึ่งเป็นห่วงว่าคนเหล่านี้จะมาแย่งงานหรือสวัสดิการต่างๆ ที่พวกเขาพึงได้ และต่อต้านไม่ให้คนเอเชียได้รับสิทธิ์ในการถือสัญชาติอเมริกัน การต่อต้านบรรลุผลเมื่อมีการจํากัดจํานวนคนเอเชียเข้าประเทศภายหลังการสร้างทางรถไฟข้ามประเทศเสร็จสิ้น (ซึ่งก็กินเวลาเป็นสิบๆ ปี) และมีการออกกฎหมายตั้งเขตที่อยู่อาศัยเฉพาะคนเอเชียขึ้นมาตามเมืองต่างๆ ด้วย (ซึ่งต่อมาก็พัฒนาเป็นย่านของคนเอเชีย เช่น ไชน่าทาวน์ โคเรียนทาวน์)

แต่คำว่า Yellow Peril มาสู่จุดสูงสุดจริงๆ ก็ตอนสงครามโลกครั้งที่สองที่ญี่ปุ่นถล่มฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐอเมริกาเสียเละ นั่นถือว่าเป็นการตอกตะปูลงไปใจกลางความหวาดกลัวของคนขาวทั้งหลายก็ว่าได้ จนเป็นที่มาของการตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูในเวลาต่อมา

เรื่องราวของภัยเหลืองก็เป็นแบบนี้ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเสร็จสิ้น สหรัฐอเมริกาเข้ายึดครองสถานการณ์ เรื่องความหวาดกลัวคนเอเชียจึงเริ่มซาลง จนกระทั่งถูกปลุกให้ตื่นอีกครั้งในสมัยประธาธิบดีโดนัล ทรัมป์ และไม่ว่าการเหยีดเชื้อชาติจะเป็นเรื่องที่จงใจหรือไม่ก็ตาม แต่ดูเหมือนมันกลายเป็นประเด็นที่ทรัมป์โดนโจมตีอย่างมากต่อการไม่ค่อยยินดียินร้ายกับความฉิบหายของประชาชน ที่ไม่ใช่ฐานคะแนนเสียงของตัวเอง

 

2

 

หลายวันก่อนผมมีธุระต้องไปตามนัดคุณหมอที่โรงพยาบาล และเนื่องจากว่าคุณหมอเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ท่านจึงสนใจสถานการณ์โควิด-19 เป็นพิเศษ ประเด็นหนึ่งที่คุณหมอหยิบมาถกกับคนไข้อย่างผม (ถกจนสงสารคนไข้ที่ต่อจากผมเพราะเราคุยกันอยู่นานทีเดียว) ท่านตั้งข้อสังเกตว่าทำไมสหรัฐอเมริกาถึงมีคนเสียชีวิตมากขนาดนั้นและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องและยาวนานเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

มีสองสามประเด็นที่ผมน่าจะตอบได้ก็คือความสามารถในการตรวจสอบผู้ติดเชื้อที่รวดเร็ว เพราะมีชุดตรวจเร็วที่พร้อมพรั่ง ฉะนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อจึงตรวจเจอใหม่ได้ทุกวัน ประการถัดมาก็คือ ประเทศสหรัฐอเมริกากว้างใหญ่ มีประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ไม่แปลกที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะมากตามจำนวนประชากร สุดท้ายคือความประมาทของรัฐบาลกลาง ที่คิดว่า ‘เอาอยู่’​ และคิดว่า การระบาดก็เหมือนกับโรคอื่นๆ อย่างไข้หวัดใหญ่หรือมาลาเรีย

แต่ประเด็นหนึ่งที่คุณหมอตั้งข้อสมมติฐานก็คือ หากเข้าไปดูสถิติของผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกา จะพบว่าส่วนมากไม่ใช่คนขาว แต่เป็นคนผิวสีและคนเอเชียเสียมาก ซึ่งนั่นก็ไม่แปลกใจว่าทำไมประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ไม่ให้ความสนใจเรื่องการกักบริเวณหรือการดูแลความปลอดภัยของประชาชนเท่าที่ควร ตรงกันข้าม เขาเองกลับเป็นคนที่ออกมาเรียกร้องให้ชาวบ้านออกมาประท้วงต่อมาตรการการกักตัวอยู่ที่บ้านของหลายรัฐ

“นั่นเป็นเพียงแค่ความคิดเห็นของคุณหมอ” ผมคิดในใจระหว่างที่ขับรถกลับบ้าน

คืนนั้นจึงหาข้อมูลดู ไปค้นจากสถิติของการเสียชีวิตในสหรัฐอเมริกา พบว่าข้อมูลอย่างเป็นทางการจนถึงวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อแยกตามเชื้อชาติ พบว่าจากจำนวนผู้เสียชีวิต 75,000 คน อัตราการเสียชีวิตของคนอเมริกันแอฟริกันมีมากเป็น 2.6 เท่าเมื่อเทียบกับคนขาว และมากเป็น 2.3 เท่าเมื่อเทียบกับคนเอเชียและลาติน เพื่อให้เห็นภาพก็คือในคนอเมริกัน 100,000 คนจะมีแอฟริกันอเมริกันเสียชีวิต 40.9 คน คนเอเชียและลาติน 17.9 คน และคนขาว 15.8 คน ในหลายรัฐ ตัวเลขการเสียชีวิตของคนผิวสีนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับคนขาว อย่างในแคนซัสอัตราการเสียชีวิตของคนผิวสีสูงกว่าคนขาวถึง 6 เท่า

เชื่อแน่ว่าประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ เห็นข้อมูลนี้ และแม้จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่าสถานการณ์ในครั้งนี้เป็น “เรื่องที่เลวร้าย” และถือเป็นการแก้ปัญหาที่ท้าทายที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา แต่ก็ดูเหมือนว่ามาตรการที่ออกมาสำหรับการแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้เข้มข้นอย่างที่ควรจะเป็น แม้กระทั่งหน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ อย่าง CDC (The Centers for Disease Control and Prevention) เอง สื่ออย่าง The Guardain และ AP ก็ยังกระแนะกระแหนว่า CDC ทำข้อมูลที่เชื่อมโยงการป่วยและเสียชีวิตกับเชื้อชาติไว้น้อยและช้าเกินไป จนรัฐบาลท้องถิ่นไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตั้งรับ สื่อหลายสำนักตั้งข้อสังเกตว่าหากเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนผิวสีล่ะ เหตุการณ์จะลงเอยแบบนี้หรือไม่

ทว่ายังไม่ได้มีคำอธิบายทางการแพทย์อย่างชัดเจนว่ามีความพิเศษในระดับยีนหรือไม่ที่ทำให้เชื้อไวรัสนี้จู่โจมมนุษย์เชื้อสายแอฟริกันอเมริกันได้ดีกว่าเชื้อชาติอื่นๆ แต่หากมองเรื่องประเด็นทางสังคม กลุ่มเชื้อชาติที่เสียชีวิตมากที่สุด คือกลุ่มที่เข้าถึงการประกันสุขภาพได้น้อยที่สุด

เพื่อนผมที่อยู่ที่อเมริกาบอกว่าไม่มียุคไหนในอเมริกาอีกแล้วที่ผู้นำขาดความน่าเชื่อถือ เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและไร้ศีลธรรมเท่ายุคนี้ ความรู้สึกพวกนี้ส่งต่อไปถึงพลเมืองและสร้างความปั่นป่วน เพราะในสภาวะแบบนี้ผู้นำมีส่วนสำคัญอย่างมากในการชี้นำสังคมว่าควรทำอย่างไร

ท้ายสุด ไม่ช้าไม่นานก็คงมีวัคซีนสำหรับการป้องกันไวรัส ทว่าความเกลีดชังที่เริ่มเพาะบ่มในใจคนแล้วนั้น ไม่ง่ายเลยที่จะรักษาให้หายไปจากสังคมของเรา

แม้ไวรัสจะลามมาแล้ว แต่อย่าให้ความรู้สึกแบ่งแยกแบบนั้นลามมาถึงตัวเรา

 

อ้างอิง

THE COLOR OF CORONAVIRUS: COVID-19 DEATHS BY RACE AND ETHNICITY IN THE U.S.

ภัยคุกคามจากจีน: มายาคติหรือเป็นความจริง (Chinese Threat: Myth or Reality)

Woman who recorded racist coronavirus tirade speaks out

The coronavirus pandemic is hitting black and brown Americans especially hard on all fronts

https://www.washthehate.com/#aboutUs

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save